‘We didn’t grow up the same, Please don’t judge me by the name of my neighborhood’
And should our thoughts not align, You can politely decline, it’s OK, we’re good’
เนื้อเพลงจากซิงเกิล Temple Fair จาก The Greng Jai Piece อัลบั้มเต็มที่ 2 ของภูมิ วิภูริศเล่าเรื่องมากกว่าความรักที่ไม่สมหวัง แต่เป็นความเข้ากันไม่ได้ในระดับตัวตนของคู่รัก
“การรู้สึกตัดขาดออกจากรากเหง้าของตัวเอง ความเข้ากันไม่ได้กับผู้คนที่ใกล้ชิดกับเราที่สุด เพลงนี้คือภาพแทนความมึนงงของการเป็นเด็กที่โตในต่างประเทศ (Third Culture Kid) มากพอๆ กับที่มันตั้งคำถามขอบเขตความเป็นไทยในสังคมปัจจุบัน” เขาเขียนในอินสตาแกรมอธิบายเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์ของเพลงดังกล่าว
ในฐานะนักเรียนภาพยนตร์ภูมิวาดภาพความรู้สึกแปลกแยกผ่านการนั่งมองผู้คนเดินเล่นเต้นรำในงานวัด นอกจากวิธีการเล่า อิทธิพลของภาพยนตร์ส่งผลต่อการสร้างเพลงเพลงนี้ เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก มนต์รักทรานซิสเตอร์ โดยเป็นเอก รัตนเรือง “เรื่องที่หนังเล่าเกี่ยวกับวงจรความอับโชคของตัวเอก ความคิดเกี่ยวกับการหาหนทางกลับบ้านเป็นมากกว่าเรื่องแต่งและตรงเข้ากับชีวิตของผม” ภูมิกล่าว
ภูมิ วิภูริศเกิดที่ไทย แต่เมื่ออายุ 9 ปีเขาและครอบครัวย้ายไปอาศัยอยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์จนเขาอายุ 18 ปีจึงได้กลับมาศึกษาต่อที่ประเทศไทย กดปุ่มเดินหน้าขึ้นมาในปี 2022 ในระหว่างที่โลกทั้งใบของเราตกอยู่ภายใต้การกักตัว เขานำความคิดที่ล่องลอยในหัวของเขาตลอด 2 ปีที่เขามีเวลาคิดมากอย่างไม่จำกัดมาเขียนเป็นอัลบั้มล่าสุดที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับความเกรงใจ บรรทัดฐานทางสังคม และความเกรงใจแบบไทยๆ ใน The Greng Jai Piece หรือ ‘ชิ้นเกรงใจ’
‘เกรงใจ’ เป็นคำที่เราคุ้นเคยเสียจนไม่ได้คิดถึงมันมากเท่าไรนัก แต่เมื่อเราเพียงแม้แต่จะลองแปลมันออกมาเป็นภาษาอังกฤษ การแปลตรงตัวไม่สามารถทำได้ ‘mindful’ ก็เคร่งครัดเกินไป ‘careful’ ก็ดูหวงห้ามเกินไป ‘considerate’ ก็ดูไม่นอบน้อมพอ
“ความเกรงใจมันเหมือนกับกฎในชีวิตประจำที่ไม่ได้ถูกเขียนเอาไว้ ผมอยากใช้มันเป็นร่มในการเล่าเรื่องเกี่ยวกับบรรทัดฐานและสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันที่เราไม่ต่อยตั้งคำถามกับมัน แต่ละเพลงพูดคนละเรื่องกัน แต่มันจะเกี่ยวกับเรื่องที่พูดยากเพราะความต้องเกรงใจของเรา” ภูมิพูดกับ NME ในบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับอัลบั้ม เพลงในอัลบั้มเล่าเรื่องเช่น การกล้าปล่อยตัวปล่อยใจไปในวันแย่ๆ ของ Healing House ความกล้าจะปล่อยมือจากรักที่ไม่อาจเป็นจริงใน Kiko’s Letter
แต่เพลงที่เล่าเกี่ยวกับความเกรงใจตรงๆ ที่สุดคือ Greng Jai Please เพลงที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อดีข้อด้อยของการเกรงใจ “มันเป็นเพลงที่ผมพยายามอธิบายดาบสองคมในธรรมชาติของความเกรงใจ” ภูมิเขียนเกี่ยวกับเพลง ในแง่หนึ่งการเกรงใจคือการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังหัวใจผู้อื่น ไม่ทำร้ายใจคน และประนีประนอม แต่ในขณะเดียวกันมันก็หมายถึงการไม่พูดสิ่งที่เราคิดจริงๆ และการใส่หน้ากากของตัวตนที่ไม่ใช่ตัวเอง “อาหารเสร็จแล้ว มานั่งกินสิ แต่อย่าลืมท่องกฎนะ นี่คือชิ้นเกรงใจ และเธอกินมันไม่ได้” เนื้อเพลงตลกร้ายที่รู้สึกเรียลยิ่งกว่าอะไร
ความน่าสนใจของที่มาชื่อ ‘The Greng Jai Piece’ ไม่ได้เริ่มมาจากประสบการณ์ตรง “ผมได้ยินมันครั้งแรกจาก The Big Bang Theory” ภูมิคุยกับ NME ระยะห่างจากธรรมเนียมที่แพร่หลายในไทยเข้ากันกับเรื่องราวชีวิตการเป็น third culture kid ที่ภูมิพูดถึงสอดแทรกมันไว้ทุกที่ของอัลบั้มแม้แต่ในหน้าปก ภาพแทนตัวเองของเขาเป็นสลอธถือกีตาร์นั่งอยู่ในงานวัด สไตล์ภาพเป็นภาพเขียนผนังบนอุโบสถวัด “ส่วนผสมของสิ่งที่แตกต่างกันแต่อยู่ร่วมกันอยู่ดี” เขาอธิบาย
Third Culture Kid (TCK) หรือ Third Culture Individuals (TCI) คือบุคคลที่ใช้ชีวิตวัยกำลังโตอยู่ภายนอกวัฒนธรรมของพ่อแม่หรือสัญชาติของตัวเอง วัฒนธรรมแรกของมนุษย์คือวัฒนธรรมที่พ่อแม่ของเขาเติบโตมา วัฒนธรรมที่สองคือวัฒนธรรมในพื้นที่ที่ครอบครัวย้ายไปอยู่ ส่วนวัฒนธรรมที่สามคือคือความสัมพันธ์ที่ TCI มีร่วมกัน นั่นคือระยะห่างจากสองวัฒนธรรมแรกนั่นเอง
ในขณะที่บ่อยครั้ง TCI จะมีความรู้และมุมมองที่เปิดกว้างเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงกว่าคนอื่นๆ เนื่องจากประสบการณ์ตรงของการได้ใช้ชีวิตในพื้นที่ที่ตัวเองสามารถมองวัฒนธรรมในมุมกว้างโดยมีระยะห่างที่ตัดความเอนเอียงส่วนตัวออกไปได้ ระยะห่างดังกล่าวสามารถส่งผลให้พวกเขารู้สึกไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวัฒนธรรมใดเลยไปพร้อมๆ กัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะจิตวิยาคลินิก มหาวิทยาลัยพรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์ ประเทศแคนาดา ราเคล โฮสติง (Raquel Hoersting) เรียกระยะห่างนั้นๆ ว่า ‘ความไร้บ้านทางวัฒนธรรม (Cultural Homelessness)’ ที่อาจนำไปสู่ความมึนงงในตัวตน ต้องการที่ยึดเหนี่ยว และต้องการหาความมั่นใจในตัวเองได้
แต่เช่นเดียวกัน ระยะห่างดังกล่าวนำมาซึ่งมุมมองที่แตกต่าง สายตาที่ออกห่างจากวัฒนธรรมมากพอที่จะไม่ถือความเอนเอียงที่จะเข้าข้างสัญชาติเกิดไว้ก่อนเอาไว้ แต่ก็ใกล้มากพอที่จะมีความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความใส่ใจต่อวัฒนธรรมนั้นๆ และในกรณีของ The Greng Jai Please ใส่ใจมากพอที่จะพูดถึงมัน ตั้งคำถามถึงมันอย่างรอบด้านและไม่ตัดสิน
เป็นเรื่องน่าสนใจที่หากมองในมุมนี้ อัลบั้มโดย third culture kid คนหนึ่งจะให้มุมมองเกี่ยวกับวัฒนธรรมของเราที่เรียลยิ่งกว่าสายตาของเราที่อยู่กับความเกรงใจไทยๆ นี้จะสามารถมองได้ด้วยซ้ำ
อ้างอิงข้อมูลจาก