คุณสมบัติพิเศษข้อหนึ่งของสื่อที่เป็นโซเชียลมีเดียคือการโต้ตอบไปมาระหว่างกัน นั่นทำให้มันกลายเป็นสื่อที่สนุกและเร้าใจแบบที่สื่ออื่นให้ได้ไม่เทียบเทียม แต่บางคราก็กลายเป็นดราม่าที่มีชาวมุงจำนวนมากเข้าไปแจมความเห็นหรือเป็นเพียงผู้ชมด้วยอารมณ์สนุกสนานได้เช่นกัน
ดราม่าฝั่งบันเทิงนาทีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องของแฟนเพจวิจารณ์ภาพยนตร์ ละคร และเพลงชื่อดังอย่าง อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก นั่นเอง
ก่อนอื่นเราขอสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกันก่อนว่า ที่ The MATTER ติดตามมาได้ความว่าอย่างไรบ้าง
มีข่าวการปิดเว็บไซต์นางงามชื่อดังเพราะขายสื่อลามกแบบค่อนข้างโจ่งแจ้ง >>ค้นพบว่าผู้ดูแลเว็บไซต์ดังกล่าว มีชื่อที่ใกล้เคียง กับ แอดมินของ เพจอวยไส้แตกฯ >>ด้วยความใคร่รู้ของหลายท่าน จึงมีการไปสอบถามทางเพจ ค้นพบว่าเพจเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงเรื่องนี้ >>ในเวลาต่อมา เรื่องราวนี้ได้ลงสู่ดินแดนที่รวมเหล่า กูรู และ กูรู – เว็บไซต์พันทิป >>อีกครั้งที่ความใคร่รู้ ทั้งจากผู้หวังดี ผู้หวังไม่ดี รวมถึงผู้ที่เข้ามามุงทีหลังก็ไปถามทางเพจ >>เกิดเหตุการณ์ที่มีการลบคำถาม และแบนคนที่ถามจากแฟนเพจ >>ปัญหาจากกลุ่มคนที่เจอเช่นนี้ หวนคืนสู่ พันทิป >>จากเดิมที่มีคนไม่พอใจเพจอยู่แล้ว ทำให้เกิดกระแสโจมตีขึ้น >>นักสืบพันทิปคุ้ยเจอว่าเพจดังๆ หลายเพจ มี ผจก. คนเดียวกัน เขาน่าจะรู้อะไรกันบ้าง >>สาย ผจก. เพจบอกว่าเรื่องนอกกิจการเพจเขาไม่รู้หรอก ช่วยดูแลงานที่วิ่งเข้าเพจเพียวๆ เรื่องที่เจ้าของเพจไปเจอ ถือว่าเป็นการกระทำส่วนตัวนะ >> คุณ Frebber หนึ่งในแอดมินเพจ อวยไส้แตกฯ ได้ประกาศแจ้งขอยกเลิกการทำหน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เพจเคยนำเสนอ จนเกิดความพอใจชุมมุงชน >> แล้วเรื่องราวก็ดำเนินต่อไปในพิภพไซเบอร์
ถึงเรื่องราวขั้นต้นจะจบลงแล้วเหลือเพียงเรื่องคดีความที่จะดำเนินต่อไป ความน่าสนใจที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นี้คือ กระแสบางประการของผู้แสดงความเห็นกับดราม่าคราวนี้ไม่ได้ออกมาปกป้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งยังตั้งคำถามที่น่าสนใจ เช่น “แต่ก่อนเพจนี้เคยวิพากษ์คนอื่นไว้ว่าควรเลิกทำหน้าที่สื่อ แต่ครั้งนี้กลับไม่กล้าออกความเห็นเสียเอง” หรือ อย่าง “ตอนด่าคนอื่นด่าแรง พอโดนด่าเสียเองดันอาย”
ความเห็นในทิศทางนี้น่าสนใจอย่างไร จากเดิมเราจะเห็นการแสดงความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือถ้าจะตั้งคำถาม มักเป็นคำถามที่มุ่งไปยังตัวข่าวเสียมากกว่าคนนำเสนอข่าว แต่เหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีคนคัดค้านและตั้งคำถามเกี่ยวกับการกระทำและจรรยาบรรณของสื่อ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้เสพสื่อเองก็เริ่มตั้งคำถามกลับไปยังตัวสื่อ