[บทความอุดมด้วยสปอยล์ โปรดหลีกเลี่ยงหากไม่ต้องการในทุกกรณี]
กระทู้ร้อนฉ่าสำหรับคอการ์ตูน ไม่ว่าจะในพันทิปหรือตามโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นๆ ก็คงไม่พ้น กระทู้ตอนอวสานของเรื่อง Bleach เทพมรณะ ที่ทำให้คนที่ติดตามเรื่องนีหลายคนเกิดอาการ ‘รมณ์บ่จอย’ ตามวิสัยเด็กยุค 90s ที่อ่านเรื่องนี้มาสิบห้าปีแต่กลับพบว่า ตอนอวสานที่น่าจะสวยงามตามรอยเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง นารุโตะ นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ กลับแหลกสลายเป็นเม็ดทรายพังทลายไปต่อหน้า
ด้วยจิตใจคั่งแค้นเหลือคณา ที่ฉากจบก็ไม่ได้ดั่งใจ แถมคู่รักในเรื่องก็ไม่ถูกใจแฟนๆ อีก ทำให้แฟนการ์ตูนหลายคนแทบจะฉีกหนังสือเล่มเก่าที่มีอยู่ทิ้ง สุดท้าย ก็มีคนพูดจริงทำจริง เปิดกระทู้ระบายความในใจแล้วลงภาพเผาหนังสือ Bleach ทั้งกอง
หลายคนอาจมองว่าอะไรจะขนาดน้าน แต่น่าจะพอเข้าใจกันได้ว่าเพราะความผูกผันทำให้ความ ‘เฮิร์ท’ มันคูณสอง นักวิทยาศาสตร์ยังยอมรับเลยว่าการที่คนเรารักอะไรมาก พอไม่สมรักมันก็จะเกิดอาการเจ็บทางกายภาพจริงๆ จนต้องขอระบายออกกันบ้าง แต่รู้กันไหมว่า ไม่ใช่แค่ Bleach เรื่องเดียวหรอกนะที่ก่อให้เกิดปฏิกริยาเช่นนี้ เราขอรวมจับเหตุการณ์ ‘รมณ์บ่จอย’ ในวัฒนธรรมย่อยที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้มาแล้วให้ฟังกัน
1. Shaman King ราชันย์แห่งภูต
หากจะพูดถึงการ์ตูนที่จบขัดใจคนดูที่สุดแล้ว จะไม่พูดถึงเรื่องนี้ก็คงไม่ได้ จากเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนทรงอย่าง อาซาคุระ โย ที่ฝึกวิชาคนทรง กับ วิชาดาบ รวมถึงมีเพื่อนก๊วนใหญ่ เพื่อไปปะทะกับ อาซาคุระ ฮาโฮ ผู้ที่มีพลังชาแมนมหาศาลอันเกิดจากการเวียนวายตายเกิดมานับร้อยปี แต่ยังคงความจำในอดีตที่อยากจะล้างแค้นโลกใบนี้เอาไว้เต็มหัวอก
สิ่งที่คนคาดหวังกันก็คือฉากการต่อสู้กันระหว่างผู้ใช้พลังวิญญาณสองคนมาห้ำหั่นกัน ไม่ก็ฝั่งพระเอกที่ได้พลังพิเศษมาเข้ารุมตีบอสใหญ่หนึ่งตัวตามวิถีการ์ตูนโชเน็น สิ่งที่ได้กลับมานั้นกลับมานั้น ตรงข้ามกับความคาดหมายของคนอ่านอย่างมาก ไหนจะเปิดตัวว่ากองทัพของฮาโอนั้นเทพ จนเข้าขั้น ‘เมพ’ ไหนจะมีตัวละครออกมาพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ยังไงก็ไม่มีทางชนะฮาโอได้ แถมพล็อตเริ่มเล่าวิธีการทำยังไงให้ฮาโอเป็น ชาแมนคิง ที่ดีแทน
จนกระทั่งตอนจบหลังจากที่พระเอกไล่เก็บเลเวลไปเรื่อยๆ อยู่ๆ ก็บอกกลุ่มเพื่อนว่า ให้นอนพักผ่อนซะ ก่อนเจอศึกใหญ่ แล้วก็มีฉากที่ตัวละครหลัก โยนเครื่องนอนใส่หน้าจอของผู้อ่าน
ก่อนภาพจะตัดไปว่า พวกเขาเห็นฮาโอเป็นเหมือนปิศาจร้ายในนิทาน ปิศาจตนนั้นป้องกันไม่ให้คนบุกปราสาท ไม่ให้ไปช่วย ‘เจ้าหญิงฮาโอ’
ถึงตอนนั้นกระแสต้านทานจะไม่ได้หนักหนาสาหัสนัก เพราะเป็นยุคก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเฟื่องฟู แต่คำว่า ‘ปาหมอน’ อันหมายถึงการตัดจบแบบคนตามเงิบ! ก็มาจากฉากจบของ Shaman King นี่เอง
ทั้งนี้ ภายหลัง Shaman King ได้รับการเขียนต่อจนมี ‘ฉากจบที่แท้จริง’ และมีภาคต่อไปเรียบร้อยแล้ว ทางสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์ก็ตีพิมพ์ฉบับสมบูรณ์นั้นขายอยู่นะจ๊ะ
2. Neon Genesis Evangelion มหาสงครามวันพิพากษา ฉบับทีวีซีรีส์
ใครที่ติดตามอนิเมชั่นคงต้องเคยผ่านหูผ่านตากับอนิเมชั่นเรื่องนี้กันบ้าง อนิเมชั่นที่พลิกผันการตีความการ์ตูนหุ่นยนต์ไปอีกฟากหนึ่ง นอกเหนือจากสายสมจริง (Real) และ สายเหนือจริง (Super) Evangelion นำเสนอหุ่นในแบบผสมผสาน ด้วยขนาดตัวและพลังลึกลับที่อธิบายไม่ได้ ควบกับอุปกรณ์และความสมจริงในการต่อสู้แบบวางแผน ส่วนตัวละครเอกกลับมาเป็นแนวเด็กมีปัญหาขนาดหนัก (ปมเอดิปุสมาเต็มตั้งแต่เริ่มจนจบเรื่อง) สวนทางกับยุคก่อนหน้าที่แม้จะมีปมแต่ก็ยังคงความเป็นฮีโร่ไว้ ทั้งยังเอาความเชื่อทางศาสนหลากหลายมาผสมป่นรวมกันจนทำให้เกิดเรื่องราวที่ไม่ซ้ำแนวใคร และกลายเป็นหมุดสำคัญของอนิเมชั่นหุ่นยนต์ในยุคหลังจากนั้น
ฉากจบดั้งเดิมของฉบับอนิเมชั่นที่ออกฉายทางทีวีนั้นก็ถือว่าแหวกแนวมากเช่นเดียวกัน แทนที่เราจะได้เห็นหุ่นยนต์ขนาดยักษ์เข้าปะทะกับหน่วยงานลับที่หมายจะใช้พลังของเทวฑูตครอบครองโลก หลังจากตอนก่อนหน้าเพิ่งฝืนใจให้พระเอกฆ่า ‘เพื่อนรัก’ (สาววายกรี๊ดได้ค่ะ) แต่เปล่า…ฉากจบของฉบับทีวีเลือกที่จะเล่าเรื่องที่อยู่ภายในใจตัวเอกของ อิคาริ ชินจิ ที่หมดสภาพหมดใจจนไม่อยากอยู่ต่อ ทีมงานสร้างยอมเสียเวลาราว 40 นาทีให้คนดูเห็นว่าความเป็นไปได้อื่นที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอกเป็นแบบใด ปมในใจของเขามีอะไรอยู่ แถมบางช่วงตอนก็เอาภาพที่ยังทำไม่เสร็จมาประกอบการเล่า ก่อนจะจบด้วยฉากปรบมือให้กำลังใจพระเอกซะงั้น
ความอินดี้ตั้งแต่ตอนนั้นทำให้คนดูเกิดอาการ ‘อะไรวะ’ พร้อมเกาหัวขึ้นมาทันที แล้วถึงจะเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่กว้างไกล แต่การระบายความไม่พอใจในอินเตอร์เน็ตยุคนั้นก็ถือว่าเอาเรื่องใช่ย่อย ตามด้วยการส่งจดหมายขู่ฆ่าไปยังบริษัท Gainax ผู้สร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้ และหนักหนาจนถึงขั้นบุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินของบริษัทอีกด้วย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ใช่ว่าจะตัดกำลังใจของทีมงานไปหมด เนื่องจากภายหลังพวกเขาก็เอาจดหมายขู่และภาพจากกลุ่มคนที่เกลียดชังใช้งานใน ภาพยนตร์ The End Of Evagelion
The End Of Evagelion ว่ากันว่าๆ เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากบทเดิมที่เขียนไว้ แต่ตอนฉายทีวีโละไปเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นงบหมด / ความรุนแรงที่มากเกินไป หรือข่าวลือที่ว่าทีมงานเอาท์ซอร์สส่งงานไม่ทัน ทีมงาน Gainax เลยต้องทำการตัดต่อให้เป็นอนิเมชั่นแนว Abstract แทน และเหมือน ฮิเดอากิ อันโนะ ผู้กำกับซีรีส์ Evangelion จะเป็นมือโปรกับการทำให้เแฟนๆ ปวดใจกับตอนจบ เพราะตอนนี้ Rebuild Of Evangelion ก็ยังไม่ออกมาให้แฟนๆ ได้ฟินกันสักทีเช่นกัน …รีบโปรโมท Shin Godzilla แล้วรีบทำภาคต่อของ Evangelion เถอะครับท่าน!
3. น้องสาวผมไม่น่ารักขนาดนั้นหรอก
อีกเรื่องที่ถือว่าเป็นข่าวคราวจนคนที่ไม่ค่อยติดตามไลท์โนเวลก็อาจจะคุ้นเคยกันบ้าง กับเรื่องราวที่เริ่มต้นจากการที่ โคซากะ เคียวสุเกะ พระเอกที่มีความสัมพันธ์ไม่ค่อยจะลงรอยกับ โคซากะ คิริโนะ น้องสาวเป็นนางแบบสมัครเล่นหน้าตาดี จนกระทั่งเขาได้ค้นพบว่าน้องสาวของเขานั่นเล่นเกมโป๊กับติดการ์ตูนแนวลามก โดยเฉพาะแนว Incest แถมยังคลั่งเรื่องเหล่านี้ในระดับที่ถือว่าเป็นโอตาคุ แต่ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไปการที่น้องสาวเขาเป็นคนนิสัยแบบนี้เพราะผลพวงในอดีต ทำให้พี่ชายพยายามปรับทัศนคติเพื่อให้น้องสาวเห็นว่า เขาเป็นพี่ชายที่ได้เรื่องได้ราวกับเรื่องที่น้องสาวทำนั้นไม่สมควร
นอกจากเนื้อเรื่องข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับผู้คนอีกมากที่โดดเด่นจนถือว่าเป็นตัวละครหลักร่วม คงไม่พ้น คุโระเนโกะ หญิงสาวที่เป็นโอทาคุเหมือนกับคิริโนะ แถมยังเข้ามาปั่นป่วนใจของตัวเอกอย่างโคซากะ จนทั้งสองคนนั้นกลายเป็นแฟนกันใน ไลท์โนเวลฉบับที่ 7 ก่อนที่จะเลิกรากันไปในช่วงท้ายของไลท์โนเวลฉบับที่ 8
ที่เรายกเรื่องนี้มาเพราะ ซึคาสะ ฟูชิมิ ผู้เขียนไลท์โนเวลเรื่องนี้ถูกขู่ฆ่าจากแฟนคลับของตัวละครคุโระเนโกะที่ไม่พอใจกับการสลัดรักของพระเอก ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำอะไรมากมาก แค่ส่งอีเมล์ขู่ฆ่าด้วยการตัดคอไปราว 500 ฉบับเท่านั้นเอง ซึ่งผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ก็ยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหาทุกประการ
และเมื่อเนื้อเรื่องจนถึงเล่มที่ 12 อันเป็นเล่มสุดท้ายของไลท์โนเวลชุดนี้ ด้วยความลุ้นกันว่าสุดท้ายแล้วว่าชะตากรรมของคู่พระนางที่เป็นพี่น้องกันจะไปลงเอยกันกับใคร ซึ่งเนื้อเรื่องตอนท้ายก็กลายเป็นว่าคนทั้งสองแต่งงานและใช้ชีวิตฉันท์คนรักกันช่วงระยะหนึ่ง จนเวลาผ่านไปสักพักก็กลับมาเป็นพี่น้องกันอีกครั้ง และตัวละครแทบทุกตัวก็แยกย้ายไปตามเส้นทางชีวิตของตัวเองในที่สุด
กลายเป็นฉากจบที่สมเหตุสมผล แต่ไม่ฟินแฟนๆ เพราะสุดท้ายแล้ว จะพระเอก นางเอก หรือคนที่มาสารภาพรักกับตัวละครพระนาง…ก็แห้วรับประทานกันทุกคน จนเกิดความเห็นเหนื่อยหน่ายรุนแรง อย่างแฟนๆ ในญี่ปุ่นบางคนก็ถึงขั้นหั่นไลท์โนเวลเล่มเก่าๆ เป็นชิ้นๆ โชว์ชาวเน็ตกันเลยทีเดียว (แต่บ้างก็ว่า ชาวญี่ปุ่นคนนั้นหั่นหนังสือมาตั้งแต่เนื้อเรื่องก่อนหน้าแล้วน่ะนะ)
4. Kuma Miko คนทรงหมี ฉบับอนิเมชั่น
กรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ไม่แพ้ Bleach เลยทีเดียว การสร้างอนิเมชั่นจากหนังสือการ์ตูนต้นฉบับเนื้อหาที่สบายๆ แค่เรื่องราวของมิโกะบ้านนอกสุดกู่ อาศัยอยู่กับหมีพูดได้ เกิดเบื่อความไกลปืนเที่ยงของเธอแล้วตัดสินใจจะไปเรียนต่อในเมือง แต่คุณหมีไม่ยอมบอก “Yes แน่นอน” (เรารู้ว่าคุณนึกคำนั้นออก) แล้วมอบการบ้านเพื่อทดสอบว่ามิโกะน้อยของหมู่บ้านน่ะยังไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตในกรุงด้วยตัวคนเดียว
เรื่องมันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรจริงๆ ล่ะ เพราะมุกในฉบับอนิเมชั่นช่วงแรกๆ ก็ยกมาจากฉบับหนังสือการ์ตูนแบบชัดแจ้งแดงแจ๋ จนกระทั่งช่วงท้ายๆ ที่เรื่องราวเดินทางไปอีกทิศหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นปกติของอนิเมชั่นที่ทำมาจากหนังสือการ์ตูนที่กำลังเดินเรื่อง โดยบททดสอบอันใหม่ที่ มาจิ มิโกะสาวนางเอกของเรื่องต้องเจอก็คือการไปแข่งเป็นไอดอลเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวในหมู่บ้านให้ดังยิ่งขึ้น
มาจิที่ไม่เคยเจอคนเยอะๆ ก็เกิดอาการตื่นเวทีจนหนีไปซ่อนตัว ซึ่งดราม่าก็เกิดขึ้นจากเนื้อเรื่องจุดนี้ที่ตัวละครอีกตัวพยายามปกป้องมาจิแล้วถาม โยชิโอะ ญาติของมาจิที่พามาแข่งไอดอลว่า ทำไมต้องฝืนใจเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ แบบนี้ กะจะสังเวยมิโกะตามธรรมเนียมโบราณหรือไง? ซึ่งญาติก็เทียบเคียงทำนองว่า มันก็ใช่แบบนั้นล่ะ เพราหมู่บ้านเงียบเหงาคนก็ซบเซาการส่งมิโกะไปโปรโมทตามความต้องการของทุกคนในหมู่บ้านนั่นล่ะถูกทางแล้ว จากนั้นมาจิที่แอบฟังอยู่ใกล้ๆ ก็ไปแข่งจนได้รับชัยชนะมาแต่ก็เกิดจิตตกจนคิดว่าคนดูเชียร์คือการไล่ตัวเอง… ทำให้ตอนจบของอนิเมชั่น มาจิตัดสินใจที่จะอยู่หมู่บ้านไปตลอดแทน
จริงๆ รูปประโยคที่พูดมาในเรื่องก็ไม่มีอะไรมากนักหรอก (ตัวละครที่พูดก็โดนชงว่าเป็นคนที่ใช้คำพูดไม่เป็นอยู่แล้ว) แต่ดราม่าเริ่มขึ้นจากคำบ่นของอาจารย์เจ้าของผลงานต้นฉบับได้ออกมาให้ความเห็นว่า ‘เขานับถือทีมงานทำอนิเมชั่นทุกคนนะ แต่คำพูดของโยชิโอะมันโหดร้ายไปนิดนึงนะ” เท่านั้นล่ะ กระแสของผู้ชมที่แอบข้องใจกันอยู่แล้วก็ถาโถมมาบนโลกอินเตอร์เน็ตทันที ผลพวงจากกระแสดังกล่าวทำให้ทีมงานที่เกี่ยวข้องกับอนิเมชั่นเรื่องนี้หลายคน ปิดทวิตเตอร์ของพวกเขาสังเวยกระแสนี้ แล้วถ้าแค่คำบ่นที่จับต้องไม่ได้นั้นยังไม่ส่งผลพอ เมื่อตัวเลขเรตติ้งของอนิเมชั่นตอนจบออก (สำหรับการฉายบนอินเทอร์เน็ต) ถูกเผยออกมา ก็พบว่าเรตติ้งร่วงหล่นสวยงามราวกับน้ำตกไนแองการ่าเลยทีเดียว
ถึงภายหลังผู้เขียนหนังสือการ์ตูนจะออกมาขออภัยกับคำพูดของตัวเขาเอง แต่แผลที่เกิดขึ้นไปแล้วก็น่าจะรักษาหายยากเล็กน้อย และต้องลุ้นว่าในเวอร์ชั่นสำหรับลงแผ่นนั้นทางทีมงานผู้ผลิตอนิเมชั่นจะปรับแก้อะไรอีกหรือไม่
5. Pokemon XY&Z
ไม่รู้ว่าเกาะกระแสเกม Pokemon GO กับเขาหรือไม่ แต่เหตุการณ์ขัดใจแฟนคลับก็เกิดขึ้นกับอนิเมชั่นจากเกมสุดโด่งดัง แต่กรณีนี้แตกต่างกับทุกเรื่องด้านบนอยู่เล็กน้อย
เพราะอนิเมชั่นของ Pokemon ยังไม่ได้เข้าสู่ตอนจบแต่อย่างใด เหตุการณ์ขัดใจแฟนๆ นี้เกิดขึ้นมาจากอนิเมชั่นภาค XY&Z อนิเมชั่นภาคล่าสุดของการ์ตูนที่ปรับโฉมของฉบับอนิเมชั่นจากเดิมที่เป็นอนิเมชั่นที่เน้นโปรโมทตัวละครในเกมภาคที่ขายช่วงนั้น ให้ซาโตชิออกเดินทางไปเรื่อยๆ เพื่อพบเจอผู้คนใหม่ๆ โปเกมอนใหม่ๆ กลายเป็น การ์ตูนที่แอคชั่นสนุกสนานทันสมัยมากขึ้น ตัวซาโตชิเองก็มีการเจริญเติบโตของตัวละครขึ้นมาก ไม่ว่าจะในแง่ เทรนเนอร์ที่ฝึกฝนเหล่าโปเกม่อนจริงๆ ไม่ได้ใช้แต่พิคาชูในการต่อสู้เท่านั้น (ตอนนี้ตัวที่โดดเด่นกลายเป็นโปเกมอนกบนินจา Gekkouga / Grenninja ที่ดีไซน์ร่างพิเศษสำหรับภาคนี้โดยเฉพาะ) เรื่องรักๆใคร่ๆ ก็ไม่ได้มาแนวใสซื่ออีกแล้ว ด้วยเหตุต่างๆ แบบนี้แฟนๆ ที่ติตดามอนิเมชั่นมาตั้งแต่ปี 1997 ก็เลยแฮปปี้มากมายกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
จนกระทั่งเมื่อตอนเกือบล่าสุด ซาโตชิ ได้เข้าลงแข่งขันโปเกมอนลีกอีกครั้ง ทั้งเนื้อเรื่องและฝีมือของซาโตชิถูกแสดงให้เห็นว่านี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่ซาโตชิจะสามารถเอาชนะจนกลายเป็นแชมเปี้ยนของลีกใหญ่ๆ กับเขาได้บ้างสักที หลังจากที่ก่อนหน้านี้เวลาเดินเรื่องแข่งขันในลีกทีไร ต้องเกิดเหตุอันไม่สมควรที่ทำให้ซาโตชิได้รับความพ่ายแพ้ไปเสียทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ล่ะที่พี่ชิของน้องๆ จะได้ก้าวข้ามความพ่ายแพ้เสียที
ทว่าความหวังของมนุษย์นั้นมักจะไม่สมหวัง เมื่อเนื้อหาในตอนแข่งขันรอบชิงของคาลอสลีก จบลงด้วยความพ่ายแพ้แบบงงๆ ของ ซาโตชิ ที่ตอนก่อนหน้านั้นโดนชงกันยาวๆ ว่า เทพมหาประลัยไร้เทียมทานแถมท่าไม้ตายที่ซัดตูมในตอนดังกล่าวก็อลังการงานสร้างจนชวนสงสัยว่า เอ็งไปแพ้ได้ไงฟระ
https://www.youtube.com/watch?v=kkDBCBiFsMs
ผลพวงจากการพ่ายแพ้แบบค้านสายตาคนดูแบบนี้ ทำให้เกิดการต่อต้านความ Anti-Climax ไปทั่วโลก ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงไม่พ้นยอด Dislike ตัวอย่างของตอนที่ 39 (ซึ่งฉายในตอนที่ซาโตชิแพ้) ที่สูงกว่ายอด Like อย่างมาก เพราะแฟนๆ ไม่สามารถออกความเห็นได้อย่างชัดเจนในเว็บไซต์ส่วนที่บล็อกคนนอกญี่ปุ่นไว้
หรืออย่างในประเทศไทยก็มีการออกมาแสดงความไม่พอใจตอนดังกล่าวทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่างในพันทิปก็มีแฟนๆ ตามสาปแช่งกันมากกว่าร้อยความเห็น หรืออย่างแฟนบางคนก็ทำการขู่ว่าจะเผาของสะสมโปเกมอนที่เคยสะสมเอาไว้เลยทีเดียว
เราไม่กล้าฟันธงว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ที่มั่นใจได้คือตอนนี้แฟนเดนตายของโปเกมอนในฝั่งอนิเมชั่นคงมีความเคืองต่อเนื่องอีกสักระยะเป็นแน่ แต่ก็คงไม่ส่งผลกระทบต่อแฟนคลับนักเล่นเกม Pokemon GO เท่าใดนัก
รักมาก จึงเกลียดแรง ก็คงต้องขอพูดไว้สักนิดว่า จะเรื่องรักเรื่องชอบในสื่อบันเทิง หรือในชีวิตจริง ก็ต้องเผื่อใจไว้เจ็บในวันที่เราคาดไม่ถึงเหมือนกันเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก