‘เราควรจะพยายามทำอะไรที่ภาพยนตร์คนแสดงไม่สามารถทำได้ ต้องเป็นอะไรที่ภาพยนตร์อนิเมชั่นเท่านั้นที่จะสื่อหรือทำได้’ คำตอบของ โฮโซดะ มาโมรุ ต่อคำถามที่ว่า สิ่งสำคัญในการทำอนิเมชั่นคืออะไร ซึ่งเป็นคำตอบที่จริงจัง ชัดเจน แต่ก่อนเขาจะพูดถึงประโยคนั้น เขาก็บอกว่า กระดาษ, ดินสอ และ งบในการสร้าง ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างอนิเมชั่น ซึ่งทำให้เราเห็นอารมณ์ขันของผู้กำกับอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นคนนี้ได้ดีทีเดียว
การที่เรามีโอกาสได้ฟังคำตอบโดยตรงจากปากของ โฮโซดะ มาโมรุ ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นชื่อดังจากญี่ปุ่น ถือเป็นโอกาสที่หายากระดับหนึ่งทีเดียว เพราะในช่วงนี้เขากำลังวุ่นกับการเดินทางไปหลายๆ ประเทศ ถึงขั้นมีคนบอกกล่าวว่าขนาดจะนัดสัมภาษณ์ในญี่ปุ่นยังหาโอกาสได้ไม่ง่ายนัก
ก็ต้องถือเป็นความโชคดีที่ผู้กำกับท่านนี้ตอบรับคำเชิญของทาง M Pictures กับทาง Japan Foundation เพื่อมาเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องใหม่ Mirai No Mirai หรือ มิไร มหัศจรรย์วันสองวัย ในประเทศไทย พร้อมกับมีการกึ่งสัมมนากึ่งทอล์คโชว์เกี่ยวกับการทำงานของในวงการของเขาอีกด้วย ซึ่ง The MATTER ก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ โฮโซดะ มาโมรุ ในครั้งนี้ด้วย
The MATTER : ในผลงานภาพยนตร์ที่คุณกำกับมักมีตัวละครหญิงที่แข็งแกร่งอยู่ในเรื่องเสมอๆ อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คุณสร้างตัวละครที่มีลักษณะนี้ลงไปในภาพยนตร์ของคุณ
คือในภาพยนตร์มักเป็นเรื่องที่ตัวเอกไปพบกับปัญหาอะไร แล้วฝ่าปัญหานั้นไปได้ มันถึงจะเป็นความพยายามที่น่าสนใจ ถ้าตัวละครเอกในภาพยนตร์เป็นตัวละครที่เหลาะแหละก็คงไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ไม่ว่าตัวเอกจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ผมก็อยากจะให้เป็นตัวเอกที่แข็งแกร่งพอที่จะก้าวข้ามผ่านพ้นปัญหา และสามารถทำให้คนดูได้รับพลังจากภาพยนตร์ไปพร้อมกับตัวละครด้วย
The MATTER: สำหรับคุณแล้ว คิดว่าภาพยนตร์ของวงการอนิเมชั่นในประเทศญี่ปุ่นจากตอนที่เริ่มต้นทำงานกับตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกันครับ เพราะตอนที่เรียนจบแล้วเพิ่งเข้ามาในวงการ ก็เป็นเรื่องเมื่อ 30 ปีที่แล้ว …ตอนนั้นค่าเงินเยนค่อนข้างแข็ง เศรษฐกิจเลยไม่ค่อยดี โลกอนิเมะก็ยังซบเซาอยู่ แต่หลังจากที่เข้าไปอยู่ใน Toei (Toei Animation สตูดิโออนิเมชั่นที่ผู้กำกับ โฮโซดะ มาโมรุ ทำงานประจำเป็นที่แรก) ก็มีอนิเมชั่นอย่าง เซเลอร์มูน ที่เป็นตัวชูโรงให้วงการอนิเมชั่นของญี่ปุ่นได้ขึ้นมาเฉิดฉายอีกครั้งหนึ่ง ถ้านับจากตอนนั้นวงการก็เปลี่ยนไปเยอะมากเพราะว่ามีผลงานและบุคลากรต่างๆ มาช่วยเชิดชูวงการให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และจากจุดนั้นทำให้ตัวของผมเองมีวันนี้ที่ได้มาให้สัมภาษณ์กับทางสื่อมวลชนของไทย ซึ่งผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะได้มาที่นี่ครับ
