วงการการ์ตูนไทยยังห่างชั้นกับวงการการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่หลายขุม คือความจริงที่นักอ่านหลายคนทราบกันดี ความห่างชั้นที่ว่านั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องฝีมือ แต่หมายถึงเรื่องวัฒนธรรมการ์ตูนที่เขาส่งออกไปทั่วโลก และตลาดของนักอ่านที่แสนจะเข้มแข็ง เราคงเคยได้ยินเรื่องนักเขียนการ์ตูนไทยที่ไปโด่งดังในญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องน่ายินดีขนาดไหน เพราะการส่งการ์ตูนโดยนักเขียนต่างชาติกลับไปยังประเทศแม่ของการ์ตูนให้ประสบความสำเร็จ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
ในวันนี้ที่พื้นที่เปิดมากขึ้น การค่อยๆ ย้ายแพลตฟอร์มของหนังสือการ์ตูนเล่มไปสู่ออนไลน์อย่าง ‘เว็บคอมมิค’ ที่อาจทำให้วงการหนังสือเล่มซบเซาไปบ้าง แต่ขณะเดียวกันมันเป็นเหมือนเส้นทางลัดที่นักเขียนไทยได้นำผลงานไปเผยแพร่นอกประเทศได้ง่ายขึ้น โลกออนไลน์จึงทำให้นักเขียนไทยไปเปิดตลาดและสร้างชื่อเสียงในประเทศที่วงการการ์ตูนเข้มแข็งอย่าง ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น ได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
โอ – ณัฐนันท์ ชูเกษมรัตน์ เจ้าของนามปากกา Ozakaoxygenz, ฝ้าย – วิภาดา จักรวาลพิทักษ์ เจ้าของนามปากกา Tako และ วิก – เพียงพิชญ์ ศาสตร์ศศิ เจ้าของนามปากกา Vicmon คือ 3 นักเขียนไทยที่เคยมีผลงานแปลใน 3 ภาษามาแล้ว The MATTER จึงชวนทั้งสามสาวมาพูดคุยถึงสถานะของวงการเว็บคอมมิคในไทยว่าเฟื่องฟูขนาดไหน และอยู่ในระดับไหนในเอเชีย รวมถึงความเป็นผู้หญิงในวงการนักเขียนการ์ตูนในยุคออนไลน์นี้
นักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่จะเริ่มจากการเป็นคนชอบอ่านการ์ตูน พวกคุณทั้งสามคนเริ่มต้นแบบนี้เหมือนกันไหม
โอ: นักเขียนการ์ตูนทุกคนน่าจะเริ่มจากการชอบอ่านการ์ตูน เราก็เหมือนกัน แล้วอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวที่เราคิดไว้ออกมาบ้าง เท่าที่จำได้คืออ่านตั้งแต่ ป.4 เลย เพราะพี่ชายซื้อการ์ตูนเข้าบ้านอยู่แล้ว ตอนนั้นจะชอบการ์ตูนผู้หญิง โดยเฉพาะของอาจารย์อารินะ ทาเนมูระ ที่เขียนเรื่อง ‘โจรสาวจ้าววายุ (Phantom Thief Jeanne)’ เป็นเรื่องที่ชอบมากๆ ในตอนนั้น พอเราอ่านเยอะๆ ก็อยากจะเขียนดูบ้าง แต่ตอนนั้นยังวาดรูปไม่เก่งก็เลยลองเขียนนิยายดูก่อน พอช่วง ม.ต้น ก็อยากลองมาเขียนการ์ตูนดูบ้าง
ฝ้าย: เราอ่านการ์ตูนของพี่ชายมาตั้งแต่เด็กๆ เหมือนโตมากับการ์ตูน และการอยู่กับการวาดรูปของเรามันทำให้มีความสุขกว่ากิจกรรมอื่นๆ ทางบ้านก็สนับสนุนให้ไปเรียนเพิ่มด้านศิลปะด้วย พอมาช่วงมัธยมเริ่มมีอินเทอร์เน็ต ก็เริ่มจับกลุ่มกับเพื่อนทำหนังสือการ์ตูนทำมือด้วยกัน ตอนนั้นอยากสนุกกับเพื่อนเฉยๆ เพราะเรื่องฟีดแบ็กยังไม่ได้ไวเหมือนสมัยนี้ จริงๆ ตอนที่เรียนมหา’ลัยจบก็ไม่ได้อยากจะมาเป็นนักเขียนการ์ตูน พอดีเป็นเพื่อนกับวิก แล้ววิกบอกว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เราก็กลับมาถามตัวเองว่าทำไมไม่เคยคิดมาก่อนว่า เราจะอยากจะเป็นนักเขียนการ์ตูน ก็เลยลองมาทางนี้ดู ลองจริงจังกับมันท่าจะดี
วิก: เริ่มต้นอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเหมือนคนอื่นๆ สมัยนั้นอ่านเยอะมาก ตอนเด็กๆ เคยคิดว่านักเขียนการ์ตูนไม่จำเป็นต้องวาดรูปสวยก็ได้ แต่พอวาดๆ ไปก็รู้สึกว่าทำไมไม่วาดให้สวยล่ะ คืออยากจะเล่าเรื่องที่คิดไว้ สักประมาณ ม.4 ก็เริ่มวาดการ์ตูนเองและเริ่มพิมพ์ขายเองกับเพื่อน ตอนนั้นจะมีงานขายหนังสือทำมือ ช่วงปี 1 ก็เริ่มส่งสำนักพิมพ์
ส่วนตัวแล้วมีนักเขียนการ์ตูนคนไหนเป็นต้นแบบ
โอ: ถ้าเป็นไอดอลที่ชอบ จะดูที่เนื้อเรื่องมากกว่า อย่างงานของอาจารย์ฮิโรมิ อาราคาวะ ที่เขียนเรื่อง ‘แขนกล คนแปรธาตุ (Fullmetal Alchemist)’ เราชอบเรื่องเขามากๆ แต่ถ้าถามว่าใครเป็นไอดอลเรื่องลายเส้น จะเป็นอาจารย์ทาเคชิ โอบาตะ ที่เขียนเรื่อง ‘เดธโน้ต’ เขาทำงานละเอียดมาก เราอยากทำงานละเอียดแบบเขา คือมีคนหนึ่งที่ใส่ใจเนื้อเรื่อง ส่วนอีกคนวาด มันเลยออกมาเป็นงานที่มีพลัง
ฝ้าย: ชอบงานของอาจารย์เทะซึกะ โอะซะมุ เพราะว่าชอบเนื้อเรื่องที่เขียนก่อน ตอนนั้นอ่านเรื่อง ‘แบล็กแจ็ค’ ถึงขั้นทำให้เราอยากเป็นหมอเลย เนื้อเรื่องอาจจะดูเรียบง่าย แต่มันลึกมาก คือเราโตมากับการ์ตูนทั้งผู้ชายและผู้หญิง เพราะว่าอ่านตามพี่ชาย อย่าง ‘คำสาปฟาโรห์’ ก็อ่าน แต่ที่ชอบจริงๆ จะการ์ตูนผู้ชายมากกว่า เพราะอารมณ์ที่เข้าถึงมากกว่าความรัก ก่อนหน้านั้นจะชอบงานของ ‘Clamp’ มาก่อน ทำให้ลายเส้นพัฒนามาจากตรงนั้น แต่อาจารย์เทะซึกะจะให้แรงบันดาลใจด้านเนื้อเรื่องมา เราชอบความเรียบง่ายในการเล่าเรื่องของเขา บางทีการ์ตูนสมัยนี้ชอบทำให้ซับซ้อนเข้าใจยากเพื่อให้คนอ่านรู้สึกว้าว แต่จริงๆ ไม่จำเป็นขนาดนั้น งานของอาจารย์จะจัดช่องง่ายๆ แต่ก็ได้สิ่งที่จะสื่อสารครบ
วิก: ถ้า 3 เรื่องที่นึกออกคือ ‘ซามูไรพเนจร’ ‘เดธโน้ต’ และ ‘Monster’ ของ อุราซาว่า นาโอกิ ทั้งสามเรื่องนี้เด่นเรื่องเนื้อเรื่องกับคาแรกเตอร์ มีการวางเนื้อเรื่องซับซ้อน แล้วเล่าเรื่องน่าสนใจ ส่วนอาจารย์ทาเคชิ โอบาตะ ฝีมือเขาสูงมากอยู่แล้ว วาดรายสัปดาห์แต่สามารถทำได้ในคุณภาพขนาดนั้น คือทุกคนจะไม่มีข้อดีเพียงแค่ข้อเดียว มีข้อดีทั้งภาพและการเล่าเรื่อง รวมไปถึงเรื่องวินัยด้วย เราอ่านจบแล้วไม่ได้แค่ความบันเทิง อ่านจบแล้วคิดอะไรต่อได้
