ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลายๆ คนน่าจะได้เห็นภาพถ่ายเซ็ตหนึ่งที่เป็นการพลิกมุมมอง โดยนำเอาสาวสวยหน้าใส 4 คนมาแต่งตัวในชุดนักเรียนชายเหมือนเพื่อนๆ จาก 4 โรงเรียนมาพบปะในท่าทางแบบที่นักเรียนชาย ณ สยามแสควร์ ย่านวัยรุ่นใจกลางเมือง ที่ไม่มีน้ำพุเซ็นเตอร์พอยท์อย่างที่คนเขียนคุ้นเคย… อุ๊ย เผลอบอกอายุ
ภาพที่ออกมามีทั้งชมว่าน่ารัก และคอมเม้นท์ว่าช่างภาพ นางแบบในหลายแง่มุม เช่น “การเอาสาวๆ มาใส่ขาสั้นจะทำให้พวกเธอดูอวบเกินจริง “อาจจะเป็นคดีความได้เพราะการกระทำเช่นนี้อาจจะเป็นการเอาเครื่องแบบนักเรียนมาล้อเล่นแบบไม่สมควร” และนี่ก็เป็นเพียง “แค่มโนของหญิงสาวที่ตีความเรื่องโรงเรียนชายล้วนในแบบคิดเองเออเองเท่านั้น”
เจอความเห็นแบบนี้แล้วเราก็อยากพูดถึงประเด็นหนึ่งที่หลายคนคิดว่า คงเป็นเพียงมโนคติของเพศหญิงที่มองไปยังผู้ชายกลุ่มหนึ่งแล้วคาดว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาจะต้องเป็นแบบที่พวกเธอคาดการณ์ไว้ เรากำลังพูดถึงสื่อบันเทิงแบบหนึ่ง ที่ตอนนี้มีที่ยืนเป็นของตัวเองอย่างสง่าผ่าเผยในปัจจุบันอย่าง การ์ตูน Yaoi นั่นเอง
Yaoi คืออะไร และเริ่มต้นจากที่ไหน?
การ์ตูน Yaoi เป็นการ์ตูนกลุ่มย่อยของญี่ปุ่น คือการ์ตูน Y อย่างหนึ่งที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีเพศสภาพ (Gender) เป็นชาย และเลือกที่มีเพศวิถี (Sexuality) รักกับเพศชายด้วยกัน ในการ์ตูน Yaoi แต่ละเรื่องก็จะมีปมกับเรื่องราวที่ทำให้เกิดความรักแตกต่างกันไป ซึ่งถ้าเรียกแบบคนที่เหมารวมสักหน่อยก็จะมองว่าการ์ตูน Yaoi ก็คือ การ์ตูนชายรักชาย หรือการ์ตูนเกย์ นั่นเอง
จริงๆ แล้วการ์ตูนความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายกับเพศชายยังมีแยกย่อยลงไปอีก ในที่นี้ขอยกการแบ่งประเภทการ์ตูนตาม วิทยานิพนธ์ ‘YAOI : การ์ตูนเกย์โดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง’ ซึ่งได้แยกประเภทจาก การ์ตูนที่ผู้หญิงผลิตสำหรับผู้หญิงเป็น Yaoi, Bi-Shounen ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอตัวละครหนุ่มหน้าสวย และ Shounen-Ai ที่แม้จะมีตัวละครหลักเป็นชายสองคนที่มีความรักต่อกันและกัน แต่สิ่งที่โฟกัสที่ชีวิตของตัวละครแทน แต่เราไม่ได้ลืมแนว Bara, Ojicon, Shotacon หรือ Kemono (Furry) นะ แต่มันอยู่ในกลุ่มย่อยลงไปอีกจึงขอละไว้พูดถึงในโอกาสที่สมควรเป็นการต่อไป
ส่วนคำว่า Yaoi นั้นแรกเริ่มเดิมทีก็ไม่ใช่คำที่สื่อถึงเรื่องของชายรักชายแต่อย่างใด แต่มาจากประโยคประชดประชัน ที่ว่าการ์ตูนชายรักชายในยุค 1970 ที่มาจากคำว่า YAma nashi, Ochi nashi, Imi nashi (山[場]なし、落ちなし、意味なし แปลแบบกล้อมแกล้มได้ว่า “ไม่มีจุดพีค ไม่มีจุดสรุป ไม่มีประเด็นอะไรเลย”) เนื่องจาก Yaoi จะไปโฟกัสกับความสัมพันธ์ทางเพศมากกว่าการ์ตูนอีกสองแบบ ก่อนที่คำดังกล่าวจะถูกเหล่า สาว Y รุ่นเดอะมาแซวในภายหลังว่า YAmete, Oshiri ga Itai (やめて お尻が 痛い แปลกล้อมแกล้มได้ว่า “พอเถอะ ฉันเจ็บกันจะแย่แล้ว!”) อันเนื่องจาก การ์ตูน Yaoi ในช่วงนั้นมุ่งเน้นไปทางความสัมพันธ์ของตัวละครมากกว่าการเดินเรื่อง
การ์ตูน Yaoi ถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1970 ในฐานะการ์ตูนทำมือ หรือ โดจินชิ ส่วนการ์ตูนที่ถูกยอมรับว่าเป็น Yaoi เรื่องแรกที่สามารถขายบนดิน(ของญี่ปุ่น)ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ก็คือ เรื่อง Kaze To Ki No Uta เหตุหนึ่งที่การ์ตูน Yaoi รุ่นเดอะที่ผู้เขียนฟาดฟันอยู่ 9 ปี จึงได้รับตีพิมพ์นี้ได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่านเพศหญิง และผู้อ่านเกย์ เพราะเรื่องราวไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องเพศของสองตัวละครเอก แต่ยังเล่าไปถึงประวัติศาสตร์ของยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผลร้ายจากการการล่วงละเมิงทางเพศต่อเด็ก ไปจนถึงการเหยียดชาติเหยียดชนชั้นอีกด้วย
Yaoi กับการเข้าสู่โลกสมัยใหม่
ถึงแม้ว่าการ์ตูน Yaoi อย่าง Kaze To Ki No Uta จะวางรากฐานให้การ์ตูน Yaoi สามารถโดดขึ้นมาอยู่บนดินเทียบเคียงกับการ์ตูนทั่วไป มิหนำซ้ำยังทำให้เห็นว่า การพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่แข็งแรงได้ ในช่วงปลายยุค 1980 จนถึงช่วงกลาง 1990 เป็นยุคที่การ์ตูนสำหรับเด็กเขียนให้ผู้ชายเป็นใหญ่ ตัวละครหญิงในยุคนั้นต่างเป็นเพียงแค่ตัวละครอ่อนแอหลังฉากและรอคอยให้ผู้ชายมาเป็นผู้ช่วยเหลือ หรือไม่ก็กลายเป็นวัตถุทางเพศไปเลย Yaoi จึงกลายเป็นพื้นที่สำคัญของผู้หญิงในการแสดงพลังของเพศหญิง ทั้งในเชิงเพศสภาพ (การ์ตูน Yaoi ผู้ชายจะถูกกดขี่ทางเพศแทน) หรือแม้แต่ในเชิงธุรกิจ (เนื่องจากคนทำงาน Yaoi มีแต่ผู้หญิง)
การแบ่งข้างทางเพศในการ์ตูนคงสภาพอยู่ระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งนักเขียนสายเลือดใหม่ในยุค 90s อย่าง Clamp เริ่มเขียนงานในฐานะมืออาชีพ และสร้างผลงานที่ทำให้ ‘ความรักของคนหลากหลายทางเพศ’ เป็นเรื่องปกติในการ์ตูนของพวกเธอมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิง หรือแม้แต่รักข้ามเผ่าพันธุ์ Clamp ก็จัดมาให้แล้ว (สนใจลองอ่านรายละเอียดเรื่อง Clamp ที่นี่)
ในช่วงกลางปี 1990 ที่ Clamp กำลังดังขึ้นมานี่เอง การ์ตูน Yaoi แบบที่นำเสนอเพื่อลูกค้ากลุ่มเกย์ (ด้วยการตีพิมพ์ผ่านหนังสือเกย์) ก็เปิดตัวอย่างชัดเจนในยุคนี้เช่นกัน จึงพอบอกได้ว่าผู้มีเพศสภาพชายได้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดบนดินบ้างหลังจากเดิมที่พวกเขาเองก็มีตัวตนอยู่เฉพาะในฟากโดจิน (Kusomiso Technique ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับฉาก ‘Yaranaika’ เป็นโดจินครับ)
นอกจากนั้นแล้วในช่วงกลางของยุค 1990 การ์ตูนแนว Yuri หรือ หญิงรักหญิง ก็ออกมาให้เห็นในรูปแบบ หนังสือการ์ตูนและอนิเมชั่นมากขึ้น จนทำให้เส้นแบ่งทางเพศในโลกฟากการ์ตูนบางลง และเมื่อเข้าสู่ช่วงต้นของยุค 2000 อินเทอร์เน็ตก็ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าใจว่า การ์ตูน Yaoi หรือ Yuri เป็นการ์ตูนทางเลือกแนวหนึ่ง ซึ่งผู้อ่านไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึกลำเอียงเข้าเพศใดเพื่อเสพงานเหล่านี้
Yaoi กับคนไทย
ถึงจุดกำเนิดของ Yaoi จะอยู่ห่างไกลจากชาวไทยไปอีกประเทศ แต่ในความเป็นจริง ชาวไทยอาจไม่ได้ห่างเหินจากเรื่องเหล่านี้มากนัก เพียงแต่เด็กยุค 90s อาจไม่ได้ตั้งใจเสพการ์ตูน Y แบบโดยตรงเท่าใดนัก อย่างสาว Y ที่ผู้เขียนเคยมีโอกาสเสวนามา ก็สนใจการ์ตูน Y จากการที่พวกเธอได้ติดตามการ์ตูนอย่าง เซนต์เซย์ย่า หรือ ซามูไรทรูปเปอร์ แล้วพบว่า ‘มิตรภาพลูกผู้ชายของพวกเขาช่างงดงาม’ จนกลุ่มสาว Y เอาไป ‘จิ้น’ กันต่อว่า หนุ่มๆ ทั้งหลายจะมีชีวิตส่วนตัวแบบใด ซึ่ง หนุ่ม Y ทั้งที่เป็นเกย์ และเป็นชายแท้ๆ หลายๆ ท่าน ก็ไม่ได้เข้าสู่สังคม Y ด้วยการ์ตูน Yaoi โดยตรงแต่เสพการ์ตูนปกติเหมือนกับสาว Y ที่กล่าวถึงขั้นต้น เช่นกัน
ส่วนคำถามว่าหนังสือการ์ตูน Yaoi เรื่องไหนที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นเรื่องแรก ที่พอจะหาข้อมูลเจอก็คือเรื่อง From Eroica With Love (ใช้ชื่อไทยว่า 2 คนเฉือนคม) ที่นักอ่านหลายคนนึกว่าเป็นเรื่องของพี่น้องผู้ใช้พลังจิตพร้อมกลิ่นอายตลก แต่กลับกลายเป็นว่า ตัวละครเอกคือจอมโจรเอรอยก้าที่เป็นเกย์อย่างเปิดเผยทั้งยังจีบพี่ชายคนโตในกลุ่มสามพี่น้องไปด้วย
ส่วนในฝั่งนักเขียนไทยนั้น ในช่วงต้นยุค 1990s มีเพียงงานใต้ดินที่ทำการ์ตูนติดเรทสำหรับเกย์อย่างชัดเจน แต่งานในลักษณะ Yaoi มาเบิกบานมากขึ้นเมื่อยุคอินเทอร์เน็ตมาถึง ทำให้งาน Yaoi ปรากฏตัวขึ้นมาขายตามงานโดจินชิอยู่บ้าง
ทั้งนี้การ์ตูน Yaoi และ Yuri ได้ห่างหายจากร้านหนังสือการ์ตูนไทยไปช่วงหนึ่ง อันมาจากเหตุ ‘หลุมดำ’ ที่ทำให้สังคมตื่นตูมกับการ์ตูนที่ผิดจากกรอบสังคมเดิม ทำการ์ตูน Yaoi และ Yuri หาซื้อได้ยากในช่วงหนึ่ง
โลกปัจจุบัน กับ Yaoi
จากความพยายามในการลดกำแพงและเปิดกว้างทางเพศของคนทั่วโลก ทำให้การ์ตูน Yaoi เริ่มเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็เสพได้ง่าย เนื้อหาเริ่มใกล้ตัวมากขึ้น นำเสนอเรื่องทางเพศน้อยลง ยังมีบ้างเพื่อให้เห็นแนวการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของกลุ่มคนรักหลากหลายทางเพศมากขึ้น นักเขียนที่เคยบรรเลงปากกาอยู่ในวงการใต้ดิน ก็ผันตัวเองขึ้นมาเขียนงานบนดินมากขึ้น
เนื้อหาของการ์ตูน Y ที่เดิมนำเสนอเลี่ยงการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ที่มีรสนิยมชอบเพศตรงข้าม ในปัจจุบันก็สามารถนำเสนอในประเด็นของการอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น เรื่องกิจกรรมทางเพศก็ละทิ้งไปเกือบทั้งหมดได้แล้ว อย่างเรื่อง เมื่อวานเจ๊ทานอะไร ที่เล่าเรื่องเกย์วัยกลางคนใช้ชีวิตในญี่ปุ่นด้วยคำถามคาใจหลายๆ ประการ ซึ่งเป็นการก้าวข้ามประเด็นที่ว่าการ์ตูน Yaoi ต้องมีแต่ตัวละครรูปลักษณ์สวยงามในวัยที่สมบูรณ์ที่สุดเท่านั้น
หรือเรื่อง Otouto no Otto (My Brother’s Husband) ที่กล้าหาญในการนำประเด็นการแต่งงานของคนเพศเดียวกันมาบอกเล่าในประเทศญี่ปุ่น ที่ตอนนี้ก็ยังมีความ ‘ขยะแขยง’ คู่แต่งงานเพศเดียวกันอยู่ โดยเล่าผ่านมุมมองของชาวต่างชาติ จนทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับรางวัล Excellence Award จากงาน Japan Media Arts Festival ประจำปี 2015
ตอนนี้การ์ตูน Y ไม่ว่าจะ Yaoi หรือ Yuri ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคมแล้ว สังเกตได้โดยง่ายจากการที่ร้านค้าหลายร้าน เว็บไซต์หลายแห่ง หรือแม้แต่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ก็ใช้คำว่าเรียก ‘หนังสือ Y’ อย่างเปิดเผย ทั้งที่ยุคหนึ่งเคยต้องเอาของเหล่านี้หลบออกจากหน้าร้าน
ไม่ใช่เพราะผลทางการตลาด หรือเป็นเพราะคนชอบผู้มีเพศภาวะเดียวเผยตัวกันมากขึ้น แต่เป็นเพราะสังคมเปิดใจให้พื้นที่ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าสมัยก่อน และงานอย่างการ์ตูน Y หรือ นิยาย Y ก็เป็นวรรณกรรมร่วมสมัยที่สามารถเสพเพื่อความบันเทิงได้
ดังนั้นถ้าหากเราจะเปิดใจให้กับเรื่องรูปถ่ายที่พูดไปตอนต้นบทความในฐานะงานศิลป์ชิ้นหนึ่งก็น่าจะพอได้เช่นกันนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
วิทยาพนธ์ YAOI : การ์ตูนเกย์โดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิง โดย ญานาธร เจียรรัตนกุล