“หนังสือสามารถเป็นได้ทั้งดาว และวัตถุระเบิด ปลุกชีวิตให้มีชีวาได้อย่างไม่สิ้นสุด เป็นดั่งแสงไฟโชติช่วงและส่องสว่างท่ามกลางความมืดมิด แผ่จักรวาลให้ขยายออกไป” – Madeleine L’Engle นักเขียนชาวอเมริกัน
หนังสือเป็นอะไรได้อีกมากมาย หนังสือเป็นเพื่อน หนังสือเป็นคู่คิด และหนังสือก็เปลี่ยนชีวิตของใครหลายคน แล้วหนังสือเล่มไหนที่เปลี่ยนชีวิตคุณ?
1. กมลกานต์ โกศลกาญจน์
“ปัญญาอนาคต เขียนโดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมมา เริ่มจากได้อ่านเล่มนี้ตอนที่เป็นกังวลกับชีวิตหนักๆ พอดี เราเป็นใคร ทำอะไรอยู่ สิ่งที่ทำนั้นเป็นประโยชน์หรือเปล่า แล้วเป็นการเถียงกันไม่จบสิ้น จนได้มาอ่านเล่มนี้ของพี่โญ รวดเดียวจบเลยนะ เเล้วนิ่งไปนานมาก เพราะเป็นเล่มที่ว่าด้วยเรื่องของการยอมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อไปต่อ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราขาดคือการกลับมาทบทวนตัวเอง อ่านจบเเล้วสติมาปัญญาเกิด ในเล่มยังแบ่งเป็นตอนตามลำดับขั้น เชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เเละปัจจุบันอย่างเข้าใจง่าย เล่มนี้ยังเป็นครูในแง่ของการเขียนหนังสืออย่างเฉียบคมอีกด้วย”
2. อกนิษฐ์ หอรัตนคุณ
“เราอ่านเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อสิบปีที่แล้ว สมัยนั้นรู้สึกว่า หาหนังสือนิยายหรือเรื่องสั้นสมัยใหม่ดีๆ อ่านยาก พอได้เจอเล่มนี้ก็ดีใจมาก เป็นหนังสือเรื่องสั้นเล่าเรื่องราวจิปาถะสากกะเบือยันเรือรบ แต่ใช้เลนส์แบบกวนตีน ตะแคงพลิกพรมมองเข้าไป จำได้ว่าอ่านแล้วร้องซี้ดออกมาหลายรอบ เพราะทึ่งในการใช้ภาษาที่โคตรรุ่มรวย หลายบรรทัดเหมือนโดนมีดเฉือนเบาๆ ที่เนื้อ เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่ปลูกวิธีคิดแบบวิพากษ์ให้เรา และผลักดันให้เราลองเขียนเรื่องสั้นส่งประกวดเป็นครั้งแรกในชีวิตกับนิตยสารฉบับหนึ่งด้วย แต่ตกรอบ”
3. กมลกา จิตตรุทธะ
“หนังสือที่เปลี่ยนชีวิตคือหนังสือเล่มยาวเล่มแรก (สำหรับตอนนั้น) ที่อ่านตอนป. 2 ชื่อ ‘แม่มด’ ของโรอัลด์ ดาห์ล โดย สำนักพิมพ์ผีเสื้อ จำได้ว่าแม่ซื้อมาให้แล้วหลังจากนั้นชีวิตก็ไม่เคยขาดหนังสืออีกเลย ความรู้สึกหลังจากที่อ่านคือรู้สึกประทับใจว่าโลกวรรณกรรมมันพาเราไปในอีกพื้นที่หนึ่งที่ทั้งเรา (จินตนาการของเรา) และตัวงานช่วยกันสร้างขึ้นมา เวลาที่เราอ่านเราอินไปกับเรื่องราวนั้นๆ สำหรับเล่มแรกนี้ก็คือง่ายๆ ให้ความสนุก ต่อๆ มามันก็พัฒนาไปเป็นอารมณ์ความรู้สึกรวมถึงความคิดและประสบการณ์ในรูปแบบอื่นๆ เล่มอื่นๆ ก็จะเปลี่ยนไปตามความสนใจในแต่ละช่วงอายุ แต่เล่มนี้ทำให้เราก้าวเข้ามาในโลกของหนังสือโดยที่ออกไปไม่ได้อีกแล้ว”
4. พงศ์ธร ยิ้มแย้ม
“ข้างหลังโปสการ์ด หลานเสรีไทย -เป็นหนังสือที่อ่านสมัยปี 1 หยิบมาอ่านเพราะช่วงนั้นชอบเที่ยว เพิ่งพ้นวัยหัวเกรียน อยากหาข้อมูลโลกกว้าง ก็อ่านไปเรื่อย แต่พออ่านเล่มนี้จบแล้ว ค่อนข้างส่งผลต่อมุมมองการท่องเที่ยวของเรามาก เมื่อก่อนเวลาเที่ยวก็แค่อยากรู้สึกออกไปพัก ไปท้าโลก หลุดออกจากกรอบเดิมๆ (ฮา) แต่พออ่านเล่มนี้ แล้วถามตัวเองเลยว่าเรานี่เป็น นักท่องเที่ยวประเภทตัวฤทธิ์ไหม การที่เราเข้าไปเที่ยว คือการไปทำลายระบบอะไรหรือเปล่า จากการเอาอัตตาไปท้าโลก ก็กลายเป็นการท่องเที่ยวแบบก้มหัว เคารพ เปิดใจให้กับที่ๆ เราไปมากขึ้น”
5. บพิตร วิเศษน้อย
“มายาคติ ของ Roland Barthes อาจารย์ที่ปรึกษาธีสิสแนะนำให้อ่านประกอบการรีเสิร์ช จำได้ว่าตอนนั้นกำลังสนใจเรื่องชาตินิยม อ่านแล้วเปิดโลกมาก ทำให้อะไรที่เคยมองแล้วคิดว่าครบแล้ว รอบด้านแล้ว มันก็ยังมีเชิงลึก มีปัจจัยเกี่ยวข้อง มีด้านให้คิดต่อไปอีก พอได้แนวคิดจากหนังสือเล่มนี้มา วิธีการมองโลกก็เปลี่ยนไปอีกแบบเลย เสียดายที่รู้จักเล่มนี้ตอนใกล้เรียนมหาวิทยาลัยจบแล้ว ตอนนี้เลยเป็นคนมองโลกแบบคิดเยอะ คิดว่าทุกอย่างเป็นมายาคติไปหมดเลย และหาทางอยู่กับมัน”
6. เชตี หญิงร้ายในกายทราม
“หนังสือเปลี่ยนชีวิตคือเรื่องมาทิลดา (ฉบับแปล) ของโรอัลด์ ดาห์ล เราได้อ่านตอนอายุประมาณ 12-13 เป็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่องแรกในชีวิต ตอนเด็ก ๆ เคยอ่านแต่นิทานอีสปและนิทานกริมม์ ก็ห่างหายจากการอ่านหนังสือมานานพอสมควร เราชอบความฉลาดของมาทิลดาที่ไม่ยอมแพ้ผู้ใหญ่ (ซึ่งลึก ๆ เราอาจจะต่อต้านผู้ใหญ่บางประเภทก็ได้ พอเห็นเด็กเอาคืนได้ก็ชอบ รู้สึกมีความหวัง 555) ส่วนที่เปลี่ยนชีวิตคือ พออ่านเล่มนี้จบ เราก็ไม่ได้ห่างหายจากหนังสือนานๆ อีก แต่อ่านมาเรื่อยๆ เช่น แม่มด แฮร์รี่ พอตเตอร์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ รหัสลับดาวินชี ฯลฯ ทำให้รู้ตัวว่าอยากทำงานสำนักพิมพ์
ก็ขอบคุณมาทิลดามากที่ทำให้จุดประกายให้ชะนีคนนึงรักการอ่านเหมือนมาทิลดา และทำให้ได้ทำงานหนังสือที่ชอบ”