ในช่วงที่เกมแนว MOBA อย่าง RoV หรือ LOL เดินทางไปไกลจนถึงการเป็นกีฬาการแข่งขันแบบเป็นทางการระหว่างประเทศ หรือในขณะที่เกมยิงแนว Battle Royale กำลังฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง และยังไม่นับเกมออนไลน์หลายสไตล์ทั้งที่เล่นบนมือถือหรือเครื่องเกมอื่นๆ การอาละวาดในดินแดนเทพนอร์สของเกม God of War และการมาถึงของตัวอย่างเกม Detroit: Become Human ก็ทำให้ความรู้สึกว่าพื้นที่ของเกมเล่นคนเดียวที่สนุก มีเนื้อเรื่องดี หรือไม่ก็มีทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน กำลังกลับมาอีกครั้ง
‘เกมเล่นคนเดียว จะกลับมาฮิตอีกครั้ง’ น่าจะเป็นคำพูดที่หลายคนคิดกันหลังจากเห็นสถานการณ์แบบนี้ แต่ในความเป็นจริง เกมสำหรับเล่นคนเดียวเคยหายไปหรือเปล่า หรือจะเป็นเพียงอาการคิดไปเอง จะเป็นแบบไหนเราอาจจะต้องย้อนไปมองตลาดเกมในอดีตกันสักหน่อย
ย่างก้าวและพัฒนาการของเกมเล่นคนเดียว
นับตั้งแต่มีวิดีโอเกมขึ้นมาบนโลกนี้ ตัวเกมดังกล่าวก็เป็นเกมสำหรับการเล่นสองคน ไม่ใช่เกมเล่นคนเดียว หรือ single-player video game แบบที่คนในปัจจุบันกำลังให้ความสนใจถึงความเป็นไปในวงการเกม (อ่านเพิ่มได้ที่นี่)
แต่เมื่อมีการพัฒนาเครื่องเกมคอนโซล หรือเครื่องเกมสำหรับเล่นที่บ้าน ตัวเกมสำหรับเล่นคนเดียวก็ถูกพัฒนาขึ้นเช่นกัน นับตั้งแต่เครื่องเกมคอนโซลรุ่นแรก (first generation console) และเป็นเครื่องแรกสุด อย่าง Magnavox Odyssey ก็มีเกมสำหรับเล่นคนเดียวนติดตัวเครื่องเป็นเกมชื่อ Ski ที่ตอนนั้นตัวเกมยังไม่มีอะไรมากนอกจากการที่ผู้เล่นจะต้องเอาแผ่นพลาสติกไปแปะบนหน้าจอทีวีแล้วควบคุมเคอร์เซอร์ไปตามเส้นทางที่ระบุไว้บนหน้าจอ นอกจากเกม Ski แล้วก็ยังมีเกมเล่นคนเดียวอีกหลายเกมแต่ต้องใช้ปืนแสง (light gun) ในการเล่น ทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มไปอีก จึงไม่แปลกที่ตลาดเกมเล่นคนเดียวยังไม่เติบโตในช่วงนี้ ต่อมาในภายหลังเครื่องเกมรุ่นแรก บริษัทที่ผลิตเครื่องเกมก็อัพเดตเวอร์ชั่นทำให้เกมที่เคยต้องเล่นกับผู้เล่นหลายคน มีระบบ A.I. ง่ายๆ ให้ผู้เล่นคนเดียวพอจะเล่นคลายเหงาได้บ้าง
กว่าที่เกมเล่นคนเดียวจะมาฮิตครั้งใหญ่จริงๆ ก็ล่วงมาถึงช่วงปี 1978 ที่เกมอาเขตเกมหนึ่งทำการปรับเปลี่ยนการเล่นวิดีโอเกมจากสไตล์เดิมๆ ที่เน้นการเล่นสองคนไม่ต่างกับฝั่งบอร์ดเกม มาเป็นเกมที่สามารถเล่นคนเดียวได้ เกมที่ว่าก็คือ Space Invaders จาก Taito บริษัทพัฒนาเกมของญี่ปุ่น ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรับบทเป็นป้อมปืนปกป้องการรุกรานจากมนุษย์ต่างดาวนั่นเอง