ช่วงแรกที่สนใจการเขียนการ์ตูน วงการนักเขียนการ์ตูนไทยเป็นอย่างไร ทำให้อยากเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพไหม
โอ: ตอนแรกยังไม่คิดว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูนได้ เพราะในไทยยังไม่มีอาชีพนักเขียนการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จ จะมีคำว่า นักเขียนไส้แห้ง เลยดูไม่ค่อยมีอนาคตเท่าไร อยากจะเป็นนักเขียนการ์ตูนจริงๆ ก็ตอนมหา’ลัยแล้ว เพราะตอนนั้นทำได้ดี ก็เลยคิดว่าน่าจะทำต่อไป ช่วงนั้นวงการการ์ตูนไทยก็เปิดพอสมควร แต่ยังน้อยกว่าตอนนี้ มีคนออกมาทำหนังสือการ์ตูนทำมือเยอะ แต่ก็เป็นแฟนอาร์ต ยังไม่มีออริจินัลออกมาเท่าไร แต่เราก็เขียนออริจินัลนะ รู้สึกว่าเขียนแบบนั้นไม่ค่อยขึ้น เพราะเราอยากถ่ายทอดเรื่องของเราออกไปมากกว่า ก็เขียนออกมาปีละเล่มสองเล่ม พิมพ์เองแบบไม่ได้เยอะมาก แต่ก็มีรายได้บ้างแล้ว
ฝ้าย: ช่วงนั้นมี นิตยสารการ์ตูน ‘ไทยคอมมิค’ ที่ดังสุดๆ แล้ว คนส่วนมากจะมุ่งไปทางนั้น แต่ถ้าแบบเห็นเป็นภาพว่านักเขียนการ์ตูนจะมีอนาคตไหม ก็ยังไม่มี เหมือนเป็นงานอดิเรกมากกว่า
วิก: ค่าต้นฉบับตอนนั้นถูกมากๆ เลยหันไปทำภาพประกอบอยู่พักใหญ่ๆ อาชีพนักเขียนการ์ตูนเหมือนจะไปไม่ได้ ต้องมาทำภาพประกอบ คือเราคิดเยอะสุดๆ แต่ไม่ได้คิดว่าต้องทำแบบนี้เท่านั้น ทำอะไรก็ได้ที่จะสานความฝันของเราให้สำเร็จในขั้นปลาย ถึงเราจะไม่ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนเดี๋ยวนั้น แต่เราก็ทำภาพประกอบซึ่งต่อยอดได้ เป็นความคิดที่จะไม่ยอมทิ้งสิ่งนั้นไป
ดูเหมือนว่าทุกคนเริ่มต้นจากการเขียนการ์ตูนเล่ม มาเขียนลงเว็บคอมมิคได้อย่างไร ต้องปรับวิธีทำงานเยอะไหม
โอ: ก่อนหน้านี้ก็เขียนการ์ตูนแบบปกติให้สำนักพิมพ์เหมือนกัน แต่รู้สึกว่ามันหนัก ช่วงนั้นอุตสาหกรรมหนังสือกำลังแย่ ก็เลยมีเว็บคอมมิคเข้ามา เราก็เขียนเรื่องของเราเล่นๆ ลงเว็บไป แล้วทาง comico ก็ติดต่อให้ไปลง แต่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการอ่านเป็นแบบเว็บคอมมิคแทน ซึ่งปกติเราชินกับการเขียนการ์ตูนแบบที่อ่านจากซ้ายไปขวา มากกว่าสไลด์ขึ้นลง ตอนเขียนจึงต้องปรับเยอะ เพราะมีข้อจำกัดในการเขียนจากบนลงล่าง จะจำกัดจากซ้ายไปขวา
ฝ้าย: ถ้าเป็นคนรุ่นเราก็อยากเขียนเป็นเล่มมากกว่า เพราะเราชินกับการสะสมหนังสือเป็นเล่ม แต่คิดว่าในอนาคตก็จะเปลี่ยน เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่อ่านแบบนั้นแล้ว เราเลยอยากทดลองทำในรูปแบบเว็บคอมมิคบ้าง ต้องปรับตัวเยอะ เพราะเป็นรายสัปดาห์แล้วเป็นภาพสีทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยคิดว่าเราจะเป็นนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ เพราะมันดูยิ่งใหญ่มาก แต่พอมาลองทำก็ต้องปรับตัว ทั้งการวาดลงล่าง การลงสี ก็หาวิธีทำงานให้กระบวนการเร็วขึ้น และคุมคุณภาพให้เสถียร
