เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา บิล คันนิ่งแฮม ช่างภาพสตรีทและช่างภาพแฟชั่นผู้เป็นตำนานและแรงบันดาลใจแห่งมหานครนิวยอร์กได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 87 ปี ชีวิตของคันนิ่งแฮมเคยถูกนำมาถ่ายทอดเป็นสารคดีเรื่อง ‘Bill Cunningham New York’ ในปี 2010 ด้วยการถ่ายภาพที่แม่นยำ คล่องแคล่ว คิดมาแล้ว และชีวิตส่วนตัวที่สมถะ ทำให้คุณลุงบิลเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างภาพแนวสตรีทหลายต่อหลายคนทั่วโลก
The MATTER ชวนคุยกับ ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ ช่างภาพสตรีทมือรางวัลระดับโลก กับแรงบันดาลใจเรื่องการทำงานจาก บิล คันนิ่งแฮม ที่ภาพถ่ายของลุงบิลไม่ใช่แค่ภาพถ่ายสตรีทแฟชั่นแต่มีความสำคัญในมิติทางสังคม ไปจนถึงความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการถ่ายภาพแนวสตรีท และตอบปัญหาคาใจแฟนๆ ที่ว่า “พี่คะๆ พี่ใช้กล้องอะไรถ่ายรูป?”
The MATTER : ในมุมมองของคุณ คิดว่า ‘บิล คันนิ่งแฮม’ มีความสำคัญกับวงการการถ่ายภาพสตรีทยังไง
ส่วนตัวเราคิดว่า ลุงบิล คันนิ่งแฮม มีความสำคัญกับวงการถ่ายภาพสตรีทในหลายมิตินะ มิติแรกก็คือภาพถ่ายของแกตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเนี่ย ถึงแม้ว่าจะเน้นไปทาง ‘สตรีทแฟชั่น’ คือเป็นภาพถ่ายที่เน้นการแต่งตัวของผู้คนบนท้องถนนอย่างตรงไปตรงมา คือไม่ได้มีเรื่องราวหรือเนื้อหาในภาพมากนัก แต่มันก็เป็นการบันทึกความเป็นไปทางประวัติศาสตร์นะ ว่าคนแต่ละยุคแต่งตัวกันอย่างไร มีชีวิตนอกบ้านแบบไหน
อย่างมีชุดนึงที่พูดถึงผู้คนในนิวยอร์ก ว่าทุกวันนี้ใช้พาหนะอะไรไปทำงานกันบ้าง แกก็ไล่เก็บเลยตั้งแต่ คนขี่จักรยาน ใช้โรเลอร์เบลด เซกเวย์ สกู๊ตเตอร์ และเจาะลึกไปกว่านั้น แกรอเก็บภาพผู้หญิงคนเดิม กับสกู๊ตเตอร์ตัวเก่งว่าแต่งตัวอย่างไรใน 1 สัปดาห์ อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่แกทำด้วยความตั้งใจแบบนี้มันหลุดจากการภาพถ่ายเพื่อส่งงานลงคอลัมน์หนังสือธรรมดาๆ ไปมาก
หรือถ้าสังเกตคอลัมน์ On The Street ที่แกทำใน The New York Time แกก็จัดเรียงภาพถ่ายของแกอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่สี หรือไดเรคชั่นของซับเจคต์ในแต่ละภาพ คือบางฉบับที่พีคๆ นี่ ตัดเอาหน้าคู่นั้นออกมาใส่กรอบแขวนโชว์ได้เลย
อีกมิตินึงที่สำคัญมากก็คือ ลุงแกเป็นแบบอย่างของความตั้งใจ เพียรทำในสิ่งที่ตัวเองรักมาอย่างยาวนาน ลองนึกภาพลุงวัย 80 กว่า แต่ยังเดินถ่ายภาพผู้คนอย่างคล่องแคล่ว ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขตลอดเวลา ซึ่งสิ่งที่แกทำนี้มันเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างภาพสตรีท ดำเนินรอยตามนะ
