จากกรณีเว็บไซต์ The NFT Bay ได้ปล่อยไฟล์งานศิลปะ NFT ที่ไปเซฟมาจากลิงก์บนบล็อกเชน Ethereum และ Solana และเปิดให้คนดาวน์โหลดงานดังกล่าวได้ฟรีนั้น ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แตกเป็นสองฝ่าย ทั้งในมุมของคนที่เห็นว่า NFT ไม่ได้มีคุณค่าอะไรจนต้องแข่งกันให้มูลค่าราคามหาศาล และในมุมของคนที่เห็นว่าคุณค่าของ NFT ที่แท้จริงอยู่ที่การได้ถือครองสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่มีมากกว่าคลิกขวาแล้วเซฟภาพอย่างที่อีกฝ่ายเข้าใจ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเด็นทำนองนี้ถูกยกขึ้นมาถกเถียง เพราะที่ผ่านมาก็เกิดการโต้เถียงกันมาแล้วในโลกออนไลน์ เห็นได้จากกรณี CryptoPunk ที่มีผู้ชื่นชอบงานศิลปะ NFT รายหนึ่งอ้างว่าซื้อ CryptoPunk มาในราคาประมาณ 1 แสน 5 หมื่นดอลลาร์ฯ กว่าๆ จากนั้นคนอีกกลุ่มก็เลยออกมาตอบโต้ด้วยการจับภาพหน้าจอที่กำลังคลิกขวาเซฟภาพดังกล่าว เพื่อทำให้เห็นว่าไม่ต้องจ่ายเงินไปมากมายก็ได้งานศิลปะ NFT มาครอบครองเหมือนกัน ถึงอย่างนั้น ฝั่งนักสะสมก็เถียงว่าการคลิกขวากดเซฟไปไม่ได้หมายความว่าได้เป็นเจ้าของ NFT นั้นเสียหน่อย
The MATTER เลยอยากพามาทำความรู้จักลักษณะพื้นฐานของ NFT เพื่อดูว่าจริงๆ แล้ว NFT เป็นอย่างไร แล้วการครอบครอง NFT ตามกระบวนการแลกเปลี่ยนบนบล็อกเชนต่างจากการครอบครองด้วยวิธีดาวน์โหลดและกดเซฟไฟล์ภาพอย่างไรบ้าง
งานมีเพียงชิ้นเดียว และมีเจ้าของได้เพียงคนเดียว
เดิมที NFT ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมค่าเริ่มต้นที่ทำให้แบ่งหรือแยกขาดจากกันไม่ได้ รวมทั้งนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์เฉพาะ กล่าวคือ เมื่อเราเป็นเจ้าของงาน NFT ชิ้นหนึ่ง นั่นหมายความว่าเราเป็นเจ้าของงานชิ้นนั้นเพียงคนเดียว ไม่สามารถแบ่งให้คนอื่นมาเป็นเจ้าของด้วยได้ หรือหากซื้อ NFT ประเภทตั๋วเข้างานงานหนึ่งสำหรับคนเดียว ก็หมายถึงเราเข้าอีเวนต์นั้นได้เพียงคนเดียวด้วยตั๋วใบนั้น ไม่สามารถพาเพื่อนเข้าอีเวนต์ดังกล่าวด้วยตั๋วใบนั้นได้ นี่เองที่ทำให้ NFT แต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์ของตัวเอง จะเอา NFT ชิ้นอื่นมาทดแทนกันไม่ได้
เป็นของแท้ที่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ชัดเจน
NFT เป็นเหมือนตัวแทนของสินทรัพย์ในโลกจริง ความเป็นของแท้จะช่วยเสริมคุณลักษณะของ NFT ชิ้นนั้นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์และมีหนึ่งเดียว สิ่งสำคัญก็คือเจ้าของงาน NFT สามารถตรวจสอบรายละเอียด ที่มาที่ไป และประวัติการโอนของงานศิลปะได้ เพื่อให้มั่นใจว่า NFT ที่จะสะสมครอบครองนั้นเป็นของแท้จริงๆ
เป็นงานที่มีลักษณะโดดเด่น หายาก มีเอกลักษณ์ จึงมีความต้องการสูง
ถือเป็นคุณลักษณะขั้นพื้นฐานในการเสริมคุณค่าให้กับ NFT อีกอย่างหนึ่ง นั่นก็เพราะยิ่งงาน NFT นั้นมีจำนวนน้อยหรือหาได้ยากมากเท่าไหร่ คนก็ยิ่งแข่งกันให้มูลค่างาน NFT ในราคาที่ดุเดือด เพื่อให้ได้มาครอบครองตามความต้องการที่มีมากนั่นเอง นอกจากนี้ NFT บางชิ้นก็มีลักษณะโดดเด่นโดยเฉพาะ หรือที่เรียกว่ามีเอกลักษณ์ของงาน
มีกรรมสิทธิ์ชัดเจนจากข้อมูลบนบล็อกเชนที่บอกว่าเราเป็นเจ้าของผลงานผ่านรหัสการเข้าถึง
ต้นฉบับหรือสำเนาของ NFT จะถูกบันทึกอยู่บนบล็อกเชนที่มีการเชื่อมต่อโครงข่ายกันกับบัญชีที่ได้รับการอนุญาตแล้ว นั่นหมายความว่า ครีเอเตอร์สามารถถ่ายโอนงาน NFT ไปให้บัญชีของสมาชิกใดก็ได้ที่อยู่ในโครงข่ายบนบล็อกเชนนั้น เพราะครีเอเตอร์มี private key ที่ใช้ถอดรหัสข้อมูลของ NFT แต่ละชิ้นอยู่ในมือ ทำให้เข้าถึง NFT ชิ้นนั้นๆ ได้ เมื่อไม่มีรหัสก็ไม่สามารถเข้าถึงชิ้นงานได้ ที่สำคัญ การเข้าถึง NFT ด้วยวิธีนี้ทำให้เรามีกรรมสิทธิ์ในงานจริงๆ เพราะได้รับการถ่ายโอนจากต้นทางของงานอย่างครีเอเตอร์ รวมทั้งมีการบันทึกประวัติธุรกรรมอยู่บนบล็อกเชน ต่างจากการดาวน์โหลดหรือกดเซฟไฟล์บนเว็บไซต์ที่ไม่มีรหัสและการบันทึกว่าเป็นเจ้าของตัวจริง
สามารถเทรด ซื้อ ขาย เหมือนงานศิลปะอื่นๆ ได้ตลอดบนระบบบล็อกเชน
เมื่อ NFT ถูกบันทึกอยู่บนบล็อกเชน จึงทำให้ NFT มีลักษณะเคลื่อนย้ายไปแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งนำไปซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ กล่าวคือ เราสามารถย้ายงาน NFT จากแพลตฟอร์มดั้งเดิมไปแพลตฟอร์มอื่นได้ หรือแม้กระทั่งนำ NFT ไปเทรด ซื้อ ขาย ประมูล และใช้แลกเปลี่ยนด้วยวิธีที่ซับซ้อนกว่านั้นได้อย่างเสรี ที่สำคัญ เราสามารถใช้เงินสกุลไหนก็ได้ในการแลกเปลี่ยน NFT นั้น
นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงงานศิลปะ NFT แล้วนั้น เราอาจนึกถึงแค่ภาพถ่ายหรือภาพวาด ทั้งที่จริงแล้ว NFT ยังแยกย่อยออกมาได้อีกหลายประเภท ซึ่งอาจแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้
ของสะสม – ถือเป็นงาน NFT ที่ได้รับความนิยมอย่างมากประเภทหนึ่ง เพราะนักสะสมมีโอกาสถือครองเป็นเจ้าของของสะสมที่มีเอกลักษณ์แต่เพียงผู้เดียว
งานศิลปะ – งานศิลปะผสมผสานความสร้างสรรค์และเทคโนโลยี บ้างก็ทำออกมาในรูปแบบลิมิเต็ดอิดิชั่น ที่สำคัญ นี่เป็นโอกาสที่คนทำงานศิลปะอย่างถูกกฎหมายมาเข้าร่วมการทำงานศิลปะแบบ NFT มากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพิสูจน์แหล่งที่มาของงาน
ตั๋วเข้างาน – ใช้เป็นตัวกลางสำหรับให้คนเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมที่จัดขึ้นมาเฉพาะ ผู้จัดงานจะสร้างตั๋วที่มีหมายเลขเฉพาะให้ เมื่อลูกค้าซื้อตั๋วเข้างาน NFT แล้ว ตั๋วนั้นก็จะเข้าไปอยู่ในวอลเล็ตบนระบบที่สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่ายผ่านอุปกรณ์มือถือ
สื่อและดนตรี – เชื่อมต่อลิงก์สื่อหรือเพลงเข้ากับ NFT ผู้ที่เข้าถึงไฟล์เหล่านี้ได้ถือว่าเป็นเจ้าของ ทั้งนี้ นี่ถือเป็นโอกาสที่ช่วยให้ศิลปินเข้าถึงผู้ติดตามและขยายฐานกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้มากขึ้น
เกม – ส่วนใหญ่มักเน้นไปที่ไอเทมในเกม NFT จะช่วยให้เกิดการสร้างความเป็นเจ้าของไอเทมในเกมนั้นๆ โดยไอเทม NFT จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มจากการขายไอเทมดังกล่าวได้ ในขณะที่ นักพัฒนาเกมจะได้รับค่าลิขสิทธิ์จากทุกๆ การขายไอเทมที่พวกเขาสร้างขึ้นมา
สินทรัพย์ในโลกจริง – ในอนาคต เราอาจได้เห็นการใช้ NFT เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ในโลกจริงอย่างบ้านหรือรถ รวมทั้งใช้เป็หลักฐานในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของด้วยการเข้ารหัสได้
มีม – ครีเอเตอร์ที่สามารถสร้างมีมที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่นิยมและชื่นชอบในหมู่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตนั้น สามารถทำเป็น NFT และขายได้อีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก :