เวลาพูดถึงดิสนีย์ บางคนอาจจะนึกถึงเจ้าหญิงดิสนีย์ หรือดินแดนแห่งความฝันของเด็กๆ อย่างดิสนีย์แลนด์ แต่จริงๆ แล้ว The Walt Disney Company ไม่ได้มีแค่การ์ตูน แอนิเมชั่น และสวนสนุกเท่านั้น เพราะอาณาจักรดิสนีย์ขยับขยายไปไกล ตั้งแต่สตูดิโอภาพยนตร์ สื่อด้านกีฬาไปจนถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ซึ่งมีทั้งบริษัทของดิสนีย์เอง และบริษัทที่ดิสนีย์ไปร่วมลงทุนหรือซื้อกิจการเพิ่มเข้ามาในช่วงหลังๆ
ไหนๆ วันนี้ (16 ตุลาคม 2022) ก็เป็นวันเกิดดิสนีย์ที่อายุครบรอบ 98 ปี เราเลยอยากชวนมาดูการเติบโตของดิสนีย์ว่าตอนนี้มีบริษัทอะไรอยู่ในมือบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าเราคงไม่สามารถลิสต์ได้ครบทุกบริษัทเพราะมีเยอะมากๆ เราเลยหยิบยกชื่อบริษัทใหญ่ๆ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยมาฝากกันในบทความนี้
Disney
เฉพาะธุรกิจของดิสนีย์เองก็มีหลากหลายจนเรียกว่าเป็นอาณาจักรได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น
- สวนสนุก
- Disneyland Resort – รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
- Walt Disney World Resort – รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
- Shanghai Disney Resort – จีน
- Disneyland Paris – ฝรั่งเศส
- Hong Kong Disneyland – ฮ่องกง
*แต่ดิสนีย์ไม่ได้เป็นเจ้าของ Tokyo Disneyland และ Tokyo DisneySea เพราะบริษัทท้องถิ่นของญี่ปุ่นอย่าง The Oriental Land Company เป็นผู้บริหารและเป็นเจ้าของที่ซื้อลิขสิทธิ์ไป
- ท่องเที่ยว
- Disney Cruise Line
- Disney Vacation Club
- AULANI a Disney Resort & Spa
- ADVENTURES by Disney
- สินค้า
- Walt Disney Imagineering
- Disney Publishing Worldwide
- shop Disney.com / Disney store
- ดนตรี
- Disney Music Group โดยหนึ่งในบริษัทที่อยู่ภายใต้ Disney Music Group คือ Hollywood Records ที่ถูกควบรวมเข้ากับดิสนีย์ตั้งแต่ปี 1998
- แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
- Disney+
- Disney+ hotstar
21st Century Fox
นอกจากบริษัทของดิสนีย์แล้ว หนึ่งในดีลสำคัญที่ขยายอาณาจักรของดิสนีย์คงจะเป็นการเข้าซื้อ 21st century Fox สำเร็จเมื่อปี 2019 ทำให้มีบริษัทเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรดิสนีย์ในปัจจุบัน
- 20th Century Studios (ชื่อเดิม 20th Century Fox)
- National Geographic
- FX
- hulu (จริงๆ ดิสนีย์ถือหุ้น Hulu อยู่แล้ว แต่ได้สัดส่วนที่ 21st Century Fox ถืออยู่ประมาณ 30% เพิ่มเข้ามาอีก ดิสนีย์เลยกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Hulu จากดีลครั้งนี้)
- Searchlight pictures (ชื่อเดิมคือ Fox Searchlight Pictures)
แต่ดิสนีย์ไม่ได้ซื้อกิจการ 21st Century Fox ทั้งหมดนะ ซึ่งส่วนที่ดิสนีย์ไม่ได้เข้าซื้อ ตอนนี้ก็แยกตัวออกมาเป็น Fox Corporation แทน โดยมีบริษัทในเครือ เช่น FOX NEWS media, FOX Entertainment, FOX sport
ABC (American Broadcasting Company)
เว็บไซต์ insider.com ระบุว่า ในปี 1996 บริษัท Walt Disney ได้ซื้อ Capital Cities/ABC ในราคา 19 พันล้านดอลลาร์และเปลี่ยนชื่อเป็น ABC, Inc โดย Capital Cities/ABC เป็นบริษัทสื่อเพื่อความบันเทิงและครอบครัวขนาดใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง Grey’s Anatomy, The Bachelor, Dancing with the Stars ซึ่งดีลครั้งนี้ทำให้ดิสนีย์ดิสนีย์มีสมาชิกใหม่อย่าง
- abc entertainment
- abc NEWS
- abc signature
- Freeform (เปลี่ยนชื่อจาก abc family)
ESPN
การเข้าซื้อ Capital Cities/ABC ยังทำให้ดิสนีย์ได้เป็นเจ้าของสื่อด้านกีฬาชื่อดังอย่าง ESPN อีกด้วย เพราะก่อนหน้านี้ ABC ดันมีสัดส่วนการถือหุ้น ESPN 80% และสัดส่วนการถือหุ้นนี้ก็ถูกโอนไปยังดิสนีย์ตอนเข้าซื้อกิจการนั่นเอง
A&E Network
ดีลของ Capital Cities/ABC ไม่ได้จบลงที่ ESPN เท่านั้น เพราะดิสนีย์ยังได้เป็นผู้ถือหุ้น 50% ของ A&E Network อีกต่างหาก ซึ่งภายใต้ A&E Network ก็มีหลายบริษัทที่เราน่าจะคุ้นชื่อกัน เช่น The HISTORY, Lifetime,Vice Media
PIXAR
กว่าจะมาถึงวันนี้ที่ดิสนีย์สามารถเข้าซื้อบริษัทใหญ่ๆ ที่เราเล่าถึงไป แน่นอนว่าดิสนีย์เองก็มีช่วงขาลงบ้างเหมือนกัน เพราะเจอทั้งปัญหาด้านการเงินและการสร้างสรรค์ แต่หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ดิสนีย์ก้าวผ่านมาได้และกลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง คือการควบรวมกิจการกับ Pixar ในปี 2006 โดยผลงานแอนิเมชั่นช่วงหลังจากนั้นมีทั้งเรื่อง Cars Ratatouille WALL•E และภาคต่อของ Toy Story
Marvel Entertainment
นอกจากบริษัทที่โดดเด่นเรื่องแอนิเมชั่นอย่าง Pixar แล้ว ดิสนีย์ยังเข้าซื้อกิจการของ Marvel Entertainment ในปี 2009 อีกด้วย และแม้จะมีเสียงต่อต้านจากผู้บริหารบางคน บ้างก็บอกว่า Marvel ไม่เหมาะกับภาพลักษณ์ของดิสนีย์ แต่สุดท้ายแล้วดีลนี้กลับกลายเป็นการตัดสินใจที่คุ้มค่าทั้งในเชิงตัวเลขและชื่อเสียงของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น The Avengers (2012), Iron Man 3 (2013), Black Panther (2018), Avengers: Endgame (2019)
Lucasfilm
นอกจากจะต้อนรับเหล่าซูเปอร์ฮีโร่จาก Marvel แล้ว ดิสนีย์ยังซื้อกิจการของ Lucasfilm ในปี 2012 ซึ่งทำให้ดิสนีย์ได้สิทธิแฟรนไชส์ภาพยนตร์ในตำนานอย่าง Star Wars และ Indiana Jones แถมการเข้าซื้อ Lucasfilm ยังทำให้สวนสนุกของดิสนีย์มีเริ่มมีมากกว่าเจ้าหญิงและตัวการ์ตูนน่ารักๆ เท่านั้น เช่น ดิสนีย์แลนด์และดิสนีย์เวิลด์ที่เปิดโซนหนึ่งเป็นธีม Star Wars: Galaxy’s Edge
BAMTECH media (ปัจจุบันคือ Disney Streaming)
อย่างที่เราเห็นว่าดิสนีย์มักจะซื้อกิจการเพื่อให้ได้สิทธิ์ถือครองการ์ตูน ภาพยนตร์แอนิเมชั่นต่างๆ แต่สำหรับ BAMTECH media (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Disney Streaming Services แล้ว) ดิสนีย์ซื้อกิจการนี้เพราะอยากขยายไปทำแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของตัวเอง โดยปี 2019 ดิสนีย์ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ BAMTECH media บริษัทที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการสตรีมมิ่ง ซึ่งบริษัทนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระบบสตรีมมิ่งในเครือดิสนีย์ทั้ง Disney+ และ ESPN+ ในเวลาต่อมา
อื่นๆ
นอกจากสื่อและความบันเทิง ดิสนีย์ยังลงทุนในบริษัทอื่นๆ อีกเยอะจนเราไม่สามารถเขียนออกมาได้ครบ เช่น Steamboat Ventures บริษัทที่ร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัปหลายแห่งอย่าง Photobucket และ GoPro , UTV Software Communications บริษัทสื่อและความบันเทิงในอินเดีย ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อกิจการและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดิสนีย์เริ่มถูกตั้งข้อสังเกตว่าอยากจะผูกขาดธุรกิจด้านสื่อและความบันเทิงหรือเปล่า โดยเฉพาะช่วงที่เข้าซื้อ 21st Century Fox แต่เว็บไซต์ financhill เขียนถึงเรื่องนี้ว่า ดิสนีย์ยังมีคู่แข่งอีกหลายเจ้าไม่ว่าจะเป็น Warner Bros. Pictures, Universal Pictures, Dreamworks หรือแม้แต่ Disney+ เองก็ยังต้องแข่งกับ Netflix และ Amazon ดังนั้นดิสนีย์ยังคงห่างไกลจากคำว่า ‘ผูกขาด’ และน่าจะอยู่ในตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) มากกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน คงต้องยอมรับว่าดิสนีย์เป็นบริษัทที่ยืนหยัดอยู่อย่างแข็งแกร่งและกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในชีวิตใครหลายคนมาเกือบร้อยปีเลยล่ะ
อ้างอิงจาก