เรารู้จัก ซอย | soi ผ่านการโปรโมตซีรีส์ ‘Damned Be Patriarchy | พอกันที ปิ(ด) ตาธิปไตย’ กับหนังสือที่วาดภาพโดยลายเส้นคุ้ยเคยของ Juli baker and summer หนังสือเล่มนั้นคือ Beyound gender binary แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน เขียนโดย อลก เวด-เมนอน (Alok Vaid-Menon)
ในแรกเริ่มเราเข้าใจว่า ซอย | soi คืออีกหนึ่งสำนักพิมพ์ที่เปิดตัวท่ามกลางคำถามว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยุคนี้มันตายหรือยัง? และเรายังสนใจด้วยว่าในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังขยับเพดานของหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งเรื่องของเพศ อัตลักษณ์ และปิตาธิปไตยก็เป็นหนึ่งในนั้น และดูเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าด้วยซ้ำ เพราะก็จะเกิดความไม่เข้าใจ การถกเถียง การกล่าวหาต่างๆ นานา ที่เราต่างได้เห็นผ่านตาบนโลกออนไลน์ อะไรทำให้ ซอย | soi ลุกขึ้นมาขยายบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน?
เราเดินทางไปยังพื้นที่ของทีม ซอย | soi ซึ่งอยู่ในย่านถนนนครสวรรค์ ซึ่งแต่ก่อน ย่านนี้เรียยกได้ว่าเป็นถนนของสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือเก่าแก่ และเป็นความประจวบเหมาะที่ ซอย | soi ก็ได้มาอยู่ร่วมในพื้นที่ ณ แห่งนี้
ในขณะที่สำรวจพื้นที่ เราได้เจอ พี่เจน – จุฑา สุวรรณมงคล เป็นคนแรก พี่เจน คือ บรรณาธิการบริหารของ ซอย | soi เรียกว่าเป็นคนที่ริเริ่มสร้าง ซอย | soi ขึ้นมา ก่อนที่ทีมงานคนอื่นๆ จะตามมาสมทบในการพูดคุย สร้างบทสนทนาของเรา ซึ่งมี เพลิน – ปาลิน อังศุสิงห์, บิ๊ก – ขจรยศ แย้มประดิษฐ์, เพ้นท์ – ชญานิน ไทยจงรักษ์ และ มุก – มุกดาภา ยั่งยืนภราดร (ซึ่งพี่เจนหลังไมค์มาบอกว่ามีสมาชิกใหม่เข้ามาอีกคนหลังเราพูดคุยกัน คือ ภาอรุณ ชูประเสริฐ)
ทีมเล็กๆ ที่ชื่อ ซอย | soi ได้พาเราเข้าสู่รูปแบบและสิ่งใหม่ๆ รวมถึงตัวบทที่น่าสนใจ ผ่าน ซอย | soi ที่ไม่ได้เป็นเพียงสำนักพิมพ์ แต่คือการขับเคลื่อนตัวบทอย่างรอบด้าน และผลักออกไปสู่สายตาสากล โดยรูปแบบของ ซอย | soi ในปัจจุบันแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ ซอย สำนักพิมพ์, ซอย วรรณกรรม และซอย สตูดิโอ
ทำไมต้องมีสามพาร์ตนี้ และแต่ละส่วนทำงานอย่างไร ซอย | soi มีความเชื่อแบบไหน และทำไมเขาถึงลุกมาทำงานด้านตัวบทในเวลานี้ เราชวนไปอ่านบทสนทนานี้กัน
จุดเริ่มต้นของ ซอย | soi เริ่มต้นมาจากไหน
เจน : เรียกว่าเป็นความตั้งใจที่มันมีมานานแล้วมากกว่า คงไม่สามารถหมุดหมายได้ว่าจุดเริ่มต้นแน่ๆ คือตอนไหน ที่ผ่านมา เราเดินเข้าออกในโลกศิลปะร่วมสมัยอยู่หลายปี เนื้องานที่ทำเกี่ยวพันอยู่กับตัวบท การอ่าน การเขียน การตีความ การแปล ไปจนถึงการโยงประเด็นและขยายต่อ การปะทะกับการเมืองของเรื่องเล่าและผู้เล่าเรื่อง มองดูความยอกย้อนของผัสสะการรับรู้ที่แทรกเข้ามาบ่งชี้การเมืองอย่างเงียบๆ ในทางกลับกัน เราก็สังเกตเห็นการเมืองที่ปรากฏผ่านร่องรอยในปฏิกิริยา อากัปกิริยา และสัญลักษณ์ของผู้คน การทำงานในโลกศิลปะที่ผ่านมาสอนให้เรารับมือและตั้งคำถามกับความลื่นไหลอะไรพวกนี้ได้หลายกระบวนท่ามากขึ้น ไปจนถึงชี้ชวนไปตรงการแสดงออกผ่านเครื่องมืออันหลากหลาย บางอย่างก็หวือหวาฟูฟ่า แต่บางอย่างก็แสนสามัญ ส่วนงานที่ปากว่าตาขยิบก็มีไม่น้อย สิ่งเหล่านี้โคตรจะเป็นการเมือง เพียงแต่ยังไม่ค่อยมีบทสนทนาเหล่านี้ในสื่อบ้านเราเท่าไหร่นัก นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้ผ่านการทำงานก่อนหน้าที่มีผลต่อการเริ่มต้นซอย
ที่สำคัญกว่านั้น เรามีความรู้สึกอยู่ลึกๆ ตลอดเวลาว่าพื้นที่ของการทำงานในโลกศิลปะที่วางใจกลางตรงการผลิตนิทรรศการ มันไม่สนองอะไรบางอย่างที่เราอยากที่จะผลักดันต่อไป ความคิดที่จะสร้างพื้นที่ขึ้นมาจึงอยู่ในใจมาค่อนข้างหลายปี แต่อีกนั่นแหล่ะ พอพูดถึงมิติทางเวลา แล้วถามหาจุดเริ่มต้น เราก็อาจสาวกลับไปได้ไกลกว่านี้อีกด้วย วรรณกรรมน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในชีวิตเรานะ ซึ่งนั่นก็อาจนับตั้งแต่การนั่งฟังนิทานที่พ่อเล่า และการได้อ่านหนังสือที่หลากหลายในวัยเด็ก การเรียนศิลปะร่วมสมัยก็ช่วยเพิ่มมิติที่มีผลสำคัญกับเราแน่นอน แต่คิดว่าส่วนที่หล่อเลี้ยงคำถามเรามากๆ คือพื้นที่บริเวณจุดตัดระหว่าง poetics กับ performance ที่กลายเป็นหัวข้อวิจัยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาของเรา
โดยเฉพาะช่วงที่ทำ fellowship อยู่ในนิวยอร์ก เราได้พบเจอผู้คนและมีบทสนทนาโดยตรงกับบางคนที่เราเคยอ่านหรือดูงานของเค้ามาก่อนหน้า มันเป็นช่วงเวลาที่การไต่ถามเกี่ยวกับกิจของการเขียน สื่อใกล้ตัวอย่างร่างกาย และความตายของคนใกล้ชิดมากองรวมกันพอดี ไม่รู้ฟังดูพิลึกไปหน่อยมั้ยนะ แต่ซอยเริ่มต้นสะสมอย่างช้าๆ มาทำนองนี้จริงๆ นี้ ต้องเสริมด้วยว่าโครงที่เราสร้างไว้มันเปิดพอจะปรับเปลี่ยนภายหลัง เพราะส่วนรายละเอียดหน้าตาใบหน้านั้นบอกได้เลยว่ามันคือการทำงานร่วมกันกับทีมที่ค่อยๆ ร่วมพัฒนา เรารู้สึกโชคดีมากที่มีทีมที่ดี ทุกคนในทีมมีส่วนสร้างซอยให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาทั้งนั้น มันไม่ได้มีแค่น้ำมือเราหรือเป็นความคิดของเราคนเดียวโดยสมบูรณ์ อันที่จริง เราไม่เคยเชื่อว่ามีงานไหนที่ใครจะเคลมแบบนั้นได้เลยด้วยซ้ำ
คนส่วนใหญ่อาจรู้จักซอยในฐานะสำนักพิมพ์น้องใหม่ แต่ในความจริง สิ่งที่พวกเราต้องการและกำลังทำกันอยู่นั้นเป็นมากกว่าแค่สำนักพิมพ์ เราอยากเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวกันอยู่โดยไม่พยายามจัดหมวดหมู่มันตายตัว ผู้คนอาจเรียกชื่อมันตามภาพปรากฏว่า เช่น เป็นข้อเขียนบ้าง เป็นหนังสือบ้าง หรือเป็นงานแปลบ้าง ไปจนถึงขอบเขตและความคาดหวังของงานบรรณาธิการ หรืองานที่เราลองผสมสูตรแปลกๆ ขึ้นมาเองบ้าง คำอธิบายของซอยที่เราได้ก็เลยออกมาเป็น ‘platform for writing, editing, publishing in the expanded field’ สามอย่างนี้ค่อนข้างนิยามความสนใจของซอยได้กว้างมากพอที่จะโอบรับเอาทุกอย่างเข้ามาอยู่ใต้ชายคานี้ ในขณะเดียวกัน มันก็เจาะจงมากพอที่จะทำให้เราได้ลงมือปลุกปั้นเชิงลึกไปได้ด้วย
เป้าหมายของ ซอย | soi คืออะไร
เจน : เป้าหมายของซอยก็บอกใบ้ตามชื่อนะ เราคิดว่าถนนใหญ่มักถูกออกแบบควบคุมโดยส่วนกลาง โดยใครซักคนที่ออกแบบเมืองขึ้นมา แต่ผู้คนสัญจรผ่านตรอกซอกซอยและอยู่อาศัยในนั้น พร้อมๆ กัน พวกเค้าก็จัดการหรือดัดแปลงพื้นที่นั้นไปตามชีวิตตัวเองด้วย เราไม่เห็นความรกรุงรังเป็นความน่าเกลียดเสมอไป เราควรรู้ว่าสุนทรียศาสตร์มันก็มีการเมืองอยู่ในนั้นมากมาย มันไม่เคยเป็นแค่ ‘รสนิยมส่วนตัว’ แต่มันมีที่มา มันอาจบอกทั้งแรงปรารถนา ความโหว่แหว่ง ความกลัว และกระทั่งความรุนแรงแฝงใน เช่น เราไม่เคยมองว่าการจัดการเมืองแบบเบ็ดเสร็จอย่างสิงคโปร์คือเมืองในฝันที่เราอยากอยู่เลย พูดง่ายๆ ก็คือ เราสนใจชีวิตที่เคลื่อนไหว ชุลมุนหน่อยสนุกดี พร้อมๆ กับเราก็อยากหาสปิริตที่ทำให้การเคลื่อนไหวนั้นมีพลังมากขึ้นได้ด้วย ในฐานะคนที่เชื่อในพลังของการอ่านและการเขียน เราก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้ยังทำงานเสมอไม่ว่าในยุคไหน แค่มันจะปรับเปลี่ยนหน้าตา ท่าทาง และภาษาของมัน
เราเชื่อว่าการขับเคลื่อนสังคมในทุกระดับต้องการวิธีคิดใหม่ๆ จินตนาการใหม่ๆ องค์ความรู้ใหม่ๆ เวลาพูดว่าองค์ความรู้ใหม่ๆ เราอยากเสริมต่อด้วยว่า อยากให้เป็นความรู้ที่ไม่หยิ่งผยองและไม่กดปราบให้ใครรู้สึกด้อยค่าต่อหน้าความรู้นั้น เพราะถ้าใครพูดถึงองค์ความรู้ จริงๆ เค้าน่าจะรู้ด้วยว่า สิ่งที่ยกมาเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความคิดที่เรียกร้องการประสานมือจากการรับรู้โลกในแบบอื่นๆ อีกมากมาย เราจึงเชื่อในความรู้ที่มีจินตนาการ ไม่ใช่ความรู้ตายตัวที่ใครใช้เพื่อชี้ถูกชี้ผิดหรือยกตนขึ้นเหนือ
เราอยากจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ช่วยหนุนเสริมบรรยากาศในแบบที่เราหวังจะมี หรือบทสนทนาที่เราได้มีในดินแดนอื่นๆ มาก่อนหน้า แล้วเรารู้สึกว่าตัวเองโหยหิวสิ่งนั้นในบ้านของตัวเอง ในเมื่อไม่มี ก็อยากสร้างขึ้นเอง มีหนังสืออีกหลายเล่มที่เรารู้สึกว่ามันน่าจะถูกพูดถึง มีงานของนักเขียนหลายๆ คนที่ไม่เคยถูกเอ่ยถึงเลย เราต้องการประสบการณ์การอ่านที่หลากหลาย เพราะเราไม่เชื่อว่าจะมีใครเก่งกาจชี้ทางสว่างหรือพูดอะไรมาก็ถูกต้องไปเสียหมด ดังนั้นการได้อ่านงานของนักเขียนจากหลายหลักแหล่งมันน่าจะดีต่อการเรียนรู้ แน่นอนว่าย่อมดีกว่ากว่าการบูชาชื่อซ้ำๆ และอ้างซ้ำๆ ถึงบรมครูกันอยู่ไม่กี่ราย
เห็นว่า ซอย | soi แบ่งเป็นสามพาร์ต คือ สำนักพิมพ์ซอย ซอยวรรณกรรม และ ซอยสตูดิโอ ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปของแต่ละพาร์ตได้มั้ย
เจน : โครงสร้างนี้ออกมาตามธรรมชาติมากเลย เราแค่คิดว่าจะทำอย่างไรให้การทำงานเข้าใจได้ง่ายที่สุด อธิบายให้คนอื่นเห็นภาพได้ไม่ยาก แต่ปรากฏว่าเราก็ยังต้องใช้เวลาอธิบายสิ่งนี้อยู่ดีนะ เรารู้ว่าต้องอาศัยเวลาเพื่อให้เห็นรูปธรรมอีกหน่อย เพราะนี่เพิ่งเริ่มอย่างทางการกันได้แค่ 6 เดือนเอง
ส่วนแรกคือ ซอยสำนักพิมพ์ (soi press) ซึ่งมี ‘มุก’ เป็นคนดูแล คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จักและเข้าใจส่วนนี้ดีที่สุด แทบทุกคนคนก็ได้รู้จักซอยในช่วงที่ผ่านมา ผ่านงานของฝั่งสำนักพิมพ์ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะว่านี่คือโมเดลที่ conventional มากที่สุด หมายความว่าทุกคนรู้ว่าสำนักพิมพ์ทำอะไร แล้วน่าจะมีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง
แต่ความทะเยอทะยานของเราคือ เราไม่ได้อยากเป็นแค่
สำนักพิมพ์ใหม่สำนักพิมพ์หนึ่ง แต่เราอยากทำให้พรมแดนของ
ความเป็นสำนักพิมพ์และความเป็นสิ่งอื่นมันเบลอเข้าหา
และเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้มากขึ้น
คือให้สามองค์ประกอบที่ออกแบบมานี้เป็นคนละด้านขององคพยพเดียวกัน เราเลยพยายามย้ำกับคนอื่นๆ ว่าซอยไม่สามารถถูกหั่นเป็นชิ้นเนื้อแล้วนำเสนอออกมาอย่างแยกขาดได้ซะทีเดียว เพราะองค์ประกอบต่างๆ ที่ว่ามันปะปนอยู่ตรงเนื้อในตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ
อย่าง soi literary หรือ ซอย วรรณกรรม ก็คือส่วนที่ ‘เพลิน’ เป็นคนรับผิดชอบหลัก ตรงนี้ต้องขอเท้าความสิ่งที่เป็นฐานสำคัญของซอย วรรณกรรม และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดร่วมในบทสนทนาระหว่างเรากับเพลินจนตกลงร่วมงานกันก็ว่าได้ ช่วงประมาณ 6-7 ปีหลังของการทำงานของเราในโลกศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเวลาเกินครึ่งคือใช้เวลาอยู่นอกประเทศ เราก็พบว่าจริงๆ แล้ว การสื่อสาร การแปลข้ามภาษานั้นสำคัญเสียเหลือเกิน มันช่วยแผ้วถางความชินชาในพื้นที่ตัวเอง และมันอาจช่วยเสนอมโนทัศน์ใหม่ๆ ผ่านการแลกรับนี้ด้วย แต่ขณะเดียวกัน การทำงานในโลกศิลปะนานาชาติที่มีคนหน้าซ้ำๆ เดินชนกันในเมืองโน่นนี่ มันเผยให้เห็นการเมืองของระบบตัวแทนนะ เป็นอภิสิทธิ์ที่กักกันไว้ให้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี พอจุ่มตัวอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น เราก็อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามตามไปด้วย เรากับเพลินเชื่อว่าต้นทุนที่มีควรถูกใช้เพื่อทุบทลายอภิสิทธิ์เหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อการผูกขาดให้เสียงตัวเองดังกลบเสียงอื่นที่พยายามจะหาทางพูดอยู่ และพวกเราเองรู้ว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้จากพื้นที่ในวงกว้าง จงแหวกตัวออกจากวงล้อมของแวดวงเสียดีกว่า
soi literary ก็เลยเป็นพื้นที่แบบ billingual เรามองว่านี่คือ infrastructure ที่ช่วยหนุนเสริมการทำงานร่วมกับนักเขียนไทย เราเริ่มต้นกับนักเขียนที่ผลิตงานออกมาแล้ว อาจมีอาชีพเป็นนักเขียนหรือไม่ก็ได้ โมเดลการทำงานส่วนนี้เรียกว่า ‘literary agency’ ที่เน้นการทำงานกับ publishers ในต่างประเทศ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้งานของนักเขียนไทยอยู่ในการรับรู้ของวงที่กว้างขึ้น เราไม่ได้ทำแค่ภาษาอังกฤษนะคะ เรายังดีลกับประเทศที่ใช้ฝรั่งเศส แล้วก็ญี่ปุ่น และจีนด้วย คนอาจยังไม่ค่อยรู้จักส่วนนี้ของซอย เพราะว่าจริงๆ แล้วมันใช้เวลาที่จะบ่มกันพอสมควร แล้วก็มันไม่ได้เป็นการผลิตอะไรออกมาเป็นระยะถี่ๆ ในแบบที่ soi press ทำ
ส่วน soi studio เป็นรูปแบบที่ใกล้กับสิ่งที่เราทำมาตลอดในโลกศิลปะร่วมสมัย งานของเราคือการทำงานกับตัวบท กระบวนการในการทำงานคือการ collaborate กับคนอื่นๆ หรือบางทีก็คือการเอาสิ่งที่เรามองเห็น เอาความสามารถในการเชื่อมโยงประเด็นเข้าไปทำงานกับคนที่อาจเป็นศิลปิน ดีไซเนอร์ สถาปนิก หรืออะไรอื่นๆ ก็ได้ ในพื้นที่ของศิลปะที่ค่อนข้างจะอนุญาตให้เกิดการทดลองแบบนี้ ซอย สตูดิโอก็เลยเป็นเหมือนกับเป็นการเปิดให้เราได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในท่าทีที่เปิดกว้างออกไป เช่นการสำรวจความเป็นไปได้ของการเขียนการพิมพ์ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบหนังสืออย่างเดียวก็ได้ บางงานก็เป็นลักษณะ consultant หรือบางงานก็อาจจะร่วมจัดอะไรด้วยกัน แล้วก็ในอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ทำก็คือ ซอยสตูดิโอเปิดไว้งาน commission เพื่อหาเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงซอยด้วย เรากำลังเริ่มผลักดันส่วนนี้อยู่ค่ะ
ทีนี้ถ้าให้ลงลึกไปในแต่ละพาร์ตของ ซอย | soi เริ่มจากสำนักพิมพ์ก่อน สำนักพิมพ์ซอยสนใจอะไร และมองหาต้นฉบับแบบไหน
มุก : เราคิดว่าหลักๆ เลยเป็นเรื่องของวัฒนธรรมวิพากษ์ แล้วก็แน่นอนว่าการตีพิมพ์หนังสือก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของคนในทีมซอยด้วย เป้าหมายของเราคือการพยายามดึงชุดความรู้หรือมุมมองต่างๆ ที่อาจยังไม่เคยปรากฏอยู่ในสังคมเรามานำเสนอ เลยไม่อยากจำกัดว่าเรามองแค่ประเด็นอะไรเฉพาะเจาะจงเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น อย่างเล่มที่ปล่อยออกไปแล้วก็เป็นทั้งเรื่องของการเมือง เป็นเรื่องของเรือนร่าง เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ และแน่นอนว่าก็มีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือแม้แต่สื่อกระแสหลัก เราคิดว่าก็คือความหลากหลายแบบนี้มากกว่าที่เราพยายามจะมองหา และก็อยากจะเผยแพร่ออกไปสู่สายตาของนักอ่าน
ทั้งนี้ใจกลางของหนังสือทุกเล่มที่ออกไป ถ้าดูดีๆ มันก็จะขมวดกลับมาสู่สิ่งที่ตั้งใจไว้ จะใช้คำว่าแผ้วถางทางก็ได้มั้ง หมายถึงว่าหนังสือหลายเล่มที่เราเลือกมานั้นเปิดทางให้กับรูปแบบของความรู้ หรือว่าชุดประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วก็สุ้มเสียงใหม่ๆ ของนักเขียนหรือนักวิพากษ์ต่างๆ ที่ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ในบริบทของสังคมไทย รวมถึงสิ่งที่เราก็อยากเอาเข้ามาให้คนได้รู้จัก เอามาเล่าให้ฟังว่ามันมีนักเขียนคนนี้ มีวิธีคิดแบบนี้อยู่ด้วยนะ
เจน : อย่างเล่มแรกที่ปล่อยคือ Hito (Hito Steryerl) มันก็เกิดจากการที่ 2-3 ปีก่อนหน้า เราได้มีโอกาสทำงานกับฮิโตะมาก่อน ตอนนั้นคือเป็นบรรณาธิการร่วมในหนังสือรวมบทความที่ผลิตเพื่อแจกจ่ายในงานเทศกาลศิลปะ เราได้เลือกบทความชิ้นหนึ่งของฮิโตะมาแปล พอหลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่เขียนบทความไว้เยอะมาก แล้วก็มีความสามารถในการโยงประเด็นต่างๆ ได้สารพัดท่า เราเห็นว่าในไทยเองยังไม่ค่อยมีงานเขียนที่สามารถข้ามพาดในหลายๆ สาขาวิชา เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรอบกรงของวิธีวิทยาและศาสตร์สาขาของตัวเอง เลยคิดว่าถ้าเริ่มจากตรงพื้นที่นี้ที่มี ศิลปะ เทคโนโลยี แล้วก็การเมืองมาอยู่รวมกันก็น่าจะสนุกดี เราอาจจะชวนคนอ่านคุยอะไรต่อได้จากตรงนี้ เราเป็นคนเลือกบทความจำนวน 16 ชิ้นขึ้นมาเอง ซึ่งบทความเหล่านั้นก็ก็กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ทั้งหนังสือและพื้นที่ออนไลน์ เราเก็บทีละส่วนแล้วทำให้มันมาอยู่ในพื้นที่เดียวกันสำหรับเวอร์ชั่นแปลไทย
มุก : ส่วนซีรีส์ ‘Damned Be Patriarchy | พอกันที ปิ(ด) ตาธิปไตย’ ก็แน่นอนว่าเป็นความสนใจส่วนตัวด้วยส่วนหนึ่ง เราเรียนจบปริญญาโทด้าน Gender Studies มา ที่จริงตอนแรกสุดเราก็เข้ามาหา soi ในฐานะนักแปล คือเราถือต้นฉบับภาษาอังกฤษเล่ม Beyond the Gender Binary นี่แหละ เข้ามาคุยกับพี่เจนว่าเราอยากแปลเล่มนี้ คุยไปคุยมาก็รู้ว่าตอนนั้นทางสำนักพิมพ์เองก็ถือต้นฉบับบางเล่มอยู่ในมือ และมีนักแปลที่ติดต่อเข้ามาในมือเหมือนกัน มีเล่ม The Promise of Happiness โดย Sara Ahmed, All About Love ของ Bell Hooks แล้วก็รวมถึงมีงานของ Jack Halberstam อีกเล่มหนึ่ง เช่นเดียวกับ Feminism For The 99%: A Manifesto ด้วย
เราก็เลยมองไปรอบๆ ด้วยตัวบทที่เรามี พยายามคิดขมวดมันขึ้นมาเป็นอะไรสักอย่าง แทนที่จะพูดถึงอย่างกระจัดกระจายออกไปทีละเล่ม ก็เลยออกมาเป็นซีรีส์ผลงานแปลอย่างที่ทุกคนได้เห็นกัน
คือหนังสือหรือแม้แต่สื่อในทุกวันนี้ที่เราเห็น เรียกว่าส่วนใหญ่ก็จะมีมุมมองที่อาจเป็นวิธีการผลิตสร้างความรู้ที่เป็นของผู้ชายผิวขาว มีฐานะเป็นชนชั้นกลางขึ้นไป และก็เป็นผู้ชายที่มีวิถีทางเพศแบบรักต่างเพศด้วย เราก็เลยคิดว่าหนังสือทั้ง 5 เล่มในซีรีส์นี้มันทำงานเพื่อมาคัดง้างกับเรื่องเล่าจากมุมมองปิตาธิปไตยแบบนั้น
เราก็คุยกับพี่เจน กับทีมแล้วเห็นตรงกันว่า อย่างหนึ่งที่หนังสือทุกเล่มในซีรีส์นี้ทำงานเหมือนกันคือการผลิตสร้างชุดความรู้อีกชุดหนึ่งที่เรียกว่ายังไม่เคยมีคนหยิบมาแปล หรือว่าอาจยังไม่เป็นที่สนใจมากนักในสังคมไทย ก็เลยพยายามขมวดรวมความหลากหลายของสุ้มเสียงเหล่านี้ที่กำลังทำงานสวนทางหรือต่อต้านชุดความรู้แบบปิตาธิปไตย
ปิตาธิปไตยมีผลอย่างไรจนเราต้องออกมาคุยกันเรื่องนี้
มุก : เป็นคำถามที่กว้างมาก (หัวเราะ) คือมันก็มีสิ่งที่เรียกว่าเป็นหลักฐานหรือเศษเสี้ยวอะไรเล็กๆ น้อยๆ ของสิ่งที่เราเรียกว่าระบอบชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตยเนี่ย อยู่ในสังคม วิธีคิด และก็ในวิถีชีวิตของเราทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าพอมองมันกว้างขึ้น ก็จะไปแตะกับประเด็นเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศด้วย
สิ่งที่เราอยากจะขยายความให้ชัดเจนคือ เวลาที่เราบอกว่าเรากำลังต่อสู้ หรือว่ากำลังหาอะไรมาคัดง้างกับปิตาธิปไตยอยู่ มันก็คือเหมือนเรากำลังจะสร้างวิธีการคิด หรือวิธีการมองโลกอีกแบบหนึ่งที่มันหลุดไปจากวิธีการมองที่เคยมีมาแต่ก่อน
ปิตาธิปไตยเหมือนร่มใหญ่ที่ครอบวิถีชีวิต กำกับวิธีการแสดงออก วิธีการใช้ชีวิต แล้วก็รวมถึงกำกับปฏิสัมพันธ์ที่เรามีกับคนรอบข้างด้วย เราเลยอยากจะเปิดให้มีเรื่องเล่าหรือชุดประสบการณ์ที่มาจากคนอื่นบ้าง เสียงอื่นบ้าง คนที่มีเพศภาวะที่แตกต่างออกไป มีวิถีทางเพศที่แตกต่างออกไป อยู่ในชนชั้นที่แตกต่างออกไป หรือว่าแม้แต่อยู่ในพื้นที่ของประเทศ ภูมิภาคที่แตกต่างไปบ้าง
แล้วเวลาอธิบายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศหรือปิตาธิปไตย เคยเจอปัญหาจากการคุยกันไม่เข้าใจมั้ย
มุก : เราคิดว่าความไม่เข้าใจเกิดได้หลายเหตุผลเหมือนกัน และหนึ่งในเหตุผลที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ ก็คือบางทีความไม่เข้าใจมันเกิดจากเพราะว่าเราไปปะทะกับเรื่องที่มันใหม่ แปลว่าเราแค่ยังไม่เคยชินเฉยๆ เป็นเสียงโทนที่เราอาจไม่เคยได้ยิน หรือเป็นวิธีการแสดงออกที่เราไม่คุ้นเคย ก็เลยนำไปสู่ความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่คุ้นเคย จนกระทั่งเรียกมันว่าเป็นความไม่เข้าใจไปเสีย เราเลยคิดว่าของแบบนี้มันเป็นอะไรที่ใช้เวลา ต้องค่อยๆ ทำให้คนเห็นบ่อยขึ้น หรือค่อยๆ รับรู้มันโดยไม่ต้องไปบังคับเขา หรือยัดเยียดให้เขา แบบเธอไม่เข้าใจเหรอ เธอเข้าใจเสียสิ
เพราะฉะนั้นการนำเสนอวิธีคิดใหม่ๆ
คือทำงานล้อไปกับเวลา ล้อไปกับ
ความเคยชินของคนมากกว่า
พวกคำต่างๆ หรือแม้แต่วิธีคิดต่างๆ เราคิดว่าครั้งแรกสุดเลยที่มันเข้ามาในสังคมหรือเข้ามาสู่สายตาคน ย่อมต้องมีปฏิกิริยาตอบรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะต่อต้านในทีแรก หรือเอ๊ะ สงสัย เกิดความไม่เข้าใจ แต่ว่าพอมันถูกพูดถึงบ่อยครั้งขึ้น หรือผ่านสายตาบ่อยครั้งขึ้น มันก็เปลี่ยนไปสู่ทิศทางต่างๆ ได้หลากหลายขึ้น เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการปะทะสังสรรค์ทางความคิดมันจะเกิดขึ้นด้วยบรรยากาศแบบนี้แหละ คือคนเริ่มคุ้นเคย และหยิบมันมาเถียง มาวิพากษ์กันในพื้นที่ออนไลน์ หรือในพื้นที่ในสังคมมากขึ้น
ความยากในการทำสำนักพิมพ์ในยุคนี้คืออะไร เพราะก็จะได้ยินคนพูดกันว่าคนอ่านหนังสือน้อยลง
เจน : เราคิดว่าคนที่พูดแบบนั้น เค้าพูดจากการคาดเดามากกว่าข้อเท็จจริง แต่เราเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเรามากกว่าการทึกทักเอาเพียงเพราะมันสะดวกปาก ก่อนอื่นเลย เราขอแชร์สิ่งที่เราได้ยินบ่อยๆ เวลามีคนสรุปรวบเอาว่า ซอย | soi คือ ‘สำนักพิมพ์’ เท่านั้น สิ่งที่บางคนพูดกลับมาก็คือทำไมยังเปิดสำนักพิมพ์อีกตอนนี้? ซึ่งทุกคนที่พูดอย่างนี้มา มักเป็นคนที่โตกว่าเราทั้งนั้นนะคะ เป็นคนที่มีมุมมองว่าโลกออนไลน์ และออฟไลน์คือโลกที่แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงแบบทวิลักษณ์ ทำให้มีสมมติฐานว่า เด็กรุ่นใหม่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์ และนั่นหมายความว่า พวกเขาไม่สนใจสื่ออื่นที่มันไม่อยู่บนแพล็ตฟอร์มเดียวกัน เราคิดว่าจริงๆ มันเป็นการรวบรัดในแบบที่ไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไร คือเราไม่คิดว่าคนอ่านหนังสือน้อยลงนะคะ แต่ว่าการให้ความหมายและความสนใจ ไปจนถึงประเด็นที่เขาอ่านต่างหากที่เปลี่ยนไป ส่วนตัวเราคิดว่าคนอ่านกว้างขึ้น สนใจในสิ่งที่หลากหลายมากขึ้น ไม่เชื่อใน monolithic knowledge อีกต่อไป มันน่าหมดซะทีนะ ไอ้ความเป็น ‘เจ้า’ ทางความรู้ หรือเป็น ‘ปราชญ์’ ทางการวิเคราะห์อยู่หนึ่งเดียว หรือสงวนไว้ไม่กี่คนเนี่ย ไม่มีใครเป็นเทวดาแบบนั้น เราควรจะล้มไปพร้อมกับสถาบันอันศักดิ์สิทธิแบบอื่นๆ ในสังคมนั่นแหละ
ทีนี้ เพื่อกลับมาตอบว่า ทำสำนักพิมพ์ยากในยุคนี้ยากง่ายยังไง เราเองก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะตอบได้ดีเพราะตัวเองเพิ่งเริ่มไม่ถึงปี ประสบการณ์จึงน้อยมาก แต่สิ่งที่เรารู้คือ การเปิดสำนักพิมพ์มันไม่เคยเป็นธุรกิจที่ฟู่ฟ่าอยู่แล้วตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะยุคนี้หรือยุคไหน นั่นหมายความว่าไม่ว่าคุณจะเปิดสำนักพิมพ์ในเมื่อ 50 ปีที่แล้ว หรือตอนนี้เนี่ย มันก็ยังมีความจริงร่วมกันอยู่ว่า คุณไม่ต้องหวังว่าจะร่ำรวยฟู่ฟ่าจากการทำธุรกิจนี้เลย โอเค มันอาจจะมีกรณีที่สำนักพิมพ์หรือนักเขียนร่ำรวยจากหนังสือที่โด่งดังและวางขายทั่วโลก แต่สิ่งนี้ก็ไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้จากหนังสือภาษาไทย มันคือเงื่อนไขของภาษาที่ชี้จำนวนผู้อ่านและปริมาณของทุน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำอยู่นี้มันยังมี return ในรูปแบบอื่นที่เราปรารถนา ความจริงที่เราเจอก็คือ นักอ่านรุ่นใหม่ๆ เซอร์ไพรส์เรา เพราะเราพบว่าเค้าอ่านงานของนักคิดนักเขียนที่คนรุ่นโตกว่าไม่สนใจ ไม่ได้ตาม หรือตามไม่ทัน
อย่างช่วงก่อนปีใหม่ ทีมทำ puzzle ที่มีคำแล้วก็บอกว่าไหนลองเดาซิ ว่าปีหน้าเราจะพิมพ์เล่มอะไร แล้วก็มีคนที่ตอบขนาดว่า ไม่ใช่แค่ชื่อนักเขียน แต่บอกด้วยว่าเล่มไหนของนักเขียนคนนี้ แล้วบางเล่มเราไม่คิดว่าจะมีคนรู้จักหรือสนใจอ่านมากมายขนาดไหน เพราะเราวัดเอาจากประสบการณ์ก่อนหน้าที่คุยกับคนบางกลุ่มแล้วเค้าก็จะไม่เคยได้ยินชื่อนักเขียนเหล่านี้เลย แน่นอนเราหวังให้การอ่านมันขยายวงกว้างกว่านี้ไปเรื่อยๆ และเราคิดว่ามันพัฒนาไปได้มากกว่านี้ได้อีก เราเองเชื่อว่าคนไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง ส่วนเค้าจะอ่านด้วยท่าทีไหน บนเครื่องมือแบบไหนก็เรียกว่าการอ่านได้ทั้งนั้น และนั่นก็คือฟอร์มหนึ่งของหนังสือได้ด้วย
บางทีเค้าอาจแค่ไม่ได้อ่านสิ่งเดียวกับที่คุณอ่านก็ได้
เค้าอาจไม่ได้สนใจบูชานักคิดนักเขียนแบบที่คุณบูชา
นึกออกปะ นอกจากการสนับสนุนการอ่าน มันควรทำลายช่วงชั้นของการวัดวางความรู้ ความไม่รู้ด้วย เราว่าความรู้มันก็เหมือนกับชีวิต คือมันเปลี่ยนตลอด บางอย่างตายแล้วตายเลย แต่บางอย่างตายแล้วรื้อฟื้นกลับมามีพลังกว่าเดิมก็มีได้ด้วย คุณไม่มีวันเป็นผู้รู้ไปตลอด เพราะโลกมันเปลี่ยนตลอดเวลา
ถ้ามองว่าสำนักพิมพ์คือ ‘สื่อ’ ชนิดหนึ่ง แต่เป็นสื่อที่ขยับเคลื่อนไหวในเงื่อนไขของเวลาและประเด็นคนละท่าที สำนักพิมพ์ไม่ใช่สื่อรายวันที่ต้องจับประเด็นให้ทันเหตุการณ์ทันควัน แต่มันควรทำหน้าที่ย้อนคิดและผลักประเด็นต่อได้ เราจึงเชื่อว่าสื่อไม่ได้ obsolete ในตัวมันเอง คนยังต้องการสื่อนะคะ การเรียกร้องทางการเมือง กระบวนการเคลื่อนไหวก็ยังถามหาสื่อกันอยู่เลย จริงมั้ย? สื่อจะ obsolete ถ้าสื่อนั้นไม่ร่วมวงไตร่ตรองภาวะปัจจุบันไปกับสังคม ถ้าสื่อปิดตาต่อชะตากรรมของผู้คนในประเทศ หรือบอดใบ้จนไม่ได้ยินเสียงเพรียกหาจากอนาคต สื่อที่ไม่สนใจความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเหล่านี้ที่จะตายอย่างไม่มีวันฟื้น ซึ่งเป็นทำนองเดียวกับสำนักพิมพ์ คุณมีภาพของการเป็นสำนักพิมพ์ยังไงล่ะ ท่าทีของการครุ่นคิดหรือของความรู้มีแบบไหนได้บ้าง แล้วเราผลิตความรู้ชุดไหน มันมาหนุนส่งความสัมพันธ์แบบไหน สิ่งที่เราผลิตนั้นชุบชูความใฝ่ฝันและจินตนาการทางสังคมแบบใหม่ได้แค่ไหน หรือสิ่งที่เราผลิตมีไว้เพื่อสื่อสารกับใครบ้าง เราคิดว่าคนทำงานก็ต้องถามตัวเองให้มากๆ ถ้าเราไม่อยากหลอกตัวเอง
สิ่งที่ ซอย | soi แตกต่างไปจากที่อื่น
เจน : เราไม่อยากตอบในลักษณะเปรียบเทียบ และคิดว่ามันตอบแบบนั้นไม่ได้ด้วย เพราะเราเองไม่เคยไปนั่งในพื้นที่ของคนอื่น เราไม่มีทางรู้หรอกว่าคนอื่นทำงานกันยังไงใช่มั้ย แต่เราพอจะตอบได้ว่าซอยให้ความสำคัญกับอะไรบ้างและเราทำงานกันยังไง อย่างแรกคือ ซอยตั้งใจที่จะให้ ‘เวลา’ กับกระบวนการทำงานมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เราจะไม่เร่งกระบวนการ ตัวอย่างเช่น เราไม่มองว่าการผลิตแปลหนังสือมันมีแค่การโยนให้นักแปล แล้วนักแปลโยนกลับมา บก.ตรวจทานแล้วเป็นอันเสร็จส่งโรงพิมพ์ คุยกับมุกเรื่องนี้บ่อยๆ เรื่องสิ่งที่เราเรียกร้องจากนักแปลให้ engage กับตัวบทมากกว่าการแปลเสร็จแล้วจบกันเลย มีหลายครั้งที่เราแปลแล้วแปลอีก อ่านกันหลายรอบจนอาจจำบางท่อนได้จนขึ้นใจ ถ้างานชิ้นไหนต้องใช้เวลานานกว่าที่วางไว้เราก็จะยอมให้มันใช้เวลาไป
แน่นอนว่า ถ้าใครมองในแง่ธุรกิจ การปล่อยให้นาฬิกาหมุนนานเกินไปมันก็คือต้นทุนที่เราต้องแบกโดยไม่เกิดรายได้กลับเข้ามา จุดนี้คงไม่ใช่ความต่างอะไร เพราะเราคิดว่ามันเป็นปัญหาร่วมของสำนักพิมพ์ที่มุ่งหมายจะผลิตงานมีคุณภาพออกมาให้ได้ ในฐานะคนบริหาร เราเองก็ยังเรียนรู้อยู่เพราะมีเรื่องให้ต้องปรับปรุงตลอดเวลา มีหลายอย่างที่ต้องเอามาคิดเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด
แน่นอนว่า เราไม่เห็นด้วยว่าสื่อต้องประนีประนอมกับความซับซ้อนของเนื้อหา พูดอีกด้านคือ เราไม่คิดว่าต้อง dumb down เนื้อหาลงเพราะถ้าคิดแบบนี้เท่ากับดูถูกคนอ่านอยู่นัยทีรึเปล่า บางทีเราก็สงสัย แต่ขณะที่ซอยยืนยันจะเสนองานในแบบที่ไม่ลดทอนอะไรในตัวบท เราเองก็ไม่เชื่อในชนชั้นของชุดความรู้ด้วย เราจะไม่ทำท่าทีทำนองว่าถ้าเกิดว่าไม่รู้ก็ไม่ต้องตามฉันมา หรืออยู่ในความเชื่อผิดๆ ว่าความเข้มแข็งและจริงจังของตัวบทมันอยู่ในแค่ฟอร์มเดียว และมีความดีงามสูงสุดนั้นอยู่ ซอยอยากเสนอเนื้อหาที่แต่ละชิ้นอาจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ประเด็น แต่รวมไปถึงกลวิธี น้ำเสียง รวมถึงระดับความยากง่ายของตัวบทด้วย โดยที่เราไม่มองว่าอะไรดีกว่าอะไร งานวิชาการอ่านยาก น่าเบื่อ แถมไม่มีอะไรในนั้นก็มีอยู่ถมเถไป
เราเพิ่งได้ยินคนบอกว่า นักเขียนที่เขียนลง Read A Write ‘ไม่นับเป็นนักเขียน’ เรารังเกียจการ police ในทุกรูปแบบมากๆ มันไม่ใช่ criticality อย่างที่หลงคิด แต่มันคือความคับแคบและไร้จินตนาการก็เท่านั้นเอง ในแง่หนึ่งเราคิดว่ามันก็กลายเป็น political choice ที่หนังสือเล่มที่สามของสำนักพิมพ์ซอย [ถ้อยแถลงเพื่อเรา 99%] ปล่อยฉบับอ่านฟรีลงบทแพลตฟอร์ม ‘สมัครเล่น’ อย่างที่บางคนว่าไว้
สุดท้ายคือ ซอยต่อต้านการสงวนสิ่งพิมพ์ไว้เพียงแค่คนบางกลุ่ม
เพราะเรายังเชื่อว่าทุกคนอ่านสิ่งที่เราผลิตออกมาได้
และเราอยากสื่อสารกับคนวงกว้างเท่าที่งานจะพาไปได้
เรารู้ว่ามันไม่ได้ง่ายหรอก หนังสือมีข้อจำกัดของมันเองอยู่มากมาย แต่อย่างน้อยในแง่ของการทำงานกับตัวบท พวกเราก็พยายามตระเตรียมข้อมูลรายล้อมตัวบทที่จะช่วยให้ประสบการณ์การอ่านของแต่ละคนมีเนื้อหนังให้แวะพิงหรือคุ้ยค้นลงไปได้บ้าง อีกอย่างที่อยากจะบอกคือ ในเมื่อนักเขียนต้องใช้เวลาในการผลิตงาน แก้แล้วแก้อีก ปรับแล้วปรับอีก บางครั้งขยำทิ้งแล้วทำใหม่หมดก็มี เราคิดว่านักอ่านก็ควรให้เวลาตัวเองเช่นกัน เราอยากสนับสนุนให้ผู้อ่านใช้เวลากับตัวบท ถ้ามันกลืนยากรอบแรก ค่อยแวะกลับมารอบใหม่ก็ได้
ส่วนตัวเราคิดว่า publisher เองต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรให้กับคนอ่านตั้งแต่แรกด้วย พวกเราเองก็คิดหาวิธีกันไปเรื่อยๆ ส่วนตอนนี้ที่ทำ ตัวอย่างเช่น เพ้นท์จะช่วยสำนักพิมพ์ค้นคว้าประเด็นที่สัมพันธ์กับตัวบทแปล อาจจะเป็นข้อมูลในบริบทไทยที่จะสามารถเทียบเคียงกับตัวอย่างที่มีอยู่ในตัวบท เพ้นท์อยู่ด้วยมาทั้งสองเล่มเลย ทั้งฮิโตะและเล่มของอลก แล้วก็รวมถึงเล่มล่าสุดที่กำลังจะออกมานี้ด้วย อย่างที่บอกว่า เพ้นท์เข้ามาทำงานด้วยคำถามที่ว่า อะไรบ้างที่ทำให้คนคนหนึ่งเป็นนักเขียนที่ดี คือเรารู้สึกว่ามันเริ่มจากการอ่านที่ดี และก็การค้นคว้าที่ใส่ใจ น่าจะให้เพ้นท์ลองแชร์ดูนะ
เพ้นท์ : หน้าที่ของเราคือผู้ช่วยบรรณาธิการ ถ้าให้เล่าถึงความรับผิดชอบหลักๆ ก็จะเป็นการช่วยพี่มุกกับพี่เจนนั่นแหละ คือหนังสือที่ซอยทำจะค่อนข้างละเอียด มันจะมีทั้งเซคชั่น footnotes บางเล่มก็จะมี endnotes ท้ายเล่ม อย่างหนังสือรวมบทความของฮิโตะก็มีอภิธานศัพท์อีก ตรงนี้คือเราจะเข้ามาช่วยทำรีเสิร์ช หาความเกี่ยวข้องของตัวบทต้นฉบับกับบริบทวัฒนธรรมที่จับต้องได้มากขึ้น หาคำอธิบายว่าแต่ละคำที่เป็นศัพท์เฉพาะมันแปลว่าอะไร แล้วก็ช่วยหาข้อมูลในส่วน expanded reading ทั้งที่อยู่ในเว็บและในหนังสือซึ่งก็คือบทอ่านภาคขยายที่ซอยนำเสนอเพื่อชวนคุยต่อไปจากเนื้อหาในหนังสือ
เหมือนสิ่งที่เราทำจะเป็นการทำงานต่อจากหนังสือไปอีกหน่อยเพื่อให้แน่ใจว่าผู้อ่านจะเข้าใจและเข้าถึงสิ่งที่หนังสือหรือบทความนี้กำลังสื่อสารอยู่จริงๆ นอกจากนั้นก็จะมีส่วนของการปรู๊ฟหนังสือ คือเช็คความถูกต้องของภาษาและข้อมูล ถ้าเกิดว่านักแปล แปลมาแล้ว พี่มุกก็จะให้มาผ่านตาเราก่อน ว่าโอเคไหม แล้วพี่มุกก็มาต่ออีกรอบหนึ่ง เหมือนช่วยๆ กันกรอง
เรามาหาพี่เจนด้วยความรู้สึกว่าอยากทำงานเขียน ซึ่งพี่เจนก็บอกว่าให้ลองเริ่มจากการอ่านอย่างตั้งใจดู แล้วเราก็พบว่าหนังสือต่างๆ ที่ซอยทำก็ค่อนข้างจะเปิดขอบฟ้าความคิดเราเหมือนกัน ด้วยความที่มันเป็นหนังสือที่ยังไม่ค่อยได้เห็นในแวดวงหนังสือในประเทศไทยมาก่อนด้วยมั้ง มันเลยชี้ให้เราเห็นถึงประเด็นหลายๆ อย่างที่ส่วนมากก็เป็นเชิงวัฒนธรรมที่วนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรานี่เอง ซึ่งเราก็คิดว่าการมองเห็นไปจนถึงการพยายามทำความเข้าใจประเด็นพวกนี้แหละที่มีส่วนในการเกลาให้งานเขียนที่นักเขียนคนหนึ่งผลิตออกมามันมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ในส่วนของพาร์ต ซอย วรรณกรรม (soi literary) พาร์ตนี้ทำอะไรบ้าง
เพลิน : มันเป็นอีกพาร์ตหนึ่งของ soi ที่ทำงานคล้ายๆ รูปแบบของ literary agency ซึ่งเป็นโมเดลที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมหนังสือต่างๆ ทั่วโลก literary agency คือคนหรือหน่วยงานที่ทำงานกับนักเขียนเพื่อนำเสนองานของพวกเขาให้ได้ถูกตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ในประเทศต่างๆ และเป็นคนดูแลเรื่องลิขสิทธิ์และผลประโยชน์ให้กับนักเขียน ตั้งแต่เริ่มทำงานมาเราก็พบว่ามันก็มีความพยายามที่จะทำแบบนี้อยู่ในไทยบ้างแหละ แต่มันมีอยู่น้อยมาก ที่จะมีกลุ่มคนที่ทำงานกับนักเขียนไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อให้งานเขียนถูกแปลไปเป็นภาษาอื่นหรือถูกตีพิมพ์และจัดจำหน่ายไปสู่ผู้อ่านทั่วโลกโดยเฉพาะ แต่จริงๆ แล้วปัญหานี้มันมีหลายปัจจัยมากโดยเฉพาะเมื่อมันแทบไม่มีแรงสนับสนุนจากภาครัฐเลย สิ่งที่ซอย วรรณกรรม พยายามจะทำก็คือบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหานี้และพยายามหาลู่ทางความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับนักเขียนไทยรุ่นใหม่ๆ เพื่อให้วรรณกรรมไทยได้เข้าไปมีบทบาทในการสร้างบทสนทนากับคนอื่นบ้าง
อย่างที่พี่เจนได้เกริ่นไว้ตอนต้น มันไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนภาษาได้อย่างง่ายดาย ทั้งหมดนี้อาศัยต้นทุนทางสังคมล้วนๆ ซอย วรรณกรรมจึงเกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่จะค่อยๆ ทำลายกำแพงทางภาษาและอภิสิทธิ์เหล่านี้ เพื่อเปิดทางให้เราสามารถสร้างบทสนทนากับสำนักพิมพ์ และคนทำงานเกี่ยวกับงานเขียนหรืองานแปลในบริบทอื่นๆ เพื่อก่อให้เกิดวิธีการรับรู้ใหม่ๆ วิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อมาส่งเสริมการทำงานเขียนในพื้นที่ของเราเอง อันนี้ก็เลยเป็นจุดหนึ่งที่ไปเสริมว่าทำไม soi literary มันถึงคาบเกี่ยวกับ soi press หรือส่วนอื่นๆ ของ soi เพราะว่ามันก็คือ การขยายพื้นที่ทางการรับรู้ และก็การทำงานของ soi ด้วย ไม่ใช่แค่ทำงานอยู่ในไทย แต่ว่าเอื้อมมือออกไปหาคนที่ทำงานคล้ายๆ เราข้างนอกด้วย
จริงๆ แล้ว literary agent เป็นสายงานที่ commercial มากเลยนะคะ มันคือการทำงานอยู่บนพลวัตของการซื้อขายลิขสิทธิ์งานเขียน อย่างที่บอกไป ในการทำ business แบบนี้ เราก็มี agenda ทางการเมืองของเราด้วย คือเมื่อตัวเราเอง นักเขียน และนักแปลทำงานอยู่ในบริบทที่มันมีข้อจำกัดมากมาย เราก็ต้องคิดว่า business model ของ literary agency มันจะทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและยุติธรรมมากที่สุดกับทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกอย่างสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากคือคุณภาพของตัวบทและวิธีการที่เราจะนำเสนอ ไม่ใช่มีหนังสือเล่มหนึ่งมา แล้วต้องรีบหาใครก็ได้เลยที่อยากจะซื้อ คือเราต้องมั่นใจว่าพอมันไปถึงที่อื่นแล้วตัวบทจะได้รับการดูแลอย่างดีโดยสำนักพิมพ์ข้างนอก และเขาสามารถจะส่งต่องานของเราไปสู่คนได้ในวงกว้างอย่างไรบ้าง
แล้วตอนที่ดีลกับนักเขียนไทย คุยกับเขาอย่างไรบ้าง เขาเข้าใจเราแบบไหน
เพลิน : ตอนนี้นักเขียนที่เราทำงานด้วยยังมีน้อยมาก เพราะว่าเราเพิ่งเริ่มใช่ไหมคะ เราเลยมองมันเหมือนว่าเป็นการเดินทางร่วมเดินทางด้วยกันมากกว่า เดินทางไปในทิศทางที่เราอาจไม่รู้ด้วยว่ามันจะนำไปสู่อะไร แต่ว่าเรารู้ระหว่างกันเองว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ณ ตอนนี้
แรกเริ่มเพลินเข้ามาทำงานกับ soi ในฐานะนักแปลมือสมัครเล่น เพราะยังไม่เคยแปลอะไรแล้วถูกตีพิมพ์ การทำงานนี้มันก็เลยเป็นเหมือนการสำรวจที่ทางของการทำงานของเราเองด้วยว่าจริงๆ แล้วเราไปได้ไกลแค่ไหน และมันมีความเป็นไปได้แบบไหนบ้างสำหรับการเป็นนักแปลวรรณกรรมในไทย
งานวรรณกรรมชิ้นแรกที่ได้มีโอกาสรับมาแปลก็คือเป็นงานแปลของพี่ม่อน อุทิศ เหมะมูล ที่เราเคยได้โปรโมตไปบ้างในโซเชียล มีเดีย ว่าเป็นโปรเจ็กต์แรกของ ซอย วรรณกรรม มันเป็นโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นมาด้วยความเชื่อใจระหว่างพี่ม่อน พี่เจน และเพลินเองด้วยว่านอกจากจะแปลให้มันมีต้นฉบับภาษาอังกฤษแล้วเนี่ย เราสามารถพาตัวบทนี้ไปทางไหนได้บ้าง แล้วก็ในระหว่างทางที่เพลินกำลังผลักงานพี่ม่อนเนี่ย เพลินอยากดูว่ามันมีช่องทางอื่น หรือว่าความเป็นไปได้อื่นๆ สำหรับนักเขียนไทยคนไหนบ้าง ที่เราคิดว่ามีศักยภาพที่จะทำงานด้วยได้
เป้าหมายของซอยในการพานักเขียนไทยออกไปสู่โลกข้างนอกคืออะไร
เพลิน : เพลินไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางวรรณกรรมไทย เพลินเข้าสู่การอ่านวรรณกรรมในฐานะนักแปลมากกว่า การแปลมันทำให้เราเรียนรู้ภาษาไทย หรือว่าองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในวรรณกรรมไทย เรายังไม่ได้มีประสบการณ์อ่านเยอะขนาดนั้น เพราะเพลินโตมากับการอ่านวรรณกรรมต่างประเทศซะส่วนใหญ่ แล้วจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยเป็นนักเรียนวรรณกรรมอยู่ที่ต่างประเทศ สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนมากคือร้านหนังสือในโลกตะวันตกแทบไม่มีวรรณกรรมที่มาจากไทยอยู่เลย หรือแม้กระทั่งงานเขียนจาก south east asia ก็แทบจะไม่มีอยู่ในแบบเรียนวรรณกรรมในมหาลัย
เพราะฉะนั้น agenda ที่สำคัญมากเลยของซอย วรรณกรรม
คือการขยายพื้นที่ให้ความรู้อื่นๆ ให้สามารถ
ไหลข้ามผ่านภาษาไปสู่ผู้อ่านได้มากขึ้น
อีกเป้าหมายหนึ่ง ก็อยากจะพูดถึงการกดราคาของนักแปลที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดมา การที่หนังสือเล่มหนึ่งจะถูกพิมพ์และถูกแปลเนี่ย แรงงานของนักแปลไม่ควรถูกกด หรือถูกมองข้ามไปจากตัวนักเขียนหรือหนังสือตีพิมพ์ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็มีส่วนในการสร้างงานออกมาการที่เพลินเข้ามาทำ literary agency ก็ค่อยๆ ทำให้เห็นปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่อุตสาหกรรมนี้เหมือนกันค่ะ
คิดว่ารัฐควรมีหน้าที่มาช่วยเหลือตรงนี้ด้วยไหม
เจน : คำถามคลาสสิกมากเลยค่ะ มีหลายอย่างที่เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐไม่เคยทำนะคะ
ในอุตสาหกรรมที่มันไม่ได้มีกำไรสูง ถ้าผู้คนต้องพยายามทำให้ตัวเองอยู่รอดในระบบกลไกตลาด มันอาจทำให้คนกล้าเสี่ยงกล้าทดลองน้อยลงเหมือนกัน หรือบางครั้งการอิงอยู่กับตลาด ราคาที่หลายคนจ่ายก็คือคุณภาพของการผลิตและการแปลที่ลดลง เพราะเวลาที่ใช้ไปเป็นปีๆ กับงานแปลมันคือ fixed cost มากมาย มันคือภาระที่วิ่งไม่หยุดในขณะระหว่างที่เรากำลังผลิตผลงาน หลายคนจึงต้องวางเงื่อนเวลาไว้เพื่อไม่ให้การผลิตใช้เกินกว่านั้น ถ้ารัฐรู้หน้าที่และเข้าใจว่าสิ่งผลิตทางความคิดในสังคมนั้นสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เขาควรจะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อไม่ให้การทำกำไรเป็นตัวบีบอัดกระบวนการผลิตมากเกินไป เหมือนกับการผลิตผลทางวัฒนธรรมในรูปแบบอื่นๆ เลย เช่นงานศิลปะและวัฒนธรรมที่ไม่ควรจะถูกกลไกตลาดมาชี้วัดการชี้ขาด จนลุกลามไปถึงการกำหนดว่าอะไรควรผลิตไม่ควรผลิต
จริงๆ ก็มีโมเดลมากมายในบางประเทศ ถ้ารัฐเห็นว่าพื้นที่ของการอ่านและการเขียนมันสำคัญ มันก็ควรอยู่ในวิสัยทัศน์ของการกำหนดนโยบาย แต่เราไม่คิดว่าจะหวังอะไรได้จากรัฐบาลชุดนี้ ดูสิว่าเรื่องปากท้องพื้นฐานรัฐบาลยังไม่สนใจทำอย่างจริงใจเลย
ในส่วนของ ซอย สตูดิโอ (soi studio) พาร์ตนี้ทำอะไรบ้าง
เจน : ก็เหมือนกับเป็นห้องแล็บในการทำงานทั้งทดลองภายใน หรือทำงานร่วมกับคนอื่นๆ นอกเหนือจากทีมเราเอง อย่างตอนนี้ ซอย สตูดิโอ กำลังผลิตแท็บลอยด์ให้กับงาน Bangkok Book Festival ทีมก็ปลุกปล้ำกับมันอยู่เพื่อให้เสร็จทันวันงานเดือนกรกฎาคม ส่วนอีกด้านของสตูดิโอก็คือการรับงานคอมมิชชั่นและที่ปรึกษาทั้งหมดนะคะ เพียงแต่ก่อนหน้านี้เรายังไม่ได้เริ่มส่วนนั้นกันมากนัก กำลังค่อยๆ ผลักส่วนนี้ออกไปให้เจอคนมากขึ้น เราอาจไม่ได้มีรูปแบบเดียวที่จะตอบได้ว่าซอย สตูดิโอ คืออะไร อันที่จริงแล้วมันขึ้นอยู่กับแต่ละแต่โปรเจ็กต์มากๆ เลย อย่างโปรเจกต์ที่กำลังดำเนินอยู่ในชื่อ ‘alt pub’ ก็เป็นการตีพิมพ์ที่อิงฝั่งของการทดลองทางศิลปะ จึงไม่อยู่ในกฎข้อบังคับของมาตรฐานสิ่งพิมพ์ เราอยากลองวางอยู่คู่ขนานไปกับสิ่งพิมพ์ในฝั่งสำนักพิมพ์ที่เดินตามสายพานการผลิตอย่างเที่ยงตรง
alt pub เกิดขึ้นมาจากไหน
เจน : alt pub ก็คือ alternative publication นั่นแหละ เราก็ใช้วิธีคิดของ zine เข้ามาทำงาน แต่นี่ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเลยนะ เท่าที่สังเกตเห็นปัญหาของวัฒนธรรมซีนในไทยคือตัวมันถูก depoliticize ไปเสียเยอะ ส่วนใหญ่กลายเป็นงานดีไซน์ที่ไม่พาเนื้อหาไปไหนได้ไกลเลย น่าเสียดายนะ เพราะความจริงงานดีไซน์ก็เต็มไปด้วยการเมือง เช่น การกำกับมาตรฐานการรับรู้และพฤติกรรมคน ส่วนจุดกำเนิดตั้งต้นของซีนเองก็พยายามงัดข้อกับภาวะจำกัดจำเขี่ยในบริบทหนึ่งๆ
ที่จริงในไทยมีซีนที่แนบแน่นอยู่กับบริบทนะ แค่ไม่อยู่ในพื้นที่ศิลปะ สิ่งพิมพ์อย่างใบปลิวและป้ายในม็อบนี่ก็ใช่เลย บิ๊ก (ดีไซเนอร์ของซอย) เคยทำรีเสิร์ชเรื่องสิ่งพิมพ์จำพวกเรียงเบอร์ ใบ้หวย และผ้าป่า เราว่าอะไรพวกนั้นก็น่าสนใจและมีสปิริตของซีนอยู่ในตัว สำหรับ alt pub เราเลยอยากถามว่าการพิมพ์มันเป็นแบบไหนได้อีกบ้าง เราตัดเครื่องทรงของกฎเกณฑ์สิ่งพิมพ์มันจะได้มั้ย อีกอย่างคือเราอยากหาวิธีทำให้หนังสือราคาถูกให้มากๆ แถมกระทัดรัดพอที่จะหย่อนใส่กระเป๋ากางเกงได้ด้วย บางเล่มก็จะประมาณ 40-50 บาท หรือก็มีบางเล่มที่ราคาประมาณ 80-100 บาท เราก็ใช้วิธี print-on-demand นะคะ รายได้ล็อตแรกๆ ก็จะเอามาจ่ายนักแปลในราคาเท่ากับการแปลงานชนิดอื่น ส่วนงานออกแบบก็ลดทอนความซับซ้อนลงด้วยการใช้ format ที่เหมือนกันหมดเลย
alt pub มีโปรเจ็กต์แรกคือ ‘ขบและข่วน’ ก็มีบิ๊กเป็นคนออกแบบ prototype ของหนังสือให้ไว้ ส่วนการหาบทความ เราก็จะใช้หลายกระบวนท่านะคะ ตั้งแต่ขออนุญาตนักเขียนในกรณีที่เจ้าตัวยังมีชีวิตอยู่ บอกเขาว่ากำลังทำอะไรอยู่ ปกติเขาก็จะให้ฟรี อย่างเราเมล์ไปคุยกับ ดอนน่า ฮาราเวย์ ก็ยินดีที่บทความของเค้าได้รับการแปลในภาษาไทย บางชิ้นก็ขอไปทางสนพ. บอกเค้าว่านี่คือโปรเจ็ค non-commercial เช่น Verso ที่ผ่านมาเค้าก็จะให้เราฟรีนะ อาจเพราะเค้ารู้ว่าเราทำอะไร แต่มันก็มีเล่มที่ใช้วิธี pirate เอาเลยด้วย คือมันหาได้ตามอินเตอร์เน็ต นักเขียนตายแล้ว และในอีกด้าน เราสงสัยว่าการผลิตหนังสือที่อยู่ในระบบลิขสิทธิ์ตลอดเวลาเนี่ย บางครั้งมันปกป้องนักเขียนหรือปกป้องทุนกันแน่ แต่แน่นอนว่าเรื่องลิขสิทธิ์หรือสินทรัพย์สาธารณะเนี่ยต้องคุยเป็นอีกหัวข้อใหญ่เลย สรุปสั้นๆ ก็คือ alt pub ไม่ได้ใช้ขั้นตอนของอุตสาหกรรมสายพานการผลิต วิธีการนี้ใช้กันเยอะในโปรเจ็กต์ศิลปะที่ใช้สิ่งพิมพ์เป็นสื่อหรือกระบวนการพิมพ์เป็นงานในตัวมันเองค่ะ
แล้วบิ๊กเข้ามาร่วมกับ soi ได้ยังไง
บิ๊ก : จริงๆ เรามองตัวเองว่าเป็น communication designer คือออกแบบเพื่อการสื่อสาร หน้าที่ของเราก็คือเราดูเรื่อง spontaneous, messaging แล้วก็ branding เพื่อที่จะให้คุมความเป็น platform ของ soi ไว้ ไม่ว่าจะเป็น soi literary, press หรือ studio ผลิตคอนเทนต์มา เขาจะมี message ที่เขาอยากจะสื่ออยู่แล้ว แล้วเราจะสื่อสารออกไปได้อย่างไร มันมีจุดตั้งต้นที่มาของ message อย่างไร
อย่าง alternative publication เนี่ยเป็นพาร์ตที่เราอยากให้มันแผ่ขยายออกไป อยากให้เป็นการอ่านที่คนเข้าถึงง่าย บางทีคนอาจอยากอ่านเฉพาะบทความที่สนใจจริงๆ ไม่ได้อยากจะอ่านทั้ง 14 บท อย่างเราอาจสนใจหัวข้อนี้ หน้าที่ของผมตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้การอ่านในระยะสั้นนั้นรู้สึกสนุกได้
ซึ่งในอนาคตอาจเป็นส่วนหนึ่งของการ archive สักที่ เพราะว่าองค์ความรู้แบบนี้ในประเทศไทยมันยังไม่ได้ถูกพูดถึง เรารู้สึกว่าประเทศเราอาจจะค่อนข้าง archive ของน้อย หมายถึงว่าเวลาเราคุยกับนักวิจัยด้วยกัน หรือคนที่ทำงานในสายงานวิจัยค้นคว้า เขาก็จะบอกประมาณว่า บางอย่างก็หายากมากๆ เลย มันไปอยู่ในองค์ความรู้ของคนคนนี้ ต้องกลับไปหาเขา เพราะว่าบางอย่างมันไม่ได้ถูกเก็บบันทึกไว้ ในฟอร์มของหนังสือ บางทีอาจเป็นแค่คำพูดส่งต่อคำพูด
แล้ว soi จะทำงาน archive ด้วยไหมในอนาคต
เจน : เราก็คงไม่หาญกล้าบอกว่าตัวเองจะเป็น archive นอกจากนี้ เราไม่เชื่อว่าอดีตหรือความทรงจำมันจะถูก archive ได้ทั้งหมด ที่สำคัญกว่าคือ ระบบ archive ใช้กำลังและทรัพยากรเยอะมากเลยนะ มันไม่ใช่สิ่งที่ปัจเจกคนไหนจะทำได้เลย ก็กลับไปเรื่องราวที่ว่า จริงๆ แล้ว archive มันเป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะว่ามันคือการสะสมรุ่นสู่รุ่น และมันไม่ควรจะเป็น access ที่จะเข้ามาด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวเท่านั้น มันไม่ควรเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวของใคร แต่ที่เราทำอยู่คือเราพยายามจะสะสมในสิ่งที่เราสนใจเท่านั้น เพื่อที่หวังว่าในอนาคตเราจะทดลองพัฒนาอะไรได้
คิดว่าตัวงานเขียนที่ตีพิมพ์ ควรสะท้อนสังคม หรือให้อะไรสังคม หรือว่ามอบคุณค่ากับสังคมมากน้อยแค่ไหน
เจน : คือเรารู้สึกว่าจะได้ยินคำถามอย่างนี้บ่อย เรามองว่างานเขียนที่มีพลังมันจะทำงานกับคนอ่านได้ มันอาจไปเขย่าอะไรข้างในของคนอ่าน ขณะเดียวกัน ตัวเขาเองก็ยังโยงใยอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมที่ใหญ่กว่าด้วยเสมอ หนังสือเล่มเดียวกันจึงไม่เคยสร้างผลต่อคนอ่านแต่ละคนที่เหมือนกัน เพราะมันยังมีปัจจัยภายในของคนอ่านเองด้วย
เราไม่เคยเชื่อว่าจะมีสิ่งใดในโลกนี้เพียงชิ้นเดียว
ที่สามารถบรรลุภารกิจทางสังคมอย่างสมบูรณ์
ถ้าเกิดมี ก็จะเรียกมันว่า propaganda มากกว่า
ภาระหรือพันธกิจของการเป็นผู้จัดพิมพ์ คือการให้มุมมองทางเลือกแก่คนอ่านหลายๆ แบบ แล้วท้ายสุดเขาเลือกที่จะเอาไปคิดรวมกับประสบการณ์ส่วนตัว และคำถามส่วนตัวของเขาเองด้วย ถ้าถามว่ามันทำงานอย่างไรกับสังคม มันก็คงอยู่ตรงการปะทะสังสรรค์ ณ จุดตัดเหล่านี้ค่ะ มันไม่ได้เป็นอะไรที่สำเร็จรูป แล้วก็ยื่นใส่ปากใคร เราคงไม่อยากให้ใครมาทำอย่างนั้นกับเราเหมือนกันใช่มั้ยคะ
ในอนาคต soi จะเดินหน้าไปต่อไปแบบไหน
เจน : จริงๆ เราก็อยากรู้เหมือนกันนะ (หัวเราะ) เราก็หวังว่าจะทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ นะคะ เพราะว่าจริงๆ แล้ว เราไม่ได้เริ่มจากพร้อมใน 100% คือเราเริ่มจากจุดที่เราต้องเริ่มแล้ว แล้วเราก็ทำไปแก้ไป เราถึงมองว่าตัวเองโชคดีมากๆ เลยที่ทีมร่วมหัวจมท้ายไปกับเราด้วย และเขาเชื่อในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ไปพร้อมๆ กัน ตรงนั้นมันสำคัญ เพราะเค้าควรทำงานเพื่อสนองการเรียนรู้ของตัวเค้าเอง เราคิดว่าปัจจัยเหล่านี้ที่บอกเราว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เราก็หวังว่ามันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ปีนะ แต่จริงๆ เราก็ทบทวนบ่อยกว่านั้นค่ะ ทุกเดือน ทุกสัปดาห์ ว่าเรามาถึงไหนกันแล้ว ส่วนในอีกมุมที่ต้องไม่ลืมถามเมื่อมองไปในอนาคตคือ ความยั่งยืนของโมเดลธุรกิจที่ตัวเองกำลังทำอยู่นี้ ตรงนี้เราเองยังตอบไม่ได้หรอก รอการพิสูจน์ไปเรื่อยๆ
จากวันแรกจนวันนี้ มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรภายใน soi และภายในตัวเองบ้าง
เจน : ถ้านับเวลา 6 เดือนที่เปิดอย่างเป็นทางการจนมาถึงตอนนี้ ก็ถือว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่น่าพอใจนะ แต่พร้อมๆ กัน ทางเราเองก็มีภาระที่หนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้องบริหารซอยในฐานะบริษัทที่กำลังเดินไปข้างหน้า ซึ่งเราไม่ได้ช่ำชองในโลกของธุรกิจเลย ถ้าลองดูเรื่องการเปลี่ยนแปลงภายใน ทุกคนในทีมซอยคุยกันตลอด เราชอบกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเหล่านี้ มันไม่ได้มีอะไรหวือหวา แต่เราเห็นมัน ซึ่งนั่นรวมถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเราด้วยนะคะ ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่มองจากข้างในออกไปข้างนอก ก็คิดว่าเริ่มค่อยๆ ได้ปะติดปะต่อภาพใหญ่ได้ว่าสิ่งที่ทำมันอยู่ตรงไหน
มุก : จริงๆ คิดว่าการมาอยู่ตรงนี้มีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้ทุกวัน ถึงแม้ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม และเราก็รู้สึกว่ามันเป็นการเติบโตภายในตัวเราที่เดินหน้าไปพร้อมๆ กับการเติบโตของคนในทีม และก็แน่นอนว่าการเติบโตของ soi ในฐานะบริษัทด้วย ขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่ตอบแทนเรากลับมาในรูปแบบของคุณค่าที่เรายึดถือ ซึ่งคิดว่าทุกคนก็คงเห็นเหมือนกันว่า เรามีเป้าหมายหรือมีภาพของสังคมที่ตัวเองอยากจะเห็น คงไม่กล้าใช้คำว่าเรากำลังต่อสู้เพื่อสิ่งนั้นอยู่ มันคงไม่ถึงขนาดนั้น แต่เราคงคิดว่ามันคือการทำในสิ่งที่เราเชื่อ และเรากำลังย่ำอยู่บนเส้นทางของสิ่งที่เราเชื่ออยู่ทุกๆ วัน ในสิ่งที่เราทำ ในผลงานที่เราตีพิมพ์ออกมา หรือว่าในบทสนทนาที่เรามีร่วมกับทีม
เพ้นท์ : ตัวเราเองก็ได้เรียนรู้จากตัวงาน รวมถึงหนังสือและบทความต่างๆ ที่เราทำงานด้วย แล้วก็รู้สึกว่า soi ก็ได้เรียนรู้อะไรจากผู้อ่านเยอะเหมือนกัน ซึ่งมันก็อาจจะผลักให้เราไปไกลขึ้นจากจุดแรกเริ่มที่เราต้องการจะผลิตสร้างองค์ความรู้ที่ไม่เคยถูกพูดถึง หรือว่าถูกพูดถึงน้อยกว่าในประเทศไทยมาตลอด ก็หวังว่าองค์ความรู้ที่เราจะนำมาตีแผ่จะยิ่งกว้างออกไปเรื่อยๆ เพราะว่ามันก็น่าจะมีเสียงที่ไม่เคยถูกได้ยิน หรือประเด็นไม่เคยถูกนำมาพูดถึงในประเทศไทยมากกว่านี้อีกเยอะ
บิ๊ก : จริงๆ ก็คล้ายๆ ของคนอื่น ในฐานะของตัวเรา ตัววิชาชีพเราก็คงรู้สึกว่า soi น่าจะเป็นแพล็ตฟอร์มที่แข็งแรงขึ้น จากการที่มีคนอ่านมาสนใจขึ้น แปลว่ามีคนที่ต้องการจะรับ message อย่างนี้อยู่ จริงๆ เราแค่ต้องเป็นกำลังใจให้คนในทีมที่จะเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะพัฒนาตัวเองจากฟีดแบ็กที่เราได้รับจากผู้อ่าน เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว แต่มันเป็นแบบทั้งสองทาง เราพูดออกไป เราฟังได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น
เพลิน : จริงๆ สิ่งที่เรียนรู้อันดับแรกในการทำงาน soi คือว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ด้วยคนเพียงคนเดียว แล้วก็รู้สึกว่าการทำงานเป็นทีมสำคัญมากในการผลักดันสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรา ในส่วนของตัวเองก็อยากพัฒนาเรื่องการทำงานเป็นทีมให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ในทีมของเราเองที่มีอยู่ในตอนนี้ แต่ว่าเป็นการพูดคุยกับนักอ่าน พูดคุยกับคนทำงานที่คล้ายๆ กับเรา และอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบที่เราอยากเห็น ทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย รู้สึกว่าอยากมีบทสนทนากับนักเขียนหรือว่าสำนักพิมพ์ในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นด้วย เพราะรู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยมีบทสนทนาตรงนั้น ที่ถูกนำมาพูดคุยใน พื้นที่สาธารณะของไทย
ก็หวังว่าจะสามารถขยายกิ่งก้านให้มากกว่านี้ได้
ติดตาม ซอย | soi ได้ที่
facebook : https://www.facebook.com/thisissoisquad
website : https://s-o-i.io/