จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีมาเนิ่นนานในบ้านเรา โดยเฉพาะเหตุการณ์ช่วงปี 2553 และการรัฐประหารในปี 2557 กลายเป็นแรงผลักดันให้ศิลปินอย่าง หฤษฏ์ ศรีขาว สร้างสรรค์นิทรรศการภาพถ่าย Whitewash (ไร้มลทิน) ขึ้น
อย่างที่รู้ๆ กันว่าการเมืองในช่วงที่ผ่านมาดูจะเป็นเรื่องที่ถูกนำไปผูกโยงกับความขัดแย้ง ความรุนแรง ขณะที่เมื่อพูดถึงศิลปะ เราก็มักจะคิดถึงเรื่องสวยๆ งามๆ การสื่อสารให้เรื่องราวต่างๆ ถูกถ่ายทอดผ่านความสร้างสรรค์ มันจึงน่าสนใจว่าผลงานชุดนี้ที่เป็นการรวมเอาการเมือง ความขัดแย้ง และศิลปะ จะถูกถ่ายทอดออกมาอย่างไร
The MATTER ตามไปคุยกับ หฤษฏ์ ศรีขาว เจ้าของผลงานนิทรรษการภาพถ่ายชุดนี้ ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน – 22 กรกฎาคม ที่ Gallery VER ถึงแรงบันดาลใจ เทคนิคการสร้างผลงานต่างๆ รวมถึงประสบการณ์และความทรงจำร่วมต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมา
The MATTER : ทำไมถึงเลือกเหตุการณ์ในปี 2553 มาใช้กับผลงานในครั้งนี้
หฤษฏ์ : เหตุการณ์ปี 53 มันเป็นเหตุการณ์ที่ผมอยู่ในเวลานั้น ผมอายุ 15 น่าจะม.3 หรือม.4 ซึ่งประมาณวันที่ 28 เมษายน เกิดการปะทะกันหน้าอนุสรณ์สถานซึ่งเป็นเส้นทางที่ผมกำลังจะกลับบ้าน ทำให้ผมกลับบ้านไม่ได้เลยต้องไปอยู่ที่บ้านเพื่อน ซึ่งตรงนั้นก็ได้รับผลกระทบ ตลอดมาผมก็มองผู้ชุมนุมและเหตุการณ์นี้อีกแบบนึง คือมีอคติต่อผู้ชุมนุมแล้วก็มองการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ได้สนใจ แล้วผมก็ไม่ชอบที่มาทำให้ผมลำบาก
แต่พอหลังจากรัฐประหารครั้งล่าสุด ผมรู้สึกแปลกๆ อย่างตอนประถมก็มีรัฐประหาร จำได้ว่าผมกับเพื่อนก็ชอบแค่เพราะรัฐประหารแล้วไม่ต้องไปโรงเรียน แต่พอมาอยู่มหาวิทยาลัยก็รู้สึกว่ามันผิดปกติ รู้สึกว่ารัฐประหารเยอะเกินไป ก็เลยเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการเมือง พอมาอ่านเจอว่ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ก็รู้สึกช็อกเหมือนกัน รู้สึกว่าทำไมไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้เลย โดยเฉพาะหลังจากการสลายการชุมนุม เมื่อเดือนพฤษภา ปี 53 ผมกับแม่ไปช่วยเขาทำความสะอาดหน้าห้างเซ็นทรัลเวิล์ด ซึ่งตอนนั้นที่ไปทำก็ไม่ได้คิดอะไร ก็แค่สนุกเพราะทุกคนก็ดูสนุกดูยิ้มกัน
จากความทรงจำนั้น แล้วพอมารู้ข้อมูลอีกชุดหนึ่งมันก็เลยรู้สึกแย่มากว่าทำไมไม่รู้ มันก็เลยเป็นที่มาของงานชิ้นนี้ ที่ชื่อว่า Whitewash ก็คือการชำระล้างอะไรบางอย่าง
The MATTER : เหตุการณ์ในปี 53 ตอนนั้นเชื่อมโยงยังไงบ้างมาถึงตัวผลงานตอนนี้
หฤษฏ์ : มันสัมพันธ์ในแง่ของช่วงเวลาด้วยครับ ช่วงนั้นมันคือช่วงรอยต่อระหว่างม.ต้นกับม.ปลาย ในงานชุดนี้มันก็จะมีกลิ่นของความ coming of age หน่อยๆ คือมันจะมีเรื่องส่วนตัวด้วย เพราะว่าตลอดเวลาที่ผมคิดถึงช่วงเวลาปี 53 ผมก็จะคิดถึงเวลาที่มันเป็นความทรงจำส่วนตัว แต่พอมารู้ชุดข้อมูลในสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับระดับประเทศหรือว่าเกิดตรงหน้าผมแต่ผมไม่เคยสนใจ ก็เป็นเหมือนกับส่วนที่มันขาดไปในชีวิต งานชุดนี้มันก็เลยเล่าควบคู่กันไปเลยเหมือนว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่มันมีผลต่อชีวิตในเชิงความคิด การเติบโต แล้วก็ความทรงจำ
The MATTER : ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 53 ในฐานะที่เป็นทั้งประชาชน ทั้งศิลปิน คิดว่าเรามีส่วนในการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน
หฤษฏ์ : มันจำเป็นที่จะต้องพูดในสิ่งที่คิด พูดในสิ่งที่รู้สึกจริงๆ ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นมันจะขัดแย้งกับความคิดกระแสหลัก ซึ่งผมมองว่านี่คือการรับผิดชอบของคนทำงานศิลปะ คือมันไม่ใช่แค่ภาพสวย มันไม่ใช่แค่ทำงานศิลปะเพื่อบูชาศาสนาหรือบูชาหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ว่ามันจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น หรือว่าพูดจากมุมมองของตัวเองแบบตรงไปตรงมา
The MATTER : งานศิลปะมีส่วนช่วยในการพูดเรื่องที่พูดได้ยากอย่างไร
หฤษฏ์ : ผมว่างานศิลปะมันดีตรงที่มันสามารถพูดในสิ่งที่คนอื่นพูดไม่ได้ด้วยความสามารถของศิลปะเอง มันอาจจะพูดในเชิงกวี พูดในเชิงเปรียบเทียบ พูดในเชิงไม่บอกตรงๆ ด้วยตัวมันเองมันเปิดโอกาสให้คนได้ตีความ ข้อได้เปรียบของงานศิลปะคือมันมีความลื่นไหลในตัวมันเอง แล้วแต่ว่าใครจะตีความยังไง ซึ่งมันก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มนุษย์สามารถใช้พูด บางสิ่งถ้าไม่ผ่านสื่อศิลปะมันอาจจะดูรุนแรงมากๆ ก็ได้ แต่พอพูดด้วยภาพถ่ายหรือด้วยงานศิลปะ มันมีเรื่องของความงามเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็จะดูอ่อนโยนขึ้น
The MATTER : งานแสดงชุดนี้มีส่วนช่วยรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 53 มากน้อยแค่ไหน
หฤษฏ์ : มันไม่เชิงรับผิดชอบแต่ผมว่ามันจำเป็นที่คนทำงานเกี่ยวข้องกับภาพถ่ายหรือศิลปะจะต้องบันทึกหรือนำเสนอความจริง ความจริงเดี๋ยวนี้มันมีความจริงทางเลือกอื่นๆ ผมแค่คิดว่าในฐานะช่างภาพหรือในฐานะคนบันทึกภาพมันต้องทำตรงนี้ แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือว่ารับผิดชอบในเชิงความหมายที่ยิ่งใหญ่ มันคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมในเวลาข้ามวันข้ามคืน แต่ยกตัวอย่างเช่นเวลาเราเห็นภาพในยุคสงครามโลก ทหารถ่ายภาพเพื่อนของเขาเป็นภาพขาวดำเก่าๆ มันเป็นภาพที่มาจากสามัญชน มันเลยแตกต่าง จะเป็นเรื่องเล่าขนาดเล็กที่แตกต่างจากเรื่องเล่าขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งอันนี้ผมว่ามันสำคัญ คืออย่างน้อยมีคนกลุ่มนึงที่บันทึกช่วงเวลานี้แล้วบอกเล่าช่วงเวลานี้ ที่มันไม่เหมือนกับที่รัฐบอก
The MATTER : ผลงานนี้ใช้เทคนิคอะไรบ้างในการทำ
หฤษฏ์ : ส่วนใหญ่งานเซ็ตนี้มันผสมกันระหว่างภาพถ่ายที่เป็นภาพถ่ายประเพณีนิยมแบบช็อตเดียวจบ กับภาพถ่ายแบบ Collage คือใช้คัตเตอร์ตัดมัน ซึ่งจริงๆ ใช้การ Collage เพราะว่าต้องการทำให้เห็นว่ามันถูกตัด แสดงให้เห็นร่องรอย เพราะผลงานชุดนี้มันพูดถึงการศัลยกรรมความจริง ถ้าสังเกตดูใกล้ๆ มันจะเห็นรอยคัตเตอร์ตัด ซึ่งมันก็ถูกตัด ถูกวางแบบผสมกันไปหมดเลย ระหว่างภาพถ่ายที่มันถูกทำอะไรเพิ่มกับภาพถ่ายที่ไม่ถูกทำอะไรเลย ผมต้องการให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วมันแทบไม่ต่างกัน คือมันก็ผสมกันระหว่างเทคนิคต่างๆ แต่ทั้งหมดมันก็เพื่อสร้าง visual ที่มันเชื่อมกันเพื่อจะเล่าถึงไอเดียของงาน
The MATTER : คิดว่าภาพไหนเป็นตัวแทนของงานนี้ได้ดีที่สุด
หฤษฏ์ : คงจะเป็นภาพแม่ชี คือมีเม็ดแสงปรากฏอยู่หลายรูปในงานชุดนี้ ซึ่งเม็ดแสงตัวนี้มันเหมือนกับเป็นสิ่งที่มันใช้แทนถึงความศักดิ์สิทธิ์หรือว่าถึงเวทมนตร์บางอย่างที่มันปกคลุมบริเวณกว้างๆ อยู่ ซึ่งงานชุดนี้มันพูดถึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อที่จะชำระล้างสิ่งสกปรก หรือบางอย่างที่เขาว่าสกปรก มันพูดเรื่องของความดีความเลว