คุณมีความทรงจำบางอย่างไหม ลองหลับตานึกถึงกลิ่นที่มักจะลอยออกมาจากห้องครัว รสชาติอาหารง่ายๆ ไข่เจียวใส่มะเขือเทศ แกงจืดที่มีรสชาติเฉพาะ กลิ่นรสเหล่านี้ รวมถึงบรรยากาศการ ‘กินข้าวร่วมกัน’ นับเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้บ้าน ‘เป็นบ้าน’ อาหารมักเป็นศูนย์กลางของของครอบครัวโดยเฉพาะในวัฒนธรรมเอเชียแบบเราๆ ‘ครัว’ เป็นสิ่งที่เป็นศูนย์กลางของ ‘ครอบครัว’
ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ซีรีส์เรื่อง The Makanai: Cooking for the Maiko House จะเป็นซีรีส์ที่อยู่ในกระแสประจำต้นปีใหม่นี้ ตัวเรื่องเป็นส่วนผสมทั้งของภาพอาหารและเรื่องราวของเด็กสาวที่ไปใช้ชีวิตตามฝันอยู่ใน ‘เมืองบุปผา (hanamachi)’ ดินแดนที่เหมือนข้ามมาจากอดีตแต่ทว่าดำรงอยู่กลางเมืองเกียวโต อีกด้านของย่านกิออนที่เหล่าสตรีฝึกฝนศิลปะโบราณและใช้ชีวิตราวกับอยู่ในมิติเวลาของตัวเอง ที่สำคัญคือ ซีรีส์ชุดนี้เป็นผลงานกำกับของผู้กำกับญี่ปุ่น เจ้าพ่อของงานภาพและเรื่องเล่าความสัมพันธ์ที่แสนอบอุ่นนุ่มนวล ดูแล้วคิดถึงเกียวโตแถมยังได้ความรู้สึกอบอุ่นจากในครัว แถวได้รับพลังสดใสของสาวน้อยและเรื่องราวน่าสนใจของเหล่า ‘ไมโกะ’
ทีนี้ ถ้าได้ดู The Makanai ไปบ้างแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงประทับใจกับความสวยงามในแทบทุกด้านของตัวซีรีส์สมฝีมือ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Hirokazu Koreeda) สำหรับเรื่องนี้ในมิติความสัมพันธ์ ฮิโรคาสุอาจจะไม่ได้ขยี้ปมเรื่องความสัมพันธ์รุนแรงจนน้ำตาซึมเหมือนในหนัง เช่น Like Father, Like Son หรือ Shoplifter
ความพิเศษของซีรีส์เรื่องนี้อยู่ที่ความดูเพลิน เพลินไปกับเรื่องราวและที่สำคัญคือบทบาทของอาหารที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของบ้าน ของความสัมพันธ์ และของตัวตนของเหล่าผู้คน อาหารทำบ้านให้เป็นบ้าน ช่วยประสานให้คนนอกกลายเป็นครอบครัวในชายคาของบ้านไมโกะ ในโครงความสัมพันธ์ที่เฉพาะตัวของเขตเมืองดอกไม้
ค่ากลางของอาหาร และเงื่อนไขเฉพาะของเมืองดอกไม้
‘ความยากของอาหารมากาไนคือการทำให้อาหารธรรมดา’
คำพูดเรียบๆ ในเคล็ดวิชาปรุงอาหารเพื่อดูแลเหล่าไมโกะและเด็กฝึกหัดในบ้าน ที่มากาไนคนก่อนถ่ายทอดให้ ‘คิโยะ’ ที่นำแสดงโดย นานะ โมริ (Nana Mori) ฟัง
แม่ครัวแห่งบ้านไมโกะเป็นเรื่องราวของสองเด็กสาวที่เดินทางมาเกียวโตเพื่อฝึกฝนเป็นไมโกะตามที่ฝันไว้ แต่ว่าหนึ่งในสองสาวกลับไม่ได้มีตัวตนเหมาะกับการร่ายรำ แต่กลับชอบและมีความสามารถในการทำอาหารมากกว่า ในบ้านของไมโกะมีตำแหน่งแม่ครัวเรียกว่ามากาไน เป็นผู้ที่คอยดูแลเรื่องอาหารให้กับทุกคนในบ้านนั้น
ทีนี้ ทั้งบ้านไมโกะ รวมไปถึงพื้นที่ที่เรียกว่าเมืองบุปผา นับเป็นพื้นที่ที่มีบริบทพิเศษ คนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้จะนับว่าเป็น ‘คนในพื้นที่’ การเข้ามาเป็นไมโกะจะต้องมาอยู่กินและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองดอกไม้ มากินนอนฝึกฝนที่บ้าน เดินทางไปฝึกฝนที่โรงเรียนเต้นรำ และให้บริการในโรงน้ำชาที่อยู่ในย่านเดียวกันเป็นหลัก
แต่กฎเกณฑ์สำคัญหนึ่งคือเมื่อเข้ามาสังกัดในพื้นที่แล้ว ทุกคนจะมีสถานะเป็นดั่งครอบครัวเดียวกัน แม้จะมาจากต่างที่และไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เด็กฝึกจะเรียกรุ่นพี่ว่าพี่สาว เรียกผู้ดูแลใหญ่ว่าแม่หรือมาม่า ความสัมพันธ์นี้ครอบคลุมไปจนถึงเพื่อนบ้านที่มีการเรียกว่าพี่ชาย หรือตอนที่เจ้าของกิจการหรือคุณแม่ระบุว่าเมืองดอกไม้ใช้เบอร์เฉพาะที่เป็นเบอร์ภายใน เพราะทั้งย่านนับเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน
ดังนั้น ใต้ชายคาของบ้านไมโกะ จึงเป็นพื้นที่ของเด็กสาวจากหลายภูมิหลัง คำพูดของมากาไนที่เปรยถึงลักษณะอาหารของบ้านไมโกะและความยากของมันจึงสะท้อนความสัมพันธ์และความคิดที่ลึกซึ้ง อาหารแบบไหนที่จะปรุงให้กับบ้านที่มีผู้คนและความชอบแตกต่างกัน มาจากต่างที่ต่างภูมิหลัง มีความชอบที่แตกต่างกัน และถ้าเรานับความชอบอะไรซักอย่าง ลิ้นและรสดูจะเป็นสิ้นที่เราชอบอย่างแข็งแรง และมีบทบาทต่อตัวตนของเราอย่างลึกซึ้ง
อาหารของมากาไนจึงเป็นการหาค่ากลางของอาหาร และค่ากลางนั้นเองที่จะสร้างความรู้สึกของความเป็นบ้าน และร่วมถักสานความสัมพันธ์ของคนใต้ชายคาให้กลายเป็นครอบครัวต่อไป
ความอบอุ่นของครัว และการทำให้เป็นครอบครัว
ห้องครัว นับเป็นห้องที่มีความอบอุ่นที่สุดของบ้าน ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรมในวัฒนธรรมเอเชีย ครัวเป็นที่สถิตของเทพเจ้าเตาไฟ ในด้านหนึ่งทั้งเทพเจ้าเตาไฟและแม่ครัว หรือผู้หุงหาอาหารจึงถูกนับให้เป็นผู้ดูแลบริบาลทุกข์สุขให้กับบ้าน ในระดับรูปธรรม ครัวเป็นพื้นที่ที่อบอุ่นด้วยไฟของการทำอาหาร และอบอวลไปด้วยกลิ่นของอาหารปรุงสดใหม่ หลายครั้งห้องครัวจึงเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัย ด้วยความตัวมันเองเป็นพื้นที่ที่ให้พลังงานจากอาหารที่ถูกปรุงขึ้น และเป็นพื้นที่ที่ความทรงจำของเราก่อตัวขึ้นผ่านทั้งการปรุงและการกินอาหาร
