กลับมาอีกครั้งของ Doctor Strange ที่คราวนี้เข้าโรงพร้อมๆ กับการฉายวันสุดท้ายของซีรีส์ Moon Knight สำหรับ Doctor Strange in the Multiverse of Madness ก็ถือว่าเป็นหนังที่ดูสนุก ยิ่งมาคู่กับ Moon Knight ที่มาร์เวลพาเราโยงไปกับตำนานเก่าแก่เช่นปกรณัมอียิปต์ ส่วน Doctor Strange ก็กลายเป็นสงครามระหว่างพ่อมดและแม่มดจากสองสำนัก
ทีนี้ สำหรับหนังซูเปอร์ฮีโร่ สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นเสมอคือประเด็นเรื่องความชอบธรรม—และความเป็นธรรม—อันเป็นเส้นแบ่งสำคัญที่จะขีดเส้นการกระทำของฝ่ายดีและฝ่ายร้าย ในการลงมือทำสิ่งต่างๆ ก่อนจะได้รับการลงโทษต่อไป การปะทะระหว่างวานดาและสตีเฟน สเตรนจ์ ใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness นั้น นอกจากทั้งสองจะต่อสู้กันด้วยพลังแล้ว ทั้งคู่ยังพยายามฟาดฟันกันด้วยคำพูดและความคิด ในการช่วงชิงและยืนยันความถูกต้องในการกระทำของตน ในมูนไนต์เองก็เช่นกัน ที่เทพฝ่ายพระเอกและฝ่ายร้ายนั้น มีหลักการในการรักษาสมดุลของโลกและกำจัดความชั่วต่างกัน
ในแง่นี้ แกนที่น่าสนใจของ Doctor Strange ภาคล่าสุดจึงอยู่ที่ความพยายามในการอธิบายและให้เหตุผลตัวละครที่ทรงอำนาจมากและเคยเป็นตัวละครฝ่ายฮีโร่เช่นวานดานั้น ทำไมจึงได้แปรเปลี่ยนไป ซึ่งบางส่วนก็จะอ้างอิงจากเนื้อเรื่องภาคก่อนๆ ดังนั้น ประเด็นเรื่องการให้ความชอบธรรม และการตัดสินชะตากรรมของเรื่องจึงสัมพันธ์กับแนวคิดที่เรียกว่า ความเป็นธรรมเชิงวรรณศิลป์ หรือ poetic justice โดยที่การต่อสู้ของพ่อมดหมอแปลกและแม่มดวานดา ด้วยเงื่อนไขของวานดาที่ว่าด้วยความเป็นแม่ รวมถึงปมของสตีเฟนเอง ก็เลยทำให้ปมขัดแย้งในครั้งนี้มีความน่าสนใจ และดูจะยังสัมพันธ์กับเพศสถานะดังชื่อหนังสือสำคัญคือ Gender Trouble ของ จูดิธ บัตเลอร์ โดยนอกจากความสัมพันธ์ที่สัมพันธ์กับเพศสถานะแล้ว สิ่งที่กำลังถูกพูดถึงคือผลของการเป็นฮีโร่ และความเป็นมนุษย์ที่ไม่ผุดผ่องในการกู้โลกนั้น
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญในเรื่อง Doctor Strange in the Multiverse of Madness
ความชอบธรรมของการฆ่า และความเป็นธรรมเชิงวรรณศิลป์
โลกวรรณกรรม—รวมถึงหนังและซีรีส์—ถือว่าเป็นโลกอุดมคติอย่างหนึ่ง โลกของเรื่องแต่งเป็นโลกที่มีความสมบูรณ์กว่าโลกแห่งความจริง โดยเฉพาะการมีความเป็นธรรมบางอย่างที่เราคาดหวังไว้ ความเป็นธรรมเชิงวรรณศิลป์คือการที่ตัวเรื่องมีการให้เหตุผล และดำเนินเรื่องให้คุณให้โทษไปตามความถูกต้องเหมาะสมตามตรรกะและเรื่องราวที่เรื่องวางไว้
แกนเรื่องและความขัดแย้งของ Doctor Strange in the Multiverse of Madness จึงสัมพันธ์กับการฆ่า สิทธิในการฆ่า ที่ทั้งวานดาและ ดร. สเตรนจ์ ช่วงหนึ่งมีพันธะที่จะเลือกว่าจะต้องมือสังหาร อเมริกา ชาเวซ (America Chavez) หญิงสาวผู้มีพลังท่องมัลติเวิร์สแต่ควบคุมพลังตัวเองไม่ได้ วานดาต้องการพลังเพื่อถมปมและตอบสนองความปรารถนาของตัวเอง แต่สำหรับ ดร. สเตรนจ์นั้นก็ดูเหมือนจะตกที่นั่งที่จะต้องลงมือทำ เป็นการเสียสละหนึ่งชีวิตเพื่อรักษาส่วนที่เหลือไว้
ปมการตัดสินใจลงมือสังหารส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนรวมก็น่าจะล้อไปกับปมปัญหาของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ตั้งแต่ยุคอเวนเจอร์ส (Avengers) ที่การป้องกันโลกในที่สุดนำความเสียหายและความตายของคนตัวเล็กๆ ภายใต้ความรู้สึกภาคภูมิใจและการได้กอบกู้โลกเป็นฮีโร่ได้นั้น
ความขี้โกงของเรื่องคือการปลดล็อกมัลติเวิร์ส นอกจากการลากเส้นซูเปอร์ฮีโร่และเรื่องคู่ขนานได้อย่างไม่รู้จบแล้ว ในเรื่องยังใช้ ดร. สเตรนจ์ ในฐานะตัวเอกที่ corrupt คือเป็นฮีโร่ที่แปดเปื้อน เป็นคนที่ลงมือทำเรื่องเลวร้ายลงไป รวมถึงการลงมือทำนั้นยังส่งผลเลวร้ายต่อเนื่อง แม้ว่าจะทำในนามของความดีก็ตาม
ปมหลักๆ ของเรื่องในแง่ของการรักษาความเป็นวีรบุรุษผ่านการเลือกที่จะฆ่าหรือไม่ฆ่า ในที่สุดแล้วก็สิ้นสุดลงโดยที่ ดร. สเตรนจ์ ไม่ได้ลงมือสังหารเด็กน้อย แต่ตัวเรื่องก็ค่อนข้างหาทางลงเองแบบมีความสุข หรือ win-win ในทุกฝ่าย—ซึ่งจะว่าด้วยปมและการสร้างความชอบธรรมของวานดาต่อไป
วานดา ความเป็นแม่ และเหตุผล?
กลับมาที่วานดาที่กลายเป็นตัวร้าย เป็นผีสางที่จะไล่ฆ่ากระทั่งตัวเองในจักรวาลอื่น นอกจากการที่เรื่องวางให้วานดาเป็นผู้หญิงแล้ว เหตุผลของวานดาในการไล่ฆ่าคนและทำลายเส้นแบ่งของพหุจักรวาลก็สัมพันธ์กับความเป็นแม่—เอาเป็นว่าแค่การให้เหตุผลก็ฟังดูไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ ประเด็นเรื่องความเป็นแม่และการสู้กันด้วยเหตุผลเลยทำให้การสู้กันของพ่อมดแม่มดนี้ดูจะยังมีปัญหาที่มีเพศสถานะหรือ gender เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้นึกถึงชื่อหนังสือ Gender ที่ก็น่าจะยัง Trouble อยู่ดี
อคติและแกนสำคัญในโลกสมัยใหม่คือการให้เหตุผล ในเรื่องเราจะได้เห็นการโต้เถียง ‘ด้วยเหตุผล’ กันอยู่หลายครั้ง และวานดาเองก็ดูจะบอกว่าตัวเอง ‘ใช้เหตุผล’ และทำสิ่งต่างๆ ‘อย่างมีเหตุผล’ โดยแน่นอนว่า ความเป็นคู่ตรงข้ามของผู้ชายและหญิงนั้นมีประเด็นเรื่องผู้ชายเป็นตัวแทนของเหตุผล และผู้หญิงเป็นตัวแทนของอารมณ์เป็นอคติสำคัญ ซึ่งในเรื่องก็ดูเหมือนว่าวานดาเองที่นิยามว่าตัวเองมีเหตุผล (be reasonable) เช่นการส่งภูตมากระทืบแทนการมาเอง หรือการไปสวมรอย กระทั่งการสร้างครอบครัวจำลองขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่เธออ้างว่ามีเหตุผลและผลักเธอให้กลายเป็นตัวร้ายระดับพหุจักรวาลไป
