ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ ผมพบว่าตัวเองมักตกหลุมรักงานเขียนของนักเขียนหญิงมากกว่านักเขียนชายอย่างเห็นได้ชัด แต่พ้นไปจากนักเขียนชั้นครูอย่าง Marguerite Duras, Virginia Woolf หรือ Alice Munro ผมพบว่านักเขียนหญิงร่วมสมัยหลายๆ คนก็ได้ขยับขยายตัวตนผ่านงานเขียนอย่างน่าสนใจ
Baileys Women’s Prize for Fiction คือชื่อรางวัลวรรณกรรมที่จะมอบให้กับนักเขียนหญิงไม่จำกัดสัญชาติที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ การประกาศรางวัลมีขึ้นทุกปีซึ่งผมก็อาศัยติดตามรายชื่อผู้เข้าชิงจากรายการนี้ในการทำความรู้จักกับนักเขียนหญิงชื่อใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้รู้จัก ปะปนกันไปกับบรรดานักเขียนหญิงที่ดังอยู่แล้วอย่าง Margaret Atwood, Kate Atkinson และ Ali Smith ที่บ้างก็แวะเวียนมาท้าชิง และบ้างก็คว้ารางวัลกลับบ้านไป อย่างในปีล่าสุด (2017) วรรณกรรมที่คว้ารางวัลนี้ไปได้คือ The Power ของ Naomi Alderman นวนิยายแนว dystopian ที่เล่าเรื่องราวของโลกในวันที่อยู่ๆ ผู้หญิงก็ปล่อยกระแสไฟฟ้าจากนิ้วได้ ซึ่งด้วยพลังพิเศษนี้เองก็ได้ส่งให้ผู้หญิงกลายเป็นเพศผู้นำแทนที่เพศชาย
แค่เรื่องย่อก็น่าสนใจแล้ว แต่สารภาพว่าผมยังไม่ได้อ่านเล่มนี้หรอกนะครับ เพราะเล่มที่ผมอ่านและหยิบมาพูดถึงในสัปดาห์นี้ คือหนึ่งในผู้ท้าชิงของ The Power หนังสือเล่มที่ว่าคือ Do Not Say We Have Nothing นวนิยายของ Madeleine Thien นักเขียนสาวชาวแคนาดาที่แม้จะเคยมีผลงานตีพิมพ์มาก่อน หากชื่อของเธอก็เพิ่งจะมาโด่งดังจริงๆ จากงานเขียนชิ้นนี้แหละครับ
เท้าความเพิ่มอีกเล็กน้อย ต้องบอกว่าผมไม่ได้รู้จัก Do Not Say We Have Nothing เพราะ Baileys Women’s Prize for Fiction เสียทีเดียว แต่มาจากอีกรางวัลใหญ่อย่าง Man Booker Prize ซึ่งหนังสือเล่มนี้ติด Short List ในปี 2016 (ที่สุดท้าย The Sellout ของ Paul Beatty-หนังสือที่เสียดสีประเด็น Racism ในสหรัฐฯ ด้วยลีลายียวน สำนวนสุดกวน และภาษาที่โคตรจะอ่านยาก-คว้ารางวัลไปครอง) ว่าแต่หนังสือเล่มนี้มีอะไรน่าสนใจกันล่ะ
Do Not Say We Have Nothing บอกเล่าเรื่องราวที่สลับซับซ้อนของครอบครัวหนึ่งที่ผูกโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ประเทศจีนซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงที่ เหมา เจ๋อ ตุง เริ่มขึ้นสู่อำนาจ มาจนถึงการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 และผลกระทบที่ตามมาหลังจากนั้น
โดยตัวเรื่องหลักๆ ถ่ายทอดผ่านความทรงจำของ ‘มารี’ หญิงสาวชาวจีน-แคนาดาที่พาเราย้อนไปยังช่วงเวลาที่เธอเพิ่งจะอายุได้ 10 ขวบ (ปี 1989) ปีที่พ่อของเธอเดินทางจากแคนาดาหวังจะกลับไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ แต่สุดท้ายก็เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาที่ฮ่องกง จากการฆ่าตัวตาย ไม่กี่เดือนให้หลัง มารีกับแม่ก็ได้รับจดหมายจากหญิงชาวจีนขอร้องให้ครอบครัวที่เหลือกันอยู่สองคนของมารีช่วยรับดูแล ‘อ้ายหมิง’ ลูกสาวของเธอซึ่งกำลังหาทางหลบหนีจากเมืองจีนมายังแคนาดา
เกริ่นแค่สั้นๆ ก็เริ่มจะเห็นถึงความยุ่งเหยิงของเนื้อเรื่องแล้วนะครับ แต่ต้องบอกว่านี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ในความซับซ้อนที่ดิ่งลึกของ Do Not Say We Have Nothing เท่านั้น เพราะอย่างที่ได้กล่าวไป หนังสือเล่มนี้บอกเล่าประวัติศาสตร์กว่าห้าสิบปีของจีน ฉะนั้นเรื่องราวของมารีจึงเป็นแค่ชิ้นส่วนกระจิ๋วของภาพจิ๊กซอว์ขนาดใหญ่เท่านั้น ด้วยการมาถึงของอ้ายหมิงได้นำไปสู่การเปิดเผยประวัติศาสตร์ครอบครัวที่มารีไม่เคยได้รับรู้ สาวย้อนกลับไปถึงโคตรตระกูลของเธอในเมืองจีน สมัยที่พ่อของเธอยังเป็นเด็ก และเติบโตขึ้นด้วยไฟฝันอันโชติช่วงและจิตวิญญาณที่หลงไหลในดนตรีท่ามกลางกระแสเทิดทูนพรรคคอมมิวนิสต์และประธานเหมา
Do Not Say We Have Nothing คือการบันทึกประวัติศาสตร์จีนผ่านเสียงดนตรีคลาสสิก ถ่ายทอดผ่านสายตา ทัศนะ และชีวิตของผู้คนที่ต้องดิ้นรนอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของประเทศ อย่างพ่อของมารีเองก็เคยพร่ำเรียนดนตรีอย่างเข้มข้น ประพันธ์บทเพลงที่แสนไพเราะ และเคยได้แสดงในคอนเสิร์ตฮอลล์ระดับประเทศ แต่แล้วเมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไป เมื่อความคิดสาธารณะกลายเป็นอันตราย และโจมตีว่าดนตรีคลาสสิกน่ะกลวงเปล่า ประหนึ่งเครื่องมือของพวกกระฎุมพีที่คอยแต่ผลักไสคนจน
การกระแทกกระทั้นในสิ่งที่รักอย่างรุนแรงโดยสังคมนั้นไม่ต่างกับการถูกมีดปลายแหลมทะลวงเข้าอย่างเย็นชา และอำมหิต
ราวกับ Medaleine Thien กำลังโยนคำถามกับเราว่า หากสักวันสิ่งที่เราหลงไหลถึงขนาดที่มันประกอบสร้างตัวตนเราขึ้นมาเกิดถูกตีตราว่าผิดบาป ว่าชั่วช้า ว่าควรค่าแก่การลบให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เราจะรู้สึกต่อตัวเราเองที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเกลียดชังนี้เช่นไร เราจะรู้สึกต่อสังคมที่รุมประนามอย่างบ้าคลั่งเช่นไร และเราจะรู้สึกต่ออำนาจที่คอยแต่จะเชิดชักตัวเราจนกลายเป็นอื่นเช่นไร
depersonalization หรือความรู้สึกว่าเอกลักษณ์ (identity) ของตัวเองเปลี่ยนไป คือคำที่อธิบายหัวใจของหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วย Medaleine Thien ถ่ายทอดสภาพจิตใจอันสับสนและบอบช้ำของผู้คนตัวเล็กๆ ซึ่งต้องใช้ชีวิตท่ามกลางการบิดผันของกระแสประวัติศาสตร์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีความเป็นอยู่ รวมถึงระบบคิดของชาวจีนในยุคสมัยนั้น Thein ถ่ายทอดให้เรารับรู้ถึงสภาวะสั่นคลอนทางตัวตน และความล้มเหลวในการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เพียงเพราะไม่อาจคัดง้างกับอำนาจที่ส่งตรงจากเบื้องบนได้เลย
Do Not Say We Have Nothing คือนวนิยายแห่งอำนาจ และอำนาจที่ว่าก็ปรากฏโฉมในหลายรูปลักษณ์ พฤติกรรม และเรื่องราว หากล้วนแล้วแต่มุ่งตรงสู่เป้าประสงค์อันโหดร้าย นั่นคือการทำลายตัวตนของมนุษย์คนหนึ่งจนเขาคนนั้นไม่หลงเหลือในสิ่งซึ่งจะยึดเหนี่ยวชีวิตเขาเอาไว้ และความตายคล้ายจะเป็นคำตอบเดียวที่จะพาเขาหลุดพ้นจากโลกอันโหดร้ายนี้ได้ โลกแห่งอำนาจที่ไม่เคยจะมอบตัวเลือกใดๆ ทั้งยังรื่นเริงบันเทิงใจกับการทำร้ายจิตใจใครต่อใครให้บอกช้ำไปวันๆ