พนมมือบูชา ‘ลาน่า เดล เรย์’ ราชินีไร้แกรมมี่อวอร์ด ที่ถึงอย่างไรเราก็รัก
แม้บทความนี้จะมาช้าหน่อย แต่ในฐานะแฟนเพลงของลาน่า เดล เรย์ (Lana Del Rey) พบว่าพระแม่ของเราๆ มีแฟนเพลงในไทยจำนวนมากที่ฟังเสียงของคุณแม่กล่อมนอน ไปจนถึงร้าวรานและพาตัวเองกลับไปสู่อดีตที่เราไม่เคยพบเจอ รวมถึงรอคอยอัลบั้มใหม่อย่าง Lasso
จุดเริ่มของการกลับมาพูดถึงลาน่า เดล เรย์ คือการที่เธอกลับมาฉายแสงอีกครั้งในคอนเสิร์ตโคเชลล่า (Coachella) เทศกาลดนตรีซึ่งเป็นเวทีแสดงสดที่ถือเป็นหมุดหมายของอาชีพศิลปินในระดับโลก การกลับมาขึ้นเวทีในครั้งนี้ของคุณแม่เรียกได้ว่า เป็นการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรี การแสดงทั้งหมดแทบจะพาเรากลับไปยังเส้นทางการเติบโตของลาน่า เดล เรย์ได้อย่างสมบูรณ์ งดงาม และบางการแสดงยังขึ้นแท่นเหนือความคาดหมาย นับตั้งแต่การซ้อนมอเตอร์ไซค์เข้างาน รวมไปถึงการแสดงร่วมกับบิลลี่ ไอลิช (Billie Eilish) ที่เลือกเพลงเริ่มต้นวิชาชีพของทั้งคู่อย่าง Ocean Eyes และ Video Game
การกลับมาของลาน่าบนเวทีแสดงสำคัญอย่างไร? ทำไมเพลงของลาน่าถึงกลับมา โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มของ TikTok? และอะไรที่ทำให้หลายคนพูดถึงเพลงของลาน่าว่าเป็นสิ่งที่ ‘ช่วยชีวิต’ และ ‘เยียวยาบาดแผล’? และที่สำคัญคือความสามารถในการสร้าง ‘ความทรงจำ’ หรือความรู้สึกที่กระทั่งเราเองก็ไม่เคยรู้ว่าเรามีมันอยู่ มีอะไรในถ้อยคำอันเรียบง่ายแต่งดงามเหมือนบทกวี และมีอะไรในเนื้อหาที่เธอถูกโจมตีว่าสร้างความสวยงามให้กับความรุนแรงในครอบครัว?
อนึ่งบทความนี้เขียนขึ้นโดยอาศัยความเป็นแฟนเพลงที่ฟังเพลงของคุณแม่ โดยฟังๆ หยุดๆ ด้วยความที่อัลบั้มของลาน่ากินเวลาเกิน 10 ปี แต่ละอัลบั้มก็มีธีม สไตล์ และพัฒนาทั้งเนื้อหาและดนตรีที่หลากหลายแตกต่างกันไป งานเขียนนี้จึงเขียนขึ้นโดยอิงเนื้อหาบางส่วนและบางช่วงเวลาของลาน่า เดล เรย์
I was a singer, not a very popular one
ถ้าพูดกันตรงๆ ลาน่า เดล เรย์ เป็นศิลปินหญิงที่เราอาจจะงงๆ ว่าเธอได้รับสถานะที่เหมาะสมแค่ไหน ปมสำคัญของแฟนๆ คือลาน่าไม่เคยได้รางวัลแกรมมี่อวอร์ด (Grammy Awards) เลยแม้จะเคยเข้าชิง 11 ตัว และในปี 2023 อัลบั้ม Did You Know That There’s A Tunnel Under Ocean Blvd จะได้เข้าชิงรางวัล แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่ได้อีกครั้ง ทว่าลาน่ายังถูกนับเป็นศิลปินหญิงที่ศิลปินหญิงแถวหน้าล้วนบอกว่า ได้อิทธิพลจากตัวตนและดนตรีของเธอ ซึ่งในงานแกรมมี่อวอร์ดล่าสุด ก็มีภาพของเทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ที่พาลาน่าขึ้นเวทีด้วย
การพาลาน่าขึ้นเวทีในการรับรางวัล Album of the Year ของเทย์เลอร์นี้ ได้รับเสียงตอบรับและถูกตีความไปหลากหลาย ทั้งมองว่าเทย์เลอร์อาจจะให้เกียรติลาน่าในฐานะผู้มีอิทธิพลต่องานเพลงของเธอ ไปจนถึงการที่ทั้งคู่ทำงานร่วมกันในอัลบั้ม Midnight ที่ได้รับรางวัล
ตรงนี้เชื่อว่าแฟนๆ หลายคนคงมองข้ามเรื่องรางวัลไป ถ้าเราดูคำสัมภาษณ์ และท่าทีของศิลปินหญิงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทย์เลอร์, อะเดล (Adele) หรือศิลปินและนักแสดงหญิง พวกเธอมักจะให้เกียรติลาน่าในฐานะศิลปินที่มีอิทธิพลต่อพวกเธอเสมอ
และแน่นอนว่า บิลลี่ ไอลิช หนึ่งในศิลปินหญิงที่ไม่ได้ทำดนตรีแบบผู้หญิงที่เรารู้จัก เธอเป็นศิลปินที่แสดงความรักต่อลาน่าอย่างน่ารักเสมอมา ทั้งที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอต้องการเป็นจ่าฝูง แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าลาน่า เธอกลับยินดีที่จะเป็นเด็กตัวน้อยๆ ให้ลาน่าจะลูบหัว และบอกว่าเธอน่ารักแค่ไหนก็ได้ เพียงเพราะเป็นลาน่า เดล เรย์
การแสดงเพลงร่วมกันบนเวทีโคเชลล่าในบทเพลงสำคัญของทั้งคู่ จึงมีความหมายอย่างยิ่งใหญ่ในฐานะการทำงานเป็นศิลปินหญิง และการทำเพลงบนเวที ลาน่าได้นิยามบิลลี่ว่า “เธอเป็นเสียงของยุคสมัย (This is the voice of our generation)” ในขณะที่บิลลี่ก็พูดกับทุกคนว่า “ลาน่าคือเหตุผลที่ครึ่งหนึ่งของเราอยู่ที่นี่ รวมถึงบิลลี่เอง (the reason for half of you b–es existence, including mine)”
สำหรับบิลลี่แล้ว เธอหมายความแบบนั้นจริงๆ เพลง Ocean Eyes เป็นเพลงเปิดตัวของบิลลี่ในปี 2016 ในขณะที่ Video Game เป็นเพลงเปิดตัวของลาน่าในปี 2011 และกลายเป็นอัลบั้ม Born to Die ในปี 2012 ซึ่งบิลลี่ได้เขียนอินสตราแกรมในวันที่ 18 เมษายน 2024 หลังจากขึ้นแสดงทั้งคู่ขึ้นแสดงร่วมกัน โดยบิลลี่บอกว่า “เพลงนี้ไม่มีวันเกิดขึ้น ถ้าไม่มีเธอ (This song wouldn’t even exist without her)”
บิลลี่เองพูดถึงเรื่องอิทธิพลและความสำคัญของลาน่ามาโดยตลอด ในบทสัมภาษณ์ของบิลลี่ที่คุยกับดูอา ลิปา (Dua Lipa) อีกหนึ่งคุณแม่ในพอตแคสต์ชื่อ At Your Service ในปี 2023 บิลลี่นิยามอัลบั้ม Born to Die ว่าเป็นอัลบั้มที่เปลี่ยนวงการดนตรี (I feel that that album changed music) เพราะอัลบั้มของลาน่าเปลี่ยนดนตรีสำหรับเด็กผู้หญิง และขยายความเป็นไปได้ของการทำดนตรี (changed music for girls and the potential of what is possible)
ตรงนี้ทำให้โชว์และความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีความหมายในฐานะกระแสการเป็นศิลปินหญิงที่มีสายธารต่อเนื่องกัน ดนตรีของบิลลี่เองก็ขยายเนื้อหา และดนตรีของศิลปินหญิงในทศวรรษปัจจุบัน มีตัวตนที่แน่นอนว่าไม่ผิดไปจากนิยามที่ลาน่าให้ เราเชื่อว่าหลายคนที่ฟังลาน่าเมื่อ 10 ปีก่อน ทุกวันนี้คงฟังบิลลี่ด้วย การได้เห็นความต่อเนื่องกันของทั้ง 2 คน จึงถือเป็นอีกหนึ่งสุดยอดประสบการณ์น้ำตาซึมที่เราหวังว่า พวกเขาทั้งคู่จะได้ทำงานเพลงร่วมกันเป็นขวัญใจของเราบ้าง
กลับมาที่ประโยค “ I was a singer, not a very popular one” มาจากบทพูดคนเดียวในเพลง Ride (อยู่ในฉบับ MV 10 นาที) สำหรับลาน่าเธอค่อนข้างมองตัวเองในฐานะศิลปินที่ไม่ได้เด่นดังอะไร ซึ่งเธอเคยพูดในการสัมภาษณ์หนึ่งว่า เทศกาลดนตรีจะต้องการศิลปินแบบเธอไปทำไม เพราะเธอแค่ยืนแล้วก็ร้องเพลงไปเรื่อยๆ แต่นั่นก็พิสูจน์แล้วว่าคุณแม่ของเราทำได้
There’s no use in talking to people who have a home
วลีหนึ่งที่จับใจและช็อกวงการที่สุดคือ ท่อนเปิดของเพลง Cola ที่เริ่มอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า “จิมิของฉันรสชาติเหมือนเป๊ปซี่โคล่า (My pussy taste like Pepsi cola My eyes are wide like cherry pies)” โดยความสามารถอย่างหนึ่งของลาน่า คือการพูดถ้อยคำอย่างหนึ่งอย่างสวยงามได้ อันที่จริงตัวอย่างเช่นเพลงดังกล่าว รวมถึงหลายๆ เพลงในอัลบั้มแรกๆ ลาน่าค่อนข้างให้ภาพการเป็นผู้หญิงที่อยู่กับวัตถุ ใช้ชีวิตไปบนท้องถนน เอาตัวเองไปอยู่กับคนแก่ๆ ที่ร่อนเร่ไปตามถนน
นั่นจึงไม่แปลกที่ลาน่าเลือกเปิดโชว์ที่โคเชลล่าด้วยการซ้อนฮาร์เล่มาขึ้นคอนเสิร์ตเหมือนกับในเพลง Ride ซึ่งถือเป็นอีกเพลงที่ค่อนข้างเป็นเสียงสำคัญของลาน่า ผลงานที่สำคัญที่สุดคือการปล่อยวิดีโอที่ประกอบด้วยบทพูดยาวหลายนาที ถ้อยคำของลาน่าสะท้อนชีวิตของเธอ รวมถึงชีวิตของผู้หญิงประเภทที่เราจะเรียกว่า เป็นผู้หญิงริมทางที่ใช้ร่างกายกับผู้ชาย และร่อนเร่ไปบนถนน
บทรำพึงของลาน่าเกือบทั้งหมดเป็นเสียงของผู้หญิงที่ค่อยๆ พูดถึงตัวตน เหตุการณ์ และการเลือกใช้ชีวิตที่ผู้คนตัดสินประณาม เธอเริ่มการรำพึงว่า “ฉันอยู่ในห้วงฤดูหนาวแห่งชีวิต และผู้ชายที่อยู่ตามถนนเป็นเพียงฤดูร้อนเดียว (I was in the winter of my life.And the men I met along the road were my only summer)” ในบทรำพึง ลาน่ายังพูดถึงความฝันที่จะเป็นกวี เป็นนักร้อง และมีความทรงจำดีๆ เดียวในห้วงเวลาที่ใช้ชีวิตไปตามถนน
ช่วงที่คมคาย งดงาม และร้าวรานที่สุด คือช่วงที่ลาน่าพูดถึงการตอบคำถามของคนรู้จักว่าทำไมถึงใช้ชีวิตแบบนี้ ลาน่าใช้คำว่า “มันไม่มีความจำเป็นที่จะพูดกับคนที่มีบ้านอันอบอุ่น (there’s no use in talking to people who have a home)” คนที่มีบ้านที่อบอุ่นแล้วไม่มีวันเข้าใจว่า อะไรคือการมองหาความปลอดภัยในคนอื่นๆ การมองหาบ้านที่อยู่ที่ไหนก็ตามที่ซุกหัวนอนได้
ถ้าเรามองแค่จากเพลง Ride รวมถึงเพลงเช่น Cola ในกล่องคอมเมนต์จะมีคอมเมนต์จำนวนมากที่พูดว่า ลาน่าช่วยชีวิตคนเหล่านั้นเอาไว้ ในแง่ของความรู้สึก เสียง และประสบการณ์ ที่ลาน่านำมาพูดถึง รวมถึงสำรวจความรู้สึก อาจเป็นประสบการณ์ที่หลายคนกำลังเผชิญ การมองหาบ้านที่ปลอดภัย การตกอยู่ในภาวะที่สังคมดูถูก ซึ่งแม้แต่ใน Ride เอง เธอก็ให้ภาพการเลือกจะก้าวไปสู่อิสรภาพ สู่ชีวิตที่ดีขึ้น เป็นความหวังและความทรงจำที่สวยงามที่พอจะมีได้
ตรงนี้เองที่ผลงานของลาน่ามีความซับซ้อนขึ้น เธอกำลังพูดถึงเสียงของผู้หญิง หรือคนชายขอบของสังคม ไปจนถึงในอัลบั้มต่อๆ มา เช่น Ultraviolence ที่ตั้งใจพูดถึงความสัมพันธ์เลวร้าย และความรุนแรงในครอบครัว ลาน่าจึงได้รับการนิยามว่า เธอมักจะแสดงถึงสิ่งที่ไม่สวยงามทั้งความรุนแรง และความเศร้าโศก โดยแสดงออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่และสวยงาม ซึ่งนำไปสู่ข้อวิจารณ์เรื่องการทำให้ปัญหาต่างๆ งดงาม แต่ถ้าเราตีความถ้อยคำและอิทธิพลของงานลาน่ามากขึ้น เราก็อาจจะเห็นบริบทและเทคนิคที่ลาน่าได้จากกวีนิพนธ์ หรือตัวบทอื่นๆ ที่ทำให้ดนตรีของเธอเต็มไปด้วยมิติและความซับซ้อน
I believe in the kindness of strangers
จุดเด่นสำคัญที่สุดของลาน่าคือ ความเป็นกวีนิพนธ์ แน่นอนว่าลาน่าพูดเสมอว่าเธออยากเป็นกวี และลาน่าก็รักในกวีและวรรณกรรมอย่างแท้จริง เธอเขียนบทกวีจนรวมเล่ม ทั้งเพลงของเธอจำนวนมากยังอ้างอิงกับวรรณกรรม โดยเฉพาะบทละครและกวีนิพนธ์อเมริกันสมัยใหม่ สไตล์การเล่าเรื่องของลาน่าทั้งการให้ภาพอดีตที่แสนหวาน ทว่าเจือปนด้วยการหลอกลวง การจมอยู่กับความฝันที่กลวงว่าง ล้วนเป็นสิ่งที่งานเขียนอเมริกัน และงานเขียนสมัยใหม่ใช้วิจารณ์สังคมบริโภคนิยมและความฝันแบบอเมริกันทั้งสิ้น
วลีสำคัญหนึ่งที่ปรากฏในบทรำพึงในเพลง Ride คือการพูดแทรกก่อนจะจบเนื้อหา ในช่วงที่ลาน่าพูดอย่างมีความหวังถึงการใช้ชีวิตให้เป็นงานศิลปะ มีท่อนหนึ่งพูดว่า ฉันเชื่อมั่นในความอารีของคนแปลกหน้า ซึ่งก็สะท้อนภาพการออกมาใช้ชีวิตบนถนน ทว่าข้อความนี้ยังอ้างอิงจากบทละครสำคัญชื่อ A Streetcar Named Desire ของเทนเนสซี วิลเลียมส์ (Tennessee Williams)
