ภาพนู้ดของธาดาไม่เคยทำให้ผมมีอารมณ์ทางเพศ
ก็ในเมื่อมองฟังก์ชั่นมันอย่างหยาบ (และในมุมที่เราคุ้นเคย) ภาพถ่ายของธาดาสอบตก – มันไม่เซ็กซี่เลยสักนิด
ตอนที่พบกัน ผมไม่ได้บอกความเห็นในเรื่องนี้กับเขาไป แต่นั่นล่ะ, ถึงผมบอกไป อย่างมากเขาก็จะตอบกลับมาด้วยการยักไหล่ ใครสนกันวะ
เริ่มต้นถ่ายภาพนู้ดตั้งแต่อายุ 15 ปี ธาดาสะสมพร้อมไปกับการจัดแสดงภาพถ่ายของเขาในเว็บไซต์ Lomography สองปีต่อมาภาพถ่ายของเขาได้ตีพิมพ์ในหนังสือรวมภาพถ่ายของประเทศออสเตรีย จากนั้นเขาก็มีนิทรรศการภาพถ่ายทั้งแบบโซโล่และ gang bang (หมายถึงแสดงกลุ่มน่ะ) เรื่อยมา ล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ชื่อของเขาปรากฏอยู่ในนิตยสาร Forbes ในฐานะ 1 ใน 30 ศิลปินรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปีที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของเอเชีย (30 Under 30 2016)
ธาดาบอกว่าเขาไม่รู้ว่า Forbes ได้ดูผลงานชิ้นไหนของเขา แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะเป็นงานภาพนู้ดสักชิ้น
แม้ธาดาจะปฏิเสธเรื่อยมาว่าเขาไม่ใช่ช่างภาพนู้ด (เขาบอกว่างานหลายชิ้นของเขาไม่เฉียดใกล้สาสน์ทางเพศใดๆ เลยสักนิด) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนรู้จักเขาเพราะผลงานภาพถ่ายผู้คนเปลือยกายของเขา
ในระหว่างที่เขามาจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวชิ้นล่าสุด The Things That Take Us Apart ที่ Gallery Seescape เชียงใหม่ (ภาพถ่ายผู้คนบนฟลอร์ลีลาศ…ในร่างเปลือยอีกแล้ว) ผมมีโอกาสได้นั่งคุยกับเขา แม้ผลงานส่วนใหญ่ของธาดาค่อนข้างแรง หากตัวจริงของศิลปินก็เป็นกันเอง อ่อนน้อม และตรงไปตรงมา แม้จะค่อนข้างมั่นใจว่าธาดาหล่อน้อยกว่าผม หากระหว่างที่คุยกันไป ผมพบว่าชายผิวเข้มจากโคราชคนนี้มีเสน่ห์และ อืม… เซ็กซี่ชะมัด
งานใหม่ของคุณ The Things That Take Us Apart คือการถ่ายภาพปฏิสัมพันธ์ของคนแปลกหน้าทั้ง 8 คนบนฟลอร์เต้นลีลาศภายในโรงแรมแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ อะไรบันดาลใจให้คุณเลือกทำงานชิ้นนี้?
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 2554 ที่ผมทำงานภาพชื่อชุดว่า ‘โต้ง & โน้ต’ ซึ่งผมถ่ายรูปผู้หญิงและผู้ชายสองคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนท่ามกลางสภาวะที่ไม่ปกติ คือไม่สวมเสื้อผ้า ปิดหน้าปิดตา ให้เขาทำปฏิกิริยาของเขาเอง ซึ่งงานนี้ผมได้แรงบันดาลใจขณะบวชเป็นพระและพบว่าพระอาจารย์ที่สอนผมเขาเข้มงวดกับการสอนให้รู้จักแยกศาสนาออกจากเรื่องทางเพศอย่างเด็ดขาด จนเกิดคำถามว่าจริงๆ แล้วมนุษย์กับเรื่องนี้มันเป็นยังไงกันแน่
จนเมื่อปีที่ผ่านมาจอยซ์ (กิตติมา จารีประสิทธิ์ – ภัณฑารักษ์ Waiting You Curator Lab) ชวนให้ผมมาเป็น residency อยู่ที่เชียงใหม่หนึ่งเดือน จอยซ์ชอบงานชุดโต้ง & โน้ต และคิดว่ามันน่าจะเอามาต่อยอดได้ ก็เลยมาลองดูกันว่าจะทำอะไรกับมันได้อีก
อย่างไรก็ดี งานชิ้นนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาเหมือนงานชุดก่อนแล้ว ด้วยความที่เป็น residency ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ ผมจึงเริ่มจากการรีเสิร์ชข้อมูลด้วยการซื้อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเชียงใหม่มาไล่อ่าน ช่วงนั้นเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน โทนของข่าวจึงอยู่ในบรรยากาศโศกเศร้าคล้ายกันหมด แต่ที่น่าสนใจก็คือมันมีประกาศโฆษณาอยู่ชิ้นที่เห็นในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบ่อยมากๆ ก็คือโฆษณาลีลาศหรรษา เป็นโฆษณาชวนคนที่สนใจไปร่วมคลับลีลาศภายในโรงแรมรัตนโกสินทร์
ลีลาศหรรษา?
