ชอบดอกไม้ ใส่แว่นกลม เลี้ยงแมวเซา หนวดเทาเฟิ้ม—เหล่านี้คือคุณลักษณะที่มักจะถูกทึกทักว่าเป็นของหนุ่มฮิปฯ ที่ไม่ว่าตัวจริงจะเป็นอย่างไร เพียงมีคุณลักษณะเหล่านี้ก็มักจะดูอ่อนโยนอ่อนไหวไปทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ใครเลยจะคิดว่าอีกคนที่มีคุณลักษณะดังกล่าวคือช่างภาพญี่ปุ่นรุ่นใหญ่วัย 75 เจ้าของวาทะ “ภาพถ่ายเป็นความจริงชั้นสอง” “กล้องดิจิตอลมีไว้สำหรับคนโง่” และ “เพราะผมถ่ายไงล่ะ มันถึงอีโรติก!”
Nobuyoshi Araki เริ่มทำงานในยุค ’60 และตีพิมพ์ photobook เล่มแรกเมื่อต้นยุค ’70 เขาถ่ายภาพขยี้ต่อมศีลธรรมสุดเถื่อนธารไว้มากมายมหาศาล ในระดับที่ว่ามี photobook ที่ตีพิมพ์แล้วปาเข้าไปกว่า 450 เล่ม เพราะถ้าถ่ายแล้วไม่ทำ photobook ออกมา เขาจะรู้สึกเหมือนท้องผูกและถ่ายไม่ออก! ภาพถ่ายจำนวนมากของเขาตบหน้าคนดีดังฉาด ไม่ว่าจะเป็นภาพชุดเปิดโลกโสเภณีในโตเกียว ภาพใบหน้าภรรยาตอนถึงจุดสุดยอดหลังมีเซ็กส์กับตัวเอง และภาพสาวญี่ปุ่นในชุดกิโมโนกับเชือกเส้นใหญ่ที่พันธนาการเธอไว้ ในขณะที่เธอนั่งแหกขาโชว์ส่วนนั้นให้กับกล้องและสบสายตากับผู้ชมอย่างไม่หวั่นเกรง
แม้เขาจะไม่ได้ตั้งใจ แต่มันก็ให้ผลแบบนั้นไปเรียบร้อย ช่างภาพตัวพีคอันดับต้นของวงการ (ทั้งในแง่ผลงานและนิสัย) คนนี้ เคยโดนจวกเละจากนักวิจารณ์บางฝ่ายว่าเขาเอาเพศหญิงมาปู้ยี่ปู้ยำเพื่อสนองแฟนตาซีด้านมืดของตัวเอง แถมยังโดนเซ็นเซอร์จากภาครัฐที่อ้างว่า ผลงานของเขากระทบต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังคงถ่ายรูปต่อไปในทุกวัน ทั้งจากชีวิตประจำวันดาษดื่นในโตเกียว การเดินทางไปยังมหานครนิวยอร์ก และ เรื่องทางเพศที่เขาสนใจเป็นพิเศษในระดับที่ให้สัมภาษณ์ออกสื่อโต้งๆ ได้ว่า เขามีเซ็กส์กับนางแบบของตัวเองทุกคนโดยถือว่าเป็น foreplay ที่นำไปสู่การชักภาพ หรือไม่ก็ชักภาพเพื่อเป็น foreplay นำไปสู่เซ็กส์!
“ถ้าอยากถ่ายภาพให้ดูเงี่ยนก็ลองมีเซ็กส์กับพวกเธอสิ! นี่ผมพูดจริงนะ คอนเนกต์กับพวกเธอ สัมผัสเนื้อตัวพวกเธอ มันช่วยเสมอแหละ เดี๋ยวนี้ผู้คนไม่สนใจการสัมผัสกันแล้ว พวกเขาเอาแต่จะรักษาระยะห่าง ไม่มีใครคอนเนกต์กับเมือง กับผู้หญิง ไม่มีใครใช้ตารู้สึกด้วยซ้ำ ส่วนผมน่ะเหรอ โดนตัวผู้หญิงเมื่อไหร่ ผมแข็งเมื่อนั้นแหละ”
อารากิได้รับการชักชวนจากวงการ Pink Film ในญี่ปุ่น จนได้เข้าไปลองทำเองอยู่เรื่องหนึ่งในปี 1981 แต่ผลตอบรับไม่ดีนัก นอกจากนั้นเขายังเข้าใปร่วมวงในวงการเพลงและวงการแฟชั่น โดยเจ้าของภาพชุดสีฟ้าชวน high ของ Björk ตอนทำอัลบั้ม Telegram เมื่อปี 1996 ก็คือเขานี่แหละ ส่วน Lady Gaga, G-Dragon, Kiko Mizuhara, Wang Lee Hom, Tang Wei ต่างก็โดนเขารวบตึงผ่านเลนส์กันมาแล้วทั้งนั้น (แต่เขาไม่น่าจะเคยมีเซ็กส์กับทั้งหมดในนี้แน่ๆ)
เราอาจเริ่มต้นด้วยงานเบาๆ ของอารากิอย่าง Erotos (1993) ที่ถ่ายวัตถุรูปร่างคล้ายคลึงเครื่องเพศของหญิงและชาย ในแบบที่เขาบอกว่า “ตอนถ่าย ผมต้องเงี่ยนที่สุดถึงจะเวิร์ก” เช่น ดอกไม้หลากชนิด ดวงตาและริมฝีปากอิ่มเอิบของผู้หญิงที่ถูกนำมาหมุนเป็นแนวตั้ง ผลลูกฟิก หัวปลาสด รอยแตกบนพื้นดิน และท่อน้ำ หรือ Flowers in Ruins (1973) ที่ถ่ายภาพดอกไม้หน้าตาเหมือนเครื่องเพศของผู้หญิงอีกเหมือนเดิม ซึ่งเขากล่าวว่าเขาตั้งใจพูดถึงความสวยงามที่วันหนึ่งก็ต้องเหี่ยวเฉาและแหลกสลายไปตามกาลเวลา หากแต่ประเด็นของผู้ชายคนนี้ไม่ใช่การถ่ายภาพวัตถุ แต่คือการบันทึกรายละเอียดของเรือนร่างของผู้หญิงในแบบที่หลายคนอาจจะสะอิดสะเอียนมากกว่า
เราไม่อยากตัดสินว่างานของอารากินู้ดหรือไม่นู้ด แค่โป๊หรือเป็นศิลปะ แค่สนุกหรือโรคจิต รสนิยมซาดิสม์หรือเป็นเพียงซิมโบลิก เพราะนั่นอาจหมายถึงเราใจแคบไปนิด แต่แน่นอนว่างานของอารากิโดยเฉพาะ Kinbaku (1979) และภาพอื่นๆ ในธีม Kinbaku-bi (the beauty of tight binding) นั้นไต่อยู่บนเชือกเส้นบางๆ ระหว่างขั้วตรงข้ามเหล่านั้นตลอดเวลา
ภาพถ่ายของเขาในธีมนี้มีทั้งขาวดำและสี นางแบบมีทั้งเปลือยเปล่าและอยู่ในชุดกิโมโน แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานหลายๆ ชุด คือเชือกเส้นใหญ่ที่โอบรัดร่างกายของพวกเธอเอาไว้อย่างแน่นหนา ในบางภาพนั้นเชือกรัดรึงจนหน้าอกของพวกเธอถูกบีบให้ห้อยออกมา หรือไม่ก็รัดแน่นจนสามารถห้อยตัวเธอลงมาจากขื่อบนเพดานได้โดยไม่หล่นลงมากระแทกพื้น แต่กระนั้นพวกเธอกลับไม่ได้ดูทรมาน หากบางคนยังกระหยิ่มยิ้มย่องใส่กล้องเสียด้วยซ้ำ (ซึ่งเราก็ไม่รู้อีกว่านั่นคือความรู้สึกที่ส่งมาจากนางแบบหญิงหรือช่างภาพชายกันแน่)
ธีมที่ว่ามาจาก Hojōjutsu ศิลปะป้องกันตัวของญี่ปุ่นที่ใช้เชือกยาว 6-8 เมตรผูกมัดร่างกาย เป็นที่เข้าใจในเชิงเพศเมื่อราวปี 1850 แต่เพิ่งถูกใช้อย่างกว้างขวางในยุค 50s เมื่อนิตยสาร Kitan Club and Yomikiri Romance ตีพิมพ์ภาพหญิงเปลือยถูกเชือกรัด และ Nawashi The Rope Master ก็ได้นำเชือกมาใช้ในการโชว์ S&M
ส่วนปัจจุบัน Hojōjutsu ในร่างดัดแปลงถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในกิจกรรมทางเพศ ที่นำมาซึ่งความสุขจากความเจ็บปวด แต่อารากิกลับอธิบายว่าเขาไม่ได้อยากจะเน้นเรื่องเพศมากเท่ากับเน้นว่า การที่ร่างกายถูกรัดรึงนั้นเปลี่ยนสีสันของผิวหนังไปอย่างไร รวมทั้งยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงแนวคิดเบื้องหลังธีมนี้ไว้ว่า
“ผมผูกรั้งร่างกายผู้หญิงคนหนึ่ง เพราะผมรู้ว่าผมผูกรั้งหัวใจเธอไว้ไม่ได้ เราทำแบบนั้นได้กับอวัยวะภายนอกเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง การผูกรั้งร่างกายจึงกลายเป็นการโอบกอด”
แต่ถึงจะหล่อออกสื่อขนาดไหน สิ่งที่หนีไม่พ้นคืออารากิก็ยังถูกนักวิจารณ์และนักเสพศิลปะที่เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์กล่าวหาว่าเขาไม่ได้แค่ objectify ‘ผู้หญิง’ ที่เป็นนางแบบให้เขา หากยัง objectify ‘เพศหญิง’ ด้วย แต่เอาเข้าจริง sexual objectification อาจไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ตราบใดที่ทั้งสองฝ่ายมีการยินยอมพร้อมใจ (consent) และการกระทำนั้นไม่ได้หยิบฉวยสิทธิในอำนาจของตัวเอง (autonomy) ของผู้ถูกกระทำไป และหากเชื่อเช่นนี้ สิ่งที่อารากิและมนุษย์เราชอบทำกัน ก็คงเป็นเพียงบทสนทนาทางร่างกายและรสนิยมทางเพศของปุถุชนคนธรรมดา (ที่ไม่น่าจะขัดต่อความเป็นจริงของมนุษย์โลก) เท่านั้นเอง
นอกจากภาพผู้หญิงของอารากิจะแสบสันต์และกระแทกหน้าสังคมญี่ปุ่นอย่างจัง ในอีกมุมเขาก็เป็นเพียงคนถือกล้องคนหนึ่งที่รักการบันทึกทุกจังหวะของชีวิตเอาไว้เยี่ยงการถ่ายทำสารคดี และชีวิตของเขาก็ไม่มีอะไรนอกจากตัวเขา โยโกะ ภรรยาของขา และแมวตัวหนึ่งที่ตายหลังจากโยโกะ 22 ปี โยโกะเป็นทั้งคู่ชีวิตและ muse ของอารากิ เธอปรากฏตัวในภาพถ่ายจำนวนมากของเขาทั้งในอิริยาบถทั่วไปและในกิจกรรมทางเพศ ซึ่งต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์
ด้วยแรงบันดาลใจจากนวนิยายสไตล์ shi-shosetsu ที่ผู้เขียนมักจะเล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่ 1 และเรื่องราวมีลักษณะคล้ายไดอารี่ อารากิบันทึกและถ่ายทอดห้วงเวลาส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นออกมาเป็น Sentimental Journey (1971) รวมภาพถ่ายขาวดำของเขากับภรรยาตั้งแต่วันแต่งงาน ทริปฮันนีมูนที่เธอเปลือยบ้างไม่เปลือยบ้าง ชีวิตประจำวันกับแมวของพวกเขา ตึกรามบ้านช่องในโตเกียว รั้วดาดฟ้าที่บ้านถูกใช้เป็นราวตากผ้า และ Winter Journey (1991) ที่ประกอบด้วยภาพที่เขาถ่ายในช่วงที่โยโกะต่อสู้กับโรคมะเร็งรังไข่จนวันสุดท้ายของเธอ
อารากิมี photobook ในคอนเซปต์คล้ายคลึงกันอีกหลายเล่มอย่าง A Diary, Pseudo-Diary, Eros Diary และ Grand Diary of a Photomaniac แต่คงไม่มีชิ้นไหนที่ส่วนตัวเท่าสองเล่มนี้ ที่ละมุนละไมราวกับจะบอกเราว่า ความโศกเศร้าจากความตายอาจบรรเทาได้ด้วยการจดจำ
หลังจากประสบพบเจอกับความตายของโยโกะ ตามมาด้วยความตายของแมวตัวเดียวในชีวิต เขาก็ประสบภัยร้ายจากมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่โชคดีที่การรักษานั้นสำเร็จลุล่วง เขาบันทึกไดอารี่ความเจ็บป่วยของเขาไว้ใน photobook ที่ชื่อว่า Tokyo Prostatic Cancer (2009) โดยตั้งวันเดือนปีที่ถ่ายเป็นช่วงเวลาระหว่าง 6-15 สิงหาคม 1940 เพื่อเทียบเคียงเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิตอนเขาอายุ 5 ปี กับการฉายรังสีรักษามะเร็งตอนเขาอายุ 68 ปี เพื่อบอกเล่าการเกิดการตายของมนุษย์—และมนุษยชาติ—ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นพยาน
แถมด้วย Photography for The Afterlife (2014) หรือ Ojo Shashu (ผันจากชื่อคัมภีร์ Ōjōyōshū ที่แปลว่า Teachings Essential for Salvation) อันประกอบด้วยภาพโยโกะ เจ้าแมว และท้องฟ้าคอนทราสต์จัดทั้งขาวดำและสีจำนวนมาก ถ้าเป็นดังที่เขาเคยบอกว่า “ท้องฟ้าเปรียบเสมือนชีวิตหลังความตาย” นี่ก็คงเป็นการปิดฉากบทครุ่นคิดว่าด้วยชีวิตและความตายที่เขามีมานานพอๆ กับความหมกมุ่นเรื่องเพศและผู้หญิง
นอกจากนั้นยังมี Happy Photographs (2006) หรือ Kofuku Shashin ที่เน้นการเก็บห้วงเวลาแห่งความสุขของคนที่เขาพบเจอ โดยครั้งนี้เป็นความสุขแบบเรียบง่าย ไม่ใช่ความสุขในเรื่องเพศแบบที่เขาเคยเล่าเมื่อเก่าก่อน และเป็นความสัมพันธ์ระหว่างซับเจกต์ของภาพด้วยกันเอง ไม่ใช่ระหว่างเขาและซับเจกต์อีกต่อไป ซึ่งนี่แหกคอนเซปต์ประจำตัว จนเราต้องฟังคำอธิบายเขาก่อนจึงจะเข้าใจ อารากิให้สัมภาษณ์กับ VICE ว่าสิ่งที่เขาถ่ายอยู่ตอนนี้คือ “การใช้เวลาและแบ่งปันความสุขกับคนข้างๆ” ที่ฟังดูไม่ใช่เขาสักเท่าไหร่ คนสัมภาษณ์จึงตอบกลับไป “ไหนคุณเคยบอกว่ากล้องถ่ายรูปคือลำลึงค์ยังไงล่ะ”
“แน่นอน แต่ตอนนี้มันกลายเป็นโยนีไปแล้ว ตรงกันข้ามเลย ตอนนี้ผมกลายเป็นคนที่โอบรับและโอบกอดสิ่งที่ผมถ่าย—เหมือนกับที่โยนีทำอยู่เสมอ” อารากิตอบชัดเจน
“มันเหมือนกับว่ามี 5 อารากิซ่อนอยู่ในตัวผมน่ะ”
ความป่วง เพี้ยน บ้า ลามกจกเปรต และการตอบคำถามแบบโคตรกวนโอ๊ยของเขาอาจไม่ได้เป็นที่ยอมรับของทุกคน แต่หากที่ว่ามาทั้งหมดยังไม่ทำให้คุณเห็นอารากิอีก 4 คนในตัวเขา ก็ลองมองตาหญิงสาวในรูปภาพเหล่านั้นดูอีกทีจะเป็นไร
อ้างอิง