รวดเร็วจนเหมือนเห็นลำแสงสีน้ำเงินพาดผ่าน แต่จริงๆ แล้วนั่นคือเม่นสีน้ำเงิน ‘Sonic The Hedgehog’ นั่นเอง ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานั้น เม่นสายฟ้าตัวนี้ก็ได้ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ตัวแรกออกมา แต่ว่าตัวอย่างภาพยนตร์ตัวนั้นกลับโดนถล่มด้วยความเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ‘ไม่เหมือน Sonic จากตัวเกมสักนิดเดียว’ ด้วยคำด่าอย่างหนักหน่วง ทำให้ทางผู้กำกับภาพยนตร์และทีมผู้สร้างลั่นวาจาต่อหน้าแฟนๆ Sonic ในโลกไซเบอร์ว่าพวกเขาจะกลับไปปรับปรุงหน้าตาใหม่ให้แฟนพอใจ
เวลาผ่านไปราวหกเดือน ทางทีมสร้างภาพยนตร์ก็ปล่อยตัวอย่างใหม่ที่คราวนี้เสียงของผู้ชมออกมาตรงกันว่า หล่อ ดูดี และยินดีจะเปย์เงินให้กับเหล่าอนิเมเตอร์ที่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้มาสคอตของทาง Sega ดูดีสมศักดิ์ศรีแล้ว
จริงอยู่ว่าเสียงของแฟนคลับสำหรับทุกงานบันเทิงนั้นสำคัญเสมอ แต่สำหรับเม่นสีฟ้าแล้วเสียงของแฟนคลับอาจจะไม่ใช่แค่ความเห็นสุดเซ็งเท่านั้น แต่หลายครั้งแล้วที่เสียงของแฟนคลับ Sonic The Hedgehog ทำให้ซีรีส์นี้มีโอกาสคืนชีพกลับมาได้เสมอ และความสัมพันธ์ดังกล่าวก็มีอะไรน่าสนใจ จนเราอยากจะมาเล่ากันในวันนี้
แรงบันดาลใจสร้าง Sonic จากการเล่นเกม Super Mario Bros.
ก่อนที่เม่นสีน้ำเงินจะกลายเป็นตัวเป็นตนนั้น ทุกอย่างต้องขอบคุณ Nintendo ที่ผลิตเครื่องเกม Family Computer หรือ Famicom ขึ้นมาวางจำหน่ายครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1983 และทำให้อุตสาหกรรมเครื่องเกมบูมขึ้นมา คุณ นากะ ยูจิ (Naka Yuji) ที่สมัครงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่กับทาง Sega ก็ได้เล่นเกม Super Mario Bros. ด่าน 1-1 ซ้ำไปซ้ำมา จนเขาได้คอนเซปต์ขั้นต้นของเกมแนวผ่านด่านที่เน้นความเร็วเป็นหลัก
และด้วยความที่ Sega มีประสบการณ์ในการทำเครื่องเกม Master System ทั้งยังพยายามออกแบบมาสคอตมาก่อนแล้ว แต่เครื่องเกมกับมาสคอตไม่โดดเด่นนัก ในการสร้างมาสคอตตัวใหม่ Sega จึงพยายามคิดไอเดียที่พร้อมจะตีตลาดชาติตะวันตกแต่เริ่ม นับตั้งแต่การนำไอเดียที่ตัวละครต้องออกมาวาดตามได้ง่ายแบบ Micky Mouse กับ Felix The Cat มาผสมกับความเท่ของรองเท้า ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) ในเพลง Bad แต่ใช้สีแดงขาวแบบ Santa Claus ควบรวมกับความมั่นใจของ บิล คลินตัน (Bill Clinton) จนกลายเป็นตัวละครเม่นสีฟ้า
ไอเดียของตัวละครนี้ ถูกนำเอามาผสมกับไอเดียของคุณนากะ ยูจิ ทำให้เกม Sonic The Hedghog ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1991 ด้วยความเท่ ความมั่นใจของตัวละคร กับความว่องไวแต่ก็ไม่ยากเกินไปสำหรับการควบคุม Sonic จึงโดดเด่นจากเกมอื่นในตลาดอย่างชัดแจ้ง ทั้งยังทำให้แฟนเกมแบ่งข้างออกอย่างชัดเจน ว่าจะเป็นคนเล่นเกมสไตล์เก่าหรือมาเป็นคนเล่นเกมแบบเท่ๆ ซึ่งทาง Sega ก็จับเอาประเด็นนี้มาทำการตลาดซ้ำ ทำให้ช่วงหนึ่งของยุค 1990s แฟนเกมแบ่งแยกออกเป็นสองฝั่ง ก็คือฝั่ง Sega กับ ฝั่ง Nintendo อย่างชัดเจน
เกมอาจไปไม่ไกล แต่สื่อผสม ทำให้กลุ่มแฟนนั้นเหนียวแน่น
ตัวเกม Sonic The Hedgehog เกมนั้น ในช่วงแรกสามารถสร้างกระแสได้อย่างดี อย่างที่เรากล่าวไปว่า การมาถึงของเกมนั้นสามารถทำให้ Nintendo หวั่นไหวได้ไม่น้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตัวเกมกลับค่อยๆ มีความน่าสนใจลดลงทีละเล็กทีละน้อย
ก่อนที่กระแสจะหล่นหายไปมากขึ้นเมื่อเครื่องเกมเข้าสู่ยุคใหม่ นับตั้งแต่ยุค Sega Saturn ที่ตัวเกม Sonic ไม่ได้จำหน่ายตัวภาคหลัก (มีแค่ Sonic R ที่เป็นเกมแนวแข่งวิ่ง/แข่งรถ) พอข้ามมายุค Dreamcast แม้ว่าเกม Sonic Adventure 1 และ 2 จะสร้างโลก 3D ที่ดูดี และระบบเกมที่สนุกสนาน แต่ความนิยมของ Dreamcast ก็ไม่มากพอจนทำให้ Sega ตัดสินใจยุติการพัฒนาเครื่องเกมของตัวเองไปในเวลาต่อมา
และหลังจากนั้นเกม Sonic ที่ Sega ผลิตออกมานั้นมักจะประสบความล้มเหลวบ่อยกว่าประสบความสำเร็จ ระดับที่ว่าขนาดเอาเกมภาคเก่ามาวางขายใหม่ก็ยังมีโอกาสที่เกมนั้นจะออกมาแล้วล่มไม่เป็นท่าได้ด้วยปัญหาอะไรสักอย่างที่คาดไม่ถึง
ตรงข้ามกับด้านแฟนคลับที่เข้มแข็งมากขึ้น อันเป็นผลพวงจากการขยายสื่อผสม ทั้งการหนังสือการ์ตูน ทั้งการ์ตูนแบบทางการของทาง Sega ผลิตมาสำหรับการโฆษณาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991, เขียนเป็นมังงะในญี่ปุ่นในช่วงปี ค.ศ. 1992, ถูกสร้างเป็นงานอนิเมชั่นที่ออกฉายพร้อมกันถึงสองชุดในช่วงปี ค.ศ. 1993, มีการ์ตูนอีกหนึ่งชุดที่ทาง Archie Comics เป็นผู้จัดทำตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997-2016
แล้วก็เป็นสื่อผสมเหล่านี้ที่ใส่ตัวละครเพิ่มเติมเข้ามา (ตัวละครบางตัวก็เป็นการหยิบจับเอาตัวละครที่เคยวางแผนจะใช้ในเกมภาคแรกแต่ยกเลิกไป) ซึ่งตัวละครบางตัวนั้นก็ได้ถูกนำกลับมาปรากฎตัวในฉบับเกมในภายหลังอีกด้วย
ด้วยความที่ตัวสื่อผสมเหล่านี้มักจะระบุว่า เกาะ หรือ ดาว (แล้วแต่เวอร์ชั่น) ที่ Sonic อาศัยอยู่เต็มไปด้วยเหล่าสิงสาราสัตว์ที่ยืนและพูดได้แบบมนุษย์ รายละเอียดนี้เองที่แฟนของเกม Sonic ส่วนหนึ่งจึงมีโอกาสได้ใส้ตัวเองลงไปในฐานะสมาชิกของตัวหนึ่งในโลกใบนั้น แน่นอนว่า ณ ตอนที่เกมวางจำหน่ายช่วงแรก แนวคิดทำนองนี้อาจจะจบลงแค่ในหัว หรือในสมุดวาดเล่นของเด็กคนใดคนหนึ่ง
แต่เมื่ออินเตอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่ายขึ้น กลุ่มคนชอบ Sonic The Hedgehog จึงรวมตัวกันง่ายดายขึ้น ทำให้มีกลุ่มแฟนเริ่มมารวมตัวกันและแบ่งปันไอเดียของตัวละครที่พวกเขาสร้างไว้ Sonic Original Characters กลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการวาดรูปด้วยตัวเอง หรืออาจจะใช้โปรแกรม
ในแง่มุมหนึ่ง แฟนอันเหนียวแน่นกลุ่มนี้เองที่ยังคอยอุดหนุนสินค้าของ Sonic จนทำให้แฟรนไชส์ไม่ล้มหายตายจากไปกลางทางเสียก่อน และกลายเป็นแฟนกลุ่มใหญ่นี่เสียด้วยที่กำหนดทิศทางของเจ้าเม่นสายฟ้าตัวนี้ ไม่ว่าจะในแง่ดีหรือแง่ร้ายก็ตาม
วีรเวร จากแฟนของ Sonic The Hedgehog
ที่เขาว่ากันว่า มากคนก็มากความนั้นยังเป็นจริงอยู่เสมอๆ เช่นเดียวกับกลุ่มแฟนๆ ของ Sonic The Hedgehog ที่มีจำนวนไม่น้อย และกระจายตัวอยู่ทั่วโลก มากหน้าหลายวัย ดังนั้นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากคนกลุ่มนี้จึงไม่ได้มีแต่เรื่องดีๆ เสมอไป อย่างเช่น การฟังเสียงของแฟนคลับที่อยากให้ Sonic ถือปืน แต่ทีมพัฒนาก็คิดว่าให้ Sonic ที่เป็นตัวเด่นถืออาจจะผิดผี เลยไปปรับให้ Shadow The Hedgehog ที่ถือเป็นตัวละครเม่นเหมือนกันกลายเป็นตัวเอกแทน แม้ว่าตัวเกมจะขายได้ดี แต่เกมนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของเกม Sonic The Hedgehog เสียศูนย์ไปอีกสักพักหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งที่ยังพอมองว่าเป็นเรื่องตลกร้ายได้ก็คือ กลุ่ม Sonic Original Charater ที่แรกเริ่มเดิมทีนั้นก็เป็นเพียงแค่กลุ่มคนชอบตัวละครสัตว์แต่ยืนและพูดได้แบบมนุษย์อย่างตัว Sonic เอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ทำให้หลายคนในกลุ่มสร้างตัวละครให้มีความสัมพันธ์ด้านเพศมากขึ้น ถึงอย่างนั้นเนื้อหาในลักษณะนี้ก็ไม่แปลกนักเพราะจะเป็นแฟนคลับกลุ่มไหนก็มักจะมีเรื่องราวทำนองนี้อยู่
แต่ก็มีเรื่องในกลุ่ม Sonic Original Charater ที่กลายเป็นบทเรียนน่าจดจำอยู่เช่นกัน ดังเช่นเรื่องราวของตัวละคร Sonichu (Sonic + Pikachu) ซึ่งเกิดจากการสร้างขึ้นของ Chris-chan ชายหนุ่มผู้มีอาการออทิสซึม ซึ่งเขานั้นเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับ Sonichu ลงบนเว็บของตัวเองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 และหลายๆ ครั้งก็มักจะเอาเรื่องที่ตัวเขาเองไปพบเจอมาเขียนเป็นเนื้อเรื่องการ์ตูนด้วย
อาจเป็นเพราะตัวละครนั้นดูเหมือนเด็กวาด หรือไม่ก็เพราะว่ามีข้อมูลส่วนตัวในนั้นอยู่ เลยมีคนลองไปแหย่เจ้าของตัวละคร Sonichu ซึ่งก็มีการตอบโต้กลับมาทั้งเอาเรื่องที่เจอไปเขียนด่าลงในการ์ตูน หรือบางครั้ง Chris-chan ก็ออกมาอัด Vlog มาแสดงอารมณ์รุนแรงแบบชัดแจ้งให้ชาวโลกได้รู้ (อ้นเป็นภาวะที่ไม่แปลกนักของผู้มีอาการออทิสซึม) หนักมือเข้าหน่อยก็คือมีคนปลอมตัวว่าเป็นผู้หญิงและบอกว่าเป็นแฟนกับ Chris-chan
เหตุการณ์กลั่นแกล้งแบบนี้ดำเนินอยู่นานหลายปี จากผู้คนมากหน้าหลายตา จนถึงจุดหนึ่งที่ความรู้ความเข้าใจเรื่อง Cyber Bully เริ่มมีมากขึ้น ผสมกับเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้การกลั่นแกล้งของ Chris-chan ลดลง เรื่องนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับทีมงานผู้พัฒนาเกม Sonic The Hedgehog โดยตรง แต่ก็ชวนให้สลดใจเล็กน้อยว่าการชื่นชอบตัวละครจากเกมดังกลับกลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้พิการโดนกลั่นแกล้งได้
วีรกรรมจากแฟนของ Sonic The Hedgehog
เราขอพูดคุยในเรื่องเบาสมองกันเล็กน้อย เพราะหลายครั้งแฟนเกม Sonic ก็มักจะทำอะไรออกมาสร้าง meme เรียกเสียงหัวเราะได้เช่นกัน อย่างเช่น การสร้างตัวละคร Sanic Hegehog (ตั้งใจพิมพ์ผิด) ที่เป็นการตั้งใจวาด Sonic ให้เพี้ยนจากปกติ ที่มาพร้อมคำพูดโม้ๆ และพิมพ์ผิดๆ ถูกๆ
ซึ่ง meme นี้ก็ได้รับความนิยมระดับที่กลายเป็นอุปกรณ์แต่งตัวละครในเกม Sonic แบบเป็นทางการในเกมภาคหนึ่ง ในทางกลับกันทาง Sega ก็มักจะเอาความที่เกม Sonic โดนแซวมาล้อตัวเองแล้วสร้าง meme เกาะกระแสตลาด หรือ เกาะกระแส meme ฮิตเพื่อสร้างการรับรู้ของ Sonic ไปในตัว
และวีรกรรมดีๆ ที่แฟน Sonic มอบคืนให้สู่เฟรนไชส์บ้าง อย่างแรกก็คือ การที่ตัวเกม Sonic นั้นเกิดอาการเคว้งหลงทิศอยู่บ่อย ทำให้แฟนเกมที่ตอนเด็กๆ นั้นอาจจะเป็นแค่เพียงคนเล่นเกม แต่เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นมา พวกเขาก็มีความรู้มากขึ้นและหลายๆ คนก็ทำการพัฒนา Fan Game เกมใหม่หมดจด ไม่เช่นนั้นก็ทำการพัฒนาเกมเก่า อาจจะเป็นการแก้ Bug ให้เกมที่แย่เล่นได้ดีมากขึ้น หรือเป็นการปรับปรุงเกมภาคเก่าให้สามารถเล่นกับอุปกรณ์ยุคใหม่ได้
ตัวอย่างที่ชัดเจนของแฟนเกมในลักษณะนั้นก็คือ คริสเตียน ไวท์เฮด (Christian Whitehead) โปรแกรมเมอร์ที่ชื่นชอบเกม Sonic ยุคเก่าๆ มากจนถึงระดับที่เขาสร้างเอนจิ้นเกม Retro Engine เพื่อรองรับการสร้างเกมยุคเก่า อย่างเช่น Sonic สองภาคแรกที่ทาง Sega นำมาสร้างใหม่ได้ออกมาไม่ดีมากนัก และทางทีมงาน Sega ก็เห็นว่าผลงานของเขาดีจริง จึงให้เขาเป็นผู้ร่วมพัฒนาเกม Sonic CD, Sonic The Hedgehog สองภาคแรกฉบับสมาร์ทโฟน
คริสเตียน ไวท์เฮด ยังเป็นผู้กำกับของ Sonic Mania เกมภาคใหม่ที่ยึดเอาคอนเซปต์การเล่นของภาคดั้งเดิม เพิ่มเติมด้วยลูกเล่นที่ทันยุคทันสมัยเข้าไป ซึ่งตัวเกมนั้นออกวางจำหน่ายในปี ค.ศง 2017 และมีกระแสตอบรับทั้งจากฝั่งนักวิจารณ์ รวมถึงฝั่งยอดขายเกมที่ดีงามไม่แพ้กัน
ในช่วงปี ค.ศ. 2017 ยังมีการวางจำหน่ายเกม Sonic Force ซึ่งเป็นเกมแรกอย่างเป็นทางการที่เปิดให้ผู้เล่นสามารถสร้างตัวละครของตัวเอง เพื่อร่วมผจญภัยไปพร้อมกันกับ Sonic และเพื่อนสิงสาราสัต์วตัวอื่นๆ ซึ่งก็เป็นผลจากความนิยมของ Sonic Original Charater นั่นเอง แม้ว่าเกมจะเจอนักวิจารณ์แสดงความเห็นว่าเกมยังมีอะไรน่าปรับปรุงได้อีก แต่ฝั่งแฟนเกมก็ค่อนข้างโอเคกับการได้ใส่ตัวเองลงไปในเกมอย่างเต็มที่
Honored to have been brought in to lead the design on the new Movie Sonic. Working with Jeff and the modelers, riggers, texture/fur artists and animators in LA, London, and Vancouver was a thrill I’ll never forget. #SonicMovie pic.twitter.com/HhcVIxAhXB
— Tyson Hesse (@tyson_hesse) November 12, 2019
ข้ามผ่านมาถึงภาพยนตร์ ‘Sonic The Hedgehog’ ที่ในตอนแรกนั้นมีดีไซน์ของตัวเอกอย่าง Sonic ที่ไม่ถูกใจคนดูเลย ไม่ว่าจะเป็นแฟนเกมเหนียวแน่น หรือ คนที่เคยเล่นเกมเม่นสายฟ้ามาก่อน และทางทีมงานก็น้อมรับคำติของแฟนๆ พร้อมกับการลั่นวาจาว่าจะไปแก้ไขอนิเมชั่นของ Sonic ให้ดีขึ้น
หลายคนที่เข้าใจการทำภาพ CG ใหม่นั้น นอกจากที่ต้องใช้เวลาแล้ว ก็ควรจะมีคนกำหนดทิศทางให้ชัดเจนด้วย แล้วก็เป็นโชคดี ไทสัน เฮซซ์ (Tyson Hesse) ที่เป็นแฟน Sonic The Hedgehog คนหนึ่งมาอย่างอย่างยาวนาน และมีประสบการณ์ในการทำงานคอมิกและอนิเมชั่นอยู่มาก ได้กลายมาเป็นดีไซน์เนอร์หลักของทีมแก้ไขอนิเมชั่นของเม่นสายฟ้า จนทำให้ตัวอย่างภาพยนตร์ Sonic The Hedgehog ตัวใหม่ออกมาได้รับกระแสชื่นชมด้านบวกแบบสุดๆ
เรื่องราวเหล่านี้ที่นำมาเล่าสู่กันฟังก็เพราะเราได้เห็นว่าหลายครั้งเฟรนไชส์ Sonic อาจจะต้องพบปัญหาขลุกขลักอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการที่รับฟังและพยายามทำงานให้ซื่อตรงต่อความเห็นของแฟนคลับหมู่มากนี่เอง ที่ทำให้มีผลลัพธ์ดีๆ ตามออกมาให้เห็นแทบจะทุกครั้งไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
YouTube Channel: FootofaFerret – The History of Sonic The Hedgehog (ft Jimmy Whetzel) | A Brief History
YouTube Channel: 101 Facts – 101 Facts About Sonic The Hedgehog
YouTube Channel: Fredrik Knudsen: Sonichu and Christian Weston Chandler (CWC) — Down the Rabbit Hole
YouTube Channel: Did You Know Gaming