“I’m pretty when I cry.” —ฉันยิ่งสดสวยเมื่อร้องไห้… เนื้อเพลงของใครจะสวยปนเศร้าได้ปานนั้น ถ้าไม่ใช่ Lana Del Rey
ใครหลายคนหลงเสน่ห์หญิงสาวนัยน์ตาโศกคนนี้ ที่ครวญเพลงด้วยเสียงหยาดเยิ้มชวนฝัน ไม่แน่ใจนักว่ามวลความโศกที่อวลอยู่ในทำนองและเนื้อร้องมาจากตัวตนของเธอจริงๆ หรือเป็นเพียงการสร้างคาแรกเตอร์ของ Lana Del Rey นามแฝงที่ Elizabeth Woolridge Grant เลือกใช้
“ฉันสามารถสร้างโลกแห่งดนตรีจากท่วงทำนองของชื่อนี้ได้” เธอว่า นั่นหมายความว่า Lana Del Rey คืออีกหนึ่งตัวตนทางดนตรีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองสุนทรียะบางข้อเป็นแน่ (รวมถึงการร่ายมนต์แม่มดเพื่อสาปแช่งประธานาธิบดีและการไม่หยุดเติมหน้าด้วย—แซว)
เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2011 มิวสิกวิดีโอเพลง Video Games ถูกอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ Youtube กลิ่นอายวินเทจจากโฮมเมดวิดีโอและฟุตเทจหนังเก่า เข้ากันได้ดีกับบทเพลงบัลลาดหวานซึ้งว่าด้วยความสัมพันธ์ของหญิงสาวบูชารักและแฟนหนุ่มติดวิดิโอเกม
นั่นเป็นครั้งแรกที่ศิลปินสาวได้อยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลท์และการจับจ้องของนักฟังเพลงทั่วโลก เพราะก่อนหน้านี้เธอหลบอยู่ในมุมมืดมาแสนนานจากการออกสตูดิโออัลบั้มที่ไม่ประสบความสำเร็จนักในนาม Lizzie Grant
Video Games เป็นใบเบิกทางให้ลาน่าได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงใหม่ที่เอื้อให้เธอสร้างสรรค์เพลงคุณภาพในแบบของตัวเองออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้คงเหลือน้อยคนนักที่ไม่เคยฟังเพลงจากอัลบั้มทั้ง 4 อย่าง Born To Die, Honeymoon, Ultraviolence และล่าสุด—Lust For Life ซึ่งเพิ่งปล่อยอัลบั้มเต็มเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง
ลาน่าเริ่มต้นร้องเพลงตั้งแต่เด็กในวงประสานเสียงของโบสถ์ และเริ่มต้นแต่งเพลงตอนอายุ 18 เมื่อคุณลุงสอนให้เธอจับคอร์ดเบสิคจำนวน 6 คอร์ดของกีตาร์ เพียงเท่านั้น “ฉันตระหนักว่าฉันสามารถแต่งเพลงนับล้านเพลงจากคอร์ดพวกนี้” เธอบอกนักข่าวจาก BBC
เราเข้าใจเอาเองว่าทักษะด้านดนตรีของลาน่าเป็นพรสวรรค์มากกว่าพรแสวง และด้วยพรนั้นกับความมุ่งมั่นทางดนตรีและการปรุงแต่งคาแรกเตอร์นิดๆ หน่อยๆ ก็ได้ทำให้เพลงของเธอเป็นที่ชื่นชอบไปทั่วโลก ผลงานมากมายได้รับรางวัลและได้ขึ้นชาร์ตอันดับต้นๆ ตั้งแต่เพลงเปิดตัวอย่าง Video Games เพลงถัดมาอย่าง Born To Die, Summertime Sadness, West Coast, Brooklyn Baby, Young and Beautiful, High by the Beach, Pretty When You Cry มาจนถึงเพลงจากอัลบั้มล่าสุดอย่าง Love และ Lust For Life
จุดร่วมในบทเพลงเหล่านี้คือความรู้สึกล่องลอย กลิ่นอายวินเทจ อเมริกานา หลายครั้งเธอพูดเรื่องความรัก ความตาย ความโศกโศกา ชีวิตอันไร้จุดหมาย ซึ่งหลายคนสรรเสริฐเธอที่สามารถถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของคนเจนเนอเรชั่นปัจจุบันได้อย่างดีเยี่ยม แม้แต่ในกลิ่นอายเก่าๆ อย่างนั้นก็ตาม
อันที่จริง สุนทรียะแห่งความโศกเศร้าในบทเพลงของเธอสมัยที่ยังใช้ชื่อ Lizzie Grant (ซึ่งหลุดออกมาให้เราได้ฟังแม้เธอจะพยายามฝังมัน) นั้นคล้ายคลึงกับของ Lana Del Rey อยู่ไม่น้อย แต่เป็นเพราะคาแรกเตอร์ของลาน่านั้นดูลึกลับ ดึงดูดใจ และชวนให้ค้นหามากกว่า จึงแทรกตัวเข้าไปอยู่ในความนึกคิดและในใจของแฟนคลับได้ไม่ยาก ส่วนคนที่ไม่อินกับดนตรีของเธอมากนัก อย่างน้อยๆ ก็จะรู้จักเธอในฐานะหญิงสาวผู้ร้องเพลงเศร้า และตัวแม่แห่งแนวเพลง ‘sadcore’
เช่นนี้ ลาน่าจึงกลายเป็นไอคอนของเหล่า ‘sad girls’ ซับคัลเจอร์บนโลกอินเทอร์เน็ตที่ประกอบด้วยเด็กสาวผู้เชื่อว่าตนเองสวยงามที่สุดยามร้องไห้ เด็กสาวผู้มองเห็นความสวยงามในภาวะซึมเศร้า เด็กสาวผู้คิดว่าความตายมีเสน่ห์เหลือร้าย
มีหลายฝ่ายที่กล่าวโทษลาน่า ว่าคอยเติมเชื้อไฟให้ขบวนการอันคุกรุ่นนี้ อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่เธอเคยให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า Kurt Cobain ฟรอนท์แมนวง Nirvana ผู้ฆ่าตัวตาย และ Amy Winehouse ศิลปินสาวนีโอโซลผู้เสียชีวิตเมื่อยังสาว เป็นหนึ่งในฮีโร่ของเธอ พร้อมบอกว่า “ฉันอยากให้ตัวเองตายได้แล้ว”
แน่นอนว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเซ็งแซ่ โดยหนึ่งเสียงที่ดังที่สุดคือ Frances Bean Cobain ลูกสาวของฟรอนต์แมนแห่งวง Nirvana ผู้ทวีตข้อความว่า “ความตายของศิลปินหนุ่มสาวไม่ควรถูก romanticize ฉันไม่มีทางได้รู้จักพ่อเพราะเขาเสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่มันกลับกลายเป็นการเฉลิมฉลองที่น่าปรารถนาเพราะคนอย่างคุณคิดว่ามันเท่”
ในแง่หนึ่งก็เป็นอย่างที่ Cobain คนลูกว่าเอาไว้ ในบางครั้งความตายและความโศกเศร้าก็ไม่น่าจะถูกนำมาทำให้ดูโรแมนติกเกินความจริง และจริงอยู่ที่บทเพลงและคาแรกเตอร์ของลาน่ามืดหม่นถูกใจสาวนักเศร้าเหลือเกิน แต่บทเพลงของลาน่าไม่มีทางเป็นเหตุผลเดียวที่สมาชิกกลุ่ม ‘sad girls’ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
ในปัจจุบันแพลตฟอร์มอย่าง Tumblr ก็มีอิทธิพลต่อซับคัลเจอร์ดังกล่าวมาก เพราะบนเว็บไซต์นั้นเต็มไปด้วยภาพรอยกรีดข้อมือ ภาพรอยฟกช้ำดำเขียว หรือโคว้ตอย่าง ‘คนที่ฆ่าตัวตายไม่ได้ต้องการจบชีวิตตัวเอง พวกเขาต้องการให้ความเจ็บปวดจบลงต่างหาก’
หรือหากนึกย้อนไป ผู้คนในแวดวงสร้างสรรค์อื่นๆ ก็มีส่วนในการระบายสีพาสเทลให้กับความโศกเศร้าและความตายอยู่ไม่น้อย อย่างเช่นภาพยนตร์ Virgin Suicides โดยผู้กำกับ Sofia Coppola ที่บอกเล่าการฆ่าตัวตายหมู่ของพี่น้องสี่สาวผ่านสายตาฉงนสนเท่ห์ปนเทิดทูนของเด็กผู้ชายในละแวกนั้น หรือแม้กระทั่งบทประพันธ์เก่าแก่ที่ได้รับการยกย่องจากผู้คนทั่วโลกอย่าง Romeo and Juliet ของ William Shakespear ก็บอกพวกเราว่าการสละชีวิตเพื่อความรักเป็นเรื่องโรแมนติกเหลือเกิน
เช่นนี้ จะเห็นว่าการ romanticize ความเศร้าและความตายไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาเนิ่นนานในฐานะเครื่องมือที่ศิลปินใช้สร้างสรรค์ผลงาน หรือแม้กระทั่งในฐานะกลไกที่คนเราใช้รับมือกับความโศกเศร้า (‘คุณยายไปขึ้นสวรรค์แล้ว’—ทุกคนน่าจะเคยได้ยินประโยคทำนองนี้)
ดังนั้นถ้าจะมีศิลปินที่ครวญเพลงเศร้าเพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่ง ก็คงไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไรนักหรอก แต่ผู้รับจะรับอะไรไปแล้วสร้างอะไรขึ้นมา ก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันไปตามบริบทและเรื่องราว
อ้างอิง