เวลาพูดถึง LGBT แน่นอนว่าคงไม่ได้มีแค่เรื่องการเป็นสีสันบนสื่อบันเทิง หากแต่ยังมีคอนเทนต์อีกหลายชิ้น ที่พยายามนำเสนอแง่มุมต่างๆ ของ LGBT ให้สังคมได้เข้าใจกันมากขึ้น
ยิ่งเมื่อแพลตฟอร์มบนโลกดิจิทัลดูเหมือนจะให้ ‘อิสระ’ กับฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์มากยิ่งขึ้น เราก็จึงได้เรื่องราวที่หลากหลายกันเรื่อยๆ จากเนื้อหาที่เคยเป็นแค่เฉพาะกลุ่ม ก็เริ่มกลายเป็นที่รู้จักในคนหมู่มาก เนื่องด้วยพลังของโลกดิจิทัล
The MATTER ได้พูดคุยกับ พัลภา มาโนช หัวหน้าธุรกิจของ LINE TV ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ LGBT ทั้งซีรีย์ และออริจินัลคอนเทนต์มาอย่างต่อเนื่อง
เวลาพูดถึงคอนเทนต์ LGBT คิดว่าภาพในโลกออฟไลน์มันเป็นยังไงบ้าง
ออฟไลน์ยังไม่เปิดกว้างเท่ากับออนไลน์ แต่ก็เปิดกว้างมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่เป็นคอนเทนต์เฉพาะกลุ่มมากจริงๆ คือเราแทบไม่สามารถเห็นเรื่องราวของคนเพศเดียวกันที่รักกันได้บนทีวี แต่วันนี้เราก็เห็นคอนเทนต์แบบนี้มากขึ้นแล้ว เราก็ต้องชมคนที่อยู่ฝั่งผลิตเหมือนกันนะว่า เขาก็พยายามทำอะไรใหม่ๆ มาให้คนได้ดู
มีอิสระในการนำเสนอมากขึ้นไหมบนแพลต์ฟอร์มออนไลน์
อาจจะอิสระมากขึ้นจริง แต่ก็ไม่ใช่ปลอดเซ็นเซอร์เลย เราจะคำนึงเรื่องความถูกต้องและศีลธรรมของสังคมด้วย ยังคงต้องเซ็นเซอร์ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่เราสร้างเอง ถ้าเป็นรีรันจากทีวี ก็จะถูกกรองโดย กสทช. อยู่แล้ว
LINE TV อยากเปลี่ยนภาพจำเกี่ยวกับคอนเทนต์ LGBT ในบ้านเรายังไงบ้าง
เราอยากทำให้เห็นคอนเทนต์ที่หลากหลาย LGBT ไม่ใช่เรื่องของเซ็กซ์อย่างเดียว เพราะยังมีมิติอื่นๆ เรื่องความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ยกตัวอย่าง คอนเทนต์ที่เราเคยทำเรื่อง โซตัส เดอะซีรีย์ มันคือความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง และยังมีมิติอื่นๆ เพิ่มเข้ามา ซึ่งความสนใจมันเลยมีมากกว่าแค่เรื่องความรักอย่างเดียว
หรือไดอารี่ตุ๊สซี่ มันก็มีเรื่องเกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างเพื่อน การดำเนินชีวิตต่อไปในสังคมปัจจุบัน หลายคนก็มองเห็น LGBT เป็นแค่ตลกในรายการวาไรตี้ เราอยากนำเสนอทางเลือกอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น
กว่า 4 ปีที่ผ่านมา มองว่าการทำคอนเทนต์ LGBT บนแพลตฟอร์มนี้เปลี่ยนไปยังไงบ้าง
เราทำงานกันมาสี่ปีแล้ว คอนเทนต์ที่ค่อนข้างถูกพูดถึงคือละครและซีรีส์สำหรับกลุ่มสาววายก่อน แล้วค่อยตามมาเป็นเรื่องของรายการ ที่เราทดลองสร้างดู เช่น Take Guy Out จนทำรายการเสร็จ เราก็เริ่มรู้สึกว่า มันมีโอกาสในการผลิตซีรีส์ขึ้นมาเอง เราเลยร่วมผลิตกับพันธมิตรต่างๆ ซึ่งคอนเทนต์พวกนี้มีกระแสทางอินเทอร์เน็ตมาอยู่แล้ว เป็นเนื้อเรื่องที่คนติดตามอยู่แล้ว เราแค่เปลี่ยนจากคอนเทนต์ที่เป็นนิยาย หรือตัวหนังสือให้เป็นซีรีส์เพื่อเห็นภาพมากขึ้น
แล้วคิดว่ากลุ่มสาววายมีพลังทางการตลาดยังไงบ้าง
สาววายเป็นคนที่รักใครแล้วรักจริง เขาสามารถทุ่มเทได้เต็มตัว ดังนั้นในแง่ของการตลาดแล้วก็ค่อนข้างสำคัญมาก เราไม่ได้มองว่ากลุ่มนี้ Niche แล้ว เพราะกระแสโดยรวมนั้น หลายแบรนด์ก็ยังทำแคมเปญ LGBT ออกมา สำหรับเราแล้ว นี่คือก้าวสำคัญมากๆ ที่คนผลิตก็ผลิตแล้วจบ แต่มันสามารถเป็นที่ต้องการของตลาดได้จริงๆ
อะไรคือความท้าทายในการทำคอนเทนต์ LGBT บนแพลตฟอร์มนี้
มันคือการทำคอนเทนต์ให้ติดตลาด เพราะตอนนี้เรามีคอนเทนต์เป็นมหาสมุทรคือมันเยอะมากจริงๆ เราต้องชัวร์ว่าผู้กำกับและทีมงานทุกฝ่ายต้องโอเค เนื้อหาต้องไม่ใช่เรื่องเดิมๆ ที่เคยถูกนำเสนอไปแล้ว เรายังคงทำสิ่งต่างๆ เพื่อพิสูจน์ว่าคอนเทนต์ LGBT เหมาะสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
เท่าที่เล่ามาก็รู้สึกว่า มันยากเหมือนกันที่จะทำให้คอนเทนต์ให้มันแมสได้
จริงๆ LGBT มันก็มีหลากหลาย อย่าง Drag Race ก็เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่เข้าถึงแมสได้ เพราะคนไทยหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจถึงความหลากหลายในกลุ่ม LGBT เหมือนกัน คนก็คุ้นกับแค่รายการทีวีที่มีผู้ชายแต่งเป็นหญิง แต่ยังไม่เห็นมุมอื่นๆ แต่ Drag Race น่าจะให้คนเข้าใจได้เร็ว
Drag Race เป็นการนำเสนอในมุมที่นอกจากภาพที่เราคุ้นเคย เรายังต้องการเน้นให้คนรู้กันมากขึ้นว่า คนกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่วันๆ มาแต่งหญิงอย่างเดียวนะ ชีวิตเขามีอะไรที่มากกว่านั้น เขามีความสามารถในเรื่องอื่นๆ อีกมาก
อยากให้คนดูได้อะไรจากการดูคอนเทนต์ LGBT มากที่สุด
เราอยากให้เขาได้รับคอนเทนต์ใหม่ๆ และให้คนมองทุกเพศเท่ากัน เรื่องความหลากหลายทางเพศนั้น เรามองว่ามันคือเรื่องของความเท่าเทียม และลองเปิดใจดูคอนเทนต์แบบนี้ เข้าใจว่าการเปลี่ยนความคิดมันค่อนข้างยาก แต่เราก็อยากทำให้คอนเทนต์มันเข้าถึงทุกคนได้ จริงๆ มันมีความสนุก ความแปลกใหม่ในตัวคอนเทนต์อยู่พอสมควร
ผลตอบรับที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง เติบโตยังไงบ้าง
คอนเทนต์ LGBT ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ได้เราเชื่อว่าประสบความสำเร็จที่สุดก็คือไดอารี่ตุ๊สซี่ เราคิดว่านักแสดงเป็นส่วนหนึ่งที่สื่อให้เราเชื่อว่าเขาคือเพื่อนกันจริงๆ เช่นเดียวกับเรื่องบทและทีมงานฝ่ายผลิตที่มีคุณภาพ มันอาจจะเป็นหนึ่งในซีรีส์แรกๆ ที่พยายามจะทำให้มีความกระชับ คือทำยาวประมาณ 30 นาทีต่อตอน ตอนแรกก็มีคนบ่นว่ามันสั้นไปไหม แต่เราเชื่อว่า 30 นาทีนี้ ถ้ามันกระชับและตีหัวคนเข้าบ้านได้ก็สบายแล้ว
รูปแบบการเสพสื่อของคนในออนไลน์ มันส่งผลต่อการทำคอนเทนต์แค่ไหน
คอนเทนต์บน LINE TV ค่อนข้างหลากหลาย ถ้ามาจากทีวีก็แบ่งเบรกตามโฆษณาของทีวี แต่ของเราจะค่อนข้างจะต่างจากแพลตฟอร์มอื่น โดยเฉพาะเวลาเฉลี่ยนในการดูบนแพลตฟอร์มเรามันจะยาวกว่าที่อื่นๆ ถามว่ามีสูตรสำเร็จไหม เราก็ไม่ได้เป็นถึงขนาดนั้น
เราลองผิดลองถูกมาแล้วเกือบ 3 พันกว่าเคส (หัวเราะ) แต่ก็ยังหาสูตรสำเร็จได้ยากเหมือนเดิมนะ เพราะโลกมันหมุนเร็วมาก รสนิยมของคนก็เปลี่ยนตลอดเวลา แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังต้องยึดว่าคอนเทนต์ที่ออกไปต้องมีคุณภาพ ทั้งในแง่การผลิตและการโปรโมทคอนเทนต์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
ช่วง Pride Month ได้ทำอะไรเป็นพิเศษบ้าง
สิ่งที่เราโฟกัสคือหยิบคอนเทนต์ LGBT มาจัดรวมกันแล้วทำเน้นให้เป็นไฮไลท์พิเศษของเดือนขึ้นมา รวมถึงเพลงที่มีความหมายเกี่ยวกับ LGBT ก็จะนำขึ้นมาโปรโมทด้วย
ทำงานกับคนในกลุ่ม LGBT เยอะๆ เราได้เข้าใจอะไรเพิ่มมากขึ้นบ้าง
สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือความคิดสร้างสรรค์ และทุกครั้งเวลาเราคุยงานกันเราจะรู้สึกว่าเขาก็เหมือนคนอื่นทั่วไป อย่าง Drag Race ที่เราลองหยิบมาทำตอนซีซั่นแรก ทีมงานแต่ละคนล้วนมีความสามารถ อยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข
ตอนที่ตัดสินใจจะหยิบ Drag Race มาทำตอนนั้นกลัวอะไรไหม เพราะมันก็เป็นคอนเทนต์ที่ใหม่มาก
สังคมเราก็คุ้นชินกับผู้ชายที่แต่งหญิงมาแล้วด้วย เราเลยค่อนข้างมั่นใจ สิ่งที่เราพยายามจะนำเสนอมากกว่าคือเรื่องของความสามารถ ที่ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ และความแตกต่างที่แต่ละคนไม่เหมือนกันเลย มีประโยคนึงที่เราคุยกันบ่อยๆ คือ ชะนีเห็นแล้วยังอายเลยนะ เธอเกิดมาเพื่อฆ่าชะนีใช่ไหม (หัวเราะ)
ตอนนี้คนเริ่มเห็นภาพคอนเทนต์ LGBT ใน LINE TV มากขึ้นเรื่อยๆ คิดว่ามาจากปัจจัยอะไร
ตอนนี้เหมือนเรากำลังเป็นเหมือนศูนย์รวมของคอนเทนต์ LGBT ไปแล้ว มันคือเคสที่เราประสบความสำเร็จจากคอนเทนต์ที่แล้วมา เลยทำให้พันธมิตรที่สนใจคอนเทนต์แบบนี้อยากมาร่วมงานกันมากขึ้น จึงได้เห็นคอนเทนต์ LGBT บน LINE TV ค่อนข้างเยอะ ซึ่งเราก็อยากย้ำว่า คอนเทนต์เรายังมีการตรวจสอบคุณภาพอยู่เหมือนเดิม
คิดว่าถ้าแพลตฟอร์มอื่นๆ อยากหันมาทำคอนเทนต์เรื่อง LGBT เขาควรเริ่มต้นจากอะไรเป็นลำดับแรก
ทัศนคติในการทำคอนเทนต์เป็นเรื่องนึงที่มันอาจจะต้องมาในรูปแบบพร้อมๆ กัน มันอาจจะมีความตั้งใจในการทำคอนเทนต์ เราต้องล้างภาพ LGBT แบบเมื่อก่อนให้มีความใหม่มากขึ้น นอกจากนั้น ก็ต้องคิดกันว่ามันยังมีมุมมองไหนที่เราสามารถหยิบขึ้นมานำเสนอได้อีกบ้าง เช่นเดียวกับ การใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในคอนเทนต์ด้วย
แล้วต่อจากนี้วางแนวทางไว้ว่าจะนำเสนอคอนเทนต์ LGBT ไปในทิศทางไหนบ้าง
เราพยายามคิดค้นคอนเทนต์รูปแบบใหม่ตลอดๆ เราเคยทำมาหลายอย่างแล้ว น่าจะมีความหลากหลายของคอนเทนต์มากขึ้นในปีต่อไป
อยากชวนมองในภาพรวมว่า แล้ว LINE TV มันจะมาทดแทนทีวีทั่วไปได้รึเปล่า
เราพยายามย้ำมาเสมอว่า LINE TV เกิดมาเพื่อเสริมแรงให้วงการทีวี เราไม่ได้เกิดมาเพื่อฆ่าทีวีช่องไหน เราอยากสนับสนุนให้ธุรกิจแวดวงนี้มันขยายมากขึ้น ตลอด 4 ปีที่ผ่านมามันพิสูจน์มากขึ้น มันคือคอนเทนต์ทีวีที่มีคุณภาพ ไม่ว่ามันจะอยู่ที่ไหนก็จะมีคนดูเหมือนเดิม
เรามองว่าแพลตฟอร์มออนไลน์มันคือการให้ความสะดวกมากกว่า ถึงอย่างนั้น สุดท้ายแล้วมันก็จะกลับมาที่คอนเทนต์อยู่ดี ถ้ามันมีคุณภาพ ยังไงคนก็อยากดู และอยากดูซ้ำไปเรื่อยๆ
คิดว่าพอเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ มันมีส่วนช่วยเปลี่ยนสังคมได้ยังไงบ้าง
คนจำนวนมากในประเทศเราเข้าถึงออนไลน์ได้แล้ว เรายังคงทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเพื่อจรรโลงสังคมอะไรขนาดนั้น แต่พยายามจะอยู่บนพื้นฐานที่สังคมยอมรับได้ ไม่ได้ต้องการทำเพื่อทำร้ายใคร
มันเป็นคอนเทนต์ที่ดูแล้วได้อะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิง หรือบางความคิดจากเนื้อหาที่เราพยายามคิดมา