ความสัมพันธ์ของมนุษย์ล้วนเปราะบางหากคุณไม่มีกระบวนการรักษามัน แต่ขณะเดียวกันการพยายามบังคับพวงมาลัยแห่งความรู้สึกให้เที่ยงตรง อยู่ในเลนตลอดเวลาก็เป็นเรื่องยาก ถนนชีวิตที่คุณวิ่งอยู่มันเรียบตรงซะที่ไหน เผลอๆ คุณเอารถญี่ปุ่นผุๆ ขึ้นไปวิ่งบนรางรถไฟเหาะด้วยซ้ำ
สังคมเราออกแบบระบบการศึกษาและระบบการเป็นพ่อเป็นแม่ ทำให้เราคิดว่า ‘ระบบ’ (system) จะนำพาทุกอย่างไปได้ หากเราอยู่กับมันไปเรื่อยๆ ทำให้เราติดนิสัยไม่เตรียมพร้อม และคิดว่าไม่ต้องลงแรงอะไร ใช้เพียงอารมณ์ความรู้สึกเป็นที่ตั้งก็พอ แต่มันไม่เวิร์กเลยสำหรับชีวิตคู่
หลายคู่ที่ดูเหมือนรักใคร่กันดี แต่เมื่อเผชิญอุปสรรคเพียงนิดเดียว ก็เลิกกันฉับไวราวฟ้าผ่า 6 เดือนก็แยกทางกันแล้ว
สถิติการหย่าร้างของครอบครัวไทยยุคใหม่ค่อนข้างเปราะบางและมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัญหาการหย่าร้างที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องคิดเป็น 35% ของคู่ที่จดทะเบียนสมรสใหม่
“ภาพการแต่งงานถูกสร้างให้เป็นประสบการณ์ Happy Ending นะครับ แต่มันไม่ใกล้เคียงกับความจริงเลย”
อนันต์ วริศนราทร นักวิชาการด้านจิตวิทยาจากกลุ่ม Ministry of Love ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) ที่จะมาร่วมไขปัญหาชีวิตคู่และแนะนำเทคนิควิธีแก้ปัญหาหนักอกต่างๆในคู่สมรส รวมไปถึงการปรับทัศนคติชีวิตที่ติดตัวมาก่อนการแต่งงาน ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคในอนาคตได้
The MATTER : ภาพการแต่งงานของหลายคู่เต็มไปด้วยความสุข แล้วความจริงมันลงเอยแบบ Happy Ending อย่างที่เราเข้าใจหรือเปล่า
Happy Ending เป็นเพียงภาพสมมติ เราถูกปลูกฝังผ่านการ์ตูน เรื่องเล่า และนิทานซ้ำแล้วซ้ำเล่า เจ้าชายและเจ้าหญิงรักกัน ฟันฝ่าอุปสรรคด้วยกัน การแต่งงานคือตอนจบซึ่งในมุมมองผมการแต่งงานเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น การเดินทางของสองคนในโลกแห่งความจริงยังอีกยาวไกล เราถูกปลูกฝังให้มองการแต่งงานเป็นจุดสำเร็จ แต่เมื่อดูจากสถิติการหย่าร้างในคู่สมรส ส่วนใหญ่ใช้เวลาร่วมกัน 5ปี 3ปี 1ปี หรือแม้แต่ 6 เดือนก็หย่าแล้ว ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นกันทั้งโลก ที่บอกว่า Happy Ending คนก็เริ่มจะไม่เชื่อแล้วว่าเป็นความจริง
The MATTER : ในยุคสมัยนี้มีปัจจัยเร่งอะไรบ้างที่ทำให้คนเลิกกันเร็ว
อาจเป็นเพราะปัจจัยภายนอกต่างๆ อย่าง social media เองก็เป็นอัตราเร่งความเสี่ยงของชีวิตคู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคู่ปรับตัวในชีวิตจริงได้ดีแค่ไหน ขอยกตัวอย่าง หากมีคู่แต่งงาน 2 คู่ ที่สถานการณ์คล้ายๆ กัน แต่พวกเขาแก้ปัญหาบุคคลที่ 3 ต่างกัน โดยมีเหตุปัจจัยให้ผู้หญิงหรือผู้ชายอีกคนเข้ามา คู่แรกสามารถจัดการได้สำเร็จ สื่อสาร พูดคุยกันทันที และอีกคู่จัดการประเด็นมือที่ 3 ล้มเหลว เลือกถอยหนีปัญหา ไม่เผชิญหน้า ทิ้งระยะเวลายาวนาน
เรื่องหัวใจคุณยิ่งจัดการปัญหาให้เร็วยิ่งดี เพราะมนุษย์นั้นให้ความสนใจกับเรื่องความเจ็บปวดมากกว่า มันสื่อสารได้รวดเร็ว โดยเฉพาะคุณสื่อสารความเจ็บปวดผ่าน social media ซึ่งผมมองว่าเป็น negative support เหมือนเติมเชื้อไฟ
The MATTER : อะไรคือความพร้อมที่ต้องเตรียมกันเนิ่นๆ ก่อนที่จะเริ่มชีวิตคู่
ผมเคยทำงานด้านอาสามานาน และศึกษาด้านจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) เห็นพฤติกรรมที่แต่ละคนบอกว่าตัวเอง ‘พร้อมแล้ว’ เยอะมาก แต่นั่นล้วนเป็นความพร้อมภายนอก เช่น มีบ้าน มีสินสมรส เตรียมงานแต่ง แต่ละคู่ต่างเตรียมดีที่สุดแล้ว แต่เรากลับไม่เคยเตรียมความพร้อมทางความคิดว่า ชีวิตคู่ไม่ได้มีความสุขตลอดเวลา
เพราะตอน dating ดูใจ ทุกคนล้วนแสดงสิ่งที่ดีที่สุดออกมาเพื่อจูงใจอีกฝ่าย (แต่เป็นเรื่องธรรมชาติไม่เสียหาย) คุณต้องเฉลียวใจเสมอว่า คนเราจะมีอีกแง่มุมหนึ่งที่คุณอาจรับไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีพื้นหลังชีวิตต่างกัน
ยกตัวอย่างหลังแต่งงาน ผู้หญิงเห็นกางเกงในของผู้ชายม้วนเป็นเลขแปด (อันนี้แค่เล็กๆ นะ) ซึ่งผู้ชายก็ถอดกางเกงม้วนแบบนี้อยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ เลยไม่เคยมองเป็นเรื่องใหญ่ แต่บังเอิญฝ่ายหญิงดันรับไม่ได้ และถือเป็นเรื่องรุนแรง ร้ายกว่านั้นผู้หญิงเป็นฝ่ายที่ต้องเก็บหรือโยนเข้าตู้ซักผ้าทุกครั้งในสภาพแบบนี้ ก็ทนเก็บไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง “ฉันไม่ทนแล้ว”
แค่กางเกงในก็ทำให้ระเบิดอารมณ์ได้ ชีวิตคู่สมรสจึงมีความจำเป็นที่คุยกันได้ทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นทุกฝ่ายจะเก็บกันไปเรื่อยๆ เพราะวิถีไทยที่เราสอนกันมาเสมอคือ ‘อดทน’ ผมเลยอยากให้ทุกคู่คุยกันมากขึ้น ใส่ใจเรื่องเล็กๆ และกล้าเปิดอกในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ
The MATTER : เราเคยได้ยินว่าชีวิตคู่ต้องมีความอดทน แต่อะไรที่เรามองข้ามไป
ผมยืนยันว่าการ ‘อดทน’ เป็นเรื่องที่ควรมี แต่ไม่ใช่แนวทางประสบความสำเร็จเลย ในระยะ 30 – 50 ปีที่ผ่านมานี้ในด้านสังคมศาสตร์ ทัศนคติผู้หญิงเปลี่ยนแปลงเยอะมากนะครับ แต่ผู้ชายกลับเปลี่ยนน้อยหากให้เทียบกัน ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น มีไลฟ์สไตล์ชัดเจน มีหน้าที่การงาน ผู้หญิงชัดเจนในเรื่องการพัฒนาตนเอง หาเงินได้มากกว่าผู้ชาย แต่หากเธอถูกคาดหวังว่าต้องเข้าครัวทำกับข้าวโดยผู้ชายไม่พยายามปรับอะไรเลย จะเป็นลักษณะของการใช้ชีวิตไม่ลงตัว เพราะคาดหวังกันคนละแบบ
The MATTER : ส่วนใหญ่เวลาคนมาขอคำปรึกษา ชีวิตคู่ก็เกือบจะแตกหักกันไปแล้ว แต่กลุ่ม Ministry of Love พยายามจะทำอะไรที่แตกต่าง?
กลุ่มของเราเห็นพ้องกัน ที่ผ่านมาคู่สมรสที่มาปรึกษามักมีปัญหาเรื้อรังยาวนาน เราทำได้เพียงไปบำบัดเขาในจุดที่แต่ละคนผ่าน ‘จุดขีดสุด’ กันมาแล้ว ซึ่งการไปแก้ไขตอนท้ายมันยากมากๆ
ผมและกลุ่มเลยอยากเปลี่ยนวิธีการ โดยพยายามอบรมและ workshop คู่สมรสใหม่ตั้งแต่แรกเลย ไม่ต้องรอให้เป็นปัญหา เป็นกลยุทธ์แบบ preventive และสร้าง awareness mechanism โดยที่ไม่ต้องรอแตกหัก ซึ่งสามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้ เข้าใจง่าย ผู้ที่มาร่วมสามารถเก็บรักษาความลับความสัมพันธ์ของแต่ละคนเอาไว้ได้โดยไม่เปิดเผย
เราจะพยายามกระตุ้น positive skill ต่างๆ ในเชิงการพูด แต่จะกระตุ้นให้พูด negative feeling ออกมาได้เช่นกัน ซึ่งมีเทคนิคการพูดเพื่อการปรับความรู้สึกและปรับพฤติกรรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งนักจิตวิทยา และอาจารย์ด้านนี้ให้คำปรึกษาโดยเฉพาะ
The MATTER : สำหรับคุณความรักคืออะไร?
การแสดงความรัก คือการแสดงสิ่งซ้ำๆ ที่บางครั้งอาจดูน่าเบื่อ แต่ถ้าเจือปนด้วยความรู้สึก สิ่งซ้ำๆ จะเป็นความรัก เราสร้างสิ่งที่เป็นบวกให้แก่คู่รัก ถ้าจะให้ผมแนะนำเล็กๆ คุณผู้ชายก็อย่าขี้ลืมนัก ครบรอบแต่งงานพาแฟนออกไปดินเนอร์บ้าง ส่วนผู้หญิงอย่าเพิ่มน้ำหนักตัวตามอายุแต่งงาน ให้ช่วยกันดูแลตัวเอง การเอาใจใส่คือการทำสิ่งซ้ำๆอย่างสม่ำเสมอ มันไม่ต้องใหญ่โตหรอก ชีวิตคู่มันก็แค่นี้เอง
ขอขอบคุณ
อนันต์ วริศนราทร
Ministry Of Love
Cover by Kodchakorn Thammachart
ขอคำปรึกษาและติดตามการอบรมแนวใหม่ของกลุ่ม Ministry Of Love ที่ 092-545-1951 อนันต์ วริศนราทร หรือ thanonwaris@gmail.com