ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของแฟนๆ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เมื่อผู้กำกับมือรางวัลจัดนิทรรศการรวบรวมผลงาน ‘คนกินแสง’ Apichatpong Weerasethakul : The Serenity of Madness นอกจากงานนิทรรศซึ่งแน่นอนว่าพีคมากๆ แล้ว เราพบว่าโปสเตอร์ของงานและกระบวนการออกแบบก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
The MATTER ชวนสนทนากับ วชิรา รุธิรกนก และ rabbithood studio สตูดิโอกราฟิกดีไซน์แห่งเชียงใหม่ประเทศ กับเบื้องหลังที่มาและขั้นตอนการออกแบบโปสเตอร์นิทรรศการว่าด้วยการกินแสง และอีกหนึ่งคำถามแมวๆ เกี่ยวกับสารทุกข์สุขดิบของ ‘คุโระจัง’ หนึ่งในแมวสุดรักของวชิรา
The MATTER : การทำงานให้กับพี่เจ้ย ผู้กำกับหนังที่เข้าใจไม่ง่าย การออกแบบโปสเตอร์ต้องทำให้เข้าใจง่ายมั้ย
คิดว่าสาระสำคัญที่สุดของงานโปสเตอร์มันคือการสื่อสารนะ ทั้งในแง่บรรยากาศของตัวงานนั้นๆ กับข้อมูลพวกวันเวลาสถานที่ราคาบัตรต่างๆ ซึ่งในแง่นี้เราคิดว่ามันมีความแตกต่างกับการทำงานแบบส่วนตัวอยู่ มองว่างานพี่เจ้ยเป็นงานที่ค่อนข้างส่วนตัวมากๆ ของเขา เราในฐานะผู้ชมก็ถือว่าโชคดีที่พี่เขาเปิดโลกส่วนตัวให้เราได้เดินเข้าไป เข้าไปแล้วจะตีความหรือได้รับสารอะไรนั่นมันก็เรื่องของเรา ที่พูดกันว่า เข้าใจไม่ง่าย น่าจะหมายถึงตรงนี้มั้ง คือเราไปมีความกังวลเองว่าสิ่งที่เราเข้าใจมันจะใช่หรือตรงสิ่งที่เขาบอกหรือไม่ ส่วนตัวเราคิดว่าเป็นความกังวลที่ไม่จำเป็น
ตอนที่สตูดิโอทำโปสเตอร์ชิ้นนี้กันก็ยึดถือหลักการนี้ คือเรากำลังทำงานเพื่อสื่อสารเนื้อหาของนิทรรศการของพี่เจ้ย ซึ่งก็ถือว่าโชคดีหน่อยที่พี่เจ้ยแกกำหนดมาให้แล้วว่าจะใช้ภาพ Ghost Teen เป็นภาพหลักของโปสเตอร์ คือถ้าต้องเลือกเองนี่คงสาหัสกว่านี้มาก ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องสื่อสารข้อมูลรายละเอียดนิทรรศการให้ครบถ้วนและเข้าใจง่าย เพื่อคนที่เห็นโปสเตอร์แล้วสามารถเข้าใจได้ว่างานจัดที่ไหน เมื่อไหร่ ค่าตั๋วกี่บาท เปิดปิดวันไหน
The MATTER : ทราบมาว่าคีย์เวิร์ดคือเป็นโชว์ที่รวมหลายงานเข้าด้วยกัน ลักษณะของงานที่จัดแสดงเน้นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ rabbithood studio มีวิธีการตีโจทย์ที่ได้รับออกมาเป็นโปสเตอร์อย่างไร
อธิบายยากเหมือนกันนะ พื้นฐานที่สุดก็คงเริ่มตีความจากโจทย์ผ่านระบบภาษานั่นแหละ จากชุดคำที่พี่เจ้ยให้มา จากนั้นเราจะหันไปหาการรีเสิร์ช ภายใต้ข้อจำกัดของเวลาที่มี ค้นคว้าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หนังที่แม้จะเคยดูไปแล้วก็เอากลับดูใหม่ งานชิ้นไหนที่หลุดรอดสายตาไปก็พยายามไปเสาะแสวงหามา ก็ใช้เวลาอยู่กับงานพี่เจ้ยมากๆ ในช่วงนั้น เพื่อที่จะซึมซับบรรยากาศที่มีบุคลิกเฉพาะตัวมากๆ ของเขา โชคดีอยู่หน่อยที่เราติดตามงานแกมาตั้งแต่ต้น แล้วพอตอนเริ่มทำงานจริงก็วางทุกอย่างไว้แล้วเปิดเพลงอีสานฟังกันในสตู หวังเอาเองว่ารายละเอียดต่างๆ นานาที่ซึมซับอยู่ในตัวเรา มันจะเปิดเผยออกมาโดยที่เราไม่รู้ตัว ก็ไม่รู้ว่าทำถูกไหมนะ แต่เวลาเจอโจทย์ที่นามธรรมมากๆ ก็ทำแบบนี้ทุกครั้ง กินๆๆๆ มันเข้าไป เดี๋ยวมันคงย่อยออกมาเอง
อีกอย่างที่ช่วยได้มากในการตีความคือชื่องาน The Serenity of Madness เราคิดว่าการที่พี่เจ้ยเลือกชื่อนี้หมายความว่ามันน่าจะครอบคลุมเนื้อหาของงานนิทรรศการที่จะจัดแสดงทั้งหมดแล้ว เราก็มาตีความผ่านภาษาของชื่องานกันอีกทีนึง ซึ่งชื่อนี้มันก็มี conflict อยู่แล้วในตัวมันเอง มีความสวยงามทางภาษาอยู่แล้วในตัวมันเอง ซึ่งเป็นลักษณะที่ค่อนข้างเฉพาะในการตั้งชื่องานแต่ละชิ้นของพี่เจ้ย
The MATTER : กว่าจะพัฒนามาเป็นโปสเตอร์ใบนี้ ทำมาทั้งหมดกี่ดราฟท์ ดราฟท์ไหนทีมชอบมากที่สุด ขอดูดราฟท์ทั้งหมดหน่อยได้ไหม
เราเริ่มจากออกแบบอักษรตัวชื่อนิทรรศการก่อน เพราะเขาไม่ได้มีมาให้ ก็ทำไว้หลายแบบที่คิดว่ามันน่าจะสื่อสารเนื้อหาและบรรยากาศของงานนิทรรศการนี้ได้ เสร็จแล้วก็ลองเอาแต่ละแบบมาจัดวางองค์ประกอบกับรูป Ghost Teen ลองดูว่ามันมีความเป็นไปได้อะไรบ้างที่ไม่หลุดจากส่ิงที่เราตีความไว้ แล้วก็ส่งทั้งหมดไปให้พี่เจ้ยดู ซึ่งลุ้นมากๆ กลัวแกจะตอบกลับมาว่าพี่ไม่ชอบสักอันเลยครับ แต่โชคดีมีดราฟท์ที่แกชอบอยู่สองชิ้น เราก็เอาสองชิ้นนั้นมาพัฒนาต่อ
มันก็มีดราฟท์ที่พวกเราชอบกันเองอยู่นะ พี่เจ้ยก็เลือกอันนั้นไว้ด้วยแหละ แต่แกอยากให้ลองพัฒนาอีกแบบก่อน ถ้าไปไม่ไหวจริงๆ ก็จะใช้อันที่พวกเราชอบกัน ก็โชคดีอีกที่มันพอจะพัฒนาไปได้ จนจบออกมาอย่างที่เห็น ส่วนที่ขอดูดราฟท์ทั้งหมดนี่ไม่ให้ดูหรอกนะ อาย
The MATTER : แล้วโปสการ์ดกับกระเป๋าล่ะ ใช้รูปเดียวกันกับโปสเตอร์ไหม ขอดูหน่อย
โปสการ์ดก็ใช้รูป Ghost Teen เหมือนกัน แต่จัดวางคนละแบบ เพราะ format มันคนละอย่าง วิธีการใช้งานมันก็ไม่เหมือนกับโปสเตอร์ อันนี้ส่งให้ดูได้ ส่วนกระเป๋านี่พี่เจ้ยแกก็มีรูปมาให้เลือกว่าอยากใช้รูปไหน เราก็เลือกรูปที่เราชอบ รูปที่คิดว่ามันน่าจะเข้ากับงาน เข้ากับแบบอักษรชื่อนิทรรศการ แต่ตอนหลังรูปที่เลือกมันมีปัญหาเรื่องการสกรีน ก็เลยต้องเปลี่ยนรูปกันนาทีสุดท้าย แต่ความหมายก็ไม่ได้เปลี่ยนไปนะ คือเนื้อหาเดิมนั่นแหละ แต่ต้องเปลี่ยนเทคนิค
The MATTER : เห็นว่า feedback จากพี่เจ้ยในระหว่างการทำงานค่อนข้างชัดเจนและเอาไปพัฒนาต่อได้ สำหรับการออกแบบโปสเตอร์แล้ว feedback แบบไหนที่เรียกว่า feedback ที่ดี
เราคิดว่า feedback ที่ดีไม่ว่ากับงานอะไรคือ feedback ที่ชัดเจน แม่นยำ ไม่เป๋ไปเป๋มา ความชัดเจนที่ว่านี้สำคัญตรงที่มันจะพากันไปข้างหน้า ใกล้เป้าหมายขึ้นเรื่อยๆ ไม่มัวเสียเวลาเสียพลังงานไปกับการหลงทาง จริงอยู่ บางครั้งการพลัดหลงไปที่อื่นก็อาจจะพาเราไปเจออะไรใหม่ๆ ที่คิดไม่ถึง แต่ส่วนใหญ่เวลารับงานเรามักไม่มีโอกาสได้เอ้อระเหยขนาดนั้นหรอก ทุกคนก็รีบกันทั้งนั้น
ในแง่นึงเราคิดว่าการที่พี่เจ้ยมี feedback ที่ชัดเจนมากๆ รู้ว่าอันไหนเอา อันไหนไม่เอา อันไหนใช่ อันไหนไม่ใช่ก็เพราะว่าแกทำงานเป็นตัวแกมากๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นก็ไม่น่าแปลกใจที่แกจะรู้ความต้องการของตัวเองชัดเจนขนาดนั้น ในขณะเดียวกันถ้าเปรียบเทียบกับลูกค้าในสายคอมเมอร์เชียลก็จะพบว่าส่วนใหญ่แล้วความต้องการยังไม่ค่อยชัดเจนนัก มักเป็นความต้องการแบบครอบจักรวาล ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรนะ อย่างคนที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ มาให้ออกแบบโลโก้ บางทีเขายังไม่ชัดเจนว่าธุรกิจเขาจะขายอะไร ขายให้ใคร ด้วยบุคลิกแบบไหน จะวางตำแหน่งแห่งที่ตัวเองอยู่ตรงไหนในตลาด ก็พอเข้าใจได้อยู่ว่ามันไม่ง่าย แถมเรื่องพวกนี้บางทีมันก็นามธรรมมาก วิธีแก้ปัญหานี้ที่ดีที่สุดเท่าที่คิดกันได้ก็คือค่อยๆ เรียนรู้ธุรกิจของลูกค้าไปพร้อมๆ กับเขานั่นแหละ ช่วยกันทำการบ้าน ช่วยกันตั้งคำถามกลับไปกลับมา พอใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น ภาพมันก็มักจะชัดเจนขึ้น
The MATTER : คุโระจัง (แมว) เป็นไงบ้าง สบายดีมั้ย
ลูกพี่สบายดีมาก น่าจะสบายเกินไป อ้วนท้วนสมบูรณ์ วันๆ กินละก็นอน ไม่เคยช่วยทำประโยชน์อะไรใดๆ เสมอต้นเสมอปลายมาก ยิ่งช่วงหลังนี่เป็นอะไรไม่รู้ ชอบหนีไปอยู่ชั้นสองคนเดียว จะลงมาข้างล่างก็เฉพาะตอนกินข้าวเท่านั้น สงสัยจะวัยทอง