ถึงเวลาที่ The Lion King เวอร์ชั่นไลฟ์แอ็กชั่นจะเข้าโรงฉาย การกลับมาอีกครั้งก็ทำให้เราได้ระลึกถึงช่วงวัยเด็กที่เคยได้ดูเรื่องนี้ในฉบับอนิเมชั่น และชวนให้นึกถึงฉากสะเทือนใจภายในเรื่องตามไปด้วย
พอเห็นแบบนี้แล้วก็น่าสงสัยว่า ทำไมนะทำไม? ภาพยนตร์อนิเมชั่นที่เด่นๆ มักจะมีฉากสะเทือนใจที่พร้อมสลักลงไปในจิตใจของผู้ชมอยู่เสมอ ฉากเหล่านั้นอาจจะเป็นการลาจากคนสำคัญ หรือความตายที่มาพรากตัวละครในเรื่อง และส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องด้วยสัตว์ประเภทต่างๆ
การที่มีฉากลักษณะนี้ในภาพยนตร์อนิเมชั่นสำหรับเด็ก ส่วนหนึ่งก็จะสอดคล้องกับแนวคิดที่กล่าว่า การสอดแทรกบทเรียนเหล่านี้ก็เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้จักและเข้าใจรูปลักษณ์ของความตายที่่สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดอย่างคนในครอบครัวที่เด็กไร้เดียงสาอาจจะยังคิดว่าบุคคลเหล่านั้นจะอยู่อย่างยั่งยืนไม่มีทางเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลก็ตาม
อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ อนิเมชั่นจากฝั่งโลกตะวันตกมักจะเล่าเรื่องราวที่มีความโหดร้ายด้วยการใช้ตัวละครสัตว์จริงๆ หรือเป็นสัตว์ที่ทำตัวแบบมนุษย์มาเปรียบเปรย (metaphor) มากกว่าอนิเมชั่นจากฝั่งโลกตะวันออกที่หลายครั้งจะแสดงฉากชวนสะเทือนใจด้วยการใช้ภาพจริงจัง แต่ใช้ความแฟนตาซีของโลกการ์ตูนเพื่อลดความรุนแรงของฉาก
ต่อไปนี้คือฉากสะเทือนใจจากภาพยนตร์อนิเมชั่นก่อนปี 2000 ที่มีตัวละครสัตว์อยู่ในเรื่อง
โปรดระวังการสปอยล์ และบทความนี้อาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบเห็นการจากไปของสัตว์ทั้งหลายด้วย
Dumbo – ฉากแม่ช้างกล่อมช้างน้อยดัมโบ้
ฉากหนึ่งที่ปรากฏในตัวอย่างภาพยนตร์ Dumbo และเป็นฉากที่หลายคนจดจำจากอนิเมชั่นต้นฉบับได้ดีคือ ฉากกล่อมลูกช้างน้อยดัมโบ้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่แม่ช้างจัมโบ้พยายามป้องกันลูกจากการถูกกลั่นแกล้ง แต่เรื่องบานปลายกลายจนเป็นเหตุที่ต้องปิดการแสดงละครสัตว์ชั่วคราว แม่ช้างถูกแยกขังในกรงเดี่ยวพร้อมด้วยป้ายที่ระบุว่าเป็นช้างคลั่งทำร้ายคน ทั้งที่จริงแล้วช้างพังตัวใหญ่เพียงแค่ต้องการคุ้มครองลูกรักเท่านั้น ส่วนช้างดัมโบ้ที่ยังติดแม่ก็อยากจะออดอ้อนผู้เป็นที่รัก
แต่สุดท้ายแล้วตรวนตรึงก็ทำให้แม่ช้างนำงวงมาสัมผัสและอุ้มลูกช้าง พลางส่งเสียงร้องเพลง โอ๋..ลูกเอย (Baby Mine) เพื่อปลอบโยนและให้กำลังใจลูกดัมโบ้ ทั้งยังขับกล่อมสัตว์ทั้งหลายในโรงละครสัตว์ เมื่อเพลงจะถึงช่วงจบ ดัมโบ้ก็ต้องลาจากแม่ที่ถูกขังอย่างจำใจ พานทำให้เรารู้สึกโศกสลดสะเทือนในใจ จนมีผู้ชมบางคนเห็นว่าฉากนี้เป็นฉากที่ลำบากใจถ้าจะเปิดรับชมอีกครั้ง