The MATTER: จากเดิมที่เคยมีผู้เขียนบทร่วมด้วย แต่ตอนนี้ที่คุณเป็นผู้เขียนบทด้วยตัวเองแล้ว
ในความรู้สึกโดยรวมของผมแล้ว ภาพยนตร์ที่พวกผม (หมายถึงทีมงานที่ร่วมก่อตั้ง Studio Shizu) ทำมาทุกเรื่อง ก็เป็นเรื่องที่ทางทีมงานของพวกผมร่วมกันเขียนเรื่องขึ้นมา แม้แต่เรื่อง กระโดดจัมพ์ทะลุข้ามเวลา (The Girl Who Leapt Through Time) ซึ่งอ้างอิงมาจากนิยายต้นฉบับ แต่เรื่องในฝั่งอนิเมะนั้นจะเป็นเนื้อเรื่องต่างจากตัวเดิมมาก พอพวกผมเอาตัวเรื่องให้ผู้แต่งนิยายดั้งเดิมดูก็ยังชื่นชอบ รวมถึงยังสนับสนุนให้เขียนเรื่องในลักษณะนี้ต่อไป เพราะฉะนั้นการเขียนบทของภาพยนตร์คนเดียวอาจรู้สึกต่างจากเดิมไปเล็กน้อยเท่านั้นเองครับ
The MATTER: ภาพยนตร์อนิเมชั่นของคุณเล่าเรื่องของครอบครัวในหลากหลายมิติมาแล้ว (ครอบครัวใหญ่, แม่เลี้ยงเดี่ยว, ลูกเลี้ยง เป็นอาทิ) มีโอกาสไหมที่เราจะได้เห็นคุณเล่าเรื่องครอบครัว LGBTQ บ้าง
ถ้ามีโอกาสก็อยากนำมาใส่ในผลงานของผมเหมือนกันครับ เพราะตัวของผมก็ไม่ได้ยึดติดกับ ‘ความปกติธรรมดา’ อย่างตัวผมเองก็ถือว่า ‘ไม่ปกติธรรมดา’ ตอนเด็กๆ พูดติดอ่างจนต้องเรียนในห้องเรียนพิเศษ แล้วตอนเรียนชั้น ม.ปลาย ผมก็มีเพื่อนเกย์เช่นกัน ก็รู้สึกเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่คบกันได้
ผมก็เลยคิดว่า ‘งั้นความธรรมดาคืออะไร’ ความแตกต่างจากทั่วไปนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ อย่างในเรื่อง มิไร มหัศจรรย์วันสองวัย ก็มีตัวละครปู่ทวดที่เป็นทหารผ่านศึกจนขาพิการต้องเดินลากขา แต่ผมก็ไม่ได้เล่าเรื่องของเขาในมุมของคนพิการ ผมเล่าเรื่องของเขาให้เหมือนเป็นคนปกติธรรมดาอีกคนหนึ่ง ดังนั้นถ้ามีโอกาสผมก็อยากใส่ตัวละคร LGBTQ ในผลงานต่อๆ ไปของผมครับ
(ประเด็นนี้คุณโฮโซดะ มาโมรุ ได้เสริมข้อมูลในช่วงสัมมนาอีกเล็กน้อยว่า ที่ประเทศญี่ปุ่นยังมีกลุ่มคนที่อคติรุนแรงกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ และตัวเขากำลังหาวิธีเขียนบทที่สามารถทำให้คนกลุ่มนั้นและผู้ชมคนอื่นยอมรับตัวละครหลากหลายทางเพศได้ และถ้าทำได้ก็จะมีตัวละครดังกล่าวอยู่ในหนังของเขา)
The MATTER: คุณมักทำภาพยนตร์เกี่ยวกับครอบครัวอยู่เสมอ เคยมีอาการหมดมุกบ้างไหม?
จริงๆ ที่หนังเรื่องนี้ (มิไร) มีธีมเรื่องความสัมพันธ์ของ ‘พี่น้อง’ เพราะผมอยากรู้เรื่องนี้ แล้วก็ได้เรียนรู้จากการทำหนังเรื่องนี้ ในหนังเรื่องต่อๆ ไปผมอาจจะไม่ได้หยิบเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวมาใช้เป็นแกนเรื่องหลัก แต่ถ้ามีอะไรน่าสนใจผมก็จะหยิบมาใช้เล่าเรื่องครับ
The MATTER: ถ้าไม่ได้ทำอนิเมชั่นที่เล่าเรื่องของครอบครัวแล้ว คุณมีแนวไหนที่อยากลองทำอีกบ้างไหม?
ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำเรื่องครอบครัวออกมานะครับ ที่ผมสนใจอยากเล่าจริงๆ คือขั้นตอน (progress) การเติบโตและเปลี่ยนแปลงของมนุษย์คนหนึ่ง กว่าเด็กคนหนึ่งจะโตเป็นผู้ใหญ่ โตขึ้นมาได้อย่างไร แต่พอมาเขียนบทให้ตัวเอกเป็นเด็กก็เลยต้องเขียนถึงรอบตัวเด็ก ซึ่งก็คือสมาชิกครอบครัวพร้อมกันโดยปริยายครับ รวมถึงการทำอนิเมชั่นงานก็จะเกี่ยวกับเด็กเสียเยอะเลยดูเหมือนได้ทำแต่เรื่องครอบครัวไปครับ
The MATTER: ทำไมคนดูถึงไม่ควรพลาดภาพยนตร์ มิไร มหัศจรรย์วันสองวัย แล้วถ้าไม่มีพี่น้องไปดูเรื่องนี้แล้วจะอินไหม?
ตัวผมเองจริงๆ ก็เป็นลูกคนเดียว ตอนสร้างหนังเรื่องนี้เองที่ได้มาศึกษาเรื่อง ‘พี่น้อง’ แล้วการชมภาพยนตร์นั้น ด้านหนึ่งเราอาจไปดูเพราะมีอะไรสัมพันธ์กับตัวของเรา แต่อีกด้านหนึ่งภาพยนตร์ก็สามารถทำให้เราเห็นอีกโลกหนึ่ง หรือ อีกชีวิตหนึ่งที่เราไม่เคยไปสัมผัสตรงนั้น คนที่ไม่มีพี่น้องอาจดูหนังเรื่องนี้แล้วเข้าใจได้ว่า การมีพี่น้องจะมีความสัมพันธ์แบบใด ส่วนคนที่มีพี่น้อง หรือจะเป็นครอบครัวคนไทยก็สามารถดูหนังเรื่องแล้วเทียบเคียงความสัมพันธ์กับครอบครัวในเรื่องได้ครับ
ผมขอเสริมอีกอย่างว่า เพราะตัวเอกของเรื่องเด็กผู้ชายอายุสี่ขวบ ถ้าคุณผ่านวัยสี่ขวบมาแล้ว คุณอาจเข้าไปดูแล้วย้อนนึกได้ว่าตัวของคุณเองเป็นอย่างไรตอนนั้น ซึ่งเด็กสามขวบอาจจะไม่เข้าใจตรงจุดนี้ครับ (หัวเราะ)
การสนทนาระหว่าง The MATTER กับ โฮโซดะ มาโมรุ จบลงในเวลาไม่นานนัก ก่อนที่ผู้กำกับท่านนี้จะขึ้นเวทีเพื่อแนะนำภาพยนตร์ต่อหน้าสื่อมวลชน ที่จะได้รับชมภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์ และผู้กำกับก็กลับมาอีกครั้งในช่วงสัมมนาในตอนเย็นที่เขาเล่าเรื่องหลายๆ อย่าง อาทิ แรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ มิไร มหัศจรรย์วันสองวัย ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ลูกชายของเขาได้พบหน้ากับน้องสาวเป็นครั้งแรก บวกกับการที่อยากบอกเล่าว่าครอบครัวในยุคที่มีคนใช้อินเทอร์เน็ตอยู่กับตัวเองมากขึ้น อาจเป็นปัญหาที่เป็นสากลโลกก็ได้, การทำงานของเขานั้นตั้งใจวาดฉากหลังที่อ้างอิงจากสถานที่จริงให้เหมือนที่สุด แล้วใช้เนื้อเรื่องส่วนแฟนตาซีในการขับเน้นสิ่งที่ตัวเขาอยากจะสื่อ และตัวเขายังบอกด้วยว่าเขายังไม่ใช่ผู้กำกับที่ประสบความสำเร็จ ถ้าเทียบกับการปีนภูเขาแล้ว ตอนนี้เขาเพิ่งอยู่แค่เพียงตีนเขาเท่านั้น ก่อนที่ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมที่มาเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ได้ถามคำถามที่เขาทำการตอบแบบสดๆ ด้วย
มีคำพูดหนึ่งที่ตัวผู้กำกับบอกมา ซึ่งเราคิดว่านี่น่าจะเป็นแนวคิดที่ทำให้เขาสนใจจะบอกเล่าขั้นตอนความเติบโตและเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลากหลายแบบ จนกลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นหลายเรื่องที่ผู้ชมทั่วโลกยอมรับตั้งแต่ก่อนหน้านี้
‘ตอนเด็กๆ อาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งชีวิตจะหยุดอยู่แบบนั้น ทั้งชีวิตยังมีการเปลี่ยนแปลง จะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ ผมเองก็คิดแบบนี้ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จึงพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้ตัวเองตอนเด็กผิดหวังครับ’
ขอขอบคุณ
M Pictures และ Japan Foundation