“ชอบการ์ตูนแล้วโตไปจะไปทำอะไรได้” หลายคนอาจสงสัยว่า จากความชอบการ์ตูนในวัยเด็ก จะพาเราไปสู่อาชีพอะไรได้หรือ
เว็บไซต์ข่าวสารวัฒนธรรมป็อปญี่ปุ่นอย่าง Akibatan ได้จัดงานสัมมนา “จากความฝันสู่ความจริง เส้นทางชีวิตคนการ์ตูน” ที่ได้วิทยากร 6 แบบ 6 สไตล์ 6 สายอาชีพ มาแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ว่าพวกเขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานที่เกี่ยวกับการ์ตูนได้อย่างไร
ธนพล เศตะพราหมณ์ : อาจารย์มหาวิทยาลัยด้านดนตรี
คนแรกที่เปิดเวที เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อสาขาดนตรีในประเทศไทย เขาคนนี้เคยจัดคอนเสิร์ตซิมโฟนีเพลงจากเกมและการ์ตูนในประเทศไทยมาแล้ว แล้วการ์ตูน(กับเกม) มาบรรจบกับงานปัจจุบันของเขาได้อย่างไร? อาจารย์ธนพลเล่าให้ฟังว่า ผลพวงของงานปัจจุบันเกิดจากสมัยก่อนที่อ่านการ์ตูนแล้วตามไปชมอนิเมชั่นแล้วพบว่า เพลงประกอบของอนิเมชั่นญี่ปุ่นมีความโดดเด่น ทำให้สนใจการเรียบเรียงเสียงเพลง และเป็นแรงผลักดันให้มาเรียนด้านเรียบเรียงเสียงประสาน จนก้าวมาเป็นอาจารย์ด้านดนตรีในทุกวันนี้
อาจารย์ธนพลยังได้แสดงความเห็นต่อคำถามที่ “การ์ตูนมีดีอย่างไร?” ว่าเป็นคำถามที่ไม่ต่างกับ ฟังเพลงมีดีอย่างไร ดูหนังมีดีอย่างไร อ่านวรรณกรรมมีดีอย่างไร เพราะงานบันเทิงแทบทุกชิ้นแม้ชั้นแรกจะมาพร้อมความบันเทิง แต่กว่างานแต่ละชิ้นจะถูกผลิตได้นั้นก็มีความลึกในตัวเช่นกัน เพราะงานศิลป์ทุกชิ้น ล้วนแล้วแต่เป็นการบันทึกแนวคิด เรื่องราว ทั้งในด้านอารยธรรมและวัฒนธรรม ตามยุคสมัยที่ผลงานถูกผลิตขึ้นนั่นเอง
คำนวน เจริญสุข : นักปั้นฟิกเกอร์
จุดเริ่มต้นของ ‘คำนวน เจริญสุข’ ในการเข้าสู่สายงานนี้มาจากการอ่านการ์ตูนตอนเด็กๆ แล้วไม่สามารถซื้อของเล่นราคาแพงเกินตัว เขาจึงเริ่มประดิษฐ์ของเล่นเอง จากการประดิษฐ์แบบเด็กๆ ก็พัฒนาเป็นงานปราณีตขึ้น จนได้ทำงานในบริษัท TrimsWorks ของญี่ปุ่น และได้ออกแบบสินค้าขายจริงในญี่ปุ่น อีกทั้งยังส่งงานเข้าประกวดได้รางวัลที่ 2 ในญี่ปุ่น รางวัล Goldeen Prize ในอเมริกา รวมไปถึงปั้นฟิกเกอร์ ‘กัปปะ’ จนได้รับรางวัลและถูกนำไปจัดแสดงอย่างถาวรที่พิพิธภัณฑ์กัปปะ ในจังหวัดโคจิ ของประเทศญี่ปุ่น
คำนวน เจริญสุข บอกกับผู้ร่วมงานว่า ชาวไทยนั้นมักจะมีความชำนาญในด้านการลงรายละเอียดของงานศิลปะได้ดี แม้ว่าจะผ่านการฝึกฝนมาไม่มาก ตามด้วยการแชร์ประสบการณ์การไปขายสินค้าของตัวเองในงาน Wonder Festival ที่ญี่ปุ่น อันเป็นเวทีที่เปิดกว้างแก่ผู้ผลิตหน้าใหม่ ทั้งยังเป็นเวทีแข่งขันของศิลปินระดับชาติ และในฐานะคนไทยที่ต้องไปแข่งขัน ก็มองว่าไม่กดดันต่อเวทีต่างประเทศ เพราะคำนวนเชื่อว่า หากเขาทำดีเราก็ต้องฝึกตัวเองให้งานดีกว่า และถ้าเด็กรุ่นใหม่อยากเข้าวงการก็ให้ฝึกฝนอย่างเต็มที่ แล้ววันหนึ่งคุณจะสามารถก้าวมาถึงเวทีระดับต่างชาติได้เช่นกัน
เจษฎาพงษ์ เจรียงประเสริฐ : นักจัดอีเวนต์ญี่ปุ่น และที่ปรึกษาทางธุรกิจ
‘เจษฎาพงษ์ เจรียงประเสริฐ’ ก็เหมือนกับเด็ก 90’s หลายคนที่อ่านการ์ตูนหนัก เล่นเกมเยอะ ตามวงเจร็อค จนค้นพบตัวเองว่า อยากจะไปทำงานที่ญี่ปุ่นในวงการที่เกี่ยวกับการ์ตูน จึงตั้งใจเรียนและได้ทุนไปเรียนต่อสมเป้าหมาย แรกเริ่มในการทำงานนั้นเก็บประสบการณ์จากบริษัทญี่ปุ่นก่อนจะมาเปิดบริษัทจัดงานอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น อย่างเช่นงาน Anime Festival Asia ที่จัดไปเมื่อปีที่ผ่านมา
เจษฎาพงษ์มองว่า การที่เขามาถึงจุดนี้ได้ มาจากการเปลี่ยนความชอบให้เป็น Action และผลักดันให้กลายเป็นจริง ที่สำคัญต้องเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ และวัฒนธรรมของสายงาน อย่างกรณีงานอีเวนต์ที่มีดาราญี่ปุ่นมา จะเห็นได้ว่าหลายๆ งานจะใช้รูปของดาราแค่ไม่กี่รูป ด้วยเหตุผลที่ว่าทุกรูปที่ออกสื่อจะต้องผ่านการตรวจสอบจากต้นทางเสมอ หากเข้าใจภาษาแต่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมการทำงานแล้ว ก็จะเกิดปัญหาอย่างแน่แท้ รวมไปถึงข้อแนะนำในการทำงานกับฝั่งญี่ปุ่นที่จะต้องตรงต่อเวลา และมีความเป็นมืออาชีพ ไม่ติ่งออกนอกหน้า แม้คนที่อยู่ตรงหน้าจะเป็นดาราที่คุณกรี๊ดมานานนมแล้วก็ตามที
ปฐวิกรณ์ อุทธิเสน : นักทำชุดและอุปกรณ์คอสเพลย์
ปัจจุบันคอสเพลย์เป็นกิจกรรมที่เข้าใจตรงกันมากขึ้นว่า เป็นการแสดงออกถึงความชื่นชอบต่อตัวละครจากสื่อบันเทิงอย่าง การ์ตูน เกม หรือ ภาพยนตร์ แต่ก็ยังถูกมองว่าเป็นไปได้ยากที่จะสร้างรายได้ หรือสร้างอาชีพจากการคอสเพลย์ แต่คำนี้คงใช้กับ ‘ปอ-ปฐวิกรณ์ อุทธิเสน’ ชายหนุ่มที่หลงใหลการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กและก้าวเข้าสู่วงการคอสเพลย์ราว 15 ปีก่อน ในช่วงแรกเขาเองก็ผลิตชุดแบบไม่เว่อร์วังเท่าใดนัก จนกระทั่งจับพลัดจับผลูไปฝึกงานกับ น้าต๋อย เซมเบ้ ในช่วงที่กำลังทำหนังขบวนการปราบเหล่าร้าย ปอจึงได้ความรู้เรื่องการจัดทำชุดและซ่อมชุดสัตว์ประหลาด ก่อนจะนำมาพัฒนาและประยุกต์ทำชุดกับอุปกรณ์คอสเพลย์ไปคว้ารางวัลถึงญี่ปุ่น ปัจจุบันบริษัทภาพยนตร์หลายๆ แห่งก็จ้างให้เขาผลิตชุดเพื่อใช้ในการโปรโมตภาพยนตร์หลายเรื่องด้วย
วันนั้นปฐวิกรณ์ขึ้นเวทีพร้อมสวมชุด และพูดถึงมุมมองต่อการทำชุดหรืออุปกรณ์คอสเพลย์เป็นอาชีพว่า มันเป็นได้แต่ทุกอย่างต้องทำอย่างตั้งใจ ทำอย่างปราณีต ทำด้วยความรู้สึกที่ว่านี่จะเป็นชุดที่เขาต้องใส่เอง ส่วนคนที่อยากจะเข้ามาสู่วงการนี้ ต้องมีพื้นฐานในการทำชุดที่แน่น อย่างการใช้กรรไกรหรือการเย็บผ้าเย็บชุด แม้ว่ายุคนี้จะมีเทคโนโลยีที่ทำให้การผลิตอุปกรณ์ง่ายดายขึ้นแล้วก็ตามที
พุฒินาท กิจเจริญสวัสดิ์ : นักวาดการ์ตูน นามปากกา DJNY
“สำหรับนักวาดการ์ตูน การศึกษานั้นสำคัญที่สุด เพราะคุณควรรู้ว่าต้องเขียนแบบไหนถึงจะถูกต้อง”
พุฒินาท เขียนการ์ตูนเล่นมาตั้งแต่เด็กก็จริง แต่กว่าจะเริ่มเขียนงานส่งตามนิตยสารก็เป็นช่วงเวลาหลังจบการศึกษามหาวิทยาลัย และเป็นช่วงหลังจากที่เขาไปเต้น B-Boy มาระยะใหญ่ เมื่อพบว่าการเต้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เขาจึงกลับมาเขียนการ์ตูนพร้อมกับพัฒนาจุดอ่อนของตน จนกระทั่งการ์ตูนได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารแห่งหนึ่งก่อนที่จะปิดตัวลง จากนั้นเขาวนเวียนไปเขียน Story Board ให้กับหนังสือการ์ตูนความรู้ เพราะลายเส้นของเขาไม่เหมาะกับการ์ตูนเด็ก ในช่วงนั้นเองเขาก็เคยไปฝึกเพนท์เล็บ ซึ่งก็ช่วยเพิ่มพูนทักษะความละเอียดบางประการ จนปัจจุบันเขาได้กลับมาเขียนการ์ตูนแนว Street Dance ที่มีตัวเอกเป็นผู้หญิงซึ่งเป็นการควบรวมประสบการณ์ทั้งหมดมาเป็นผลงาน
สำหรับนักเขียนคนนี้ การเขียนการ์ตูนนั้นไม่ได้แปลว่าต้องจบลงกับการวาดการ์ตูนอย่างเดียว มันสามารถหมุนและบิดตัวเองไปยังสายงานอื่นๆ ที่คาบเกี่ยวได้ด้วยนั่นเอง
ณัฎฐ์ธรณ์ ทวีมงคลสวัสดิ์ : นักการตลาดสำนักพิมพ์ และนักจัดรายการวิทยุ
ณัฎฐ์ธรณ์จบการศึกษาจากคณะนิเทศน์ศาสตร์มา เขาจึงมีความเข้าใจเรื่องสื่อ แต่เมื่อกระโดดมาทำงานสำนักพิมพ์แล้ว เรื่องเหล่านั้นแทบจะต้องปรับมุมมองออกไปจากเดิม แต่เขาก็ยึดเอาความรู้ด้านการโฆษณามาปรับมาแปลง แน่นอนว่า ‘โลกการ์ตูน’ มีความต่างจากตลาดขายของปกติ การที่เขาเสพการ์ตูนมาอย่างหนักในวัยเยาว์จึงทำให้เขาเข้าใจได้เร็วขึ้น และการเป็นคนในสำนักพิมพ์ก็ทำให้เขาต้องเปิดใจมากขึ้น เช่น การที่หนังสือออกช้ามันไม่ได้มีสาเหตุในประเทศเท่านั้น หรือการที่ต้องทำการ์ตูนแนว Yaoi / Yuri ก็ทำให้เขาเปิดใจกว้างรับรู้มากขึ้นว่าการ์ตูนแนวเฉพาะทางลงไปอีกมีภาพลักษณ์อย่างไร เมื่อเข้าใจทั้งสองฝั่งแล้วก็จะทำให้การสื่อสารตรงกันมากขึ้นดี ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้กระมังที่ทำให้ ณัฎฐ์ธรณ์ เป็นขวัญใจของโอตาคุชาวไทยหลายๆ คน
งานสร้างความบันเทิงนั้นแม้ภาพภายนอกของผลงานถุกมองว่าเหมาะกับเด็กเพียงอย่างเดียว แต่การทำงานเพื่อให้ได้ผลงานชิ้นนั้นออกมาก็ยังเป็น ‘โลกของการทำงานแบบผู้ใหญ่’ อยู่ดี และคนทำงานทั้ง 6 คนนี้ ต่างก็เห็นพ้องในเรื่องว่าควรจะมี ‘ความรู้’ ที่ดีก่อนที่จะเดินเข้าไปสู่งานที่คุณอยากทำ
เหมือนที่ณัฎฐ์ธรณ์พูดไว้ก่อนจะลงจากเวทีว่า “ไม่ว่าคุณจะชอบอะไรจากการ์ตูน คุณสามารถทำมันเป็นอาชีพได้ ถ้ามีความตั้งใจจริง”