The MATTER : แสดงว่าต้องมีภาพของ บิล คันนิ่งแฮมที่คุณชอบ อะไรคือภาพ 5 ภาพที่ชอบที่สุด
ภาพ 5 ภาพของ บิล คันนิ่งแฮม ที่ชอบนี่เป็นอะไรที่เลือกยากนะ คือแกมีงานเยอะมากก คิดดูบางงานอย่างชุด Facades นี่ถ่ายตั้งแต่ ปี1968 ซึ่งสวยคลาสสิกดีนะ แต่เข้าใจว่าเป็นงานแฟชั่นเซ็ตมากกว่าสตรีท (คือมีการจัดฉากนางแบบ)
เราจะชอบและจำงานแกได้จากยุคหลังๆ มากกว่า ซึ่งส่วนมากจะเน้นถ่ายผู้คนบนท้องถนนอย่างตรงไปตรงมา ไม่จัดฉาก หรือโพสก็โพสน้อยมาก ซึ่งเป็นภาพชุด(ซีรีส์) ที่พีคๆ นี่จะเป็นการที่ลุงจับคู่สีบนท้องถนนมาแมทช์กัน หรืออย่างเซ็ตที่เป็นชุดลายเสือดาวนี่ก็ฮามาก คือลุงไปตามเก็บมาได้อย่างไรเยอะขนาดนั้น ขนาดน้องหมาใส่ชุดเสือดาวยังมี
The MATTER : วิธีการถ่ายภาพของลุงบิลเป็นแบบไหน แล้ววิธีการทำงานของคุณเป็นอย่างไร
งานของ บิล คันนิ่งแฮม กับเรา จะมีส่วนที่เหมือนกันก็คือ การถ่ายผู้คนในที่สาธารณะ จะมีส่วนที่แตกต่างกันก็คือ บางภาพของลุงอาจจะมีการโพสเล็กๆ เช่นบางคนพอรู้ว่าลุงแกมาถ่ายก็ยืนจิกขา หรือยิ้มให้ถ่าย และแกอาจจะมีพูดคุยด้วยเล็กน้อยอะไรแบบนี้ ซึ่งก็เป็นปกติของงานสตรีทแฟชั่นที่ลุงแกก็จะมองเสื้อผ้าหรือบุคลิคของคนสวมเป็นหลัก แต่ภาพถ่ายของเราจะเป็น Unposed คือเน้นความเป็นไปบนท้องถนนอย่างตรงไปตรงมา ไม่จัดฉากและจะรักษาระยะห่างกับคนที่เราถ่ายพอสมควร อีกอย่างที่แตกต่างกันก็คือสิ่งที่เรามองหาไม่ใช่เสื้อผ้าหรือแฟชั่น แต่เป็นการเปลี่ยนความธรรมดาบนท้องถนนให้เป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดา ( odinarry to extradinarry )
The MATTER : งั้นจริงๆ แล้วการถ่ายภาพแนวสตรีทคืออะไร แค่ไปถ่ายที่ถนนก็เป็นสตรีทแล้วหรือเปล่า
มีรุ่นพี่ที่เคารพคนนึง ( อัครา นักทำนา ) ให้คำจำกัดความภาพแนวสตรีทไว้ง่ายๆ อย่างงี้ฮะ
1.ถ่ายในที่สาธารณะ ไม่จำเป็นต้องบนถนนอย่างเดียวนะ ห้าง ทะเล ร้านอาหาร ก็ได้
2.ไม่จัดฉาก คือไม่ไปบอกให้คนทำนู่นนี่ ท่านั้นท่านี้
3.มีความคิดสร้างสรรค์หรือการตีความ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นมุกหรือแก๊กนะ อย่างมีความตั้งใจวางเฟรมมิ่งอย่างมีคอมโพสิชั่นนี่ก็ถือว่ามีความคิดสร้างสรรค์แล้ว ซึ่งข้อนี้สำคัญมากและทำให้ การยกกล้องลอยๆ ถ่ายมั่วๆ บนถนน ยังไม่ถือว่าเป็นภาพสตรีท(ที่ดี)
The MATTER : คิดว่าอะไรคือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเป็นช่างภาพสตรีท
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาพสตรีท ที่เห็นได้บ่อยในบ้านเราคือ เข้าใจผิดว่าภาพสตรีทคือไปถ่ายขอทาน หรือ คนที่เค้าลำบาก แล้วเอามาทำเป็นภาพขาวดำ โทนหดหู่ เสร็จปุ๊บหาคำมาพรรณนาบรรยายภาพตัวเอง 7-8 บรรทัด อะไรแบบนี้ สำหรับผมมันมักง่ายเกินไป ในการที่ออกไปเก็บความลำบากของคนอื่นมาเป็นงานของตัวเอง และก็อย่างที่ Elliott Erwitt เคยพูดไว้ “จุดประสงค์ทั้งหมดสำหรับการถ่ายภาพคือ คุณไม่ต้องอธิบายมันด้วยคำพูด” ภาพที่ดีจะสื่อสารกับผู้ชมได้เอง โดยไม่ต้องไปเขียนอธิบายแม้แต่ประโยคเดียว
The MATTER : อะไรคือเส้นบางๆ ระหว่างความฟลุคกับการออกแบบการถ่ายภาพแนวสตรีท
เรื่องเส้นบางๆ ระหว่างความฟลุคกับการวางแผนที่จะได้ภาพๆ นึงมาเนี่ย ผมมองว่าถ้าเราไปอยู่ระหว่างเส้นบางๆ นี้ได้ คือดีเลยนะ คือถ้าคนออกไปถ่ายภาพสตรีทบ่อยๆ จะพบว่า เวลาเราอยากได้อะไรนี่มันมักจะไม่ได้ อย่างเช่นตั้งใจรอคนเดินเข้ามาในจุดนี้จะพอดีกับฉากหรืออะไรอย่างนี้ หรือบางครั้งอาจรอจนได้ภาพที่ต้องการ ก็จะพบว่าเป็นภาพธรรมดาๆ ที่เคยเห็นคนอื่นถ่ายมาแล้ว แต่ไอ้จังหวะฟลุคเนี่ย หลายๆ ครั้งมันเป็นโมเมนต์ที่มีเพียงครั้งเดียวและยากที่จะทำซ้ำ ซึ่งหากมีดวงแต่เราไม่ได้เตรียมพร้อมตลอดเวลา มันก็ยากที่จะเก็บโมเมนต์นั้นมาได้
The MATTER : การตัดต่อภาพถือเป็นภาพสตรีทมั้ย
การตัดต่อภาพ นี่เป็นข้อห้ามสำคัญสำหรับภาพสตรีทเลยครับ คือภาพสตรีทเนี่ยหลักๆ มันคือการถ่ายทอดความจริง ความเป็นไปบนท้องถนนอย่างตรงไปตรงมา แต่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะภาพสตรีทในยุคสมัยใหม่ ภาพที่เป็นที่จดจำมักจะเป็นภาพที่มีความเซอร์เรียลอยู่ ซึ่งส่วนมากจะเกิดมาจากที่ช่างภาพจับจังหวะทันทีทันใดมาได้ (Decisive moment) หรือการเลือกใช้มุมมองเพื่อหลอกตา คนดูเป็นต้น คราวนี้ถ้าไปใช้วิธีรีทัช ตัดต่อภาพ มันก็เท่ากับเป็นการ ไปทำลายความจริงที่เกิดขึ้น และเป็นการไปลดคุณค่าของโมเมนต์นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่นภาพ Headless Dog ของผมก็ได้ฮะ ถ้าภาพนี้เป็นภาพที่รีทัชเอาหัวหมาออก แทนที่จะเป็นการกดชัตเตอร์ในจังหวะที่หมาตัวนึง หันหัวไปงับขนแล้วดูเหมือนมันไม่มีหัวเนี่ย คุณค่าของภาพมันต่างกันมากเลยนะฮะ
The MATTER : พี่คะๆ พี่ใช้กล้องอะไรถ่ายรูป
กล้องที่ใช้ประจำคือ A7rmk2 กับเลนส์ Leica Tri Elmar 28-35-50 🙂
The MATTER : แล้วช่างภาพแนวสตรีทอย่างคุณ ใช้ตัวอะไรในสตรีทไฟท์เตอร์
จำได้ว่า ตัวแรกที่เล่นจนจบเกมส์คือ ริว นะ คือค่อนข้างตื่นเต้นกับการกดท่า ฮาโดเคน 555