จลาจลที่ยาวนานตลอดทั้งคืนของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันและข้ามเพศต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 1969 ที่บาร์ Stonewall Inn เนื่องจากไม่ยอมจำนนต่อการถูกเหยียดหยามรังควาญอีกต่อไป ถูกกันเรียกว่า Stonewall Riots
เหตุการณ์นี้ถูกสถาปนาให้เป็นจุดกำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหวเสรีของ LGBT สากล LGBT ทั่วโลกเฉลิมฉลองด้วยการจัดเกย์ไพรด์ในเดือนนี้เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมในค่ำคืนนั้น และถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการใช้ชีวิตของเกย์ทั่วสหรัฐอเมริกา จนประวัติศาสตร์ของเกย์ถูกแบ่งได้ออกเป็น ก่อน Stonewall และหลัง Stonewall
มีนักประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งอธิบายไว้ว่า ถ้าจะมีเหตุการณ์ใดที่จะถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์เหมือนกับการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว ก็ Stonewall Riots นี่แหละ
อย่างไรก็ตามมันก็มีนักประวัติศาสตร์หลายคนตั้งคำถามถึงการให้ความสำคัญของจลาจลที่ Stonewall Inn ว่ามีค่าเพียงนั้นเชียวหรือ? เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เก้งกวางเกย์สู้กลับกับการคุกคามของตำรวจ และ Stonewall Inn ก็ไม่ใช่แห่งแรกที่ตำรวจไปบุกทลาย
เพราะว่ามีวีรกรรมทำนองเดียวกันนี้ก่อนหน้านั้น ณ อีกมุมนึงของชุมชน LGBT เพียงไม่ถูกจดจำ เพราะเกย์บาร์ซึ่งเป็นสถานที่สาธารณะเพียงแห่งเดียวที่พวกเขาและเธอจะแสดงออกเพศสภาพเพศวิถี ได้มักถูกตำรวจบุกถล่มจนกลายเป็นเรื่องทั่วไปในนิวยอร์กและเมืองอื่นๆ ตลอดทศวรรษที่ 1960 ซึ่งก็เป็นทศวรรษแห่งการต่อสู้เคลื่อนไหว เพราะพลังคนหนุ่มสาวที่ตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ มีการขบวนการเคลื่อนไหวมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีผิว ชาติพันธุ์ ชนชั้น ฐานะ สตรีนิยม โอกาสของของคนรุ่นใหม่ สงคราม สันติวิธี รวมไปถึงความหลากหลายทางเพศ
มีการศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายกับ Stonewall ว่า เหตุใด Stonewall จึงเป็นที่จดจำมากกว่าเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งในนิวยอร์ก ซาน ฟรานซิสโก และลอส แอนเจลิสที่เหตุการณ์ทั้งหมดนั้นกลับถูกลืม เพราะขาด ‘คุณสมบัติ’ บางประการ[1]
ซาน ฟรานซิสโก เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกงานเต้นรำในวันปีใหม่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1965 ซึ่งองค์กรคนรักเพศเดียวกัน 6 กลุ่มจัดงานเต้นรำคอสตูมเพื่อฉลองวันปีใหม่ และระดมทุนให้กับชมรมการศาสนาและกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน (Council on Religion and the Homosexual) ซึ่งผู้จัดงานได้แจ้งให้ตำรวจทราบแล้ว และคิดว่าตำรวจจะไม่บุกเข้ามาป่วนงาน ทว่าท้ายที่สุดตำรวจก็กระทำการอุกอาจ ทั้งข่มขู่คุกคาม ขับรถตระเวนรอบพื้นที่จัดงาน ถ่ายรูปผู้เข้าร่วมงานทุกคน ก่อนจะพยายามบุกเข้างาน แต่ทนายของทีมผู้จัดปฏิเสธด้วยการเรียกหาหมายค้น ส่งผลให้ทนายสามคนและคนเก็บบัตรเข้างานถูกจับกุมในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
นิตยสารของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในซาน ฟรานซิสโก พยายามเล่นประเด็นให้ผู้คนจดจำเหตุการณ์ค่ำคืนนั้น โดยอ้างถึงการกระทำอันอุกอาจว่าตำรวจ 55 นายได้บุกเข้าไปในงานเต้นรำที่พวกเขาจัด และถือเป็นการประกาศสงครามของตำรวจต่อกลุ่มเกย์ กลุ่มผู้จัดงานเห็นว่างานนี้สำคัญเพราะขนาดของความร่วมมือที่เป็นการร่วมมือระหว่าง 6 องค์กร และมองว่าการต่อต้านตำรวจของกลุ่มผู้จัดงานนั้นควรเป็นที่จดจำระลึกถึงในฐานะการแสดงออกอันกล้าหาญ มากไปกว่านั้นยังชนะคดีในชั้นศาล ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนรักต่างเพศด้วยการจัดงานแถลงข่าวต่อต้านการกระทำของตำรวจ และนำไปสู่การศึกษาการใช้อำนาจในทางกฎหมาย มีการจัดงานให้นักการเมืองนำเสนอมุมมองของตนต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันด้วย การจัดงานในลักษณะนี้ทำให้เกย์กับตำรวจเจอหน้ากันมากขึ้น และท้ายที่สุดก็หยุดคุกคามเกย์บาร์ไปได้ ถือว่าเป็นอีกพัฒนาการของสถานการณ์กลุ่มคนรักเพศเดียวกันในซาน ฟรานซิสโก
แต่อะไรที่ทำให้ New Year’s Ball 1965 นี้ไม่เป็นที่จดจำ?
กลุ่มผู้จัดงานไม่ได้จัดงานเพื่อเฉลิมฉลองหรือระลึกถึงเหตุการณ์ค่ำคืนในวันนั้น ทั้งที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีพัฒนาการมากที่สุดในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ของสหรัฐอเมริกา ทั้งที่มีสำนักงานที่จะช่วยอำนวยการให้มีงานเฉลิมฉลองได้ และมีสื่ออยู่ในมือ 2 สื่อ จากทั้งหมดจำนวน 3 สื่อในสหรัฐฯ แต่ทั้งที่มีทรัพยากรมากมายอยู่ในมือ สิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ได้จัดงานรำลึกก็คือ ขบวนการเคลื่อนไหวในท้องถิ่นนั้นไม่ได้รู้สึกว่าจะสลักสำคัญจนต้องมานั่งจัดระลึกถึงเหตุการณ์อะไร และไม่ได้คิดด้วยว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกันสามารถเอามาจัดงานระลึกถึงได้ มีบทความที่เขียนถึงเหตุการณ์ในวันนั้นเพียง 15 บทความ และเกินครึ่งเป็นบทความในสิ่งพิมพ์ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในท้องถิ่นนั้น
มีการตั้งข้อสังเกตภายหลังว่า บางทีพวกเขาและเธอไม่มีโมเดลมาก่อนว่าจะต้องจัดงานรำลึกเหตุการณ์แบบนี้ออกมาในรูปแบบใด รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็มีลักษณะที่เรียกว่า ‘พิเศษมาก’ ในเวลานั้น หมายความว่า ทั่วทั้งสหรัฐฯ กลุ่มคนรักเพศเดียวกันทั้งชายและหญิงก็ยังไม่ได้ปรากฏตัวออกมามากนัก
เกย์ชาวซานฟรานยังคงถูกคุกรบกวนและโต้กลับเรื่อยมา ซึ่งได้ผลลัพท์ที่ต่างกันไป เช่นในสิงหาคม 1966 ที่ร้านกาแฟ 24 ชั่วโมง Campton’s Cafeteria ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของเกย์ขายบริการทางเพศ สาวประเภทสอง แดร็กควีน เด็กไร้บ้าน ตำรวจได้เข้าไปกระชากแขนกะเทยนางนึง นางจึงเขวี้ยงแก้วกาแฟใส่หน้าตำรวจ แล้วการตะลุมบอลจึงบังเกิดขึ้น ทั้งแก้วจานรองถาดอาหารปลิ่วว่อนไปทั่วร้าน LGBT พร้อมใจขว้างปาข้าวของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนจะมีการสนธิกำลังเข้าปราบปราม พวกเขาและเธอต่างขัดขืนทุบกระจกร้านเพื่อหลบหนี ตำรวจก็พยายามจะลากพวกนางโยนใส่รถตำรวจ กะเทยสู้ด้วยกระเป๋าถือฟาดที่หน้า และเกย์ก็ต่อยไปที่ใต้เข็มขัด และในวันถัดมาก็มีการประท้วงการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทว่าการต่อสู้โต้กลับในครั้งนี้ไม่ถูกให้ความสนใจ ไม่ถูกตีเป็นข่าว แม้แต่นักกิจกรรมเกย์ซานฟรานก็ไม่ให้คุณค่าอะไร ไม่โจมตีการกระทำของตำรวจ เพราะนักกิจกรรมเกย์ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางผิวขาวอนุรักษ์นิยม และไม่ใช้บริการร้านกาแฟนี้ที่ตั้งอยู่ในย่านโลกีย์
จากซานฟรานมาสู่ ลอส แอนเจลิส เกย์บาร์ที่จัดปาร์ตี้ข้ามปี 1966-1967 ก็ถูกคุกคามโดยตำรวจนอกเครื่องแบบ ซึ่งมีการกระชากทุบตีที่บาร์ Black Cat และร้านใกล้เคียง หลังช่วง New Year’s kiss หลายคนถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย ทั้งนักเที่ยวรักเพศเดียวกัน เจ้าของผู้จัดการบาร์เทนเดอร์ แต่ไม่มีการจับกุม ซึ่งได้สร้างความโกรธแค้นให้กับผู้คนจำนวนมากและได้รวมตัวกันต่อต้าน นักกิจกรรมและผู้ประสบภัยเคลื่อนไหวผ่านช่องทีวี ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์มีการรวมตัวกันตามที่สาธารณะ รวมไปถึงด้านนอกบาร์ Black Cat ด้วย
การเคลื่อนไหวในครั้งนี้มีผู้ร่วมกิจกรรมถึง 400 คน หลากหลายชาติพันธุ์และช่วงวัย แต่ตำรวจก็ยังคงคุกคามคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศและแดรกควีนอย่างต่อเนื่อง ราวกับฉายหนังซ้ำในสิงหาคนปี 1968 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกตรวจค้นและจู่โจม Patch ไนท์คลับ เกย์กะเทยหลายคนถูกจับกุมจากคืนนั้น เจ้าของร้านและชาว LGBT จึงนัดรวมตัวกันโต้กลับ เจ้าของร้านเหมาดอกไม้จากร้านที่มาเที่ยวบาร์เขา และชวนกันตบเท้าไปที่สถานีตำรวจพร้อมกับดอกไม้จำนวนมาก ขับร้องเพลง ‘We Shall Overcome’ ระหว่างรอเพื่อนๆ ถูกปล่อยตัว
และอีกครั้งในเดือนมีนาคม 1969 ตำรวจทำร้ายทุบตีคนรักเพศเดียวกันจนตายบริเวณที่จอดรถของ Dover Hotel ต่อหน้าผู้คนมากมาย นำไปสู่การเดินขบวนไปยังสถานีตำรวจ เพื่อแสดงการต่อต้านความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกันถึง 120 คน
แต่นักกิจกรรมยังไม่มีการสร้างอนุสรณ์หรือกิจกรรมเป็นเครื่องเตือนความทรงจำรำลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา
มายังนิวยอร์ก ก่อนจะถึง Stonewall Riots นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเกย์เดินทางมาไกลแล้ว พวกเขาและเธอเข้มแข็ง กระฉับกระเฉง พร้อมปะทะ นักกิจกรรมที่นี่ต่างจากที่อื่น ที่ซาน ฟรานเติบโตเพราะบรรยากาศเสรี ลอส แอนเจลิสก็ต้องเผชิญการกดทับอย่างไม่ลดราวาศอก นิวยอร์กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง และเรียนรู้ประสบการณ์จากที่ต่างๆ ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวแตกต่างจากที่อื่นที่ผ่านมา พวกเขาก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมที่พร้อมถอนรากถอนโคนโครงสร้างรักต่างเพศนิยม พร้อมกับมีทิศทางเดียวกับกลุ่มสิทธิพลเมือง คนผิวดำ เฟมินิสต์ และขบวนการซ้ายใหม จนนักกิจกรรมที่นี่สามารถสกัดกั้นการกวาดล้างปราบปรามคนรักเพศเดียวกันได้ในกลางทศวรรษ 1960 และพัฒนารูปแบบสื่อมวลชนจนสามารถรายงานกิจกรรมเคลื่อนไหวบนสื่อกระแสหลักได้
แต่หลังจากเหตุการณ์ที่ Stonewall Inn เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคุกคาม LGBT อยู่ ในวันที่ 8 มีนาคม 1970 9 เดือนให้หลังจาก Stonewall Riots ตำรวจก็ยังคงบุกเกย์บาร์ Snake Pit (เกลียดชื่อ บ่อ ‘งู’ 5555) และจับกุมลูกค้าในบาร์นี้ไปถึง 167 คนและเกือบทำให้หลายคนเกือบเสียชีวิต เครือข่ายนักกิจกรรมก็เคลื่อนไหวในคืนถัดมา มีผู้คน 500 คนร่วมเดินขบวนไปยังสถานีตำรวจตะโกนสโลแกนสิทธิเสรีภาพเกย์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ Snake Pit นี้ไม่ถูกพูดถึงและจดจำมากนัก เพราะไม่ใช่การปะทะครั้งแรกในนิวยอร์กและนักกิจกรรมได้หมุดหมายให้เหตุการณ์ Stonewall เป็นจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยของ LGBT และทำให้เป็นระเบียบวาระแห่งชาติแล้ว
พวกเขาชักชวนนักกิจกรรมในเมืองอื่นๆ ร่วมสร้างความทรงจำให้เหตุการณ์ Stonewall เป็นความทรงจำร่วมในการรำลึกถึงการต่อสู้ครั้งใหญ่ของชาว LGBTQ ด้วยการใช้สื่อต่างๆ อย่างเต็มที่เพื่อรำลึกถึง Stonewall riots ทั้งอีเมล โทรศัพท์ ใบปลิว หนังสือ หนังสือพิมพ์ สื่อทีวี และพาเหรด
ความเป็นที่รู้จักมากกว่าของ Stonewall Riots จึงถูกเคลมโดยนักกิจกรรม Stonewall เองว่าจุดประกายให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในที่อื่นๆ ซึ่งนักกิจกรรมซานฟรานเองก็ไม่ค่อยจะพอใจเท่าไรนักกับการเคลม Stonewall เป็นปฐมบทของการต่อสู้ของ LGBT สมัยใหม่ เพราะพวกนางเจอมาเยอะเจ็บมาเยอะก่อนพวกนิวยอร์ก แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ New Year’s Ball 1965 มีผลต่อความคิดและชีวิตเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เป็นเพียงความทรงจำของชาวรักเพศเดียวกันซานฟราน และนักประวัติศาสตร์บางคน ไม่แพร่หลายพอที่จะมีใครจัดกิจกรรมรำลึก
งานศึกษาในยุคหลัง Stonewall พยายามนับให้ New Year’s Ball 1965 เป็น ‘Stonewall Riots ฉบับซานฟราน’ เพราะถือได้ว่าเป็นจุดหักเหของชีวิตเกย์ในซานฟรานซิสโกก็ว่าได้ แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ความคิดเรื่อง Stonewall เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ของเกย์ก็หยั่งรากลงไปในชบวนการเคลื่อนไหวเกย์อื่นๆ แล้ว รวมถึงที่ซานฟรานด้วย เหมือนกับความพยายามให้คุณค่าความหมาย New Year’s Ball 1965 ที่ต้องอ้างอิง Stonewall Riotsในปี 1969
การที่ Stonewall ถูกจดจำได้มากกว่านั้นเพราะเป็นเหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นในช่วงที่กลุ่ม LGBT มีความสามารถเครื่องไม้เครื่องมือมากพอในการสร้าง ‘สิ่งช่วยจำ’ ที่กลายเป็นเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในเมืองอื่นๆ และขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศในนิวยอร์กมีพัฒนาการมาก่อนที่จะเกิด Stonewall Riots อันเป็นผลของกระบวนการทางประวัติศาสตร์และการเมือง เปิดโอกาสให้นักเคลื่อนไหวสามารถใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างเป็น ‘ความทรงจำร่วม’ ไม่เพียงเฉพาะภายในนิวยอร์กแต่รวมถึง LGBT ในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย ขณะที่การต่อสู้พื้นที่อื่นไม่มีการสร้างหรือยังสร้างไม่สำเร็จ
‘ความทรงจำร่วม’ (collective memory) หรือ ‘เรื่องราวในอดีต’ ที่กลุ่มทางสังคมเลือกจำนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ แต่มีกระบวนการผลิตซ้ำและฝังความทรงจำเหล่านั้นด้วย
ซึ่งกระบวนการฝังความทรงจำนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม โดยผ่านของที่จะช่วยในการสร้างและผลิตซ้ำเช่น หนังสือ อนุสาวรีย์ รูปปั้น สถานที่เพื่อระลึก ไปจนถึงงชุดการกระทำบางอย่าง เช่นกิจกรรมเฉลิมฉลองประจำปี ขบวนพาเหรด
ไม่เพียงถูกบันทึกไว้ในหนังสือและสื่อจำนวนมากโดยนักข่าวนักประวัติศาสตร์เพศวิถี แต่ Stonewall Riots ยังมีการเฉลิมฉลองผ่านงานเกย์ไพรด์ไปทั่วโลกที่ทำให้การสร้างความทรงจำร่วมประสบความสำเร็จ เพราะเสียงสะท้อนหรือแรงกระเพื่อมของเรื่องราวที่เกิดขึ้นถูกแสดงออกผ่านกิจกรรมรูปแบบที่หลากหลาย รื่นเริง ปรับตัวเข้าหาสื่อมวลชน ถูกผลิตซ้ำผ่านการจัดงานประจำปี และสามารถสร้างพลังทางวัฒนธรรมอีกด้วย
แม้ว่า Stonewall Riots ไม่ได้เป็นการต่อสู้ครั้งแรก ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวคนรักเพศเดียวกันและข้ามเพศทั้งหมด แต่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศกลุ่มแรกที่ประสบความสำเร็จในการสร้างและผลิตซ้ำความทรงจำให้กับ LGBT ของเกือบทั้งหมดทั่วโลก
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Elizabeth A. Armstrong and Suzanna M. Crage. ‘Movements and Memory: The Making of the Stonewall Myth’. American Sociological Review, Vol 71, Issue 5, pp. 724 – 751.