ปฏิรูปสื่อมวลชน ถือเป็น 1 ใน 11 วาระปฏิรูปประเทศเริ่มแรกตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครอง ช่วงกลางปี 2557 และเราก็มักได้เห็นว่าบรรดาผู้นำ คสช. กล่าวตำหนิหรือแสดงอาการไม่พอใจการทำหน้าที่ของสื่ออยู่บ่อยครั้ง
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลา 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา อาจมีวาระปฏิรูปอื่นๆ ที่สำคัญเร่งด่วนมากกว่า ทำให้การปฏิรูปสื่อยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง นอกจากการตั้งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ขึ้นมาศึกษาตั้งแต่ในชั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาจนถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ในปี 2560 คงถึงเวลาที่การปฏิรูปสื่อจะถูกเดินหน้าเสียที เมื่อคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. เตรียมผลักดันร่างกฎหมายชื่อยาว “พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….” ให้ออกมาบังคับใช้กับสื่อไทยทุกแขนงทั่วประเทศ
อ่านชื่อร่างกฎหมายนี้เผินๆ อาจฟังดูดี เพราะมีคำใหญ่ๆ ทั้ง ‘คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ’ ‘ส่งเสริมจริยธรรม’ ‘มาตรฐานวิชาชีพสื่อ’ แต่ถ้าไปดูในรายละเอียดก็จะพบว่า นี่มันกฎหมาย ‘จับสื่อเข้าแถว’ ชัดๆ
และนี่คือ 5 ข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ.นี้ ที่ไม่เพียงคนในแวดวงสื่อมวลชนจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ประชาชนทั่วๆ ไปในฐานะผู้เสพสื่อก็ไม่ควรมองข้าม
1. จับสื่อขึ้นทะเบียน
หัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้คือการกำหนดให้องค์กรสื่อไปขึ้นทะเบียนกับ ‘องค์การวิชาชีพสื่อมวลชน’ หรือกลุ่มขององค์กรวิชาชีพสื่อที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่นต่อไปสำนักข่าวออนไลน์อย่าง The MATTER ก็อาจจะต้องไปขึ้นทะเบียนกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จากนั้นองค์การวิชาชีพก็จะออกใบรับรองการประกอบกิจการให้กับองค์กรสื่อนั้นๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ออกบัตรประจำตัวให้กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งนักข่าว ช่างภาพ มือกราฟิก ตัดต่อ ฯลฯ ได้อีกทอดหนึ่ง
แม้ในร่าง พ.ร.บ. นี้ จะยังเขียนไม่ชัดเจนว่า ถ้าไม่ไปขึ้นทะเบียนกับองค์การวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว องค์กรสื่อนั้นๆ จะเสียสิทธิอะไร หรือจะมีมาตรการอะไรมาบังคับให้ต้องไปขึ้นทะเบียน แต่เนื้อหาเท่าที่มีอยู่ ก็ชัดเจนในระดับหนึ่งว่า ผู้มีอำนาจต้องการให้สื่อในไทยทั้งหมด ไปเข้าแถวแสดงตัว กับองค์กรสักอย่างหนึ่ง
ทั้งๆ ที่เราเข้าสู่ยุค ‘ใครๆ ก็เป็นสื่อได้’ มานานโขแล้ว
2. ทำคลอด ‘พี่ใหญ่’ คุมสื่อทุกประเภท
หลักการกำกับดูแลสื่อที่ทั้งโลกใช้ มี 3 รูปแบบ คือ 1.ให้รัฐเข้ามากำกับดูแล 2.ให้กำกับดูแลกันเอง และ 3.กำกับดูแลแบบผสม ซึ่งก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ในเมืองไทย สื่อหนังสือพิมพ์จะใช้วิธีกำกับดูแลกันเอง เนื่องจากผู้ประกอบการทั้งหมดต่างเป็นเอกชนไม่ต้องขอใบอนุญาตจากรัฐ ต่างกับสื่อโทรทัศน์ที่จะใช้วิธีกำกับดูแลแบบผสม เนื่องจากได้รับใบอนุญาตจากรัฐ ซึ่งก็คือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
แต่ในร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดให้มีการตั้ง ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ’ ขึ้นมาเป็นองค์กรร่ม คุมองค์การวิชาชีพสื่ออีกชั้นหนึ่ง และใช้วิธีกำกับดูแลรูปแบบเดียวกัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันของสื่อแต่ละประเภท
ซึ่งการกำหนดให้องค์กร ‘พี่ใหญ่’ รวมศูนย์อำนาจในการกำกับดูแลสื่อ ก็สร้างความกังวลให้ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อเดิม ว่าจะเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองหรือภาครัฐเข้ามาแทรกแซงได้โดยง่าย จากเดิมที่ต้องไปพยายามแทรกแซงองค์กรวิชาชีพเป็นรายองค์กร ที่เป็นเรื่องยุ่งยาก ของใหม่แค่คุมสภาวิชาชีพฯ นี้ได้ ก็จบเลย
3. ติดดาบการลงโทษ
ตั้งแต่อดีต คนในวงการสื่อมวลชนมักพูดกันว่า ‘ความน่าเชื่อถือ’ เป็นหัวใจสำหรับของผู้ประกอบอาชีพนี้ นั่นทำให้สูงสุดของบทลงโทษเวลาที่มีการละเมิดจริยธรรม คือการส่งให้แต่ละองค์กรสื่อไปลงโทษบุคคลในสังกัดกันเอง ไม่ได้ให้องค์กรวิชาชีพสื่อมีอำนาจในการลงโทษโดยตรง (ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดมานาน เช่น คิดว่าถ้านักข่าวในสื่อหนังสือพิมพ์ทำผิด สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะลงโทษได้เลย ทั้งที่จริงๆ ไม่มีอำนาจเช่นว่าอยู่ เต็มที่ก็ได้แค่ว่ากล่าวหรือตักเตือน)
แต่อาจเป็นรูปแบบเดิมไม่ทันใจ นักข่าวที่เห็นชัดๆ ว่าละเมิดจริยธรรมไม่เห็นถูกลงโทษซะที ร่าง พ.ร.บ.นี้ เลยกำหนดให้สภาวิชาชีพฯ มีอำนาจลงโทษทางปกครอง โดยให้มีอำนาจสั่งปรับเงินผู้กระทำผิดจริยธรรมได้สูงสุดถึง 30,000 บาท ไปจนถึงเพิกถอนบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวคนนั้นๆ
แน่นอนว่า ถ้ากฎหมายนี้คลอดมาใช้ได้จริง เราอาจเห็นการลงโทษที่ทันอกทันใจ แต่อย่าลืมว่าอำนาจเป็น ‘ดาบสองคม’ ถ้าผู้ใช้อำนาจมีวาระซ่อนเร้น อะไรจะเกิดขึ้น
4. มาตรฐานเดียวใช้กับสื่อทุกประเภท
ร่าง พ.ร.บ.นี้ ได้กำหนดให้คณะกรรมกรสภาวิชาชีพฯ มีหน้าที่ในการ ‘กำหนดมาตรฐาน (จริยธรรม) กลาง’ เพื่อเป็นองค์กรสื่อทุกแห่งนำไปใช้กำกับดูแลภายในกันเองอีกที อย่างไรก็ตาม ผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนด ‘มาตรฐานขั้นต่ำ’ เอาไว้ 6 ข้อ อยู่ในมาตรา 37 ซึ่งบางข้อมีเนื้อหาค่อนข้างเป็นนามธรรม เช่น ต้องนำเสนอข่าวที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน ซึ่งหากเป็นแนวปฏิบัติทั่วๆ ไป คงไม่น่าจะมีปัญหา แต่กฎหมายได้กำหนดบทลงโทษไว้ด้วยว่าถ้าฝ่าฝืนจะถูกปรับ 10,000 บาท คำถามคือแล้วใครจะเป็นผู้พิจารณาว่าข่าวที่นำเสนอ ‘ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน’ เพียงพอแล้วหรือยัง และเพียงพอสำหรับใคร
ที่น่าตลกก็คือ เนื้อหาดังกล่าวอยู่ในมาตราเดียวกับมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรศัพท์ พ.ศ.2551 ที่ กสทช.นำมาใช้กำกับดูแลสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเรียกเสียงวิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง เพราะให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงมี ‘ร่างลับ’ ที่สมาชิกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางกลุ่มเขียนขึ้น ซึ่งมีเนื้อหาใกล้เคียงกับร่าง พ.ร.บ.นี้ แต่กำหนด ‘มาตรฐานขั้นต่ำ’ ไว้ถึง 10 ข้อ โดยมีข้อความบางส่วนชวนสงสัย เช่น การนำเสนอข่าวจะต้องไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมของสังคม, การนำเสนอข่าวจะต้องไม่เปิดเผยความลับราชการ ฯลฯ
5. ออนไลน์ก็โดนกำกับ (ด้วยนะ)
อย่าคิดว่ามีเฉพาะสื่อออฟไลน์ เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรศัพท์ เท่านั้นที่จะโดนกำกับ สื่อออนไลน์ก็อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. นี้ด้วยเช่นกัน ท่ามกลางความคลุมเครือว่านิยามของ ‘สื่อออนไลน์’ ที่ว่ามีความกว้างยาวแค่ไหน แค่เว็บไซต์ของสื่อหลัก สำนักข่าวออนไลน์ หรือรวมไปถึงบรรดาเพจต่างๆ ด้วย เพจของจ่าพิชิต ขจัดพาลชน หรืออีเจี๊ยบ เลียบด่วน ถือเป็นสื่อออนไลน์ด้วยไหม? แล้วเพจเชิงเสียดสีร้องเรียนอย่างเพจน้องงล่ะ?
อย่างไรก็ตาม จะบอกว่าร่าง พ.ร.บ.นี้มีแต่ข้อเสียคงจะไม่แฟร์กับผู้จัดทำ เพราะเอาเข้าจริงก็เห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาในอดีตหลายอย่าง เช่น การกำหนดให้องค์กรสื่อทุกแห่งมีกลไกตรวจสอบจริยธรรมภายในซึ่งต้องบังคับใช้ได้จริง, การสร้างกลไกพิจารณาเรื่องร้องเรียนทางจริยธรรมโดยกำหนดระยะเวลาทำงานที่ชัดเจน, การสร้างมาตรการป้องกันแทรกแซงการทำหน้าที่สื่อจากฝ่ายการเมืองและภาครัฐ, การส่งเสริมให้องค์กรสื่อต้องพัฒนาทักษะการทำงานของคนข่าว ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางข้อดีมากมายที่ว่ามา ก็จะกลับไปสู่คำถามที่ว่าด้วยหัวใจของร่าง พ.ร.บ.นี้ นั่นคือ เราเห็นด้วยกับการจับสื่อทุกประเภทมาจัดแถว เพื่อให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรเพียงองค์กรเดียวจริงๆ หรือ
Illustration by Namsai Supavong
หมายเหตุ : ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ ของ สปท. ฉบับที่ผู้เขียนนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการเขียน เป็นฉบับที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของรัฐสภา ช่วงต้นปี 2560 ก่อนที่จะมีการปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งเป็นฉบับล่าสุด ซึ่งอัพเดทมากกว่าและมีเนื้อหาเข้มข้นกว่า โดยหลักการยังคงเดิม คือให้มี ‘สภาวิชาชีพสื่อวิชาชีพสื่อมวลชน’ เป็นองค์กรร่ม คุมสื่อทุกประเภท มีอำนาจในการออกและเพิกถอนใบอนุญาตผู้สื่อข่าว โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ได้แก่ปลัดกระทรวง จำนวน 4 กระทรวง เป็นกรรมการสภาวิชาชีพฯโดยตำแหน่ง และมีอำนาจลงโทษปรับสูงสุดได้ถึง 150,000 บาท จากเดิม 30,000 บาท โดยสื่อออนไลน์ก็ยังจะถูกกำกับดูแลภายใต้ร่าง พ.ร.บ.อยู่ดี แม้นิยามจะยังไม่ชัดเจนเช่นเดิม