ช่างภาพแต่ละคนจะมีซิกเนเจอร์ในการถ่ายรูปเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยความชอบหรือนิสัยส่วนตัวของช่างภาพก็ตาม ตีตี้—ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์ ก็เป็นหนึ่งในช่างภาพสตรีทที่มีสไตล์ชัดเจน
ด้วยความความหลงใหลในวิทยาศาสตร์บวกกับความรอบรู้จากการเป็นติวเตอร์สอนฟิสิกส์ ตีตี้ใช้งานอดิเรก (ถ่ายรูป) ของเขาบันทึกปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะนำภาพเหล่านั้นมาใช้เป็นตัวอย่างในการสอนหนังสือ (เช่น เรื่องปรากฏการณ์ทางแสง) … เขายังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในรายการ Young Street Photography Contest 2017 และได้เข้ารอบ finalists ในเวทีระดับโลกอย่างรายการ Miami Street Photography 2017
The MATTER จึงชวน ตีตี้—ศิรวิทย์ คุววัฒนานนท์ มาคุยกันถึงการถ่าพภาพสตรีท วิธีการเอาวิทยาศาสตร์มาจูนเข้ากับศิลปะของการถ่ายรูป เหตุผลที่ทำไมเขาถึงเลือกถ่ายภาพในระยะไกล และทำไมเขาถึงชอบอาชีพติวเตอร์
The MATTER : ทำไมถึงเริ่มที่จะมาถ่ายภาพสตรีท
ศิรวิทย์ : ตอนนั้นไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับนักฟิสิกส์ชื่อ Richard Feynman เขาชอบวาดรูปสวยด้วย เราก็เลยรู้สึกว่าชีวิตคนเรามันก็ต้องมีอะไรมากกว่างานประจำด้วย ควรจะมีศิลปะมาช่วยเสริมกัน ตอนนั้นก็คิดว่าจะทำอะไรดี เผอิญว่าสมัยก่อนตาผมเปิดร้านถ่ายรูปชื่อ กิตติกร แต่ปิดไปแล้ว ก็เลยคิดว่าถ่ายรูปก็น่าสนใจเหมือนกัน ซึ่งตอนเด็กๆ ก็ไม่เคยที่จะสนใจถ่ายรูปเลย แต่เมื่อปีที่แล้วผมเลื่อนเฟซบุ๊กเห็นกลุ่ม Street Photo Thailand แล้วรูปค่อนข้างแปลกดี เลยลองถ่ายมาเรื่อยๆ จนทำโปรเจกต์ 365 คือโปรเจกต์ที่ต้องถ่ายรูปทุกวันเป็นเวลา 365 วัน ซึ่งก็ทำให้ถ่ายมาจนถึงทุกวันนี้เลย
The MATTER : ฟิสิกส์ช่วย/สร้างจุดเด่นในการถ่ายภาพสตรีทอย่างไร
ศิรวิทย์ : เราเรียนอะไรมา ส่วนมากก็อยากจะทำให้คนอื่น รวมถึงนักเรียนที่เราสอนนั้นเห็นว่าเราเอามาใช้ได้นะ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรถ้าเราใช้เป็น ซึ่งในเรื่องของการถ่ายภาพนั้น ส่วนมากเรื่องปรากฏการณ์ทางแสงนั้นจะสามารถนำไปใช้เล่าเรื่องในภาพได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสะท้อนและหักเหที่ผมมักจะเล่นกับกระจกหรือผิวมัน หรือว่ามุมโพลาไรซ์ เอาจริงๆ คิดว่าพวกนี้เป็นเทคนิคมากกว่า ซึ่งการที่หลายคนอาจจะมองงานภาพของเรามีจุดเด่นจากฟิสิกส์ คงเป็นเพราะอยากเอาภาพพวกนี้ไปสอนเด็กๆ ต่อด้วย เลยเหมือนพยายามเล่าเรื่องฟิสิกส์ไปในภาพ
The MATTER : ปกติแล้วภาพถ่ายสตรีทจะเป็นรูปที่ถ่ายใกล้เป็นหลัก แต่ผลงานที่ถ่ายมามีทั้งถ่ายใกล้และไกล ระยะมีความสำคัญกับการถ่ายภาพสตรีทไหม
ศิรวิทย์ : ระยะของการถ่ายภาพจะเหมือนการเลือกวิธีการเล่าเรื่องมากกว่า ส่วนมากหากผมต้องการเล่าเกี่ยวกับตัวเอกของเรื่องพร้อมกับบรรยากาศ ผมจะเลือกถ่ายไกลมากกว่า ซึ่งมักจะเป็นภาพส่วนมากของผม เนื่องจากผมเป็นคนชอบรายละเอียดของภาพทั้งหมดแม้จะเป็นรายละเอียดเล็กๆ ของขอบภาพก็ตาม แต่เมื่อเลือกจะถ่ายใกล้ จะเลือกตัวเอกที่โดดเด่นและสามารถแสดงทุกอย่างออกมาได้เลย (ซึ่งส่วนมากจะไม่ค่อยเจอครับ)
The MATTER : รู้สึกว่าภาพไหนเป็นตัวแทนของคุณเอง และได้ภาพนั้นมาได้ยังไง
ศิรวิทย์ : ภาพใบนี้ที่ชอบมากเพราะตอนเจอก็คิดไว้เลยว่าต้องถ่ายให้มืดเพื่อให้เป็นเสมือนห้องลอยในอวกาศ ผมเอียงกล้องเผื่อให้ห้องเหมือนลอยนิดๆ โชคดีมากๆ ที่ผู้หญิงในภาพเธอยกเท้าขึ้นตอนเอาหัวมุดเข้าไปในช่อง ทำให้ภาพดูมีความประหลาด จึงรู้สึกชอบใบนี้มากเพราะประกอบด้วยฝีมือและความน่าจะเป็นที่ประหลาดเข้าด้วยกัน
ส่วนใบนี้ที่ชอบเนื่องจากว่ารายละเอียดของแสงและสีเกิดจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เยอะมาก ทั้งสีรุ้งจากแสงขาวของดวงอาทิตย์ที่ไปหักเหที่ขอบกระจก วงของสีที่เกิดจากแสงขาวผ่านแผ่นใสที่มีสีต่างๆ ทำให้แสงที่ออกมานั้น มีสีที่ไม่เหมือนเดิมและฉายไปบนพื้น และยังมีจังหวะคนที่ก้าวเท้าออกมาพอดี เลยชอบมากๆ ครับ เพราะใบนี้เกิดจากความคิดผมเกือบจะทั้งหมดและยังต้องรออยู่หลายชั่วโมงเพื่อให้แสงพอดี เลยทำให้รู้ว่ามันยิ่งไม่เหมือนใคร
The MATTER : ชอบช่างภาพสตรีทคนไหนบ้าง และชอบภาพไหนเป็นพิเศษ
ศิรวิทย์ : คนแรกคือพี่ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ เนื่องจากผมเป็นคนชอบคนอื่นสอนมาก จึงชอบคนที่พยายามจะส่งสิ่งดีดีให้คนอื่นต่อ ซึ่งต้องขอบคุณพี่ทวีพงษ์มากๆ ที่ทำให้วงการนี้มีการส่งต่อความรู้และแรงบันดาลใจมากมาย และภาพเป็ดกลับหัวคือภาพใบแรกของวงการสตรีทที่ผมรู้จักอีกด้วย
คนที่สองคือพี่อัคครา นักทำนา พี่หนิงมีมุมมองการถ่ายภาพและถ่ายทอดเรื่องราวที่ชอบมาก โดยเฉพาะภาพกระดาษชำระที่คล้ายปลาโลมาครับ
คนสุดท้ายคือ Trent Parke เป็นช่างภาพที่ใช้อารมณ์และเรื่องราวถ่ายทอดภาพได้ดีมาก แต่ภาพที่ชอบเป็นภาพที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพและมุมมองการจินตนาการการใช้แสงที่ซับซ้อนมาก และยังได้เอาไปสอนเรื่องแสงให้นักเรียนฟังได้ด้วย
The MATTER : มีวิธีเลือกหา scene ในการถ่ายสตรีทยังไง
ศิรวิทย์ : สมัยช่วงถ่ายใหม่ๆ ผมจะเลือกแสงและสีเป็นหลัก แต่เนื่องจากพี่จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต (พี่ปูเป้) ได้ให้คำแนะนำว่าตัวละครหลักในภาพของเรายังไม่แข็งแรง ทำให้ผมเริ่มมาสนใจตัวเอกของภาพมากขึ้น พอถ่ายจนเริ่มเข้าใจ ช่วงนี้ผมจะเดินเยอะแต่ถ่ายน้อยมาก โดยถ่ายแต่สิ่งที่ผมสนใจหรือมันให้ความรู้สึกกับผมอะไรบางอย่าง เพราะอย่างน้อยกลับมาดูจะได้เข้าใจตัวตนของผมตอนถ่ายไปด้วย
The MATTER : วิทยาศาสตร์เป็นความงามอย่างหนึ่งมั้ย ความงามเป็นวิทยาศาสตร์รึเปล่า
ศิรวิทย์ : ผมมองความงามของภาพสตรีทหลายภาพที่เกิดจากความน่าจะเป็นอันน้อยนิด ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เราเรียกว่าความงามของภาพขึ้นมา เลยรู้สึกว่าความจริงความงามอาจจะซ่อนในวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์อาจจะเกิดขึ้นมาคู่กับความงามก็เป็นได้ครับ
The MATTER : วิทยาศาสตร์ยังมีทฤษฎี แล้วภาพสตรีทมีทฤษฎีมั้ย
ศิรวิทย์ : เท่าที่ผมได้พยายามอ่านและเรียนรู้มา รู้สึกว่าภาพสตรีทนั้นเป็นข้อกำหนดของกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม ดังนั้นเราควรเข้าใจเงื่อนไขของแต่ละกลุ่ม พยายามศึกษาว่าเหตุผลใดกลุ่มนั้นจึงได้คิดเช่นนั้น ลองทดลอง และค้นหาว่าความต้องการในการถ่ายภาพของตัวคุณเองนั้นเกิดจากอะไร และผมเชื่อว่าภาพสตรีทในแบบตัวของคุณเองจะสามารถแสดงออกมาได้ แล้วหลังจากนั้นคุณก็จะเลือกต่อได้ว่าต้องการให้สตรีทแบบนั้นเป็นที่ยอมรับหรือไม่ หรือต้องการทำอะไรต่อไป
The MATTER : ทำไมถึงนำภาพสตรีทไปสอนเด็ก และมีเด็กนักเรียนเคยคิดที่จะถ่ายภาพสตรีทตามตัวคุณเองบ้างมั้ย
ศิรวิทย์ : ข้อดีของการเป็นติวเตอร์คือเราสามารถใกล้ชิดกับเด็กได้ ซึ่งเราทำอะไรแล้วเด็กเห็นว่าเราตั้งใจทำ เราก็อยากตั้งใจถ่ายรูป เพราะเด็กจะได้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไรขอแค่เต็มที่กับสิ่งที่เราทำ และจะมีลูกศิษย์บางคนที่อยากเป็นหมอ ซึ่งเป็นหมอก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แล้วก็จะมีเด็กที่พยายามต่อต้านที่ไม่อยากเป็นหมอ เราก็จะต้องเข้าไปถามเขาว่าแล้วอยากเป็นอะไร ซึ่งเขาก็จะไม่รู้เหมือนกัน นี่เป็นคำตอบที่เรารู้สึกเสียใจมากกว่าไม่อยากเป็นหมออีก เพราะรู้สึกว่าอะไรต้องหาให้เจอก่อนว่าเราชอบอะไร แล้วทำให้เต็มที่ ซึ่งพอทำไปแล้วรู้สึกว่าเขาก็จะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากเราว่าเราทำได้เต็มที่ อยากให้เขาชอบเราในแง่ที่เราทำอะไรเต็มที่มากกว่าชอบเราในแง่ที่เราถ่ายรูปเก่ง ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องการสื่อให้เด็กมากกว่า แต่ก็มีเด็กถ่ายตามเยอะนะ บางคนก็ถ่ายแล้วก็เลิกไป บางคนก็ไปเจอสิ่งที่ตัวเองชอบมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ได้ทำก็ได้รู้
สามารถดูผลงานอื่นๆ ของตีตี้—ศิรวิทย์ ได้ทาง IG : TITI.KITTIKORN