วิก: เหมือนสักประมาณสี่ห้าปีก่อน มีสำนักพิมพ์ชวนไปออกรวมเล่มกับนักเขียนการ์ตูนคนอื่น พอ comico มาเปิดในไทย เขาก็น่าจะเห็นผลงานจากเล่มนั้น เลยชวนไปเขียนประจำ มาเขียนตรงนี้ก็ต้องปรับตัวเยอะ แต่จะเป็นเรื่องเวลามากกว่าเรื่องรูปแบบ เพราะแต่ก่อนจะเป็นรายเดือน แต่ตอนนี้เป็นรายสัปดาห์ เหมือนชีวิตแทบไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากเขียนงาน เราคิดว่าทุกคนที่ทำได้ ต้องมีความชอบจริงๆ
คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ของเว็บคอมมิค
โอ: จริงๆ ก็ชอบหนังสือการ์ตูนมากกว่า แต่เว็บคอมมิคดีตรงที่มันง่ายกว่าที่จะอ่าน เพราะใครๆ ก็ใช้สมาร์ทโฟน ไม่ต้องพกอะไรไปมากกว่านั้น แต่สามารถอ่านได้ทีละหลายเล่ม สมัยก่อนกระเป๋าเราจะหนักมาก เพราะต้องพกการ์ตูนไปอ่านข้างนอก ต้นทุนก็ลดลง ที่สำคัญคือได้ภาพสี ซึ่งภาพสีมีแรงดึงดูดให้อยากอ่านมากกว่า มีเรื่องของงานอารมณ์ในการใช้สีเข้ามา แต่ก็ยังชอบอ่านจากกระดาษอยู่ถึงหมึกจะเปื้อนมือก็ตาม มันได้อารมณ์สัมผัสมากกว่าที่จะสไลด์หน้าจอ ถามว่าเป็นข้อเสียไหม ก็ไม่ใช่ มันเป็นสิ่งที่เรายังไม่ชินมากกว่า
ฝ้าย: คิดว่าเป็นการลดต้นทุนและสต็อกของ สำหรับผู้อ่านเอง การที่เราต้องเดินไปซื้อหนังสือที่ร้านซึ่งแทบไม่มีแล้ว แต่ทุกคนมีมือถือ แค่เปิดแอพฯ ขึ้นมาก็อ่านได้แล้ว มันเข้าถึงคนได้ง่ายกว่า และที่สำคัญคือความเป็นภาพสี เพราะการ์ตูนเล่มเป็นขาวดำด้วยเรื่องต้นทุน แต่พอเป็นเว็บคอมมิค เราสามารถใส่สีลงไปได้หมด ซึ่งภาพสีทำให้คนอ่านสัมผัสถึงบรรยากาศของอารมณ์ได้มากกว่าภาพขาวดำ ตอนแรกเราไม่คิดว่าจะแตกต่างกันมาก เพราะมันสื่อเหมือนกัน แต่พอเราอ่านการ์ตูนสีเยอะๆ แล้วกลับไปอ่านขาวดำ รู้สึกว่าต่างกันมากเลย ไม่ดึงดูดเท่าภาพสี เราคิดว่าน่าจะเป็นความเคยชินมากกว่าที่จะอ่านแบบเก่า ในเรื่องอรรถรสคงไม่ได้ลดลงมาก แต่ที่น่าห่วงคือเรื่องคุณภาพมากกว่า ที่ออกเป็นรายสัปดาห์ ทำให้คนอ่านมีความอดทนน้อยลงในการรอ เพราะสมัยนี้อะไรๆ ก็ต้องเร็วไปหมด จะรอนานๆ เหมือนสมัยก่อนไม่ได้แล้ว
วิก: เราเป็นคนที่เกิดมาจากหนังสือ เคยคิดว่าหนังสือดีกว่า แต่ตอนนี้เราก็ต้องหาข้อดีของเว็บคอมมิค เพราะเราต้องปรับตัว พอเราลองอ่านมากๆ เข้า มันก็มีข้อดีที่แยกออกมาในตัวเอง เช่น ไม่ต้องเก็บตัวเล่มไว้ มีมือถือก็อ่านได้แล้ว ถ้าเดินอยู่ นั่งรถอยู่ การอ่านหนังสือจะเริ่มไม่สะดวก แต่เว็บคอมมิคสามารถอ่านได้ด้วยมือเดียว โดยการสไลด์ลง เราไม่รู้ว่าคนอื่นอ่านหนังสือมือเดียวหรือเปล่า แต่พออ่านมือเดียว เราสามารถทำอย่างอื่นไปด้วยได้ สิ่งที่รู้สึกคือเว็บคอมมิคเป็นภาพสี การ์ตูนเล่มเป็นภาพสีได้ค่อนข้างลำบาก เพราะต้นทุนสูง อีกอย่างคือเหมือนเวลาสไลด์ลง ถ้านักเขียนการ์ตูนจัดช่องที่ดี เวลาอ่านสไลด์ลงทำให้ภาพเกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งตัวเล่มทำไม่ได้ ความเจ๋งของแต่ละยุคอาจจะเปลี่ยนไป ยุคนี้เขาอาจจะมองความเจ๋งเป็นอีกแบบก็ได้ เราคิดว่าเว็บคอมมิคไม่น่าจะทำลายหนังสือเล่มได้เลย เพราะคนยุคเก่าก็ยังเลือกเล่มมากกว่าในเว็บ แต่ถ้าวันนั้นเขาไม่ได้หยิบหนังสือออกมา เขาอาจจะเปิดอ่านงานเราก็ได้
ตอนที่เขียน ได้วางแผนเรื่องการแปลเป็นภาษาต่างประเทศไว้ไหม เพราะการได้แปลเป็นเหมือนความฝันของนักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่
โอ: ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าตัวเองจะได้แปล เคยถามคนอื่นที่ได้แปล เขาจะคิดไว้ก่อนแล้วว่าจะได้แปล แต่ของเราจะเขียนฉากทั้งหมดอยู่ในไทย จะมีค่านิยม ทัศนคติ สภาพแวดล้อม ที่เป็นของไทย ซึ่งการที่แปลจะทำให้ชาติอื่นสับสนหรือเปล่า คือยังไม่สากลขนาดนั้น ตั้งใจเขียนให้คนไทยอ่าน เหตุผลที่เขาเลือกไปแปลเพราะว่าเรตติ้งดี เขาเลยอยากให้แปล
ฝ้าย: ตั้งแต่ตอนที่ comico ชวนให้เขียน เขาก็บอกว่ามีโอกาสที่จะได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศนะ เราก็เลยทำโดยที่คิดว่ามีโอกาสจะได้แปลเลย เขาก็ดูเรื่องการเข้าถึงคนต่างชาติได้ง่ายขึ้น อย่างเรื่องของเราที่ได้แปลเป็นเรื่องรักในโรงเรียน ซึ่งวัฒนธรรมทุกประเทศมีเรื่องในโรงเรียนอยู่แล้ว ก็ทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น เขาเลยเลือกเรื่องของเราเพราะเหตุผลนี้ด้วย แล้วตอนนั้นเรื่องนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมในบ้านเรา ที่ได้แปลก็ดีใจ ถ้าถามถึงเรื่องเป้าหมายของนักเขียนไทยส่วนมาก เราคิดว่าคืองานได้ออกไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องดีมากเลย
วิก: ของเราเขียนเพื่อคนไทยอยู่แล้ว จริงๆ ก่อนหน้านี้มีงานหนึ่งได้รับการแปลตั้งแต่อยู่ประมาณปี 3 มี บ.ก.จากญี่ปุ่นมาขอแปลลงนิตยสารด้วย ซึ่งเรื่องแปลเราคิดว่าเป็นกำไร เพราะไม่ว่าจะชาติไหนเขาก็อ่านเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันด้วยวัฒนธรรม เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะอินกับเนื้อหาหรือเปล่า ถ้าสมมติเอเชียกับตะวันตกก็ค่อนข้างต่างกัน จุดที่เราใช้ค่อนข้างเป็นสากลอย่างการแอบรักเพื่อน ก็สามารถใช้ได้ทุกประเทศอยู่แล้ว แต่การเขียนงานแล้วมีคนอ่านมากขึ้นก็ดีใจอยู่แล้ว ไม่ได้สนว่าเป็นเรื่องคนต่างชาติหรือคนไทย
หลังจากที่แปลออกไป ทั้งภาษาจีน เกาหลี ญี่ปุ่น พอใจกับกระแสตอบรับไหม
โอ: ที่ญี่ปุ่นมีคนอ่านเยอะมากๆ และการที่เราได้แปล ต่อให้คนอ่านของเขาจะไม่เยอะมาก แต่ก็ยังเยอะกว่าคนอ่านในประเทศเราอยู่ดี เราเขียนงานเพื่อให้แปลก็ยิ่งเพิ่มจำนวนคนอ่านของเรามากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี เหมือนเราได้ส่งงานกลับประเทศแม่ เพราะเราก็อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น วันหนึ่งเราก็ได้มาเขียนการ์ตูนให้คนญี่ปุ่นอ่านก็ค่อนข้างภูมิใจ ตอนแรกๆ เขาก็ยังไม่รู้ว่านี่ไม่ใช่ฝีมือคนญี่ปุ่นนะ เป็นของชาวต่างชาติ เขาจะงงกับวัฒนธรรมบ้านเรา เช่น เด็ก ม.ปลาย ขึ้นแท็กซี่ ซึ่งบ้านเราเป็นเรื่องปกติ แต่บ้านเขาจะฮือฮากัน ตอนนี้ที่เขียนเรื่องที่สอง เป็นแนวแฟนตาซีเลย ก็ปรับให้มีความเป็นสากลให้เขาถึงง่ายกว่า เผื่อมีโอกาสจะได้แปลอีก
ฝ้าย: ได้ไปอ่านฟีดแบ็กของเกาหลีกับญี่ปุ่น เขาก็มีความ culture shock บ้าง เพราะตอนแรกเขาไม่รู้ว่าเป็นงานของนักเขียนต่างชาติ เช่น การถอดรองเท้าในตึกเรียน อันนี้คิดตั้งแต่ตอนแต่งเรื่องแล้ว เขาก็มีการไปถามคนไทยว่าทำไม หรือมีการแปลงค่าเงินให้ด้วย เหมือนเราตอนแรกๆ ที่ไม่ชินกับวัฒนธรรมในการ์ตูนญี่ปุ่น แต่อ่านๆ ไปก็เข้าใจ ตอนนั้นไม่ได้คิดเทคนิคอะไร แต่แค่อยากให้มีความเป็นสากลในระดับหนึ่ง หรือถ้ามีอะไรที่เฉพาะทางก็เขียนคำอธิบายไว้
วิก: ถ้าเราไปอยู่ญี่ปุ่นจริงๆ เราก็เหมือนมือใหม่ ตัวเนื้อเรื่องเราจะเป็นทุกข์ส่วนมาก ไม่ใช่โลกสวย คนอ่านจะมีปฏิกิริยาว่าอยากเอาใจช่วยตัวละครเหมือนกันทุกประเทศ จริงๆ มันโอเคตั้งแต่มีจำนวนคนอ่านเยอะขึ้นแล้ว ซึ่งเราเองเริ่มต้นจากการอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนมากกว่าความอยากมีชื่อเสียง เพราะแค่เราได้เขียนงานแล้วมีคนซื้องานเราแบบที่เราอยู่ได้ก็พอแล้ว เราก็เคยผ่านช่วงที่ขึ้นและลงมาแล้ว เลยไม่ค่อยยึดติดกับเรื่องนี้ แต่ก็มีนิดหน่อย เพราะถ้าอยากทำงานนี้ไปยาวๆ ก็ต้องมีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นคนอ่านก็ไม่ติดตามเรา
สังเกตได้ว่า วงการเว็บคอมมิค จะมีนักเขียนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งแตกต่างจากการ์ตูนเล่มที่มีผู้ชายมากกว่า มองว่าอะไรคือข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบของการที่เป็นนักเขียนการ์ตูนผู้หญิง
โอ: จริงๆ นักเขียนการ์ตูนผู้หญิงมีอยู่เยอะมาก แต่นักเขียนการ์ตูนผู้ชายส่วนใหญ่จะดังกว่า ซึ่งผู้หญิงจะถูกจำกัดว่าต้องเขียนการ์ตูนแนวรักๆ แต่จำนวนนักอ่านผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย แต่ด้วยความที่ผู้ชายไม่อ่านการ์ตูนผู้หญิง แต่ผู้หญิงอ่านได้ทั้งสองอย่าง ทำให้นักเขียนการ์ตูนผู้ชายเลยดังกว่า จริงๆ ไม่มองว่าเป็นความต่างระหว่างหญิงชาย ถ้าเราสร้างงานดีๆ เดี๋ยวผู้ชายก็เข้ามาอ่านเอง ความตั้งใจเราคือให้ผู้หญิงหรือผู้ชายอ่านก็ได้ แต่ด้วยลายเส้นเราทำให้จำกัดเป็นผู้หญิงมากหน่อย ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเนื้อเรื่องด้วย เราเป็นผู้หญิงก็จะเขียนสิ่งที่เราชอบ ไม่แน่ใจว่าผู้หญิงคนอื่นเป็นยังไง อย่างเราจะใส่ความรู้สึกของตัวละครเข้าไปมากๆ จะเซนส์ซิทีฟมาก ซึ่งจริงๆ คิดว่าผู้หญิงเขียนเรื่องที่เป็น unisex ได้ดีกว่าผู้ชาย แต่ด้วยความที่เว็บคอมมิคนักเขียนผู้หญิงดังกว่าผู้ชาย เพราะนักอ่านผู้หญิงมีเยอะกว่าก็ได้ เลยทำให้การ์ตูนแนวรักๆ แบบผู้หญิงขายง่ายกว่า
ฝ้าย: รู้สึกว่าผู้ชายมีความเก่งที่ผู้หญิงไปไม่ถึง แต่ก็ไม่ได้ดูถูกเพศหญิง คือผู้ชายจะมีความกล้าที่จะทำมากกว่า ซึ่งถ้าเป็นการ์ตูนของเราก็อยากให้อ่านได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง อย่าง ‘โชเน็นจัมป์’ ก็อ่านได้ทั้งชายหญิง แต่ก็อยู่ที่เนื้อเรื่องที่เขียน อยากให้มีความหลากหลาย เบื่อแบบนี้ก็ไปเขียนอีกแบบหนึ่ง สำหรับเว็บคอมมิค ฐานลูกค้าในไทยส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง เลยทำให้สัดส่วนของการ์ตูนผู้หญิงเยอะไปด้วย เหมือนผู้หญิงจะเป็นผู้บริโภคที่ใหญ่ในโลกไปแล้ว แต่ถ้าการ์ตูนสนุกจริง ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายคนก็อ่าน
วิก: จริงๆ ถ้าพูดตรงๆ ก็เพราะสื่อที่เลือกโปรโมตแต่ผู้ชาย เพราะเราเห็นนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงบางคนก็ทำเงินได้มากกว่าผู้ชายมานานมากๆ แล้ว แต่สื่อก็ยังเลือกสัมภาษณ์แต่ผู้ชาย ตรงนี้ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ซึ่งประเด็นที่การ์ตูนผู้หญิงมีหลายแง่มุมที่การ์ตูนผู้ชายจะไม่เล่น อย่างของผู้ชายอาจจะโฟกัสที่ภารกิจหน้าที่มากกว่าเรื่องความรัก แต่ก็มีที่โฟกัสเรื่องความรักเหมือนกัน เราค่อนข้างแยกผู้หญิงผู้ชายลำบาก เอาเป็นว่านักเขียนผู้หญิงจะให้ความสำคัญกับเรื่องอารมณ์ที่มากกว่า อย่างเรื่องล่าสุดของเราก็มีความเป็นผู้หญิง แต่จะไม่ผู้หญิงจ๋าๆ เลย ผู้ชายน่าจะพออ่านได้ แต่ไม่รู้ว่าจะอินหรือเปล่า อย่างเว็บคอมมิคจะมีผู้หญิงอ่านมากกว่า อาจเป็นเพราะนักเขียนแรกเริ่มเป็นผู้หญิง เลยกลายเป็นพื้นที่ของผู้หญิงไปโดยปริยาย แต่ต่อไปถ้ามีนักเขียนการ์ตูนผู้ชายมากขึ้นก็จะเปลี่ยนไปเอง ได้ยินว่าอันดับหนึ่งของเกาหลีเป็นการ์ตูนต่อสู้ของผู้ชาย ซึ่งไม่น่าจะเหมือนกันในแต่ละประเทศ
คิดว่าฝีมือนักเขียนไทยอยู่ในระดับไหนในเอเชีย
โอ: จริงๆ คนไทยที่มีฝีมือมีเยอะมากๆ ในเว็บคอมมิคมีคนไทยที่เก่งพอๆ กับคนญี่ปุ่นเหมือนกัน ด้วยความที่นักอ่านไทยอาจจะโดนฝังหัวว่าการ์ตูนไทยด้อยกว่าการ์ตูนญี่ปุ่น เลยทำให้มองไม่เห็นฝีมือ
ฝ้าย: ถ้าเป็นเรื่องการเขียนการ์ตูนยังถือว่าตามหลังอยู่ เพราะเขาเริ่มกันมานานมากแล้ว แต่ถามว่านักเขียนไทยมีฝีมือไหมก็มีฝีมือ แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างด้านการเขียนเรื่องอีกหน่อย เพราะคนไทยสนใจเรื่องการทำภาพประกอบมากกว่า แล้วเขาทำงานกันเป็นระบบสตูดิโอ ของไทยเรายังทำงานแบบศิลปินเดี่ยวอยู่ แต่เรามีศักยภาพพอที่จะไปต่อได้ ประเทศเขาจริงจังกับการทำอาชีพนี้ ขณะที่เรายังสงสัยว่าทำอาชีพนี้มั่นคงไหม
วิก: คิดว่าคนไทยเรายังเป็นรองอยู่ เพราะทางนั้นตลาดใหญ่มาก แต่ไทยก็ถือว่าโอเคมากแล้ว เพราะมาทีหลังแค่ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สังเกตได้ว่าเวลาญี่ปุ่นจะลงทุนด้านนี้ เขาก็จะมาไทยก่อน เพราะไทยเป็นตลาดที่เข้าง่ายมาก ตอนนี้ญี่ปุ่นเองก็มีนโยบายในการเผยแพร่วัฒนธรรมย่อยไปทั่วโลก ซึ่งการ์ตูนเป็นหนึ่งในนั้น เขาจึงตั้งใจมาหาชาวต่างชาติโดยเฉพาะเลย ยุคนี้เลยเป็นยุคทองของโอกาสสุดๆ
มองอนาคตของวงการเว็บคอมมิคอย่างไร มีโอกาสที่นักเขียนการ์ตูนจะเป็นอาชีพที่เฟื่องฟูไหม
โอ: ถ้าถามเพื่อนนักเขียนการ์ตูนด้วยกัน แต่ก่อนที่หนังสือเป็นเล่ม สำนักพิมพ์ยังไม่เปิดกว้างในการรับนักเขียนเท่าไร แต่พอมีเว็บคอมมิคเข้ามา ทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้มือสมัครเล่นเข้ามามีผลงานได้มากกว่าจริงๆ
ฝ้าย: ตอนนี้ถือว่าเราเป็นนักเขียนการ์ตูนอาชีพแล้ว คือเขียนแต่การ์ตูนเลย เพราะก่อนหน้านี้เราทำงานประจำด้วย สองปีที่ผ่านมารู้สึกเหนื่อย เพราะส่วนตัวเป็นคนขี้เกียจ (หัวเราะ) แต่ก็ชอบที่ได้อ่านฟีดแบ็ก รู้สึกมีความสุขในสิ่งที่อยากจะสื่อสารออกไป จริงๆ คนเขียนการ์ตูนเยอะ แต่ถ้าจะเรียกว่าเป็นอาชีพยังถือว่ามีน้อย ถ้าตั้งเป้าว่าอยากจะเป็น จริงๆ ทุกคนเป็นได้
วิก: เชื่อว่าในอนาคตเด็กไทยจะอ่านเว็บคอมมิคมากกว่าการ์ตูนเล่มด้วยซ้ำ เพราะว่าการ์ตูนเล่มเดี๋ยวนี้หายาก ตลาดหนังสือการ์ตูนเล็กลง แต่ก่อนเวลาเดินไปไหนจะต้องเจอร้านการ์ตูนทุกที่ เดี๋ยวนี้แทบไม่มีแล้ว คนซื้อน้อยลง คนขายก็น้อยลงตาม ยิ่งทำให้ยากยิ่งขึ้นไปอีก ขนาดเรามีใจรักยังหาซื้อไม่ได้เลย ยุคต่อไปก็น่าจะเป็นเว็บคอมมิค หรือมันอาจจะเป็นอะไรได้มากกว่านี้ แต่ทุกอย่างจะมาทางดิจิทัลแน่นอน ซึ่งมันจะเชื่อมเข้าหากันในที่สุด ทั้งตัวเล่มและเว็บ หนังสือก็ยังพิมพ์ แต่เว็บก็ลงด้วย เว็บคอมมิคน่าจะเป็นพื้นที่หลักๆ ที่นักเขียนการ์ตูนเลือกจะแสดงผลงาน
เราเคยพูดไว้ว่าถ้าคุณเป็นนักเขียนใหม่แล้วอยากทำงานยาวๆ คุณจะไม่เลือกไปเขียนให้กับสำนักพิมพ์ที่กำลังจะปิดตัว แต่จะเลือกไปลงให้กับที่ที่จะลงผลงานได้อีกยาวมากกว่า