บอกได้เลยว่า แอบดีใจอยู่ไม่น้อยที่ได้เห็นตัวอย่างของ หมีรีลัคกับคุณคาโอรุ ที่จับเอาตัวละครชื่อดังของ San-X มาสร้างเป็นงานสต็อปโมชั่น แต่กว่าจะได้ดูก็ปี 2019 กันเลยทีเดียว พอเห็นแบบนี้เลยเขยิบไปเช็คตารางหนังก็พบว่า Isle Of Dogs หรือ ‘เกาะเซ็ตซีโร่หมา’ ของผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน ที่เป็นสต็อปโมชั่นเหมือนกันก็กำลังจะเข้าฉายแล้ว
พอย้อนไปดูข่าวก่อนหน้านี้ก็พบว่า จริงๆ คุณรีลัคกับคุณคาโอรุ ถูกประกาศสร้างมาตั้งแต่ปี 2017 แล้ว ส่วน Isle Of Dogs นั้นก็มีระบุไว้ว่าเริ่มต้นถ่ายทำกันมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2016 เลยทีเดียว ที่ทำกันนานขนาดนี้เพราะ งานสต็อปโมชั่นเป็นงานที่ต้องถ่ายภาพ แบบหรือหุ่นที่ทำจาก ตุ๊กตา, คัทเอาท์กระดาษ, หรือดินเหนียว แล้วค่อยๆ ทำนั้นป็นการสร้างงานที่ใช้เวลานานเกินไปสำหรับสื่อในแต่ละแบบ ทำให้ยิ่งนานวันสต็อปโมชั่นอนิเมชั่นก็ยิ่งได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีในการทำงานอนิเมชั่นแบบอื่นพัฒนาไปมากแล้ว แต่ก็ยังมีผู้สร้างและสตูดิโออนิเมชั่นอีกหลายๆ เจ้าที่อยากจะเก็บงานสร้างประเภทนี้ไว้ ด้วยเสน่ห์บางประการ อย่างการเล่าเรื่องที่ตึงเครียดหรือน่ากลัวเกินจริงผ่านสต็อปโมชั่นนั้นจะสามารถเล่าเรื่องได้อย่างละมุนละไมกว่า
ส่วนที่มาของงานสต็อปโมชั่น สามารถเล่าย้อนกลับไปได้นับตั้งแต่ปี 1898 หลังจากที่อุปกรณ์ฉายภาพ Vitascope ได้รับความนิยมไปหลายๆ พื้นที่ของอเมริกา ทำให้สองนักสร้างหนัง Albert E. Smith กับ J. Stuart Blackton ได้สร้างหนังสั้นเรื่อง The Humpty Dumpty Circus ที่เล่าเรื่องราวโรงละครสัตว์ของเล่นให้ออกมาขยับเหมือนมีชีวิตจริง แต่น่าเสียดายนิดหน่อยที่หนังสั้นเรื่องนี้ได้สูญหายไปตามกาลเวลาจนเหลือแค่ภาพนิ่งเป็นตัวแทนเท่านั้น
โชคดีหนังสั้นเรื่องต่อมาที่อาศัยเทคนิคแบบเดียวกันนี้อย่าง The Enchanted Drawing ที่ออกฉายในปี 1990 ยังถูกเก็บเอาไว้ ซึ่งเป็นการเอาคนจริงมาแสดงร่วมกับรูปภาพที่เหมือนจะมีชีวิตขึ้นมา จากนั้นงานสต็อปโมชั่นก็ถูกใช้ควบคู่กับการถ่ายทำภาพยนตร์แบบปกติในฐานะอุปกรณ์สร้างฉากพิเศษเหนือจริง อย่างฉากเผชิญหน้าไดโนเสาร์ของภาพยนตร์ The Lost World ในปี 1925 และถูกใช้กันยาวนานจนถึงยุค 1980 ในหนังดังอย่าง Terminator (1984) หรือ Robocop (1987) ที่ฉากหุ่นยนต์ยังใช้เทคนิคภาพยนตร์แบบนี้อยู่ ก่อนที่เทคนิคพิเศษแบบอื่นๆ กับคอมพิวเตอร์กราฟิกจะเข้ามาแทนที่
งานสต็อปโมชั่นอาจจะลดหน้าที่ลงในฝั่งภาพยนตร์คนแสดง ตรงกันข้ามกับฝั่งของอนิเมชั่น ที่อาจจะมีจำนวนเรื่องออกสู่ตลาดลดลงไปตามเวลแต่ก็ไม่ได้หายไปจากวงการอย่างสิ้นเชิง และเมื่อหนังสต็อปโมชั่นอนิเมชั่นออกมาให้ดูทีไรหนังเหล่านั้นก็มักจะมีอะไรให้เราได้สนใจอยู่เรื่อยๆ และมีความสนใจไม่แพ้อนิเมชั่นประเภทอื่นใดเลย
El Apóstol (1917)
ย้อนเวลาไปราวหนึ่งร้อยปี ชายชาวอิตาลีที่โยกย้ายไปอาศัยอยู่ในอาร์เจนติน่าชื่อว่า Quirino Cristiani เขาได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปะก่อนเริ่มต้นทำงานเป็นนักวาดการ์ตูนในหนังสือพิมพ์ ก่อนที่จะกลายเป็นคนทำงานอนิเมชั่นในภายหลัง ซึ่งตัวภาพยนตร์ El Apóstol ที่เล่าเรื่องว่าประธานาธิบดีฮิโปลิโต อิริโกเยน (Hipólito Yrigoyen) ได้รับสายฟ้ามาจากเทพจูปิเตอร์เพื่อตัดสินผู้ที่ทำความผิดต่างๆ ในเมืองบัวโนสไอเรส จนกระทั่งตัวเมืองถูกเผาไปด้วยในที่สุด
ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากจะเป็นการวิพากษ์การเมืองและสังคมของอาร์เจนติน่าในยุคนั้นแล้ว ตัวหนังยังถือว่าเป็นอนิเมชั่นเรื่องแรกของโลก ซึ่งในที่นี้ยังเป็นการใช้กระดาษตัดออกมาเป็นตัวละครแล้วค่อยๆ ขยับกับถ่ายทำทีละเฟรมตามวิสัยของสต็อปโมชั่น แต่ที่น่าเสียดายอยู่สักหน่อยคือตัวฟิลม์ต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เสียหายไปจากการเกิดเพลิงไหม้สตูดิโอที่เก็บฟิลม์เอาไว้ จนเทคนิคการทำงานและชื่อเสียงของผู้กำกับจากอาร์เจนติน่าถูกหลงลืมจากหน้าประวัติศาสตร์ไปอย่างน่าเสียดาย
The New Gulliver (1935)
เรื่องที่สองที่เราจะมาพูดถึงเป็นอนิเมชั่นมาจากสหภาพโซเวียต ภาพยนตร์เรื่องนี้มีช่วงเกริ่นเรื่องและตอนท้ายเรื่องเป็นส่วนคนแสดง ส่วนที่เหลือเป็นสต็อปโมชั่นที่ใช้ตุ๊กตาผ้ามาเดินเรื่องว่าเด็กชายคนหนึ่งได้ไปเข้าค่ายก่อนจะนอนหลับแล้วฝันเห็นว่าตัวของเขาได้ถูกพาตัวไปยังอาณาจักรลิลลิพุต ซึ่งตัวเขาได้ถูกคนในเมืองว่าเป็น ‘กัลลิเวอร์คนใหม่’ และในฉบับนี้ตัวอาณาจักรเกิดปัญหาขึ้นมาจากความไม่เสมอภาคในมุมต่างๆ กับปัญหาจากทุนนิยม แล้วกลายเป็นว่ากัลลิเวอร์คนใหม่นี้่อาจจะกลายเป็นผู้ปลดเปลื้องปัญหาเหล่านี้
ด้วยความเป็นหนังของสหภาพโซเวียตก็เลยมีการจัดศิลป์และแนวคิดของสหภาพอย่างเต็มที่ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังมีค่าอยู่มากในฐานะภาพยนตร์สต็อปโมชั่นขนาดยาวที่ใช้ตุ๊กตาเป็นตัวเล่าเรื่องเรื่องแรกของโลก
Rudolph the Red-Nosed Reindeer (1964)
ภาพยนตร์สต็อปโมชั่นที่ถูกสร้างฉายทางโทรทัศน์ในช่วงวันหยุดปลายปีของสถานีโทรทัศน์ในอเมริกา เรื่องราวในเรื่องเป็นการเอาเพลงดังชื่อเดียวกันกับหนังมาบอกเล่าในแบบสต็อปโมชั่นน่ารัก นับตั้งแต่ที่กวางรูดอล์ฟเป็นลูกกวาง แล้วพ่อแม่คอยปิดบังจมูกแดงของเขาไว้ จนกระทั่งเขาไปผจญภัยกับเอล์ฟห่อของขวัญและช่วยเหลือมนุษย์จนทำให้ตัวเขาเลือกที่จะไม่ปกปิดตัวเอง ก่อนจะได้เป็นกวางนำทัพในการพาของเล่นไปแจกจ่ายให้กับเด็กๆ ทั่วโลก
งานสต็อปโมชั่นอนิเมชั่นที่มีความละเอียดสูงเป็นการร่วมงานกันทั้งทางทีมงานของ Rankin/Bass Productions ของอเมริกาที่ร่วมมือกับ MOM Production ของทางญี่ปุ่น ส่งผลให้กวางน้อยจมูกแดงตัวนี้กลับมาในภาพยนตร์พิเศษอีกหลายครั้งในปี 1976, 1979 ในรูปแบบสต็อปโมชั่นเช่นเดียวกับภาพยนตร์ภาคแรก ก่อนที่ Rankin/Bass Productions จะปิดตัวลงในช่วงปี 1987 แต่ก็ยังมีการนำเอาตัวละครดั้งเดิมมาสร้างใหม่เป็นภาพยนต์กราฟิกคอมพิวเตอร์ในปี 2001 ที่ไม่ประสบความสำเร็จและมีเสน่ห์ไม่เท่ากับตัวต้นฉบับ
The Adventures of Mark Twain / Comet Quest (1985)
เมื่อ ทอม ซอวเยอร์, ฮักเกิลเบอร์รี่ ฟินน์ และ เบ็คกี้ แทตเชอร์ ได้เห็นเรือเหาะลำหนึ่งบินผ่านเมือง เด็กทั้งสามก็ได้แอบขึ้นไปแล้วพบว่า เรือเหาะลำนี้เป็นของ มาร์ค ทเวน ที่ตอนนี้ต้องการจะกลายเป็นนักบินอวกาศชื่อดัง ที่พยายามขับเรือเหาะลำนี้ไปไล่ตามดาวหางฮัลเลย์ ด้วยความกังวลว่าการเดินทางนี้จะเป็นเรื่องเสียเปล่าของชายแก่ที่ดูเพี้ยน เด็กๆ จึงพยายามหาทางชิงเรือเหาะ แต่ก็ค่อยๆ พบว่าเป้าหมายของ มาร์ค ทเวน ไม่ได้เป็นอย่างที่พูดเสียทีเดียว แต่เขามีจุดประสงค์อื่นในใจ
ตัวเรื่องหยิบจับเอาคำพูดและประวัติของมาร์ค ทเวน ที่เชื่อว่าตัวของเขาเกี่ยวข้องกับดาวหางฮัลเลย์ และเจ้าตัวได้เสียชีวิตหลังจากดาวหางฮัลเลย์วนเข้ามาในระยะใกล้วงโคจรดวงอาทิตย์ที่สุดในปี 1910 มาผสมกับผลงานอื่นๆ อย่างตัวเอกทั้งสามนั้นมาจากหนังสือชุดทอม ซอว์เยอร์ ผจญภัย กลายเป็นการผจญภัยแบบไม่เหมือนใครขึ้นมา ภาพยนตร์ยังเป็นงานภาพยนตร์ขนาดยาวที่ใช้ เคลย์เมชัน (Claymation) หรือเทคนิคการทำสต็อปโมชั่นโดยใช้หุ่นที่ปั้นจากดินแบบเต็มเรื่องอีกด้วย
The Nightmare Before Christmas (1993)
หนังบอกเล่าเรื่องราวของ แจ็ค สเกลลิงตัน ผู้นำของเมืองฮาโลวีนทาวน์ที่อยากจะลองทำอะไรใหม่ๆ นอกจากที่ฉลองงานวันฮาโลวีนแบบเดิมๆ อย่างที่เป็นมาทุกปี และเขาบังเอิญได้ไปเจอประตูเชื่อมไปยังโลกแห่งวันหยุดโลกอื่น ก่อนที่เขาจะหลุดดินแดนของวันคริสต์มาสที่ แจ็ค รู้สึกว่ามันแปลกใหม่ จนอยากจะไปแจมบ้างเลยลักพาตัวซานตาคลอสมาขังไว้แล้วรับบทเป็นซานต้าตัวแทนแต่ด้วยรสนิยมที่ผิดแปลกทำให้คนทั่วโลกต่างต้องตกใจกัน แล้ววันหยุดที่เคยมีความสุขนี้จะจบลงอย่างไร
ฝันร้าย ฝันอัศจรรย์ ก่อนวันคริสต์มาส เป็นผลงานภาพยนตร์ที่ ทิม เบอร์ตัน คิดเอาไว้ในใจมานานนับตั้งแต่ที่เขายังเป็นอนิเมเตอร์อยู่ให้กับทางดิสนีย์ จนกระทั่งเจ้าตัวประสบความสำเร็จจากการทำภาพยนตร์เรื่อง บีทเทิลจุ๊ยส์ และ แบทแมน (ฉบับปี 1989) ที่ทางค่ายหนังเริ่มจะเห็นฝีมือและการทำเงินของผลงาน เขาเลยมีโอกาสเอาคอนเซปท์งานที่ตัวเขาเคยเขียนไว้ (หลังจากดู Rudolph the Red-Nosed Reindeer) มาสร้างเป็นผลงานแนวสต็อปโมชั่นแนวดาร์คแฟนตาซี และได้ เฮนรี่ เซลิค (Henry Selick) มาเป็นผู้กำกับ (ซึ่งหลายๆ คนเข้าใจผิดว่า ทิม เป็นผู้กำกับเอง)
หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นการทำให้สต็อปโมชั่นกลับมาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอีกครั้ง แม้ว่าสไตล์ของหนังจะหลุดโลกระดับที่ดิสนีย์ก็ไม่กล้าให้แปะชื่อค่ายหลักไว้กับหนังเรื่องนี้ แต่ควาอบอุ่นหัวใจที่ซ่อนอยู่ใต้ความแปลกก็ทำให้หนังได้รับคำชมและรายได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกที่ ทิม เบอร์ตัน จะกลับมายังโลกสต็อปโมชั่นอีกหลายครั้งในฐานะผู้กำกับของ Corpse Bride (2005) และ Frankenweenie (2012) ซึ่งเรื่องหลังเป็นการรีเมคงานเก่าของตัวเองอีกทีหนึ่งด้วย
Chicken Run (2000)
พลพรรคกุ๊กไก่ในฟาร์มทวิดดี้ พยายามที่จะหลบหนีออกจากฟาร์มไก่ที่ทำการกำจัดไก่ที่ออกไข่ได้จำนวนไม่มากพอ ความพยายามของพวกไก่ก็ล้มเหลวทุกครั้งเพราะตายายทวิตดี้โหดเหลือหลาย จนกระทั่งไก่หนุ่มชื่อ ร็อคกี้ ร่อนมาลงที่ฟาร์มแห่งนี้ เหล่าไก่ในฟาร์มที่มี จิงเจอร์ ไก่สาวเป็นผู้นำจึงตัดสินใจวางแผนหนีอีกครั้งด้วยการ ‘บินหนี’ ออกไป
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกที่ Aardman Animations เป็นผู้สร้าง หลังจากที่พวกเขามีผลงานเกี่ยวข้องกับงานอนิเมชั่นอยู่มาก รวมไปถึงงานในฝั่งสต็อปโมชั่นที่เขาสามารถไปไกลในระดับที่คว้ารางวัลออสการในสาขาอนิเมชั่นขนาดสั้นมาแล้ว นอกจากนี้ยังทำให้ทาง Aardman ได้มีโอกาสส่งผลงานออกไปทั่วโลกเพราะได้ไปเตะตาทาง DreamWork Pictures จึงตกลงร่วมลงทุนและเป็นผู้จัดจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก ยกเว้นในทวีปยุโรปที่ Aardman Production ได้ปิดดีลให้กับผู้จัดจำหน่ายอีกเจ้าไว้แล้ว ตอนนี้หนังภาคสองกำลังสร้างอยู่ ซึ่งงก็น่าคิดว่าจะให้เจ้าไก่ทั้งฝูงไปหนีอะไรต่อล่ะเนี่ย?
The Legend Of The Sky Kingdom (2003)
หนังเรื่องนี้เป็นหนังสเกลเล็กที่จะมองข้ามไปเลยก็พอได้ แต่ก็มีอะไรที่เราอยากพูดถึงเล็กน้อยเพราะนี่คือหนังสต็อปโมชั่นขนาดยาวที่มาจากประเทศซิมบับเว และถือว่าเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกจากทวีปแอฟริกา และยังเป็นการสร้างสต็อปโมชั่นจากชิ้นส่วนขยะต่างๆ ที่ทีมผู้สร้างเรียกว่า ‘junkmation’ อีกด้วย เรื่องราวเป็นการดัดแปลงหนังสือสำหรับเด็กของ ฟิล คันนิงแฮม ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้ เกี่ยวกับเด็กกำพร้าสามคนที่พยายามหลบหนีมาจากอาณาจักรใต้ดินที่ถูกครองโดยจักรพรรดิปิศาจเพื่อไปตามหาอาณาจักรแห่งท้องฟ้าที่พวกเขาเชื่อว่ามีอยู่จริง แต่หนังเรื่องนี้ก็อาจหาดูได้ยากสักหน่อยในบ้านเรา
Wallace & Gromit: The Curse of the Were-Rabbit (2005)
ผลงานสต็อปโมชั่นอีกเรื่องหนึ่งของทาง Aardman Animations และคราวนี้เป็นทีของ วอลเลซ หนุ่มนักประดิษฐ์ที่ซุ่มซ่ามนิดๆ กับ กรอมมิท หมาที่ฉลาดเกินตัวและมักจะเป็นคนคุมสถานการณ์ต่างๆ มากกว่าเจ้านาย ซึ่งนี่เป็นตัวละครที่ทาง Aardman เคยสร้างอนิเมชั่นขนาดสั้นออกมาก่อนแล้วเป็นจำนวน 3 ตอน และคว้าออสการ์จากสาขาอนิเมชั่นขนาดสั้นไปถึงสองรอบ ถือเป็นการกลับมาของสองตัวละครนี้ในฐานะภาพยนตร์ขนาดยาวครั้งแรก จึงเป็นเรื่องที่แฟนๆ สต็อปโมชั่นหลายคนแฮปปี้ดี้ด๊ากันสุดๆ
คราวนี้ วอลเลซ กับ กรอมมิท รับจ๊อบเป็นหน่วยปราบกระต่ายที่คอยมาป่วนสวนผักของชาวบ้าน ถึงอย่างนั้นคู่หูต่างเผ่าพันธ์ก็ไม่ใช้วิธีฆ่ากระต่ายทิ้ง แต่เมื่องานล่าสุดทำให้พวกเขาต้องจับกระต่ายมาหลายร้อยตัว วอลเลซจึงพยายามใช้อุปกรณ์ล้างสมองกระต่าย แต่ผลกลับผิดคาดเพราะได้เกิดมนุษย์กระต่ายตัวยักษ์ขึ้นมา ทำให้ กรอมมิท ต้องหาทางช่วยเหลือเจ้านาย และในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยเหลือชาวเมืองที่กำลังจะจัดงานแสดงผักขนาดพยักษ์
ถ้า Chicken Run เป็นงานที่ทำให้คนหมู่มากได้รู้จักผลงานของ Aardman Animations แล้ว หนังเรื่องนี้ก็เป็นงานปล่อยพลังของทีมสร้าง ทั้งฉากกับตัวละครที่ขยับอย่างลื่นไหล กับมุกเงียบที่ดูได้ง่ายตามที่พวกเขาถนัด ทำให้อนิเมชั่นเรื่องนี้กวาดรางวัลจากสถาบันต่างๆ จำนวนมากรวมถึง รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม ซึ่งถือว่าเป็นงานสต็อปโมชั่นเรื่องแรกที่คว้ารางวัลนี้ไปครอง
Fantastic Mr. Fox (2009)
ภาพยนตร์สต็อปโมชั่นเรื่องนี้ถือว่าเป็นความพยายามดัดแปลงนิยายของ โรอัลด์ ดาห์ล เป็นครั้งที่สองหลังจากเคยมีการดัดแปลงเรื่อง James and the Giant Peach มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในเรื่องนั้นยังพึ่งพาฉากหนังคนแสดงอยู่ส่วนหนึ่ง และเป็นงานกำกับสต็อปโมชั่นเรื่องแรกของ เวส แอนดเดอร์สัน (เรื่องที่สองคือ Isle Of Dogs ที่เข้าฉายในปี 2018 นี้)
ในตอนแรก เวส จะกำกับงานร่วมกับทาง เฮนรี่ เซลิค (ผู้กำกับ The Nightmare Before Christmas) แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำงานด้วยกันเนื่องจากสตูดิโอภาพยนตร์ที่ดูแลการสร้างในช่วงแรกปิดตัวลงไป ซึ่งเฮนรี่ตัดสินใจไปทำงานเรื่องอื่นไปแล้ว และตัวหนังก็ไม่ได้เล่าเรื่องแบบตรงแหน่วตามหนังสือมากเพราะ เวส แอนเดอร์สัน ได้ปรับโทนเรื่องให้กลายเป็นหนังจารกรรมนิดๆ รวมถึงเพิ่มเนื้อเรื่องในช่วงต้นเรื่องให้สอดคล้องกับวิธีการเล่าในหนังมากขึ้น
ในตัวหนังนั้นจะเล่าถึงแต่คุณจิ้งจอก ผู้มีทักษะในการหลบหนี (หรือจะบอกว่าจารกรรมดี) พยายามหาของกินในฟาร์ม ได้ตกลงแต่งงานกับจิ้งจอกสาว และเมื่อเป็นครอบครัวแล้วครอบครัวจิ้งจอกก็ย้ายบ้ายไปอยู่ใต้ฐานของต้นไม้ ก่อนที่จะมีดราม่าครอบครัวทำให้คุณหมาป่าต้องตัดสินใจบุกขโมยของกินจากในฟาร์มของชาวไร่ที่อยู่แถวนั้น ก่อนที่ชาวไร่จะเกรี้ยวกราดและบุกเข้ามาขุดต้นไม้ที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นทั้งหมด คุณหมาป่าจึงทำการรวมพลสรรพสัตว์ในท้องที่เพื่้อก่อแผนอาชญกรรมสุดแจ่มเพื่อให้ชีวิตของพวกเขาอยู่รอด
Coraline (2009)
ในเรื่อง Fantastic Mr. Fox เราบอกว่าผู้กำกับ เฮนรี่ เซลิค ตัดสินใจไปทำหนังเรื่องอื่น หนังเรื่องที่ว่าก็คือ Coraline ที่เป็นการดัดแปลงหนังสือของ นีล ไกแมน อีกทีหนึ่ง และหนังสือเล่มนี้ก็ดูเหมาะกับสไตล์งานของ เฮนรี่ ที่มีความดาร์คแฝงอยู่นิดๆ จนเขารับหน้าที่ทั้ง กำกับ เขียนบท และร่วมโปรดิวซ์ภาพยนตร์นี้ด้วยตัวเอง รวมถึงว่า Laika Enterainment ที่เป็นผู้ผลิตอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็เป็นบริษัทที่ถนัดในการสร้างงานสต็อปโมชั่นอยู่แล้ว ตัวงานจึงออกมามีเสน่ห์และน่าสนใจตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกรวมถึงเนื้อหาด้านใน
โครอลไลน์กับโลกพิศวง เล่าเรื่องของเด็กหญิง โครอลไลน์ โจนส์ ที่ย้ายไปอาศัยยังบ้านหลังใหม่และเธอก็รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่สนใจอะไรเธอเท่าไหร่นักในช่วงนี้ ระหว่างนั้นเธอก็ได้รับตุ๊กตาที่หน้าตาเหมือนตัวเธอจากเพื่อนบ้านคนใหม่ และสุดท้ายตุ๊กตาตัวนั้นกับหนูตัวหนึ่งก็ได้พาเธอไปโลกอีกใบหนึ่งที่ดีกว่าโลกแห่งความจริง จนกระทั่งเธอได้พบว่าสิ่งที่โลกอีกใบต้องการคือการกักขังเธอเอาไว้ในโลกต่างมิติ โครอไลน์พยายามที่จะกลับโลกเดิม แต่แม่มดจากอีกโลกก็ลักพาตัวพ่อแม่เธอไปแล้ว ทางเดียวที่เธอจะรอดจากเหตุการณ์นี้ไปได้ก็คือการช่วยเหลือวิญญาณเด็กคนอื่นๆ ที่ถูกหลอกมาก่อนเธอและต้องตามหาพ่อแม่ตัวจริงที่หายตัวไปให้เจอ
หนังได้รับความสำเร็จพอตัว แต่หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองหลงหูหลงตาจากหนังเรื่องนี้เพราะหนังไม่ได้ถูกจัดจำหน่ายผ่านบริษัทจัดจำหน่ายชื่อใหญ่ของโลก จนหลายคนเพิ่งได้ดูตอนที่หนังเรื่องนี้ลงแผ่นนั่นเอง
ParaNorman (2012)
Laika Entertainment กลับมาปล่อยภาพยนตร์สต็อปโมชั่นอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างหุ่นภายในเรื่องด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติแบบสี (ก่อนหน้านี้ใน Coraline พิมพ์งานส่วนหนึ่งจากเครื่องพิมพ์สามมิติ) และใช้กล้องกว่า 60 ตัวในการถ่ายทำงานสต็อปโมชั่นทำให้การเคลื่อนไหวในเรื่องดูลื่นไหลและมีมุมมองหลายต่อหลายมุมได้ ส่วนตัวเนื้อเรื่องก็เขยิบออกมาจากแนวดาร์คแฟนตาซีมาเป็นแนวติดตลกเล็กๆ แต่ยังเกี่ยวข้องกับเด็กที่ถูกสังคมในท้องเรื่องมองข้ามอยู่เช่นเดิม
นอร์แมน คือ เด็กชายที่ไม่ธรรมดาเพราะเขาเห็นวิญญาณได้แต่คนส่วนใหญ่กลับคิดว่าเขาเพ้อเจ้อ แม้แต่ครอบครัวก็ยังไม่ค่อยยอมรับว่าลูกคนนี้เป็นลูกที่ปกติดี จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเหตุเภทภัยจากเหล่าผู้วายชนม์ และทำให้ซอมบี้ออกมาอาละวาดในเมือง ซึ่งเป็นผลพวงจากคำสาปที่เกิดขึ้นในเมืองเกิดของเขา นอร์แมน กับเพื่อนและครอบครัวรวมถึงชาวเมืองหลายๆ คนต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางหยุดภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่มาถึง
ผลพวงจากโครอลไลน์ทำให้คนดูรู้จักค่ายหนังสต็อปโมชั่นอนิเมชั่นกันมากขึ้น แต่หนังก็ยังหลุดรอดตาคนดูหนังไประดับหนึ่งด้วยปัญหาเดิมนั่นเอง
Anomalisa (2015)
หนังเล่าเรื่องของ ไมเคิล สโตน ชายวัยกลางคนที่ประสบความสำเร็จจากการเขียนหนังสือด้านการดูแลลูกค้า แต่กลับพบปัญหาของตัวเองที่พบว่าใบหน้าและน้ำเสียงของทุกคนนั้นเป็นเสียงเดียวกันหมด จนกระทั่งเขาได้เจอหญิงสาวชื่อ ลิซ่า ที่มีหน้าตาที่และนำเสียงที่แตกต่างจากคนอื่น
ถึงสต็อปโมชั่นจะแตะพื้นที่ส่วนที่มืดมนกว่าหนังอนิเมชั่นเรื่องอื่น แต่เรื่องที่ไปไกลจนคว้าเรต R ก็คือภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่คุยเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ แถมยังมีฉากอีโรติกที่คนดูจะได้เห็นดูหุ่นโชว์บอดี้เปล่าเปลือยเห็นเครื่องเพศอีกต่างหาก หนังเป็นการเขียนบทและกำกับของ ชาร์ลี คอฟแมน ที่เป็นผู้เขียนบทหนังสำรวจจิตใจคนอย่าง Being John Malkovich กับ Eternal Sunshine of the Spotless Mind มาก่อน ในงานชิ้นนี้เขาแค่เปลี่ยนมาเล่าเรื่องด้วยตุ๊กตาที่สร้างจากเครื่องพิมพ์สามมิติซึ่งช่วยสะท้อนภาพเหงาอย่างรุนแรงของตัวละครเอกในเรื่องได้ดียิ่งขึ้น
Kubo And The Two Strings (2016)
ผลงานอีกเรื่องของ Laika Entertainment ที่งานภาพสวยงามตระการตาแลกเป็นการกำกับครั้งแรกของ ทราวิส ไนท์ CEO ของบริษัทที่ก่อนหน้านี้ดูแลงานด้านอนิเมชั่นหรือเป็นแค่โปรดิวเซอร์มาโดยตลอด หนังปรับเอาเทคโนโลยีหลายอย่างมาใช้ ทั้งด้านเครื่องกลที่ช่วยควบคุมตัวละครขนาดใหญ่และคลื่นในเรื่อง กับมีการใช้กรีนสกรีนเพื่อเสริมเอฟเฟกต์เหนือจริงบางอย่างเข้าไป
ส่วนไอเดียในการสร้างเรื่องมาจากแรงบันดาลใจจากภาพอุคิโยะเอะ ของญี่ปุ่น กับภาพของ ไซโต้ คิโยชิ ซึ่งเป็นนักวาดที่ได้อิทธิพลจากยุโรปอีกทอดหนึ่งตัวงานเลยมีความปนเปกันของความเป็นเอเชียกับยุโรปอยู่อย่างเห็นได้ชัด น่าเสียดายที่หนังออกมากวาดรายได้น้อยไปหน่อย อาจเพราะปีที่เข้าฉายมีอนิเมชั่นกระแสดงออกมากันอย่างต่อเนื่องจนคนอาจจะมองข้ามเรื่องนี้ไปนั่นเอง
หนังเล่าเรื่องในญี่ปุ่นโบราณ คูโบ้ เด็กชายที่หาเลี้ยงตัวเองด้วยการใช้เวทมนตร์เล่านิทาน โดยควบคุมโอริกามิให้เคลื่อนได้ดุจมีชีวิต แต่เมื่อภัยร้ายจากอดีตพยายามมาคร่าชีวิตคูโบ้ แม่ของเขาจึงใช้พลังทั้งหมดช่วยเหลือลูกชายเพื่อไปตามหา เสื้อเกราะ ดาบ และหมวกของพ่อเขา เพื่อเอาชนะ มูนคิง และอสูรกายตัวอื่นๆ
ซึ่งหลังจาก Kubo แล้ว ทราวิส ไนท์ กำลังจะข้ามไปกำกับหนัง Bumblebee ภาคแยกของ Transforemers ที่เจ้ารถสี่เหลืองจะเป็นตัวเอกอย่างเต็มตัว
Isle of Dogs (2018)
เวส แอนเดอร์สัน น่าจะติดใจการทำสต็อปโมชั่นอนิเมชั่นพอสมควร เขาจึงกลับมาสร้างหนังแนวเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง โดยงวดนี้ เวส ขอชงเองกินเองทั้งการกำกับ ร่วมเขียนบท ร่วมพัฒนาเรื่อง ร่วมโปรดิวซ์ และสร้างหนังเรื่องนี้ที่เขาได้แรงบันดาลใจจาก Isle of Dogs ของจริง ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งอยู่ในเขตอีสต์เอนด์ของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับการทำหนังของ อากิระ คุโรซาว่า รวมถึงอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ที่มีหมาเป็นตัวละครเด่น อย่าง Wallace & Grommit เป็นอาทิ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ เล่าเรื่องราวของประเทศญี่ปุ่นในอนาคตสมมติที่โรคไข้หวัดหมาแพร่พันธุ์ทำให้เมืองเมงาซากิออกคำสั่งให้นำเอาหมาทุกตัวไปทิ้งที่เกาะขยะ และวันหนึ่ง อาตาริ โคบายาชิ ได้ขโมยเครื่องบินไปยังเกาะดังกล่าวเพื่อตามหาหมาชื่อ สปอต ในที่นั่นเขาได้รับการช่วยเหลือจากหมาๆ ที่รักเด็ก โดยที่เด็กชายก็ไม่รู้ว่าแผนการกำจัดหมาครั้งนี้มีการหวังผลทางการเมืองซุกซ่อนอยู่
ทั้งนี้ถ้าใครสงสัยจากตัวอย่างว่าทำไมน้องหมาในเรื่องถึงพูดภาษาอังกฤษ แต่ตัวละครหลักอีกหนึ่งตัวอย่าง อาตาริ โคบายาชิ ถึงพูดภาษาญี่ปุ่น ส่วนนี้่เป็นความตั้งใจของผู้กำกับที่อยากให้น้องหมาพูดภาษาหมา ซึ่งสื่อสารกับมนุษย์ที่ใช้ภาษาอื่นนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Youtube Channel: Shoegazer Productions
Youtube Channel: ChannelFrederator