คุณกำลังมองหาความจริงในการตายของเศรษฐินีคนหนึ่ง ตัวละครทุกตัวเป็นผู้ต้องสงสัย และระหว่างที่พวกเธอกำลังเล่าความจากฝั่งตัวเอง ก็เป็นอันต้องถูกอุ้มหายไปทีละคน จนคุณแทบไม่รู้แล้วว่าเรื่องทั้งหมดเป็นยังไงกันแน่
หนำซ้ำ การที่คนถูกอุ้มหายยังมาจากการตัดสินใจของคุณเอง โดยที่คุณก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจริงหรือเปล่า เพราะระหว่างการแสดงพวกคุณจะต้องโหวตด้วยการยกป้ายตอบคำถาม ซึ่งคำถามเองก็แทบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องหรือกระทั่งการเมืองเลย (เป็นต้นว่า ชอบกินเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดไหน) และระหว่างที่คุณกำลังจับต้นชนปลายอยู่นั้น หากนั่งเก้าอี้ถูกตัว คุณจะพบคำตอบใต้เก้าอี้ที่อาจทำให้บางอย่างกระจ่างขึ้น
—นี่คือประสบการณ์เพียงคร่าวๆ จากละครเวทีเรื่อง ‘Ceci n’est pas la politique/ นี่ไม่ใช่การเมือง’ และเราก็กำลังพูดคุยกับ จารุนันท์ พันธชาติ ผู้กำกับการแสดง และ ภัทรียา พัวพงศกร ผู้เขียนบทของเรื่องนี้ แน่นอน สิ่งที่เราสงสัยคือพวกเขาทำงานหรือมีวิธีคิดอย่างไรถึงได้ออกมาเป็น interactive performance ที่สะกิดใจคนไทยอย่างเราจนประสบความสำเร็จอย่างงดงามในปี 2015 และต้องนำมารีสเตจกันอีกครั้งในปี 2017 นี้
เราพูดคุยกันในห้องที่ใช้ทำการแสดง ระหว่างที่เหล่านักแสดงก็ซ้อมบทและบล็อกกิ้งกันอยู่ แสงสีจากโปรเจคเตอร์และไฟในฉากเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บรรยากาศออกจะวุ่นวายสักหน่อย แต่เรากลับรู้สึกสงบและจมกับห้วงความคิดอย่างบอกไม่ถูก—ไม่ใช่แค่เกี่ยวกับละครเรื่องนี้และสิ่งที่มันสื่อสารออกมา แต่เกี่ยวกับที่ทางของศิลปะแขนงนี้ด้วย
Life MATTERs : พวกคุณทำละครเวทีเป็นอาชีพหลักในชีวิตเลยไหม
จารุนันท์ : ทำละครเวทีเป็นหลักเลยค่ะ แต่ก็รับจ๊อบเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไปด้วย
ภัทรียา : ตอนนี้ทำงานเป็นกองบรรณาธิการของเว็บไซต์ The Cloud แต่ว่าก็ทำละครเวทีมาสม่ำเสมอตั้งแต่เรียนอยู่จนถึงตอนนี้ เพียงแค่ไม่ได้ทำเป็นอาชีพหลักค่ะ
Life MATTERs : จุดเริ่มต้นของ ‘นี่ไม่ใช่การเมือง’ คืออะไร
จารุนันท์ : ตอนนั้นเราคิดว่าถ้าเกิดเราซ้อมๆ ละครกันอยู่ ต่อบทกันอยู่ แล้วเพื่อนเราที่เล่นด้วยกันหายไปหรือโดนคดี เราจะทำยังไง
ภัทรียา : ตอนแรกพี่จาก็มีโจทย์มาให้เรา ว่าละครเรื่องนี้มีชื่อเรื่องแล้ว คือ ‘เรื่องนี้ไม่ใช่การเมือง’ เขาได้ไอเดียมาจากภาพ Ceci n’est pas une pipe ซึ่งเป็นภาพไปป์ที่เขียนกำหนดว่านี่ไม่ใช่ไปป์ ของ René Magritte เราก็เลยเอามาล้อกันว่าละครเรื่องนี้ไม่ใช่การเมืองนะ แต่เป็นภาพจำลองการเมือง
แล้วก็มีโจทย์อีกว่า มีนักแสดง 6 คนนะ แล้วทุกซีนต้องมี 6 คนนี้อยู่ ถ้ามีคนหายแปลว่าเขาถูกทำให้หายไป นี่คือโจทย์ที่เราได้มา หลังจากนั้นก็เลยเวิร์กช็อปหาตัวแสดง หาเรื่อง ว่าจะเขียนไปในแนวทางไหน แล้วเราก็ลองทำอะไรกันสักอย่างที่ผลออกมามันไม่ค่อยเวิร์ก
จารุนันท์ : เราเคยลองทำเหมือนเป็นเพื่อนคุยกัน นั่งในร้านกาแฟ จากคนไม่รู้จักกันมาเป็นเพื่อนกัน จากเป็นเพื่อนกันไม่เป็นเพื่อนกัน อิมโพรไวซ์ไปเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายมันดูไม่มีอะไร ไม่ค่อยเวิร์ก
ภัทรียา : ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นแนวฆาตกรรม ตัวละครเขาก็จะรู้แล้วว่าเขาต้องทำอะไร ก็คือต้องหาฆาตกรนะ มันต้องมีการ suspense อะไรให้คนเห็น มันก็เลยกลายเป็นเรื่องนี้
Life MATTERs : จากที่จัดแสดงเรื่องนี้ครั้งแรก ตอนนี้ก็ผ่านมา 2 ปีแล้ว ทำไมถึงเอากลับมารีสเตจอีกครั้ง
จารุนันท์ : เราได้โอกาสจาก BACC เราไปนั่งดูงานเก่าๆ ก็คิดว่างานไหนที่มันสามารถนำกลับมาเล่นแล้วมันยังสื่อกับคนในยุคปัจจุบันได้ ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ก็ยังมีคนหายๆ ไปอยู่นะ ยังมีคนตายอยู่ มันมีอะไรเยอะมากที่ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดทั้งที่มันไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว เราเลยคิดว่างานนี้มันยังสามารถพูดได้อยู่ เลยนำกลับมาเล่นอีกครั้ง
Life MATTERs : ซึ่งคนที่มาดูสามารถมีส่วนร่วมกับละครเวทีของคุณได้ด้วย
จารุนันท์ : ในเมื่อบทมันจะต้องมีนักแสดงหายไป แต่เราก็ไม่อยากเลือกเองว่าจะให้ใครหาย เลยให้คนดูเลือกแล้วกัน (หัวเราะ) ก็เลยคิดต่อมาว่าการหายนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร คนดูตั้งเยอะตั้งแยะจะให้เขาเลือกยังไง เลยนึกถึงการโหวตขึ้นมา ให้คนดูโหวต
ซึ่งพูดถึงคนดูบ้านเรากับการมีส่วนร่วมในละครเวทีก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่ เพราะคนไทยจะค่อนข้างขี้อาย พอพูดว่า interactive คนดูก็จะนึกไปว่าฉันต้องออกไปเต้นด้วยเหรอ อะไรประมาณนี้ เราเลยนึกไปถึงการยกป้ายโหวต ให้คนดูมีส่วนร่วมโดยที่เขาจะรู้สึกสบายใจ ไม่บีบบังคับกันจนเกินไป ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังต้องตามฟีดแบ็คกันอยู่เรื่อยๆ ว่าแบบนี้โอเคไหม พอคนดูลุกขึ้นหน้าตายิ้มแย้มเราก็แฮปปี้ พอคนดูหน้าตาบึ้งๆ เราก็เอ๊ะ เขาโกรธรึป่าวนะ อยากเขวี้ยงบัตรเอาตังค์คืนไหม
Life MATTERs : เห็นว่าที่นั่งบางตัวจะมีเฉลยแปะอยู่ นั่นแปลว่าจะมีเพียงบางคนที่รู้เฉลยแน่ชัด คุณมองว่าคนที่รู้กับคนที่ไม่รู้เฉลยจ ะได้รับอรรถรสในการดูละครเรื่องนี้ต่างกันไหม
จารุนันท์ : ที่เราไม่แปะไปทุกที่นั่ง เพราะจริงๆ เราคาดหวังไว้ว่าคนดูจะหันมาถามกันว่าเขาเขียนว่าอะไรเหรอคะ หรือขออ่านด้วยกับคนข้างๆ อยากให้ได้คุยกับคนแปลกหน้ากันบ้าง
ภัทรียา : ซึ่งเขาก็มีถามกันบ้างนะ ว่านับผลโหวตจริงหรือเปล่า บทสำเร็จรูปใช่ไหม การที่หายไปเป็นเกี่ยวกับคำถามที่เราต้องโหวตตอบหรือเปล่า บางคนก็อยากรู้ว่ากระบวนการมันเป็นยังไง เราก็ตอบเขาได้ว่าโหวตจริง นับจริง มีคนนับมาจากข้างบน เวลาชูป้ายก็จะมีคนมานับแล้วนำไปประมวลผลว่าในแต่ละรอบนักแสดงคนไหนต้องออก ซึ่งผลโหวตที่เซอร์ไพรส์สุดคือโปรเจกเตอร์ถูกโหวตออก
Life MATTERs : เมื่อใช้คำถามชุดเดียวกันทุกรอบ ผลโหวตในแต่ละรอบแตกต่างกันมากไหม
จารุนันท์ : คล้ายกันนะ อย่าง 5 รอบที่ผ่านมา sound designer ยังไม่ถูกเลือกออกเลย
ภัทรียา : ที่จะถูกโหวตออกไม่ใช่แค่นักแสดงทั้ง 6 แต่เป็นทีมงานด้วย ซึ่งคนออกแบบเสียงเป็นคนเดียวใน 10 คนที่ยังไม่โดนออกเลย
จารุนันท์ : ฉาก คอสตูม หรือไฟ ก็โดนออกเยอะนะ ถ้าคอสตูมโดนโหวตออก นักแสดงก็ต้องถอดชิ้นส่วนเสื้อผ้าให้เขาเก็บไป ไฟโดนโหวตออกก็จะดับไฟ พอผลออกมาคล้ายๆ กันเราก็จะพบว่าคนดูของเราส่วนใหญ่จะชอบกินกาแฟ 2 แก้ว
ภัทรียา : และคนดูของเราส่วนใหญ่ไม่ดู Games of Throne (หัวเราะ) แต่ก็แล้วแต่รอบไป
Life MATTERs : ตอนตั้งคำถาม คุณคิดจากอะไรบ้าง เพราะบางคำถามก็ดูทั่วไป แต่บางคำถามก็ดูเหมือนมีอะไร
จารุนันท์ : เวอร์ชั่นแรกๆ คือมีแต่คำถามซีเรียสทั้งนั้นเลย จนเพื่อนที่มาช่วยดูเขาก็บอกว่าน่าจะมีคำถามเบาๆบ้าง เพราะบางทีถ้าเราเลือกอะไรไม่รู้ด้วยความไร้สาระ แค่ชอบกินท็อฟฟี่สีเดียวกัน ชอบเกมเดียวกัน อะไรง่ายๆ แบบนั้นมันก็จะดูมีมิติมากขึ้น ก็เลยเพิ่มคำถามอะไรพวกนี้ขึ้นมา
ภัทรียา : เป็นคำถามพวกเชิงรสนิยม เชิงความเห็น
Life MATTERs : พอคนดูไม่แน่ใจว่าผลโหวตถูกนำไปใช้จริงหรือเปล่า แล้วไม่รู้ด้วยว่าเรื่องราวจริงๆ เป็นยังไง นี่เป็นความตั้งใจของทีมงานด้วยไหม ที่อยากเล่นกับความไม่รู้ของคน
จารุนันท์ : เราไม่ได้อยากให้ทุกคนต้องงง ต้องคลุมเครือหรือว่าอะไร แต่สิ่งที่เราพยายามจะพูดคือทุกคนสำคัญ ซึ่งไม่รู้ว่าคนดูจะได้รับสารนี้ไปหรือเปล่า แต่มันเป็นสิ่งที่เราอยากบอกว่าการที่ใครสักคนหายไปจากที่ที่เขาควรอยู่ มันมีเอฟเฟกต์หมด
Life MATTERs : สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับละครเวที เรื่องนี้คืออะไร
จารุนันท์ : เราว่าบล็อกกิ้งที่คนเดินในแต่ละฉาก
ภัทรียา : ส่วนของเรามันยากตั้งแต่บทแล้วแหละ คือเราไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น ขนาดเขียนบทเองเรายังไม่รู้เลยว่าแล้วจะดำเนินไปยังไงต่อ ถ้าคนนี้หายไปแล้วจะยังไง จะเอาคนดูอยู่ไหม มันมีคำถามเต็มไปหมด ใช้เวลานานมากกว่าจะเขียนออกมาได้ คือเราต้องจินตนาการด้วยว่า ถ้าคนออกไปเรื่อยๆ แล้วสิ่งที่จะเหลืออยู่บนเวทีคืออะไร คือมันก็จะเป็นการเกลี่ย info ไปให้ทุกตัว ถึงแม้ว่าใครหายไปก็ยังจะมีอะไรให้เกาะ ให้ติดตามอยู่บ้าง ถึงแม้ว่ารายละเอียดต่างๆ มันจะหายไปแล้ว
Life MATTERs : บทนี้มันก็ 2 ปีมาแล้ว ความคิดบางอย่างของคุณอาจโตขึ้น มีอะไรในบทที่อยากจะเปลี่ยนไหม
ภัทรียา : มี เพราะรู้สึกว่าตอนนั้นเราเด็กกว่านี้ ถ้าสมมติต้องเขียนเรื่องใหม่มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนี้เลยก็ได้ คนดูอาจจะรู้สึกว่าเรื่องที่เล่นกับเรื่องที่โหวตต่างกันจังเลย จริงๆ แล้วเราอยากทำให้เรื่องที่เกิดขึ้นบนเวทีกับเรื่องจริงๆ มีความสอดคล้องกันมากกว่านี้ เพื่อที่คนจะได้งงน้อยลง
จารุนันท์ : แต่เราก็ชอบที่มันไม่ต้องเชื่อมโยงอะไรกันเลยนะ เหมือนเราดูทีวีที่บ้านแล้วก็มีคนยกทีวีออกไป เราก็จะรู้สึกว่า อ่าว ดูอะไรล่ะทีนี้ (หัวเราะ) แล้วยิ่งพอมีไลต์ติ้งดีไซเนอร์เข้ามา เราก็รู้สึกว่าเมโลดราม่าเยอะขึ้น ในรอบแรกทุกอย่างเป็นสีน้ำเงินไปหมด นักแสดงก็ใส่สีน้ำเงิน ฉาก แสงอะไร ก็สีน้ำเงิน เพราะอยากเล่นกับสีโมโนโครม คือตอนแรกก่อนหน้านั้นอีกเราตั้งใจจะเล่นกับสีน้ำเงิน ขาว แดง แต่ตอนนี้ทำออกมาแค่สีน้ำเงิน ขาวกับแดงยังไม่ได้เล่น (หัวเราะ ) เราได้แรงบันดาลใจมาจากหนังฝรั่งเศส ชื่อ Blue White Red เป็นหนัง trilogy ดูเท่ดี อยากลองทำบ้าง
Life MATTERs : มีละครเวทีหลายเรื่องที่นำบทประพันธ์ที่เคยมีอยู่แล้วมาดัดแปลง สำหรับตัวคุณชอบแบบที่ทำเองทั้งหมดหรือแบบที่มีบทประพันธ์อยู่แล้ว
จารุนันท์ : เราไม่แน่ใจว่าตัวเองจะสามารถทำอะไรกับออริจินัลได้ เพราะฉะนั้นก็เลยรู้สึกว่าทำเองมันก็สนุกดี เพราะเรายังไม่เคยนำบทที่มีอยู่แล้วไปทำให้มันเป็นจริงเป็นจังในแบบที่บทต้องการพูดเลย เพราะมันมีสิ่งที่เขาอยากจะพูดเยอะไปหมด เราเลยเลือกพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูดดีกว่า
อีกอย่างคือเราไม่ได้อ่านบทประพันธ์เยอะ รู้สึกว่าถ้าคนเขียนบทอยากทำก็ต้องมากำกับเองสิ แต่ส่วนใหญ่คนเขียนบทเขาก็จะแค่เขียนเสร็จ จบ ส่วนเราไม่ได้เรียนละครเลยไม่แน่ใจว่ายังไง เพราะถ้าเราเขียนบทเราก็อยากจะกำกับเอง เพราะเราก็ไม่เคยเอาบทเราให้คนอื่นกำกับ ไม่ใช่ว่าหวงบทนะ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะอ่านรู้เรื่องไหม (หัวเราะ)
ภัทรียา : (หันไปพูดกับผู้กำกับ) แต่มีคนเอาบทพี่จาไปเล่นเต็มเลยนะ อย่าง Suicide Buddy งี้ เป็นข้อสอบของเด็กละคร เขาก็ใช้สอนแล้วก็ตอนส่งซีนกันในห้องเรียน
จารุนันท์ : ใช่เหรอ ทำไมไม่เห็นรู้เลย (หัวเราะ)
Life MATTERs : คุณจาเองไม่ได้เรียนจบด้านละครเวที คิดว่าคนที่เรียนทางด้านนี้มาโดยตรงจะได้เปรียบกว่าคุณไหม
จารุนันท์ : เขาก็คงจะไปได้เร็วกว่ามั้ง ไม่ต้องมาลองเหมือนเรา คนเรียนมาแล้วก็คงรู้ว่าเขียนแบบไหนมันจะดี พอเราไม่ได้เรียนมามันก็จะใช้เวลาไปกับการลองผิดลองถูก ลองกลิ้งไปแบบนี้ดู แล้วก็ค่อยมารู้ว่า จริงๆ แล้วมันมีวิธีที่ง่ายกว่านั้นนะ แค่ทำแบบนี้เอง คนที่เขียนเป็นมาแล้ว เขาก็ไม่ต้องมาลองกลิ้งๆ แบบเรา
แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่จะทำยังไงกับมันต่อมากกว่า อยู่ที่ว่าความรู้เป็นพื้นฐานให้เราไปต่อยอด หรือความรู้นั้นกลายเป็นสิ่งที่คุณยึดติดจนทำอย่างอื่นต่อไม่ได้ ถ้าทำแบบอื่นมันจะไม่ใช่ละครแล้ว ซึ่งเราไม่เห็นด้วย เพราะเรารู้สึกว่าคนที่ทำละครคนแรกๆ เขาก็ไม่ได้คิดอะไรแบบนี้หรอก เขาก็แค่ทำให้มันดีขึ้นๆ ตามยุคสมัยของเขาก็เท่านั้นเอง นอกจากว่ามันเป็นความชอบ ที่เขาชอบทำแบบนั้น ก็โอเค จบไป
ภัทรียา : เราเองสนใจว่าเขาจะสื่อสารอะไรกับเรามากว่าที่จะมาสนใจว่าละครเรื่องนี้เป็นแนวอะไร
จารุนันท์ : ซึ่งเราว่ามันไม่ใช่หน้าที่เราด้วยนะ ที่จะต้องมาตัดสินว่านี่คือละครเวทีหรือไม่หรือเป็นแนวอะไร ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนที่จะมาทำหน้าที่นี้คือใคร
Life MATTERs : งานของผู้กำกับละครเวทีจบลงตรงไหน
จารุนันท์ : ถ้าโปรเฟสชั่นนอลมากๆ ซ้อมรอบแรก open house ก็จบแล้ว หลังจากนั้นเสตจก็ต้องรันกันไป
ภัทรียา : ไม่เห็นมีใครทำได้ (หัวเราะ)
จารุนันท์ : ในวงการละครโรงเล็กมันก็เล่นไม่กี่รอบ ประมาณ 10-11 รอบ ทุกคนก็ต้องมาลุ้น แต่ก็เคยได้ยินว่าพวกบรอดเวย์ หรือประเทศที่เขาทำกันเป็นธุรกิจเขาก็ทำแค่ open แล้วจบ เสตจรัน เวลาเล่นก็มานั่งรับเสียงปรบมือ หลังจากนั้นก็ไปกำกับเรื่องอื่นต่อ อย่างเพื่อนเราก็ open แล้วจบ ไปรับจ๊อบเรื่องอื่นต่อ นานๆ ก็จะแวะมาดูที แล้วเสตจก็จะเช็ค ซึ่งเสตจก็ต้องเก่งมาก แต่เราเองตอนนี้ก็ยังมาลุ้นทุกวัน สนุกดี
Life MATTERs : ข้อจำกัดของละครเวทีบ้านเราคืออะไร
จารุนันท์ : น่าจะเป็นเรื่องของเงินทุน คนดู และสเปซต่างๆ ข้อจำกัดคือเราจะทำยังไงให้คนดูมีกำลังซื้อโดยไม่รู้สึกลำบากใจ หรือรู้สึกว่าสงสารจังเลย ช่วยซื้อบัตรมันหน่อย แล้วโปรดักชั่นเองก็ไม่เอาเปรียบทีมงานด้วยการขายตั๋วถูก เพื่อให้คนมาดู แต่ทีมงานได้ตังค์น้อย มันก็ไม่ใช่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก เราก็คิดอยู่ตลอดว่าทำยังไงดีที่จะจ่ายเพื่อนเราที่ซ้อมมา 3 – 4 เดือนให้เยอะกว่านี้ แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ อะไรๆ ก็ยากไปหมด
ภัทรียา : ส่วนที่ทำให้ยากที่สุดคือคนดูที่ยังมีน้อยอยู่ ทำให้มันไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ คือละครเวทีมันไม่ใช่ชีวิตประจำวันของบ้านเรา ที่แบบ วันนี้ไปไหนกันดี ดูละครเวทีกันดีกว่า เราไม่ใช่แบบนี้ คือมันจะมีความลักลั่นตรงนี้อยู่
Life MATTERs : ในเมื่อข้อจำกัดชัดเจน อะไรที่ทำให้คุณยังคงทำมันต่อไป
จารุนันท์ : เอาจริงๆ มันดีขึ้นนะ มันมีคนที่จบมาแล้วทำละครที่มีคุณภาพออกมา นักแสดงรุ่นใหม่ๆ ที่จบออกมาก็มีคุณภาพเยอะมาก เราจะเห็นนักแสดงที่จบละครออกมาแล้วรู้สึกว่าเขาร้องดีจังเลย เล่นดีจังเลย พวกที่จบดีไซน์ก็มีคุณภาพกันมาก เพียงแต่พื้นที่ตรงนี้มันยังไม่มาก
อย่างเมื่อก่อนเด็กจบอักษรเอกละคร จะไปเป็นแอร์กันหมด แต่เดี๋ยวนี้ก็มาทำละครกันมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น มีเฮาส์เยอะขึ้น กลุ่มละครเยอะขึ้น ก็อยู่ที่เราจะสื่อสารให้คนดูมาดูยังไง ซึ่งเราไม่สามารถทำคอมเมอร์เชียลอาร์ตที่ดีได้เลย ถ้าเราไม่ได้มีรากที่ดี ดังนั้นรัฐเองก็ต้องสนับสนุนทั้งหมดตั้งแต่รากไม่ใช่เก็บเอาแต่ยอดที่มันไปถึงผู้คนเรียบร้อยแล้ว
ภัทรียา : ส่วนเราก็สวมหมวกสองใบ เป็นสื่อด้วย ก็ทำเท่าที่ทำได้
Life MATTERs : คุณอยากบอกกับผู้อ่านของเราอย่างไร เป็นการทิ้งท้ายบทความนี้
ภัทรียา : ความปรารถนาสูงสุดของเรา ก็คงอยากให้มีคนมาดูเรื่องนี้ มีครั้งหนึ่งที่พี่จาพูดว่าละครเรื่องนี้มันเหมือนเฟซบุ๊ก ที่อัลกอริทึ่มของมันจัดให้เราเห็นแต่อะไรที่เราชอบ ซึ่งอะไรที่เราไม่ชอบ สุดท้ายเราก็อันฟอลโลว เราก็ไฮด์มัน ไม่เห็นมันจนเราไม่รู้ว่าภาพรวมจริงๆ มันคืออะไร ซึ่งเราไม่อยากให้คนกรอบตัวเองจนมองเห็นแค่สิ่งที่ตัวเองอยากมอง เราอยากให้ทุกคนได้ลองมาเห็นสิ่งนี้
จารุนันท์ : และเราก็อยากให้ให้โอกาส performing art ด้วยนะคะ ไม่ใช่แค่เรื่องเราหรอก แต่คิดว่าทุกคน ทุกเรื่องก็ต้องการการสนับสนุน ให้โอกาสมันสัก 3-4 ครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจว่าฉันจะไม่ดูมันอีกแล้ว เพราะเราก็พยายามที่จะพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ซึ่งสำหรับคนที่มาดูครั้งแรกมันอาจจะประหลาดไปบ้าง แต่เราก็พยายามทำให้มันสนุกขึ้น ดีขึ้น ใครที่ไม่เคยมาดูเลยก็ให้โอกาสมันหน่อยนะ
Photos by Adidet Chaiwattanakul
ละครเวที ‘นี่ไม่ใช่การเมือง’ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 1 ตุลาคม 2017
ณ Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/events/1303545546411236/