ความนิยมของเกม Space Invaders ทำให้เครื่องเกมคอนโซลรุ่นที่สอง (second generation console) อย่างเครื่อง Atari 2600 และเวอร์ชั่นอัพเดต นำเกมนี้มาใช้เป็นหัวหอกในการเจาะตลาดผู้ใช้งานตามบ้านที่อาจจะเคยกริ่งเกรงการเล่นเกมที่บ้าน กล้าจะคว้าเครื่องเกมที่่มีเกมเล่นคนเดียวกลับไปเล่นที่บ้านมากขึ้น หลังจากนั้น บริษัทเกมอื่นๆ ก็เริ่มพัฒนาเกมเล่นคนเดียวแนวอื่นตามมา อย่างเช่นบริษัท Nintendo ที่ได้พัฒนาเกม Donkey Kong กับ Mario Bros. ส่วนทาง Namco ก็ผลิตเกมอย่าง Galaga กับ Galaxian และทาง Activision ก็มีเกมผจญภัยตะลุยป่าชื่อว่า Pitfall! ตามมา แม้ว่าจำนวนเกมอาจจะยังไม่เยอะมากแต่ก็เริ่มมีความหลากหลายเกิดขึ้นแล้วในช่วงนี้
‘แกแมสแล้วว่ะ’ ยุครุ่งเรืองของเกมเล่นคนเดียว
จากช่วงแรกของการถือกำเนิดวิดีโอ จนถึงช่วงที่เครื่องเกมคอนโซลรุ่นที่สองได้รับความนิยม ตลาดเกมส่วนใหญ่มีการพัฒนาอย่างมากในฝั่งอเมริกา จนกระทั่งช่วงที่เครื่องเกมคอนโซลยุคที่สองเริ่มมีหลายเครื่องมากจนเกินไป (เค้กก้อนใหม่ใครก็อยากได้ส่วนแบ่ง) ตลาดวิดีโอเกมได้ชะงักไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากมีเกมที่เร่งผลิตมาเพื่อกะขายเอากำไรแบบง่ายๆ
ทีมงานพัฒนาเครื่องเกมคอนโซลหลายๆ เจ้าต้องกลับไปตั้งหลักแล้วย้อนคิดใหม่ จนกระทั่งทาง Nintendo ได้ปล่อยเครื่องเกม Family Computer (FamiCom) กับ Nintendo Entertainment Syestem (NES) ที่มีการปรับปรุง จอย หรืออุปกรณ์ควบคุมในการเล่นเกมที่มีความละเอียดมากขึ้น ทำให้ผู้พัฒนาเกมสามารถสร้างเกมที่หลากหลายได้มากขึ้น แม้ว่าในช่วงแรกทาง Nintendo จะใช้เกมดังจากยุคก่อนหน้าอย่าง Mario Bros. กับ Donkey Kong เป็นตัวดึงดูดใจให้คนมาเล่นเกม แต่เกมที่ดึงศักยภาพของเครื่องเกม FamiCom กับ NES ออกมาได้ ก็คือ Super Mario Bros. ที่ทั้งเล่นง่าย สนุก และกลายเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันของเครื่องเกม ตัวเกมดังเป็นพลุแตก ซึ่งถ้านับเฉพาะตัวเกมของตลับแท้ก็ทำยอดขายได้ไปราวๆ 40 ล้านตลับ ส่งผลให้วิดีโอเกมถูกมองในฐานะสื่อบันเทิงหลักอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อมีเกมใหม่ที่ผู้เล่นสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวละครได้ดั่งใจเกิดขึ้นแล้ว ผู้พัฒนาเกมเจ้าอื่นๆ จึงสามารถสร้างเกมที่มีความทันสมัยและน่าจดจำมากมายเกิดขึ้นในยุคนี้ อาทิ Metroid เกมแอ็กชั่นที่มีแผนที่กว้างใหญ่ซับซ้อนไม่ได้เดินหน้าลุยอย่างเดียว The Legend of Zelda เกมที่กลายเป็นรากฐานให้เกมแนวแอ็กชั่นผสม RPG ในยุคหลัง Castlevania เกมฟาดแส้ปราบแดร็กคิวลาที่ทั้งยากและท้าทาย Rockman/Megaman ที่ทำให้โลกได้รู้จักหุ่นยนต์ที่สามารถนำเอาอาวุธของศัตรูมาใช้เป็นอาวุธของตัวเองได้ Final Fantasy และ Dragon Quest สองเกมภาษาจากฝั่งญี่ปุ่นที่ผู้เล่นคนเดียวสามารถจมจ่อมไปกับเนื้อเรื่องที่พร้อมจะพลิกผันได้เสมอ
