หลังจากที่เติร์ท—ธนาภพ อยู่วิจิตร ได้มาเฉิดฉายอยู่ใน #teammoo แห่ง The Face Men Thailand ผู้ชมก็ได้รู้จักศัพท์ชิคๆ ทางแฟชั่นอย่าง androgynous กันมากขึ้น และก็เป็นอย่างที่พี่หมู ASAVA หรือ พลพัฒน์ อัศวประภา ดีไซเนอร์ตัวท็อปของเมืองไทยได้พูดเอาไว้ในรายการ “ตอนนี้โลกของแฟชั่นเป็น androgynous หมดแล้ว!” ดังนั้นผู้เสพหรือผู้ชมอย่างเราๆ ก็น่าจะต้องเตรียมตัวและไปรู้จักกับที่มาของแฟชั่นแบบนี้กันสักหน่อย
ก่อนอื่น เราขอแวะมาที่การนิยาม androgynous หมายถึงส่วนผสมของทั้ง masculine และ feminine ในคนคนเดียว และถ้าว่ากันในทางแฟชั่นหรือไลฟ์สไตล์ มันก็คือการแต่งตัวที่ยากจะระบุเพศ หรือแต่งสลับกับเพศสภาพ (Gender) ซึ่งบางเคสก็เกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ (Sexuality) แต่บางครั้งก็ไม่เกี่ยวกันเลย และไม่ว่าใครก็เทิร์นตัวเองเป็น androgynous ได้ทั้งนั้น
Androgynous fashion ไม่ใช่เรื่องใหม่เอี่ยมแต่อย่างใด เพราะเทรนด์นี้บูมขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเริ่มต้นจากฝ่ายหญิงก่อน เมื่อคุณแม่แห่งวงการอย่าง Coco Chanel ตัดเย็บกางเกงสำหรับผู้หญิงขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1913 ให้ผู้หญิงได้ก้าวออกจากกระโปรงยาวแบบยุควิคตอเรียน (ปลายศตวรรษที่ 19) แล้วสามารถก้าวเดินหรือทำสิ่งใดๆ ได้อย่างกระฉับกระเฉง
“ฉันมอบอิสระให้กับผู้หญิง คืนร่างกายให้กับพวกเธอ ร่างที่เคยถูกบังคับให้อึดอัดอยู่ภายใต้แฟชั่นผ้าลูกไม้ คอร์เซ็ต ชุดซับในและฟองน้ำหนาๆ” คือสิ่งที่เธอบอก แต่ถึงอย่างนั้น Chanel ก็ปฏิเสธอย่าแรงกล้าที่จะเรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์
หลังจากนั้นผู้หญิงก็เริ่มแต่งกายแบบ masculine กันมากขึ้น ในช่วงปี 1930s เทรนด์นี้ก็ไปไกลถึงฮอลลีวูด โดยมีดาราดังแห่งยุคอย่าง Katherine Hepburn และ Marlene Dietrich เป็นตัวนำเทรนด์แห่งความเฟียซภายใต้ชุดสูทโก้แบบผู้ชาย
จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ผู้หญิงถูกมอบบทบาท ‘แม่บ้าน’ ให้อีกครั้งจากนโยบายสร้างชาติของอเมริกา หญิงสาวหลายคน ไม่ว่าจะโดยเต็มใจหรือรู้ตัวหรือไม่ พวกเธอกลับสู่ชุดกระโปรงบาน สวมผ้ากันเปื้อนทำงานครัว และก้มหน้าก้มตาทำงานบ้านในขณะที่ให้ผู้ชายใส่ชุดทหารไปออกรบ
คราวนี้จึงเป็นทีของเหล่าเฟมินิสต์ second-wave ที่ออกมาเดินเครื่องแฟชั่น unisex เพื่อปฏิเสธการมองภาพผู้หญิงอย่างเหมารวมภายใต้บทแม่บ้านแม่เรือน แถมยังมีอีกหนึ่งแฟชั่นเฮ้าส์ที่ออกโรงทวงคืนอิสรภาพให้ผู้หญิง นั่นก็คือ Yves Saint Laurent ที่ให้กำเนิดชุดทักซิโด้สำหรับผู้หญิงเป็นครั้งแรกในปี 1966 และความเก๋รูปแบบใหม่ๆ ก็มาเยือนโลกแฟชั่นอีกครั้งหนึ่ง
ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันนั้น ฝ่ายผู้ชายเองก็หันหน้าเข้าหาแฟชั่นแบบ androgynous ด้วยเช่นกัน ปรากฎการณ์นี้ถูกเรียกว่า The Peacock Revolution เมื่อศิลปินชายชาตรีนำทีมโดย David Bowie และ Jimi Hendrix พากันแต่งตัวกรุยกราย แต่งหน้าแต่งตากรีดอายไลน์เนอร์ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตและขึ้นปกนิตยสารกันเป็นว่าเล่น ไม่ต่างจากนกยูงตัวผู้ที่รำแพนหาง จนสร้างนิยามใหม่ของคำว่าเท่พร้อมๆ กับที่สั่นคลอนเส้นแบ่งทางเพศอย่างรุนแรง ต่อเนื่องมาจนถึงยุคของ Prince และ Grace Jones ที่อยากใส่อะไรก็ได้ไม่ต้องคอยแคร์เครื่องเพศของตัวเองอีกต่อไป
มาถึงตอนนี้ ในโลกแฟชั่นฝั่งตะวันตกก็มีนายแบบนางแบบที่แต่งได้ทั้งลุคบอยและเกิร์ล ที่ข้ามเพศไปเลยก็ไม่น้อย เช่น Hari Nef, Andreja Pejic หรือ Aydian Dowling ฯลฯ แบรนด์เสื้อผ้าจำนวนมากก็ออกแบบเสื้อผ้าที่หญิงก็ใส่ได้ชายก็ใส่ดี สนุกสนานเพลิดเพลินกันในหลายคอลเลคชั่น
เมื่อดูจากวิวัฒนาการของมันแล้ว แนวคิดเรื่อง androgynous มักจะถูกมองว่ามีส่วนในการสร้างความเท่าเทียมและเพิ่มความหลากหลาย (diversity) ในโลกแฟชั่น ซึ่งนักต่อสู้เรียกร้องเรื่อง diversity นี้มีหลายพรรคหลายฝ่าย แต่ทุกฝ่ายมีจุดร่วมคือไม่ต้องการให้ ‘ความงาม’ ในอุดมคติถูกจำกัดอยู่กับแค่หนุ่มสาวฝรั่งผิวขาวผอมสูง แต่คนแบบอื่นๆ ก็สามารถ ‘งาม’ ได้เหมือนกัน
ไม่ว่าจะเป็นคนผิวสี คนเอเชียน คนผิวด่าง คนท้วม (plus-size) หรือคนที่มีเพศสภาพแตกต่างจากหญิงหรือชาย อย่างที่เราพูดถึงกันอยู่ โดยไม่ต้องระบุเพศก็ได้ พวกเขาสามารถเปล่งประกายในฐานะ androgynous model มีความเป็นกลาง มีความเคลื่อนไหลทางเพศ งดงาม เลอค่า
และความนิยมในทาง androgynous ได้คืบคลานจากโลกตะวันตกมาถึงบ้านเราในที่สุด อย่างที่หมู ASAVA บอก และพบว่าเติร์ทเองก็เป็นที่จับตามองอย่างแทบจะไร้ข้อกังขา สิ่งที่เราเห็นคือการที่บุคคลเพศไม่ชัด แม้จะยังเป็นจำนวนน้อยมากแต่พวกเขาบางคนก็ได้รับการยอมรับ โดยมีตั๋วผ่านประตูสู่วงการเป็นรูปลักษณ์ที่ดูดีในแบบของตัวเอง
ในข้อนี้เอง จะเห็นได้ว่าความดูดียังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญ สำหรับ diversity ที่หลายคนใฝ่หา นางแบบผิวสีก็ต้องหน้าเก๋หรือผิวเนียน นางแบบผิวด่างก็ต้องหุ่นผอมสูง นางแบบพลัสไซส์ต้องหน้าสวย ถึงจะหลุดกรอบแค่ไหนก็ต้องมีสักข้อให้ติ๊กถูกในเชิงความงาม ถึงจะมีโอกาสได้รับการยอมรับโดยสมบูรณ์และยั่งยืนในทางแฟชั่น ไม่ใช่แค่ให้ตื่นเต้นว่าแปลกประหลาดแค่ชั่วครั้งชั่วคราว นายแบบนางแบบ androgynous เองก็ต้องถูกยอมรับว่าดูดีเสียก่อนถึงจะไชน์ขึ้นมาได้
แม้โลกแฟชั่นพยายามจะแจกจ่ายความหลากหลายแล้ว แต่ก็ไม่ได้หลากหลายขนาดที่ว่าจะรวมเอาคนที่ไม่ถูกมองว่าดูดีเข้าไปด้วย แต่นั่นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แฟชั่นที่ไม่ดึงดูดก็คงพูดได้ไม่เต็มปากว่าประสบความสำเร็จในโลกแฟชั่น
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการให้พื้นที่กับความหลากหลายจะไร้สาระประโยชน์ เพราะอย่างน้อยเราก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในความงามแค่ไม่กี่แบบ อย่างน้อยเรามีเรื่องให้ตื่นเต้นและบันเทิงกับมันมากขึ้น—แม้จะไปไม่ทั่วถึง แต่มากขึ้น ซึ่งออกจะเป็นเรื่องน่าสนุกสำหรับผู้เสพอย่างเราๆ ที่จะคอยเฝ้ามองว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้างในโลกแฟชั่น และคลื่นของ androgynous fashion เอง จะพัดพาไปยังทิศทางไหนในกาลต่อไป
อ้างอิง