“การแต่งงาน มันหมายความว่าอะไร? ช่วงเวลาที่แบ่งปันกันมันหมายความว่าอะไร? เราทำร้ายกันไปมาอย่างโหดร้ายเพื่ออะไร? เพราะว่าเรารักกัน เพราะว่าเราเกลียดกัน และท้ายที่สุดเพราะเราเป็นมนุษย์” – จี ซอนอู
*คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญมากๆ ของซีรีส์
การแต่งงาน การเลือกคู่ครอง หรือการใช้ชีวิตไปโสด ล้วนแต่เป็นเรื่องราวที่มีต่อชีวิต ที่หลายครั้งเราต้องเลือก ต้องวางแผนเกี่ยวกับมัน เพื่อหวังว่าการตัดสินใจของเรา จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข ซึ่งซีรีส์เกาหลีเรื่อง ‘The World of Married Couple’ ที่เพิ่งออนแอร์จบไปในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางช่องเคเบิล JTBC ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ตลอดการดู ได้ชวนให้เราคิดว่า ที่จริงแล้วชีวิตแต่งงานคืออะไร ?
ซีรีส์เรื่องนี้ได้นำซีรีส์อังกฤษเรื่อง Doctor Foster ของช่อง BBC มารีเมค และดัดแปลงในบริบทสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งในตอนจบ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นซีรีส์ที่ทำเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของช่องเคเบิลในวงการโทรทัศน์เกาหลีไปได้ ด้วยเรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 28.371% และ เรตติ้งเฉลี่ยเฉพาะในกรุงโซลที่ 31.669%
ตลอด 16 ตอนของซีรีส์เรื่องนี้ แม้ชื่อเรื่องจะบอกกับเราว่า เป็นโลกของคู่แต่งงาน แต่จริงๆ แล้วมันยังพาเราไปเห็นประเด็นอื่นๆ ทั้งเรื่องของความรัก ความแค้น ความโสด ไปถึงสังคมชายเป็นใหญ่ และมายาคติของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ พร้อมกับตั้งคำถามกับค่านิยม และวาทกรรมบางอย่างของสังคม ที่กดขี่ผู้หญิงในกรอบของคำว่า ภรรยา และหน้าที่ของแม่ด้วย
*คำเตือนอีกครั้ง : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญมากๆ ของซีรีส์
ความหมายของการแต่งงาน และครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ
“มันสมบูรณ์แบบมาก ตอนนั้นทุกอย่างรอบตัวฉันสมบูรณ์แบบมากจริงๆ” นี่คือประโยคเปิดซีรีส์ที่หมอจี ซอนอู ตัวหลักของเรื่องได้อธิบายถึงชีวิตของเธอ ภาพได้ถ่ายให้เห็นความสำเร็จในหน้าที่การงาน ฐานะ และภาพครอบครัวที่อบอุ่น แต่สุดท้ายแล้วการถูกทรยศ หักหลัง และปัญหาที่เธอต้องพบเจอในตลอดซีรีส์เรื่องนี้ เรากลับเห็นซอนอู ที่ตั้งคำถาม และขบคิดตลอดเวลาว่าสุดท้ายแล้ว การแต่งงานมันหมายความว่าอะไร?
หมอจี จะรับรู้ว่าสามีของเธอนอกใจ และมีชู้ตั้งแต่ตอนแรกของเรื่อง และสุดท้ายชีวิตแต่งงานของเธอจะจบลงที่การหย่าร้าง แต่ระหว่างนั้น เราก็เห็นความลังเล และการต้องการรับรู้ความจริงจากปากของอี แทโอ สามีของเธอ ซึ่งหลังจากที่สามีปฏิเสธที่จะบอกความจริง ยังเลือกโกหก และเธอรับรู้วีรกรรมของเขามากขึ้นเรื่อยๆ คำถามสำคัญที่เธอเองได้คิดอย่างหนักในช่วงนั้นคือ ‘เธอแน่ใจไหมว่าต้องการหย่าจริงๆ ?’
การหาความหมายการแต่งงาน และชีวิตคู่ เป็นประเด็นใหญ่ที่ซีรีส์เรื่องนี้ชวนให้เราคิดตามไปพร้อมๆ กับซอนอู ซึ่งแม้ว่าการหย่าร้าง และรักษาชีวิตคู่ในซีรีส์เรื่องนี้จะเป็นเหมือนเกม ที่ผลัดกันมีคนได้เปรียบ เสียเปรียบ แต่สุดท้ายแล้ว เราก็เห็นว่าทั้งแทโอ ซอนอู ดาคยอง และอีกหลายคู่ ต่างก็สูญเสียความรู้สึก สูญเสียอะไรบางอย่างในชีวิตไป เหมือนอย่างที่หมอคิม ได้กล่าวกับซอนอูไว้ว่า “การหย่าร้างเหมือนสงคราม ไม่มีใครชนะ ไม่มีใครแพ้”
ซีรีส์เรื่องนี้ ยังสะท้อนภาพวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ในการแต่งงาน และการหย่าร้างในสังคมเกาหลีให้เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นการเตือนของเพื่อนหมอจี ที่พูดจากประสบการณ์การหย่าร้างของแม่เธอเองว่า ถ้าหย่าไป ผู้หญิงเองก็มีแต่ฝ่ายเสียหาย ถูกมองไม่ดี ถูกสงสัย ถูกตราหน้าว่า ‘แม่หม้าย’ ไปถึงความคิดของหลายๆ คนที่มองว่า การตัดสินใจหย่าเป็นความผิดของหมอจี เช่นเดียวกับแทโอ ที่แม้เป็นฝ่ายนอกใจ แต่ก็ยังคงพูดว่าการหย่าเกิดขึ้น เพราะภรรยาไม่ยอมให้อภัยกับความผิดเล็กๆ น้อยๆ นี้
ทั้งการหย่าร้างยังถูกมองว่า นำมาซึ่งครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ เมื่อลูกต้องขาดพ่อ หรือแม่ คนใดคนนึงไป ทำให้หลายครั้งเราเห็นข้ออ้างที่พยายามยกขึ้นมาว่า พวกเขาต้องทำเพื่อลูก รวมถึงการมองว่า เพื่อที่ลูกจะเติบโตได้อย่างไม่มีปัญหา จำเป็นต้องมีทั้งพ่อและแม่ที่อยู่ด้วยกัน ซึ่งตัวละครแทโอเอง ก็สะท้อนมุมมองนี้ที่ว่า เขามีปมที่เติบโตมาพร้อมแม่คนเดียว เขาจึงไม่ต้องการเป็นเหมือนพ่อ ที่ไม่ได้อยู่กับลูก และไม่อยากให้ลูกเป็นแบบเขาที่ไม่มีพ่อ ขณะที่หมอจีเอง ไม่ว่าจะพยายามเติมเต็มการเป็นทั้งพ่อ และแม่ให้ลูกเท่าไหร่ สายตาจากคนภายนอกก็ยังมองว่า ไม่เพียงพอ
แต่ถึงอย่างนั้น ตัวละครอย่าง ยุน โนอึล เพื่อนสาวของอี จุนยอง ก็แสดงให้เห็นว่า การเติบโตมาด้วยการมีแม่ผู้เลี้ยงดูคนเดียวไม่ได้เป็นปัญหา และเธอเองก็ต้องพยายามอย่างมาก เพื่อที่จะลบคำสบประมาทที่ว่า ลูกของคนที่หย่ากันทุกคนต้องมีปัญหาด้วย
ดังนั้น นอกจากหมอจี ที่ตัดสินใจด้วยตัวอย่างเด็ดขาด เลือกเส้นทางหย่าร้างกับสามีแล้ว เรายังเห็นอีกหลายคู่ ที่พบปัญหาในชีวิตคู่คล้ายๆ หมอจี คือถูกสามีนอกใจ แต่พวกเขาที่ทุ่มเทชีวิตสุดตัวให้กับการแต่งงานแล้ว ก็มองว่า พวกเขาจะไม่ยอมหย่า และยอมรักษาชีวิตคู่เอาไว้ใต้กรอบของคำว่า คู่แต่งงาน แม้จะรู้ว่าชีวิตคู่นั้นไม่มีวันเหมือนเดิมแล้วก็ตาม
เมื่อสถานะความโสดถูกทำให้เป็นข้อบกพร่องของผู้หญิง
แม้ประเด็นหลักของเรื่องจะพูดถึงการแต่งงาน แต่เราก็ยังได้เห็นมุมมองเรื่องการอยู่เป็นโสด ที่ถูกมองอย่างอคติ เช่นเดียวกับผู้หญิงที่ผ่านการหย่าร้าง โดยซอล มยองซุก สาวโสดเพื่อนร่วมโรงพยาบาลของหมอจี ที่ไม่ได้มองว่าความโสด หรือยังไม่แต่งงานของเธอเป็นปัญหา แต่เธอกลับถูกผู้อำนวยการโรงพยาบาลมองว่า จุดนี้คือข้อบกพร่องของเธอ
ในโลกปัจจุบัน เราเห็นภาพผู้หญิงก้าวขึ้นมีตำแหน่งสำคัญในบริษัท มีพื้นที่ในวงการต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังคงมีความไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะในสังคมเกาหลี ที่มีรากของวัฒนธรรมขงจื้อ และชายเป็นใหญ่อยู่ ซึ่งในเรื่องนี้ หมอซอลเอง ก็ถูกปฏิเสธจากการเลื่อนตำแหน่งเพียงแค่เพราะเธอเป็นสาวโสด และสาวโสดไม่ควรทะเยอทะยาน เพราะไม่มีแม้แต่ครอบครัว หรือลูกให้ดูแล ขณะที่ในมุมของชายโสด กลับถูกมองว่าไม่เป็นไร เพราะเขาคือผู้ชาย
ตัวหมอจีเอง เธอก็เจอกับคำสบประมาทเหล่านี้เช่นกัน เมื่อหย่าร้างและเป็นโสด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรายนี้ ก็มักมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตเธอมาจากการหย่าร้าง ได้ ไปจนถึงเอากรอบของเพศมามองว่า เพราะเป็นผู้หญิงจึงไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวคนเดียวได้
แต่ก็ไม่ใช่เพศชายอย่างเดียว ที่แสดงถึงชายเป็นใหญ่ และกดขี่ผู้หญิง ซีรีส์เรื่องนี้ก็ยังมีตัวละครเพศหญิง ที่ส่งเสริมค่านิยมชายเป็นใหญ่ และพร้อมจะกดขี่ผู้หญิงด้วยกัน อย่างแก๊งสมาคมแม่บ้านโกซาน ที่จัดวางตำแหน่งตัวเองว่าเป็นช้างเท้าหลังของสามี ปล่อยข่าวซุบซิบนินทาให้ผู้หญิงด้วยกันเสียหาย อย่างที่ภรรยาของผู้อำนวยการกง ที่บอกกับหมอจีว่า อย่าไปเที่ยวกลางคืนกับหมอคิม เพราะจะเป็นฝ่ายที่ทำให้ผู้ชายเสียหายได้ด้วย
ลูก บุคคลที่อยู่ตรงกลางระหว่างการทะเลาะกันของพ่อแม่
นอกจากสามี ภรรยา ที่สูญเสียจากการทะเลาะและหย่าร้างกัน หนึ่งคนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนี้ คือ อี จุนยอง ลูกชายซึ่งมักอยู่ตรงกลางศึกระหว่างพ่อและแม่ จุนยอง ในวัย 13 ปี ซึ่งเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อเริ่มรับรู้ว่า ครอบครัวของเขากำลังเริ่มแตกแยก และเขาอาจต้องเผชิญกับการหย่าร้างของพ่อแม่ จุนยองเองไม่ต่างจากพ่อ ที่พยายามขอให้แม่ให้อภัยพ่อ และขอร้องให้แม่ไม่หย่า เพราะเขาเองก็ต้องการอยู่กับครอบครัวที่มีทั้งพ่อ และแม่
ตั้งแต่ก่อนหย่าร้าง ไปถึงตอนจบของซีรีส์ เราเห็นการที่พ่อ และแม่นำจุนยองมาเป็นข้ออ้าง โดยที่ทั้งรู้ตัว และไม่รู้ตัว การหย่าร้าง และเงื่อนไขของการแยกทางที่เป็นไปอย่างที่หมอจีหวัง ต่างก็ต้องแลกมาด้วยผลกระทบทางจิตใจของจุนยอง ซึ่งได้เห็นภาพติดตาจากการที่เธอจมกองเลือดหลังโดนสามีทำร้าย ซึ่งแม้ซีรีส์จะไม่ได้นำเสนอชีวิตของ 2 แม่ลูกในช่วง 2 ปี ที่แทโอย้ายออกไปจากเมือง แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ตลอด 2 ปีนั้นก็ส่งผลต่อการเติบโต สภาพจิตใจ ไปจนถึงนิสัยอย่างการทำลาย และขโมยข้าวของ
แต่เมื่อแผลนั้นยังไม่ได้รับการรักษา พ่อของเขาก็กลับมา ซึ่งยิ่งเป็นการสร้างความสับสน และผลกระทบต่อจิตใจของเขาอีก เขารู้สึกทั้งถูกพ่อและแม่แย่งตัวไปมา ในขณะเดียวกันก็ถูกผลักไสออกไป จากครอบครัวใหม่ของพ่อ ที่มีแผนส่งจะส่งเขาไปอเมริกา ทั้งเขาเอง นอกจากจะเป็นข้ออ้างของพ่อ และแม่แล้ว ยังกลายเป็นข้ออ้างของดาคยอง ภรรยาใหม่ของพ่อ ที่มองว่าการที่จุนยองอยู่กับพวกเขาเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับจุนยอง แต่ความจริงแล้ว เธอก็ต้องการเขาเพื่อเป็นหนึ่งในหลักประกันความมั่นคงให้แทโออยู่กับเธอเท่านั้น
ตัวละครจุนยอง จึงเป็นบทบาทที่แสดงให้เราได้เห็นถึงบุคคลตรงกลางอย่างลูก ที่อยู่ระหว่างการทะเลาะกันของสามีภรรยา ซึ่งสุดท้ายแม้พวกเขาจะรัก และหวังดีกับลูกเพียงไร แต่ระหว่างทาง พวกเขากลับใช้ลูกเป็นเครื่องมือ โดยไม่ได้นึกถึงสภาพจิตใจ หรือมองว่าลูกที่เป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัว ที่แม้จะเป็นวัยรุ่น แต่ก็สามารถรับรู้ปัญหา หรือให้เขาได้มีส่วนร่วมในการออกความเห็น ตัดสินใจ หรือมองว่าลูกจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นกับจุนยอง คือการเลือกที่จะหนีจากครอบครัวไป (แม้ภายหลังจะตัดสินใจกลับมา)
ซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นการรีเมคจากต้นฉบับของทางตะวันตก แต่ก็ได้ดัดแปลงในบริบทของสังคมเกาหลีใต้ ที่สะท้อนหลากมุมมองของชีวิตคู่ สถาบันครอบครัว และความรุนแรงในบ้าน