ในช่วงปีสองปีนี้ละครไทยอาจดูหงอยเหงาลงไปเล็กน้อย ทั้งเหตุจากดารากับผู้จัดที่สลับกันขยับตัวจากช่องเดิมที่ตัวเองอยู่, จำนวนช่องโทรทัศน์ที่มีมากขึ้น แย่งยอดคนดู หรืออีกสาเหตุหนึ่งที่หลายคนกล่าวถึงก็คือกวิธีการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุผลต่างๆ จึงทำให้เราเห็นว่าหลายช่องจำเป็นต้องใช้วิธีรีรันรายการในสล็อตมากขึ้น
แต่จะมีรายการกลุ่มหนึ่งที่เราเห็นว่า มีปรากฎตัวในหลายๆ ช่องโทรทัศน์สายบันเทิง และแต่ละเรื่องก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดี กลุ่มรายการที่เราพูดถึงเหล่านั้นคือ ซีรีส์อินเดีย ที่หลายๆ เรื่องก็ออกอากาศในช่วงไพรม์ไทม์ด้วยแล้ว อะไรที่ทำให้รายการเหล่านี้พอจะอยู่รอด
ย้อนเทรนด์ละครต่างชาติในไทย
หากบอกว่าเทรนด์ละครจากต่างชาติของบ้านเรามีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่ผิดนัก ย้อนกลับไปในช่วงปี 1990s เราจะเห็นละครจากฮ่องกงกับไต้หวัน หรือที่โดนคนไทยเรียกรวมกันว่า ‘หนังจีนชุด’ หรือถ้าจะเลือกคำให้ทันสมัยมาใช้งานสักหน่อย ก็ต้องบอกว่าเป็น ‘ซีรีส์จีน’ เรื่องที่ดังๆ ในยุคก่อนหน้าก็จะมีตั้งแต่ มังกรหยกหลายฉบับ, กระบี่เย้ยยุทธจักร, เจ้าพ่อตลาดหุ้น, เปาบุ้นจิ้นหลายเวอร์ชั่น, ซือกง ฯลฯ
ส่วนละครจากญี่ปุ่น พอจะได้เรตติ้งอยู่บ้างตั้งแต่ช่วงกลางๆ ของยุค 1990s โดยหลายคนคงคุ้นเคยกับเรื่อง โอชิน กับซีรีส์อีกกลุ่มอย่าง สิงห์สาวยอดนักสืบ ก่อนจะมีซีรีส์รุ่นต่อมาเข้ามาเยอะในช่วงต้นของยุค 2000s อย่าง ปฏิบัติการรัก ปี 2000 , ต่อเวลารัก, The Ring ปมปริศนา ฯลฯ และมีการเบิกทางให้ซีรีส์เกาหลีเข้ามาตีตลาดอย่าง Autumn In My Heart, Hotelier, Winter Love Song, All About Eve ฯลฯ
แต่สุดท้ายซีรีส์ญี่ปุ่นกับเกาหลีที่เริ่มตีตลาดคนดูยุคใหม่ในช่วงดังกล่าว ก็ถูกเบียดตกกรอบด้วยการมาถึงของซีรีส์เรื่อง รักใสๆ หัวใจสี่ดวง จากฝั่งไต้หวัน ที่ก่อกระแส F4 ให้ดังทั่วทั้งเอเซีย แต่หลังจากภาคแรก ภาคต่อ กับตอนพิเศษจบลงไป กระแสซีรีส์จีนก็ดูจะปลิวหายตามไปด้วย
จากนั้นก็เป็นช่วงรับไม้ต่อของซีรีส์เกาหลีใต้ ที่กลับมาบูมอีกครั้งด้วยเรื่อง แดจังกึม ก่อนจะมีอีกหลายเรื่องสร้างกระแสอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเทรนด์ก็ค่อยๆ เปลี่ยนให้ผู้ชมไปรับชมซีรีส์เกาหลีมากขึ้น
ส่วนซีรีส์ฝรั่งนั้นมีมาเรื่อยๆ ซึ่งก็มีบางเรื่องเกาะกระแสหลักได้บ้าง เช่น Mission Impossible ก่อนจะมาถึงยุค X-File แต่สุดท้ายซีรีส์ฝรั่งก็ไม่ค่อยกวาดเรตติ้งสูงๆ ในทีวีปกติ แต่มักกระจายตัวไปลงช่องเคเบิลทีวี, ทีวีดาวเทียม และสุดท้ายก็กลายเป็นการติดตามาทางแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไป ซึ่งก็มีลูกค้าที่อยากติดตามเปย์เงินเพื่อรับชมเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่กาลก่อนถึงปัจจุบัน
ซีรีส์อินเดียอาจไม่ได้ปรากฎตัวเข้ามาฉายในไทยแบบเยอะมากเท่าใดนักในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนไทยจะคุ้นตากับภาพยนตร์อินเดียในช่วงยุค 1960-1980 เสียมากกว่า อาจมีซีรีส์แบบ มหาภารตะ ที่เข้ามาฉายให้ติดตามกันบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้เปรี้ยงปร้างเท่าไหร่นัก จนกระทั่งช่วงปี 2014-2015 ที่เริ่มมีการเปิดตัวช่องฉายซีรีส์อินเดียโดยเฉพาะ และมาบูมจริงจังในช่วง ปี 2017
แล้วปัจจัยใดที่ทำให้ละครอินเดียโดนเด่นจนสามารถกว้านเรตติ้งชนะรายการปกติของทีวีไทยในบางช่วงได้เราขอยกไว้เป็นช่วงหน้า
ซีรีส์อินเดียกลับมาฮิต เพราะเราสนิทกัน
ก่อนพูดถึงซีรีส์อินเดีย เราอาจต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การที่ซีรีส์ชาติอื่นๆ มาดังในบ้านเราที่ละครก็มีไม่น้อยนั้นมาจากเหตุอะไรกันบ้าง ฝั่งฝรั่งนั้นเราเห็นได้ถึงความเร้าใจในการสร้างหรือเราอาจได้เห็นดาราหน้าตาคุ้นเคยมากกว่าชาติอื่น
ฝั่งซีรีส์จีน ก็มักจะเรียกคนดูได้เสมอด้วยการดัดแปลงนิยายจอมยุทธที่ช่วยตีความตัวอักษรให้ออกมาเป็นภาพ ส่วนฝั่งญี่ปุ่นก็มักเป็นเรื่องเล่าของอาชีพต่างๆ หรือช่วงชีวิต ผ่านสถานการณ์ที่ทุกคนอาจเจอได้ ส่วนฝั่งเกาหลีจะมีความละมุนละม่อมในการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกมากกว่าซีรีส์หลายชาติ ต่อให้เขาจะทำเรื่องราวเดียวกับฝั่งจีนหรือญี่ปุ่น แต่การนำเสนอก็จะโรแมนติกชวนจิกหมอนกว่า
แล้วไฮไลท์ของซีรีส์อินเดียคืออะไร
ซีรีส์อินเดียหลายๆ เรื่องที่มีโอกาสได้มาฉายในประเทศไทย มักมีเรื่องราวเข้าใจง่าย แก่นเรื่องชัดเจน ไม่มีรายลเอียดมากความ ตัวเอกมีเป้าหมายเคลียร์ ต่อให้มีการหักมุมก็จะเป็นการหักมุมที่ไม่เปลี่ยนแก่นอารมณ์เดิมของตังละครมาก ส่วนตัวร้าย ต่อให้มีเหตุผลในการสวมบทร้าย แต่ในช่วงที่ร้ายก็จะจัดเต็มจัดหนัก ไม่อ้อมแอ้มกั๊กเก็บสีหน้าไว้ ด้วยความชัดเจนมากๆ เหล่านี้ผสมกับจำนวนตอนที่เยอะมาก ทำให้หลายครั้งต่อให้คุณพลาดชมไปบางตอน คุณก็ยังตามติดเรื่องได้ทันท่วงที
แต่เราก็ยังไม่อยากคิดเองเออเองว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้หนังอินเดียได้รับความนิยม เรามีโอกาสสนทนากับ คุณทัศนีย์ วาทินชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สถานีโทรทัศน์ช่อง ZEE หนัง สถานีโทรทัศน์ละครอินเดียพากย์ไทย และเป็นสถานีลูกข่ายของทางบริษัท Zee Entertainment Enterprises Limited บริษัทสื่อบันเทิงรายใหญ่ของทางอินเดีย เธอได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้
“ที่ซีรีส์อินเดียกลับมาฮิตในไทย ปัจจัยหนึ่งมาจากคนเริ่มรู้สึกว่าคอนเทนต์ที่มีอยู่มันมีแต่เดิมๆ แล้วคอนเทนต์อินเดียจะมีความใกล้เคียงอะไรหลายอย่างกับวัฒนธรรมไทย อย่างฝั่งครอบครัว คนอินเดียเขาจะมีความเหนียวแน่นในการเคารพและให้เกียรติคนในครอบครัวมาก ซึ่งคนไทยที่ยังคุ้นเคยกับภาพครอบครัวใหญ่ ดูแลพ่อแม่เคารพญาติผู้ใหญ่ก็จะเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้เรื่องศาสนาและเทพเจ้า ด้วยวัฒนธรรมเกี่ยวกับศาสนาหลายๆ อย่างของชาวฮินดู คนไทยก็รับเข้ามาจนตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องปกติ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเราหรืออย่างงานนวราตรี ของวัดแขก และวัดอื่นๆ คนไทยก็ไปร่วมงานเยอะแยะด้วยความนับถือค่ะ”
ซึ่งเราก็รู้สึกเห็นพ้องกับคำตอบของเธอ เพราะซีรีส์อินเดียที่คนติดงอมแงมในช่วงก่อนนี้ก็จะเป็นเรื่อง อโศกมหาราช, รามเกียรติ, พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลก, นาคิน ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกับสิ่งที่คนไทยรู้จักทั้งสิ้น และมันทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าการหวดเรตติ้งอย่างรวดเร็วของซีรีส์อินเดียในช่วงปีสองปีนี้ มาจากความที่เรารู้สึกเข้าใจและเข้าถึงซีรีส์เหล่านี้ด้วยความใกล้ชิดกันเชิงวัฒนธรรมนั่นเอง
ความเปลี่ยนแปลงผ่านช่วงเวลา และเรื่องที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับซีรีส์อินเดีย
ในตอนนี้เราอาจเห็นซีรีส์อินเดียที่ฉายในสถานีโทรทัศน์ไทยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพปกรณัม หรือ ตำนานต่างๆ มากมาย จนเราอาจคิดว่าซีรีส์ที่ฮิตในบ้านเขาคงเป็นสไตล์เดียวกัน ซึ่งนี่เป็นเพียงด้านเดียวของฝั่งซีรีส์อินเดียเท่านั้น
สื่อบันเทิงในอินเดียจริงๆ แล้วมีความซับซ้อนอยู่ค่อนข้างมาก ด้วยเหตุที่แต่ละรัฐแต่ละเขตมีภาษาราชการแตกต่างกันไป ทำให้ความบันเทิงนั้นถูกสร้างแยกย่อยไปในแต่ละภาษา แต่เนื่องจากมีความเชื่อร่วมกันบ้างทำให้วงการบันเทิงยังพอจะไปต่อได้ตามแต่ละท้องที่ โดยเดิมทีแล้วสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือฝั่งภาพยนตร์จอใหญ่ (ที่มีการแยกย่อยเป็น Bollywood, Kollywood, Mollywood, Pollywood ฯลฯ) ส่วนฝั่งโทรทัศน์ในอินเดียนั้นมีการเปิดตัวสถานีโทรทัศน์ครั้งแรกในยุค 1950s แต่ยังไม่ได้รับความนิยมจากกระแสกหลักมากนัก (เพราะยังมีวิทยุช่วยแย่งความนิยมด้วย) จนกระทั่งย่างเข้าช่วงปี 1980s ที่โทรทัศน์สีเริ่มได้รับความนิยมตามครัวเรือน จึงเริ่มมีการสร้างหนังจอเล็ก หรือ ละครซีรีส์อินเดียขึ้นมาเพื่อป้อนสู่ตลาดดังกล่าว
ตามที่มีบันทึกและผู้ทำการวิจัยไว้ ซีรีส์อินเดีย หรือ Indian Soap Opera เรื่องแรกคือเรื่อง Hum Log ที่ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ Doordarshan สถานีแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะของอินเดีย ในปี 1984 – 1985 ตัวเนื้อเรื่องนั้นเป็นการดัดแปลงสไตล์ของละครเม็กซิโกหลายๆ เรื่องในข่วงปี 1970s มาผสมกับการพยายามบอกเล่าเรื่องที่ฟากรัฐของอินเดียในยุคนั้นอยากจะรณรงค์ อย่างการคุมกำเนิดเป็นอาทิ ความเท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ
พล็อตเรื่องหลักของ Hum Log จะเล่าเรื่องจะเกี่ยวกับครอบครัวชนชั้นกลางชาวอินเดียที่ต้องเผขิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ในชีวิต แต่ละตอนพวกเขาก็ต้องเจอเรื่องราวสุขเศร้าเคล้าน้ำตา และมีการร้องเพลงเต้นรำบ้างในบางโมเมนท์ อันเป็นผลพวงมาจากความนิยมของภาพยนตร์แนว Masala Film ของอินเดียที่จับเอาเรื่องราวทั้งตลก ดราม่า โรแมนติกแอคชั่น ยำเข้าเป็นหนังเรื่องเดียวเพียวๆ ซึ่งรีแอคชั่นเกินจริงในจอใหญ่ก็ถูกปรับมาใช้กับซีรีส์จอเล็ก ซึ่งอิทธิพลเหล่านี้ก็ยังมีผลมาจนถึงปัจจุบันด้วย
Hum Log ได้รับความนิยมจากชาวอินเดียทั่วประเทศ แม้ว่าซีรีส์เรื่องนี้จะใช้ภาษาฮินดี เป็นภาษาหลัก เท่าที่มีข้อมูลระบุว่า ซีรีส์เรื่องนี้กวาดเรตติ้ง 65-90% ในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศอินเดียที่ใช้ภาษาฮินดีเป็นหลัก และสามารถกวาดเรตติ้งได้ถึง 20-45% ในพื้นที่อินเดียตอนใต้ ที่ในยุคนั้นพูดภาษาฮินดีกันน้อย และมักปฏิเสธสื่อบันเทิงที่ไม่ได้จัดทำในภาษาถิ่น
การมาถึงของ Hum Log สร้างอิทธิพลทางสังคมมากมายแก่ละครอินเดีย จนเหมือนกลายเป็นการวางรากฐานให้กับซีรีส์อินเดียในยุคหลัง นับตั้งแต่ความยาวของตอนที่ไปไกลกว่า 154 ตอน, การติดต่อเป็นสปอนเซอร์ในรายการทีวีที่บูมมากขึ้นหลังจากมีซีรีส์, คนดูก็มีความอินกับดาราในเรื่องจนส่งจดหมายและโทรเลขชื่นชมหรือติเตียนการกระทำของตัวละครในเรื่อง เป็นต้น
จากนั้นซีรีส์อินเดียหลายๆ เรื่องก็พยายามตามรอยของ Hum Log และเริ่มมีการแตกไลน์ไปสร้างซีรีส์ในแนวอื่นจนได้รับความนิยม อย่างการดัดแปลงมหากาพย์ต่างๆ ในอินเดียอย่าง มหาภารตะ หรือ รามเกียรติ์ มาเป็นซีรีส์ ตามมาด้วยเทรนด์การนำเอาบุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์มาสร้างเรื่องบอกเล่าแบบเวอร์วังอลังการผ่านซีรีส์ ก่อนจะมีการปรับตัวอย่างมากในปลายยุค 1990s จนถึงต้นยุค 2000s ที่ซีรีส์อินเดียเริ่มทำอะไรทันสมัยตามโลก ลดดีกรีของการเล่นใหญ่ไปบ้าง เริ่มสร้างซีรีส์แนวอื่นๆ อย่างแนวสืบสวนสอบสวน, ไซไฟลึกลับ หรือแม้แต่แนว Feel Good ก็มีให้ติดตามเช่นกัน ส่วนเทคนิคพิเศษที่ใช้ก็พัฒนาขึ้นตามยุค และบางครั้งก็อลังการจนควรจะไปทำเป็นภาพยนตร์มากกว่าฉายงานออกทีวี
แต่จุดเปลี่ยนที่ถือว่าเป็น การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) มีการวิจัยว่าเกิดขึ้นชัดเจนในปี 2008 เมื่อซีรีส์หลายเรื่องหลายภาษาในอินเดีย ต่อให้เป็นเรื่องที่ใช้โครงสร้างเดิม (เล่าเรื่องครอบครัวใหญ่, มีผู้หญิงเป็นตัวเด่น, นำตำนานต่างๆ มาผูกกับพล็อตละคร) ในการสร้างซีรีส์เป็นหลัก แต่ในยุคนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคมแบบทันสมัยมากขึ้น อย่างปัญหาการแต่งงานกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, ปัญหาสิทธิสตรี, ปัญหาแรงงานเด็ก ฯลฯ
ตัวอย่างซีรีส์อินเดียยุคหลังที่ได้รับอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมและมีโอกาสได้ฉายในบ้านเราก็คงจะเป็นเรื่อง สีดาราม ศึกรักมหาลงกา ที่เพิ่งได้ฉายในไทยไปช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา และออกฉายในช่วงปี 2015-2016 ในประเทศอินเดีย ถ้ามองแบบผิวเผิน ซีรีส์นี้ก็เป็นแค่การรีเมค รามายณะ หรือ รามเกียรติ มาสร้างใหม่เป็นซีรีส์อีกครั้ง แต่คราวนี้ผู้สร้างกลับตั้งใจหยิบยก ‘อัทภุตรามายณะ’ ซึ่งนางสีดามีบทบาทเด่นกว่ารามายณะบทอื่นๆ (ระดับที่ว่านางสีดาไปพะบู๊กับราวณะสอดคล้องกับทิศทางในสังคมอินเดียที่พยายามรักษาสิทธิ์ให้ผู้หญิงมากขึ้นในช่วงดังกล่าว และทิศทางที่ทำให้ซีรีส์อินเดียกลายเป็นการวิพากษ์ หรืออาจจะเป็นชี้นำสังคมไปตามเสียงมวลชนนั้นอาจจะอยู่กับซีรีส์อินเดียไปอีกระยะใหญ่
อีกส่วนหนึ่งที่้คนไทยหลายคนอาจเข้าใจผิด คือแนวคิดที่ว่าค่าลิขสิทธิ์ของซีรีส์อินเดียที่มีจำนวนตอนเยอะ จะทำให้ค่าลิขสิทธิ์ไม่สูง และเป็นคือสาเหตุในการเอาเข้ามาฉายในบ้านเราหลายเรื่อง แต่จากที่เราไปสอบถามบุคลากรด้านงานโทรทัศน์ระบุว่า ค่าสิทธิ์ซีรีส์อินเดียไม่ได้ราคาถูกแบบที่หลายคนเข้าใจกัน ด้วยเหตุผลหลักๆ ก็คือ ทางอินเดียเห็นประชากรที่รอรับชมซีรีส์อินเดียนั้นมีอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลก ประเทศไทยที่เป็นตลาดเฉพาะไม่ได้เป็นตลาดที่จะถูกง้องอนขนาดนั้น ราคาสิทธิ์เลยไม่ได้ตั้งต้นในราคาที่ถูกมากนัก และถ้านับรวมเอา cost อื่นๆ อย่างค่าแปลจากภาษาที่ไม่ใช่กระแสกหลัก กับการพากย์ไทยจำนวนตอนยาวนับร้อย อาจทำให้สุดท้าย cost มวลรวมอาจจะแพงกว่าฝั่งจีน, เกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ
จะมาแค่ชั่ววูบ หรือจะปรับตัวต่อไป
ณ จุดที่ นาคิน ฉายจบไปสองภาค ส่วน หนุมาน ก็ฉายจบไปแล้วเช่นกัน หลายคนเริ่มเห็นว่าซีรีส์อินเดียที่เป็นกระแสอาจถึงจุดจบลงไปง่ายๆ เพราะเรื่องที่วนมาฉายต่อก็ยังเป็นแนวเทพปกรณัมเหมือนเรื่องก่อนหน้า จนคนดูส่วนหนึ่งรู้สึกว่า สุดท้ายซีรีส์อินเดียก็มีแค่สไตล์เดิมๆ แค่ไม่ได้วิ่งเต้นข้ามเขาเหมือนสมัยก่อน แต่เรากลับรู้สึกว่ายังไม่ใช่ทั้งหมดทีเดียว อย่างที่เราบอกไว้ข้างต้นว่าซีรีส์อินเดียยังมีให้ติดตามกันอีกหลายแนว อย่างเรื่อง C.I.D. ซีรีส์แนวตำรวจสืบสวนสอบสวนเหมือน CSI ของอเมริกา ที่ฉายในอินเดียมายาวนานตั้งแต่ปี 1998 หรือซีรีส์แนวโรแมนติกคอเมดี้ ก็ยังมีให้ติดตามกันอีกหลายเรื่อง แล้วซีรีส์เหล่านี้ก็ไม่ค่อยมีใครผันตัวมาทำแฟนซับเท่าใดนัก เนื่องจากจากความเฮี้ยบในการรักษาคอนเทนต์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ในอินเดีย รวมถึงการที่คนแปลภาษาฮินดีที่อยากจะมาทำแฟนซับเป็นภาษาอื่นยังไม่เยอะมากนัก
ส่วนการที่เรายังไม่เห็นซีรีส์แนวอื่นขึ้นมาฉายในสถานีโทรทัศน์ช่องหลัก ตรงนี้กลุ่มคนที่ติดตามสื่อบันเทิงอินเดียหลายท่านได้ให้ความเห็นว่า เพราะตัวพระ—นางในฝั่งซีรีส์ (รวมไปถึงฝั่งหนัง) ส่วนหนึ่งอาจมาจากหุ่นตุ้ยนุ้ยหรือหน้าตาที่ไม่ได้พิมพ์นิยมของประเทศไทย ยังไม่นับว่าถ้าเป็นซีรีส์ภาษาราชการอื่นๆ ในอินเดีย อย่างซีรีส์ภาษาทมิฬ ก็อาจมีความเฉพาะทางเฉพาะตัวเกินไปจนอาจทำให้ไม่มีใครกล้ารับชม ส่วนนี้ก็คงต้องรอติดตามว่า ผู้ที่จัดทำคอนเทนต์ซีรีส์อินเดียจะปรับเกมอย่างไรหากถึงจุดที่ผู้ชมเบื่อหน่ายซีรีส์ที่ดัดแปลงจากเทพปกรณัมจริงจัง
เราเชื่อว่าซีรีส์อินเดียอาจไม่ได้ตายสนิทแบบที่หลายคนคาดกัน แต่ในช่วงนี้อาจเป็นช่วงที่คนเลี่ยนรสของแกงมาซาลากันอยู่ แต่สุดท้ายกลิ่นเครื่องเทศร้อนแรงยั่วใจก็พร้อมจะทำให้เรากลับไปลิ้มรสมันอีกครั้ง แบบเดียวกับที่หลายๆ คน อาจจะขำ meme ที่แซวซีรีส์อินเดีย พอมานั่งดูจริงๆ ก็ติดหนึกจนไม่เป็นอันทำงานทำการนั่นแล
อ้างอิงข้อมูลจาก
Television soap operas for development in India
The Great Indian Television Soap Opera – Issues of Identity and Socio-cultural Dynamics
กระทู้ Pantip โดย Sad Dog 1, 2, 3, 4, 5, 6