ทุกครั้งที่เกมหรือโซเชียลมีเดียอนุญาตให้เราสร้างตัวละครของเราได้มันน่าตื่นเต้นเสมอ
ความเป็นไปได้และตัวเลือกที่เรามี เราจะเป็นเอเลี่ยน จะมีตาเป็นโค้ดสีไหนก็ได้ จะมีปีก จะเป็นเผ่าพันธุ์แฟนตาซีไหนก็ได้ตั้งแต่คนแคระไปถึงเอลฟ์ และอีกมากมาย โดยเฉพาะในยุคที่มีความพยายามผลักดันให้พื้นที่โลกเสมือน Metaverse มาเป็นหนทางกระแสหลักให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน ผู้พัฒนาจะต้องคำนึงถึงอวทาร์ของเรามากขึ้นและให้ตัวเลือกในการใช้ความคิดสร้างสรรค์และแสดงออกให้อย่างมากเพียงพอ
แต่สังเกตไหม ถ้าเราหันไปมอง ‘อวทาร์ (Avatar)’ ล่าสุดของเราใน Bondee สักหนึ่งที อวทาร์ตัวนั้นหน้าเหมือนใคร? และทำไมในเกมแฟนตาซีส่วนมาก มนุษย์ยังเป็นเผ่าพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดแม้ว่าเราจะเล่นเป็นมนุษย์แมวหรือลูกผสมมังกรได้? ทำไมบ่อยครั้งเรามีอิสระในการจะเป็นอะไรก็ได้ในโลกดิจิทัล เราหลายๆ คนยังมักเลือกที่จะเป็นตัวเอง?
อวทาร์และหน้าที่ของมัน
สำนักงานราชบัณฑิตยสภานิยาม ‘อวทาร์’ ว่า “รูปแทนตัวผู้ใช้ในโลกเสมือนหรือเกม ซึ่งอาจเป็นสองมิติหรือสามมิติก็ได้” นั่นแปลว่าตามคำจำกัดความดังกล่าว รูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กของเรา ภาพศิลปินคนโปรดบนโปไฟล์ทวิตเตอร์ มาริโอ ตัวละครเอกของเกมเนื้อเรื่องอย่างโจเอลจากเกม The Last of Us หรือว่าฮีโร่คนใดก็ตามที่เราเลือกเล่นใน Overwatch ทั้งหมดนับรวมเป็นอวทาร์ทั้งสิ้น
แต่ในความเข้าใจปัจจุบันที่เราส่วนมากเข้าใจและใช้คำว่าอวทาร์คือตัวแทนของเราในโลกเสมือนดิจิทัล นั่นคืออวทาร์ที่เราเข้าใจจะไม่ใช่ตัวละครที่ถูกเขียนบทขึ้นมา มีหน้าตาที่มีศิลปินออกแบบเซตมาให้ทั้งหมด และมีเส้นเรื่องเป็นของตัวเอง แต่เป็นพื้นที่ว่างให้เราเข้าไปแต่งเติม และใช้พวกเขาเป็นสื่อกลางเพื่อให้เราเข้าไปอาศัยอยู่และสำรวจโลกดิจิทัลได้
ตัวอย่างใกล้ตัวเราตอนนี้เช่นอวทาร์ของเราใน Bondee แอปโซเชียลมีเดียที่อนุญาตให้เราและเพื่อนสร้างตัวละครแล้วแต่งตัวกับแต่งห้องของพวกเขาได้ตามชอบ หนึ่งในลักษณะสำคัญของอวทาร์ที่เราพูดถึงในบทความนี้คือเราต้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของต่ออวทาร์ พวกเขาไม่มีอะไรเป็นของตัวเองและถูกออกแบบมาเพื่อจะเป็นอะไรก็ได้เพื่อที่ผู้ใช้จะสามารถนำเสนอตัวตนของพวกเขาออกไป
แต่ว่าถึงจะมีความเป็นไปได้ที่ไม่รู้จบ ทำไมบ่อยครั้งพวกเขากลายเป็นเราอีกเวอร์ชั่น?
แล้วทำไมเราเลือกจะเป็นตัวเองที่เสริมแต่งขึ้นมา?
จากงานวิจัย Self-representation through avatars in digital environments โดยแดเนียล ซิมเมอร์แมน (Daniel Zimmermann) อันนา เวฮ์เลอร์ (Anna Wehler) และไค แคสปาร์ (Kai Kaspar) นักวิจัยจากแผนกจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโคโลน ประเทศเยอรมนีที่หยิบประเด็นการแสดงออกตัวตนผ่านอวทาร์ในโลกดิจิทัลขึ้นมาปัดฝุ่นให้เข้ากับ 2022 เพราะมันเป็นงานวิจัยที่มาในช่วงเวลาที่คนจำนวนมากได้รับรู้ถึงคอนเซ็ปต์อย่าง Metaverse อย่างน้อยผ่านๆ หูมากกว่าช่วงก่อนหน้านี้
โดยผู้วิจัยมีความเชื่อว่าในการแสดงออกผ่านอวทาร์ ผู้คนจะสร้างมันตาม 2 ทฤษฎีคือ การจัดการกับความประทับใจ (Impression Management) และความไม่สอดคล้องในตัวตน (Self-discrepancy) นั่นคือมนุษย์จะพยายามนำเสนอตัวเองให้ตรงตามอุดมคติและเป็นบวกมากที่สุดเท่าที่ทำได้ และในขณะเดียวกันมนุษย์จะรู้สึกแย่หากมีระยะห่างระหว่างตัวตนในอุดมคติและตัวตนจริง ยิ่งห่างมากความรู้สึกแง่ลบก็ยิ่งมาก และพวกเขาสามารถรู้สึกว่าลดระยะห่างนั้นๆ ผ่านการสร้างอวทาร์ได้
โดยวิธีการทดลองของพวกเขาคือศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 594 รายผ่านการสร้างอวทาร์ในบริบท 6 อย่างได้แก่ การเดทออนไลน์ เกมอีสปอร์ต เกมทั่วไป การใช้โซเชียลมีเดียกับเพื่อ การใช้โซเชียลมีเดียกับคนแปลกหน้า การใช้โซเชี่ยลมีเดียที่มีความเกี่ยวข้องกับงาน ที่ต้องแบ่งทั้งหมดนั้นเพราะว่ามีความเป้นไปได้ว่าการสร้างอวทาร์แตกต่างกันออกไปตามกิจกรรมที่ทำ และเกณฑ์ 3 หัวข้อคือ อวทาร์ ตัวตนจริง และตัวตนในอุดมคติ
ผลของการทดลองพบว่าพฤติกรรมการสร้างอวทาร์นั้นแตกต่างออกไปตามกิจกรรมโดยกิจกรรมเกี่ยวกับเกมมักมีอวทาร์ที่เป็นไปตามอุดมคติมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ แต่หากเป็นอวทาร์ในกรณีอื่นๆ นั้นขึ้นอยู่กับจัดการกับความประทับใจและความไม่สอดคล้องในตัวตนอย่างมาก และการสร้าง ‘อะไรก็ได้’ ไม่ตอบโจทย์ของทั้ง 2 ทฤษฎีนั้น แต่สิ่งที่พวกเขามักสร้างคือตัวของตัวเองที่แต่งเติมให้ใกล้เคียงอุดมคติมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึงอวทาร์ในโลกที่มีคนใกล้ตัวเราอยู่ด้วย
โลกออนไลน์ไม่ใช่โลกแฟนตาซี แต่เป็นส่วนต่อขยายของโลกจริง
ความเข้าถึงได้ของเทคโนโลยีทำให้เรามองโลกออนไลน์เปลี่ยนไปอย่างมาก อวทาร์สำหรับคนเมื่อ 20 ปีที่แล้วอาจหมายถึงการเป็นอะไรก็ได้ที่ตัวเองไม่ได้เป็นในชีวิตประจำวันหรือเป็นนิรนามที่ไม่มีใครรู้จักสามารถนำไปสู่การแสดงออกตัวตนที่จริงและอิสระที่สุด แต่ในปัจจุบันเราหลายๆ คนมีมุมมองว่าโลกออนไลน์คือส่วนต่อขยายของชีวิตเรา เราพึ่งพาโซเชียลมีเดียในการคงความสัมพันธ์ เป็นสมุดโทรศัพท์ และเป็นตัวตนของเราต่อสังคมที่เรามี
เช่นเดียวกันกับอวทาร์ ตัวตนของเราที่เรานำเสนอต่อโลกออนไลน์ของเราก็คือตัวตนอุดมคติในระดับหนึ่ง เราเลือกรูปที่เราคิดว่าสวยที่สุด ที่หุ่นของเราเป็นไปตามความชอบของเรา การแต่งรูปให้พื้นถนนเรียบสวย การโพสต์เกี่ยวกับแนวคิด เกี่ยวกับความชอบและตัวตน เหล่านี้หากไม่เรียกว่าอุดมคติจะเป็นอะไร? เช่นนั้นแล้วการที่อวทาร์ของเราคือเครื่องมือในการแสดงออกอุดมคติเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเลย
เพราะในระดับหนึ่งเราทำแบบนั้นอยู่แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก