‘พลอย ศรนรินทร์’ เข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก จากละครแนวจักรๆ วงศ์ๆ ใครเคยดู ‘พระทิณวงศ์’ อาจคุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่บ้าง
พลอยกลับมาฉายแววและเริ่มเป็นที่รู้จักจากหนังเรื่อง ‘อาปัติ’ ด้วยบทบาทที่เธอได้รับในช่วงหลายปีที่ผ่านมามักเป็นตัวละครในหนังระทึกขวัญ แม้เธอจะบอกแม่อยู่เสมอๆ ว่า แม่ๆ อย่ารับงานหนังผีนะ แต่ทั้ง ‘อาปัติ’ ‘สยามสแควร์’ ‘ผีโทรศัพท์ ’และล่าสุดในวัย 17 ปี กับหนังเรื่อง ‘สิงสู่’ ของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ก็ทำให้ใครหลายคนอดไม่ได้ที่จะเรียกเธอว่า ‘ราชินีหนังผี’ เธอรู้สึกยังไงเมื่อได้ฉายานี้ และอะไรคือความสนุกสนานในงานแสดง
ดับไฟ จุดเทียน แล้วไปเรียนการแสดงแบบพลอยกัน
พลอยเริ่มต้นชีวิตการแสดงได้ยังไง
ไม่ได้คิดเลยว่าเราจะมาเป็นนักแสดง เพราะตอนเด็กๆ พลอยเป็นคนขี้อายมาก คุณแม่เห็นว่าเราเป็นเด็กขี้อายเกินไป แค่คนมองเราก็ร้องไห้แล้ว แม่เลยให้ลองไปเป็นเอ็กซ์ตร้าดู ให้เหมือนว่าเราจะได้ไปเล่นกับเพื่อนๆ เคยไปประกวดเดินแบบด้วย เป็นเวทีแรกเลย ตอนนั้นก็ยังขี้อายเหมือนกัน สรุปว่าวันนั้นได้ที่หนึ่ง ทีนี้มีแมวมองมาเห็น เขาพาไปแคสต์ละคร ได้เล่นเรื่องแรกคือเรื่อง ‘พระทิณวงศ์’ เล่นกับ CG ปราบยักษ์ แล้วโชคดีมากที่พี่ผู้กำกับค่อนข้างเข้าใจเด็ก มีอะไรก็คอยสอนเรา พลอยก็เริ่มได้ประสบการณ์มาจากตรงนั้น
ได้ยินว่าพลอยไม่เคยเรียนการแสดงมาก่อน
ส่วนตัวพลอยไม่ชอบเรียนการแสดงมากๆ แต่จะได้ทักษะมาจากเวิร์คช้อป จะมีครูมาสอนพวกเราอยู่แล้ว ถ้าให้ไปเลือกเรียนเองก็คงไม่ค่อยชอบ รู้สึกว่ามันเอามาใช้กับเรายาก พอไปอยู่หน้ากองเราต้องอยู่กับความเชื่อของเรามากกว่า ว่าเราจะมีความเชื่อถึงตัวละครนั้นมากน้อยแค่ไหน มันถึงจะทำให้พลอยแสดงได้ ถ้าเกิดไม่เชื่อก็แสดงไม่ได้
ทุกตัวละครที่ได้รับ ไม่มีตัวไหนที่ร่าเริงเหมือนเราเลย พลอยชอบได้รับบทนิ่งๆ ขรึมๆ เป็นคนที่ยิ้มแล้วดูเย็นชา ทั้งๆ ที่ตัวจริงไม่เป็นอย่างนั้นเลย ผู้กำกับคงเห็นว่าเราสามารถเล่นบทบาทนี้ๆ ได้ ทำให้พลอยค่อนข้างสนุกกับการได้เล่นเป็นคนอื่น แล้วก็รักที่จะเปลี่ยนคาแรคเตอร์ไปเรื่อยๆ
แล้วเวลารับบทเป็นใครสักคน เราสร้างโลกเหล่านั้นขึ้นมายังไงบ้าง
เวลาพลอยแสดง รู้สึกอะไรก็แสดงไปตามที่ตัวเองเข้าใจ ไม่รู้ว่าหนูสร้างอีกโลกหนึ่งขึ้นมาตอนไหน แต่พอไปอยู่หน้ากล้อง บรรยากาศมันช่วยเรามากๆ ยิ่งถ้าเจอนักแสดงที่คอยรับส่งบทกับเราได้ มันยิ่งทำให้เราแสดงได้ลื่นมากขึ้น ถ้าเกิดเราไม่เชื่อในตัวละครนั้นๆ คนดูจะดูออกเลย เราก็จะรู้สึกเฟล เลยพยายามเข้าถึงตัวละครให้มากที่สุด พยายามอ่านบทซ้ำๆ ไปดูหนังแนวนั้นๆ เพื่อเป็นแนวทางในการแสดง
อย่างในหนังเรื่อง ‘15+ ไอคิวกระฉูด’ จะมีซีนท้อง แล้วเราไม่เคยผ่านประสบการณ์แบบนั้นมาก่อน วิธีการจัดการก็แค่ทำยังไงก็ได้ให้เราเชื่อ ถึงไม่เชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยเชื่อมันสัก 10 เปอร์เซ็นต์ 50 เปอร์เซ็นต์ก็ยังดี เพราะถ้ายิ่งกดดันตัวเอง ยิ่งทำไม่ได้ ซีนร้องไห้ก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกให้ตัวเองร้องไห้ มันร้องไม่ออกแน่นอน สิ่งที่เราต้องทำคือทำให้ทุกคนเชื่อว่าเรารู้สึกอะไรอยู่
การเป็น ‘คนอื่น’ โดยเฉพาะตัวละครที่เศร้า หรือมีปมเยอะๆ ทำให้เรารู้สึกแย่ตามมั้ย
แต่ละเรื่องที่แสดงอยู่ตอนนี้ มันมีความ อยู่ดีๆ ก็แฮปปี้ อยู่ดีๆ ก็เศร้า แต่ละตัวละครก็แตกต่างกัน ถ้าตัวละครเหล่านี้เป็นคนในชีวิตจริงเราก็รู้สึกว่าค่อนข้างอารมณ์แปรปรวนเหมือนกัน อย่างนั่งๆ อยู่ก็สามารถเศร้าได้เลย อาจเป็นเพราะว่าเราเชื่อมากๆ คนชอบถามว่าพลอยร้องไห้ได้ยังไง ร้องไห้เร็วมาก เวลาเราแสดงพอสั่งแอคชั่นปุ๊บ เราก็เศร้า มันกลายเป็นอัตโนมัติไปแล้ว แต่ถ้าถามว่าทำให้แย่ตามในชีวิตจริงไหม จะบอกว่าพลอยเป็นคนตัดเร็วมาก ถ้าอยู่ในซีนที่มันแย่มากๆ เราก็รู้สึกแย่แค่ตอนที่แสดง แต่พอคัทปุ๊บก็จะกลับมาเป็นตัวพลอยเลย โชคดีมาก
เล่นหนังผีในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็หลายเรื่อง รู้สึกยังไงบ้างที่มีคนเรียกว่า ‘ราชินีหนังผี’
ได้ยินคำนี้ตอนแรกก็ตกใจ เพราะพลอยไม่ได้แสดงหนังผีเยอะขนาดนั้น แต่คนจำตอนเล่นหนังผีได้มากกว่า เรื่องที่เป็นคนก็เยอะเหมือนกัน (หัวเราะ) อาจเพราะแสดงหนังผีติดๆ กันด้วย ตอนนี้ทุกคนเลยทักบ่อยมาก ว่าชอบเหรอ แต่จริงๆแล้วเรากลัวมาก หนังผีมันเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับพลอย พลอยว่าการแอคติ้งให้ดูรู้สึกกลัวมันยากมาก สมมติถ้าเราไม่กลัวผีหรือเราไม่เคยเห็นผีจริงๆ ความกลัวมันก็จะดูเฟค ต้องทำยังไงก็ได้ให้รู้สึกกลัว และเชื่อว่านี่คือผีจริงๆ
จริงไหมที่เคยบอกแม่ว่าอย่ารับงานที่เป็นหนังผี
พลอยเคยบอกแม่ตั้งแต่เด็กแล้วว่า อย่ารับงานที่เป็นหนังผีนะ ไม่เอาจริงๆ ถ้าหนูไปหนูต้องเจอผีแน่ๆ แต่หลายๆ เรื่องที่ผ่านมาก็ไม่มีนะ ไม่เจออะไร ก่อนหน้านี้หนูเข้าใจว่าการแสดงหนังผีต้องได้เจอผีแน่นอน อย่าง ‘อาปัติ’ ก็ไปถ่ายในสถานที่จริงหมดเลย ป่าช้าจริงๆ ล่าสุด ‘สิงสู่’ ถึงเราจะอยู่แต่ในบ้าน แต่ด้วยบรรยากาศทุกอย่างมันดูน่ากลัวมาก ทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องมี แต่ก็ดีแล้วที่ไม่เจอ และสุดท้าย เรารู้สึกว่าการแสดงหนังผีมันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด
ถ้ามีโอกาส พลอยอยากทำงานแสดงต่อไปเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่ได้แสดงก็คิดภาพตัวเองไม่ออกเลยว่าสามารถทำอะไรได้อีก เพราะสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือการแสดง
พูดถึง ‘สิงสู่’ หนังผีเรื่องล่าสุดหน่อย
ในเรื่องพอมันเป็นผีที่ต้องเข้ามาสิงในร่างคนแล้ว เราต้องแสดงยังไงก็ได้ให้ทุกคนรู้สึกว่าเราเป็นผี ตั้งแต่แสดงมา เรื่องนี้ยากและท้าทายมากที่สุด บอกแม่ว่าหนูทำไม่ได้แน่เลย มันยากเกินความสามารถ เรารู้ลิมิตตัวเองว่าสามารถแสดงได้มากที่สุดแค่ไหน พลอยไม่เข้าใจว่าอาการผีเข้าต้องเป็นยังไง เคยเห็นคนที่แสดงว่าผีเข้าเขาใช้พลังค่อนข้างเยอะ เป็นผีเรื่องนี้ต้องไม่นั่งนิ่งๆ มีทั้งตัวสั่น ท่าทางต้องออก
การแต่งหน้าเอฟเฟกต์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดูน่ากลัวมากขึ้น แต่เรื่องนี้แทบไม่แต่งอะไรเลย ใส่คอนแทคเลนส์ แล้วทำให้ตาคล้ำๆ เขาอยากให้ทุกคนที่แสดงเป็นผี เน้นการแสดงมากกว่าการแต่งหน้าเอฟเฟกต์ นักแสดงเองก็ต้องคุยกันเยอะ บางทีมันสิงคนนี้ แล้วก็ไปสิงอีกคนหนึ่ง เราก็ต้องแสดงให้คล้ายๆ กัน
ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หนูตัวช้ำมาก เป็นผีที่บู๊มาก ตัวช้ำไปหมด มันมีบางซีนที่เราเล่นซ้ำไปเรื่อยๆ ต้องกระตุกหลายๆ รอบ บางทีก็ต้องกรี๊ดตลอด ใช้พลังเยอะมาก เป็นการแสดงที่รู้สึกว่าหนักมาก เวียนหัวไปหมดจนบางครั้งก็เกือบจะอ้วกเลย
อยากให้ผีแบบไหนมาสิงในตัวเรา
ผีแคสเปอร์ เป็นผีน่ารักๆ ไม่อยากให้ทุกคนกลัว
ถ้าต้องเลือก จะเป็นผีแบบที่คนมองเห็น หรือ ไม่มีใครมองไม่เห็น
อยากให้เห็น อยากแกล้งคนอื่น โอ๊ย นึกภาพตัวเองเป็นผีไม่ออก แต่ไม่เห็นก็ดี มาแต่เสียงดีกว่า ทุกคนจะได้ไม่ต้องกลัวเรา (ทำหน้าคิด) ขึ้นชื่อว่าเป็นผีทุกคนก็ต้องกลัวอยู่แล้วแหละ ถ้าเห็นเป็นตัวเป็นตนก็น่ากลัว แต่มาเป็นเสียงก็น่ากลัวแหละ แต่เป็นเสียงทุกคนอาจจะคิดว่าหูฝาดก็ได้ เพราะมันไม่เห็นไง
แล้วคิดว่าการที่เรามีตัวตนอยู่แต่กลับไม่มีใครมองเห็น มันจะเป็นยังไง
การมีตัวตนอยู่แต่คนอื่นไม่เห็น ยังไงก็ต้องรู้สึกแย่อยู่แล้ว คิดว่าทุกคนก็ต้องรู้สึกเศร้า มันเป็นเรื่องเซนซิทีฟ เขาอาจจะมีเหตุผลอะไรบางอย่าง ถ้าคนไม่เห็นค่าจริงๆ เราก็คงเงียบ
แต่พลอยว่าพลอยเป็นคนที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ดีระดับหนึ่งเลยนะ ถึงไม่มีคนอื่นเห็นก็ไม่เป็นไร เราเห็นค่าในตัวเอง ครอบครัวเรา เพื่อนเรา คนที่เห็นค่าเรา เรามองคนเหล่านั้นมากกว่า เราไม่สามารถไปบอกให้ใครเห็นค่าของเราได้