เมื่อพฤติกรรมการอ่านของคนเปลี่ยนไป 10 ปีมานี้ วงการนิยายจึงมีรูปแบบการอ่านที่หลากหลายขึ้น จากนิยายเล่ม สู่นิยายในแพลตฟอร์มออนไลน์ จากมีเพียงแค่ สำนักพิมพ์ ที่เป็นคนกำหนดว่านิยายเรื่องไหนจะถูกนำเสนอในโลกวรรณกรรม ก็มีแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์เป็นตัวกลางให้คนเขียนกับคนอ่านมาเจอกัน และทำให้นักเขียนลงนิยายของตัวเองได้อย่างอิสระ
Young MATER พูดคุยกับ ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์ บรรณาธิการแจ่มใสพับลิชชิง สำนักพิมพ์นิยายวัยรุ่นชื่อดัง, อตินุช อสีปัญญา บรรณาธิการนิยายเด็กดี เว็บไซต์ออนไลน์ยอดนิยม และ ธิดาพร พฤกษมาศวงศ์ Community Manager ของจอยลดา แพลตฟอร์มนิยายรูปแบบแชทที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ว่ามีมุมมองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไร ผู้ดูแลแพลตฟอร์มต้องปรับตัวหรือพัฒนาแค่ไหนเพื่อรับกับรูปแบบการอ่านนิยายที่เปลี่ยนไป นิยายเล่มจะหายไปไหม คนอ่านกับสำนักพิมพ์ปฏิสัมพันธ์กันแบบไหน ไปจนถึงบทบาทของผู้ดูแลแพลตฟอร์มอ่านนิยาย และทิศทางของวงการนิยายไทยในอนาคต
นิยายออนไลน์ ส่งเสริม หรือ ขัดขวาง สำนักพิมพ์
“นิยายออนไลน์ไม่ส่งผลเสียกับเรา อย่างที่บอกว่า แจ่มใสเกิดมาจากพันทิป เราไม่ได้มองว่านี่คือคู่แข่ง เรามองว่าทุกครั้งที่มีอะไรเข้ามา มันมีโอกาสใหม่ๆ ตามมาด้วยเสมอ” ศศกรเล่าถึงสำนักพิมพ์แจ่มใสในช่วงที่นิยายออนไลน์เป็นที่นิยม และมองว่าการมีพื้นที่สำหรับนิยายออนไลน์นั้นเป็นผลดีกับแจ่มใส “ดีตรงที่เรามี resourse ให้เลือกหยิบเยอะขึ้นเยอะมาก เมื่อก่อนจะหานักเขียนยากหน่อย แต่เดี๋ยวนี้มีเวที คนก็มาโพสต์งานตัวเองเต็มไปหมด เราจึงมีโอกาสเลือกดูว่างานใครน่าสนใจ เรื่องไหนกระแสดี ทำให้เราเห็นเทรนด์ได้ง่ายขึ้น”
การมีนิยายออนไลน์เป็นตัวช่วยหนึ่งที่สำนักพิมพ์ใช้ตัดสินใจว่าจะตีพิมพ์นิยายเรื่องไหน นักเขียนเอง ก็สามารถใช้พื้นที่ออนไลน์สร้างความโด่งดังให้นิยายของตัวเองได้ เมื่อส่งนิยายมาที่สำนักพิมพ์ ผลงานก็จะน่าสนใจและมีโอกาสที่สำนักพิมพ์จะเลือกตีพิมพ์มากขึ้น ส่วนสำนักพิมพ์ ก็ใช้แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์มาช่วยส่งเสริมการตีพิมพ์แบบเล่ม อย่างที่อตินุช บรรณาธิการนิยายเด็กดี เล่าว่า ถ้านิยายเรื่องไหนมียอดคนอ่านในออนไลน์เยอะ เมื่อทำเป็นเล่มก็จะขายดีตามไปด้วย แถมยังมีแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์เป็นอีกช่องทางในการโปรโมตนักเขียนหน้าใหม่ด้วย และสำนักพิมพ์จะอาศัยกระแสของนิยายที่ดังในโลกออนไลน์ มาช่วยโปรโมตนิยายที่เป็นเล่มให้เป็นที่รู้จัก
นิยายออนไลน์ ไม่ได้ทำให้นิยายเล่มหายไป
พอมีแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ที่มีฐานคนอ่านจำนวนมาก คนทำนิยายเล่มบางส่วนก็มีความกังวลว่า คนจะอ่านแต่ในออนไลน์และอาจทำให้นิยายแบบเล่มตายไป แต่ศศกรยืนยันว่า ปัจจุบันยอดซื้อเป็นเล่มของสำนักพิมพ์ก็ยังดีอยู่ หรือแม้แต่ธิดาพร จากจอยลดา ก็เห็นตรงกันว่า “นิยายเล่มไม่ตายหรอก ขนาดนิยายออนไลน์ยังทำเป็นเล่มเลย”
ศศกรเล่าภาพรวมของวงการนิยายในตอนนี้ว่า นิยายแต่ละเรื่องมีโอกาสจะได้รวมเล่มสูงมาก เพราะมีสำนักพิมพ์หลายที่ที่พร้อมจะเลือกนิยายออนไลน์มาทำเล่ม หรือนักเขียนบางคน ก็แทบจะไม่ต้องรอสำนักพิมพ์ ตีพิมพ์เองเสียเลย “เราเชื่อว่าในความคิดของนักเขียนทุกคน สุดท้ายปลายทางการออกมาเป็นเล่ม คือการการันตีอย่างหนึ่งว่า เรื่องของเขามันโอเคแล้ว คือการลงออนไลน์ อาจจะได้ระดับหนึ่ง แต่ฟีลลิ่งทางใจอาจยังไม่เท่ากับการออกเป็นเล่ม” บรรณาธิการแจ่มใสกล่าว
การมีนิยายออนไลน์เพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำให้นิยายแบบเล่มหายไป ไม่ว่าจะเป็นบรรณาธิการนิยายเด็กดี หรือบรรณาธิการแจ่มใสต่างก็เห็นตรงกันว่า นิยายออนไลน์กับนิยายเล่มเป็นคนละแพลตฟอร์มกัน และกลุ่มคนอ่านของแต่ละแพลตฟอร์มก็มีพฤติกรรมการอ่านที่แตกต่างกัน
สำนักพิมพ์ปรับตัวเมื่อคนอ่านเปลี่ยนไป
แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนอ่านกับสำนักพิมพ์เปลี่ยนไปจากเดิม ศศกรเล่าว่า สมัยก่อน สำนักพิมพ์มีระยะห่างกับคนอ่านค่อนข้างมาก แต่สมัยนี้คนอ่านมีความใกล้ชิดสำนักพิมพ์มากขึ้น อย่างแจ่มใสเองก็วางตัวเป็นเพื่อนกับคนอ่าน และเสียงจากคนอ่านก็เป็นตัวกำหนดเทรนด์ของนิยายมากขึ้น
ธิดาพร Community Manager ของจอยลดามองว่า ทุกวันนี้ทุกคนต้องการความรวดเร็ว ต้องการใช้เวลาอ่านนิยายในแต่ละตอนน้อยลง ซึ่งศศกรเห็นว่า สาเหตุที่คนใช้เวลาในการอ่านนิยายน้อยลงเพราะโลกออนไลน์ทำให้ผู้คนเข้าถึงสื่อบันเทิงอื่นๆ อย่าง โซเชียลมีเดีย ละคร ภาพยนตร์ ได้มากขึ้น
“หนังสือนิยายตีพิมพ์น้อยลงเพราะพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมมากกว่า คนมีช่องทางเสพสื่ออื่น นั่นคือ time sharing ที่หายไป เมื่อก่อนเราอาจอ่านหนังสือได้ 2 ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้เอาเวลาไปไถฟีดแล้วชั่วโมงหนึ่ง” ศศกรกล่าว พร้อมเสนอว่า การที่จะดึงคนอ่านกลับมา ต้องมีคอนเทนต์ที่ดี นิยายไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของหนังสือเล่ม มันสามารถอยู่ในรูปแบบอื่นๆ ได้ ซึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงมีการหมุนเวียนพึ่งพาคอนเทนต์กันอยู่แล้ว
“เราไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่หนังสือ แจ่มใสบอกตลอดว่ามันคือ content business ซึ่งจะนำเสนอในรูปแบบไหนก็ได้ ไม่ติด และธุรกิจที่ใช้คอนเทนต์มันอิงอาศัยกันตลอดเวลา เช่น สื่อ entertainment อย่างละคร เขาก็ยังต้องการเรื่องสนุกๆ ไปทำละคร หรือเวลามีละครสนุก ก็จะย้อนกลับมาเป็นหนังสือ มันมีความหมุนเวียนอยู่ในระบบ entermainment แปลงไปมากันอยู่ตลอดเวลา เรามีความเชื่อว่ามันสามารถ cross กันได้”
บทบาทของผู้ดูแลพื้นที่เผยแพร่นิยาย
ตั้งแต่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ ในวงการก็แยกออกเป็นสองสาย คือสำนักพิมพ์นิยายเล่มดั้งเดิม กับแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ที่เป็นเวทีสำคัญในการเผยแพร่นิยายสู่สายตานักอ่าน ทำให้บทบาทของสำนักพิมพ์ที่เคยมีต่อวงการนิยายถูกเข้าใจว่าเปลี่ยนไปมาก แต่ในมุมมองของศศกร บทบาทขอสำนักพิมพ์ก็ยังเหมือนเดิม แล้วบทบาทของสำนักพิมพ์แตกต่างอย่างไรเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มออนไลน์?
ศศกรเล่าว่า “สำนักพิมพ์ หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์ บทบาทไม่ได้ต่างกันมาก เรามองว่าบทบาทมันคือ การนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจให้คนอ่าน เพียงแต่นำเสนอในรูปแบบที่ต่างกันเฉยๆ และก็ขึ้นอยู่พฤติกรรมคนอ่าน ว่าเขาสะดวกกับแบบไหน ชอบเสพแบบไหน” บทบาทสำนักพิมพ์ต่อคนอ่านก็คือนำเสนอเรื่องราวที่มีคุณภาพ ไม่ว่าอนาคตเทคโนโลยีการอ่านจะเป็นอย่างไร แต่หัวใจก็คือคอนเทนต์ที่คนจะอ่าน ซึ่งสำนักพิมพ์มีบทบาทในการติดตาม และเสาะหาเรื่องราวที่น่าสนใจมาสู่สายตานักอ่าน
ส่วนบทบาทแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ อตินุชเล่าว่า นิยายเด็กดีคือพื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่ของงานอดิเรกที่ให้คนที่อยากเป็นนักเขียนได้ทำตามฝัน ได้มาใช้พื้นที่นี้เพื่อพัฒนาฝีมือ ได้รับคำติชมจากคนอ่าน มีโอกาสที่สำนักพิมพ์จะเห็นผลงานและทำให้งานอดิเรกกลายเป็นอาชีพได้ สิ่งที่นิยายเด็กดีพยายามมาตลอดคือพัฒนานักเขียนที่มีคุณภาพออกมา เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาวงการวรรณกรรมต่อไป
แจ่มใสพูดถึงเรื่องนี้ไว้เช่นกันว่า เป็นความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์หรือแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ส่วนหนึ่งเหมือนกัน ที่จะต้องคอยกรองเนื้อหาที่จะไปสู่คนอ่าน แต่ขณะเดียวกันก็มีจำนวนนิยายอยู่ในออนไลน์นั้นมหาศาล คนสร้าง คนเสพ และคนดูแลแพลตฟอร์ม จึงต้องคอยเป็นหูเป็นตาร่วมกัน
เทรนด์ของวงการนิยายขณะนี้
วงการนิยายปัจจุบันมีเทรนด์ที่กำลังเป็นที่สนใจอย่างหนึ่งคือ ระบบเก็บเงินในแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ ที่แต่ก่อนอาจอ่านฟรี แต่ไม่กี่ปีมานี้มีระบบที่ให้นักเขียนเก็บเงินจากผู้อ่านได้หากผู้เขียนต้องการ อย่างเด็กดีที่แต่เดิมเป็นแพลตฟอร์มนิยายที่ไม่มีรายได้ นานวันเข้าจำนวนเรื่องนิยายที่อยู่ในระบบก็มีมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็พุ่งขึ้นสูงตามไปด้วย องค์กรจึงต้องมองหาวิธีที่สร้างรายได้ให้นักเขียน และเพื่อให้แพลตฟอร์มสามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้
ฟากสำนักพิมพ์แจ่มใสเอง ก็เพิ่งเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นของตัวเองเมื่อต้นปี 2018 และใช้ระบบเก็บเงินจากผู้อ่านเช่นกัน ซึ่งแจ่มใสมองว่า การเปิดแพลตฟอร์มนี้จะเป็นการขยายฐานลูกค้า และให้นักเขียนทั่วๆ ไป หรือคนที่สนใจ เข้ามาเขียนได้ แต่ก็ยังเป็นช่วงพิสูจน์ว่า จะมีคนจำนวนมากแค่ไหนที่ยอมจ่ายใน Digital Content จริงๆ
อีกเทรนด์นิยายที่กำลังมาแรงคือ นิยายรูปแบบแชทในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นที่พูดถึงในวงการนิยายว่า อาจทำให้นิยายแบบบรรยายหายไป แต่จอยลดาเห็นว่า นิยายแชทไม่ใช่การทำลาย แต่เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับตลาดอีกกลุ่ม เล่าแบบนี้คนอ่านสนุก มีคนอีกกลุ่มที่ชอบ แต่ก็ใช่ว่านิยายที่บรรยายเป็นฉากๆ จะหายไป
แจ่มใสเองก็เห็นตรงกันว่า ไม่ว่าจะถ่ายทอดนิยายออกมาในรูปแบบไหน ก็เป็นเพียงเชิงเทคนิคที่เพิ่มขึ้นมา แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็คือคอนเทนต์ ที่สุดท้ายคนอ่านจะเลือกเสพนิยายที่มีคุณภาพ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอีกอย่างไร สำนักพิมพ์แค่ตามเทคโนโลยีไป และคงคุณภาพของเนื้อหาไว้เท่านั้นเอง
Content by Punyapa Prasarnleungwilai
Illustration by Sainamthip Janyachotiwong