จากนั้นเครื่องเกมก็พัฒนาจากเกม 8 บิท (FamiCom) ไปเป็นเครื่องเกม 16 บิท (Super Famicom, SEGA Mega Drive) และ 32 & 64 บิท (PlayStation, SEGA Saturn, Nintendo 64) ซึ่งก็มีการพัฒนากราฟฟิกให้สวยงามขึ้น ดนตรีที่มีรายละเอียดมากขึ้น ตามยุคตามสมัย
อย่างที่เห็นได้ว่าตัวเกมเล่นคนเดียวเริ่มจะมีความลุ่มลึกมากขึ้น มีเนื้อเรื่องมากขึ้น บางเกมเริ่มใส่ฉากเคลื่อนไหวมาเล่าเรื่อง ผู้พัฒนาเกมชื่อดังที่เริ่มทำงานในยุคนี้หลายต่อหลายคนก็ยังทำงานอยู่ในวงการจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงว่าเกิดภาวะคู่แข่งกันระหว่าง Nintendo กับ SEGA ก่อนที่จะมี Sony กับ Microsoft เข้ามาร่วมวงให้แฟนๆ ของแต่ละค่ายต้องมาถกกันว่า ใครกันที่พัฒนาทั้งในส่วนเครื่องเกมและตัวเกมได้ดีกว่า
ในช่วงปี 1980-2000 จึงเป็นจุดที่ทั้งวงการวิดีโอเกมไปถึงจุดต่ำสุด ก่อนที่จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิด ทั้งนี้ในยุคนี้เกมสำหรับเล่นหลายคนกลายเป็นแค่ออพชั่นเสริมของตัวเกมหลักเท่านั้น
เกมเฉพาะถิ่นบนคอมพิวเตอร์ กับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สร้างกระแสเกมเล่นหลายคน
จากที่บอกไปว่าเกมเล่นคนเดียวได้รับความนิยมค่อนข้างยาวนาน (นับตั้งแต่เครื่อง FamiCom ยาวไปจนถึง PlayStation 2) โดยเฉพาะช่วงก่อนหน้าปี 1990 ที่คอมพิวเตอร์มีบทบาททางด้านเกมลดลงไปอย่างมาก และเริ่มกลายเป็นอุปกรณ์สำหรับทำงานแทน
จนกระทั่งในช่วงปี 1990 ที่เริ่มมีการพัฒนาเกมให้เหมาะสมกับการเล่นบนคอมพิวเตอร์มากกว่า อย่างเช่นเกมจำลองเหตุการณ์ต่างๆ อย่าง Sim City, Civilization เกมแนววางแผนการรบคล้ายเกม Dune, Warcraft หรือ StarCraft
แต่ที่ได้รับความนิยมแบบไม่เกรงใจใครก็ต้องยกให้ เกมแนวยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง (first person shooter) แบบ Wolfenstein 3D กับ Doom ที่นิยมอย่างมากในยุคนี้ ระดับที่ว่าเกม Doom ถูกบรรจุไว้ในคอมพิวเตอร์ทั่วโลก มากกว่า Windows เสียอีก และตัวเกมยังกลายเป็นเกมแนวยิงบุคคลที่หนึ่งที่จะต้องลงขายบนเครื่องเกมแทบทุกแพตฟอร์ม จากเดิมที่เกมแนวดังกล่าวแทบไม่มีโอกาสวางจำหน่ายบนเกมคอนโซลเสียเลย
แม้ว่าเกมทั้งหลายที่กล่าวถึงจะเล่นได้อย่างสนุกในการเล่นคนเดียว หลายๆ เกมก็ใส่ระบบการเล่นหลายคนเอาไว้ด้วย เพียงแค่ในยุคที่ราคาของคอมพิวเตอร์ยังแพงเอาเรื่อง รวมไปถึงว่าการเชื่อมต่อของยุคนั้นที่ยังไม่ราบรื่นมากพอ การเล่นเกมหลายคนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตหรือ LAN จึงยังไม่บูมในวงกว้างในช่วงต้นปี 1990
เวลาผ่านไปจนถึงช่วงต้นของยุค 2000 มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายๆ ประการ คอมพิวเตอร์เริ่มมีราคาถูกลงกว่ายุคก่อนหน้า อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกลายเป็นบริการที่คนทั่วไปสามารถจับต้องได้ ฝั่งเกมก็มี MOD ดังของเกม Half-Life อย่าง Counter-Strike ที่ทำให้ผู้เล่นหลายต่อหลายคนอินกับการเล่นแบบแข่งขันแยกทีมได้ไม่ยาก แถมยังรู้สึกสนุกสนานเร้าใจ
หรือถ้ากลับมามองในประเทศไทย ในช่วงต้นยุค 2000 นี่เองที่ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เปิดให้บริการกันแทบทุกหนแห่ง ตามมาด้วยการเปิดให้บริการเกมแนว MMORPG ที่มีค่าบริการถูกลงจากเดิม จากค่าบริการหลักพันบาทก็ลดเหลืออยู่เพียงราวๆ หลักร้อยเท่านั้น ทำให้ใครต่อใครก็มีโอกาสได้ลองใช้คอมพิวเตอร์กันบ้าง ฝั่งเกมคอนโซลในช่วงต้นยุค 2000 อย่างเครื่อง PlayStation 2 กับ XBox รุ่นแรก ก็เริ่มมีบริการออนไลน์เพื่อให้ใช้เล่นเกมแข่งขันกัน หรือเล่นเกม MMORPG ได้บางเกม
แล้วเกมแนวเล่นหลายคนก็เริ่มได้รับความนิยมอย่างมาก พร้อมๆ กับการที่เกมยิงแนวบุคคลที่หนึ่ง โดยมีฉากหลังเป็นสงครามบนโลกกับเกมแนวไซไฟบูมขึ้นในช่วงปี 2003 ด้วยความที่ประเด็นการเล่าเรื่องของแต่ละเกมมีความใกล้เคียงกัน จึงมีความพยายามสร้างความแตกต่างด้วยวิธีการแบบอื่นๆ แทน หนึ่งในวิธีการเหล่านั้นก็คือการสร้างโหมดผู้เล่นหลายคนให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะไม่มีกฎกติกามารยาทในการแข่งขันมากนัก ก็เริ่มมีการคุมตัวละคร จัดอันดับ เพื่อทำให้การเล่นเกมในแต่ละครั้งมีความแตกต่างกันไป อย่างเช่น Call of Duty ที่เริ่มต้นซีรีส์ด้วยการเล่าเรื่องในเกมให้มีบรรยากาศเหมือนกับภาพยนตร์แอ็กชั่นแล้วมีระบบการเล่นหลายคนเป็นน้ำจิ้ม ภายหลังตัวเกมสำหรับผู้เล่นคนเดียวนั้นมีรายละเอียดที่ลดลง แล้วไปให้ความสำคัญกับการเล่นหลายคนให้มีอาวุธที่หลากหลายไปแทน
ตัวเกมแนววางแผนการรบที่เดิมทีโฟกัสกับการเล่าเนื้อเรื่องอันยิ่งใหญ่แบบ Dune หรือ Warcraft ก็เริ่มมีการพัฒนาโหมดเล่นแข่งกันที่สามารถจบได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่มีจะผู้พัฒนา MOD ที่ย่นย่อการต่อสู้เหลือเพียงผู้เล่นไม่กี่คนต่อสู้กันบนสังเวียนผ่านระบบ LAN ไม่ก็ระบบออนไลน์ และทำให้เกิดเกมแนว Multiplayer Online Battle Arena หรือ MOBA ไปในที่สุด
หรือถ้าจะสรุปแบบสั้นๆ ก็พอบอกได้ว่า ในช่วงยุคต้น 2000 นี้ แม้จะมีเกมที่เล่นคนเดียวที่โดดเด่นมากๆ ออกมาให้เราได้เล่นกัน อย่าง Grand Theft Auto San Andreas, Metal Gear Solid 1-2, Star Wars Knight of The Old Republic ฯลฯ แต่กระแสสังคมของคนเล่นเกมก็พร้อมต้อนรับเกมเล่นหลายคนไปเรียบร้อยแล้ว
สถานะการณ์ของเกมเล่นคนเดียวในปัจจุบัน และสิ่งที่น่าจะเป็นอนาคต
เกมสำหรับผู้เล่นหลายคนกลายเป็นที่นิยมขึ้นมาด้วยเหตุผลทั้งที่ว่าตัวเกมเปิดให้เล่นฟรีบ้าง มีสไตล์การเล่นที่สนุกสนานเร้าใจบ้าง ทั้งยังมีอรรถรสของการแข่งขันที่ผู้เล่นมีโอกาสได้แสดงให้สังคมรู้ถึงความเก่งกาจของตัวเอง …แล้วเกมเล่นคนเดียวล่ะ เกมเหล่านี้มีจำนวนลดลงหรือเปล่า?
สำหรับนักเล่นเกมที่ผ่านยุค 1980-1990 อาจจะรู้สึกว่าตัวเกมเล่นคนเดียวในสมัยนี้มีจำนวนที่ลดลงอย่างมาก เกมที่พัฒนามาสมัยนี้หลายเกมก็เน้นเชิญชวนผู้เล่นหน้าใหม่ ทำให้หลายเกมเข้าถึงได้ง่ายไม่ต้องเสียเวลาทำความเข้าใจอย่างลุ่มลึก แถมบริษัทพัฒนาเกมบางแห่งก็ออกปากว่าเกมเล่นคนเดียวได้ตายลงไปเสียแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้พัฒนาเกม รวมถึงสื่อสายวิดีโอเกมหลายคนทักท้วงว่า ‘เกมเล่นคนเดียวไม่มีวันตาย’ ก่อนจะอ้างถึงยอดขายเกมสำหรับเล่นคนเดียวที่ประสบความสำเร็จในยุคหลังอย่าง GTA V, Persona 5, Resident Evil 7, Nier: Automata ฯลฯ
แต่ไม่ว่าจะเป็นเกมเล่นคนเดียวหรือเกมเล่นหลายคน ก็คงไม่มีฝั่งไหนตายไปเสียทีเดียว จากที่เล่าย้อนประวัติศาสตร์เกมมาจะเห็นได้ว่า ยุคแรกเกมสำหรับผู้เล่นหลายคนก็ได้รับความนิยม จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งเกมแนวผู้เล่นคนเดียวก็ได้รับความนิยมแซงหน้า พอมาอีกยุคเกมสำหรับผู้เล่นหลายคนที่มีรายละเอียดมากขึ้นก็กลับมารับความนิยมอีกครั้ง ถ้าลองสังเกตดีๆ ทุก ‘จังหวะ’ ที่เกมแนวไหนเป็นที่นิยม ก็เป็นผลจากการที่ผู้บริโภคแสดงความต้องการเกมในลักษณะนั้น ก่อนที่จะผู้พัฒนาที่สามารถสร้างเกมที่สอดคล้องกับแต่ละ ‘จังหวะ’ นั่นเอง
อย่างยุคที่เครื่องเกมคอนโซลรุ่นที่สองเสื่อมความนิยมเพราะตัวเกมในช่วงนั้นเน้นเร่งออกมาขายไม่ได้โฟกัสการเล่น ผู้พัฒนาเกมอย่าง Nintendo ก็คิดใหม่ทำใหม่ สร้างเกมอย่าง Super Mario Bros. ขึ้นมา ในจังหวะที่เกม RPG วนเวียนอยู่ในโลกของแฟนตาซีที่แท้จริงจนแนวแฟนตาซีย้อนยุคล้นตลาด Final Fantasy VII ก็ปรากฎตัวออกมาแสดงส่วนผสมว่าโลกแฟนตาซีล้ำยุคก็เป็นไปได้ จังหวะที่ทีมพัฒนาเกม Sonic เสียศูนย์ว่าจะพัฒนาเกมแบบไหนให้ถูกใจแฟนกลุ่มเดิมและยังต้อนรับแฟนใหม่ พวกเขาก็เปิดรับทีมพัฒนาเกมอินดี้มาช่วยพัฒนาเกม Sonic Mania หรือในช่วงที่ Resident Evil เปลี่ยนแนวไปเป็นหนังแอ็กชั่นในภาค 6 ก็เป็นทีมงาน CAPCOM เองที่ทำให้เกมกลับน่ากลัวชวนสยองอีกครั้งใน Resident Evil 7
ในยุคนี้ที่เงินลงทุนการสร้างเกมนั้นสูงมากขึ้นถึงระดับหลักร้อยล้านดอลลาร์ เราก็อาจจะได้เห็นเกมกลุ่มหนึ่งที่ทำเงินให้กับบริษัทเกมต่างๆ ออกมามากเสียหน่อย แต่อีกมุมหนึ่งพวกเขาก็พยายามนำเงินกำไรเหล่านั้นไปหมุนเวียนเพื่อซื้อเวลากับเทคโนโลยีในการสร้างเกมรุ่นใหม่ที่ดีกว่าเดิม เพราะฉะนั้นการตราหน้าว่าเกมประเภทหนึ่งทำให้เกมอีกประเภทหนึ่ง ‘ตาย’ คงไม่ถูกนัก
เพียงแค่ว่า ณ ช่วงจังหวะหนึ่งเกมอีกแบบอาจจะมีมากกว่าเกมอีกหนึ่งแบบก็เท่านั้นเอง แต่สุดท้ายเกมที่หายไปก็มีโอกาสกลับมาพร้อมกับการพัฒนาใหม่ๆ ที่จะทำให้คอเกมทุกคนเล่นแล้วต้องติดหนึบเหมือนที่เคยเป็นมาอย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก