ใกล้เวลามหาวิทยาลัยเปิดเทอม ใจของนักศึกษารวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งก็คงเกิดอาการตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าจะมีเหตุร้ายแรงอะไรเกิดขึ้นในช่วงรับน้องกันอีกหรือเปล่า ก็มีข่าวว่ากลุ่มสภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ก็ออกประกาศโครงการ ‘รับน้องสร้างสรรค์ ก้าวไปด้วยกัน KU76’ ที่มีไฮไลท์หลัก เป็นการรับน้องแบบ ‘ไม่มีตะโกน/กดดัน’
อะไรที่ทำให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่ SOTUS เข้มข้น ยกเลิกการว้ากแบบตะโกน? เพื่อคลายข้อฉงนนี้ The MATTER จึงขอนัดพูดคุยกับ อรรตชัย ประดับวงษ์ ประธานสภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่าทำไมพวกเขาจึงคิดเปลี่ยนแปลงกิจกรรมเหล่านี้ ?
The MATTER : ทำไมสภาผู้แทนนิสิต องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ถึงริเริ่มโครงการ รับน้องแบบไม่มีตะโกน ไม่กดดัน
เกษตรศาสตร์ถือว่าขึ้นชื่อจากการใช้ SOTUS โดยนำมาจากระบบของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ในยุคสมัยที่ยังเป็นโรงเรียนเตรียมเกษตรศาสตร์) ซึ่งการที่อยู่ในป่า การอยู่ในกฏระเบียบนั้นมีความสำคัญ แต่ในปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยไม่ได้มีแค่คณะเพียงแค่ เกษตร หรือ วนศาสตร์ แต่ยังมีคณะอื่นอย่าง สังคมศาสตร์, มนุษยศาสตร์เพิ่มเข้ามา เราเลยคิดว่าคงจะต้องมีการปรับรูปแบบรับร้องให้ทันสมัยมากขึ้น รวมถึงการรับน้องประชุมเชียร์แบบเดิมๆ (ที่ให้เหล่ารุ่นพี่สวมบทบาท) มันสามารถหาดูได้ในโลกออนไลน์หมดแล้วครับ ซึ่งน้องๆ ก็สามารถเข้าไปดูแล้วเห็นบทเห็นอะไรพวกนี้ได้หมดเลย
ซึ่งสภานิสิตฯ ก็เลยอยากจะปรับเปลี่ยนกิจกรรมให้น้องๆ สนใจอยากเข้ามากขึ้น โดยยังคงความเป็น SOTUS (Seniority, Order, Tradition, Unity, Spirit) ไว้ แต่เพียงนำวิธีนำแบบว้ากหรือประชุมเชียร์ออกไปเป็นรูปแบบอื่นๆ แทน
The MATTER : แล้วอย่างเคสของคณะวนศาสตร์ หรือคณะประมง จะยอมให้ยกเลิกไปด้วยไหม?
ปัญหาจากการรับน้องที่เกิดนั้นไม่ได้เกิดจากความผิดของคณะวนศาสตร์หรือประมง แต่เกิดจากการที่คณะอื่น ภาคอื่นๆ หรือ ชุมนุม ที่เอาระบบการรับน้องแบบนี้ไปใช้จนเกินไป เข้าใจแหละว่ารุ่นพี่พยายามสอดแทรกความมีระเบียบวินัย ความสามัคคี และความภาคภูมิใจในสถาบัน แต่ด้วยรูปแบบมันทำให้เกิดกระแสสังคมมากในปัจจุบัน
ถ้าพูดแบบหนักๆ เลย มหาวิทยาลัยควรเป็นสถานที่ที่ปัญญาชนมาศึกษา มาใช้ความรู้กัน รูปแบบการรับน้องก็ควรที่จะสอดรับกับสถานที่ที่ปลูกฝังเรื่องปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการใช้เหตุผลโต้แย้งกัน การซักถาม ไม่ใช่รูปแบบของการสยบยอมก้มหน้าอย่างเดียว ซึ่งบางทีก็รูปแบบเก่านั้นก็มีทั้งคนที่อยากให้มี และคนที่รำคาญเพราะไม่รู้ว่าทำไมต้องมีแบบนี้ด้วย
อันเนื่องจากว่าคนที่ชอบเห็นว่าคนที่ชอบผลลัพธ์ออกมาดี แต่ทางสภานิสิตคิดว่า ควรเปลี่ยนแปลงกิจกรรมไปเป็นอะไรที่สร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อที่น้องๆ จะไม่ต้องกดดันกับการรับน้องอีก
กรณีคณะที่ยังมีการต้องมีการเข้าห้องเชียร์อยู่อย่างเช่น คณะวนศาสตร์ ทางคณาจารย์รับรู้ รับทราบ และทำการควบคุม รวมถึงยังอนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าไปดูได้อย่างเปิดเผย แต่อย่างบางกลุ่มที่ไปจัดกันเอง มันเป็นไปในทางลับมาก ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ ถ้าเกิดมันมีอุบัติเหตุใดขึ้นมา
The MATTER : การที่สภาผู้แทนฯ ออกมาประกาศเช่นนี้ เพราะอดีตทางมหาวิทยาลัยเคยโดนมองว่ามีปัญหาหรือเปล่า ?
เบื้องต้นก่อนจะเปิดตัวภาพรณรงค์ออกมาได้มีการพูดคุยกับ ประธานกลุ่ม / นายกสโมฯ หลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้บริหาร เรื่องแนวทางการดำเนินกิจกรรมนิสิตในปีการศึกษาหน้า ซึ่งผู้บริหารได้มอบโจทย์ใหญ่กับเรา เพราะช่วงเปิดเทอมใหม่นี้มหาวิทยาลัยเกษตรฯมักจะถูกจับตามองจากภายนอกอย่างมาก ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น
เพื่อปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องตามยุคสมัย และทางสภาผู้แทนนิสิตในฐานะตัวแทนนิสิต ก็ได้มีการพูดคุยกับประธานชุมนุม ประธานเชียร์ รวมถึงนายกสโมสรนิสิตหลายๆ คณะเป็นการส่วนตัว เพื่อหาแนวทางการจัดกิจกรรมรับน้องที่มีความสร้างสรรค์มากขึ้น
ซึ่งคำว่า’สร้างสรรค์’ ณ ที่นี้หมายถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมใหม่ๆ แต่ยังคงความเป็นเกษตรศาสตร์เหมือนเดิม ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นด้วยและพร้อมปรับเปลี่ยน
The MATTER : หลังจากประกาศไปแล้ว มีรีแอคชั่น คนอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง
แน่นอนว่าทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีเสียงที่เห็นด้วยและเสียงที่ไม่เห็นด้วยเสมอ แต่ผมเชื่อว่าหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างที่อยู่ได้ล้วนมาจากการปรับตัว ทุกครั้งที่เริ่มปีการศึกษาใหม่ และต่อด้วยเทศกาลรับน้องที่ตามมาติดๆ สังเกตได้ว่าประเด็นเรื่องการรับน้องที่มีความรุนแรง โหดร้าย เป็นสิ่งที่กระแสสังคมจับตามองอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองเป็นห่วงมากที่สุด ในเรื่องสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของนิสิตปี 1
เพราะฉะนั้นมาตราการเรื่องการรับน้องสร้างสรรค์ จึงไม่ใช่แค่แนวทางใหม่แต่ยังเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่เคยเป็นประเด็นทางสังคมมาโดยตลอด แต่ทั้งนี้ระบบโซตัส (SOTUS) ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังคงมีอยู่อย่างแน่นอน แต่รูปแบบในการนำเสนอสารนี้ให้ไปถึงน้องๆ รุ่นใหม่ คงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ให้วิธีการรับน้องมีรูปแบบของความสร้างสรรค์มากขึ้น
ถึงอย่างไรก็ตามแต่ เกษตรศาสตร์ยังคงสอนให้มีความเคารพผู้อาวุโสกว่า มีความเคารพรุ่นพี่ศิษย์เก่า รุ่นพี่ศิษย์ปัจจุบันอยู่อย่างแน่นอน เช่นคำที่ว่า “มาก่อนเป็นพี่ มาทีหลังเป็นน้อง มาพร้อมกันเป็นเพื่อน” และการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่น้องๆ ย่อมมีค่ามากกว่าคำสอนที่มาในรูปแบบการบังคับ ข่มขู่ อีกทั้งการประพฤติปฏิบัติตัวที่ดีของรุ่นพี่ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ให้น้องๆ ศรัทธาปฏิบัติตามอยู่แล้วแต่ที่มีความเห็นออกมาคัดค้านอยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นความเห็นของส่วนบุคคลมากกว่าที่จะเป็นกลุ่มคนมากกว่าครับ
The MATTER : การรับน้องสร้างสรรค์ในมุมของคุณคืออะไร ?
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนว่านี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวที่เกิดจากการตกผลึกจากหลายๆ ด้านทั้งในส่วนของการเคยเป็นผู้เข้าร่วม การเคยเป็น staff การเคยเป็นผู้จัดกิจกรรมเอง ตลอดจนเคยเป็นผู้ตรวจสอบกิจกรรมดังกล่าว ประกอบกับการเป็นนักกิจกรรมที่มีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านบริบทของการทำกิจกรรมอย่างหลากหลายในมิติต่างๆ ตลอดกับการเคยทำหน้าที่เป็นสภาผู้แทนนิสิตจึงได้มีโอกาสเสวนา แลกเปลี่ยนในประเด็นเหล่านี้อยู่เสมอทั้งหากฝั่งที่เห็นด้วยและคัดค้าน จนกระทั้งจบออกมาทำงานจริง เรียนรู้ทักษะที่ได้รับจริงๆ ผ่านการทำงาน และมองย้อนพิจารณากลับไปในฐานะคนนอก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นมุมมองส่วนตัวที่สะท้อนมาจากหลากหลายบริบทที่ผ่านมาในหลายแง่มุมก่อนจะตกผลึกออกมา
และอีกส่วนที่ต้องขอขอบคุณเลยคือมีโอกาสได้อ่านบทความที่อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิด ได้โพสต์ไว้ถึงกรณีที่มีนิสิตภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร และธุรกิจการเกษตร ได้ริเริ่มนำแนวคิดรับน้องสร้างสรรค์ไปพัฒนาและใช้จริง จึงทำให้ผมฉุกคิดว่า บางทีการที่หลายคนที่อาจจะไม่สนับสนุนว้าก แต่เขาคิดต่อไม่ออกว่าต้องจัดรูปแบบไหนออกมาจึงจะเรียกว่ารับน้องสร้างสรรค์ และได้ผลตามที่ต้องการ หรือแม้แต่ฝ่ายที่สนับสนุนว้ากเองพอเขาตั้งคำถามว่าถ้าไม่ว้ากแล้วจะทำยังไง เราก็ได้แต่ตอบภาพรวมไป แต่ยังไม่เคยมีการตอบที่เป็นรูปธรรมมีระบบชัดเจน ซึ่งจริงๆ แล้วหลายพื้นที่ก็ได้นำไปใช้จริงแล้ว และผมเองกับเพื่อนๆ ก็มีโอกาสร่วมผลักดันผ่านกิจกรรมต่างๆ มาบ้างสมัยยังมีโอกาส ซึ่งมันได้ผล ผมจึงนำกลับมาคิดทบทวน และลองใช้กิจกรรมที่เราเคยทำกันจริงๆ กับแนวคิดที่ผมมีและคิดว่ามันน่าจะดี ประกอบกับองค์ความรู้ต่างๆ ที่ตกผลึก จนออกมาเป็น “รับน้องสร้างสรรค์ : รู้จัก รักกัน ปันสังคม”
เริ่มแรกกันเลยครับผมจะไม่ท้าวความใดๆ ถึงที่มาและจุดประสงค์ตั้งต้นอะไรทั้งสิ้น แต่กลับไปหยิบตัวขออนุมัติโครงการรับน้องมาดูกัน แล้วอ่านตรงวัตถุประสงค์โครงการครับ ไม่ว่ามันจะเขียนไว้กี่ข้อ สรุปรวมแล้วแก่นแท้มันมี 3 ข้อคือ รู้จัก-รักกัน-ปันสังคม นั่นคือการมุ่งให้น้องใหม่รู้จักกัน ทั้งกันเอง รุ่นพี่ คณะ และมหาวิทยาลัย ปรับตัวได้ สร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียน บลาๆๆๆ ว่ากันไป และเมื่อรู้จักกันแล้วก็ควรรักกัน เสริมสร้างความสามัคคี ความภาคภูมิใจอะไรก็ว่ากันไป และที่ห้อยท้ายไว้เสมอคือ มุ่งเสริมสร้างจิตอาสา ความเสียสละ และการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม กลับไปอ่านได้เลยครับ ไม่ว่าเขียนไว้กี่ข้อ ก็ไม่หลุด 3 ข้อนี้
ซึ่งที่ผ่านมานั้นเราใช้ SOTUS เป็นแกนหลักในการทำให้น้องได้ 3 ข้อนั้น แต่จริงๆ แล้ว SOTUS ก็เป็นเพียงชุดความคิดชุดหนึ่งที่ถูกจับไปใส่น้องเพื่อหวังให้น้องทุกคนมีครบทั้ง 5 ตัวอักษรแล้วจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์โครงการที่ตั้งไว้ตอนต้น แต่ที่ผ่านมานั้น การถ่ายทอด SOTUS. นั้นมักทำผ่านวิธีการที่เรียกว่า ‘ว้าก’ จนนานวันเข้ามันกลายเป็นความเข้าใจผิดๆ ที่ว่า SOTUS = ว้าก ทั้งที่ความจริงมันไม่ใช่ ว้ากเป็นเป็นวิธีการหนึ่งที่กำลังเสื่อมความนิยมลงในทุกปี และตราบใดที่คุณยังเอามันไปผูกกับ SOTUS นั่นจะยิ่งทำให้ความหมายที่แฝงอยู่ในนั้นซึ่งเป็นสิ่งดีงาม จะถูกบั่นทอนให้เสื่อมสลายหายไปด้วย ฉะนั้นพอได้แล้วครับกับการดื้อดึง และโหนกับสิ่งเก่าๆ ไม่รับการเปลี่ยนแปลง SOTUS ยังคงถูกถ่ายทอดต่อไปได้โดยไม่มีว้ากครับ
นี่มันเด็กยุค 2016 นะ มันถามทุกเรื่อง คือให้มันมาทำในสิ่งที่ตอบมันไม่ได้ว่าทำไปทำไม ได้ประโยชน์อะไร มันเลยไม่ success ไงครับ
The MATTER : แล้วถ้าไม่มีการว้ากในการรับน้อง จะแบ่งกิจกรรมเป็นแบบไหน มีขั้นตอนอะไรบ้างหรือเปล่า ?
อย่างแรกครับทำไปทีละขั้น ขั้นแรกคือรู้จัก ทำไงให้มันรู้จักกันนะ เอาจริงๆ ครับกิจกรรมแรกพบที่จัดกันตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ระดับคณะ จนถึงระดับภาควิชา โดยใช้กิจกรรมสันทนาการ การละลายพฤติกรรม เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ และการเล่นเกมที่ลดช่องว่างระหว่างบุคคลลง แค่นี้ก็ทำให้น้องๆ และพี่ๆ รู้จักกันแล้วในระดับนึงเลยละครับ และนี่คือข้อเท็จจริง หลายคนได้กลุ่มเพื่อนตั้งแต่วันแรกพบแล้ว และพบกันตั้ง 3-4 ครั้งก่อนเปิดเทอม เขาคุยไลน์กันจนสนิทแล้วครับ เพราะฉะนั้นการรู้จัก จึงต้องใช้กิจกรรมละลายพฤติกรรมกรรมเข้ามาใช้ เพราะเป้าหมายเราคือ รู้จักกัน รวมถึงพี่น้อง สถานที่ และพอยท์สำคัญๆ ของมหาวิทยาลัยครับ ส่วนนี้ควรเสร็จสิ้นตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมครับ
และเมื่อเข้าสู่ช่วงที่ 2 นั่นคือ รักกัน ทำยังไงให้คนที่รู้จักกันแล้วรักกัน นับถือกัน เคารพกัน ภาคภูมิใจไปด้วยกัน ที่ผ่านมาเราทุ่มเทเวลาเป็นเดือนครับไปกับการว้ากและประชุมเชียร์ สร้างดราม่า แล้วอนุมานเอาเองว่าการที่มีคนอาสาออกไปรับโทษแทนเพื่อนนั้นคือรักกัน การที่ยืนยันทำไรลำบากไปด้วยกันนั้นคือสามัคคีกัน การที่ร้องเพลงมหาลัยเสียงดังๆ พร้อมๆ กันนั้นคือสิ่งที่ควรภาคภูมิใจ (มองบน)
สิ่งที่ผมจะนำเสนอคือการสร้างความรักกันผ่านการทำงานร่วมกัน ซึ่งถูกใช้จริงและการันตีรับรองผลมาแล้วสำหรับนักกิจกรรมทุกคน เพราะการทำกิจกรรมมันจะเกิดการพูดคุย นัดเจอ เรียนรู้ และภูมิใจ มากกว่าการนั่งก้มหน้าโดนด่าไปพร้อมกันแน่นอนครับ จริงๆตรงนี้มีความพยายามทำอยู่แล้วแต่อาจจะยังไม่สำเร็จเช่นการมอบหมายให้น้องไปทำสัญลักษณ์รุ่น ไปทำบอร์ดรายชื่อรุ่น ซึ่งมันไม่ make sense ไงครับ นี่มันเด็กยุค 2016 นะ มันถามทุกเรื่อง คือให้มันมาทำในสิ่งที่ตอบมันไม่ได้ว่าทำไปทำไม ได้ประโยชน์อะไร มันเลยไม่ success ไงครับ ลองเปลี่ยนใหม่ลองวางแผนแต่ต้นเลย แจ้งน้องแต่แรกเลย ว่าน้องจะต้องจัดกิจกรรมเองในตลอดปี 1 อะไรบ้าง ให้เขาทำเองเลยนะตั้งแต่แรกจนจบ พี่ๆ แค่เข้าไปช่วย ไปอยู่ ไปเฝ้าอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ตั้งแต่ต้นจนจบ
เช่นเราอาจเริ่มกิจกรรมที่หนึ่งโดยการ ให้น้องจัดโครงการอาสาในมหา’ลัยสักจุด โดยใช้พื้นที่ตรงนั้นแหละแทนสัญลักษณ์รุ่น น้องไปเลือกมาเลยจะเอาตรงไหน เดี๋ยวพี่ช่วยขออนุญาตให้ น้องไปวางแผนแบ่งงานกันเองเลยนะ หาเงินเอง ทำป้ายชื่อ ซื้อของ นัดวัน เอาเลยทำเอาเลย สมมุติน้องเลือกทางเดินบาร์ใหม่น้องจะทำความสะอาด น้องวางแผนแบ่งงานหาเงิน ช่วยกันทำตั้งแต่ขัด ทาสี และเก็บงาน ผมว่าแรงจูงใจมันน่าทำกว่าให้ไปทำสัญลักษณ์รุ่นมาแล้วให้พี่ว้ากโยนทิ้งเยอะเลยครับ แล้วมันจะกลายเป็นสัญลักษณ์รุ่นในความทรงจำน้องต้องเดินผ่านมันทุกวันก็จะนึกถึง แล้วจะช่วยดูแลไปในตัวด้วย และมันต้องใช้คนมากมันเข้าถึงทุกคน ทาสีเสาต้นเดียวกันมันก็คุยกันสนุกจนสนิทแล้วครับ
กิจกรรมแรกผ่านไป ช่วงเวลามันก็จะต่อด้วยงานรับปริญญาอยู่แล้ว ตรงนี้เต็มที่เลยให้น้องจัดซุ้ม ให้น้องออกแบบ วางแผนเอง พี่ก็ช่วย ก็เฝ้าไป หาข้าวหาปลาให้กิน น้องนั่งวาดคัตเอาท์ด้วยกัน แผ่นนึง 4-5 คน มันนั่งวาดกันทั้งวันมันสนิทกันโดยไม่รู้ตัวเลยล่ะครับ พวกน้องผู้ชายสายโฉดหน่อยก็รับหน้าที่เข้าเวรเฝ้าซุ้มตอนกลางคืนไป คุยกันทั้งคืนไม่สนิทกันก็แย่ล่ะ
แล้วทิ้งท้ายกันด้วยกิจกรรมแข่งขันกีฬา หรืออะไรสักอย่างที่มันต้องมีการแข่งขัน อาจเป็นงาน Day&Night ของคณะ เพราะสุดท้ายเมื่อมีการแข่งขัน มันจะเกิดความอยากเอาชนะกันโดยธรรมชาติ แบ่งเป็นสาขา แบ่งเป็นหมู่เรียน ไรก็ว่าไป แข่งกีฬา แข่งพาเหรด โดยพาเหรดเนี่ยต้องเอาสาระการเรียนที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์และนำเสนอ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ความอยากเอาชนะจะมาทันที พี่ก็ต้องบิ้วให้สุดๆ นะ ตั้งแต่วางแผน ออกแบบ จัดขบวน ทำอุปกรณ์ จนไปแข่งขันกัน น้องทำพี่ช่วยมันส์กันไป นักกีฬาชอบกีฬาก็ลงแข่งเพื่อนก็เชียร์กันไป สันทนาการก็เต้นไปตอบโจทย์น้องๆ ให้ทุกกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมส่วนนี้เคยทดลองทำมาแล้วตอนผมเป็นคณะทำงานเป็นรองประธานชุมนุม เพื่อนผมเป็นประธานยังภูมิใจไม่หายเลย เพราะมันสำเร็จจริงๆ และปิดท้ายด้วยดนตรี กินข้าวกัน มันละลายพฤติกรรมและสนิทกันแน่นอน พี่ๆ ก็จะเป็นที่เคารพของน้องด้วยการกระทำที่น้องเห็นไม่ใช่เพราะคำพูดที่พี่บอกให้เป็น
เนี่ยเอาสัก 3 กิจกรรมนะครับในช่วงก่อนสอบปลายภาค มันก็สนิทกันสุดๆ ล่ะ ได้เรียนรู้กัน รักกันล่ะครับ โดยไม่ต้องว้ากเลย เพราะการสร้างความสัมพันธ์มันต้องไม่ฝืนธรรมชาติครับ พี่ที่ลงไปช่วยน้อง อยู่กับน้องในทุกกิจกรรมคอยสอน คอยแนะนำ หยิบจับช่วยเหลือ น้องมันรักเองโดยไม่ต้องบังคับ ‘S’ ตัวแรกปรากฎออกมาโดยไม่ต้องตะคอกครับ ระหว่างที่ทำกิจกรรมต่างๆพี่ก็คอยแนะคอยบอกคอยตอบคำถาม อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ทำไม เพราะอะไร ควรทำแบบไหนแทน ให้เป็นไปตามระเบียบถูกต้อง ‘O’ ก็แทรกซึมผ่านไปด้วยการกระทำที่เป็นตัวอย่างของพี่ๆ เอง พร้อมๆ ไปกับ ‘T’ ที่ถูกถ่ายทอนบอกต่อในแต่ละกิจกรรม เราต้องทำแบบนี้ทำไม เรามีงานนี้เพราะอะไร ทำไมต้องทำซุ้มรับปริญาว่ากัน และแน่นอนครับ ‘U’ มาโดยไม่ต้องบังคับเลย คนที่มันฝ่าฟันทำงานกันมา มันรักกันสามัคคีกันโดยไม่ต้องกอดคอลุกนั้งตามจำนวนรุ่นครับ กิจกรรมอาสาแรกที่แทนสัญลักษณ์รุ่นมันก็เกิดประโยชน์จริง เกิดความภาคภูมิใจจริงๆ ไม่ใช่แค่งานประดิษฐ์ที่ไม่เกิดประโยชน์ สุดท้ายมันจะตอบโจทย์รักกันด้วยความจริงไม่ใช่ละครครับ และมันจะถาวรกว่าแน่นอน
มีกิจกรรมใดในโลกบ้างที่คนมาร่วมครบ 100 % ผมตอบไม่ได้หรอกครับว่าอะไรคือหลักประกันว่าน้องจะมา เพราะผมเชื่อว่าร้องมีสิทธิที่จะเลือกเข้าร่วมและตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำ เราเพียงแต่ทำมันให้ดีออกแบบให้น่าสนใจ และตอบคำถามน้องได้ในทุกคำถามว่าทำไปทำไม ไม่ใช่ตอบแค่ว่า “ก็เค้าทำกันมาทุกปี”
ช่วงสุดท้าย คือเมื่อคุณรู้จักกันแล้ว รักกันแล้ว เป็นพรรคพวกกันแล้วคุณก็ควรออกไปสร้างประโยชน์ให้สังคมครับ จัดค่ายเลย ก่อนจบปี 1 ไปทำค่ายอาสาขนาดเล็กสักค่าย จะกี่วันก็ตามศักยภาพของกิจกรรม แน่นอนครับให้น้องเป็นเจ้าภาพเช่นเคย พี่เป็นพี่เลี้ยง แล้วคุณคอยดู คนที่ไปอยู่ค่ายด้วยกันมันรักกัน สนิทใจกัน ยิ่งกว่าไหนๆ แถมเกิดประโยชน์ให้สังคมจริงๆ ‘S’ ตัวสุดท้ายก็ปรากฏอย่างชัดเจน แต่เป็น S ของทั้งรุ่น ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งที่ขยันออกไปยืนหน้าห้องเท่านั้น
สุดท้ายน้องได้ครบครับ SOTUS ทั้ง 5 ตัว ได้จากการสัมผัส ได้จากการปฏิบัติจริง ได้จากการเรียนรู้มันจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่การท่องจำในห้องเชียร์ อยากให้น้องอดทนต่อแรงกดดันใช่มั้ยครับกลัวไปทำงานแล้วจะทำไม่ไหว นี่ไงครับทุกกิจกรรมผ่านทั้งความกดดันและอดทนทั้งสิ้น และเป็นสถานการณ์จริงด้วย เพราะชีวิตจริงคุณจะกดดันต่องานที่มันจะไม่สำเร็จและเสร็จด้วยการแก้ไขปัญหา มากกว่าการกดดันเพราะก้มหน้าโดนตะคอกด่าแล้วแก้ด้วยกันท่องชื่อเจ้าของกับคำขวัญบริษัทนะครับ และที่สำคัญในทุกกระบวนการน้องได้คิด ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ได้ฝึกฝนการประสานงาน ได้วางแผนแบ่งงาน ได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำและผู้ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละครับที่มันจะกลายเป็นคุณลักษณะของบัณฑิตที่สังคมต้องการ
ท้ายที่สุดทุกคนจะมีคำถามว่าแล้วจะมั่นใจได้ไงว่าถ้าไม่ว้าก ไม่บังคับ น้องมันจะมา น้องมันจะร่วม ถ้ามันไม่มาล่ะจะทำไง งั้นผมถามกลับว่าไอ้ที่มาร่วมว้ากกันที่ว่าเยอะเนี่ย พอขึ้นเป็นพี่ปีทำงาน เหลือช่วยกันอยู่กี่คน ถ้ามันสำเร็จจริง เพื่อนคุณที่ฝ่าฟันกันมาหายไปไหนหมด? และมีกิจกรรมใดในโลกบ้างที่คนมาร่วมครบ 100 % ผมตอบไม่ได้หรอกครับว่าอะไรคือหลักประกันว่าน้องจะมา เพราะผมเชื่อว่าร้องมีสิทธิที่จะเลือกเข้าร่วมและตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำ เราเพียงแต่ทำมันให้ดีออกแบบให้น่าสนใจ และตอบคำถามน้องได้ในทุกคำถามว่าทำไปทำไม ไม่ใช่ตอบแค่ว่า “ก็เค้าทำกันมาทุกปี” และผลของสิ่งที่ทำมันเห็นผลจริง แค่นี้ก็เต็มที่แล้วที่จะชักชวนน้องมาร่วม และที่สำคัญ ผลสำเร็จของกิจกรรมเราไม่วัดกันที่จำนวน Inputs ครับ แต่เราวัดกันที่ Outcomes นี่แหละครับ รับน้องสร้างสรรค์
The MATTER : เราเห็นภาพแล้วว่าสามารถจัดกิจกรรมให้ครบองก์ SOTUS ได้โดยไม่มีการว้าก แต่ถ้ามีคนพบ การว้าก การบังคับ จะมีการจัดการดูแลอย่างไร
ไม่สามารถตอบได้ว่า การรับน้องประชุมเชียร์แบบเดิมจะหมดไปอย่าง 100% ซึ่งหลายๆคณะยังคงความเป็นเอกลักษณ์และประเพณีของตนเองสูง แต่เชื่อว่าในปีนี้จะมีการลดความเข้มข้นของกิจกรรมลงอย่างแน่นอน ทางสภาผู้แทนนิสิตมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในกรณี กลุ่ม ชุมนุม หรือสโมสรนิสิตคณะใด จัดทำกิจกรรมโดยเป็นการลักลอบจัดกิจกรรมรับน้องนอกสถานที่ ซึ่งผิดกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยและอยู่นอกเหนือการควบคุม ทั้งนี้ประธานกลุ่ม ประธานชุมนุม หรือนายกสโมสรนิสิต ต้องพร้อมรับผลของการกระทำที่เกิดขึ้นและระมัดระวังในการจัดกิจกรรมทุกกิจกรรม มิให้เกิดการสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจนนำมาซึ่งความสูญเสีย
The MATTER : คิดว่าจะมีสถาบันอื่นเปลี่ยนแปลงตามหรือไม่ และคุณคิดอย่างไรกับสถาบันที่เห็นว่า Sotus มีความจำเป็น
ที่อื่นจะปรับเปลี่ยนหรือไม่ คงต้องดูรูปแบบการสนับสนุนของทางสถาบันนั้นๆ ว่าพร้อมและยินดีจะปรับเปลี่ยนสู่ยุคใหม่หรือไม่
The MATTER : ได้ยินจากเด็กหลายๆ คน ที่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัยว่า มี SOTUS ก็ดีเหมือนกัน คุณมีอะไรอยากจะบอกน้องเหล่านั้นบ้าง ?
บอกไม่ถูกเลยครับ พอดีคนชอบเหมารวมว่า รับน้อง = SOTUS = ว้าก ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นเดียวกัน การรับน้องแบบประชุมเชียร์และว้ากเนี่ย เราอยากจะปรับเปลี่ยนไว้แล้ว ไม่ต้องเสียดายเรื่องว้ากครับ เพราะกิจกรรมที่จะมาแทนย่อมดีกว่า ถ้าน้องสนใจหรือชื่นชอบระบบการว้ากแบบนั้น การไปเกณฑ์ทหารน่าจะได้อรรถรสใกล้เคียงกัน
The MATTER : คิดว่าสุดท้ายแล้วการรับน้องโหดจะมีการ Roll Back แบบที่ห้าง Lotus ทำหรือเปล่า?
(หัวเราะ) คิดว่ายังคงตอบไม่ได้ครับ ก็คงจะต้องดูต่อไปครับ