ใช่, โฆษณาลีลาศดึงดูดความสนใจของผมมาก ผมคิดว่าคลับลีลาศมันเหมือน stage หรือเวทีในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็น่าสนใจว่าตั้งแต่ปี 2557 คำว่า stage มันถูกทำให้หายไปจากบ้านเรา เราแทบไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับความคิดจากภาครัฐเลย ยิ่งเฉพาะในช่วงเวลาที่ผมลงพื้นที่เชียงใหม่เพื่อทำงานชุดนี้ ที่ไม่ใช่เฉพาะ stage ทางการเมือง stage ทางสังคมในแง่อื่นๆ ก็ถูกบังคับให้เลือนหายไปด้วย แต่การได้มาเห็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งยังคงมาสังสรรค์และออกกำลังกายด้วยการเต้นลีลาศได้อยู่จึงน่าสนใจอย่างมาก
ดูเหมือนคุณจะตั้งธงการเมืองไว้ก่อน
ไม่เชิง แต่เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงให้คิดไม่ได้มากกว่า ไม่ใช่แค่คลับเต้นลีลาศเท่านั้นหรอก เพราะหลังจากที่ไปสำรวจคลับลีลาศแล้ว ผมก็เกิดแรงบันดาลใจต่อยอดอีกว่าน่าจะลองไปสำรวจพวกคลับ บาร์ หรือสถานบันเทิงที่ตั้งอยู่ภายในชั้นล่างหรือชั้นใต้ดินของโรงแรมในยุคก่อน ซึ่งมันเป็นพื้นที่ที่ถูกซ่อนไว้จาก stage หลักของบ้านเรา ก็ไปสำรวจหลายๆ ที่และพบเรื่องที่น่าสนใจ เช่นมีคาราโอเกะภายในโรงแรมเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งก่อนหน้านั้นที่นี่มีชื่อเสียงมากเพราะเป็นที่สังสรรค์ของนักการเมืองท้องถิ่น พอประเทศมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ คาราโอเกะแห่งนี้ก็ถูกรัฐบาลสั่งปิดไป หรือสถานบันเทิงบางแห่งที่มีเจ้าของเป็นนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งก็ต้องปิดตัวไปด้วยเหตุผลบางอย่างหลังจากเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เหล่านี้ผมมองว่ามันเป็น stage อีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน และมันเชื่อมโยงกับการเมือง
สิ่งที่ผมทำคือการทดลองเรื่องความสัมพันธ์ของคน บริบทโดยรอบ และพื้นที่
คุณก็เลยประชดด้วยการถ่ายภาพคนแก้ผ้าบนฟลอร์ลีลาศเสียเลย
ไม่ งานชุดนี้ไม่ใช่สาสน์การเมืองโดยตรง มันไม่ใช่งานที่จะเป็นปากเสียงให้ฝ่ายไหน สิ่งที่ผมทำคือการทดลองเรื่องความสัมพันธ์ของคน บริบทโดยรอบ และพื้นที่ โดยคิดว่าถ้าชวนคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกันมาก่อน 8 คนมาลองปลดปล่อยตัวเอง หรือแสดงออกซึ่งอะไรบางอย่างภายในเงื่อนไขแบบนี้ ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร โดยมีผมเป็นคนนอกที่คอยบันทึกเหตุการณ์ วิธีการคล้ายการทำภาพยนตร์เลย คัดเลือกนักแสดงและถ่ายทำบันทึกเหตุการณ์ แตกต่างอย่างเดียวก็คือการแสดงชิ้นนี้ไม่มีบท และผมบันทึกมันด้วยกล้องถ่ายภาพนิ่ง
คุณคัดเลือกนักแสดงอย่างไร
ก็เริ่มจากประกาศหานักแสดงผ่านการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและมีลงประกาศในเฟซบุ๊คด้วย ตอนลงประกาศก็ค่อนข้างระบุคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมระดับหนึ่งโดยยึดจากตัวผมเป็นที่ตั้ง คือชอบศิลปะ มีความคิดอิสระเสรี ทำนองนี้ จากนั้นก็มาแคสติ้งด้วยการสัมภาษณ์ความคิดเห็น และพิจารณาจากบุคลิกของแต่ละคน ซึ่งนอกจากจะได้นักแสดงที่มีพื้นเพและรสนิยมทางเพศหลากหลายแล้ว แต่ละคนก็ต่างมีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวที่ผมพบว่าขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้
ที่น่าสนใจคือผมพบว่าจากการคัดเลือกนักแสดงให้เหลือ 8 คนด้วยการสัมภาษณ์ แต่ละคนล้วนมีสิ่งเชื่อมโยงในการตอบคำถามอยู่ เช่นเราถามว่าถ้าให้เลือกรับบทใดบทหนึ่งในภาพยนตร์ คุณอยากรับบทอะไร ซึ่งทุกคนตอบว่าเป็นตัวประกอบหมดเลย หรือชอบสีอะไร ทุกคนจะตอบไม่เหมือนกัน แต่พอกลับมาถามว่าถ้าให้ตัวเองถูกขังอยู่ในห้องที่ทาด้วยสีที่ตัวเองชอบจะอยู่กันได้ไหม เกือบทุกคนตอบว่าอยู่ได้
ส่วนวิธีการทำงานก็อย่างที่บอก ให้ทุกคนถอดเสื้อผ้าและใช้เวลาร่วมกันบนฟลอร์เต้นรำ ผมมีคีย์เวิร์ดคร่าวๆ อยู่ 2-3 คำ ให้เขาทำตาม เช่นคำว่า ‘เสรีภาพ’ เมื่อพูดจบผมก็ขอให้ทุกคนเคลื่อนไหวหรือแสดงออกอย่างไรก็ได้ หรือ ‘ให้คิดว่าตัวเองเป็นสัตว์ป่า’ เป็นต้น จากนั้นก็ให้แต่ละคนจับคู่คนที่คิดว่าเหมือนตัวเรามากที่สุดเพื่อเต้นรำกัน
ผมสนใจคำถามที่คุณใช้คัดเลือกนักแสดง มันเป็นเหมือนคำถามในเชิงจิตวิทยา ว่าแต่การถูกขังอยู่ในห้องที่มีสีที่ตัวเองชอบกับมันเชื่อมโยงกันอย่างไรกับร่างเปลือย
ไม่อธิบายได้ไหม
โอเค, แล้วงานชุดนี้มันบอกอะไรกับคุณ
นี่ก็เหมือนกัน ผมอธิบายมันไม่ได้ ผมมองว่ามันคือการทดลอง พอเข้าไปในพื้นที่จริง ทุกอย่างก็จะไหลไปเองหมด ผมไม่อาจคาดเดาอะไรได้เลยว่านักแสดงจะแสดงท่าทางอะไรออกมา หรือผลลัพธ์ของภาพถ่ายจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เมื่อถ่ายทำเสร็จสิ้น (ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง – ผู้เขียน) ทุกอย่างก็ราบรื่น จากแรกๆ ที่มีความกระอักกระอ่วนนิดๆ แต่พอเวลาผ่านไป ทุกคนก็ต่างแสดงความเป็นตัวเองออกมา ซึ่งผมแฮปปี้กับมัน
หลายคนรู้จักคุณในฐานะช่างภาพนู้ด กระทั่งใน statement ที่นิตยสาร Forbes เขียนถึงคุณก็ยังชื่นชมในความตรงไปตรงมาในภาพนู้ดของคุณ อยากรู้ว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจในการหยิบกล้องมาถ่ายภาพนู้ดครั้งแรก
ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้ถ่ายแต่ภาพนู้ด มีหลายงานก่อนหน้าที่ไม่มีภาพเปลือยอยู่เลย เช่นงานเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็เป็นประเด็นเกี่ยวกับความทรงจำของชาวบ้าน ซึ่งผมลงพื้นที่ในโคราชเพื่อตามไปถ่ายสถานที่ที่อเมริกาเคยสร้างไว้ในช่วงสงครามเวียดนาม รวมทั้งพื้นที่ที่เคยถูกทิ้งระเบิด หรือมีการฆ่ากันเพราะความเชื่อทางศาสนาในอดีตแต่ไม่มีใครรู้ (Under the Same Sky, 2016, จัดแสดงร่วมกับ ชัย ศิริ, Nova Contemporary)
หรือช่วงที่มีการล้อมปราบในปี 2553 และรัฐบาลในยุคนั้นบอกว่าไม่ได้ใช้กระสุนจริง ผมก็ไปลงพื้นที่แถวซอยรางน้ำเพื่อไปพบว่าในตามป้ายรถเมล์ เสาไฟฟ้า หรืออาคารในย่านนั้นมีรูกระสุนจริงเกิดขึ้นจริงๆ แถมยังอยู่ในระดับสายตาหรือเรียกได้ว่าในระยะสังหารด้วย ผมก็ตามไปถ่ายรูปรูกระสุนเหล่านั้นมา รวมทั้งภาพถ่ายคนจรจัดที่ถูกทำร้ายในช่วงม็อบการเมือง หรือรูปที่แสดงสัญลักษณ์อื่นๆ เพื่อสื่อถึงเหตุการณ์ที่เฌอถูกยิงตาย (สมาพันธ์ ศรีเทพ เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมพฤษภาคม 2553)
อันที่จริงผมเป็นคนทำงานศิลปะทั่วไปที่สนใจในการเล่าเรื่องมากกว่า ทั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเล่า ความย้อนแย้งทางสังคม หรือเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ ซึ่งผมไม่ได้ทำแค่ภาพถ่าย แต่ยังรวมถึงงานวิดีโอ ประติมากรรม หรืองาน installation ด้วย อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพเปลือยก็เป็นภาษาหนึ่งในการทำงานของผม ผมเริ่มต้นถ่ายภาพตอนอายุ 15 ก็มาจากการถ่ายภาพเปลือยแฟน จากนั้นผมก็ถ่ายภาพนู้ดจนรู้สึกว่าเราสามารถควบคุมภาษาตรงนี้ได้คล่อง บางงานผมก็ใช้ภาพนู้ดเพื่อเล่าเรื่องทางสังคมซึ่งอาจไม่เกี่ยวอะไรกับการยั่วยวนหรือกระตุ้นอารมณ์ทางเพศเลย ผมมองว่ามันเป็นภาษาน่ะ เหมือนสำนวนหรือวิธีการเขียน
อย่างไรก็ตามท้ายที่สุด ภาพนู้ดมันคือความงาม นอกจากสะท้อนเรื่องเพศหรือไม่ว่าจะเรื่องอื่นใด สิ่งสำคัญมันยังสะท้อนชีวิตมนุษย์ จุดร่วมของการทำงานของผมคือการถ่ายภาพที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ เซ็กส์ก็เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงอยู่ของความเป็นมนุษย์
การทำงานศิลปะของผมคือการทำให้คนดูเข้าใจในความเป็นมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถอยู่อย่างโดดๆ ได้ แต่ต้องอิงกับทุกสิ่งรอบด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคม ทุกอย่างมีผลซึ่งกันและกันหมด
นอกจากภาพนู้ด งานหลายชิ้นของคุณก็มีประเด็นทางสังคมหนักหน่วงกว่าศิลปินท่านอื่นเมื่อเทียบกับศิลปินร่วมรุ่นหรือรุ่นก่อนหน้า อะไรทำให้คุณหันมาทำงานเช่นนั้น
อย่างที่บอกว่าผมสนใจในการทำงานที่สะท้อนถึงความเป็นมนุษย์ การทำงานศิลปะของผมคือการทำให้คนดูเข้าใจในความเป็นมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถอยู่อย่างโดดๆ ได้ แต่ต้องอิงกับทุกสิ่งรอบด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคม ทุกอย่างมีผลซึ่งกันและกันหมด ผมสนใจประเด็นสังคมมาตั้งแต่เด็ก ยิ่งช่วงเรียนมหาวิทยาลัยผมมีโอกาสไปทำงานอาสาสมัครที่ต้องทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบของสังคม และเห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับพวกเขาไว้ เลยอยากใช้งานศิลปะสร้าง stage ในแง่มุมนี้ หรือเรื่องพื้นฐานอย่างเช่นว่ามนุษย์ทุกคนควรมีเสรีภาพ ต้องการสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกัน ประมาณนี้ ซึ่งความเข้าใจในความเป็นมนุษย์เนี่ยมันจะพาเราไปได้ไกลกว่างานศิลปะที่อยู่ตรงหน้ามากเลยนะ
คุณพูดราวกับว่าทุกวันนี้คนเราไม่ค่อยเห็นคนเป็นมนุษย์
ก็อยู่ที่จะมอง แต่ถ้ามองในแง่ความเท่าเทียม หรือการที่คนกลุ่มหนึ่งมองคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่เท่ากัน พูดอย่างนั้นก็ถูก อย่างไรก็ตามผมก็ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ตัวเองพยายามจะสื่อสารเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมทั้งหมด เราก็มนุษย์คนหนึ่งที่พยายามถ่ายทอดแง่มุมที่เราประสบหรือมีโอกาสไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลออกมา ซึ่งโจทย์ของเราก็คือจะทำอย่างไรให้เราใช้งานศิลปะสื่อสารเนื้อหาไปถึงคนส่วนใหญ่ได้โดยไม่ต้องยกตัวว่าเป็นศิลปินรุ่นใหญ่หรือลุ่มลึกอะไรหนักหนา พูดอย่างคนเท่าเทียมกันด้วยวิธีการของเรา
โลกหมุนไปไกลเท่าไหร่แล้ว แต่บ้านเราก็ยังคงวนเวียนอยู่กับภาพอันน่าเบื่อและซ้ำซากเดิมๆ อย่างไรก็ดีถึงจะเป็นอย่างนั้นมันก็ต้องมีคนพูด ต้องมีคนสร้าง stage ออกมาคัดง้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แล้วที่ผ่านมาประสบความสำเร็จไหม?
งานของเรามันสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างให้คนดูได้นะ ซึ่งเราก็ดีใจ แต่ถามว่าในภาพรวมมันเกิดอะไรขึ้นไหม ให้ตอบตรงๆ มันก็หดหู่และน่าผิดหวัง อย่างที่บอกว่าบ้านเราในตอนนี้มันมีปัญหามาก มันไม่มี stage ให้พูดอย่างเป็นทางการ กระทั่งพื้นที่ที่จะสื่อสารบนโลกออนไลน์ ทุกวันนี้ก็ยังถูกคุกคามเลย โลกหมุนไปไกลเท่าไหร่แล้ว แต่บ้านเราก็ยังคงวนเวียนอยู่กับภาพอันน่าเบื่อและซ้ำซากเดิมๆ อย่างไรก็ดีถึงจะเป็นอย่างนั้นมันก็ต้องมีคนพูด ต้องมีคนสร้าง stage ออกมาคัดง้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งมันอาจจะอยู่ในรูปแบบของการหลบๆ ซ่อนๆ หรือพูดมันอ้อมๆ แต่ก็ดีกว่าไม่มี ไม่เช่นนั้นเราก็จะอยู่แต่กับสื่อกระแสหลักที่ฉายภาพซ้ำๆ เดิมๆ ที่ชวนให้เราสิ้นหวัง
ภาพซ้ำๆ เดิมๆ ที่ชวนให้เราสิ้นหวัง เช่นอะไร?
ไม่บอกได้ไหม
ภาพนายกฯ ออกกำลังกายทุกวันพุธ?
ภาพนายกฯ… ฮะ อะไรนะ
The Things That Take Us Apart by Tada Hengsapkul (ภัณฑารักษ์ โดย กิตติมา จารีประสิทธิ์) จัดแสดงที่ Gallery Seescape ถนนนิมมานเหมินท์ ซอย 17 เชียงใหม่ ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 (แกลเลอรี่เปิด 11.00-17.00 น. ยกเว้นวันจันทร์) โทร. 09 3831 9394 หรือwww.facebook.com/events/387813371571760
เข้าไปดูผลงานอื่นๆ ของธาดาได้ที่ hengsapkul.wordpress.com