มอตโต้ที่ฟังดูมองโลกในแง่ดีจึงมีมิติขึ้น นอกจากการชวนให้เราเชื่อมั่นในความสวยงามของโลก แต่ในเรื่องตัวละครที่พูดคำนี้กลับเป็นตัวละครที่ถูกเอาเปรียบ ถูกล่วงเกินเพื่อผลประโยชน์ ความหวังต่อโลกของเธออาจซ่อนด้วยความขมปร่า ซึ่งในเอ็มวี Ride เอง ลาน่าก็ให้ภาพตัวเองเป็นเหมือนตุ๊กตาที่ถูกชายแก่เลี้ยงดูอย่างน่าอึดอัดใจ
เบื้องต้นที่สุด การที่ลาน่าเลือกเอาประสบการณ์ หรือเรื่องราวมาเล่าเป็นเสียงของคนชายขอบ นับเป็นการให้พลัง ให้พื้นที่กับผู้คนแล้ว นอกจากการให้ร่องรอยของความไร้เดียงสาที่เธอมี ซึ่งก็ไม่ผิดอะไรถ้าเราอยู่ในบางสถานะ เราจะมีความฝันที่ไร้เดียงสา หรือการยึดอยู่กับอดีตเพื่อให้มีชีวิตต่อไป
นอกจากเทนเนสซี วิลเลียมส์แล้ว ลาน่ายังค่อนข้างได้รับอิทธิจากกวีหญิง และเทคนิคของกวีนิพนธ์สมัยใหม่ ซึ่งกวีอเมริกันที่มีอิทธิพล และถูกอ้างอิงจนกลายเป็นเพลงสำคัญชื่อ Hope Is a Dangerous Thing for a Woman Like Me to Have – but I Have It คือซิลเวีย พลาธ (Sylvia Plath) แม้แรกสุดเธอจะตั้งชื่อตามพลาธว่า Sylvia Plath เลยก็ตาม แต่จุดเด่นของซิลเวีย พลาธ คือการพูดถึงอารมณ์ ความรู้สึก การถ่ายทอดความเศร้า ปัญหาความสำคัญ ซึ่งลักษณะหนึ่งของกวีนิพนธ์สมัยใหม่ คือการสร้างความรู้สึกด้วยถ้อยคำ สิ่งของ เหตุการณ์ธรรมดาที่ค่อยๆ ปะติดปะต่อเป็นความรู้สึกที่เรารับรู้ได้
เนื้อหาของเพลงดังกล่าวตรงไปตรงมาด้วยตัวเองตามชื่อเพลง คือสำหรับผู้หญิงแบบหนึ่ง การมีความหวังเป็นเรื่องอันตราย แต่สุดท้าย ไม่ว่าชีวิตจะมีอดีตหรือแปดเปื้อนแค่ไหน เธอก็ประกาศกับทุกคนว่าคนแบบนี้แหละที่มีความหวังได้ และนอกจากถ้อยคำที่ตรงไปตรงมาแล้ว ชื่อเพลงที่บอกว่าความหวังเป็นเรื่องอันตราย ยังมาจาก Shawshank Redemption นวนิยายที่กลายเป็นหนังของสตีเวน คิง (Stephen King)
Violet, blue, green, red
พระแม่ลาน่ามีหลายปาง บางร่างก็เป็นเทวีไปอ้อนวอนพระเจ้าใน Young&Beautiful เลี้ยงเสือใน Born to Die แต่ช่วงหนึ่งโดยเฉพาะอัลบั้ม Ultraviolence ต่อเนื่องจนถึงเพลงสำคัญเช่น Cinnemon Girl เนื้อหาของลาน่ามักพูดถึงการตกอยู่ในความสัมพันธ์เลวร้าย การคบหากับคนที่ใช้ความรุนแรง และการใช้ยาเสพติด
สำหรับประเด็นความรุนแรง นอกจากจะพาเราไปสัมผัสบรรยากาศ ความสัมพันธ์หอมหวานที่ค่อยๆ ขมปร่าขึ้นเรื่อยๆ อุปมาที่ลาน่าใช้ก็สอดคล้องกับกลวิธีทางการประพันธ์ของวรรณกรรมอเมริกันร่วมสมัย ด้วยการใช้สีเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง เช่นใน Cinnemon Girl ลาน่าเลือกใช้สีม่วง น้ำเงิน เขียว และแดง ซึ่งนอกจากจะเล่นกับสีของยาเสพติดแล้ว สีเหล่านี้ยังให้ภาพร่องรอยของการถูกทำร้ายที่เป็นระยะสีของรอยช้ำ
สีของรอยช้ำที่พูดถึงบาดแผลความรุนแรงนี้ ยังล้อไปกับงานเขียนสำคัญคือ The Color Purple ของอลิซ วอล์เกอร์ (Alice Walker) อีกหนึ่งวรรณกรรมสำคัญที่เล่าเรื่องราวของผู้หญิงผิวดำ ซึ่งเผชิญกับความรุนแรงทั้งในฐานะคนผิวดำและในฐานะผู้หญิง เป็นความรุนแรงทั้งการถูกข่มขืนและถูกทำร้าย
อันที่จริงถ้าเราฟังเพลงในอัลบั้ม เช่น Ultraviolence ด้วยเนื้อเพลงที่สลับไปมา ลาน่ากำลังเล่าถึงความรุนแรงในระดับความรู้สึก ผ่านเทคนิคทางดนตรีที่กลับเนื้อเรื่องไปมา อย่างในเพลง Shades of Cool เธอเองไม่ได้ทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่มีนัยของความอัดอั้นและการปล่อยมือ เห็นได้จากท่อนที่เธอบรรยายถึงชายหนุ่มที่ดูตรงตามความฝันของหนุ่มอเมริกัน ซึ่งในที่สุดกลับเป็นคนที่มีอารมณ์รุนแรง และมีความสัมพันธ์ไม่สิ้นสุด เป็นการฉายภาพให้เห็นถึงความแท้จริงของ Toxic Masculinity คือเป็นคนที่เปลี่ยนอะไรไม่ได้ เป็นคนที่ดีกว่านี้ก็ไม่ได้ (But I can’t fix him, can’t make him better…You are unfixable)
หรือต่อมาใน Cinnemon Girl จากอัลบั้ม Norman Fucking Rockwell! ในปี 2019 วิธีการของเพลงนี้มีกลวิธีในการเล่าที่น่าสนใจมาก นอกจากการใช้กลุ่มสีค่อยๆ ให้ภาพความสัมพันธ์ที่มีปัญหา จากสีของยาเสพติด และรอยช้ำของฝ่ายที่ถูกทำร้ายในช่วงแรกยังเลือกที่จะทนและอยู่ในความสัมพันธ์ วิธีการหักเหเรื่องของเนื้อเพลงถูกทำขึ้นอย่างเรียบง่าย ด้วยการย้ำคำว่า Violet, blue, green, red และประกาศว่า ‘I win’ หรือครั้งนี้เราชนะแล้ว
เนื้อเพลงช่วงต่อมาของ Cinnemon Girl จึงเปลี่ยนวิธีการอย่างแยบยล และนั่นถือเป็นการเดินออกจากความสัมพันธ์ที่เท่มาก เพราะเธอใช้วิธีพูดว่า โอเค ในความสัมพันธ์ที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่อยากจะพูดกับเธอ แต่ฉัน “ปล่อยให้เธอใช้ชีวิตต่อไป ( but I’ll just let you leave)” คือการปล่อยให้อีกฝ่ายใช้ชีวิตต่อไป โดยที่เราไม่ต้องไปแก้ไขความเป็นพิษหรือแก้ปัญหา คำว่าปล่อยให้เธอมีชีวิตของเธอต่อไป แง่หนึ่งถือเป็นการเดินออกจากความสัมพันธ์ที่อาจจะมีร่องรอยของความรู้สึก แต่ก็ปล่อยให้เส้นทาง 2 เส้นทอดออกจากกัน เปลี่ยนผู้ถูกกระทำให้เป็นผู้ให้ ด้วยการให้ผู้ที่กระทำมีชีวิตของตัวเองต่อไป
I believe in the country America used to be
ข้อวิจารณ์สำคัญในงานของลาน่า เดล เรย์ คือเพลงทั้งหมดล้วนว่าด้วยอดีต ภาพรวมของลาน่าในแง่หนึ่งเป็นตัวแทนของอเมริกันในยุคสมัยแห่งความฝัน เป็นยุคที่ว่าด้วยเสรีภาพ การแสวงหาความสุข ช่วงเวลาที่ลาน่าพากลับไปจึงเป็นภาพความเป็นอเมริกันในหลายช่วงเวลา จากวัฒนธรรมเสรีชนยุคบุปผาชนในช่วงปี 60-70 ยุคที่ลาน่าให้อิสรภาพที่อยู่บนท้องถนน และการนอนหลับไปกับธงชาติ ไปจนถึงยุคหนีความจริงในอัลบั้ม Chemtrails over the Country Club ด้วยการให้ภาพชนชั้นกลางที่มีชีวิตหรูหราในย่านชานเมืองในทศวรรษ 1990s ผ่านสายควันสีขาวสะท้อนบริบทสงครามโลกและสงครามเย็น
วิธีการของลาน่าจึงค่อนข้างน่าสนใจ หนึ่งในข้อคิดเห็นจากการฟังเพลงของลาน่า คือการให้ภาพหรือพาเรากลับไปยังอดีตที่เราไม่รู้ตัวว่าเคยมี จุดเด่นของการสร้างบรรยากาศมีลักษณะใกล้เคียงกับวิธีการของกวีนิพนธ์ ลาน่ามักพูดถึงสิ่งธรรมดาๆ ที่กระจัดกระจาย ดูเหมือนอยู่ในอดีตอันไกลโพ้น แต่ก็ชัดเจนในความรู้สึก เนื้อหาส่วนใหญ่ของเธอเล่นกับผัสสะต่างๆ และประสบการณ์ที่เราจินตนาการถึงได้ จากการไกวชิงช้า การกระโดดขึ้นรถ เสียงกระซิบ เบียร์เย็นๆ และถ้อยคำใน Video Game รอยจูบและความสัมพันธ์ที่แหลกสลายในฤดูร้อนของ Summertime Sadness และการพาเราไปเจอความสัมพันธ์กับหนุ่มอิตาเลียนที่ดินแดนสักแห่งทางตอนใต้ใน Salvatore
จินตนาการที่กระจัดกระจายค่อยๆ กลายเป็นภาพอดีต วิธีการปะติดปะต่อของรูป รส กลิ่น เสียง กลายเป็นความทรงจำที่เราสัมผัสได้ รู้สึกได้ จนกลายเป็นความรู้สึกร้าวรานที่สวยงาม ความรู้สึกที่พอทบทวนดูก็พบว่าเราอาจจะไม่เคยมีความรู้สึกหรือความทรงจำที่ลาน่าพาเราไป แต่ด้วยพลังของถ้อยคำและท่วงทำนอง เธอกลับพาเราไปยังดินแดนที่ทั้งร้าวรานและงดงามได้
ในแง่นี้ความเศร้าที่แสนงดงาม การติดอยู่กับอดีตคือนิยามสำคัญของดนตรีและเนื้อหาของลาน่า การติดอยู่กับอดีตในแง่นี้อาจตีความได้ว่า สิ่งดีๆ ที่เรามี ภาพฝันที่อเมริกาเคยมอบให้ ชีวิตและความเป็นไปทั้งของผู้คนโดยเฉพาะของผู้หญิงอาจจะไม่ได้ไปไหนไกล
อีกแง่คือการมองย้อนกลับไปยังอดีตอาจเป็นวิธีการรับมือกับปัจจุบัน เพราะอดีตทำหน้าที่เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ เป็นห้วงเวลาที่เราทบทวน เพื่อยืนหยัดและก้าวต่อไปได้ การจมอยู่กับอดีตของลาน่าจึงเป็นทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ปัจจุบัน และเป็นเครื่องมือในการรับมือกับภาวะปัจจุบันเพื่อก้าวต่อไป
การที่เรามองย้อนกลับไปยังความเจ็บปวดได้ แปลว่าอย่างน้อยที่สุดเราก็ผ่านห้วงเวลานั้นมาแล้ว
อ้างอิงจาก