“ในอนาคต ทุกคนจะโด่งดังระดับโลกคนละ 15 นาที” นี่คือถ้อยคำของ Andy Warhol ที่ดูจะเป็นจริงเหลือเกินในยุคสมัยที่เหล่าดารา นักร้อง เน็ตไอดอล หรือแม้กระทั่งคนธรรมดาสามัญพากันต่อคิวเพื่อวิ่งผ่านสปอตไลต์กันเกือบจะตลอดเวลา
แต่ประโยคที่ว่า กลับไม่เป็นจริงสำหรับบุคคลที่เอื้อนเอ่ยมันออกมา เพราะศิลปินป๊อปอาร์ตตัวพ่ออย่างแอนดี้ วอร์ฮอล์โด่งดังมาตั้งแต่ยุค 60s และยังจะโด่งดังต่อไปแม้เจ้าตัวจะลาลับไปแล้วก็ตาม
และ—ท่ามกลางผลงานป๊อปอาร์ตต่างๆ รวมถึงที่เป็นภาพจำอย่างพอร์ตเทรตสีจัดของมาริลิน มอนโร ในบทความนี้เราจะเจาะลึกไปที่ชีวิตของเขาและซุปมะเขือเทศ ที่เป็นอีกหนึ่งผลงานสุดป๊อป ซึ่งไม่แน่ว่ามันได้สะท้อนตัวตนทั้งหมดตั้งแต่วัยเด็กของเขา (หรืออาจจะไม่) ก็เป็นได้
แอนดี้ถือกำเนิดเมื่อปี 1928 ในครอบครัวชนชั้นแรงงานที่เมืองพิตส์เบิร์ก สหรัฐอเมริกา แอนดี้ วอร์ฮอล์เป็นลูกชายคนสุดท้องจากทั้งหมด 3 คนของพ่อแม่ชาว Carpatho-Rusyns ผู้พากันอพยพมาจากเขตหนึ่งยุโรปตะวันออก (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสโลวาเกีย)
ในวัยเด็ก สุขภาพของแอนดี้ไม่ดีนัก เขาป่วยบ่อยและมักต้องนอนติดเตียง โดยมีแม่ของเขา Julia Warhola ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยพื้นฐานจูเลียชื่นชอบศิลปะและดนตรีอยู่แล้ว แทนที่จะปล่อยให้ลูกชายนอนเบื่ออยู่เฉยๆ เธอจึงมอบกระดาษและดินสอสีให้แอนดี้ได้วาดรูปคลายเหงา แววศิลปินของเด็กชายจึงได้ฉายแสงออกมา
เมื่อเห็นเช่นนี้ พ่อของแอนดี้ Ondrej Warhola ผู้หาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานก่อสร้างจึงตั้งใจเก็บหอมรอมริบเพื่อส่งลูกชายคนเล็กเข้ามหาวิทยาลัยเป็นคนแรกของตระกูล แม้เขาจะเสียชีวิตไปก่อนที่จะเก็บเงินได้ครบตามที่ตั้งใจไว้ แต่แอนดี้ก็ยังได้เข้าเรียนต่อที่ Carnegie Institute of Technology (ปัจจุบันคือ Carnegie Mellon University) โดยแสดงความสามารถในการวาดรูปเพื่อขอทุนการศึกษากับทางมหาวิทยาลัย
แม้ว่าหลังเรียนจบแอนดี้จะย้ายไปทำงานและไขว่คว้าฝันที่มหานครนิวยอร์กอันฟู่ฟ่า อีกทั้งงานแรกที่ทำก็คือการวาดภาพประกอบให้กับสินค้าหรูหรา แต่ลึกๆ ลงไปหลายคนก็เชื่อว่าเขายังคงเป็นเด็กชายแอนดี้จากครอบครัวชนชั้นแรงงานในเมืองพิตส์เบิร์ก แม้กระทั่งผลงานอันลือเลื่องอย่าง Campbell’s Soup (1968) ก็เป็นภาพสะท้อนชีวิตวัยเด็กของเขา
ในสารคดีของ Channel 4 ซึ่งฉายในสหราชอาณาจักร พี่ชายของแอนดี้ Paul Warhola กล่าวว่า “แต่ก่อนแม่เสิร์ฟซุปแคมป์เบลตลอด ท่านมักซื้อตุนไว้เสมอ” นอกจากนี้เพื่อนๆ หลายคนยังเล่าว่า แม้กระทั่งตอนที่จูเลียตามมาดูแลแอนดี้ที่นิวยอร์ก เธอก็ยังคงเสิร์ฟซุปแคมป์เบลให้ลูกชายอยู่ แถมตัวแอนดี้เองยังเคยเสิร์ฟซุปกระป๋องเหล่านี้ให้เพื่อนๆ ที่มาเยี่ยมเยียนเขาที่บ้านด้วย
นอกจากนี้ แอนดี้ยังเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Face ไว้ว่า แม่ของเขามักจะประดิษฐ์ดอกไม้จากกระป๋องเพื่อหารายได้เล็กๆ น้อยๆ มาซัพพอร์ตครอบครัว “แม่ทำดอกไม้ดีบุกจากกระป๋องผลไม้เชื่อม นั่นเป็นเหตุผลที่ผมวาดรูปกระป๋องดีบุกตั้งแต่แรก คุณแค่เอากระป๋องดีบุกมา ยิ่งใหญ่ยิ่งดี … ตัดมันด้วยกรรไกร แล้วก็ดัดเป็นดอกไม้ มันง่ายมาก แม่ของผมมักเก็บกระป๋องดีบุกไว้เยอะมาก รวมทั้งกระป๋องซุปด้วย”
เรื่องเล่าเหล่านี้ยืนยันความเชื่อของใครหลายคนรวมทั้งนักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกัน Arthur Danto ผู้เชื่อว่าแอนดี้เลือกวาดซุปกระป๋องเพราะมันคืออาหารที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทั้งทางกายและทางใจ “มันเป็นตัวแทนของการบำรุงเลี้ยงดู ความอบอุ่น และความสุขสบาย ผมคิดว่ามีเพียงคนที่เข้าใจความไม่แน่นอนของชีวิตอย่างชัดแจ้งเท่านั้นที่จะคิดเช่นนั้น แอนดี้เคยยากจนมาก่อน พวกเขาอาจไม่รู้เสมอไปว่าอาหารมื้อหน้าจะเป็นอะไร”
หากเชื่อตามทฤษฎีนี้ ความรักของแม่และวิถีชีวิตแบบชนชั้นแรงงานดูจะเป็นอีกหนึ่งธีมหลักที่สะท้อนออกมาจากงานป๊อปอาร์ตชิ้นสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 แต่แน่นอนว่าย่อมมีหลายฝ่ายที่เห็นแย้ง
โดยหนึ่งในนั้นคือ Ted Carey เพื่อนสนิทของแอนดี้ ผู้บอกว่าเจ้าของแกลเลอรี Muriel Latow คือคนที่แนะนำให้แอนดี้วาดรูปซุปกระป๋อง ซึ่งในหนังสือชีวประวัติ Pop: The Genuis of Andy Warhol ระบุรายละเอียดไว้ด้วยว่า วันที่ 23 พฤศจิกายน 1961 แอนดี้เขียนเช็คจำนวน 50 เหรียญให้ลาโทว์ (ถ้าบวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไปจะเท่ากับ 300 กว่าเหรียญของปัจจุบัน) เพื่อจ่ายเป็นค่าไอเดีย
นอกจากนี้ แอนดี้เองยังเคยให้สัมภาษณ์กับรายการวิทยุ KPFK ไว้ว่า ภาพวาดซุปกระป๋องนั้นเกิดจากความแรนดอมล้วนๆ
Ruth Hirshman (ผู้ดำเนินรายการ) : […] ตอนที่คุณวาดรูป คุณได้ตั้งคำถามว่า ‘อะไรคือสัญลักษณ์แทนวัฒนธรรมของพวกเรา’ หรือเปล่า?
แอนดี้ : ไม่เลย
เฮิร์ชแมน : มันเป็นแค่สิ่งของที่ดึงความสนใจของคุณ
แอนดี้ : ใช่
เฮิร์ชแมน : มันถูกเลือกแบบแรนดอมเลยหรือ
แอนดี้ : ใช่
ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดอกจันไว้ว่า แอนดี้ขึ้นชื่อลือชาเรื่องการเป็นคนพูดน้อย เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ตอนที่เขาตอบคำถามนี้ เขาตอบมันอย่างจริงจัง หรือเพียงตอบส่งๆ ไปเท่านั้น อีกทั้งยังมีคนทักว่า แอนดี้อาจจะตั้งใจตอบเช่นนี้เพื่อแสดงตนเป็นหนึ่งในศิลปะแบบ Dadaism ซึ่งเช่ือในความแรนดอม ความบังเอิญ และการสร้างศิลปะแบบไร้เหตุผล (ก่อนป๊อปอาร์ตจะได้ชื่อว่าป๊อปอาร์ต มันเคยถูกเรียกว่า Neo-Dadaism มาก่อน)
แต่ไม่ว่าที่มาที่แท้จริงของภาพวาดนี้จะเป็นอย่างไร และไม่ว่าตัวคุณเองจะเชื่อแบบไหน คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า Campbell’s Soup ของแอนดี้ วอร์ฮอล์คือหมุดหมายสำคัญของป๊อปอาร์ต -ลัทธิศิลปะที่ดึงเอาความฉูดฉาดของป๊อปคัลเจอร์และลัทธิบริโภคนิยมมาเล่นได้อย่างถึงใจ และยังคงตราตรึงอยู่ในใจของผู้คนทั่วโลกได้ตราบจนทุกวันนี้
อ้างอิง
independent.co.uk
warholstars.org