“คุณคงไม่เคยรู้จักเธอ แต่อาจเคยพบเห็นเธอทุกแห่งหนในคราวเดียวกัน ทั้งในโรงแรม บนท้องถนน ในรถไฟ ในบาร์ ในหนังสือ ในภาพยนตร์ ในตัวคุณเอง ในส่วนลึกของคุณ สุดแล้วแต่ที่อวัยวะส่วนนั้นของคุณชูชันยามค่ำคืน เพียรหาที่สักแห่งเพื่อปล่อยน้ำตาที่อัดอั้นอยู่ภายในออกมา”
นี่คือย่อหน้าแรกที่เป็นเหมือนคลื่นเล็กๆ ลูกแรกซัดเข้าหา ขณะฉันเดินลงสู่มหาสมุทรอักษรของมาร์เกอริต ดูราส (Marguerite Duras) นักเขียนฝรั่งเศสคนสำคัญผู้มีน้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์ เธอเขียนทั้งนวนิยาย บทละคร รวมไปถึงภาพยนตร์อีกหลายชิ้น แต่ฉันเพิ่งได้รู้จักเธอในขณะนั้นเอง จากนั้นก็จมลงไปอย่างเงียบเชียบ
ฉันไม่เข้าใจแต่รับรู้ถึงบรรยากาศ ชายหญิงคู่หนึ่งอยู่ในห้องพักที่มองเห็นทะเล ฉันนึกถึงผ้าม่านลูกไม้บางเบาที่ปลิวไปตามลมซึ่งเข้ามาทางหน้าต่าง เขาทุกข์ระทม ส่วนเธอดูทรงเสน่ห์ด้วยกายกรุ่นกลิ่นดอกเฮลิโอโทรปและมะนาวซิตรัส ไม่ยี่หระต่อความอ่อนแอของเขา ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบคู่รักธรรมดาสามัญ หากแต่เขาซื้อตัวหญิงสาวมาด้วยเหตุผลที่ว่า
“อยากลอง อยากลองสิ่งนั้น ลองทำความรู้จักสิ่งนั้น คุณอยากคุ้นเคยกับสิ่งนั้น เรือนร่างนั้น อกนั้น กลิ่นนั้น กับความงดงาม อยากคุ้นเคยกับความเสี่ยงที่จะเพาะทารกในกายเธอ กับร่างกายที่ไร้ขนและปราศจากมัดกล้ามหรือแม้แต่พละกำลัง คุณอยากคุ้นเคยกับใบหน้าแบบนั้น กับผิวกายอันเปล่าเปลือยแบบนั้น และกับความพ้องพานกันระหว่างเนื้อหนังนั้นกับชีวิตที่มันห่อหุ้มไว้”
ผู้ชายแบบไหนกันที่ไม่รู้จักร่างกายของผู้หญิงมาก่อนเลย ?
ฉันเริ่มถอดรหัสตัวบท ‘La maladie de la mort’ หรือ ‘โรคแห่งความตาย’ ของมาเกอริต ดูราส ด้วยการศึกษาชีวิตส่วนตัวของเธอเอง เพื่อทำการแสดงที่ชื่อว่า An Epilogue to The Malady of Death ในปี 2558 เมื่อลองอ่านอีกครั้งด้วยข้อมูลใหม่ที่ได้มาจากอาจารย์บัณฑูร ราชมณี ผู้แปล ‘โรคแห่งความตาย’ และนักแสดงชายหนึ่งเดียวของเรื่องนี้ ฉันก็เริ่มมองเห็นกระดูกสันหลังอันแข็งแรงของเรื่อง ซึ่งในทีแรกดูจะพร่าเลือนและหยิบฉวยอะไรไม่ได้
ไม่ใช่เพียงผลงานเท่านั้น ประวัติส่วนตัวของเธอก็ชวนทึ่งเช่นกัน มาเกอริต ดูราสเป็นคนฝรั่งเศสที่ถือกำเนิดที่เวียดนาม ในครอบครัวข้าราชการฝรั่งเศสที่ไปทํางานที่นั่น ดินแดนอาณานิคมอินโดจีนนี้ส่งผลกับเธออย่างมาก เห็นได้ชัดเจนจากงานเขียนหลายเล่ม เช่น “Un barrage contre le pacifique” (เขื่อนกั้นแปซิฟิก) “L’Amant” (แรกรัก และ คนรักจากโคลอง ) ส่วน “La maladie de la mort” (โรคแห่งความตาย) เป็นนิยายที่เธอเขียนขึ้นในช่วงบั้นปลายชีวิต ในขณะที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
ตื่นเช้าขึ้นมา เธอจะต้องดื่มไวน์สองแก้วแล้วอาเจียนออกมาถึงจะเริ่มเขียนนิยายได้ ทั้งยังต้องดื่มไวน์จำนวน 6-7 ลิตรทุกวัน และด้วยอาการมือสั่น เธอจึงต้องให้ยาน อังเดรอา (Yaan Andrea)—คนรักคนสุดท้ายที่บูชาและดูแลเธอจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ชายหนุ่มที่อายุอ่อนกว่าเธอ 30 ปี ผู้เป็นชายรักชาย—เป็นคนพิมพ์ตามคำบอก
นี่คือความสัมพันธ์ทั้งรัก ทั้งเกลียด (love-hate Relationship) ขนานแท้
ทุกคำที่มาเกอริต ดูราสพูดออกไป และยาน อังเดรอาต้องพิมพ์ตาม เป็นเหมือนมีดที่กรีดเนื้อหนังตัวเขาเอง ผู้ชายในตัวเรื่องเป็นโรคแห่งความตาย ถึงได้ไม่เคยเห็นและสัมผัสความงามของเรือนร่างอิสตรี เขาไม่เคยสอดใส่เข้าไปใน ‘กำมะหยี่ที่ต้านทานกว่าความว่างเปล่า’ แน่นอนว่ายานย่อมทรมานกับการต้องเขียนในสิ่งที่เหมือนสารสาปส่งตัวเอง และฉันคิดว่ามาเกอริต ดูราสเองก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน ที่ไม่อาจได้สิ่งที่ต้องการจากคนรัก
เขารัก ดูแลและบูชาเธอเหมือนเทพเจ้า ขณะที่เธออาจอยากได้ความรักที่เหมือนคนหนุ่มสาวธรรมดาสามัญรักกัน เธอเกลียดที่เขาเป็นแบบนี้แต่ที่เกลียดก็เพราะรักเขามาก นิยายเรื่องนี้จึงถือกำเนิดจากความคิดของมาเกอริส ดูราสและมือของยาน อังเดรอา เธอให้เขาอ่านออกเสียงให้ฟัง แก้ไขให้ตัวบท ‘ผ่ายผอมที่สุด’ และเขียนไว้ในหน้าสุดท้ายว่าตัวบทนี้อาจนำไปทำเป็นการแสดงได้ โดยให้ตัวละครผู้หญิงสวยโดดเด่น เปลือยกายอยู่บนผ้าปูที่นอนสีขาว ส่วนตัวละครผู้ชายต้องอ่านตัวบทจากหนังสือที่บงการเขาด้วยคำว่า ‘คุณ’ และยังกำหนดให้เขาต้องดูอ่อนแรง
แต่ถึงอย่างนั้น การแสดงของเราเลือกทำในสิ่งที่ต่างออกไป
ตัวอย่างภาพการแสดง La maladie de la mort ที่ผ่านมา
ผู้กำกับ (วสุรัช อุณาพรหม) เลือกให้ตัวละครผู้ชายโดดเด่น ผู้ชมสามารถเห็นเขาตลอดเวลา ในขณะที่ตัวละครหญิงเร้นกายในผ้าสีขาวกองใหญ่ เหมือนเครื่องประดับหนึ่งของห้อง จนกว่าจะถึงตอนที่เขาอ่านถึงเธอ เธอจึงผุดมีชีวิตขึ้นมาเหมือนเทพธิดาวีนัสที่เกิดจากฟองคลื่นซัดสาด
เธอกับเขาพูดคนละภาษา เรามีนักแสดงหญิงสามคนสลับกันไปในแต่ละรอบ คนหนึ่งพูดภาษาญี่ปุ่น คนหนึ่งพูดภาษาอังกฤษและคนหนึ่งพูดภาษาไทยกับตัวละครชายที่พูดภาษาฝรั่งเศส ห้องถูกห้อมล้อมด้วยตัวอักษรภาษาฝรั่งเศสที่สะท้อนจากกระจกด้านหนึ่งไปทั่วทั้งห้อง
ฉัน ในฐานะ visual designer โยนภาพท้องทะเลสลับภาพดาวระยิบระยับของแสงบนผืนน้ำในเวลากลางคืนให้โผล่ขึ้นและจางหาย เสียง Lana Del Rey กรีดร้องออกมาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง นักแสดงชายต้องดื่มไวน์จริง เป็นวิธีที่เราค้นพบกันว่าเหมาะสมกับการถ่ายทอดและตอบโต้ตัวบทของมาเกอริต ดูราสมากที่สุด นั่นคือเราต้องอยู่ในภาวะเดียวกับเธอ เพื่อจะได้เข้าใจเธอและโต้เถียงเธอได้แบบสมน้ำสมเนื้อ
ภาพการแสดงปี 2558 จาก
โดยไม่คาดคิด ในปีที่ผ่านมา (2560) การแสดงของเราได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงที่เทศกาลการแสดง World Stage Design 2017 ที่เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน เราจึงกลับมารวมตัวกันอีกครั้งกับตัวบทเดิมแต่ตีความต่างไปจากเดิม จึงออกมาเป็น La Maladie De L’amor : Detoxification of a Heart
คราวนี้พื้นที่การแสดงถูกถมด้วยกระดาษสีขาว พาผู้ชมเข้าสู่โลกของนักเขียนหนุ่มที่จมอยู่ในตัวอักษรที่ไม่ใช่ของเขา เราอยากจะพูดแทนยาน อังเดรอาให้มากขึ้น ผ่านตัวบทที่เขาเป็นมือและเธอเป็นสมอง เพลง India Song ที่ขับร้องโดย Jeanne Moreau มาแทนที่ Lana Del Rey แต่แน่นอน เรายังคงใช้วิธีการดื่มเช่นเดิม ดื่มเพื่อไปสู่ภาวะอันเดียวกับผู้ประพันธ์
โปรเจ็คเตอร์แสดงภาพมาเกอริต ดูราสบนโซฟาแล้วจึงแพนมาที่กระจกอีกฝั่ง ซึ่งสะท้อนภาพของเธอ หมุนซ้ำไปเช่นนี้ ราวกับว่าไม่มีทางหนีพ้นผู้หญิงคนนี้ได้ แล้วเกลียวคลื่นของไวน์แดงก็ถูกฉายเพื่อโถมเข้าหาตัวละครชายให้จมลงไป
เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ในช่วงเวลาที่เราทำงานและอยู่กับตัวบท ‘โรคแห่งความตาย’ ประกอบกับการดื่มไวน์แดง ไม่ว่าจะเป็นครั้งไหน เราถูกพาไปสู่ห้วงอารมณ์ที่ตกสำรวจเมื่อยามมีสติ พาให้เราได้คุยกับตัวเองและได้เจอตัวเองอีกแบบหนึ่ง ฉันอาจเริ่มต้นด้วยความไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจ ไม่ชัดเจน แต่เมื่อผ่านการทำงานกับตัวบท ในฐานะผู้ที่ร่วมสร้างสรรค์การแสดงออกมาจากบทประพันธ์ชิ้นนี้ ฉันผูกพันกับ ‘โรคแห่งความตาย’ ในแบบที่มันประสบการณ์ทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ทุกอย่างในตัวบทยังคงอยู่ในที่เดิมของมัน บรรยากาศฟุ้งฝัน ได้กลิ่นทะเล หากแต่ก้อนความรู้สึกที่ได้มานั้นชัดเจน ทุกคนที่ได้ลองก็คงจะเข้าใจ
“คุณบอกว่าคุณอยากลอง ไม่แน่ว่าอาจจะหลายวัน
บางทีอาจจะหลายอาทิตย์
บางทีอาจจะตลอดชั่วชีวิตของคุณด้วยซ้ำ
เธอถาม: ลองอะไร
คุณบอก: รัก “
คุณจะรู้สึกถึงความเมามายและพร่าเลือนในขณะอ่าน แม้คุณจะไม่ได้เมามายอยู่ในขณะนั้น หลับและตื่น สอดใส่ทั้งที่ไม่ได้รักแต่พยายามเรียนรู้จะรัก ยิ่งเข้าใกล้กลับยิ่งรู้สึกห่าง ยิ่งทำความรู้จัก ยิ่งรู้ว่าไม่รู้จัก เมื่ออ่านจบ ความรู้สึกบางอย่างซึ่งคุณอาจไม่รู้ว่าคืออะไร จะเล่นงานคุณ
และนั่นคือฝีมือของมาเกอริต ดูราส งานเขียนของเธอมีน้ำเสียงที่ไม่เหมือนใครและเสน่ห์ร้ายกาจที่ดูดกลืนคนอ่านเข้าไปได้เหมือนมหาสมุทรตัวอักษร เพียงแต่คุณยอมปล่อยกายปล่อยใจจมลงไป ดำผุดดำว่าย คุณจะได้กลิ่นไวน์แดงที่ไหลเวียนอยู่ในนั้น
Text by ปอ เปรมสำราญ