ช่วงนี้กระแสการถ่ายสตรีทกำลังเป็นที่น่าสนใจ หลายคนอยากลองหันมาถ่ายสตรีท โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ที่พอถ่ายไปสักพักก็คงอยากลองฝีมือ อยากส่งเข้าประกวดดูบ้าง พอมาคิดดูว่า เมืองไทยก็ไม่ค่อยจะเปิดรับภาพถ่ายแนวสตรีทสักเท่าไหร่ ที่ทำได้ก็คงต้องส่งไปต่างประเทศอย่างเดียว…
แต่ก็อาจจะต้องเปลี่ยนความคิด เพราะที่เมืองไทยตอนนี้ได้มีการงานประกวดภาพถ่ายแนวสตรีทแบบจริงจังขึ้นแล้ว ชื่อว่า ‘Young Street Photography Contest’ จัดโดย The Jam Factory ร่วมกับ Street Photo Thailand โดยเปิดรับเฉพาะผู้มีอายุไม่ถึง 25 ปีเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ผ่านเข้ารอบ 20 คน จะได้เข้าร่วม workshop กับกลุ่ม SPT และผู้ชนะ 3 คนจะได้ทั้งของรางวัลและได้บินไปมาเก๊า พร้อมทั้งยังได้แสดง exhibition ร่วมกับ SPT อีกด้วย ถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เอง The MATTER จึงชวน ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ผู้เป็นหัวหอกในการจัดงานนี้ มาพูดถึงว่าอะไรเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดงานนี้ ทำไมถึงเจาะจงกลุ่มเยาวชน และในอีก 5 ปีข้างหน้า เธอมองอนาคตวงการสตรีทเป็นอย่างไร
The MATTER : อยากทราบที่มาของงาน Young Street Photography Contest
ผ้าป่าน : เริ่มต้นมาจากเราอยากกระจายข้อมูลความรู้การถ่ายภาพเชิงสตรีทออกไปให้กว้างขึ้น ตอนแรกมันไม่ถูกคิดขึ้นจากงานประกวด แต่เป็นการ roadshow ไปพูดตามมหาวิทยาลัยเพื่อให้คำแนะนำแก่น้องๆ ที่สนใจการถ่ายภาพประเภทนี้ แล้วมันก็ถูกพัฒนาต่อ
เราคิดว่าประเทศเรามีงานประกวดถ่ายภาพค่อนข้างเยอะและจัดขึ้นบ่อยนะ แต่งานประกวดที่เน้นผลงานภาพถ่ายเชิงสตรีทนี่ถือว่าน้อยมากๆ เอาจริงๆ ยังไม่เคยเห็นการจำกัดประเภทการประกวดสำหรับสตรีทเลย สตรีทฮาร์ดคอร์เมืองไทยเลยต้องส่งผลงานไปประกวดที่ต่างประเทศอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้วคนไทยเก่ง และเราก็มีคณะกรรมการทรงคุณวุฒิด้านนี้กันอยู่หลายท่าน ฝีมือเด็ดๆ กันทั้งนั้น (เวทีประกวดระดับโลกหลายเวทีก็มีเชิญช่างภาพไทยบางท่านไปร่วมเป็นกรรมการ) นั่นเลยเป็นที่มาที่เราเชิญกลุ่ม Street Photo Thailand เข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์จัดงานนี้กับเรา
The MATTER : อะไรคือความแตกต่างของงาน Young Street Phography Contest 2017 กับงานประกวดถ่ายภาพสตรีทอื่นๆ
ผ้าป่าน : นอกจากจะเป็นเวทีการประกวดภาพสตรีทที่เจาะจงเฟ้นหาเด็กรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 25 ปีโดยเฉพาะแล้ว ยังเป็นงานประกวดที่น่าจะให้ผลครบถ้วนมากๆ อย่างที่บอกว่าเราเริ่มต้นด้วยความคิดที่จะไป roadshow ตามมหาวิทยาลัย ความตั้งใจแรกอันนี้ก็ยังอยู่ และถูกพัฒนาต่อให้น้องๆ สามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเพื่อชิงรางวัลได้ด้วย มีการจัดเวิร์กช็อปสำหรับผู้เข้ารอบ และผู้ชนะ 3 อันดับที่จะได้รางวัลเป็นกล้องพร้อมอุปกรณ์ก็ยังได้บินไปลงสนามจริงกันที่มาเก๊า และจบสุดท้ายออกมาเป็นการแสดงงานในแกลเลอรีอีก เรียกว่าครบ!
The MATTER : มีเกณฑ์การตัดสินรูปอย่างไร รูปไหนที่เป็นรูปสตรีทและรูปไหนที่ไม่ใช่
ผ้าป่าน : จริงๆ ภาพถ่ายสตรีทนี่เรียบง่ายมากๆ คือเป็นรูปภาพที่ถ่ายใน public space ที่ไม่จัดฉาก ไม่รีทัชเพิ่มเติมหรือตกแต่งภาพเกินจริง เท่านั้นเลย
The MATTER : มีทริกสำหรับผู้ที่สนใจในการประกวดการถ่ายสตรีทยังไงให้เข้าตากรรมการ
ผ้าป่าน : การถ่ายภาพสตรีทเราจัดฉากไม่ได้ก็จริง แต่เราใส่ความสร้างสรรค์ สร้างเรื่องราว หรือเพิ่มเสน่ห์ให้กับภาพของตัวเองได้ แล้วถ้าถ่ายทอดออกมาให้ไม่เหมือนใครได้อีก รางวัลก็ไม่น่าจะหนีไปไหน ซึ่งมันก็ต้องอยู่ที่ฝีมือและดวงชะตาด้วยจริงๆ (แนะนำให้ไหว้พระก่อนออกจากบ้าน)
The MATTER : ผู้ชนะ 3 อันดับจะได้ไปลงสนามถ่ายรูปที่มาเก๊าด้วย คิดว่ามาเก๊ามีลักษณะอะไรที่โดดเด่นสำหรับการถ่ายภาพสตรีท
ผ้าป่าน : นอกจากสถาปัตยกรรมจะมีเสน่ห์แล้ว มาเก๊ายังเป็นเมืองเล็กที่อัดแน่นด้วยวัฒนธรรม มีคนอยู่รวมกันหลากหลายและความใหม่เก่าที่ผสานได้ลงตัว เรียกอีกอย่างคือ มี subject น่าสนใจเยอะ ซึ่งข้อนี่น่าจะเป็นหัวใจที่จะกระตุ้นช่างภาพสายสตรีทมากที่สุด อย่างเราไป ตื่นเช้าเดินลงมาก็มีคนรำไทเก็ก โบกพัดในสวนหน้าโรงแรมห้าดาวสุดหรู
มาเก๊าเป็นเมืองที่มีถนนดี ทางเท้ากว้าง (พื้นทางเท้าในหลายๆ ที่ปูด้วยโมเสครูปต่างๆ เหมาะสำหรับสตรีทสายถ่ายกด-ถ่ายเสยให้ได้ลองหามุมกัน) เดินไปไหนก็เล็งถ่ายได้หมด อีกอย่างคือ ด้วยความที่เป็นเมืองเล็ก แบ่งสัดส่วนผังเมืองค่อนข้างชัดเจน การเดินถ่ายภาพเลยสะดวกคือเราจะไม่หลงแน่ๆ เดิน 3-5 วันก็ทั่วทั้งเกาะแล้ว อีกอย่างช่วงที่อากาศดีๆ ก็เดินสบายและยังมีแดดให้ถ่าย สุดท้าย อาหารอร่อย ราคาไม่แพง (นี่สิหัวใจการเดินถ่ายภาพสตรีทที่แท้)
The MATTER : คิดว่าการถ่ายภาพสตรีทสามารถนำมาประกอบอาชีพได้มั้ย และในอีก 5 ปีข้างหน้า วงการสตรีทของไทยจะอยู่ตรงไหน
ผ้าป่าน : ถ้าเฉพาะเจาะจงว่าจะหาเงินจากการถ่ายภาพเชิงสตรีทนี่เราคิดว่ายาก แต่ถ้าพูดถึงว่าการเป็นช่างภาพสตรีทสามารถต่อยอดไปส่วนต่างๆ ได้มั้ย เราว่าอันนี้ได้นะ อย่างการเปิด workshop จัด photo walk trip หรือรวมเล่มแล้วขายชุดผลงานเป็น photobook หรือแม้กระทั่งการจัดประกวดภาพถ่าย อะไรแบบนี้ที่ต่อยอดออกไป เราว่าก็พอจะหาเงินได้อยู่บ้างแต่ไม่ถึงกับยึดเป็นอาชีพหลัก เพราะงานถ่ายภาพเชิงสตรีทนี่มันไม่เหมือนกับการถ่ายภาพแบบอื่นๆ ที่ซื้อขายแสดงงานในมิวเซียม-แกลอรีอาร์ตได้ หรือเป็นงานประเภทที่ได้รับการว่าจ้างจากลูกค้า
ส่วนเรื่องอนาคตคิดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าวงการสตรีทไทยจะยิ่งใหญ่ เป็นกลุ่มสตรีทที่ไม่ใช่แค่ดีที่สุดในเอเชีย แต่เทียบเคียงกลุ่มสตรีทรุ่นใหญ่ในระดับสากล มันจะยิ่งใหญ่มาก เราคิดว่าเป็นไปได้จริงๆ และมันก็เริ่มเป็นไปแล้วด้วย ช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้หลายคนยังไม่เข้าใจเลย อะไรคือการถ่ายภาพสตรีท? ถ่ายถนนอย่างเดียวหรอ? แบบนี้เลย แต่ช่วงหลังๆ มาสื่อก็เริ่มให้ความสนใจการถ่ายภาพประเภทนี้มากขึ้น รวมถึงเพจต่างๆ ที่คอยให้ความรู้ภาพถ่ายเชิงสตรีทก็มีเยอะขึ้นมาก ทำให้เราได้เห็นกลุ่มคนที่เริ่มเข้าใจและหันมาสนใจศึกษาเรื่องนี้กันอย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้ วงการสตรีทไทยก็ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพราะมีหัวหอกที่สำคัญอย่าง กลุ่ม Street Photo Thailand ที่เป็นพาร์ตเนอร์ให้กับเราในงานนี้ อย่างพี่ทวีพงษ์ที่ไปคว้ารางวัลใหญ่ระดับโลกมานี่แหละ ที่จุดประกายคนไทยด้วยกันเองและทำให้ต่างชาติเริ่มให้ความสนใจความเป็นไทยแลนด์แดนสตรีท ซึ่งไม่ใช่แค่นั้น เพราะปีถัดๆ มาคนไทยอีกหลายคนก็ได้เข้ารอบ และชนะการประกวด รวมถึงร่วมจัดแสดงโชว์ผลงานกันในหลากหลายเวที
สำหรับใครที่สนใจงาน Young Street Phography Contest 2017 ซึ่งในขณะนี้เปิดรับภาพส่งเข้าประกวดแล้ว โดยส่งได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 15 กันยายนปีนี้ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่
https://www.facebook.com/thejamfactorymagazine