ส่วนฝั่งภาพยนตร์คนแสดงที่ทิม เบอร์ตันเป็นผู้กำกับนั้น ปรับเอาความแฟนตาซีที่สัตว์พูดได้ออก จึงจะต้องมีการดัดแปลงฉากเหล่านี้ให้ต่างจากต้นฉบับเดิมแน่นอน แต่ฉากที่ออกมาในตัวอย่างสั้นๆ ก็ทำให้เราพอเดาทางได้ว่าความเศร้าซึมอาจจะไม่แพ้กับต้นฉบับเลย
Bambi – แม่ของแบมบี้ถูกสังหารโดยคนลึกลับ
ระหว่างแทะเล็มพุ่มหญ้าสดใหม่งอกเงยจากหิมะที่ละลายไปเพราะฤดูใบไม่ผลิเริ่มมาถึง จู่ๆ แม่กวางก็สั่งให้ลูกน้อยรีบวื่งเร็วเท่าที่ทำได้ อย่าได้หันกลับ อย่าได้รีรอ เสียงดังฝ่าอากาศนั้นผิดแผกแต่ลูกกวางน้อยก็เชื่อฟัง วิ่งจนเข้าสู่ป่าลึก ก่อนจะหันกลับมาบอกกล่าวว่า ลูกทำได้ตามแม่สั่งสำเร็จแล้ว …ทว่า ไร้ซึ่งเสียงของแม่กวาง และเราไม่มีโอกาสได้พบเจอแม่กวางอีกเลย
ฉากดังกล่าวเป็นฉากที่ปรากฏในช่วงกลางของอนิเมชั่นเรื่อง Bambi ของ Disney และเหตุที่หลายคนจดจำความสะเทือนใจนี้ได้ดีก็เพราะก่อนจะถึงฉากนี้เรื่องราวเล่าถึงชีวิตในธรรมชาติของเหล่ากวางน้อยใหญ่ในป่าที่มีธรรมชาติงดงาม แต่จู่ๆ หนังก็เปลี่ยนโทนแล้วนำเสนอเรื่องความตาย จึงไม่แปลกที่คนดูจะคาใจไปตามๆ กัน
ที่โชคดีนิดหน่อยสำหรับคนดูก็คงจะเป็นการที่ Disney ดัดแปลงเนื้อหาจากนิยายต้นฉบับไปมาก เพราะถ้าทำตามต้นฉบับเดิมเป๊ะๆ จะมีฉากชวนสะเทือนใจมากกว่านี้อีกหลายฉากเลย
The Land Before Time – ฉากสั่งเสียของแม่ลิตเติลฟุต
หลายคนอาจจะจำอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้จากชื่อไทย ‘ญาติไดโนเสาร์เจ้าเล่ห์’ ที่โดดเด่นแต่ชวนฉงนในความหมาย อีกหลายคนอาจจะจดจำเพลงประกอบภาพยนตร์ If We Hold On Together ที่แสนไพเราะ และหลายๆ คน ก็อาจจะจำเรื่องนี้ได้ขึ้นใจจากฉากการตายฉากหนึ่งในเรื่อง
ลิตเติลฟุต เป็นลูกไดโนเสาร์พันธุ์อะแพโทซอรัส (Apatosaurus) ที่อยู่กับแม่และไดโนเสาร์กินพืชพันธุ์อื่นๆ จนวันหนึ่งมีเจ้าฟันแหลมไดโนเสาร์กินเนื้อตัวหนึ่งมาไล่ล่าลูกไดโนเสาร์จนกระทั่งแม่ไดโนเสาร์คอยาวต้องรีบเร่งเข้ามาขวางการล่า เธอเอาร่างกายเข้ารับฟันที่คมกริบของผู้ล่า และช่วยลูกชายของเธอได้สำเร็จ ในจังหวะที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้น การสั่นไหวของพื้นดินกลับมาในเวลาไม่นาน เช่นเดียวกับชีพจรของแม่ไดโนเสาร์ที่แผ่วเบาลง ก่อนจะทิ้งคำสั่งเสียให้ลูกชายกับเพื่อนๆ เดินทางไปยังหุบเขาที่อุดมสมบูรณ์ คำพูดที่ทิ้งไว้นี้กลายเป็นปมที่ไม่ได้แค่ส่งให้เรื่องราวดำเนินต่อเท่านั้น แต่มันยังทำให้รู้สึกว่าฉากของหนังภาคแรกในซีรีส์นี้ตราตรึงและน่าจดจำยิ่งกว่าฉากอื่นๆ ของภาคที่ตามหลังมาอีกหลายภาคด้วย
สำหรับคนที่งงว่า จริงๆ ลิตเติลฟุตเป็นพันธุ์บรอนโตซอรัส (Brontosaurus) ไม่ใช่เหรอ ส่วนนี้ต้องบอกว่า ท่านเข้าใจถูกต้องแล้ว เพราะในภาคแรกนั้นมีการโปรโมตตัวละครเป็นไดโนเสาร์พันธ์ดังกล่าวจริง แต่เมื่อข้อมูลความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์เปลี่ยนไปตามยุคสมัย กับภาพยนตร์ที่มีความยาวต่อมาอีก 13 ภาค ในภาคหลังๆ จึงมีการระบุว่า ลิตเติลฟุุตเป็นพันธุ์อะแพโทซอรัสเพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรับเปลี่ยนไปนั่นเอง
The Lion King – ซิมบาพยายามเข้าไปหามูฟาซา
เรื่องเริ่มต้นจากการที่ซิมบาหลงกลสการ์ ที่ล่อให้ลูกสิงโตไปอยู่ในเส้นทางของฝูงควายป่าที่วิ่งอลหม่านในช่องเขา จากนั้นสการ์ก็ล่อมูฟาซา ราชาของฝูงสิงโตให้ไปช่วยเหลือชีวิตของลูกชาย แล้วก็เป็นไปตามแผนร้าย มูฟาซาพลาดท่าจนไม่สามารถปีนหน้าผาขึ้นมาได้ จังหวะนั้นเอง สการ์ก็เข้ามาปิดเกมด้วยการตะปบเล็บลงไปจนราชสีห์ร่วงหล่นสูงพื้นดินเบื้องล่าง ถึงเราจะเห็นแล้วว่ามูฟาซาไม่น่าจะรอดชีวิต แต่ฉากชวนสะเทือนใจที่สุดคงเป็นตอนที่ลูกชายอย่างซิมบาเดินไปข้างศพ พยายามปลุกพ่อให้กลับบ้าน… แต่ก็ไม่เป็นผลเสียแล้ว ราชสีห์ตนดังกล่าวได้จากไปจากโลกอย่างไม่มีทางหวนคืน
ถึงจะเป็นแค่การ์ตูน แต่ทุกครั้งที่เปิดผ่านฉากนี้ก็อาจจะทำให้คนดูทั้งเด็กและผู้ใหญ่น้ำตารื้นกันได้ง่ายๆ และยังรู้สึกใจหายทุกครั้งที่ได้เห็นตัวเอกพลาดท่าต่อแผนร้าย ในขณะเดียวกันก็สะเทือนใจกับความบริสุทธิ์ของเด็กที่เผลอไผลคิดไปว่าพ่ออาจจะแค่หลับไปเท่านั้น
ถ้าคุณรู้สึกโศกสลดในการดูฉากนี้ เราพอจะมีทริคเล็กๆ ที่อาจจะทำให้คุณโอเคขึ้น ทริคที่ว่าคือการนึกถึงเสียงพากย์มูฟาซาในแบบ Darth Vader จากจักรวาล Star Wars เพราะนักพากย์ของทั้งสองตัวละครเป็นคนคนเดียวกัน นั่นคือ เจมส์ เอิร์ล โจนส์ …อืม ก็พอจะช่วยนิดหน่อยนะ
ทั้งนี้ The Lion King ก็มีกำหนดสร้างเป็นภาพยนตร์ฉบับคนแสดงออกฉายในปี 2019 ที่เจมส์ เอิร์ล โจนส์จะกลับมารับบทมูฟาซาเช่นเดิม และจะได้ แดนนี โกลเวอร์ (Danny Glover) มารับบทเป็นซิมบา กับบียอนเซ่ (Beyoncé Knowles-Carter) รับบทนาลา
The Black Cauldron – เกอร์กี้สละชีวิตเพื่อช่วยเพื่อนพ้อง
แม้ว่าจะเป็นการดัดแปลงเรื่องมาจากนิยายชุด The Chronicles of Prydain ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการทำงานของ Disney ในการสร้างอนิเมชั่นก็จริง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังถือว่าเป็นแกะดำของทาง Disney ด้วยเหตุผลที่ว่า ณ ตอนเริ่มต้นโครงการนี้ถูกวางไว้เป็น ‘การสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นสำหรับผู้ใหญ่’ ทำให้เรื่องมีความหม่นมืดมากกว่าอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ และการนำเสนอภาพอนิเมชั่นที่ชวนขนลุกขนพองมากกว่าอนิเมชั่นในบ้านเดียวกัน แม้ว่าตัวหนังที่ถูกนำออกฉายจะมีการปรับแก้จากดราฟต์แรกสุดไปมหาศาลแล้วก็ตาม
ถึงจะบอกว่าหลุดจากกรอบ แต่เรื่องราวนั้นก็ยังเข้าใจไม่ยากเย็น ตัวเรื่องเป็นการผจญของตัวละครเอกสามคนเพื่อยับยั้งไม่ให้ตัวร้ายที่ใช้ หม้อมหากาฬ (The Black Cauldron) สร้างกองทัพยึดครองแผ่นดิน และพวกเขาก็มี เกอร์กี้ ตัวละครสมทบที่เป็นโทรลแต่ก็มีลักษณะเหมือนสุนัขพูดเดิลพูดได้ ตัวละครที่ว่าคอยสร้างบรรยากาศสดใสให้เรื่องราว จนกระทั่งถึงฉากที่ตัวร้ายในเรื่องสามารถปลุกกองทัพโครงกระดูกจากหม้อที่กล่าวถึงข้างต้น และตัวเอกกำลังตัดสินใจกระโดดลงไปในหม้อเพื่อทำให้กองทัพโครงกระดูกนั้นสิ้นฤทธิ์ แต่เจ้าเกอร์กี้ก็เข้ามาขวางทางแล้วบอกว่าตัวของมันจะไม่ยอมให้ตัวเอกต้องตายจากไป ก่อนจะสละชีวิตตนเองกระโดดลงไปในหม้อมหากาฬ ทำลายกองทัพคนตายให้สลายกลายเป็นฝุ่นอีกครั้ง
ในหนังการ์ตูนมืดมนที่บอกคนดูว่าแบบไม่เกรงใจว่าถ้าจะหยุดตัวร้ายต้องยอมสละชีวิต การได้เห็นสัตว์วิเศษที่เป็นเพื่อนสนิทของตัวเอกมาทั้งเรื่องคร่าชีวิตตัวเองให้เราดูจึงกลายเป็นฉากที่รู้สึกสะเทือนใจกับเรื่องนี้มากกว่าฉากน่ากลัวฉากอื่นของเรื่องซะอีก
All Dogs Go To Heaven – ชาร์ลีช่วยเหลือเด็กสาวจนทำให้ตัวเองต้องตาย(อีกครั้ง)
ดอย บลูธ (Don Bluth) อนิเมเตอร์และผู้กำกับอนิเมชั่นมือดีที่สร้างผลงานภาพยนตร์อนิเมชั่นที่น่าจดจำในช่วงปี 1986-2000 ด้วยความที่เคยเป็นลูกหม้อของ Disney ทำให้กลิ่นอายสไตล์ดิสนีย์โชยมาจางๆ ในงานที่เขากำกับเอง
อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่อง All Dogs Go To Heaven ที่เหล่าหมาในเรื่องต่างได้รับโอกาสขึ้นสวรรค์ จนกระทั่ง ชาร์ลี สุนัขนิสัยติดเจ้าเล่ห์ได้ละเมิดกฎแล้วเดินทางกลับมาเสพสุขบนพื้นโลกอีกครั้ง จนกระทั่งเขาได้พบเด็กหญิงชาวมนุษย์ที่สามารถสื่อสารกับสัตว์ประเภทต่างๆ ได้ ชาร์ลีเลยใช้ผลประโยชน์จากเด็กน้อยจนสุดท้ายความสัมพันธ์ของพวกเขาค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป
ด้วยความสามารถที่สื่อสารกับสัตว์ประเภทต่างๆ ทำให้เด็กหญิงถูกลูกพาตัวโดยสุนัขตัวร้ายที่หมายจะใช้ความสามารถของเธอ แต่ชาร์ลีก็สามารถบุกไปช่วยเด็กหญิงที่จับกุมตัวไว้สำเร็จด้วยการลากเด็กหญิงที่กำลังจะจมน้ำให้ขึ้นไปลอยตัวอยู่บนเศษไม้ กระนั้นในการกระโจนเข้าไปช่วยเหลือเด็กหญิงทำให้นาฬิกาวิเศษของชาร์ลีที่ทำให้หมาตัวนี้สามารถกลับมามีชีวิตได้จมลงไปใต้พื้นน้ำ แม้ชาร์ลีจะพยายามดำลงไปเก็บนาฬิกาเรือนนั้น แต่มันก็สายเกินไปเมื่อน้ำได้ทำให้นาฬิกาหยุดเดิน เช่นเดียวกับชีวิตของหมาสีน้ำตาลที่กลับไปเป็นร่างใช้ชีวิตอีกครั้ง
อีกส่วนที่ทำให้ภาพยนตร์อนิเมชั่นของดอน บลูธมีกลิ่นอายเหมือนฝั่ง Disney ก็คือฉากการตาย (ครั้งที่สอง) ของชาร์ลี อาจจะไม่ใช่ฉากที่ชวนหลอนที่สุด (มีฉากอื่นหลอนกว่า) กระนั้นการสละชีวิตตัวเองของชาร์ลีที่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวละครได้อย่างดี จนทำให้ความตายครั้งหลังนั้นน่าจดจำและสั่นสะเทือนหัวใจของผู้ชมได้ดีกว่ารอบแรกนั่นเอง
Charlotte’s Web – แมงมุมชาร์ล็อตบอกเล่าเหตุผลในการช่วยเหลือผู้คน
แมงมุมเพื่อนรัก อันเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กเรื่องดังก็ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นโดย Hanna-Barbera Productions ออกฉายในปี 1973 ภาพยนตร์เล่าเรื่องแบบละมุนละไมกว่าต้นฉบับ แต่ใจความหลายอย่างยังถูกเก็บไว้อยู่
ถึงเรื่องจะใช้ชื่อแมงมุมเป็นตัวเด่น แต่ความจริงเรื่องราวถูกเล่าผ่านลูกหมูชื่อวิลเบอร์ที่พยายามหลีกเลี่ยงการถูกเชือด แต่เขาไม่มีวิธีการใดๆ ในหัว จนกระทั่ง ชาร์ล็อต แมงมุมที่อยู่ในคอกของวิลเบอร์ได้มาสอนเรื่องการใช้ภาษาและยังคิดแผนการให้หมูน้อยกลายเป็นดาราเด่นของฟาร์มเล็กๆ ก่อนจะได้มีโอกาสโชว์ตัวในงานแสดงของท้องถิ่น
ฉากการตายของชาร์ล็อตไม่มีภาพให้เห็นชัด ไม่มีน้ำเสียงรุนแรง อาจจะมีเสียงของวิลเบอร์ที่เศร้าสร้อยแทรกมาบ้าง แต่แค่นั้นก็เพียงพอจะทำให้คนดูระลึกขึ้นมาว่า ตลอดหนทางที่ผ่านมาชาร์ล็อตทุ่มเทเพื่อช่วยเพื่อนต่างสายพันธุ์มาขนาดไหน
การที่เรื่องราวเล่าความตายแบบสะเทือนตรึงในใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นธรรมดาของโลก ก็ไม่น่าแปลกใจมากนักเพราะมีนักวิชาการออกความเห็นว่า เป้าประสงค์ของวรรณกรรมต้นฉบับคือการสอนให้เด็กรู้จักความตายที่จะเข้ามาถึง แล้วก็อย่างที่เราบอกว่าอนิเมชั่นนั้นเล่าประเด็นแฝงของเรื่องต้นฉบับได้อย่างครบถ้วน ดังนั้นถึงการจากลาจะจบลงพร้อมกับเพลงที่อ่อนหวาน เราก็รับทราบ เข้าใจ แล้วน้อมรับว่าสุดท้าย ไม่มีใครหลีกพ้นความตายได้ ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่นั้นก็ควรจะทำทุกสิ่งให้เต็มที่ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อที่จะได้ลาจากโลกไปโดยไม่มีอะไรค้างคาในใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก