ส่วนใหญ่แล้วคุณเห็นข่าวการเมืองแบบไหน?
เคยเป็นไหมเวลาเห็นข่าวเรื่องนักการเมืองทะเลาะกันบ่อยๆ ก็มักสงสัยว่า มันมีความหมายหรือเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลัง ที่มากกว่าแค่การสาดโคลนกันไปมารึเปล่า
ในสหรัฐฯ มีสำนักข่าวรุ่นใหม่ชื่อว่า Politico เป็นสื่อที่นำเสนอข่าวเฉพาะไปที่เรื่องการเมืองเป็นหลัก แม้ก่อตั้งขึ้นมาไม่นานนัก แต่การทำงานอย่างเจาะลึกและตรวจสอบนโยบายรัฐอย่างหนักหน่วงเข้มข้น ก็ได้ทำให้คนสหรัฐฯ เลือกติดตามสื่อนี้ควบคู่ไปกับสำนักข่าวยักษ์ใหญ่ระดับ The New Yorks Times และ Washington Post
Politico (ซึ่งชื่อก็บ่งบอกแล้วว่าสนใจข่าวการเมืองเป็นหลัก) มีทั้งหนังสือพิมพ์ แมกกาซีน และช่องทางออนไลน์เป็นตัวกลางในการสื่อสารข่าวสารต่างๆ ให้กับผู้คนได้รับรู้ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี เมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์กลางการเมืองของสหรัฐฯ ก่อตั้งโดยอดีตนักข่าว Washington Post เมื่อปี 2007
The MATTER มีโอกาสเดินชมสำนักงานใหญ่ของ Politico และพูดคุยกับ Emily Stephenson บรรณาธิการแห่งสำนักข่าวการเมืองสุดเข้มข้นแห่งนี้
Emily เล่าให้เราฟังว่า Politico มีจุดยืนที่ชัดเจนคือเป็นสื่อที่สนใจข่าวการเมืองเป็นการเฉพาะ และถ้าจะมีสิ่งใดเป็นจุดขายที่ทำให้แตกต่างไปจากข่าวการเมืองที่อื่นๆ นั่นก็คงจะเป็นเนื้อหาที่เจาะลึก และอธิบายปรากฏการณ์ได้ชัดเจน เข้าถึงข้อมูลจากแหล่งข่าวสุด Exclusive ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจเหตุการณ์ทางการเมือง และนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนามการเมืองสหรัฐฯ ได้อย่างลึกซึ้งกว่าที่อื่นๆ
ถ้าหากสำนักข่าวอื่นๆ เล่าเรื่องนักการเมืองทะเลาะกัน Politico ก็จะอธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมถึงทะเลาะ และการทะเลาะนั้นมันสะท้อนได้ถึงปรากฏการณ์แบบไหนในสังคม
เมื่อข่าวการเมืองที่ถูกนำเสนอเป็นเรื่องหนักๆ เราจึงสงสัยว่า แล้วใครล่ะเป็นผู้อ่านหลักของ Politico? เธออธิบายว่า กลุ่มผู้อ่านของ Politico ส่วนใหญ่แล้วเป็นทั้งคนทั่วไปที่อินกับการเมืองเป็นทุนเดิม นอกจากนั้น ยังเป็นกลุ่ม ‘ล็อบบี้ยิสต์’ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายต่างๆ จากรัฐบาลในกรุงวอชิงตัน หรือแม้แต่นักการเมืองในสภาคองเกรสก็มักเลือก Politico เป็นสื่อแรกๆ ที่จะหยิบอ่านเพื่อหาข้อมูลเชิงนโยบาย
พูดให้ถึงที่สุดคือ คนเหล่านี้ต้องการข้อมูลเบื้องลึกของกระบวนการออกนโยบาย และผลลัพธ์ของนโยบายที่จะเกิดขึ้นจริงๆ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Indepth Policy
บก.แห่ง Politico อธิบายเสริมว่า แม้สำนักข่าวแห่งนี้จะเน้นเรื่องการเมืองเป็นสำคัญ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าจะหยิบจับการเมืองมานำเสนอไปเสียทุกเรื่อง Politico ไม่ได้รายงานถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะจะคัดเลือกประเด็นที่ผู้อ่านสนใจ หรือสิ่งที่ผู้อ่านควรจะได้รู้มาให้แล้ว
Emily เรียกการคัดเลือกข่าวแบบนี้ว่า ‘Razor Focus’ คือเลือกหยิบจับบางเรื่องที่กองบรรณาธิการคิดว่าสำคัญจริงๆ ก่อนจะมอบหมายให้นักข่าวไปทำข้อมูลในเชิงเจาะลึก เพื่อให้ผู้อ่านได้เสพเนื้อหามากกว่าข่าวทั่วไป
ข่าวการเมืองที่ Politico นำเสนอ แบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ
- ข่าวเร็ว ประเภท Breaking News
- ข่าวเจาะลึก ข่าวเชิงสอบสวน Indepth / Investigate News
ตัวอย่างข่าวเชิงลึกที่ Politico นำเสนอ
ทรัมป์กับงบประมาณกระทรวงกลาโหม
ข้อถกเถียงในนโยบายติดอาวุธให้ครู เพื่อป้องกันเหตุกราดยิงในโรงเรียน
รีพับลิกันกับการขาดแคลนนักการเมืองผู้หญิงในคองเกรส
บทวิเคราะห์ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020
ทั้งนี้ ในกลุ่มของนักข่าวการเมืองแต่ละคนจะมีประเด็นที่ตัวเองสนใจจริงๆ เช่น นักข่าวที่สนใจการเมืองเชิงงบประมาณ เชิงนโยบาย การล็อบบี้ในสภา รวมถึงนักข่าวประจำอยู่ใน White house ขณะเดียวกัน ยังมีนักข่าวที่สนใจการเมืองในพรรคเดโมแครต และรีพับลิกัน พวกเขาจะมีแหล่งข่าวเฉพาะของตัวเองที่สามารถตรวจสอบความเห็น และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและเจาะลึก
นักข่าวของ Politico ไม่ได้แบ่งประเภทแบบตัดขาดกันระหว่างกลุ่มที่ทำเรื่องเชิงลึกกับข่าวที่ต้องนำเสนอแบบรวดเร็ว เพราะนักข่าวที่สนใจในประเด็นเจาะลึกของตัวเอง ก็สามารถทำข่าวเร็วแบบ Breaking News ได้ ถ้าเขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญต่อผู้อ่านของ Politico จริงๆ
ตอกย้ำหน้าที่สื่อการเมือง ด้วยการเป็นผู้ตรวจสอบความจริง
การเมืองสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีมานี้ได้เข้าสู่ภาวะที่แตกแยกกันอย่างรุนแรงและเข้มข้นแบบสุดๆ หนึ่งในรูปแบบการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในสนามของการเมืองคือข้อมูลข่าวสาร หรือที่หลายคนใช้คำใหญ่ๆ ว่า ‘สงครามแห่งข้อมูลข่าวสาร (War of information)
ปัญหาใหญ่มากๆ ที่คนสหรัฐฯ เป็นกังวลกันคือการปล่อยข้อมูลที่บิดเบือน/ผิดไปจากข้อเท็จจริง (Disinformation) เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือฝ่ายตรงข้าม
ในช่วงเวลานี้เองที่ Politico กระโดดเข้ามาทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างแข็งขัน ผ่านโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า ฐานข้อมูลแห่งข่าวการเมืองที่บิดเบือน (Database of political disinfomation) เพื่อช่วยประชาชนตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ประเด็นต่างๆ ในช่วงของการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมานั้น มันเป็นข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ หรือเป็นข้อมูลเท็จที่ถูกปล่อยออกมา เพื่อสร้างความเกลียดชังกันแน่
“ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงมีอยู่ทุกที่ พวกเราจะติดตามข้อมูลเหล่านั้น และอธิบายว่าทำไมมันถึงปลอม มันปรากฏอยู่ที่ไหน และใครเป็นผู้แชร์สิ่งนั้น” คือคำอธิบายที่เขียนไว้บนเว็บไซต์ Politico
การทำหน้าที่นี้ของ Politico ช่วยให้เราเห็นภาพบทบาทของสื่อมวลชนในโลกดิจิทัลได้อย่างน่าสนใจมากๆ แต่เดิม เรามักมองว่าสื่อมีหน้าที่นำเสนอความจริงให้กับสังคม แต่ในยุคนี้ สื่อดิจิทัลอาจจำเป็นต้องงานหนักมากกว่านั้น ผ่านการช่วยประชาชนตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์อันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ว่าข้อมูลที่พวกเขาได้รับมาแต่ละวันนั้น มันมีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน
พูดให้ถึงที่สุดคือ Politico ไม่ใช่แค่สื่อที่เป็น Gatekeeper เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากยังรวมเป็นถึงการเป็น Fact Checker หรือผู้ตรวจสอบความจริงให้กับประชาชนอีกด้วย
สื่อหลักกับความท้าทายจาก Digital Disruption
ปฏิเสธแทบไม่ได้ว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่สื่อหลักถูกท้าทายจากโลกดิจิทัลเป็นอย่างมาก ในบ้านเราหนังสือพิมพ์หลายฉบับยอดขายลดลง และถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อหลายสำนักข่าวเลือกที่จะนำเสนอข่าวที่เชื่อว่า ‘ขายได้’ มากกว่าข่าวเชิงลึก หรือข่าวสืบสวนสอบสวน
จึงน่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่า แล้ว Politico รับมือกับคลื่นของความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร?
หลักๆ แล้ว Politico ได้ปรับรูปแบบจากหนังสือพิมพ์ มาสู่สื่อดิจิทัลมากยิ่งขึ้น โดยช่องทางหลักคือเว็บไซต์ politico.com นอกจากนี้ ยังแตกแยกย่อยออกเป็น จดหมายข่าว (Newletters) ที่ส่งให้กับผู้อ่านที่สมัครสมาชิก และมี Politico Magazine ซึ่งให้ข่าวเชิงลึกแบบสุดๆ
ส่วนช่องทางสำคัญที่เติมรายได้ให้กับสำนักข่าวคือ Politico Pro ที่เป็นระบบสมัครสมาชิกโดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นราวๆ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งจะการันตีว่าผู้อ่านจะได้ข้อมูลที่พิเศษไปกว่าบนเว็บไซต์ทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีเงินที่ได้รับจากเอกชนและการบริจาคในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนับสนุนการทำงานของ Politico
เล่ามาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า Politico มีอาวุธอยู่ในมือเต็มไปหมด ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ และที่สำคัญคือระบบสมัครสมาชิกที่ช่วยสร้างรายได้
บก.แห่ง Politico อธิบายให้เราฟังเพิ่มเติมว่า แม้กระแสสื่อในโลกดิจิทัลจะมาแรงมากๆ ในทุกวันนี้ แต่พวกเขายังเลือกที่จะคงสถานะของหนังสือพิมพ์เอาไว้ให้ได้ต่อไป แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้สร้างรายได้เหมือนแต่ก่อน ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นสื่อที่ช่วยตอกย้ำ Branding ของสำนักข่าวได้เป็นอย่างดี
ท่ามกลางยุคสมัยที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และความน่าเชื่อถือของสื่อหลักกำลังถูกท้าทายจากโซเชียลมีเดีย บทบาทของ Politico ในวันนี้น่าจะเป็นภาพสะท้อนให้เราเห็นถึงการปรับตัวได้ค่อนข้างดี
ภาพที่ชัดเจนมากๆ จาก Politico คือการปรับตัวของสื่อยุคนี้ ไม่ใช่แค่ย้ายฐานของแพลตฟอร์มไปยังโลกดิจิทัล แต่มันน่าจะรวมไปถึงการปรับตัวด้วยการ ‘ทำงาน’ ให้หนักขึ้น และพิสูจน์คุณค่าของการเป็นสื่อมวลชนที่ยังยึดมั่นในหลักการนำเสนอความจริง