นอกจากนี้ การวางปมให้วานดากลายเป็นตัวร้ายโดยสมบูรณ์คือความปรารถนาของการเป็นแม่ อันเป็นหนึ่งในลักษณะที่ทรงพลังที่สุดและเป็นความชอบธรรมอย่างที่สุดอย่างหนึ่งผู้หญิง แต่ทว่าในเรื่องกลับทำให้ลักษณะที่ควรจะเป็นเชิงบวก—ความเป็นแม่มักสัมพันธ์กับการสร้าง การให้กำเนิด การปกป้องรักษา ความจริงแท้—แต่วานดากลับถูกแรงผลักของความเป็นแม่ไปสู่การทำลาย การฆ่า และถ้าพูดอย่างใจร้ายหน่อย ก็ค่อนไปการหลอกตัวเองและการปลอมแปลงซึ่งก็ปลอมขึ้นจากพลังของตัวเอง
ในมิติของตัวละคร ดูเหมือนว่าวานดาเองจะเป็นอีกหนึ่งการผลิตซ้ำภาพแทนของผู้หญิงที่ทรงอำนาจ และกลายเป็นความอื่น ไปจนถึงภัยคุกคามในท้ายที่สุด แม่มดในยุคก่อนก็ถูกตีตราเข้ากับภาวะเป็นหมันที่สัมพันธ์กับความไม่อุดมสมบูรณ์ (infertile-barren) การขาดพลังของการสร้างสรรพชีวิต รวมถึงในที่สุดพลังอำนาจของพวกเธอก็ถูกวาดให้กลับมาเป็นพลังที่ทำลายล้าง ทั้งโลกและตัวของเธอเอง
ในทางกลับกัน สตีเฟน สเตรนจ์ เอง ก็ดูจะมีปมที่สัมพันธ์กับมิติทางเพศสถานะ คือ การที่ตัวเองไม่สามารถที่จะเป็น ‘ผู้ชาย’ ที่ดี ในแง่ของการเป็นคู่รักที่เหมาะสมได้ โดยปมของสตีเฟนอยู่ที่ความไม่ชัดเจน การอยู่ในสถานะของผู้ชายมากจนเกินไป เช่น การต้องควบคุมบงการทุกอย่าง ไปจนถึงการไม่เปิดเผยความรู้สึก—ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าระดับของปัญหา เรื่องรักๆ โรแมนติกเลยไม่ค่อยเสมอกับบาดแผลและแรงจูงใจของวานดาเท่าไหร่
แล้วถ้าคิดอย่างจริงจังเราก็จะรู้สึกว่า สิ่งที่วานดาพยายามทำมันเป็นไปไม่ได้และไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น แต่ด้วยการแสดงและความพิเศษของตัวละครวานดาเอง สุดท้ายเราเองก็ยังรักวานดาที่แม้ว่าบางตอนจะเหมือนภูตผีไปสักหน่อย รวมถึงความเทพของพลังที่สุดท้ายตัวเรื่องก็ประนีประนอมกับวานดา โดยให้เธอนั้นเรียนรู้ความจริงจากมายาที่เธอสร้าง และให้เธอลงมือปิดผนึกและสังหารตัวเองจึงเป็นการจบเรื่องไปในตอนจบ
ความเป็นมนุษย์และราคาของความเหนือมนุษย์
ถ้าเราดูในระดับเรื่องของ Doctor Strange in the Multiverse of Madness เราอาจจะรู้สึกว่าวานดาไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ อันที่จริงการสร้างเมืองเล็กๆ แล้วใช้ชีวิตในฝันตั้งแต่ซีรีส์ WandaVision ก็นับว่าไม่สมเหตุสมผลอยู่ดี แต่ถ้าเรามองภาพรวมของหนังมาร์เวลในยุคหลังๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ธานอสที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ สิ่งที่มาร์เวลพยายามพูดถึงคือบาดแผลและราคาบางอย่างที่ความเป็นฮีโร่ต้องจ่ายไป
วานดาเองก็เข้าข่ายการได้รับบาดแผล และความขัดข้องใจในการเสียสละชีวิตและบางส่วนของชีวิตในการปกป้องโลก บางบทสนทนาของวานดาเช่นราคาและผลที่เธอได้รับจากการเสียสละ ที่ในที่สุดการแลกชีวิตส่วนตัวให้กับส่วนรวมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่า กระทั่งท่าทีของ ดร. สเตรนจ์ ผู้ชาญฉลาดเองก็มีภาวะน้ำท่วมปากจากข้อโต้แย้งของเธอ
ความน่าสนใจของฮีโร่ในยุคหลังที่กลายมาเป็นไฮไลต์หลักของเรื่องก็คือ ความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่จะต้องแบกรับผลของการมีอำนาจเหนือมนุษย์นั้น ไปจนถึงการที่ตัวเองเริ่มก้าวข้ามไปสู่เส้นหรือข้อห้ามบางอย่าง ที่แต่เดิมฮีโร่จะต้องรักษาความบริสุทธิ์ของตัวตนและการกระทำเอาไว้
นอกจากการจะไล่ฆ่าชาวบ้านที่เป็นการเลือกหนึ่งของการแบ่งแยกความเป็นฝ่ายดีและฝ่ายร้ายเอาไว้ ซึ่ง ดร. สเตรจน์ ไม่ฆ่าส่วนวานดาฆ่าเละเทะ ในเงื่อนไขอื่นๆ ตัวเอกของเราก็ดูจะ ‘แปดเปื้อน’ จากการละเมิด (transgress) เช่นคัมภีร์วิชานติ (Vishanti) ไอเทมฝ่ายดีที่ควรจะเอามาต่อกร แต่ก็เอามาใช้ไม่ได้สักที สุดท้ายก็เลยต้องใช้พลังมืดแบบเดียวกันเข้าต่อกร แถมถลำลึกไปหนักกว่าเดิม คือ นอกจากจะละเมิดกฎเวทมนตร์คาถาแล้ว ยังละเมิดไปถึงกฎที่มนุษย์อย่างเรายังเสียวสันหลัง คือ การละเมิดเส้นของคนเป็นและคนตาย
อันที่จริงประเด็นเรื่องตัวละครเอกที่ไม่จำเป็นต้องผุดผ่องก็เป็นอีกวิธีที่วรรณกรรมและหนังซีรีส์ชวนเราไปตั้งคำถามทั้งเส้นแบ่งของความดี ประเด็นเรื่องความยุติธรรมที่ซับซ้อน การเป็นพื้นที่สีเทามากกว่าจะเป็นแค่ขาวหรือดำ ไปจนถึงภาระหน้าที่ของฮีโร่ราคาของความดี ไปจนถึงการทำความชั่วในนามของความดี
ลักษณะของความร้ายและความดีในหนังฮีโร่จึงมีความซับซ้อนมากขึ้น วานดาเองก็มีบาดแผลและมีเจตนาในการรักษาความปรารถนาของตัวเอง ในแง่ของการปกป้องโลกหลายครั้งเต็มไปด้วยการสละชีวิตหนึ่งเพื่อรักษาชีวิตอื่น ประเด็นเรื่องการครอบครองพลังและความชอบธรรมในการครอบครองพลังนั้นๆ ไปจนถึงความซับซ้อนของตัวละครที่ดูว่าจะเป็นฝ่ายดีและร้าย ที่ตัวละครฝ่ายดีเช่นคอห์นชูหรือมูนไนต์เอง ก็มีความยุ่งเหยิงและตัดสินไม่ได้ว่าฮีโร่ทำแบบนี้ได้หรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก