ครั้งก่อน หมิง-กันต์รพี โชคไพบูลย์ ช่างภาพสตรีทไทยผู้อาศัยอยู่ในมหานครนิวยอร์ก ได้นำเสนอเรื่องราวและตัวตนของเขาผ่านภาพถ่ายซีรีส์ Acinteyya ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากความหลงใหลของเขาในเรื่องมนุษย์ต่างดาวและหนัง Sci-fi
ในรอบนี้ หมิงกลับมาอีกครั้งเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ต่างออกไปกับซีรีส์ภาพชุดใหม่ ‘Arrhythmic City’ ที่ยังคงใช้ภาพถ่าสตรีทเป็นตัวสื่อสารเช่นเคย เพื่อเปิดให้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของเมืองนิวยอร์ก เมืองที่นับว่ามีอิทธิพลกับเขามากทีเดียว
The MATTER : ซีรีส์ Arrhythmic City มีที่มาและวิธีการในการทำงานยังไง
กันต์รพี : ซีรีส์นี้เริ่มมาจากตอนที่ผมมาอยู่นิวยอร์ก ตอนนั้นผมทำ Project 365 Days คือการออกไปถ่ายรูปทุกวันแล้วก็เลือกรูปที่ดีที่สุดของวันนั้น ผมทำโปรเจ็กต์นี้เพื่อที่จะเข้าใจว่า Street Photo คืออะไร และหาความหมายของเมืองนิวยอร์กในแบบของผม ผมทำไปเรื่อยๆ จนสรุปได้ว่า เมืองนี้มีความหลากหลายของชนชาติ วัฒนธรรม และมีคนประหลาดๆ อยู่เยอะ อีกทั้งพฤติกรรมที่ประหลาดๆ ยังสามาถเห็นได้แทบทุกวัน มีความวุ่นวายเยอะ บางครั้งก็เชื่องช้า เป็นเมืองที่ไม่เคยหลับไหลเลย มันเปรียบเหมือนจังหวะที่ไม่เคยจะตรงตัว โดดไปโดดมาอยู่ตลอด เลยเป็นที่มาของซีรีส์ที่ชื่อว่า Arrhythmic City ซึ่งมันคือ นิวยอร์กในทัศนคติของผม
The MATTER : คิดว่าภาพไหนคือตัวแทนของซีรีส์นี้เลย
กันต์รพี : ภาพถ่ายที่ wallstreet ภาพนี้เป็นภาพพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง กำลังเปลี่ยนธงชาติเพราะว่าวันก่อนหน้านั้นพายุเข้าทำให้ธงผืนเก่าขาด ส่วนความหมายของภาพมีหลากหลายความหมายให้ผมคิดเลย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของสัญญะในภาพ ในความคิดของผมแล้วธงอเมริกามีความหมาย 2 แง่ 1.เป็นตัวแทนของประเทศมหาอำนาจที่อยากจะครอบงำโลกในความคิดเห็นของหลายๆ คน 2.ในขณะเดียวกันคนที่อยู่ที่นี่หรืออีกหลายๆ คนก็ยังเห็นว่าที่นี่คือดินแดนของเสรีภาพและโอกาส
ส่วนธงที่คลุมหน้าของ subject เราไม่เห็นว่ามันมาจากไหนเป็นที่แน่ชัด และด้าน action ของ subject ที่กำลังกอดธงไว้แน่น เหมือนความขัดแย้งของมุมมองอเมริกาที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งภาพนี้สำหรับผมมันมีเรื่องราวของมัน และคิดว่ามันเป็นภาพเปิดซีรีส์ที่ยอดเยี่ยม เป็นภาพที่ผมย้อนกลับมาดูกี่รอบก็ไม่เบื่อเลย
The MATTER : จากซีรีส์ก่อนของคุณคือ Acinteyya ที่ดูค่อนข้าง Sci-fi มีความแตกต่างกันอย่างไรกับซีรีส์ Arrhythmic City
กันต์รพี : ถ้าในส่วนของสไตล์ ผมว่าไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ การเล่าเรื่องราวของทั้ง 2 ซีรีส์ มันเหมือนกับว่า เราดูหนังสองเรื่องที่มีเนื้อหาต่างกัน แต่เกิดจากผู้กำกับคนเดียวกัน ถ้าเป็นซีรีส์ Acinteyya ก็จะเหมือนกับหนังที่ผมพูดเรื่องตัวเอง พูดเรื่องความเชื่อที่เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว ส่วน Arrhythmic City จะเป็นการพูดถึงในมุมมองนิวยอร์กของผมมากกว่า
The MATTER : จากที่คุณเชื่อเรื่องใน UFO ความเชื่อนี้ส่งผลต่องานคุณยังไง
กันต์รพี : มันทำให้ผมมีสไตล์ และภาพอยู่ในหัวเยอะขึ้น ทำให้ผมรู้ว่าผมจะถ่ายอะไรเวลาเจอ scene ที่น่าสนใจ แล้วควรจะเล่าเรื่องออกมายังไง ทำให้ผมอินกับเรื่องที่ผมทำมากขึ้นด้วยเหมือนการผนวกความชอบส่วนตัวกับการชอบถ่ายภาพ ซึ่งมันทำให้ผมมีความสุขในการถ่ายรูปมากขึ้น
The MATTER : นิวยอร์กมีอิทธิพลต่อการถ่ายภาพของคุณอย่างไร และการถ่ายรูปที่นิวยอร์กต่างจากที่ประเทศไทยไหม
กันต์รพี : มีมากเลยครับ คงเพราะที่นี่มี reference ให้ดูเยอะมาก และที่นี่ค่อนข้างจะเปิดกว้างเรื่องศิลปะ ผมได้มีโอกาสพบกับคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน ที่ผมสามารถแชร์ไอเดียและปรึกษาได้ในเรื่องงาน มันทำให้ผมสามารถสะท้อนมุมมองของคนอื่นซึ่งมีประโยชน์มาก อีกทั้งยังได้เห็นงานของคนอื่นอีกมากมายที่ผมสามารถเรียนรู้และมาปรับกับการใช้งานของตัวเองอีกด้วย
ส่วนที่ประเทศไทยตอนนี้ผมว่าเปิดกว้างมากๆ ถ้าเทียบกับหลายปีก่อน มีคนให้ความสนใจกับการถ่ายรูป street เยอะมากขึ้น มีช่างภาพหลายๆ คนที่มีงานโลดแล่นอยู่ที่งานใหญ่ๆ ต่างๆ ของโลก ตอนนี้ผมอยากกลับไปทำโปรเจ็กต์ที่ไทยมาก ผมคิดว่าเมืองไทยมีเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน วัฒนธรรมต่างๆ และมันยังไม่ซ้ำเหมือนนิวยอร์กที่ช่างภาพหลายๆ คนเคยถ่ายมา