ถึงจะไม่ใช่คอกีฬาหรือเล่นกีฬาเป็นงานอดิเรก แต่เชื่อเถอะว่า ถ้ายกตัวอย่างซีนของกีฬาต่อไปนี้ขึ้นมา สมรักษ์ชูเหรียญทองโอลิมปิก ซิโก้กระโดดตีลังกาหลังยิงเข้า ภราดรหวดแร็กเก็ตใส่แอนดี้ เมอร์เรย์ ปลื้มจิตร์กระโดดตบใส่นักวอลเลย์จีน น้องเมย์ได้เป็นมือวางอันดับหนึ่งของโลก ฯลฯ จะจำได้น้อยได้มาก ภาพจำที่เคยฝังอยู่ในหัวต้องปรากฏขึ้นมาเลาๆ อย่างแน่นอน ภาพจำเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคอนเทนต์กีฬาในบ้านเราสามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัยทุกสาขาอาชีพมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
กระโดดข้ามมาที่ยุคนี้ ต่อให้เราไม่ใช่คอกีฬาเช่นเดิม เคยสังเกตไหมว่าทำไม เราถึงรู้ว่าเลสเตอร์ ซิตี้ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกและเจ้าของสโมสรเป็นคนไทย โอลิมปิกจัดที่บราซิลและนักมวยไทยไม่ได้สักเหรียญ หรือแม้กระทั่งชนาธิปจะได้ไปค้าแข้งที่ญี่ปุ่นและมีแฟนเป็นเมย์ พิชญ์นาฏ แถมถ้าเป็นแฟนกีฬาด้วยแล้ว การดูกีฬาหรือเสพคอนเทนต์กีฬาก็ยิ่งสนุกและเข้าถึงแบบจุใจเหลือเกิน
ตอบเหตุผลได้แบบตรงๆ เลยคือ ‘เทคโนโลยี’ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในโลกของคอนเทนต์กีฬา หมดยุคของการรอซื้อหนังสือพิมพ์ มาดูผลการแข่งขันหมดยุคของการรอดูรีเพลย์ตอนเช้า แม้บางอย่างอาจหายไป แต่ก็ได้บางอย่างมาทดแทน ลองไปดูกันว่า เทคโนโลยีทำให้การดูกีฬาสนุกและมันส์ขึ้นขนาดไหน
โซเชี่ยลมีเดีย: ไม่ชอบก็ต้องรู้ ไม่ดูกีฬาก็เข้าใจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการไหลของฟีดในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กต่างๆ ทำให้คอนเทนต์กีฬาถูกผูกเข้ากับไทม์ไลน์ทุกคนอย่างแยกไม่ออก ยกตัวอย่างเช่นถึงเราจะไม่ได้ดูบอล แต่เฟรนด์ในเฟซบุ๊กเราสักคนก็ต้องแชร์ว่าแมนยูฯ เสมออีกแล้วอยู่ดี เราจึงเสพคอนเทนต์กีฬาเข้าไปแบบที่เลือกไม่ได้ นั่นจึงเป็นผลพลอยได้ทางอ้อมที่ทำให้เราซึมซับกีฬาเข้าไปโดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกันสำหรับคนที่ดูกีฬาอยู่แล้วก็ได้ร้องเฮไปกันใหญ่ ข่าวอะไรที่เพื่อนคุยกันแล้วเราไม่รู้ เพียงแค่สไลด์ฟีดไม่เกินสองสามทีรับรองรู้ทันที หรือจะพิมพ์คีย์เวิร์ดสักสองคำในกูเกิลก็พอช่วยได้ แต่อย่างว่าวงการกีฬาก็เหมือนวงการข่าวการบ้านการเมืองทั่วไป เพราะคอนเทนต์กีฬาเองก็ยังมีเพจมักง่าย สร้างข่าวหรือคอนเทนต์ปลอมๆ ขึ้นมาให้เราแชร์กันสนุกสนาน ปลุกปั่นให้เกิดวิวาทะในช่องคอมเมนต์ไม่ต่างจากข่าวการเมืองสักเท่าไหร่ อย่างเช่นข่าวการหาโค้ชทีมชาติไทยคนใหม่ ที่บางเพจเต้าข่าวขึ้นมาว่าได้โค้ชคนใหม่มานั่งแท่นเรียบร้อย โดยที่ท่านนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ยังไม่ได้เอ่ยปากเลือกสักคำเลย จึงเป็นหน้าที่ของคนเสพคอนเทนต์อย่างเราๆ ที่ต้องพิจารณาจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือเพจกีฬาที่เป็น Official Account เพื่อเสพคอนเทนต์จากแหล่งข่าวที่แท้จริง เช่น สมาคมกีฬาฟุตบอล หรือ เว็ปไซต์ไทยรัฐ
Live สด: หลายจอ ใจเดียวกัน
การเกิดขึ้นของการ Live ในเฟซบุ๊กและยูทูบ เรียกได้ว่ากึ่งๆ จะเป็นการทำร้ายทีวีดิจิทัลที่เขาประมูลมากันอย่างเหน็ดเหนื่อย สถานีโทรทัศน์บางช่องจึงแก้ไขปัญหาเรตติ้งด้วยการออกอากาศคู่ขนานทั้งทีวีดิจิทัลและ Live ออนไลน์เสียเลย แถมยอดผู้ชมยังแสดงให้เห็นกันแบบสดๆ อีกต่างหาก ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกระจายแพลตฟอร์มใหม่ๆ ได้ทำให้การชมถ่ายทอดสดกีฬาเข้าถึงง่ายและสะดวกขึ้นแบบเหลือเชื่อ เหตุการณ์ถนนโล่งอย่างวันที่เขาทรายชกชิงแชมป์โลกอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้วก็เป็นได้ เพราะทุกคนต่างมีจอเป็นของตัวเอง จะอยู่แห่งหนไหนบนท้องถนนก็สามารถเปิดชมได้ทุกเมื่อ มีทั้งการมารวมตัวกันเชียร์พร้อมกันผ่านหน้าจอทีวีและรวมตัวกันผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แม้จะชมผ่านจอเล็กจอใหญ่ เราต่างก็ส่งใจไปเชียร์ทีมชาติไทยเหมือนกัน
แอพพลิเคชั่น: ง่ายจัง สะดวกจริง
เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่มหกรรมกีฬาใหญ่ๆ หรือสโมสรกีฬาต่างๆ ต้องมีแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง ยกตัวอย่างตอนมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ เดจาเนโร แอพฯ ทางการของการแข่งขันสามารถรายงานผลการแข่งขันแบบสดๆ ข่าวสารต่างๆ และไฮไลท์การแข่งขันย้อนหลังได้ แต่ความเก๋คือแอพฯ อย่าง Rio 2016 Social Hub ที่เป็นศูนย์รวมโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กระหว่างการแข่งขันไว้ในแอพฯ เดียวเพื่อติดตามการแข่งขันและเบื้องหลังอย่างใกล้ชิด แถมยังมีแอพฯ ที่คอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ไปชมการแข่งขันอีกด้วย หรือจะเป็นแอพฯ รายงานผลฟุตบอลที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ที่สามารถรายงานผลการแข่งขันฟุตบอลแบบเรียลไทม์จากทุกลีกทั่วโลก พร้อมตารางคะแนน และสถิติต่างๆ ไว้อย่างครบครัน ใครยิง ใครแอสซิต เขารายงานให้ละเอียดยิบ เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทุกความต้องการของคอกีฬาเลยทีเดียว
รายการกีฬายุคใหม่: ลึกซึ้ง แพรวพราว
สืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์กีฬา อย่างที่ยกตัวอย่างกันไปข้างต้น ย้อนกลับมาที่ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ดั้งเดิมอย่างรายการกีฬาทางทีวีก็มีการปรับตัวตามเทรนด์อยู่ตลอดเวลา เพื่อดึงผู้ชมให้หันกลับมาเสพคอนเทนต์จากแพลตฟอร์มดั้งเดิมที่น่าเชื่อถือที่สุด ทั้งวิธีสร้างสรรค์การนำเสนอใหม่ๆ โดยการที่นำเอาภาพกราฟิก 3D มาช่วยแนะนำนักเตะและอธิบายแผนการเล่นของแต่ละทีม ในช่วงก่อนเรื่มเกมการแข่งขัน โดยมีกูรูเฉพาะทางมาบอกเล่าข้อมูลก่อนการแข่งขัน ไปจนถึงการบรรยายระหว่างแข่งและวิเคราะห์หลังจบการแข่งขัน ถือเป็นการจูงใจให้แฟนกีฬาหน้าใหม่หันมาสนใจกันมากขึ้น ที่เห็นโดดเด่นที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้นไทยรัฐทีวี และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือความพิถีพิถันในการออกแบบกราฟิกเพื่อนำเสนอข้อมูลบนจอทีวี ไม่ว่าจะเป็นกีฬาฟุตบอลที่เป็นกีฬามหาชน ฟุตซอล วอลเลย์บอล มวยไทย แม้กระทั่งศิลปะป้องกันตัว MMA ทำเอาแฟนกีฬาติดใจจนไว้วางใจให้ไทยรัฐทีวีถ่ายทอดสดกีฬากันบ่อยๆ เลยทีเดียว