ถ่ายรูปให้ดีไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นการภาพสตรีทที่ต้องถ่ายในที่สาธารณะแบบไม่มีการจัดฉาก กว่าจะได้แต่ละรูป นอกจากฝีมือที่ต้องมีอยู่กับตัวแล้ว ระยะเวลาที่ใช้ถ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่รู้ว่าจะโชคดีได้จังหวะสวยๆ ตอนไหน บางคนถ่ายแค่ 5 นาที บางคนเป็นชั่วโมง ไปจนถึงใช้เวลาเป็นวัน
The MATTER จึงไปคุยกับช่างภาพสตรีทถึงเวลาที่ใช้กับรูปถ่ายที่ชอบ เบื้องหลังของแต่ละภาพถ่ายที่เห็นแล้วก็อดสสัยไม่ได้ว่า ทำยังไงถึงจะได้รูปดีๆ แบบพวกเขาบ้าง
อังกูร สังข์ทอง
“ใบนี้ถูก develop ในหัวอยู่นานมากครับ เพราะเป็นจุดที่เดินผ่านทุกวัน วันละหลายๆ เวลา เช้า เที่ยง เช้า เที่ยง ได้ภาพในหัวก็ไปทดลองว่ามันเป็นไปได้มั้ย พอผลรอบแรกมันออกมาว่า เป็นไปได้ ทีนี้ก็ยาวเลย รอบแรกถ่ายเพื่อเอาแสงมาต่อเป็นไฟหน้ารถมอเตอร์ไซค์ กดอยู่สักชัวโมงหนึ่งได้ครับ พอได้ก็ส่งเข้ากลุ่ม Street Photo Thailand ในเฟซบุ๊ก พี่ทวีพงษ์ (นักถ่ายภาพสตรีท) ก็ได้แนะนำเพิ่มเติมให้ ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราเองก็ติดอยู่ในใจเหมือนกัน ก็เลยกลับไปถ่ายซ้ำ
“รอบที่ 2 ที่กลับไปถ่ายคราวนี้เรามีเลย์เอาท์ที่ชัดมากในหัวมาด้วย ปัญหาของช็อตเดิมก็ลองแก้มาในหัวแล้ว ยืนกันยาวๆ เลย ตั้งใจเลยว่า ไม่ได้ไม่เลิก จำได้ว่าเริ่มถ่ายตั้งแต่ 11 โมงได้ ยิงยาวไปจนถึงเที่ยง เดินไปกินข้าว แล้วก็กลับมาถ่ายต่อตั้งแต่สักบ่าย 2 ถึงบ่าย 3 เลยครับ แล้วก็กลับ… คือคิดว่ามันต้องมีช็อตที่ได้แหละ แต่เราไม่รู้ว่าจังหวะที่ได้ช็อตไหนจะดีกว่ากันเพราะมันไม่มีเวลาให้ดูละเอียดๆ พอกลับมาดูก็ถึงรู้ครับว่า มันได้ตั้งแต่เที่ยงแล้ว”
เจษฎา อินเอก
“ตอนเดินมีน้ำกระเด็นใส่ที่แขนเรา เราก็คิดว่าฝนตกเลยหันหน้าขึ้นไปมองด้านบน เห็นว่ามีกลุ่มพี่ๆ พนักงานเช็ดตึกอยู่ ก็เลยยืนปักหลักอยู่บริเวณนั้นสักพัก สังเกตเห็นต้นไม้ที่อยู่ด้านหน้าตึก เลยใช้เป็นฉากหน้าเพื่อให้ได้ภาพที่แปลกตากว่าปกติ นั่งปั้นมุม ใช้คนเป็นฉากหน้าบ้าง แต่ก็ไม่โอเค เลยตั้งใจที่จะใช้ต้นไม้เป็นฉากหน้า ให้ดูเหมือนเป็นกลุ่มมด กำลังทำงาน แต่เนื่องด้วยพี่ๆ ยังอยู่ในตำแหน่งที่สูงเกินไป เลยเดินต่อไปเพื่อไปถ่ายอย่างอื่นก่อน แล้วขากลับก็เดินมาส่องดูอีกรอบ ก็รู้สึกว่าโอเคกว่า สรุปใบนี้ใช้เวลาในการปั้นเฟรมเกือบชั่วโมงเลย ทั้งปวดคอ และปวดตา”
พิมพิกา หงสาภิวัฒน์
“ภาพนี้เป็นภาพที่ได้มาในงานเทศกาลแห่วัดแขกที่สีลม จริงๆ เหมือนเป็นวันที่ไม่ค่อยได้ภาพเท่าไหร่ จนกระทั่งใกล้จะกลับอยู่แล้ว ดันเดินหลงกับเพื่อนพอดี แล้วมาเจอน้องหมาอยู่บนตะกร้าจักรยาน เราเลยรู้สึกว่า เออ ซีนนี้น่าจะมีอะไร เลยยืนปั้นซีนอยู่ประมาณนึง น่าจะประมาณครึ่งชั่วโมง ลองหมดเลย ทั้งแฟลชไม่แฟลช แต่ตอนนั้นยังไม่มีลูกโป่งนะ จนเราเหลือบไปเห็นคนขายลูกโป่ง เราเลยคิดว่า เออ นี่แหละ ใช่เลย หลังจากนั้นคือกดยับเลย จนได้ช็อตนี้มาค่ะ”
นพดล ไมตรีจิตร์
“ถ้าจะให้เลือกว่าภาพภาพไหนคือภาพที่ชอบที่สุด ก็คงจะเลือกได้ยากมากสำหรับผม เพราะทุกภาพที่ได้มามันมีความทรงจำที่กว่าจะได้ภาพนั้นๆ มา ทั้งเพราะโชคและหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกัน แต่ถ้าจะให้เลือก คงจะเป็นภาพชื่อ No.3 เพราะเป็นช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มถ่ายสตรีท และเป็นหนึ่งในสองภาพที่ได้ติด finalists ของ Miami Street Photography Festival 2015 เป็นครั้งแรก
“ภาพ No.3 ก็เหมือนภาพทุกภาพของผม ที่ ทุกๆ ครั้งที่ออกไปเดิน จะนึกว่าจะออกไปเดินที่ไหนดี กับเวลาที่ผมมีแค่ 2-3 ชั่วโมง ผมจะมีสถานที่อยู่ในใจก่อนที่จะขับมอเตอร์ไซค์คันเก่าๆ ออกไปเสมอ พอล้อเริ่มหมุน วงจรการถ่ายสตรีทเดิมๆ เหมือนทุกครั้งก็เริ่มขึ้น
“วันนั้นผมคิดถึงสระว่ายน้ำ ตั้งแต่ถ่ายสตรีทมาผมยังไม่เคยถ่ายสระว่ายน้ำเลย คิดแล้วก็เริ่มนึกว่าในจังหวัดผมมีสระว่ายน้ำที่ไหนบ้าง ในตอนนั้นคิดได้อยู่ที่นึง เป็นสระของโรงเรียน เลยลองขับรถเข้าไปดู เดินมึนๆเข้าไป จนได้เจอกับอาจารย์ที่ดูแลสระ เลยขออนุญาตเข้าไป ให้แกดูงานที่เคยถ่ายมาบ้าง ว่าเรามาฝึกถ่ายรูป พอได้เข้าไป คนน้อยมาก มีเด็กอยู่แค่ 2-3 กลุ่ม ผมก็ถ่ายไปเรื่อยๆ ทดลองมุมไปตามเรื่องคอยสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เกิดขึ้น สิ่งที่มากระแทกใจผม
“ในขณะนั้นเองที่ผมอยู่บริเวณด้านข้างของสระ ผมเห็นขาของใครบางคน หลบมุมที่แท่นกระโดด อยู่ไกลๆ สงสัยว่าทำไมขาถึงยื่นออกมาในลักษณะแบบนั้น ใจผมนี่ตื่นเต้นมาก รู้เลยว่ามันน่าสนใจ ผมรีบไปบริเวณด้านหลังแท่นกระโดด ทั้งปรับตั้งค่ากล้องไปในตัว และวางมุมไว้ในใจ พอไปถึงก็เห็นว่า น้องผู้ชายคนหนึ่งกำลังนอนเล่นอยู่บนลู่ที่เอาไว้แบ่งเส้นในสระ ผมรีบกดถ่ายไปเรื่อยๆ รอคอยอะไรบางอย่าง ใจตอนนั้นคิดแต่จังหวะที่น่าสนใจ และเรื่องคอมโพซิชั่น อาจเพราะเสียงชัตเตอร์ที่ดัง ทำให้น้องเค้ารู้ตัวและเสียจังหวะกับการนอน ทำให้เหมือนหงายหลังบนเส้นนั้น พอดีกับที่ผมกดจังหวะนั้นได้ ผมรู้เลยว่าผมได้มันมา ทั้งตื่นเต้นและดีใจมาก เป็นใบแรกที่ทำให้ผมรักและเสพติดในการออกไปเดินเพื่อให้ได้เจอเรื่องราวที่มาเป็นภาพสตรีทที่ผมชอบ”
วิกรม์ โรจน์อารยานนท์
“ใบนี้ไปเดินถ่ายที่สวนลุมพินี ที่นี่จะมีฟิตเนสกลางแจ้ง มีนักกีฬาเพาะกายตัวบึ้กกล้ามแน่นเต็มไปหมด คิดว่าถ้าเข้าไปถ่ายเฟลชดู ผิวน่าจะมันวาวสวยดี เดินวนไปวนมาอยู่พักนึง โชคดีเจอซีนนี้ ตอนแรกพี่เสื้อดำเค้ากำลังช่วยเซฟพี่รอยสักอยู่ ผมก็จับจังหวะยกแขนขึ้นลง ถ่ายเก็บไว้เรื่อยๆ พยายามให้ตัวซ้อนสนิท แขนสี่แขนโผล่สมมาตรกันพอดี
“ระหว่างถ่ายก็รอความน่าจะเป็นที่แปลกขึ้นเรื่อยๆ แล้วอยู่ดีๆ พี่รอยสักมาก็สลับมานั่งหน้ากล้อง ก็ถ่ายไปเรื่อยๆ รวมแล้วประมาณ 67 ช็อต ในเวลาประมาณ 6 นาทีครับ กลับบ้านมาเลือกรูป ก็คิดว่าใบนี้มีท่าทางที่น่าสนใจดี”
สุธาสินี ศูนย์ตรง
“รูปนี้น่าจะเป็นรูปไม่กี่รูปที่ใช้เวลาสั้นมากๆ ในการตัดสินใจถ่าย ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที ตอนนั้นเราไปเที่ยวที่ Park Güell ที่บาร์เซโลนา เราสังเกตว่าด้านข้างเป็นโรงเรียนซึ่งกำลังพักเที่ยงอยู่พอดี แสงและเงาดีมาก โดยเฉพาะตรงที่ปีน ระหว่างที่เด็กเล่นกัน เรารัวแบบไม่ยั้ง พอกลับมาดูอีกทีแหละถึงเห็นว่ามีซีนดี ดีใจมากๆ แต่เลือกยากนะเพราะถ่ายมาเยอะมาก ถามคนนั้นคนนี้จนได้รูปนี้มา และเราก็ชอบรูปนี้มากที่สุดตั้งแต่ถ่ายรูปมา เพราะเป็นรูปที่เราตัดสินใจถ่ายแค่เสี้ยววิเท่านั้นค่ะ”
ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์
“ถ้าถามเราว่าเวลาถ่ายรูปสตรีทใช้เวลานานไหม อันนี้ตอบยาก เพราะแต่ละซีนที่เจอ มันก็เอื้อให้ใช้เวลาต่างกันออกไป อย่างถ้าเจอซีนที่น่าสนใจจริงๆ และตัวแบบไม่ได้สนใจเรานัก เช่น เด็กเล่นกัน หรือจังหวะรอคนเดินผ่านจุดเพื่อสร้างคอนเน็กชั่นบางอย่างในภาพ ก็เคยนั่งตกปลาอยู่เป็นขั่วโมงหรือรอวันใหม่แล้วไปพยายามซ้ำเหมือนกัน ซึ่งส่วนมากที่รอกันก็เพราะมีภาพสุดท้ายในหัวแล้วอยากให้มันเกิดขึ้น พอรอจนได้ภาพปุ๊บก็จะเลิกถ่าย แต่สำหรับเราในระยะหลังๆ เราจะชอบภาพที่มีองค์ประกอบของความเซอร์ไพรส์บางอย่าง ที่แม้เราเองก็คาดไม่ถึง อย่างเช่นภาพนี้
“แวบแรกที่เห็นคือ ผู้ชายคนนึงนั่งเขียนอะไรบางอย่างอยู่บนระเบียงของตึก ซึ่งปกติเวลาเราเจอซีนที่สามารถเล่นกับ perspective เพื่อหลอกตาได้ เราก็จะทดลองเข้าไปถ่ายเข้าไปวางเฟรมดู
“จะเห็นว่าเฟรมแรกยังไม่มีเรื่องราวอะไรนักเป็นแค่การวางเฟรมเทียบสเกล องค์ประกอบก็ดูรกๆ พอดูแล้วมุมนี้ไม่น่ารอด ก็เลยพยายามหามุมใหม่
- เพื่อให้เฟรมสวยขึ้น
- เพื่อให้มันมีเรื่องราวมากขึ้น
“สอดสองสายตาดู ก็สังเกตุเห็นถ้วยวางอยู่บนรถเข็น เลยลองจัดองค์ประกอบให้พี่เค้าห้อยเท้าลงมาในถ้วย ภาพออกมาโอเคขึ้น แต่เราก็ยังไม่หยุดเล็งในวิวไฟเดอร์ ยังคงมองหาจังหวะที่น่าสนใจซึ่งอาจจะเกิดขึ้น รวมถึงพยายามจับจังหวะแม่ค้าสองคนที่อยู่ในฉากหน้า หวังว่าจะได้ท่าท่างที่สวยงามและองค์ประกอบภาพที่คลีนที่สุด แต่ทันใดนั้นเองพี่ด้านหลังก็เปลี่ยนอริยาบทเก็บของและลุกขึ้นยืน วินาทีนั้นเองที่เราได้ภาพ ชายที่ดูเหมือนมนุษย์จิ๋วกำลังกระโดดลงถ้วย
“ซึ่งเราจะไม่ได้ภาพนี้เลย หากเราพอใจง่ายๆ กับภาพแรกๆ ที่เราถ่ายได้ และทิ้งโอกาสตรงหน้าไป”