จะมีความทรงจำไหนที่แรงกล้าเท่ากลิ่นและรสของอาหาร และจะมีห้วงเวลาไหนที่ครอบครัวจะมีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่าช่วงเวลากินข้าวร่วมกัน อาหารบนโต๊ะอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่บ้าน มักเป็นอาหารที่เรียบง่าย กินได้ทุกวัน และมีบริบทเฉพาะเจาะจงของบ้านและประวัติศาสตร์ในบ้านนั้นๆ ในระดับสรีระชองร่างกาย สมองส่วนฮิปโปแคมปัสเป็นสมองที่ดูแลเรื่องความทรงจำ และดูแลเรื่องการรับกลิ่น ดังนั้นกลิ่นต่างๆ จึงเป็นทั้งเครื่องฝังและกระตุ้นความทรงจำ มีงานศึกษาหลายชิ้นที่ระบุว่ากลิ่นของอาหารเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะกระตุ้นความทรงจำบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงขึ้นมาได้
ในเรื่องเราจึงเห็นบทบาทของอาหาร ที่เข้ามาสอดประสาน สร้างบรรยากาศและสานต่อผู้คนเข้าไว้ด้วยอาหาร ความสัมพันธ์ของเหล่าไมโกะที่ค่อยๆ สนิทสนมกันมากขึ้นจากอาหาร ในบริบทความสัมพันธ์ของไมโกะและผู้คนนั้น ด้านหนึ่งถ้าเรามองจากคนภายนอก โลกของไมโกะนั้นดูไร้ชีวิต มีความสัมพันธ์ที่แปลกประหลาด ที่อันที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ของผู้คนแทบทั้งหมด เป็นความสัมพันธ์ของคนแปลกหน้าที่ไม่ได้มีสายเลือดเดียวกันแทบทั้งสิ้น
แต่เมื่อเรื่องราวเล่าจากครัวของเหล่าไมโกะ เราก็จะพบว่าหญิงสาวที่อยู่ใต้กิโมโนหนาหนัก ใบหน้าที่ฉาบด้วยแป้งสีขาว ภายในรั้วกำแพงที่คนทั่วไปไม่มีสิทธิย่างเท้าเข้าไป สตรีของดินแดนลึกลับต้องห้าม แท้จริงแล้ว พวกเธอเองก็คือเด็กสาวที่มีความฝัน เป็นสุภาพสตรีที่มีความรัก มีเส้นทางเฉพาะตัว แม่ครัวหรือใครก็ตามล้วนมีบทบาทหล่อเลี้ยงซึ่งกันและกัน
พวกเธอหัวเราะพูดคุยกันบนโต๊ะอาหาร มีของหวานที่ชื่นชอบ แม้แต่อาจารย์สอนร่ายรำที่เคร่งครัดก็โอนอ่อนให้กับอาหารการกิน อาหารทำให้เห็นความธรรมดาของพวกเธอ และความธรรมดานั้นก็ส่งผ่านมายังผู้ชมเช่นเราได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ซีรีส์ชุดนี้ของฮิโรคาสุจึงนับเป็นซีรีส์ที่รวมองค์ประกอบขี้โกงไว้มากมายและดูเหมือนว่าจะทำสำเร็จเป็นอย่างดี The Makanai ให้ภาพทั้งกรุงเกียวโตที่แสนงดงามทั้งสะพาน แม่น้ำ ศาลเจ้า ทั้งยังพาเราสัมผัสความสัมพันธ์ของผู้คนที่แสนธรรมดาในบริบทที่แปลกประหลาด การเล่าถึงกฎเกณฑ์และวิถีชีวิตโบราณในดินแดนที่ซ่อนตัวอยู่
‘ยากในความธรรมดา’ จึงไม่ได้หมายถึงแค่อาหาร แต่ดูเหมือนว่าความธรรมดาที่ประณีตและทุกคนเข้าถึงได้นั้น จะยังเป็นจุดแข็งฮิโรคาสุและเรื่องราวของผู้คนในซีรีส์ชุดนี้ ในเรื่องราวที่ดูห่างไกลและเล่าโดยมีขนบธรรมเนียมที่สืบทอดมานับร้อยปี
ทว่าภายในความสัมพันธ์ของผู้คน ในความฝันและความหวัง เรื่องราวของมิตรภาพ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นค่ากลางที่เราทุกคนสัมผัสได้ ไม่ว่าจะจากอาหารหรือจากตัวตนและความสัมพันธ์ของผู้คน ไม่ว่าคนคนนั้นจะผูกพันกันทางสายเลือดของเราหรือไม่ก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก