หลายครั้งที่มีการเสวนาเกี่ยวกับเรื่องพระสงฆ์ไปปฏิบัติตัวที่ดู ‘ก้าวทันโลก’ ก็จะมีการวิพากษ์แบบกว้างๆ เป็นสองมุม นั่นก็คือมุมหนึ่งที่มองว่ากระทำแบบนั้นไม่งาม และอีกมุมหนึ่งก็จะบอกกล่าวว่านี่ล่ะเหมาะสมกับยุคสมัยแล้ว แต่ไม่ว่าจะมีการถกเถียงในมุมใดก็ตาม พระสงฆ์จากประเทศญี่ปุ่นก็มักจะถูกยกมาพูดถึงอยู่เสมอไป
เหตุผลที่พระสงฆ์จากทางประเทศญี่ปุ่นโดนกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง ก็คงเป็นเพราะนักบวชศาสนาพุทธของแดนอาทิตย์อุทัยนี้ถูกนำไปเล่าผ่านสื่อบันเทิงต่างๆ มากที่สุดนั่นเอง และความที่โดนเล่าบ่อยนั้น เราเลยอยากจะจับผลงานในวัฒนธรรมป๊อป ที่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์จำนวนหนึ่ง มาเพื่อดูกัน ว่าจริงๆ แล้ว มุมมองที่เราสามารถหาได้จากสื่อเหล่านั้น เป็นเรื่องราวสาระมุมใดกันได้บ้าง
อิคคิวซัง จากเรื่อง อิคคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา – มองพระในมุมสร้างความรู้ใหักับเด็ก
อิคคิวซัง น่าจะเป็นพระที่คนไทยและคนในประเทศแถบเอเชียรู้จักผ่านวัฒนธรรมป๊อปมากที่สุดรูปหนึ่ง เนื่องจากอนิเมะเรื่องดังเรื่องนี้ ทำการฉายยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 ไปจนถึงปี ค.ศ.1982 และมีจำนวนตอนอยู่มากถึง 296 ตอน แถมยังมีตอนพิเศษที่ในไทยนำมาตัดต่อฉายปนกับตอนปกติ จนหลายท่านเข้าใจว่างานนี้ไม่มีตอนจบที่แท้จริง
มุมมองการนำเสนอของอนิเมะชุดนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องการจะสอนความรู้และศีลธรรมขั้นต้นให้กับเด็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผลงานชุดดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงมีการปรับประวัติของตัวละครในอนิเมะให้หลุดออกมาจากประวัติศาสตร์จริงไปไม่น้อย อย่างเช่นการปรับอายุของ พระอิคคิว, โชกุนอาชิคางะ โยชิมิทสึ, นินะงาวะ ชินเอมอน ให้มาอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน และลดอายุให้วัยใกล้เคียงกันมากขึ้นเพื่อให้ตัวละครในเรื่องมีตัวละครเอก ตัวละครท้าทายตัวเอก ตัวละครสนับสนุนตัวเอก อย่างชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อเด็กในการรับชม
และถึงจะเน้นการสอนความรู้รอบตัว, ศีลธรรม รวมถึงจริยธรรมขั้นพื้นฐาน แต่เนื้อหาหลายตอนก็ยังพูดถึงหลักธรรมะในแบบย่อยง่ายอย่างเรื่องราวมรณะสติ ผ่านมุมมองของยุคสมัยที่สงครามชิงพื้นที่ยังเป็นปกติอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ภาพรุนแรงมากนัก แต่ก็ยังทำให้คนดูวัยเยาว์ได้แนวคิดบางอย่างในชีวิตติดตัวกลับไป
เก็นโจ ซันโซ จากเรื่อง ไซยูกิ – พระในงานแนวแอคชั่นแฟนตาซี กับมุมมองที่ว่า ‘อยู่กับปัจจุบัน’ สำคัญกว่าสิ่งไหน
ว่ากันตามจริง ถ้าคุยเรื่องพระในวัฒนธรรมป๊อปญี่ปุ่น หลายคนน่าจะนึกถึงกลุ่ม พระหรือนักบวชปราบผี ที่มีความแฟนตาซีจ๋าอยู่ในเรื่อง (และเราเคยเล่าถึงแล้วครั้งหนึ่ง) และทำให้เราอยากขยับไปพูดถึงพระอีกรูปหนึ่ง อย่าง เก็นโซ ซันโซ มังงะและอนิเมะ ไซยูกิ
สูบบุหรี่ ถือปืน เล่นไพ่นกกระจอก เป็นภาพลักษณ์ของ เก็นโจ ซันโซ ที่อาจารย์คาซึยะ มิเนะคุระ (Kazuya Minekura) นำมานิยามตัวละครที่ตีความวรรณกรรม ไซอิ๋ว ใหม่ให้แฟนตาซีมากกว่าเดิมอีกขั้นหนึ่ง แม้ว่าเรื่องราวในภาคหลักของผลงานชุดนี้ หากมองผิวเผินแล้วเหมือนพระสงฆ์หนุ่มคนนี้จะทำตัวนอกรีตอยู่ตลอดเวลา แต่ตามถ้าติดตามเรื่องราวโดยละเอียดแล้ว จะพบว่าเนื้อแท้ของเก็นโจ ซันโซ เป็นคนที่อยู่กับปัจจุบันกาลอย่างมาก หลายครั้งเสียด้วยซ้ำที่เจ้าตัวแสดงการกระทำเพื่อบอกทั้งฆราวาสและสงฆ์ในท้องเรื่องว่า ถ้าอยากเข้าใจธรรม ก็ต้องเข้าใจชีวิตในปัจจุบันเสียก่อน หาใช่การภาวนาโดยไม่ทำการใดเลย
ซึ่งแนวคิดให้อยู่กับปัจจุบันนี้ ไม่ได้เห็นได้จากตัวละครเก็นโจ ซันโซ เท่านั้น แต่นักบวชที่โดดเด่นในวัฒนธรรมป๊อปในเรื่องอื่นๆ ก็มักจะเสวนาเกี่ยวกับการทำปัจจุบันให้ดีเสียมากกว่าการยึดติดอยู่กับอดีต หรือ สิ่งที่มองไม่เห็น อาจเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นก็ผ่านเรื่องราวร้ายๆ ด้วยกำลังของตัวมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ก็เป็นได้
มุซาชิโบ เบ็งเค จากเรื่อง ชานาโอ ขุนศึกสะท้านปฐพี – เพราะ ‘พระ’ อยู่ในทุกภาคส่วนของประวัติศาสตร์มาแต่ไหนแต่ไร
นักอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นที่มีพล็อตเรื่องเกี่ยวข้องกับนักรบชื่อดังในอดีตอยู่มาก นักรบคนหนึ่งที่ถูกยกมาพูดถึงผ่านวัฒนธรรมป๊อปบ่อยๆ ก็คือ มุซาชิโบ เบ็งเค (Musashibō Benkei) พระนักรบ ที่มีฝีมือร้ายกาจก่อนจะกลายเป็นนักรบคู่ใจเคียงกาย มินาโมโตะ โยชิสึเนะ (Minamoto Yoshitsune) พระนักรบท่านดังกล่าวถือว่าเป็นตำนานระดับ ‘แมส’ ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะในมุมที่เป็นนักรบฝีมือฉกาจ และเป็นผู้ภักดียอมใช้ร่างกายยืนปกป้องนายจนตัวตาย
อย่างไรก็ตาม ที่เราอยากจะพูดต่อประเด็นจากเรื่องนี้ คือความคุ้นเคยของการที่สงฆ์เคยอยู่ในหลากพื้นที่ของสังคม อย่างกรณีของพระนักรบนั้น เป็นกลุ่มสังคมที่เกิดขึ้นในยุคเฮฮันที่ไดเมียวกับซามูไรยังเรืองอำนาจ รวมไปถึงว่าวัดหลายแห่งตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขา จึงทำให้มีพระกลุ่มหนึ่งจำเป็นต้องฝึกการใช้อาวุธเพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายที่อยู่ในธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถป้องกันตัวจากลุ่มผู้มีอำนาจ
เมื่อเวลาผ่านไป ไดเมียวและซามูไรบางคนก็เริ่มใช้วัดเป็นแหล่งซ่องสุมกำลัง และสร้างกองทัพส่วนตัวในวัด หรืออย่างน้อยก็มาบวชเป็นพระแต่ยังมีอำนาจอยู่ในฉากหลัง (แบบ โชกุนอาชิคางะ โยชิมิทสึ (Ashikaga Yoshimitsu) ในประวัติศาสตร์จริงก็มีความเชื่อว่าแม้ว่าตัวท่านจะออกบวชและยกตำแหน่งโชกุนให้ทายาท แต่ความจริงทำหน้าที่เป็น โชกุนเงา สั่งการจากวัด ทั้งยังสนับสนุนให้ศาสนาพุทธนิยาย)
พระนักรบอีกกลุ่ม ที่น่าพูดถึงก็คือ กลุ่มอิกโกะ-อิคคิ พระนักรบที่นับถือพุทธนิกายโจโด และมีอำนาจขึ้นมาต้านทานการบกตรงของเหล่าไดเมียว เนื่องจากผู้สนับสนุนพระกลุ่มดังกล่าวคือ ชาวนา พ่อค้า และขุนนางระดับท้องถิ่น ที่ไม่เห็นพ้องกับไดเมียวมีชื่อ จนสุดท้ายกลายหน่วยงานทางศาสนาที่กล่าวกันว่ายุคหนึ่งมีผู้นับถือความเชื่อนี้กว่าหนึ่งล้านคน
ด้วยความที่ ‘สงฆ์’ มีอำนาจมหาศาลในการปกครองประเทศ เมื่อใดที่ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ศาสนาพุทธก็จะถูกปรับเปลี่ยนทุกครั้งตามผู้ปกครองในแต่ละยุค สุดท้ายเมื่อเข้าสู่ยุคเมจิ ก็มีการลดทอนอำนาจของศาสนาพุทธให้ขาดออกจากศาสนาชินโต และนำพามาสู่แนวคิดที่ รัฐจะไม่สามารถสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งได้ในที่สุด
จึงพอบอกได้ว่า แม้ตอนนี้ สงฆ์ กับ พุทธศาสนา จะไม่ได้มีอำนาจแบบเดียวกับสมัยก่อนแล้ว แต่สิ่งที่เคยฝังอยู่ในสังคม ยังทำให้เรื่องเล่าของสงฆ์อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เห็น
โฮชิคาวะ ทาคาเนะ จากเรื่อง 5→9 From five to nine – มองมุมกลับจาก ฆราวาส ไปยังโลกของสงฆ์
5→9 From five to nine เป็นมังงะแนวโรแมนติกชวนหัวที่เคยถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์คนแสดง เรื่องราวเกี่ยวข้องกับ ซากุราบะ จุนโกะ หญิงสาววัยทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนพิศษ และมีเป้าหมายหาช่องทางการทำงานต่างประเทศ จนกระทั่งเธอถูกพาไปดูตัวกับ โฮชิคาวะ ทาคาเนะ ผู้เป็นพระสงฆ์ว่าที่เจ้าอาวาส แต่เนื่องจากจุนโกะอยากจะทำงานต่อตามฝันทำให้เธอต้องวุ่นวายกับการวุ่นวายกับการรับมือการรุกหนักของพระสงฆ์รูปงาม
ที่เราหยิบการ์ตูนเรื่องนี้มาคุย ไม่ใช่เพราะเรื่องรักวุ่นวายของตัวละครที่เกิดขึ้นภายในเรื่อง แต่มีมุมมองของตัวละครส่วนมากที่มองไปยังตัว โฮชิคาวะ ทาคาเนะ ผู้เป็นว่าที่เจ้าอาวาส นั้นน่าสนใจอยู่ไม่เบา
อย่างเช่นเมื่อพูดว่านางเอกของเรื่องไปดูตัวกับพระ ภาพที่ลอยมาในหัวของตัวละครอื่นก็จะเป็น ชายวัยกลางคนหัวล้านเลี่ยน, เมื่อนางเอกเสวนากับพระเอกถึงชีวิตส่วนตัว ก็พบว่าชีวิตในวัดนั้น เต็มไปด้วยกรอบระเบียบ ทั้งจากในเชิงศาสนา และจากความคาดหวังจากสังคมที่อยากให้พระสำรวมกันระดับหนึ่ง รวมไปถึงเรื่องที่พระสงฆ์ที่ได้พบคนหลากหลาย ก็ทำให้มี ‘คอนเนกชั่น’ ที่เยอะด้วยเช่นกัน
อีกส่วนหนึ่งที่ในเรื่องไม่ได้ออกความเห็นโดยตรง แต่เป็นการเล่าผ่านภาพก็คือ สถานะของสงฆ์ในเรื่อง มีทั้งความรู้ที่ดี-รายได้ที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากวัดในญี่ปุ่นไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ แต่ในทางกลับกันวัดส่วนใหญ่มีพื้นที่ค่อนข้างเยอะ จึงทำให้มีรายจ่ายและภาษีที่สูงตามมา ความจำเป็นในการที่จะต้องมองโลกด้วยมุมมอง ‘การตลาด’ จึงต้องเกิดขึ้น เพื่อรักษาสถานภาพของวัดเอาไว้
แต่ถ้าถามว่าพระสายปฏิบัติเคร่งๆ ยังมีอยู่ไหม คำตอบก็คือยังมีอยู่เช่นกัน อย่างการฝึกทุกขกริยา หรือที่ภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า 苦行 (คุเกียว) ที่เราพอจะเห็นผ่านวัฒนธรรมป๊อปได้บ่อยครั้ง อย่างการไปนั่งสมาธิใต้น้ำตก หรือพระธุดงค์ที่เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสวดมนต์ตามสถานที่ต่างๆ หรือ ตามอาราม 88 แห่งตามความเชื่อแบบมหายานของฝั่งจีนกับญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าพระสายทุกขกิริยาจะสามารถทรมานตนได้อย่างตามใจชอบ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเองก็เคยมีการฝึกฝนที่เรียกว่า 即身仏 (โซคุชินบุทสึ) หรือการฝึกค่อยๆ ละสังหารด้วยวิธีการต่างๆ อย่างขั้นสุดโต่งคือให้พระสงฆ์กินอาหารแบบ 木食 (โมคุจิคิ – กินไม้) หรืออาหารชำพวกพืช-รากไม้ ที่จะทำให้ร่างกายซูบผอมจนปราศจากไขมันหรือน้ำในตัว และปลายทางของสงฆ์ที่เลือกเส้นทางนี้มักจะเสียชีวิตด้วยท่าขัดสมาธิและมีร่างกายใกล้เคียงกับมัมมี่ในภายหลัง เนื่องจากการฝึกตนเช่นนี้เป็นอันตรายถึงชีวิต ในญี่ปุ่นจึงมีการออกกฎหมายเพื่อไม่ให้กระทำการฝึกตนเอง รวมไปถึงลงโทษผู้ที่สนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว
ส่วนหนึ่งก็คงเพราะภาครัฐและประชาชนคงเห็นว่า เพื่อจะรักษาพื้นที่ทางธรรมให้คงอยู่ จำเป็นต้องใส่ใจมุมมองจากทางโลก เพื่อให้รู้จักความพอดี ก็เป็นได้
นิอิ โทโมะฮารุ จากเรื่อง พ่อปรัชญาฮาหน้าตาย – มุมของฆราวาสที่อยากจะเป็นสงฆ์ในญี่ปุ่น ก็ต้องมุ่งมั่นไม่ต่างกับที่อื่นใด
นิอิ โทโมะฮารุ เป็นพนักงานคนใหม่ของร้านสะดวกซื้อทรีเซเว่น เขาเป็นชายหนุ่มหน้าตานิ่งเฉย ท่าทางเยือกเย็น แต่เมื่อเจอลูกค้ายียวนกวนบาทาใส่ว่า ทำไมไม่ยอมบริการแบบตามใจลูกค้าผู้เป็นพระเจ้า เขาก็ตอบกลับด้วยท่าทีนิ่งเฉยว่า ‘พระเจ้าตายไปแล้ว’ ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกเพื่อนร่วมงานในร้านเรียกลับหลังด้วยชื่อเล่น ‘อาจารย์นิทเช่’
เรายกการ์ตูนตลกที่เคยโดนสร้างเป็นซีรีส์คนแสดงเรื่องนี้มาพูดถึง ไม่ได้หมายจะเล่าเอาขำตามผลงานต้นฉบับ แต่เพราะตัวละคร อาจารย์นิทเช่ ถูกระบุว่ากำลังศึกษาอยู่ใน คณะพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และเจ้าตัวตั้งมั่นจะเป็นพระอย่างเต็มตัวในภายหลัง แม้ว่าในท้องเรื่องเขาจะหยิบเอาหลักปรัชญาของ ฟรีดริช นีทเช่ มาเป็นหลักในการใช้ชีวิตประจำวันก็ตาม
สำหรับประเทศไทยแล้ว คณะพุทธศาสตร์อาจจะดูไกลตัวจากคนทั่วไปอยู่บ้างเพราะสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนคณะดังกล่าวมักจะมีความสัมพันธ์พระสงฆ์โดยตรง อาทิ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แต่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น มีทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนที่ก่อตั้งและดำเนินการโดยนิกายต่างๆ ในศาสนาโดยตรง อย่าง มหาวิทยาลัยโคยะซัง ของนิกายชินกง, มหาวิทยาลัยโอทานิ ที่เกี่ยวพันกับนิกายโจโดซินชูมาก่อน หรือถ้าในมหาวิทยาลัยทั่วไปก็ยังมีคณะที่ใกล้เคียงกันอยู่ด้วย อย่างเช่น คณะอินเดียและพุทธศึกษาของมหาวิทยาลัยโอซาก้า
ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่ามหาวิทยาลัยที่มี คณะพุทธศาสตร์จะเรียนรู้แค่เรื่องศาสนาพุทธกับศาสนาเซนเพียงเท่านั้น ยังมีการเรียนวิชาด้านปรัชญากับวิชาอื่นๆ ร่วมไม่ต่างกับคณะอื่นๆ ด้วย (อย่าง อาจารย์นิทเช่ จากเรื่อง พ่อปรัชญาฮาหน้าตาย เรียนภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นเหตุว่าทำไมเจ้าตัวอินกับปรัชญาของ ฟรีดริช นิชเช่)
ซึ่งจะสอดคล้องกับที่เรากล่าวไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ว่า ในการเป็นพระสงฆ์ในญี่ปุ่นนั้นจำเป็นต้องผ่านการศึกษามาระดับหนึ่ง และถ้าเป็นกรณีที่ไม่ใช่ผู้ที่สืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาส มีการแนะนำให้ผู้ที่ต้องการบวชเป็นสงฆ์ในญี่ปุ่น ทำการศึกษาจากคณะพุทธศาสตร์ เพื่อที่จะได้ผ่านการฝึกตนในขั้นต้น กับพระสงฆ์ที่มาเป็นคณาจารย์ และเมื่อผ่านการศึกษา ก็จะมีการทดสอบให้กลายเป็นพระสงฆ์เป็นการต่อไป
เนื่องจากเป็นเส้นทางที่วุ่นวาย จึงไม่แปลกนักที่เราอาจจะไม่ได้เห็นพระสงฆ์ญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีวัดเป็นของตระกูลตนเอง และหลายคนก็ถอดใจไปก่อน จนกลับมาทำงานปกติทั่วไป และนั่นก็แปลว่าผู้ที่ตัดสินใจจะจะเลือกทางแห่งสงฆ์ในญี่ปุ่นนั้นก็ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจไม่แพ้สงฆ์ในชาติอื่นแต่ประการใด
Saint Young Men – มองศาสนา ผ่านมุมที่ศาสดาเคยทิ้งคำสอนไว้
ความจริงเราเคยบอกเล่าเกี่ยวกับเรื่อง Saint Young Men มาก่อนแล้ว และจะขอใช้พื้นที่ตรงนี้กล่าวสั้นๆ อีกครั้งว่าตัวมังงะเรื่องนี้ แม้จะตั้งใจเรียกเสียงหัวเราะ แต่ว่ามุกในเรื่องนั้น ถ้าจะให้ขำตามได้ ผู้อ่านจำเป็นต้องมีความรู้เชิงศาสนา, วัฒนธรรม และผลศิลปะที่เกิดขึ้นจากศาสนาในมุมต่างๆ อย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้ตัวงานเลยโดนมองด้วยมุมสาระได้ว่า งานชิ้นนี้เป็นการชวนมองกลับไปว่า เหล่าเราผู้เป็นปุถุชนที่ศรัทธาในความเชื่อของศาสดา ได้นำเอาคำสอนมาปฏิบัติตามได้มากขนาดไหน ระหว่างทางที่ผ่านกาลเวลาอันยาวนานนั้น มีอิทธิพลใดที่ทำให้ความเชื่อบางประการเปลี่ยนไปบ้าง
ในมุกตลกที่ทำให้ใจชุ่มชื้นจากความขำนั้น หลายคราก็เป็นการกลับมาเตือนผู้เสพสื่อเช่นกันว่า คำสอนบางประการหลุดจากชีวิตเราไปมากขนาดไหนเช่นกัน
นอกจากพระที่อยู่ในวัฒนธรรมป๊อปของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมีพระสงฆ์ตัวจริงในประเทศญี่ปุ่นที่นำเอาวัฒนธรรมป๊อปมาใช้ในการเสวนาธรรม ตามแนวทางของพุทธนิกายมหายานอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น พระคันโฮ ยาคุชิจิ หรือที่หลายท่านอาจจะคุ้นเคยในชื่อของ ‘Kissaquo’ รองเจ้าอาวาสผู้เคยใช้ชีวิตเป็นศิลปินผมยาวทั้งยังเคยศึกษาด้านดนตรีมาก่อน และเมื่อต้องมารับช่วงต่อในการสืบทอดวัดของตนเอง ท่านก็นำเอาความรู้ที่ได้จากทางโลกนั้น มาปรับผสมกับบทสวด ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร จนกลายเป็นกระแสในโลกอินเตอร์เน็ตมาแล้ว
พระอาคาซะกะ โยเกทสึ ผู้เคยใช้ชีวิตในอเมริกาและออสเตรเลียในฐานะดีเจ แต่สุดท้ายกลับมาสืบทอดวัดพร้อมนำเอาเทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่ธรรมะในสื่อใหม่ๆ อย่างเช่นการนำเอาบทสวดมนตร์มาทำเป็น Beat Box หรือในช่วงปี ค.ศ.2021 ท่านก็เข้าสู่โลกแห่ง VR ด้วยการเปิดการแสดงธรรมที่ใช้ชื่อว่า VR Space Mandala Live และปัจจุบันท่านก็มีแชนแนลยูทูบ ที่มีเพลงทั้งในแบบ ASMR เพื่อสร้างสมาธิ สลับกับเพลงสมัยใหม่
ไม่ใช่ว่าการกระทำที่ทันสมัยของพระสงฆ์และนักบวชจะถูกใจชาวญี่ปุ่นไปเสียหมด อย่างในช่วงปี ค.ศ.2019 ก็เคยมีกระแสที่อยากให้พระสำรวมมากขึ้น หลังจากที่มีพระสงฆ์ท่านหนึ่งถูกจับและเสียค่าปรับ เนื่องจากพระองค์ดังกล่าวขับรถขณะที่ครองจีวร ทำให้ชาวบ้านและชาวเน็ตส่วนหนึ่งออกมาแสดงความเห็นว่า พระสงฆ์เมื่อครองจีวรก็ควรอยู่อย่างสงบ ไม่ควรทำกิจกรรมเกินเลย
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เหล่าพระสงฆ์ที่ใส่จีวรกระทำกิจกรรมทั่วไปก็ได้ โพสท์ข้อความผ่านทวิตเตอร์พร้อม #僧衣でできるもん (Soi De Dekiru Mon – อาตมาทำเช่นนี้ได้ขณะครองจีวร) ซึ่งหลายองค์ก็ทำกิจกรรมหวือหวาระดับ กระโดดลังกาหลัง, ตีกลองชุด ฯลฯ ทำให้ผู้คนที่ติดตามข่าวในครั้งแรกกลับมาพินิจอีกครั้งว่าการจับกุมนั้นถูกต้องหรือไม่ หรือมีเหตุผลประการใด
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ตามที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า ถ้าเราได้เห็นข่าวพระสงฆ์ที่เข้าใจถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จะโดนวิพากษ์ว่าทำตัวไม่เหมาะสม เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ของ พระมหาไพรวัลย์ และพระมหาสมปอง ที่นอกจากจะเปิดไลฟ์เพื่อทำการสอนธรรมะ ท่านทั้งสองยังเข้าถึงการใช้มีมอย่างยิ่ง จนมีคนบางส่วนออกมาติติง แซะ รวมไปถึงขั้นด่ากันตรงๆ
ในประเด็นนี้ตัวผู้เขียนเห็นว่า ผู้ที่ออกมาวิจารณ์และติติงในเชิงมองโลกหลากมุมและอยู่กับปัจจุบันมากที่สุด น่าจะเป็นพระพยอม กัลยาโณที่ให้ความเห็นว่า อย่าไปตำหนิพระทั้งสองท่านมากนัก เพราะเมื่อพรรษาของทั้งสองท่านมากขึ้น ก็จะมีความกลมกล่อมที่เกิดจากกาลเวลาเพิ่มขึ้นมาเอง
และคำพูดข้างต้นนั้นก็ทำให้เรานึกถึงคำพูดของ พระนิชิมุระ โคโด ผู้เป็น LGBTQ+ อย่างเปิดเผย และมีความสามารถในด้านการแต่งหน้า เนื่องจากเคยไปศึกษาที่ Parsons School of Design ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อจำเป็นต้องรับช่วงต่อการเป็นพระสงฆ์จากที่บ้าน ท่านก็ยังอยากที่จะทำงานด้านแต่งหน้าที่เคยฝึกฝนไว้ และท่านได้เคยพูดไว้ในรายการ Queer Eye: We’re in Japan เกี่ยวกับคำพูดที่ท่านไปปรึกษาพระผู้ใหญ่ว่าการแต่งหน้าให้ผู้อื่นนั้นเหมาะสมหรือไม่ และคำตอบที่ท่านได้รับมาก็คือ
‘ถ้ามันทำให้หลวงพ่อแผยแผ่ ถ่ายทอดความเท่าเทียมกัน อาตมาคิดว่ามันไม่เป็นอะไร เพราะในศาสนาพุทธทุกคนเท่าเทียมกัน’
อ้างอิงข้อมูลจาก