เหตุการณ์การจับกุมชายผิวสีนามว่า จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) อย่างเลือดเย็นจนกระทั่งเขาเสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐอเมริกานั้น นำมาซึ่งการต่อต้าน การตั้งคำถาม และการประณามทั่วไปหมด ทั้งฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะจับกุม (ตามคลิปที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป) ก็ไม่ได้แสดงความรู้สึกผิด หรือความรับผิดชอบอะไรออกมานักเลย ยิ่งเป็นดั่งเชื้อให้เพลิงความโกรธทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ผมหวนไปนึกถึงภาพยนตร์สารคดีชื่อว่า 13th ซึ่งอยู่ใน Netflix อันมีเนื้อหาว่าด้วยการสร้างทาสหรือการกดขี่คนผิวสียุคใหม่ ผ่านมาตรา 13 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเอง ผมเลยอยากนำเสนอเนื้อหาของ 13th ให้ลองพิจารณาดู เพราะคิดว่าน่าจะทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นเหง้ารากของปัญหานี้ได้ชัดมากขึ้นครับ
อนึ่ง ที่เขียนมานี้มีการสปอยล์เนื้อหาหนังอย่างรุนแรง และนี่คือหนังสารคดี ฉะนั้นหากเข้าถึง Netflix ได้ ควรชมภาพยนตร์ก่อนมาอ่านนะครับ ทั้งนี้ผมจะพยายามเขียนโดยแตะเนื้อหาในเชิงรายละเอียดของภาพยนตร์ให้น้อยที่สุด แต่เป็นเหมือนการเล่าใหม่ โดยสวมเลนส์ทางวิชาการและกรอบทฤษฎีเข้าไปเพิ่มเติมให้แทนครับ
ในทางเนื้อหาหลักๆ ของตัวภาพยนตร์ ผมขออธิบายเพียงว่า หนังว่าด้วยประวัติศาสตร์การกดขี่คนดำที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายสถานภาพจาก ‘literal slave’ (ทาสจริงๆ) มาเป็น ‘figurative slave’ (ทาสเสมือนจริง) ในรูปแบบของนักโทษ ผ่านมาตราที่ 13 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่ระบุว่าประชาชนทุกคนไม่มีใครจะมาถูกปฏิบัติเยี่ยงทาสหรือไม่เป็นมนุษย์ได้ เว้นแต่ในกรณีที่ก่ออาชญากรรม โดยตัวหนังแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ คือ ประวัติศาสตร์ของการกดขี่, สภาพการกดขี่ในปัจจุบัน, ธุรกิจ/เศรษฐกิจของการกดขี่, และทางออก/ช่องทางการแก้ไขที่มีต่อการกดขี่
นอกจากนี้ อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบมากๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือท่าทีเชิงวิพากษ์ (critical) ต่อสังคมชุมชนคนดำเองด้วย ที่มีต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่ในบางครั้งกลายเป็นเหยื่อของวาทกรรมความรุนแรงในการสร้างความรุนแรงเลยทีเดียว แม้อาจจะไม่ได้พูดเยอะ แต่เราก็เห็นการสอดแทรกท่าทีเชิงวิพากษ์นี้เป็นระยะๆ อยู่
-
ธีมหลัก
“อะไรที่ทำให้เรากลายเป็นคนนอกกฎหมาย”
หรือเขียนใหม่แบบเข้าใจง่ายขึ้นนิด อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการทำผิดกฎหมาย? การกระทำ? คนร้าย? เหยื่อ? พยาน? หลักฐาน? ศาล?…เปล่าเลยครับ สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้คนเป็นคน ‘นอกกฎหมายหรือในกฎหมาย’ นั้นไม่ใช่อะไรอื่นนอกจาก ‘ตัวกฎหมายเอง’
หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของกฎหมายคือ การเป็นกลไกในการบอกว่า ‘ใคร/อะไรถูกกฎหมาย’ และ ‘ใคร/อะไรไม่ถูกกฎหมาย’ ว่าง่ายๆ แบ่งคนเป็นสองกลุ่มคือ ผู้ซึ่งเชื่อฟังและผู้ซึ่งไม่เชื่อฟัง (the obedience and the disobedience) ซึ่งมาตราที่ 13 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ก็เช่นเดียวกัน มันเป็นไปตามกลไกที่บอกมา ซึ่งอธิบายไว้โดย จอร์จิโอ้ อะแกมเบ้น (Giorgio Agamben)
ทีนี้ปัญหามันมาตกอยู่ที่ว่า สถานะในฐานะมนุษย์ของเหล่าผู้ซึ่งกฎหมายจัดวางไว้ว่าเป็นพวก ‘นอกกฎหมาย’ นี่แหละ คือ คนเหล่านี้มีสถานะแบบที่อะแกมเบ้นอธิบายไว้ว่าอยู่ในและนอกการเมือง (ของกฎหมาย) ในเวลาเดียวกัน (In and out of politics at the same time) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะการที่พวกเขากลายเป็นคนนอกกฎหมายนั้น มันมาจากอำนาจของตัวกฎหมายและพลังทางการเมืองของรัฐเอง สถานะของบุคคลที่แสนจะย้อนแย้งจากการเป็นมนุษย์ทั่วไปนี้ เป็นสถานะที่อะแกมเบ้นเรียกมันว่า ‘ชีวิตที่กลวงเปล่า’ (Bare life หรือ Homo Sacer)
การเป็นชีวิตที่กลวงเปล่านี้ กลายเป็นสถานะซึ่งไม่มีคุณค่าใดๆ ในมุมมองของอะแกมเบ้น หากผมเรียกด้วยภาษาตัวเองง่ายๆ ก็คือ กฎหมายได้เปลี่ยนสถานะของ ‘ผู้นอกกฎหมาย’ จากมนุษย์ (human being) ให้กลายมาเป็นเพียงแค่ ‘มวลชีวิต’ (living mass) คือ ไม่ได้มีคุณค่าอะไรใดๆ ในฐานะมนุษย์อีกต่อไป กลับไปเป็นเพียงสมบัติหรือวัตถุของเจ้าผู้มีอำนาจเหนือกว่า
ในกรณีที่เป็นคน สถานะแบบนี้ก็คือ ‘ทาส’ นั่นเอง
ซึ่งตัวหนังดำเนินเรื่องจากจุดนี้ในฐานะแกนกลางทางความคิด และความหวาดกลัวที่มีต่อคนดำที่ส่วนหนึ่งเป็นเชื้อมูลจากประวัติศาสตร์ในอดีต และอีกส่วนมาจาก ‘ภาพสร้างใหม่’ ผ่านสารพัดสื่อ (simulation) ได้สร้างสภาพยกเว้นพิเศษ (State of Exception) ขึ้นมา ที่ทำให้คนดำกลายเป็น ‘ชีวิตที่กลวงเปล่า’ และรัฐจะจัดการอย่างไรกับคนพวกนี้ก็ได้ในนามความมั่นคง
ตัวหนังเริ่มต้นจากการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์การกดขี่ของอเมริกา โดยเฉพาะช่วงสงครามกลางเมือง และหลังจากนั้น ว่าทาสคนดำถูกปฏิบัติด้วยอย่างไร ฯลฯ ซึ่งจะไม่ลงรายละเอียด เพราะควรจะดูมาแล้วไม่อยากสปอยล์หนักกว่าที่ทำอยู่
-
ประวัติศาสตร์การกดขี่ และสภาพการกดขี่ในปัจจุบัน (มันเป็นสองส่วนที่แชร์ไอเดียร่วมกันแรงมาก จนไม่รู้จะแยกอย่างชัดเจนให้ยังไง)
หนังส่วนนี้วางอยู่บนแกนไอเดียที่สำคัญอย่างน้อย 5 ประการ คือ
- หลังจากจบสงครามเย็นมาแล้ว สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นเจ้าอำนาจโลกเพียงหนึ่งเดียวอย่างเด็ดขาด (Single Hegemonic State) นั่นหมายความว่าศัตรูของอเมริกาไม่ใช่ใครอื่นอีก นอกเสียจากตัวสหรัฐอเมริกาเอง : เราจะเห็นได้จากการเสนอภาพของการสร้าง domestic violence ในฐานะ ‘ศัตรูร่วม’ อันดับหนึ่งของรัฐขึ้นมา ผ่านสงครามต่อต้านยาเสพติดของนิกสัน และเอาจริงเอาจังในยุคของเรแกน นั่นเป็นเพราะศัตรูจากภายนอกสลายไปแล้ว
- นิยามรัฐแบบเวเบอร์ (Weberian definition of State) ที่ว่า ‘รัฐสมัยใหม่คือผู้ผูกขาดการใช้กำลังทางกายภาพอย่างชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวในพื้นที่หนึ่งๆ’ : ภาพยนตร์ได้ฉายภาพแสดงการใช้อำนาจของรัฐในนามความถูกต้อง ที่จะจัดการกับปัญหาหรือภัยสูงสุดของสังคม ที่ถูกมองผ่านสายตาแบบ white supremacy (คนขาวเหนือกว่าชนชาติอื่น) ตลอดเวลา ซึ่งมันสะท้อนออกมาผ่านการลงโทษ และด่วนสรุปตัดสิน ‘คนดำและละติน’ จำนวนมาก อย่างไม่มีหลักฐาน หรือลงโทษอย่างเกินกว่าเหตุตลอดเวลา ในจุดนี้อาจจะเรียกได้ว่า เชื้อมูลของยุคแห่งการค้าทาส และภาพสร้างของคนดำในฐานะตัวเหี้ยในทุกด้าน (ทั้งผ่านภาพยนตร์และข่าว) ทำให้คนดำถูกรัฐมองในฐานะภัยต่อรัฐและ presume guilty ได้ (ตามมาตรฐานสากลคือ ต้อง presume innocent หรือสรุปก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้)
- ความกลัวต่อความตาย (fear of death) เป็นนวัตกรรมทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของสังคมสมัยใหม่ หากความกลัวต่อความตายถูกสร้างให้เห็นภาพอยู่ตรงหน้า หรือถูกเข้าใจว่ามีอยู่จริงๆ ประชากรของรัฐในฐานะมนุษย์สมัยใหม่ ก็พร้อมที่จะตอบสนองต่อความกลัวนั้น โดยยินยอมที่จะสละสิทธิและเสรีภาพของตนเอง เพื่อประกันให้ชีวิตของตนเองอยู่ห่างจาก ‘ภัย’ ที่จะมาทำอันตรายต่อชีวิตอันเป็นสิ่งซึ่งมีค่าสูงสุดของตน ฉะนั้นนโยบายอย่าง Law and Order หรือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและสร้างระเบียบในสังคมจึงกลายเป็นนโยบายที่ขายได้ เพราะภาพของคนดำในฐานะภัยอันตรายต่อชีวิต (ผ่านภาพการเป็นดีลเลอร์ยาเสพติด, ข่มขืน, ฯลฯ) ถูกสร้างขึ้นมาตลอด และเพราะคนดำช่างอยู่ใกล้ตัวเสียเหลือเกิน คนเหล่านี้จึงควรได้รับการตรวจตราอย่างเข้มงวด, ลงโทษอย่างเข้มงวด และหากเกินกว่าจะควบคุมได้ ก็เอามันออกไปจากสังคมนี้ (ซึ่งสะท้อนผ่าน 3-Strike Policy ของคลินตัน)
- รัฐในฐานะพระเจ้าแบบใหม่ (State as the new God) แนวคิดนี้เสนอขึ้นมาครั้งแรกโดย เดวิด แคมป์เบล (David Campbell) ผ่านการตีความของเค้าที่ตีความแนวคิดของฮอบบส์ โดยมองว่ากลไกการทำงานหลักของรัฐสมัยใหม่ (ซึ่งสอดคล้องกับนิยามของเวเบอร์) ก็คือ การประกันความปลอดภัยให้กับประชากรของรัฐ (State’s Promised Security) หน้าที่/กลไกนี้ มีความสำคัญเหนือกว่าการประกันสิทธิเสรีภาพใดๆ กล่าวคือ ประชากรขั้นต่ำสุดต้องมีชีวิตก่อน จึงจะมี ‘คุณค่า’ อื่นๆ ตามมาได้ และเหตุผลที่เป็นพระเจ้าแบบใหม่ ก็เพราะเดิมทีก่อนจะมีรัฐสมัยใหม่ คนอ้อนวอนให้พระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองตนเองให้รอดปลอดภัย เพราะรัฐก่อนสมัยใหม่ มีขึ้นเพื่อปกป้องเจ้าผู้ปกครอง หรือขยายอำนาจของตัวรัฐเอง ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องประชากรของรัฐ พอมีรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้น ประชาชนก็เรียกร้องการประกันความปลอดภัยจากรัฐแทนที่พระเจ้า
กลไกดังกล่าวนี้เอง ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ เหตุการณ์และคอนเซปต์ ในนิยามรัฐแบบเวเบอร์และความกลัวตายในฐานะมนุษย์สมัยใหม่สามารถทำงานได้ จริงๆ ข้อนี้มีความสำคัญมาก ไปตลอดเนื้อหาหนังทั้งหมดเลย คือ ในฐานะของพระเจ้าที่ทำหน้าที่ในการตัดสิน ‘ชะตากรรม’ ของมนุษยชาติ การสร้างเครื่องมือต่างๆ ที่จะตอบสนองอำนาจและหน้าที่ของพระเจ้าจึงกำเนิดขึ้น การสร้างคุกจำนวนมหาศาล ที่มีกลไกแทนที่นรกภูมิ ดินแดนของคนบาปที่ได้รับการลงทัณฑ์โดยสิทธิขาดจากพระเจ้า (รัฐ) ผู้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน (ผู้ศรัทธา) ไปจนถึงผู้ซึ่งช่วยพระเจ้าทำงาน ก็จะได้รับรางวัล (จะพูดถึงในส่วนต่อไป) ด้วยวิธีการมองแบบนี้ จะเห็นว่าการให้สิทธิขาดในการตัดสินใจกับรัฐในฐานะพระเจ้าผู้เที่ยงธรรม จึงไม่ต่างจากการมองรัฐในฐานะผู้ซึ่งผูกขาดความชอบธรรมในการใช้กำลัง และนั่นทำให้การดำรงอยู่ในตำแหน่งของการเป็นผู้ตัดสินและลงทัณฑ์มันสอดคล้องกับนโยบายการสร้างชาติที่เรียกว่า Law and Order ในข้อ 3 เหลือเกิน
- คอนเส็ปต์หลักตัวสุดท้ายของหนัง (และอาจจะสำคัญที่สุด) นั่นคือ The Unaccounted หรือ ‘ส่วนซึ่งไม่ถูกนับว่าเป็นส่วน’ ของร็องซิแยร์ ซึ่งในเรื่องก็คือ คนดำนี่แหละ คนดำเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของสังคมอเมริกา ที่จำเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนรัฐทั้งในทางเศรฐกิจ และการเมือง (โดยเฉพาะด้านความมั่นคง) แต่เพราะว่าพวกเขาคือ ‘ประวัติศาสตร์ของการต่อต้านอำนาจรัฐ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจรัฐตามแบบฉบับของคนขาว ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์การต่อสู้และชะตากรรมที่ต้องเผชิญตั้งแต่ช่วงการค้าทาส การผุดขึ้นมาของปัจเจกที่ทรงพลังในการนำมวลชน อย่างมาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ ที่ก่อนจะได้ชัยชนะ ก็ถูกมองในฐานะศัตรูอันดับหนึ่งของรัฐที่ควรจะต้องถูกกำจัด หรือก็คือ saint ในสายตาของเหล่าคนดำ แต่เป็น satan ในสายตาคนขาว ที่เข้ามาท้าทายอำนาจของ white god (รัฐ) ของพวกเขานั่นเอง หรือในกรณีของผู้นำกลุ่มแบล็กแพนเธอร์ ก็เช่นเดียวกัน และหากพูดในเชิงอิมแพ็คแล้ว ก็ต้องนับว่าน้อยกว่ามาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์พอสมควร แต่ก็ยังถูกมองว่าเป็นศัตรูอันดับต้นๆ ของพระผู้เป็นเจ้า ที่ต้องโดนกำจัด เพราะต่อต้านอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า
อย่างไรก็ดี เมื่อการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของคนดำขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนสำเร็จได้ในที่สุด สถานะของคนดำ จึงเปลี่ยนมาจาก ‘สัตว์นรก’ ที่เป็นไพร่พลของซาตาน มาเป็นเพียง ‘สัตว์ร้ายที่กลับใจมาเป็นมนุษย์’ ซึ่งไม่มีทางเทียบได้กับคนขาว ซึ่งเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ ในนามบุตรของพระเจ้าที่แท้จริง การมองผ่านเลนส์แบบนี้ เกิดทั้งจากฝั่งตัวรัฐเอง และฝั่งสังคมคนอเมริกันด้วย ทำให้แม้จะถูกมองในฐานะ ‘คน’ เหมือนกัน แต่ก็เป็นมนุษย์คนละแบบ ฝั่งหนึ่งเป็นคนซึ่งถูกนับว่าเป็นส่วนของสังคมโดยแท้จริง ในขณะที่คนดำกลายเป็นส่วนของสังคมซึ่งไม่ถูกมองว่าเป็นส่วนไป และสามารถปฏิบัติด้วยมาตรฐานของพวกเป็นขบถ หรือจัณฑาลในสายตาพระเจ้าได้
จากแนวคิดทั้ง 5 ประการนี้เอง นำมาสู่การกดทับที่มีต่อคนดำ
และทำให้คนดำถูกสร้างภาพซ้ำๆ ตลอดเวลา ในฐานะ ‘ตัวร้ายตลอดกาล’ และถูกทำให้กลายเป็นตัวร้ายอย่างแท้จริงไป (จุดนี้จงใจไม่เขียนในรายละเอียด เพราะเขียนจะสปอยล์เนื้อหารุนแรงเกิน) โดยตัวหนังแสดงให้เห็นชัดเจนถึงการกดขี่อย่างโจ่งแจ้งในสังคมอเมริกา ซึ่งสิ่งที่อนุญาตให้เกิด ‘เงื่อนไข’ ในการกดขี่อย่างโจ่งแจ้งได้ ก็คือ 5 ข้อที่ว่ามานี้เอง
ผลก็คือ ประชากรในคุกของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมาก ในทศวรรศ 1970s เป็นต้นมา นับแต่นโยบาย Law and Order ปรากฏ ทำให้ตอนนี้ 25% ของประชากรคุกทั่วโลกเป็นประชากรคุกอเมริกัน และเหยื่อหลักที่นอนคุก ก็คือ คนดำ ขนาดที่ว่า 1/3 ของคนดำเคยผ่านคุกมาก่อน หลายคนไม่เคยทำผิดเลย หลายคนโดนลงโทษเกินกว่าความผิดจริงไปมาก ซึ่งการ amplify guilt เหล่านี้ ก็เกิดจากเงื่อนไข 5 ข้อที่ว่ามานั้นเอง
แต่คำถามคือ การที่มีประชากรคุกจำนวนมากแล้วมันได้อะไร? ซึ่งนำไปสู่ส่วนถัดไปของตัวภาพยนตร์
-
เศรษฐศาสตร์ของการกดขี่
โดยคอมมอนเซนส์ มันเป็นเรื่องชัดเจนว่า ยิ่งคุกเยอะ คนคุกมาก รัฐก็ต้องสูญเสียงบประมาณ และสรรพกำลังไปจัดการดูแลมาก แล้วมันจะได้ประโยชน์อะไร โดยเฉพาะนโยบายจำคุกตลอดชีพมากมาย (จาก 3-Strike Policy) ตัวหนังตอบคำถามนี้ ผ่านเงื่อนไขของ Late Capitalism Society และรูปแบบการจัดการบริหารพรรคการเมืองของอเมริกันด้วย ที่สังคมโดยเฉพาะการจัดสรรและกำหนดนโยบายจากส่วนบนของระบบนั้นมาจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่เอื้อประโยชน์กับนักการเมืองมาก หรือเป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรค
ในเรื่องเน้นการพูดถึง ALEC หรือ American Legislative Exchange Council (จะไม่ลงรายละเอียดมาก เดี๋ยวสปอยล์เกิน) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะด้านความมั่นคงและราชทัณฑ์ของสหรัฐ ALEC นี้เองที่เป็นองค์กรที่ทำให้ ‘มาตราที่ 13’ ของรัฐธรรนูญสหรัฐกลายเป็นจริง ในการเปลี่ยนคนดำ ให้กลายเป็น ‘ทาส’ ในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่านักโทษ
นอกจาก ALEC จะเข้ามาหากินกับธุรกิจต่างๆ ในคุกแล้ว การเพิ่มประชากรคุกที่ดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มภาระให้รัฐในเชิงเศรษฐกิจนั้น กลับเป็นการเพิ่มอำนาจในด้านทรัพยากรการผลิตให้กับ ALEC เป็นอย่างมาก เพราะ ‘นักโทษ’ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติด้วยในฐานะมนุษย์อยู่แล้ว (และเวลาพูดว่านักโทษ มันแทบจะถูกต้อง 80% ไปแล้วว่าเป็นคนดำ) การเป็นนักโทษสามารถถูกปฏิบัติในฐานะวัตถุได้ สามารถใช้ให้เป็นกำลังในการผลิตได้ (ผ่านข้อตกลงความร่วมมือกับ ‘รัฐ’) โดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงสักแดงเดียว ห้องขังต่างๆ ไม่ได้ถูกออกแบบมาไว้ให้กับมนุษย์ แต่มีสภาพเสมือนเป็นโกดังในการเก็บสินค้าหรือปัจจัยการผลิตที่แสนจะทรงคุณค่า
สิ่งเหล่านี้เองที่เปลี่ยนคนดำให้กลายเป็นทาสอีกครั้ง หรือหากมองในอีกแง่หนึ่งก็คือ พวกเขาถูกทำให้กลายเป็น compensate ของพระเจ้า ที่มีให้กับผู้ศรัทธาและช่วยเหลือการทำงานของพระผู้เป็นเจ้าที่พูดถึงก่อนหน้านั่นเอง หนึ่งในเจ้าของบริษัทฯ ที่เป็นแกนนำของ ALEC เองก็พูดในลักษณะนี้ว่า “หากเขาช่วยให้คนอเมริกันมีชีวิตที่ปลอดภัยขึ้น แล้วเค้าจะได้เงินมากขึ้นไปด้วย มันจะผิดตรงไหน” (ทำนองนี้ ไม่เป๊ะ แต่มีแน่ๆ) เขาผู้นี้คือผู้ช่วยของพระผู้เป็นเจ้า เขาคือ Saint ของระบบ White Man Supremacy ฉะนั้นเขาจึงได้รับการ reward อันเป็นเรื่องปกติ และ “ส่วนซึ่งไม่ถูกนับว่าเป็นส่วน” อย่างคนดำ ก็กลายมาเป็นไอเท็มที่ต้องสละตนอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวในฐานะรางวัลที่พระเจ้ามีให้กับผู้ศรัทธา เพื่อพระเจ้าจะได้ดำรงสถานะของตนต่อไปได้นั่นเอง (สภาพไม่ต่างจากกรณีปาเลสไตน์ กับยิว และอื่นๆ นัก)
ไม่เพียงเท่านั้น พระเจ้าผิวขาวเองก็เรียนรู้จากบทเรียนในอดีตว่าจะปล่อยให้เกิดการขบถขนานใหญ่แบบในอดีตอีกย่อมไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะฉะนั้นจึงได้สร้างกลไกที่สำคัญ 2 ประการคือ 1.การสร้างภาพความอันตรายของคนดำขนาดที่ว่าสังคมคนดำเองก็ยังเชื่อว่าพวกตนหรือชุมชนของตนนั้นอันตราย และ 2.ระบบที่ประกันการไหลเวียนของ ‘คนดำ’ ในฐานะทาสแบบใหม่ (คนคุก) ที่ไม่ขาดสาย ผ่านวิธีคิดของทฤษฎีเกม ที่ให้อัยการยื่นเงื่อนไขให้คนดำยอมรับว่าทำผิด (แม้จะไม่ได้ทำ) เพราะถ้ายอมรับจะได้รับการลดโทษลงนับสิบเท่า แต่หากไปถึงชั้นศาลแล้วแพ้คดี นอกจากจะโดนค่าใช้จ่ายบานแล้ว ยังติดคุกชนิดไมเห็นเดือนเห็นตะวันไปอีกหลายทศวรรษกันเลย…
แน่นอน ทฤษฎีเกม (Game Theory) บอกกับเราอยู่แล้วว่า
สุดท้ายเขาก็จะยอมเลือกสารภาพและติดคุกน้อย
อย่างไรก็ดี การตัดสินยอมรับว่าเป็นความผิด ทั้งที่ไม่ได้ทำผิดนั้น มันไม่ได้มาจากวิธีคิดของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเท่านั้น แต่มันวางรากฐานอยู่บนเงื่อนไขที่คนดำที่เป็นเหยื่อเหล่านั้นก็รู้ตัวดีว่า ระบบศาลและลูกขุนของสหรัฐอเมริกาเอง ก็วางรากฐานอยู่บนวิธีคิดแบบ White Supremacy และมีขึ้นเพื่อสนองกลไกของพระเจ้าสีขาวของพวกเขา (ซึ่งในหนังสะท้อนให้เหตุทั้งในสถิติของอัตราส่วนสีผิวลูกขุน ไปจนถึงการตัดสินโทษที่คนผิวขาวมีแนวโน้มจะได้รับโทษเบากว่ามากๆๆๆๆ)
แน่นอนว่าผลกระทบของการต้องไปใช้ชีวิตในคุกที่เกิดขึ้นกับตัวปัจเจกนั้นก็หนักหนามาก หลายคนเสียสติ หรือพยายามฆ่าตัวตายหลังออกจากคุก แต่ Why so serious? ไม่ใช่เรื่องที่มนุษย์ผิวขาว ลูกรักของพระเจ้าจะต้องสนใจ ตราบเท่าที่พระเจ้าประกันความปลอดภัยให้เรา และคนดำยังเป็นเพียง ‘วัตถุในคราบคน’ อยู่ … ไม่ต้องสนขนาดที่ว่า คนขาวจะยิงคนดำตายบ้าง แล้วอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของชีวิตตน พระเจ้าของคนขาวก็ยังประกันคุณค่าให้การกระทำนั้นได้
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดรัฐเองก็แบกรับภาระค่าใช้จ่ายกับคุกไม่ค่อยจะไหว (ไม่แน่ใจเป็นแค่ข้ออ้างหรือเปล่า) อย่างไรก็ดีกลไกใหม่ในการ Play God จริงๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อระบบการติดตามตัวและระบบการสอดส่องที่เพิ่มมากขึ้นแทน (Intensification of Surveillance) รัฐดูจะเริ่มเปลี่ยนความคิดใหม่ จากการสร้างนรก (คุก) มาจองจำเหล่าคนบาป ก็ทำให้บ้านเหล่าคนบาปกลายเป็นคุกแทนไปเสีย … ก็ค่อยๆ เริ่มปรากฏขึ้น
-
ทางออกจากการกดขี่
เป็นช่วงสุดท้ายของหนังและพูดสั้นๆ ผ่านมุมมองเรื่อง Historical Materialism ของมาร์กซ์ ว่าเราอยู่ในยุคที่เกิด historical turn (จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์) จากการเกิดขึ้นของโลกออนไลน์แล้ว เราสามารถใช้พลังนี้เป็นพลังขับเคลื่อนที่ทรงพลังได้ อย่างที่มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ทำสำเร็จมาแล้วจากการฉายภาพความน่ากลัวและการตกเป็นเหยื่อผ่านโทรทัศน์ในยุคก่อน
พูดอย่างวิชาการนิดก็คือ การเสนอให้สร้างความตระหนักรู้ด้วยสุญญากาลสหมิติ (homogenous empty time) ผ่านกลไกของสื่อออนไลน์ต่างๆ นั่นเอง เพราะตัวภาพยนตร์ให้ความสำคัญกับบทบาทและอิทธิพลของ media มาก โดยเฉพาะข่าวและภาพยนตร์ ซึ่งว่ากันจริงๆ ตัวภาพยนตร์เองก็เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเป็นทางออกนี้ด้วย
แต่ก็ตลกร้ายเล็กๆ เมื่อมองว่าหนึ่งในทางออกที่ว่านี้ คือ โลกออนไลน์ อย่าง google, facebook, youtube ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของ ALEC ที่สร้างปัญหานี้ขึ้นมาด้วย และปัจจุบันก็ยังเป็นกลไกสำคัญในการตรวจจับ ‘ผู้ไม่เชื่อฟัง’ ให้กับพระเจ้า อย่างสหรัฐอเมริกา
ผมหวังว่าหนังสารคดีเจ๋งๆ อย่าง 13th ก็ดี หรือแม้แต่บทความชิ้นนี้ของผมก็ดี จะพอทำให้เห็นภาพเชิงโครงสร้างของการกดขี่ยุคใหม่ในนามกฎหมายและการสร้าง ‘ข้อยกเว้น’ ขึ้นมาได้ แม้แต่ในระบบประเทศเสรี และหวังว่ากรณีอย่างที่เกิดขึ้นกับจอร์จ ฟลอยด์นี้จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปนะครับ