อาจจะดูเป็นคำเชยๆ สำหรับประโยคว่า ‘หนังสือเป็นบ่อเกิดของความรู้’ แต่สำหรับบางประเทศ ความรู้ก็ถือเป็นเรื่องต้องห้าม ต้องเก็บเป็นความลับ และหนังสือ ผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายหนังสือก็กลายเป็นภัยคุกคาม ที่รัฐจะต้องจัดการไป
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดในไทย เมื่อ บ.ก.ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ถูกตำรวจจับกุมในข้อหา เปิดเผยความลับของประเทศ และไม่ใช่ครั้งแรกที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากย้อนดูเหตุการณ์ที่วงการการอ่าน และสื่อสิ่งพิมพ์ถูกคุกคาม เรื่องเหล่านี้ก็เคยเกิดขึ้นกับฮ่องกง เมื่อร้านหนังสือในฮ่องกงถูกสั่งปิด เจ้าของร้านหนังสือหายตัว และบางคนถูกตัดสินโทษจำคุกหลายปีในประเทศจีน
หรือในเกาหลีใต้เอง แม้ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ในยุคของเผด็จการนั้น ก็ถือเป็นยุคมืดของวงการหนังสือในประเทศนี้เช่นกัน หนังสือหลายเล่มถูกแบน ถูกยึด ในขณะที่นักเขียน หรือสำนักพิมพ์ก็ถูกคุกคาม จำคุกเช่นกัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้ชาวเกาหลีในยุคนั้นหยุดอ่านหนังสือ พวกเขาต่อต้าน แลกเปลี่ยนหนังสือใต้ดิน ทำให้หนังสือที่เป็นของแสลงของรัฐ กลายเป็นสิ่งขายดีสำหรับประชาชนในยุคนั้น
หนังสือต้องห้าม และการคุกคามวงการสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลเผด็จการ
เผด็จการไม่ชอบถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ชอบให้คนเห็นต่าง แต่หลังจากที่ ปาร์ก จุงฮี อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งจากการรัฐประหารปกครองเกาหลีแบบเผด็จการ ในยุค ค.ศ.1970 และ ค.ศ.1980 หลังอยู่ภายใต้เผด็จการ ก็เป็นช่วงที่เกาหลีผลิตหนังสือเชิงสังคมศาสตร์ ส่งเสริมความคิดวิพากษ์วิจารณ์พลเมือง
ช่วงกลางทศวรรษ 1970 ถือเป็นช่วงที่เกาหลีเผชิญกับการปราบปรามของเผด็จการอย่างมาก โดยเฉพาะนักเขียน นักข่าว และอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากที่ตกงาน รวมถึงนักศึกษาที่ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย จากการเข้าร่วมในวงการสิ่งพิมพ์ ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้นำในการตีพิมพ์บทความด้านสังคมศาสตร์ที่สำคัญตามหนังสือพิมพ์ หรือวารสารต่างๆ ด้วย
จริงๆ จะว่าสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียวที่ถูกคุกคามก็ไม่ใช่ เพราะในช่วงนั้นเองวงการเพลง ที่แต่งเพลงถึงรัฐบาล หรือพูดถึงสังคมก็โดนแบน นักร้องที่มีท่าทีไม่ถูกใจรัฐบาล มีความเป็นชาวร็อค ก็ถูกหมายหัว รวมไปถึงวัยรุ่นชายที่ไว้ผมยาว ก็ถูกตามตัดกลางถนน ขณะสาวๆ วัยรุ่นหญิง หากใส่มินิสเกิร์ต กระโปรงเหนือหัวเข่า ที่สั้นกว่า 17 เซนติเมตรก็จะถูกวัด ถูกตรวจสอบ
จนมาถึงยุค ค.ศ.1980 นั้น แม้ผู้นำเผด็จการอย่างปาร์ก จุงฮี จะถูกสังหารไปแล้ว แต่ด้วยการขึ้นมาของ ชอน ดูฮวัน และเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจูที่ถูกล้อมปราบ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและสังคมยังคงมืดมน แต่ถึงอย่างนั้น ประชาชนชาวเกาหลีก็ตื่นตัวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์มาก ยังคงมีการผลิตหนังสือเชิงวิพากษ์วิจารณ์และสังคมศาสตร์ออกมาต่อเนื่อง ซึ่งถือว่า เป็นเพียงไม่กี่ช่วงในประวัติศาสตร์เกาหลีสมัยใหม่ที่มีการสั่งห้ามหนังสือจำนวนมาก และมีคนจำนวนมากที่อ่านหนังสือที่ถูกห้าม
จนในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1985 รัฐบาลได้ประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับการปราบปรามอย่างไม่มีกำหนดสำหรับ ‘สิ่งพิมพ์ยุยงปลุกปั่น’ กว่า 300 ประเภท ซึ่งรวมถึงหนังสือเชิงอุดมคติและแผ่นพับ รวมถึงมีการจับกุมนักเขียน และจัดเข้าอยู่ในรายชื่ออาชญากรที่ต้องการ ทั้งบริเวณอย่างมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นแหล่งรวมคนรุ่นใหม่ นักอ่าน และนักกิจกรรมก็มักถูกตรวจตรา ถูกค้นดูหนังสือในกระเป๋า ทั้งยังมีเหตุการณ์ที่ในปี ค.ศ.1986 ที่ตำรวจยังบุกเข้าไปในร้านหนังสือสังคมศาสตร์ 14 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยในกรุงโซล ยึดหนังสือ 51 รายการ (มากกว่า 1,200 เล่ม) และจับกุมเจ้าของร้านหนังสือ 9 ราย
โดยจากข้อมูลในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1982-1992 มีผู้ผลิต หรือเจ้าของร้านหนังสือกว่า 110 รายที่ถูกจับกุม และทางการยังสั่งห้าม ยึดหนังสือมากกว่า 1,300 รายการที่ถูกแบน รวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านเล่ม
วารสารถูกปิด บรรณาธิการถูกจับ นักเขียนถูกโทษประหารชีวิต
จากที่เล่าสถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ไปแล้ว อยากจะยกตัวอย่างของการคุกคามที่เกิดขึ้นในช่วงเผด็จการในเกาหลีใต้ โดยถ้าพูดถึงสิ่งพิมพ์ที่ส่งผลต่อความคิดความอ่านของชาวเกาหลีในวงกว้าง ต้องพูดถึงวารสาร Sasangge (사상계) ที่เริ่มตีพิมพ์ในปูซาน ปี ค.ศ.1953 โดยวารสารนี้ ได้ลงบทความที่พูดถึงเสรีภาพ และความก้าวหน้าต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย สื่อเสรี การรวมชาติระหว่างเกาหลี แรงงาน และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการ ซึ่งวารสารนี้ได้รับความนิยมในหมู่ปัญญาชนหัวก้าวหน้า และนักศึกษามหาวิทยาลัยขนาดที่มีคำกล่าวว่า “ถ้าคุณไม่ถือ Sasangge ไว้ใต้วงแขน แสดงว่าคุณไม่ใช่นักศึกษามหาวิทยาลัย”
Sasangge ยอดฮิตขนาดที่ในช่วงทศวรรษ 1960 สามารถวางขายได้ถึง 5 หมื่น ถึง 8 หมื่นฉบับ และฉบับเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1960 นั้นมีการตีพิมพ์มากถึง 97,000 ฉบับ
แต่ในปี ค.ศ.1969 รัฐบาลได้จับกุมนักเขียน นักกวี และบุคคลในวงการสื่อสิ่งพิมพ์หลายคน โดยผู้จัดพิมพ์วารสาร และหัวหน้าบรรณาธิการ Sasangge ก็เป็นสองคนที่ถูกทางการจับกุม เป็นผลให้การตีพิมพ์วารสารหยุดชะงัก ทั้งรัฐบาลยังพยายามใช้กฎหมายการลงทะเบียนหนังสือพิมพ์ และการสื่อสารในการยกเลิกการลงทะเบียนจัดตั้งของวารสารนี้ด้วย จนสุดท้ายในปี ค.ศ.1972 หลังจากวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการมายาวนานจนถึง 205 ฉบับ Sasangge ก็ถูกศาลฎีกายกเลิกการจดทะเบียน และปิดตัวลงในที่สุด ถึงอย่างนั้น เมื่อประเทศมีเสรีภาพแล้ว ก็ได้มีการคืนสถานะ และพยายามรื้อวารสาร Sasangge กลับมาอีกครั้ง โดยในปี ค.ศ.2005 ‘e-Sasanggye’ ในรูปแบบของเว็บไซต์ก็ถูกสร้างขึ้นบนโลกออนไลน์ด้วย
และหนึ่งในนักเขียนที่ถูกจับกุมพร้อมๆ กับผู้ผลิต และบรรณาธิการของ Sasangge คือ คิม จีฮา (Kim Jiha) กวีที่จบด้านสุนทรียศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล และเริ่มอาชีพการเป็นกวีในปี ค.ศ.1969 โดยตีพิมพ์บทกวี “The Yellow Earth” และโด่งดังขึ้นมาด้วยบทกวีที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปาร์ก อย่าง “The Five Bandits” ในปี ค.ศ.1970 ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ และเสียดสีคนรวย ก่อนที่กวีของเขาจะกลายเป็นงานต้องห้าม และตัวเขาเองถูกจับกุม ก่อนที่ปี ค.ศ.1974 คิมจะถูกตัดสินประหารชีวิต ในข้อหายุยงนักศึกษากลุ่มหนึ่งร่วมกับเกาหลีเหนือให้ล้มล้างรัฐบาลเผด็จการอันเป็นการละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ
ในอีก 10 เดือนต่อมา กวีคิม ได้รับการปล่อยตัว จากการกดดันของนานาชาติ แต่แล้วเขาก็ถูกจับกุมอีกครั้ง หลังเขียนกวีถึงการถูกจองจำโดยมิชอบ ซึ่งครั้งนี้เขาถูกจำคุกยาวถึง 6 ปี สุดท้ายในปี ค.ศ.2013 เขาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งศาลได้พิพากษาล้มล้างการตัดสินในตอนนั้นว่าเขาปราศจากความผิด โดยระบุว่าไม่มีหลักฐานว่าเขาวางแผนจะจัดตั้งองค์กรต่อต้านรัฐบาล และคิม เพิ่งเสียชีวิต ด้วยวัย 81 ปี ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง
ยุคหลังปี ค.ศ.2000 ที่แม้จะไม่ใช่เผด็จการ แต่หนังสือที่ถูกห้ามก็ยังมี
แม้ว่าเกาหลีจะมีการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประชาธิปไตย หลังการเรียกร้องครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1987 ซึ่งสามารถล้มรัฐบาลเผด็จการอย่างชอน ดูฮวันได้ ในที่สุด ในปี ค.ศ.1988 ก็ได้เริ่มมีการยกเลิกการห้ามงานเขียนบางอย่างที่เคยผิดกฎหมายตั้งแต่ยุครัฐบาลปาร์ก จุงฮี รวมถึง The Five Bandits ของนักกวีคิม หนังสือสังคมศาสตร์ และการเมืองต่างประเทศอื่นๆ ที่รัฐบาลอนุญาตให้ตีพิมพ์ รวมถึงปล่อยนักเขียนที่ถูกจับกุมด้วย แต่หลังจากนั้น ก็ยังมีหนังสือบางอย่างที่ถูกห้ามอ่านในบางที่ และห้ามขายด้วย
เพราะด้วยสถานการณ์ที่เกาหลีใต้ยังมีสงครามกับเกาหลีเหนือ ประเด็นบางอย่างจึงยังถือเป็นเรื่องเปราะบาง ในปี ค.ศ.2007 เอง ก็มีเหตุการณ์ที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมตัวผู้ขายหนังสือออนไลน์รายหนึ่ง ที่ขายหนังสือ The Flower Girl and The Sea of People นวนิยายของเกาหลีเหนือที่ยกยกย่องระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือ และเน้นย้ำอุดมการณ์ปฏิวัติสังคม โดยตำรวจแจ้งข้อหาครอบครองและขายสิ่งพิมพ์ที่เป็นประโยชน์ต่อศัตรู ทั้งยังกล่าวว่า ผู้ขายนั้นละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ
นอกจากหนังสือของเกาหลีเหนือแล้ว ตำรวจยังยึดฮาร์ดไดรฟ์ และหนังสือกว่า 200 เล่ม ที่ล้วนแต่เป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงในยุค 80 ยุคที่มีการแบนหนังสือมากที่สุด ด้านผู้ขายเองก็พยายามโต้แย้ง และมีการสู้คดีด้วยว่า เขาแค่ขายหนังสือต่อที่ซื้อได้จากร้านหนังสือมือสองทุกแห่งทางอินเทอร์เน็ต และเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ที่ตำรวจตั้งข้อหากับเขา เพราะเขาขายหนังสือเกาหลีเหนือธรรมดา
ขณะที่แม้หนังสือบางเล่ม จะไม่ได้ถูกแบนจากสาธารณชน แต่ก็ถูกห้ามอ่านในบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่อย่างกองทัพของเกาหลีใต้ โดยในปี ค.ศ.2008 ก็มีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้ได้ประกาศให้หนังสือ 23 เล่มกลายเป็นหนังสือต้องห้าม หนึ่งในนั้นรวมถึงงานเขียนสองชิ้นของนักปรัชญาฝ่ายซ้ายอย่าง Noam Chomsky ที่เหล่าทหารภายใต้ข้อบังคับของกองทัพไม่สามารถอ่านหรือเก็บไว้ในฐานทัพได้ โดยมีการให้เหตุผลว่า งานเขียนเหล่านั้นเป็นปัญหา เพราะแสดงความเห็นอกเห็นใจคอมมิวนิสต์ เกาหลีเหนือ และวิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ดังนั้นเนื้อหาดังกล่าวอาจขัดขวางขวัญกำลังใจของทหารที่กำลังรับใช้ชาติได้
ในปี ค.ศ.2010 ได้มีความพยายามยื่นคำร้องคัดค้านการสั่งห้ามหนังสือ โดยโต้แย้งว่านโยบายดังกล่าวละเมิดสิทธิในรัฐธรรมนูญของประเทศ แต่ผู้พิพากษาในศาลระดับสูงของเกาหลีใต้ยกฟ้อง และตัดสินว่าขอบเขตของการแบนเป็นไปอย่างจำกัด และเหมาะสม เพราะแบนเพียงไม่กี่เล่ม และแบนเพียงแค่กลุ่มคนไม่กี่คน ทั้งผลประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสิทธิส่วนบุคคล
สุดท้ายแล้ว เสรีภาพ vs ความมั่นคง ก็ยังคงเป็นสิ่งที่มีการถกเถียง ทั้งหลังการฟ้องร้องในครั้งนั้น ประเด็นนี้ต่างก็จุดชนวนการถกเถียงในสังคมประชาธิปไตยของเกาหลีต่อด้วยว่า ระบบกฎหมายจะต้องรักษาเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย หรือต้องปกป้องความมั่นคงของชาติในระดับใด
อ้างอิงจาก
https://en.yna.co.kr/view/AEN20220508002251320
https://www.koreatimes.co.kr/www/culture/2021/03/142_264236.html
http://content.time.com/time/world/article/0,8599,2029378,00.html
http://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/207232.html
https://m.blog.daum.net/gmania65/226
Illustration by Krittaporn Tochan