ในช่วงเวลาที่เราพูดได้ไม่เต็มปากว่าหนังไทยกำลังรุ่งเรือง #BKKY โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล คือความพยายามทดลองสิ่งใหม่ และความกล้าหาญของค่ายหนังที่สมควรถูกบันทึกไว้ ในฐานะบันทึกของยุคสมัยที่สังคมไทยอยู่บนรอยต่อของการปะทะกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาแทรกให้สองเจนเนอเรชั่นยิ่งห่างกันกว่าที่เคย
คำถามที่อยากจะวางลงในบทความก็คือ ณ วันนี้ ภาพยนตร์ไทยทำหน้าที่อะไรในสังคมอีกบ้าง นอกจากถูกครอบงำด้วยวงจรทุนนิยมเต็มรูปแบบ สลับสับเปลี่ยนกันบาดเจ็บไปคนละแผลสองแผล… ซึ่ง #BKKY หนังสารคดีร้อยเรียงขึ้นจากบทสัมภาษณ์วัยรุ่น 100 คน น่าจะพอให้คำตอบบางอย่างกับเราได้บ้าง
ย้อนไปในปี ค.ศ.1961 ข้ามไปยังอีกซีกโลก ที่ประเทศฝรั่งเศส นักมานุษยวิทยาสายฝักใฝ่หนังสารคดีอย่าง Jean Rouch และนักสังคมวิทยา Edgar Morin ได้ถ่ายทำและนำภาพยนตร์เรื่อง ‘Chronicle of a Summer’ ออกฉายในฝรั่งเศสและต่อมาเดินสายประกวดไปหลายแห่ง ซึ่งได้รับเสียงฮือฮาและวิพากษ์วิจารณ์ถึงวิธีการทำหนังอันแสนจะเสียดแทงสังคมยุโรป
ซึ่งต่อมามันกลายเป็นวิธีการที่ถูกเรียกขานกันว่า cinema verite หรือ direct cinema โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงเบื้องลึกของจิตใจของชนชั้นแรงงานในฝรั่งเศสที่ Rouch ใช้วิธีถือกล้อง 16 มม.ขนาดเล็กออกไปสัมภาษณ์คนบนท้องถนนกรุงปารีส โดยตั้งคำถามง่ายๆ แต่ตอบยากว่า “Are you happy?”
โดยไม่คาดคิด คำตอบที่คนดูได้รับชมรับฟัง มีความดุเด็ดเผ็ดแซ่บกว่าที่คาด ผู้ชมได้ขำแบบขื่นๆ เพราะชีวิตมันช่างขมขื่น ในขณะที่ก็ไร้สาระจนต้องระเบิดเสียงหัวเราะ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าเป็นผลงานขึ้นหิ้งที่ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย แม้ในช่วงแรกจะถูกนักวิจารณ์สายกระแสหลักผู้ชื่นชอบงานสมบูรณ์แบบ รวมทั้งสายมานุษยวิทยา ด่าแหลกว่าทำไมหนังสารคดีเรื่องนี้ถึงไม่ใช่ ‘เรื่องจริง’ แต่ท้ายที่สุดสไตล์ของภาพยนตร์ที่ผสมผสานระหว่างความจริง และ ไม่จริงนี่เอง ได้ตั้งคำถามกับคนดูอย่างท้าทาย พร้อมกับฉากจบอันระบือลือลั่นทิ้งคำเชิงปรัชญาตั้งแต่ชีวิตประจำวันยันพระเจ้าตามสไตล์ฝรั่งเศส
เล่าก่อนว่าสภาพของประเทศฝรั่งเศสในช่วงนั้น เพิ่งผ่านพ้นสงครามแอลจีเรีย (the Algerian War of Independence หรือ the Algerian Revolution) ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งมานาน ระหว่างชนชาติแอลจีเรียที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม กับฝรั่งเศสซึ่งเข้าครอบครองพื้นที่แอลจีเรียจนเกิดขบวนการต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อ จบลงที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ยอม ให้เอกราชคืนแก่แอลจีเรียในปี ค.ศ.1962 ในขณะเดียวกัน สังคมฝรั่งเศสกำลังเข้าสู่ช่วงภาวะวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ในภาวะเช่นนี้ การตั้งคำถามต่อชีวิต ความคิด และความเป็นไปในสังคมฝรั่งเศส ก็เท่ากับการตั้งคำถามต่อการเป็นเจ้าอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่มีชนชาติอื่นไม่เห็นด้วยไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นหนังเรื่องนี้จึงไม่ได้ท้าทายแค่ประชาชนชาวฝรั่งเศสแน่ๆ
Chronicle of a Summer กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้านภาพยนตร์ของยุโรป รวมถึงการศึกษาด้านมานุษยวิทยา ในสาย visual anthropology ว่าด้วยการบันทึกชีวิตมนุษย์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาวิจัย ทั้งยังตั้งคำถามต่อวงการภาพยนตร์ยุโรปที่ตกอยู่ในสองกระแสสำคัญคือ ถ้าไม่อินดี้สุดขั้ว ซึ่งในยุคนั้นนิยมแนวสัจจนิยมเชิงปัญหาสังคมหรือ social realism ก็หลงใหลในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่มีเส้นเรื่องชัดเจน สนุกสนาน และมีดาราดังเป็นจุดขายไปเลย
#BKKY ใช้วิธีสืบเสาะเข้าหา subject หรือผู้ที่ถูกถ่ายทำที่คล้ายๆ กัน คือการเข้าไปสัมภาษณ์ด้วยคำถามง่ายๆ ว่าความสุขคืออะไร แต่ในรูปแบบของหนัง มีวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันมาก
หลังจากที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2016 และได้ไปฉายมาแล้วที่เทศกาลหนังปูซาน ในปีนี้ #BKKY ก็ได้เข้าโรงหนังให้คนไทยได้ไปซื้อตั๋วชม ท่ามกลางภาวะสังคมไทยที่ดูเหมือนจะนิ่งสงบหากแต่คุกรุ่น ไปด้วยความไม่ลงรอยของขั้วต่างๆ ทั้งด้านการเมือง วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น เชื้อชาติ เพศ การศึกษา ความเชื่อ ศาสนา และ อื่นๆ อีกมากที่รายล้อมเราอยู่
หนังสื่อนัยถึงการข้ามพรมแดนเชิงวัฒนธรรม (cross-culture) หลายพรมแดนเหลือเกิน ตามที่เหล่าวัยรุ่นผู้ถูกสัมภาษณ์พยายามจะข้ามเส้นแบ่งบางอย่างที่ฝังแน่นในสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ทั้งในเรื่องชีวิตรัก เพศ การศึกษา และครอบครัวของพวกเขาเอง
ในหนังเรื่องนี้ เรื่องเพศ น่าจะถูกบอกเล่าเด่นชัดที่สุด เมื่อความรักในเพศเดียวกันเป็นเรื่องที่เปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆในสังคมไทย แต่ความสัมพันธ์ก็แตกหักลงง่ายดายเช่นกัน การเปลี่ยนจากการรักเพศเดียวกันมารักต่างเพศ หรือ ในที่สุดแล้วกลับมารักเพศเดียวกัน คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย และแม้ว่าเราจะรับรู้ว่ามีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะได้รับการยอมรับและความเข้าใจจากคนส่วนใหญ่ ผู้ให้สัมภาษณ์จำนวนมากก็ยอมรับว่า พ่อแม่ยังคงไม่อาจยอมรับสภาพความเป็นเพศอื่นๆ ของพวกเขาได้อยู่ดี
เรื่องราวของ เจฟ ที่เป็นคนสองวัฒนธรรมก็น่าสนใจ ในบ้านเรามีเด็กจำนวนมากที่มีสองเชื้อชาติ พ่อแม่มาจากต่างศาสนา มีความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม หนังไม่ได้ให้รายละเอียดของเจฟเลยทั้งเบื้องหลังครอบครัว หรือปมใดๆในชีวิต ปล่อยให้ตัวละครทั้งหมดเข้ามามีความสัมพันธ์กันอย่างผิวเผิน รวดเร็ว ไม่มีพรมแดนเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าชีวิตเด็กสมัยใหม่นี้ อะไรคือสิ่งที่พวกเขาจะยึดเหนี่ยวไว้ได้
ในขณะที่ประเด็นที่จะเล่าเป็นเรื่องเพศ และ เด็กที่เติบโตในสองวัฒนธรรม หนังก็ใช้สไตล์การเล่าเรื่องที่ผสมผสานระหว่างเรื่องแต่ง (fiction) และเรื่องจริง (non-fiction) ล้อกันไปด้วย ซีนที่เป็นการสัมภาษณ์บุคคลจริงๆ ที่ดูคล้ายสารคดี แต่ก็มีการเซ็ทฉากและซีนที่เป็นการแสดงก็มีเส้นเรื่องที่ดำเนินไป เป็นสองสไตล์การเล่าเรื่องที่สลับกันไปมาตลอดเวลา
หนังเล่าเรื่องส่วนใหญ่ผ่าน โจ้ ซึ่งเป็นผู้หญิงที่ได้รับความรักทั้งจากผู้ชายและผู้หญิง แต่ในแง่ของการเล่าเรื่องปมของปัจเจกบุคคลที่อาจโยงไปสู่สังคม ผู้เขียนรู้สึกเสียดายเล็กๆ และอดนึกภาพไม่ได้ว่า หากให้เล่าเรื่องผ่านมุมมองของ คิว กับ เจฟ ซึ่งเป็นเด็กที่มีลักษณะ cross-culture มากที่สุดในหนัง หรือค้นหาตัวละครรุ่นพ่อที่มีลักษณะ cross-generation บ้าง นอกเหนือจากพ่อที่มีความเข้มงวดอย่างคลาสสิก ประเด็นเรื่องราวจะออกมาเป็นอย่างไร
แต่ถ้าจะบอกว่า #BKKY สะท้อนภาพหนึ่งในสังคมไทยได้ดีไม่แพ้ที่ Chronicle of a Summer เคยสะท้อนภาพฝรั่งเศสในช่วงเวลาหนึ่ง ก็ไม่เกินจริงนัก
หลังจากความรื่นรมย์ระหว่างชมและเดินออกจากโรงภาพยนตร์มาแล้ว โดยที่ผู้เขียนเองยังไม่แน่ใจว่าผู้กำกับจะตั้งใจหรือไม่ แต่ภาพที่จำติดตา คือ การวางองค์ประกอบภาพที่ใช้ ‘กรอบ’ เป็นเฟรมของภาพหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในตอนแรกที่ โจ้กับคิว เริ่มจีบกัน หรือตอนที่บอกเลิกกันในร้านกาแฟ การให้กล้องตั้งนิ่งแช่ไว้จนกว่าการแสดงจะสิ้นสุด โดยไม่มีการตัดต่อไปไหนทั้งสิ้น ราวกับจะให้คนดูได้ซึมซับชีวิตในกรอบนั้นอย่างที่มันเป็น สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกคือ นี่เป็นชีวิตหลากหลายทางเพศที่ต้องอยู่ใน ‘กรอบอันคุกรุ่น’ ตลอดเวลา
อย่างที่เล่าไปแล้ว ตัวละครและผู้ถูกสัมภาษณ์ในหนังมีความหลากหลายทั้งด้านเพศ เชื้อชาติ ชนชั้นทางการศึกษา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาอย่างผิวเผิน เราอาจจะดีใจที่เห็นสังคมไทยมีความหลากหลาย เสมือนว่าเราคนไทยอยู่ร่วมกันได้แม้จะแตกต่างกัน แต่ท่ามกลางความหลากหลายเหล่านี้ สังคมเราอาจจะไม่เคยหลุดจากกรอบเท่าไหร่นัก
เด็กที่ถูกสัมภาษณ์พูดถึงประเด็นด้านเพศ การศึกษา ครอบครัว และล้วนแต่ซุกซ่อนความฝันที่อยากจะปลดปล่อยตัวเอง จากกรอบที่คุกรุ่นไปด้วยแรงเสียดทานของคนต่างรุ่น ต่างยุคสมัย ต่างวิธีคิด อันเป็นพรมแดนที่ทุกคนก้าวข้ามไปอย่างยากลำบาก พวกเขาเผชิญกับความคาดหวังของพ่อแม่ ทัศนคติของครูและนักเรียน (ที่ยกย่องครูที่สอนเก็งข้อสอบเก่งๆ มากกว่าครูที่สอนให้คิด และห้ามวิจารณ์ครู) รวมถึงค่านิยมอื่นๆ ที่เด็กกำลังใช้ชีวิตอยู่ในนั้น
ซึ่งกรอบที่หลากหลายเหล่านี้ เอาเข้าจริงแล้วอาจจะไม่ใช่ กรอบของผู้ใหญ่ หรือของคนต่างรุ่นต่างความคิดสร้างขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นความหวาดกลัวที่ต่างฝ่ายต่างไม่กล้าพูดและแสดงความเห็นกันอย่างเปิดใจกว้าง ในขณะที่ไม่ว่าผู้คนจะยอมรับความแตกต่างได้หรือไม่ได้ก็ตาม แต่มันก็ยังคงดำรงอยู่เช่นนั้น และจะดำเนินต่อไปแม้วันหนึ่งมันจะแปรสภาพจากคุกรุ่นเป็นระเบิดจากการไม่ยอมพูดกันก็ตาม เส้นทางของวัยรุ่นไทยยุคนี้จึงน่าติดตามและชวนสะท้อนใจอย่างยิ่ง
ผลงานทางศิลปะภาพยนตร์ก็ไม่ต่าง หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบ ไม่ได้ชูความสนุกสนาน เน้นความดราม่า ไม่ได้ลงทุนร้อยล้านและไม่โปกฮา แต่อย่างน้อยหนังได้ทำหน้าที่ปลดปล่อยสไตล์การสร้างหนังไทยในยุคที่รายได้หนังไทยตกต่ำ และไม่มีหนังทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้ชมมากนัก หรือถึงจะมีก็ถูกห้ามฉาย ถูกตัดทอนไปเสียหลายเรื่อง
ท่ามกลางความคับแคบของทางเลือก ฝ่ายที่น่าชื่นชมนอกจากทีมทำหนังที่พยายามแล้ว ก็คือ ค่ายหนังที่มีความกล้าหาญ และมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนภาพยนตร์ที่เป็นลูกผสม กึ่งอินดี้กึ่งกระแสหลักโดยการปูพรมฉายหลายโรง ทั้งที่เห็นว่ามีความเสี่ยงในแง่ธุรกิจ แต่การข้ามเส้นพรมแดนทางธุรกิจเพื่อทดลองสิ่งใหม่ก็เป็นการปลดปล่อยตัวเองที่ยากเย็นที่สุดเรื่องหนึ่งและพวกเขาก็ทำได้