บ่ายแก่ๆ ของวันอาทิตย์ต้นเดือนเมยายนที่อากาศอุ่นกำลังดีในมหานครลอนดอน มีการแข่งขันพายเรือประเพณีระหว่างสองมหาวิทยาลัยชื่อดังของอังกฤษ อ๊อกฟอร์ด กับ เคมบริดจ์ ครับ ประเพณีนี้จัดกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน 182 ปีแล้ว ถ้าเทียบกับบ้านเราก็คงเหมือนกับฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์นั่นเอง โดยที่ในปีนี้สองมหาวิทยาลัยดังแบ่งรางวัลไปเชยชมกันคนละประเภท ฝั่งทีมหญิงมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เข้าเส้นชัยก่อน ชนะอ๊อกฟอร์ดไปอย่างขาดลอย กลับมายึดแชมป์ได้อีกครั้งหลังจากไม่ได้แชมป์มาตั้งแต่ปี 2012 ในขณะที่ฝั่งทีมชายมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดกลับมาทวงแชมป์คืนได้จากปีที่แล้ว ชนะเคมบริดจ์ไปแบบฉิวเฉียดแค่หนึ่งช่วงตัวเท่านั้นเอง สรุปรวมยอดชัยชนะที่ผ่านมา 182 ปี ฝ่ายชายเคมบริดจ์ชนะมากกว่าอ๊อกซ์ฟอร์ดอยู่ที่ 82 ต่อ 80 ครั้ง ส่วนทีมหญิงฝั่งเคมบริดจ์ชนะขาดลอยที่ 42 ต่อ 30 ครั้ง
ก่อนเริ่มการแข่งขันปีนี้มีเรื่องให้หวาดเสียวกันเล็กน้อยครับ เนื่องจากมีการค้นพบซากระเบิดที่ฝังอยู่ในตมใต้พื้นแม่น้ำเทมส์ ซึ่งคาดว่าอยู่มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และมีข่าวลือว่าการแข่งขันอาจจะต้องถูกยกเลิกด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ดีเมื่อทีมสำรวจได้เข้ามาตรวจสอบแล้วก็อนุญาตให้จัดการแข่งขันต่อไปได้
เส้นทางการแข่งขัน
การแข่งขันนี้มีระยะทาง 4 ไมล์กว่าๆ หรือประมาณ 6.8 กิโลเมตร ตามแนวแม่น้ำเทมส์จากฝั่งตะวันออกไปทางฝั่งตะวันตก โดยเรือทั้งสองลำเริ่มออกตัวจากสะพานพัตนี่ย์ ผ่านสะพานแฮมเมอร์สมิธ และไปเข้าเส้นชัยที่บริเวณมอร์ตเลค ใกล้กับสะพานชิสสิค ตลอดระยะทางการแข่งขันก็มีผู้คนทั้งชาวเมืองลอนดอนและนักท่องเที่ยวมารอดูและให้กำลังใจนักกีฬากันอย่างคับคั่งครับ
การแข่งขันเริ่มจากทีมหญิงก่อนในเวลา 16.35 น. ฝ่ายอ๊อกซ์ฟอร์ดออกตัวได้ไม่ดี ทำให้ถูกเคมบริดจ์ทิ้งห่างไปหลายช่วงตัว จนสุดท้ายไม่สามารถไล่กวดตามได้ทันและเข้าเส้นชัยช้ากว่าเคมบริดจ์ไปถึง 11 ช่วงตัวเลยทีเดียว จากนั้นอีกหนึ่งชั่วโมงถัดมาทีมชายจึงเริ่มการแข่งขัน ซึ่งสุดท้ายเป็นทีมสีน้ำเงินเข้ม อ๊อกซ์ฟอร์ด ที่มาแก้แค้นคืนให้ทีมหญิง แตะเส้นชัยได้ก่อน ด้วยเวลา 16 นาที 59 วินาที
กีฬาพายเรือแห่งประวัติศาสตร์
ประเพณีการแข่งขันพายเรือของสองมหาวิทยาลัยนี้มีการจัดต่อเนื่องมายาวนานกว่า 180 ปี โดยเรื่องราวเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1829 ที่เพื่อนรักต่างมหาวิทยาลัยสองคนคือ ชาร์ลส์ เวิร์ดสเวิร์ธ และ ชาร์ลส์ เมอริเวล (ชื่อชาร์ลส์ เหมือนกันอีกต่างหาก) ได้ริเริ่มที่จะจัดการประลองแข่งเรือกันขึ้นระหว่างสองมหาวิทยาลัย โดยการแข่งขันครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1829 ที่เมือง Henley-on-Thames ใกล้ๆ กับอ๊อกฟอร์ด และในครั้งนั้นอ๊อกซ์ฟอร์ดก็เป็นผู้กำชัยชนะไปอย่างง่ายดาย การแข่งขันในอีก 25 ปีต่อมานั้นไม่ค่อยต่อเนื่องสักเท่าไหร่ จัดกันบ้างหยุดไปบ้างตามแต่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย อย่างไรก็ดี ตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่สองในปี 1836 นั้น ก็ได้ย้ายมาจัดในกรุงลอนดอนแทน พร้อมกับเปลี่ยนเส้นทางมาเริ่มจากเวสมินสเตอร์ไปยังพัตนีย์ และใช้เส้นทางนี้เรื่อยมาอีกหกปีจนถึงปี 1842 จากนั้นก็มีปรับเส้นทางไปอีกหลายรอบ มีสามปีที่การแข่งขันจัดให้พายทวนน้ำแทนที่จะพายตามน้ำ (ท่าจะเหนื่อยแย่) จากนั้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1856 เป็นต้นมา ก็จัดการแข่งขันต่อเนื่องกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน และใช้เส้นทางจากสะพานพัตนี่ย์ไปยังมอร์ทเลค
การต่อสู้ของนักกีฬาพายเรือหญิง
การแข่งขันในช่วงปีแรกๆ มีเฉพาะทีมชายเท่านั้น การแข่งทีมหญิงได้เริ่มขึ้นเกือบร้อยปีให้หลังในปี ค.ศ.1927 อีกทั้งการแข่งขันยังค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากมีกลุ่มต่อต้านตลอดการแข่งขันเพราะเชื่อว่าการพายเรือเป็นกีฬาที่ไม่เหมาะกับผู้หญิง อีกทั้งการพายเรือทีมหญิงก็ไม่ได้จัดแข่งในแม่น้ำเทมส์ดังเช่นทีมชาย การแข่งขันเองก็ยังมีกฎที่แตกต่างไปเพราะไม่ได้เป็นการพายแข่งไปพร้อมๆ กันแล้ววัดกันที่ว่าใครเข้าเส้นชัยก่อน แต่ว่าเป็นการแยกกันพายคนละรอบและตัดสินด้วยเวลาและสไตล์ในการพาย (ยังไงเหรอ?) จนผ่านมากว่าสิบปีจึงได้มาเริ่มแข่งแบบพายพร้อมกันในปี 1935 จากนั้นมาคณะผู้จัดและทีมพายเรือของทั้งสองมหาวิทยาลัยก็ยังต้องต่อสู้ฝ่าฟันการทดสอบมากมายหลายด่าน ทั้งด้านการสนับสนุนทางการเงิน หรือการฝึกแบบมืออาชีพเฉกเช่นเดียวกับทีมชาย จนในที่สุดทีมพายเรือหญิงก็ได้มาร่วมแข่งขันในแม่น้ำเทมส์ในเส้นทางเดียวกัน ระยะทางเท่ากันกันกับทีมชายในปี 2015 เป็นปีแรก
เส้นทางการฝึกฝน
เส้นทางการก้าวเข้ามาเป็นนักกีฬาตัวแทนของสองมหาวิทยาลัยนั้นเริ่มขึ้นจากกลุ่มผู้เข้าสมัครจากทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก ตัวสำรองจากปีที่แล้ว รวมถึงศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว จะต้องมาฝึกฝนร่วมกันทั้งบนบกและพายจริงในน้ำ ตั้งแต่เดือนกันยายน (เพื่อที่จะแข่งจริงในเดือนเมษายน) จากนั้นโค้ชจะทำการคัดเลือกชุดที่ดีที่สุดเพื่อเป็นนักกีฬาตัวจริงในวันแข่งขัน การฝึกฝนจะมีทุกวัน วันละสองถึงสามรอบ โดยจะมีตั้งแต่การฝึกฝนร่างกายในยิมตอนเช้า และฝึกฝนพายจริงในน้ำในช่วงบ่ายหรือช่วงเย็น ว่ากันว่าทุกสโตรคการพายในการแข่งขันวันจริงนั้น นักกีฬาได้ฝึกการพายครั้งนั้นๆ มาแล้วกว่า 600 รอบ
เส้นทางก้าวสู่การเป็นนักพายเรือทีมชาติ
นักกีฬาพายเรือจากทั้งสองมหาวิทยาลัยบางคนได้พัฒนาตนเองต่อขึ้นไปจนได้เป็นตัวแทนทีมชาติเพื่อเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีนักกีฬาเหรียญทองพายเรือโอลิมปิกหลายคนที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นนักพายเรือในทีมของสองมหาวิทยาลัยนี้ เช่น เซอร์ แมททิว พินเซนท์ ผู้คว้าไปถึง 4 เหรียญทองจากกีฬาพายเรือโอลิมปิก ช่วงปี 1992–2004 ก็เป็นศิษย์เก่าทีมพายเรือของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดช่วงปี 1990–1993
ย้ายทีมก็ได้เหรอ?
ปีนี้มีดราม่าเกิดขึ้นเล็กน้อยก่อนการแข่ง เนื่องจากมีนักกีฬาชื่อ วิลเลี่ยม วอรร์ (William Warr) ที่ย้ายแคมป์จากฝั่งเคมบริดจ์มาฝั่งอ๊อกซ์ฟอร์ด ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นว่าการแข่งขันจะเป็นไปอย่างยุติธรรมหรือไม่เนื่องจากวิลเลี่ยมเคยฝึกฝนกับทีมเคมบริดจ์มาก่อนและอาจจะเปิดเผยเทคนิคให้คู่แข่งรู้ได้ เขาเคยลงแข่งกับทีมเคมบริดจ์มาก่อนในปี 2015 แต่ไม่ได้เข้าแข่งในปี 2016 เนื่องจากการย้ายมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ดีวิลเลี่ยมมีเหตุผลจำเป็นด้านการศึกษาที่ทำให้เขาเลือกที่จะย้ายจากเคมบริดจ์มาเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (เก่งไปไหมคุณ) แต่ด้วยความฝันที่อยากเป็นตัวแทนนักกีฬาพายเรือโอลิมปิกทีมชาติ เขาไม่สามารถที่จะเลิกพายเรือได้และตัดสินใจเข้าร่วมทีมพายเรืออ๊อกซ์ฟอร์ดเพื่อเผชิญหน้ากับเคมบริดจ์เพื่อนเก่าในที่สุด (ซึ่งในท้ายที่สุดทีมอ๊อกซ์ฟอร์ดก็เป็นผู้ชนะในปีนี้ซะด้วย)
แต่เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เพิ่งจะเคยเกิดขึ้นนะครับ วิลเลี่ยมเป็นคนที่สามแล้วที่ย้ายข้างจากทีมหนึ่งไปยังอีกทีมหนึ่งตลอดช่วงเวลา 182 ปีของประเพณีนี้ แต่เมื่อใดที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น คนๆ นั้นก็จะถูกเกลียดจากอีกฝั่งแบบไม่นับญาติกันเลยทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.bbc.co.uk/sport/rowing/39473528
http://www.bbc.co.uk/sport/rowing/39424011